บิลลี ฮอลิเดย์ สร้างสรรค์เสียงเพลงบนทางแพร่งของโศกนาฏกรรม: การดิ่งลงสู่ก้นเหว

บิลลี ฮอลิเดย์ สร้างสรรค์เสียงเพลงบนทางแพร่งของโศกนาฏกรรม: การดิ่งลงสู่ก้นเหว

บิลลี ฮอลิเดย์ สร้างสรรค์เสียงเพลงบนทางแพร่งของโศกนาฏกรรม: การดิ่งลงสู่ก้นเหว

ภาพลักษณ์ของ บิลลี ฮอลิเดย์ (Billie Holiday 1915-1959) มิได้เป็นเพียงตำนานของนักร้องแจ๊สหญิงแถวหน้าเท่านั้น หากเรื่องราวในชีวิตเธอยังเปี่ยมล้นด้วยสีสันมากเกินกว่าชีวิตมนุษย์ธรรมดาจะก้าวไปสัมผัสถึง เบื้องหน้าความสำเร็จของเธอนั้นปรากฏร่องรอยของโศกนาฏกรรมที่แฝงด้วยความสลับซับซ้อน อีกทั้งยังปกคลุมด้วยความมืดดำเกินกว่าจะทำความเข้าใจได้ง่าย ๆ หลายเรื่องยังเป็นความเข้าใจผิด เกินกว่าสิ่งที่เรียกว่า “ข้อเท็จจริง” ดังปรากฏในภาพยนตร์ (และละครเพลง) เรื่อง Lady Sings the Blues นำแสดงโดย ไดอานา รอสส์ (Diana Ross) ทั้งที่สร้างขึ้นจากหนังสืออัตชีวประวัติของ บิลลี ฮอลิเดย์ ภายใต้ชื่อเดียวกัน ทว่า ด้วยคำบอกเล่าจากปากของบิลลี ต่อ วิลเลียม ดัฟตี (William Dufty) ผู้ทำหน้าที่บันทึกเรื่องราวลงในหนังสือเล่มนี้ ในมุมมองของนักประวัติศาสตร์ผู้ศึกษาเรื่องราวเกี่ยวกับ บิลลี โดยตรง ยังเห็นว่าต้องอาศัยการตีความเป็นพิเศษ มากกว่าแค่การอ่านเอาเรื่องธรรมดา นอกเหนือไปจากเรื่องราวชีวิตที่มีสีสันล้นทะลักอย่างน่าตระหนก บิลลี ฮอลิเดย์ ได้รับการยกย่องว่า เป็นนักร้องแจ๊สสมบูรณ์แบบที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ เพลงที่เธอร้อง... อาจจะมีเพลงที่เธอแต่งเองแทบนับจำนวนได้ และเกือบทั้งหมดเป็นเพลงในกลุ่มสแตนดาร์ด แต่ด้วยแนวทางการร้องของเธอ บิลลี ทำให้ทุก ๆ เพลงที่เธอถ่ายทอดออกมา กลายเป็นเพลงส่วนตัวของเธอได้อย่างน่าอัศจรรย์ สิ่งที่ยืนยันข้อเท็จจริงนี้ คือผลงานการบันทึกเสียงของเธอ ซึ่งร้องไว้ราว ๆ 300 เพลง (มีการจัดแบ่งยุคสมัยการทำงานออกเป็น 3 ยุค) ในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 44 ปีที่เธอมีชีวิตอยู่บนโลก โดยที่ไม่เคยเรียนรู้ดนตรีอย่างเป็นระบบแม้แต่น้อย แต่เธอได้เปลี่ยนแปลงแนวทางการร้องเพลงแจ๊สมิให้ดำเนินเหมือนเดิมอีกต่อไป   ปัญหาเหยียดสีผิว นับตั้งแต่ บิลลี ฮอลิเดย์ ร่วมเป็นสมาชิกของ เดอะ เคานท์ เบซี ออร์เคสตรา