‘ดร.โกร่ง’ วีรพงษ์ รามางกูร ในความทรงจำของสุทธิชัย หยุ่น

‘ดร.โกร่ง’ วีรพงษ์ รามางกูร ในความทรงจำของสุทธิชัย หยุ่น

‘ดร.โกร่ง’ วีรพงษ์ รามางกูร ในความทรงจำของสุทธิชัย หยุ่น

วันที่  7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา ประเทศไทยได้สูญเสียบุคคลที่มีบทบาทสำคัญทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจมายาวนานถึง 7 รัฐบาล นั่นคือ ‘ดร.วีรพงษ์ รามางกูร’ หรือ ‘ดร.โกร่ง’ ผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวในวัย 78 ปี  หลังการสูญเสียในครั้งนี้ สุทธิชัย หยุ่น ได้ออกมากล่าวรำลึกถึงความทรงจำที่มีต่อ ดร.โกร่ง ผ่านทางเพจเฟซบุ๊กของตนเอง (https://www.facebook.com/suthichai.yoon/videos/3126768807543413/?sfnsn=mo) และนี่คือเรื่องราวของ ดร.วีรพงษ์ รามางกูร’ หรือ ‘ดร.โกร่ง’ จากมุมมอง สุทธิชัย หยุ่น สื่อมวลชนผู้ใกล้ชิดกับ ดร.โกร่ง มาอย่างยาวนาน ดร.วีรพงษ์ รามางกูร เป็นบุตรชายของ ร้อยตำรวจตรี ประดิษฐ์ รามางกูร หรือ ประดิษฐ์ บุคคละ กับนางบุญศรี รามางกูร เกิดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2486 เดิมที ดร.โกร่งได้ใช้ชีวิตวัยเด็กและศึกษาชั้นประถมอยู่ที่จังหวัดนครพนม ก่อนจะย้ายถิ่นตามบิดาเข้ามาอยู่ในกรุงเทพมหานครตั้งแต่ช่วงมัธยมฯ จนกระทั่งจบการศึกษาระดับปริญญาตรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในปี พ.ศ. 2508 แล้วบรรจุเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัยแห่งเดิมนี้ โดยในช่วงเวลาดังกล่าว ดร.โกร่งเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกแผนกอิสระสื่อสารมวลชนร่วมกับ ศ.บำรุงสุข สีหอำไพ ซึ่งกลายเป็นคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในเวลาต่อมา ต่อมาเขาได้รับทุนศึกษาในระดับปริญญาโทและปริญญาเอกทางด้านเศรษฐศาสตร์ ที่มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย (University of Pennsylvania) ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนจะกลับมายังประเทศไทย โดยได้เปลี่ยนบทบาทจากอาจารย์คณะรัฐศาสตร์มาเป็นอาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อย่างเต็มตัว และเป็นคณบดีเมื่อปี พ.ศ. 2519 ส่วนด้านการเมือง ดร.โกร่งเคยดำรงตำแหน่งสำคัญต่าง ๆ เช่น ตำแหน่งรองนายกฯ สมัยนายกรัฐมนตรี พลเอก ชวลิต ยงใจยุทธ  ตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง สมัยนายกรัฐมนตรี พลเอก ชาติชาย ชุณหะวัณ ตำแหน่งที่ปรึกษาคนสําคัญของพลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ทั้งยังเคยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ประธานคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย ไปจนถึงที่ปรึกษาขององค์กรเอกชนหลายแห่ง จนนับว่าเป็นหนึ่งในผู้มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ในสังคมไทย ก่อนจะจากโลกใบนี้ไปอย่างไม่หวนกลับ  ‘ดร.โกร่ง’ วีรพงษ์ รามางกูร ในความทรงจำของสุทธิชัย หยุ่น ครั้งสุดท้ายที่ผมมีโอกาสได้เจอ นั่งคุยกันบนโต๊ะอาหารที่งานวันเกิดปีที่ 43 ของเครือมติชน เมื่อวันที่ 9 มกราคม เมื่อ 2 ปีก่อน พร้อมกับคุณขรรค์ชัย บุนปาน ประธานฯ ของเครือมติชน เราเป็นเพื่อนกันมายาวนานตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นก็ว่าได้ ตั้งแต่ตั้งวงสนทนาเรื่องชาติบ้านเมือง เรื่องนโยบาย ชวนนักวิชาการ ชวนนักการเมืองรุ่นใหม่ ชวนคนในแวดวงต่าง ๆ มาตั้งวงคุยเพื่อที่จะแลกเปลี่ยนถกแถลงว่าประเทศไทยควรจะเดินทางไปทิศทางไหน” สุทธิชัย หยุ่น ย้อนความถึงวันที่ยังได้พบปะกับ ดร.โกร่ง ซึ่งตลอดระยะเวลาที่มีชีวิตอยู่ ดร.โกร่งคือคนที่มักจะแสดงความคิดเห็นต่อนโยบายทางเศรษฐกิจของประเทศไทยอย่างตรงไปตรงมา กล้าวิพากษ์วิจารณ์ในทางสร้างสรรค์ ทั้งยังพร้อมรับฟังและแบ่งปันความคิดเห็นที่แตกต่าง  “แม้กระทั่งยามพูดคุยกัน จิบเบียร์คุยกันถึงเรื่องราวอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับชีวิตของคนไทยในยุคสมัยนั้น ก็จะจำเสียงหัวเราะเอิ๊กอ๊ากของ ดร.โกร่งได้อย่างดี ถกแถลงกันดุเดือดได้ทั้งคืน ไม่โกรธกัน วันรุ่งขึ้นเจอกันอีกก็จะลืมสิ่งที่ทะเลาะขัดแย้งกัน เพราะอย่างน้อยที่สุดเราเห็นตรงกันครับว่า ประเทศชาติจำเป็นต้องมีความคิดที่หลากหลาย “แต่ก็ยังไม่มีนายกฯ คนไหนที่พอ ดร.โกร่งออกมาวิจารณ์นโยบายของตนเอง ที่จะมองว่า ดร.โกร่งมีเจตนาร้ายหรือว่ามีผลประโยชน์แอบแฝง เพราะว่า ดร.โกร่งนั้นระวังตัวมาก ในเรื่องที่จะถูกลากเข้าไปอยู่ในผลประโยชน์ทางการเมืองใด ๆ เพราะนี่คือคุณสมบัติสำคัญของความน่าเชื่อถือของความเป็นนักวิชาการ” ‘ดร.โกร่ง’ วีรพงษ์ รามางกูร ในความทรงจำของสุทธิชัย หยุ่น โดยเฉพาะปี พ.ศ. 2527 ดร.โกร่งมีบทบาทสำคัญต่อนโยบายลดค่าเงินบาทของประเทศไทย ในสมัยนายกรัฐมนตรี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์  “การลดค่าเงินบาทในยุคสมัยนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อนทางการเมืองมาก ไม่มีใครอยากจะพูดถึงลดค่าเงินบาทเลย เพราะว่าในแง่การเมืองแล้ว การลดค่าเงินบาทหมายถึงว่าเรากำลังด้อยค่าของเราเองเมื่อเปรียบเทียบกับเงินสกุลอื่น ในแง่การเมืองจะมองว่าเป็นเรื่องเสียหายมากที่จะต้องหลีกเลี่ยงทุกวิถีทาง แต่ว่า ดร.โกร่งและนักวิชาการหลายท่านที่ TDRI เห็นว่าจำเป็นจะต้องกล้าตัดสินใจลดค่าเงินบาท ขณะนั้นจำได้ว่าจาก 25 บาทต่อเหรียญฯ ปรับมาเป็น 27 บาท ซึ่งก็ถือว่าเยอะพอสมควร” ในมุมของนักการเมืองหลายคน หลายพรรค ในยุคสมัยนั้น ต่างก็ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการลดค่าเงินบาทของ ดร.