บิลลี ฮอลิเดย์ สร้างสรรค์เสียงเพลงบนทางแพร่งของโศกนาฏกรรม: การมาถึงของนักร้องแจ๊ส

บิลลี ฮอลิเดย์ สร้างสรรค์เสียงเพลงบนทางแพร่งของโศกนาฏกรรม: การมาถึงของนักร้องแจ๊ส

บิลลี ฮอลิเดย์ สร้างสรรค์เสียงเพลงบนทางแพร่งของโศกนาฏกรรม: การมาถึงของนักร้องแจ๊ส

ภาพลักษณ์ของ บิลลี ฮอลิเดย์ (Billie Holiday 1915-1959) มิได้เป็นเพียงตำนานของนักร้องแจ๊สหญิงแถวหน้าเท่านั้น หากเรื่องราวในชีวิตเธอยังเปี่ยมล้นด้วยสีสันมากเกินกว่าชีวิตมนุษย์ธรรมดาจะก้าวไปสัมผัสถึง เบื้องหน้าความสำเร็จของเธอนั้นปรากฏร่องรอยของโศกนาฏกรรมที่แฝงด้วยความสลับซับซ้อน อีกทั้งยังปกคลุมด้วยความมืดดำเกินกว่าจะทำความเข้าใจได้ง่าย ๆ หลายเรื่องยังเป็นความเข้าใจผิด เกินกว่าสิ่งที่เรียกว่า “ข้อเท็จจริง” ดังปรากฏในภาพยนตร์ (และละครเพลง) เรื่อง Lady Sings the Blues นำแสดงโดย ไดอานา รอสส์ (Diana Ross) ทั้งที่สร้างขึ้นจากหนังสืออัตชีวประวัติของ บิลลี ฮอลิเดย์ ภายใต้ชื่อเดียวกัน ทว่า ด้วยคำบอกเล่าจากปากของบิลลี ต่อ วิลเลียม ดัฟตี (William Dufty) ผู้ทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวลงในหนังสือเล่มนี้ ในมุมมองของนักประวัติศาสตร์ผู้ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับ บิลลี โดยตรง ยังเห็นว่าต้องอาศัยการตีความเป็นพิเศษ มากกว่าแค่การอ่านเอาเรื่องธรรมดา นอกเหนือไปจากเรื่องราวชีวิตที่มีสีสันล้นทะลักอย่างน่าตระหนก บิลลี ฮอลิเดย์ ได้รับการยกย่องว่า เป็นนักร้องแจ๊สสมบูรณ์แบบที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ เพลงที่เธอร้อง... อาจจะมีเพลงที่เธอแต่งเองแทบนับจำนวนได้ และเกือบทั้งหมดเป็นเพลงในกลุ่มสแตนดาร์ด แต่ด้วยแนวทางการร้องของเธอ บิลลี ทำให้ทุก ๆ เพลงที่เธอถ่ายทอดออกมา กลายเป็นเพลงส่วนตัวของเธอได้อย่างน่าอัศจรรย์ สิ่งที่ยืนยันข้อเท็จจริงนี้ คือผลงานการบันทึกเสียงของเธอ ซึ่งร้องไว้ราว ๆ 300 เพลง (มีการจัดแบ่งยุคสมัยการทำงานออกเป็น 3 ยุค) ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 44 ปีที่เธอมีชีวิตอยู่บนโลก โดยที่ไม่เคยเรียนรู้ดนตรีอย่างเป็นระบบแม้แต่น้อย แต่เธอได้เปลี่ยนแปลงแนวทางการร้องเพลงแจ๊สมิให้ดำเนินเหมือนเดิมอีกต่อไป บิลลี ฮอลิเดย์ สร้างสรรค์เสียงเพลงบนทางแพร่งของโศกนาฏกรรม: การมาถึงของนักร้องแจ๊ส ในช่วงที่ บิลลี ฮอลิเดย์ กำลังเคว้งคว้างกับงานร้องเพลงอย่างไม่มีเป้าหมายอยู่ตามบาร์ต่าง ๆ ตั้งแต่ “ฮ้อท-ช่า” จนถึง “อัพทาวน์เฮ้าส์” ของ คลาร์ก มอนโร นั้น โดยไม่คาดหมาย ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 1935  จอห์น แฮมมอนด์ ติดต่อมาเพื่อให้เธอไปร้องเพลง หลังจากที่เขาเพิ่งมีข้อตกลงทำงานบันทึกเสียงกับสังกัด บรุนสวิค (Brunswick records) เป้าหมายของ จอห์น ในเวลานั้น คือการสนับสนุนนักเปียโนรุ่นใหม่ เท็ดดี วิลสัน (Teddie Wilson) ให้แจ้งเกิดในวงการ โดยสังกัดบรุนสวิคตกลงเซ็นสัญญาถูก ๆ เป็นเวลา 12 เดือนกับ เท็ดดี เพื่อให้เขามีงานบันทึกเสียงอย่างน้อย ๆ เดือนละ 1 เซสชั่น แม้จะเป็นช่วงเศรษฐกิจตกต่ำ แต่ บรุนสวิค มุ่งผลิตงานออกมาแข่งขันกับสังกัดเพลงต่าง ๆ ในช่วงเวลาที่ “ตู้เพลงแบบหยอดเหรียญ” กำลังได้รับความนิยมในสหรัฐอเมริกา ประมาณกันว่าทั่วประเทศมีอยู่ราว ๆ 150,000 ตู้ โดยที่ผลงานของสังกัด เดคกา (Decca Records) ครองตลาดอยู่ราว ๆ 40 เปอร์เซ็นต์ เซสชั่นแรกของ เท็ดดี วิลสัน มีขึ้นเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ค.ศ. 1935 ผู้บริหารของสังกัดบรุนสวิคต่างมากันพร้อมหน้าเพื่อสังเกตการณ์งานนี้ ขณะที่ จอห์น แฮมมอนด์ จัดเตรียมนักดนตรีฝีมือดีที่สุดในขณะนั้น นอกจาก เท็ดดี วิลสัน แล้ว ยังประกอบด้วย เบนนี กูดแมน-คลาริเน็ท, รอย เอลดริดจ์-ทรัมเป็ต, เบน เว็บสเตอร์-เทเนอร์ แซ็กโซโฟน และมี บิลลี ฮอลิเดย์ เป็นนักร้อง เสียงเพลงที่พวกเขาบันทึกกันในบ่ายวันนั้น มีอยู่ 2 เพลงที่สถาปนาตัวตนของ บิลลี ฮอลิเดย์ ขึ้นในวงการอย่างโดดเด่น ประกอบด้วย What a Little Moonlight Can Do และ Miss Brown To You โดยเป็นครั้งแรกที่เธอถ่ายทอดเสียงร้องอย่างมั่นใจ เบื้องหน้าไมโครโฟนรุ่นใหม่ที่มาแทนที่เมกะโฟนขนาดใหญ่ที่ใช้รับสัญญาณเสียงร้อง ด้วย 2 เพลงนี้ เธอได้ประกาศการมาถึงของ “นักร้องแจ๊ส” ที่จัดการกับท่วงทำนองของบทเพลงให้สอดรับกับวิธีการร้องของเธอได้อย่างน่าทึ่ง กล่าวคือ... เป็นเพราะนักร้องที่ให้บุคลิกภาพแก่บทเพลง มิใช่บทเพลงให้บุคลิกภาพแก่นักร้องเหมือนอย่างที่เคยเป็นมา ไม่เพียงเท่านั้น วิธีการเล่นคลาริเน็ทของ เบนนี กูดแมน โดยเฉพาะท่อนโซโล่เปิดนำเพลงความยาว 32 ห้องในเพลง What a Little Moonlight Can Do ได้ให้ความรู้สึกปลดปล่อยอย่างเป็นอิสระ ด้วยมู้ดสวิงแบบหนัก ๆ ออกโทนดิบ ๆ มากกว่าที่เคยบรรเลงมาก่อน และด้วยวิธีการนี้ ยังได้เปิดทางให้แก่ เบนนี นำไปใช้ในการทำวงดนตรีของเขา ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูงในอีก 2-3 ปีหลังจากนั้น อย่างไรก็ตาม แม้ทีมนักร้องและนักดนตรีได้สร้างสรรค์ 2 เพลงนี้ ให้อยู่ในระดับสุดยอดเพียงใด แต่ในระยะแรก ผู้บริหารของสังกัดบรุนสวิคกลับไม่เห็นค่า ผู้บริหารรายหนึ่งบอกกับ จอห์น แฮมมอนด์ ว่า เสียงร้องของ บิลลี ยังสู้ คลีโอ บราวน์ (Cleo Brown) ไม่ได้ด้วยซ้ำ แต่แล้วพวกเขาก็ต้องเปลี่ยนความคิดใหม่ เมื่อความนิยมที่มีต่อเพลงทั้งสองเป็นไปอย่างดียิ่ง โดยเฉพาะ What a Little Moonlight Can Do ขึ้นถึงอันดับ 12 ของชาร์ทเพลงเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม เช่นเดียวกับเสียงตอบรับจากผู้ฟังทางฝั่งอังกฤษ เท็ดดี วิลสัน เป็นอีกผู้หนึ่งที่ไม่สนใจ บิลลี ฮอลิเดย์ ในช่วงแรกเช่นกัน เขาคิดว่านักร้องเสียงดีที่สมควรมาทำหน้าที่นี้ คือ เบบี ไวท์ (Baby White) หรือใครก็ตามที่ถ่ายทอดทำนองได้เรียบง่าย, ตรง ๆ ด้วยสุ้มเสียงการร้องอันกระจ่างชัด เช่น เฮเลน วอร์ด, เอลลา ฟิทซ์เจอรัลด์, ฟรานเซส ฮันท์, ซอลลี กูดดิง และ แนน ไวนัน แต่ บิลลี ได้พิสูจน์ตัวเองในเวลาต่อมาว่า ด้วยวิธีการร้องของเธอนั้น มีคุณค่าบางประการให้ค้นหา เหมือนอย่างที่ เท็ดดี ให้ความเห็นว่า (คุณสมบัติ) อย่างหนึ่งของบิลลี คือเธอมีพรสวรรค์ที่ชัดเจนในการร้องเพลงเพียง 5 วินาที แล้วจดจารึกเพลงนั้นให้กลายมาเป็นเพลงของเธอ ตัวอย่างเพลงชั้นดีที่ บิลลี ฮอลิเดย์ ถ่ายทอดกับ เท็ดดี วิลสัน ในเซสชั่นเหล่านี้ อาทิ I Wished on the Moon จนถึง What a Night, What a Moon, What a Girl ซึ่ง บิลลี ปรับชื่อเพลงและเนื้อร้องใหม่ เป็นเพลงสำหรับนักร้องหญิงว่า What a Night, What a Moon, What a Boy นอกจากนี้ ยังมีเพลง  I’m Painting the Town Red, It’s Too Hot For Words, Life Begins When You’re in Love, If You Were Mine และ  The Way You Look Tonight  ช่วงหนึ่งระหว่างเซสชั่นเหล่านี้ บิลลี ฮอลิเดย์ มีงานแสดงร่วมกับ เท็ดดี วิลสัน เป็นเวลาสั้น ๆ ที่ เดอะ เฟมัส ดอร์ บนถนนสายที่ 52 คลับที่เกิดขึ้นจากการลงขันของนักดนตรีผิวขาว อย่าง แมนนี ไคลน์, จิมมี ดอร์ซีย์ และ เกล็น มิลเลอร์ ทั้งนี้ในช่วงระหว่างพัก เธอไม่ได้รับอนุญาตให้ปะปนกับแขกของคลับ โดยให้แยกพักอยู่บนระเบียงชั้นบนของร้าน บิลลี กลับมาที่คลับนี้อีกครั้ง เมื่อได้รับเชิญจาก เอ็ดดี คอนดอน (Eddie Condon) ให้มาร้องเพลงในช่วงแจมเซสชั่นของทุก ๆ บ่ายวันอาทิตย์ ซึ่งเป็นที่รวมนักดนตรีดาวเด่นของยุคนั้น อาทิ เบสซี สมิธ, แฟทส์ วอลเลอร์, รอย เอลดริดจ์ ฯลฯ โดยแขกประจำที่แวะมาสังเกตการณ์สม่ำเสมอคือ เบอร์นี ฮานิเกน (Bernie Hanighen) ซึ่งเป็นหนึ่งในบรรดาผู้ชื่นชม บิลลี ฮอลิเดย์ ยุคต้น ๆ และต่อมา เขาได้ชักนำให้ บิลลี ได้เซ็นสัญญาบันทึกเสียงภายใต้ชื่อ บิลลี ฮอลิเดย์ แอนด์ เฮอร์ ออร์เคสตรา (Billie Holiday and her Orchestra) กับสังกัด โวคอเลียน (Vocalion Records) เบอร์นี ฮานิเกน ทาบทาม บันนี เบอริแกน (Bunny Berigan) มือทรัมเป็ต ให้เป็นแกนนำในการจัดวงเพื่อแบ็คอัพ บิลลี ฮอลิเดย์ ในการบันทึกเสียงครั้งแรก เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม ค.