โกร่ง แต่ท้ายที่สุดแล้ว รัฐบาลได้ตัดสินใจทำตามคำแนะนำของ ดร.โกร่ง ซึ่งแม้จะเป็นเสียงส่วนน้อย แต่ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็น ‘การตัดสินใจที่ถูกต้อง’ “พลเอกเปรมก็เชิญ ดร.โกร่งไปถามตัวต่อตัวเลยครับว่าอาจารย์เห็นยังไง ดร.โกร่งก็บอกเลยครับว่าต้องลด แล้วก็ไล่เลียงเหตุผลให้ฟังว่าตัวเลขของเงินสำรองก็ดี ตัวเลขขาดดุลก็ดี ตัวเลขบัญชีเดินสะพัดก็ดี ทั้งหมดนี้อยู่ในแดนลบที่เข้าขั้นอันตราย ถ้าลดค่าเงินบาทแล้วมันจะผ่อนเบาลง แล้วก็จะหาทางนำไปสู่การฟื้นฟูได้ พอเงินบาทลดค่า การส่งออกก็จะดีขึ้น ถึงแม้ว่าการนำเข้าจะต้องแพงขึ้น เพราะว่าต้องใช้เงินบาทมากขึ้นในการแลกดอลลาร์” ไม่เพียงบทบาททางการเมืองเท่านั้น ในมุมของนักสื่อสารมวลชนอย่างสุทธิชัย หยุ่นมองว่า ดร.โกร่งคือนักวิชาการที่มีความรู้พร้อมด้วยทักษะการสื่อสารอันดีเยี่ยม เพราะสามารถอธิบายศัพท์แสงทางเศรษฐศาสตร์ออกมาเป็นถ้อยคำที่คนทั่วไปสามารถเข้าใจได้ง่าย โดยถ่ายทอดผ่านผลงานการเขียนหนังสือและคอลัมน์ต่าง ๆ อย่างในมติชนรายวันและประชาชาติธุรกิจ ไปจนถึงการพูดคุยกับนักข่าวและบุคคลทั่วไป “ยุคสมัยหนึ่งนักข่าวที่ทำข่าวเศรษฐกิจนั้น ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับศัพท์แสงเศรษฐกิจยังมีน้อย อาจารย์โกร่งเป็นคนบอกผมเองว่า พอเจอกับนักข่าวสายเศรษฐกิจแล้วเนี่ย ต้องใจเย็น ๆ ต้องค่อย ๆ อธิบาย และอะไรที่มันยาก ศัพท์แสงทางเศรษฐกิจนั้นพูดไปก็ไม่มีประโยชน์ เพราะว่านักข่าวก็ไม่เข้าใจ ฉะนั้นภารกิจหลักของ ดร.โกร่งคือจะต้องทำให้นักข่าวเข้าใจศัพท์แสงเศรษฐกิจและความหมายของมัน” มากกว่าตำแหน่งและผลงานที่ผ่านมา สิ่งหนึ่งที่ทำให้ ดร.โกร่งได้รับความไว้วางใจและความน่าเชื่อถือจากผู้คนทั้งในแวดวงเศรษฐกิจและการเมือง คงเป็นเพราะวิธีการวางตัว การแสดงความคิดเห็นที่ยึดตามหลักเหตุและผล มากกว่าการปกป้องหรือสนับสนุนรัฐบาล ไม่ว่าเขาจะอยู่ในบทบาทไหนหรือตำแหน่งใดก็ตาม โดยสุทธิชัย หยุ่น ได้กล่าวปิดท้าย Live ในเพจเฟซบุ๊ก Suthichai Yoon ว่า “นี่คือชีวิตของนักต่อสู้คนหนึ่ง ต่อสู้ด้วยหลักการ ต่อสู้ด้วยเหตุผล และใช้ชีวิตที่ผมถือว่าได้สร้างคุณูปการที่ยิ่งใหญ่สำหรับประเทศชาติในหลาย ๆ เรื่อง เป็นตัวอย่างของนักวิชาการที่เข้ามามีบทบาทการเมือง และในฐานะนักวิพากษ์สังคมที่ได้ทำหน้าที่ของตัวเองดีที่สุดแล้วครับ”   ที่มา: https://www.matichon.co.th/politics/news_3030614 https://www.dailynews.co.th/news/452327/ https://www.thairath.co.th/news/society/2237450 https://mgronline.com/politics/detail/9640000110493 https://www.facebook.com/suthichai.yoon/videos/3126768807543413/?sfnsn=mo   ภาพ : Nation Photo