ศ. 1936 ประกอบด้วยนักดนตรีฝีมือดี อย่าง ดิค แมคโดนูห์, โจ บุชกิน, พีท จอห์นสัน, โคซี โคล และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง อาร์ตี ชอว์ (Artie Shaw) มือคลาริเน็ทที่โด่งดังที่สุดคนหนึ่งในยุคสวิง ซึ่งมักมีผู้นำมาเปรียบเทียบกับ เบนนี กูดแมน ว่าใครเล่นคลาริเน็ทได้ดีกว่ากัน นักดนตรีกลุ่มนี้เริ่มต้นกับบทเพลงอย่าง Did I Remember ?, No Regrets, Summertime และ Billie’s Blues โดย Did I Remember ? เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ แต่งโดย แฮโรลด์ อดัมสัน และ วอลเตอร์ โดนัลด์สัน ที่ได้รับการเสนอชื่อให้ชิงออสการ์ในปีนั้น, No Regrets เป็นเพลงป๊อปยุคนั้น ซึ่งวงดนตรีของ ทอมมี ดอร์ซีย์ และ เดอะ คาซา โลมา แบนด์ เคยอัดมาก่อน ส่วน Summertime เป็นเพลงใหม่สุด ๆ จากละครเพลง Porgy & Bess ของ จอร์จ เกิร์ชวิน ที่สร้างความประหลาดใจให้แก่ผู้ฟังด้วยแนวเรียบเรียงที่แปลกใหม่ เริ่มต้นจากเสียงทรัมเป็ตอันโหยหวน ตามด้วยเสียงคลาริเน็ทที่เปี่ยมด้วยแรงปรารถนา และจังหวะกลองแบบจังเกิล ที่ทำให้ความรู้สึกเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม บิลลี มีงานอัดแผ่นกับสังกัดนี้เป็นระยะ ๆ จนถึงวันที่ 12 มกราคม ค.ศ. 1937 ซึ่งเป็นการบันทึกเสียงเซสชั่นสุดท้าย ภายใต้การอำนวยการของ เบอร์นี ฮานิเกน ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเกือบถูกไล่ออกจากงาน เพราะไปเรียกร้องขอเงินตอบแทนเพิ่มเติมให้แก่นักร้องสาว จุดสิ้นสุดในการทำงานกับสังกัด โวคอเลียน มีสาเหตุมาจาก เบอร์นี ได้งานใหม่ โดยเขาตั้งใจย้ายไปฝั่งเวสต์โคสต์เพื่อทำงานกับแผนกดนตรีของวอร์เนอร์   บิลลี ฮอลิเดย์ สร้างสรรค์เสียงเพลงบนทางแพร่งของโศกนาฏกรรม: การมาถึงของนักร้องแจ๊ส สานสัมพันธ์ เลสเตอร์ ยัง หลังการจากไปของ เบอร์นี ฮานิเกน โปรดิวเซอร์เพื่อนเก่า จอห์น แฮมมอนด์ ก็กลับเข้ามาสนับสนุนงานร้องเพลงของ บิลลี ฮอลิเดย์ อีกครั้ง ช่วงนั้น วงดนตรี เดอะ เคานท์ เบซี ออร์เคสตรา (The Count Basie Orchetra) ที่ประสบความสำเร็จและโด่งดังมาจากเมืองแคนซัส ซิตี ได้ย้ายมาเปิดการแสดงในนิวยอร์ก พร้อมกับนักดนตรีรุ่นใหม่หลายคน อาทิ บัค เคลย์ตัน-มือทรัมเป็ต, เฮอร์เชล อีแวนส์-มือแซ็ก, วอลเตอร์ เพจ-มือเบส, โจ โจนส์-มือกลอง และแน่นอนย่อมต้องรวมถึง เลสเตอร์ ยัง ที่เคยผละออกจากวง เฟล็ทเชอร์ เฮนเดอร์สัน แล้วหายหน้าไปอยู่กับวงของ เคานท์ เบซี ถึงเวลานี้ สื่อมวลชนดนตรีตามหัวเมืองใหญ่ต่างนิยมเปรียบเทียบกันว่า ระหว่างวงของ เฟล็ทเชอร์ เฮนเดอร์สัน กับวงของ เคานท์ เบซี นั้น วงใดที่มีความสันทัดจัดเจนในเชิงดนตรีมากกว่ากัน สำหรับ เลสเตอร์ ยัง เมื่อกลับมานิวยอร์กอีกครั้ง เขาไม่รอช้าในการสานสัมพันธ์กับ บิลลี ฮอลิเดย์ เขาย้ายออกจากโรงแรมเทเรซา ไปพักอยู่กับ บิลลี และ ซาดี แม่ของ บิลลี ที่บ้านเลขที่ 9 ตะวันตก ถนนสายที่ 99 ซึ่งบริเวณชั้นล่าง ซาดี ปรับปรุงพื้นที่เพื่อเปิดเป็นร้านอาหาร ซึ่งระหว่างนี้ บิลลี มีงานร้องเพลงที่ อัพทาวน์ เฮาส์ ของ คลาร์ก มอนโร (Monroe’s Uptown House) บิลลี เข้าห้องอัดอีกครั้งในวันที่ 25 มกราคม ค.ศ. 1937 กับวงดนตรีของ เท็ดดี วิลสัน ซึ่งมีการเปลี่ยนแปลงไซด์แมนใหม่ โดยนำเอาสมาชิกบางส่วนของวงดนตรี เดอะ เคานท์ เบซี ออร์เคสตรา มาบันทึกเสียง นักดนตรีในกลุ่มนี้ประกอบด้วย เลสเตอร์ ยัง, บัค เคลย์ตัน, วอลเตอร์ เพจ, โจ โจนส์ พ่วงด้วย เบนนี กูดแมน ภายใต้การควบคุมของ จอห์น แฮมมอนด์ ที่มีความถนัดในการวางส่วนผสมทางเคมี เพื่อปรุงเสียงดนตรีให้ได้ความแปลกใหม่ นี่คือเซสชั่นที่ บิลลี และ เลสเตอร์ ได้บันทึกเสียงลงบนแผ่นด้วยกันเป็นครั้งแรก และยังเป็นครั้งแรกที่มือกีตาร์ เฟรดดี กรีน ได้พบกับ วอลเตอร์ เพจ และ โจ โจนส์ จนสถาปนาความสัมพันธ์ขึ้นเป็นวง “ออล อเมริกัน ริธึ่ม เซคชั่น” (All American Rhythm Section) แห่งวงเดอะ เคานท์ เบซี ออร์เคสตรา ที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นภาคริธึ่มเซคชั่นที่ดีที่สุดในอุดมคติของวงการเพลง (หลังเซสชั่นนี้ไม่นานนัก เฟรดดี กรีน ได้แทนที่ โคลด วิลเลียมส์ ในวงของ เคานท์ เบซี) เหนืออื่นใดในมุมมองของนักวิเคราะห์ทางดนตรี นี่คืองานบันทึกเสียงแรกสุดที่ บิลลี ฮอลิเดย์ ได้กลุ่มนักดนตรีรายล้อมที่ทั้งสนับสนุน, เข้าใจและศรัทธาในแนวทางการร้องของเธอ ตัวอย่างที่ดีในเรื่องนี้ คือเพลง He Ain’t Got Rhythm ซึ่งเริ่มต้นด้วยอินโทรจาก เท็ดดี วิลสัน ตามด้วยการโซโลทำนองของ เบนนี กูดแมน ก่อนที่ เลสเตอร์ จะบรรเลงอิมโพรไวส์ตามแบบฉบับที่เขาถนัด ในเซสชั่นนี้ ยังมีเพลง This Year’s Kisses, Why Was I Born ? และ I Must Have That Man ซึ่งในเพลงหลัง ถือเป็นการถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกแบบแจ๊สที่ค่อนข้างแปลกใหม่ แม้กระทั่งงานของ หลุยส์ อาร์มสตรอง ที่มีต้นแบบโดดเด่นในยุคทศวรรษ 1920s ก็ยังไม่มีความกลมกลืนเป็นเอกภาพเช่นนี้มาก่อน นอกจากงานร้องกับ เท็ดดี วิลสัน แล้ว จอห์น แฮมมอนด์ พยายามสนับสนุนให้ บิลลี ฮอลิเดย์ ได้ร้องอัดแผ่นกับวงเดอะ เคานท์ เบซี ออร์เคสตรา รวมถึงผลักดันให้ เคานท์ เซ็นสัญญารับเธอเป็นนักร้องในวงเสียเลย แต่ เคานท์ เบซี พยายามแบ่งรับแบ่งสู้ เพราะเขามี จิมมี รัชชิง เป็นนักร้องประจำอยู่คนหนึ่งแล้ว จนวันหนึ่ง จอห์น แฮมมอนด์ ดึง เคานท์ เบซี ไปนั่งฟัง บิลลี ร้องเพลงที่ อัพทาวน์ เฮาส์ ปรากฏว่า เคานท์ ประทับใจมาก แต่ขอเวลาคิดอีกครั้ง โดยแนะให้ บิลลี ไปร้องในช่วงที่ทางวงจะย้ายไปแสดงชั่วคราวที่เมืองฟิลาเดลเฟียเป็นเวลา 1 สัปดาห์ โดยถือเป็นการออดิชั่น ก่อนการออดิชั่น วันที่ 18 กุมภาพันธ์ บิลลี มีงานอัดแผ่นกับ เท็ดดี วิลสัน อีกครั้ง กับเพลง You Showed Me The Way ซึ่งเป็นเพลงที่มีคนแต่งถึง 4 คน และหนึ่งในจำนวนนั้นคือ เอลลา ฟิทซ์เจอรัลด์ นักร้องดาวรุ่งอีกคนของวงการ โดยเพลงนี้ บิลลี บันทึกก่อนที่ เอลลา จะร้องอัดขายประมาณ 1 เดือน ด้วยเวอร์ชั่นที่มีความเร็วจังหวะช้ากว่า ในเซสชั่นเดียวกัน บิลลี ยังร้องเพลง (This Is) My Last Affair ที่เธอถ่ายทอดด้วยแนวทางที่คล้ายคลึงกับแนวทางของ เอลลา เพื่อสร้างบุคลิกภาพของเพลงด้วยความสุขุมนุ่มนวลยิ่ง ราวตีสี่ครึ่งของวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1937 แคลเรนซ์ ฮอลิเดย์ เสียชีวิตด้วยโรคปอดบวม บิลลี สะเทือนใจมากเมื่อทราบข่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อข่าวนี้เดินทางมาพร้อมคำตัดพ้อของพ่อที่บอกกับผู้คนว่า บิลลี ใช้นักกีตาร์ทุกคนในเมืองนิวยอร์กยกเว้นเขา ความสะเทือนใจเพิ่มมากขึ้นไปอีก เมื่อแม่เลี้ยงของ บิลลี (ภรรยาอีกคนของ แคลเรนซ์) ปรากฏตัวพร้อมลูก 2 คน พร้อมยืนกรานมิให้ ซาดี ไปร่วมงานศพ ซึ่งสร้าง “รอยหม่น” ในจิตใจอันอ่อนไหวของบิลลีอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การเดินทาง 125 ไมล์ จากนิวยอร์กไปออดิชั่นที่ฟิลาเดลเฟีย โดยเป็นส่วนหนึ่งในการแสดงของวง เดอะ เคานท์ เบซี ออร์เคสตรา ได้รับเสียงตอบรับด้วยดี สแตนลีย์ แดนซ์ นักวิจารณ์ชื่อดัง แสดงความเห็นไว้ว่า “เบซี มีนักร้องยอดเยี่ยมถึง 2 คน ... บิลลี ฮอลิเดย์ ร่วมงานกับเขาในค่ำคืนอันน่าจดจำที่สแครนตัน และเขายังมี เจมส์ (จิมมี) รัชชิ่ง อีกคน เบซีช่างโชคดีเสียนี่กระไร” วันที่ 15 มีนาคม วงดนตรีของ เคานท์ เบซี พ่วงนักร้องสาวขึ้นโชว์บนเวทีของ อะพอลโล เธียเตอร์ โดยไม่ได้มีการโฆษณาล่วงหน้าว่าจะมีเธออยู่ในคอนเสิร์ตนี้ ผลปรากฏว่า บิลลี ฮอลิเดย์ แย่งซีนงานนี้ไปโดยปริยาย แม้กระทั่ง นายวงเคานท์ยังออกปากว่า “บิลลี ฮอลิเดย์ ช่วยพวกเราอย่างมากสำหรับโปรแกรมนั้น... เธอเป็นความตื่นเต้นเร้าใจของโชว์” ในคอนเสิร์ตนั้น บิลลี ร้องเพลง I Cried For You, (This Is) My Last Affair, One Never Knows – Does One ?, Them There Eyes ซึ่งเป็นเพลงที่เชื่อมโยงกับเพลงที่เธออัดแผ่นมาก่อนหน้านี้ ทั้งกับสังกัด บรุนสวิค และ โวคอเลียน นี่คือปรากฏการณ์ไม่ธรรมดาในการที่นักร้องได้มีส่วนกำหนดลักษณะเฉพาะเจาะจงในเอกลักษณ์ของตน วันที่ 11 พฤษภาคม ค.ศ. 1937 บิลลี เข้าห้องอัดอีกครั้ง พร้อมกับวงดนตรีที่มี เลสเตอร์ ยัง รวมอยู่ด้วย เป็นซีรีส์ของงานบันทึกเสียงครั้งประวัติศาสตร์ที่ บิลลี ทำกับสังกัดโคลัมเบีย ซึ่งดำเนินอย่างต่อเนื่องเป็นระยะ ๆ จนไปสิ้นสุดในวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ. 1941 เหนืออื่นใด เสน่ห์ของงานบันทึกเสียงระยะนี้ คือการประสมประสานระหว่างเสียงร้องของ บิลลี ฮอลิเดย์ กับเสียงเทเนอร์ แซ็กโซโฟนอันนุ่มนวลและชวนให้ซาบซึ้งตรึงใจของ เลสเตอร์ ยัง ซึ่งถือเป็นการจับคู่ที่งดงามที่สุดครั้งหนึ่งของประวัติศาสตร์วงการดนตรี การบรรเลงในงานบันทึกเสียงของ บิลลี เปิดพื้นที่ให้ เลสเตอร์ ได้แสดงออกมากกว่าการทำงานประจำในวงของ เคานท์ เบซี แทนที่จะเล่นแบบมาตรฐาน เลสเตอร์ เลือกโครงสร้างคอร์ดที่มีความท้าทาย ตัวอย่างเพลงชั้นดีในช่วงนี้ อาทิ Me Myself & I , I’ll Get By, Mean to Me, Foolin’ Myself, Easy Living, I’ll Never Be the Same และ The Very Thought of You (เพลงนี้ เลสเตอร์ เล่นทั้ง คลาริเน็ท และ เทเนอร์แซ็กโซโฟน) บ่อยครั้งที่ห้วงเวลาในการกำเนิดขึ้นของความงามมักเผยตัวออกมาอย่างซ่อนเร้น ดังกรณีเทคที่ 3 ในเพลง All of Me ที่มีความยาวทั้งเพลง 3.58 นาที ซึ่งเป็นความยาวที่แผ่นเสียงขนาด 10 นิ้ว เล่นด้วยความเร็ว 78 รอบต่อนาทีไม่สามารถบรรจุไว้ได้ จึงไม่มีการตัดเทคนี้ออกขายในช่วงนั้น แต่ความงามอันเร้นลับระหว่างเสียงร้องและเสียงแซ็กโซโฟนของ “โซลเมท” คู่นี้ ได้สร้างความตื่นตะลึงให้แก่ เอ็ดดี เฮย์วูด นักเปียโนในเซสชั่นนั้น ซึ่งเป็นประจักษ์พยานของสิ่งที่เกิดขึ้น และโชคดีที่ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีได้ช่วยให้แฟนเพลงขนานแท้ของบิลลี ฮอลิเดย์ สามารถเข้าถึงความงามของเทคต่าง ๆ เหล่านั้นได้ในเวลาต่อมา   ติดตามบทความ บิลลี ฮอลิเดย์ ได้ที่นี่ PART I บิลลี ฮอลิเดย์ สร้างสรรค์เสียงเพลงบนทางแพร่งของโศกนาฏกรรม: เปิดตำนานปริศนา PART II บิลลี ฮอลิเดย์ สร้างสรรค์เสียงเพลงบนทางแพร่งของโศกนาฏกรรม: เสียงเพลงและกัญชา PART IV บิลลี ฮอลิเดย์ สร้างสรรค์เสียงเพลงบนทางแพร่งของโศกนาฏกรรม: การดิ่งลงสู่ก้นเหว