ซึ่งออกตระเวนทัวร์เพื่อแสดงดนตรีตามเมืองต่าง ๆ เธอพบว่าชีวิตที่เคลื่อนไหวปานประหนึ่งชีพจรลงเท้านั้นช่างฝืดเคืองเหลือกำลัง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้จ่ายเงินให้เพียงพอแบบ “สัปดาห์ชนสัปดาห์” บิลลี เคยเล่าว่า ครั้งนั้นเธอได้รับค่าจ้างวันละ 14 เหรียญ ขณะที่ข้อมูลบางแหล่งระบุว่าอยู่ราว ๆ 70 เหรียญต่อสัปดาห์ (ต่างกันราว 40 เปอร์เซ็นต์) อย่างไรก็ดีต้องถือว่าเธอน่าจะได้รับมากกว่าการอยู่ในวงดนตรีของ ชิค เว็บบ์ ซึ่งโด่งดังไม่แพ้กันในเวลานั้น เพราะนักทรัมเป็ต มาริโอ บัวซา เคยเปิดเผยตอนออกจากวงของ เว็บบ์ ในปี ค.ศ. 1938 ว่า เขาได้รับค่าจ้างสัปดาห์ละ 35 เหรียญเท่านั้น ด้วยค่าจ้างดังกล่าว บิลลี ต้องจ่ายทั้งค่าที่พัก อาหาร และเครื่องแต่งกายของตัวเอง เธอเป็นผู้หญิงเพียงคนเดียวในวงดนตรีนี้ ระหว่างการเดินทางไปแสดงยังเมืองต่าง ๆ เช่น บัลติมอร์, ซินซินเนติ และนวร์ก ซึ่งช่วงนี้เองเป็นที่มาของฉายานาม เลดี เดย์ (The Lady Day) ที่ เลสเตอร์ ยัง ตั้งให้ เช่นเดียวกับที่ บิลลี เรียก เลสเตอร์ ว่า เพรซิเดนท์ (president) ด้วยชื่นชมว่าเขาน่าจะเป็นประธานาธิบดีคนต่อไปของสหรัฐฯ ซึ่งต่อมาแวดวงนักดนตรีนิยมเรียก เลสเตอร์ สั้น ๆ ว่า “เพรซ” (prez) หลังจากออกทัวร์ได้ระยะหนึ่ง วงดนตรีของ เบซี ก็กลับมาเล่นประจำที่ ‘ซาวอย’ ในนครนิวยอร์ก ในวันที่ 1 เมษายน ค.ศ. 1937 ช่วงนี้เองที่ บิลลี ได้กลับคืนสู่ห้องบันทึกเสียงเพื่อทำงานกับ เท็ดดี วิลสัน อีกครั้ง โดยร้องเพลง Moanin’ Low, Where is the Sun ?, Lets’ Call the Whole Thing Off รวมถึงเพลง They Can’t Take That Away From Me หลังจากซาวอย วงดนตรียอดนิยมวงนี้เริ่มเดินสายต่อ โดยไปแสดงประจำในไนท์คลับต่างเมือง ทั้งในฟิลาเดลเฟียและวอชิงตัน ช่วงนี้ แม้ บิลลี จะมีความสัมพันธ์ทางดนตรีอย่างใกล้ชิดกับ เลสเตอร์ ยัง แต่เธอก็ไม่วายเผลอใจมอบความรักให้แก่ เฟรดดี กรีน มือกีตาร์ประจำวง ซึ่งตราบจนทุกวันนี้ เขายังได้รับยกย่องว่าเป็นมือริธึ่มกีตาร์แจ๊สที่ดีที่สุดของวงการ หลังจากบิลลีเสียชีวิต เฮเลน โอคลีย์-แดนซ์ เคยยืนยันกับกรีนว่าบิลลีไปสารภาพกับเฮเลนว่า เธอรัก เฟรดดี กรีน อย่างแท้จริง แต่น่าเสียดายว่าทั้งที่รับรู้ถึงความรู้สึกดังกล่าว แต่ กรีน ไม่อาจโอนอ่อนผ่อนตามความประสงค์ของเธอได้ เพราะเขามีครอบครัวแล้ว การทำงานคืนแล้วคืนเล่าของ บิลลี ฮอลิเดย์ กับวงดนตรีที่ประกอบด้วยนักดนตรีระดับแนวหน้า ได้ฝึกปรือทักษะและสร้างความมั่นใจให้แก่นักร้องสาว แรงกดดันจากวินัยในการทำงานกับ เบซี ทำให้เธอเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง สุ้มเสียงการร้องที่ฉายแววศักยภาพมาแต่เดิม ได้ผ่านการเคี่ยวกรำและขัดเกลาอย่างหมดจดงดงาม ครั้งหนึ่งในการแสดงสดบนเวทีอะพอลโล เธียเตอร์ นักวิจารณ์คนหนึ่งแห่ง นิวยอร์ก อัมสเตอร์ดัม นิวส์ ระบุว่า “คุณสังเกตไหมว่า บิลลี ฮอลิเดย์ ได้ปรับปรุงตัวจนดีขึ้นแล้ว?” โดยเปรียบเทียบกับการแสดงครั้งก่อนหน้านั้นของเธอ พร้อมยืนยันว่า บิลลี เกือบจะโด่งดังเทียบเท่ากับเอลลาแล้วในเวลานี้ ........................... พร้อม ๆ กับสภาวะสุกงอมของวงการดนตรี คอนเสิร์ตบนเวที คาร์เนกี ฮอลล์ ของ เบนนี กูดแมน เมื่อวันที่ 16 มกราคม ค.ศ. 1938 เป็นเสมือนคำประกาศการมาถึงของดนตรีแจ๊สที่ได้รับการยกระดับขึ้นสู่คอนเสิร์ต ฮอลล์ ! ท่ามกลางสายตาผู้คน 2,500 ชีวิตในคอนเสิร์ตดังกล่าว มีนักดนตรีที่เคยแบ็คอัพ บิลลี ฮอลิเดย์ เป็นศิลปินรับเชิญหลายคนด้วยกัน อาทิ เคานท์ เบซี, เลสเตอร์ ยัง, บัค เคลย์ตัน, เฟร็ดดี กรีน และ วอลเตอร์ เพจ รวมถึงนายวงและนักดนตรีดาวเด่นจากวงดนตรีอื่น ๆ ที่มาสร้างสีสันอย่างคับคั่ง ส่งผลให้บันทึกการแสดงสดชุดนี้ ไม่เพียงเป็นอัลบั้มขายดีเท่านั้น แต่ยังเป็นหลักฐานสำคัญทางประวัติศาสตร์อีกด้วย สำหรับ บิลลี ฮอลิเดย์ คอนเสิร์ตบนเวทีนี้ได้ผลักดันให้เธอก้าวออกมาประชันความสามารถกับนักร้องยอดนิยมสูงสุดในเวลานั้น นั่นคือ เอลลา ฟิทซ์เจอรัลด์ อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง ผลที่ติดตามมาหลังจากนั้น คือความสนใจของสื่อมวลชนที่มุ่งเปรียบเทียบสถานภาพของ บิลลี ในวงของ เคานท์ เบซี กับ เอลลา ในวงของ ชิค เว็บบ์ ในทางตรงกันข้าม บรรยากาศที่สื่อมวลชนพากันสนับสนุนความโดดเด่นของ บิลลี ฮอลิเดย์ นักร้องประจำวงของ เคานท์ เบซี กลับสร้างรอยร้าวระหว่างเธอกับ เบซี อย่างคาดไม่ถึง ไม่ว่าจะเป็นประเด็นการจ่ายค่าตัวที่ต่ำเกินไป ปัญหาการใช้เวลาฝึกซ้อมหลังเลิกงาน ปัญหาการเลือกเพลงร้อง โดย บิลลี มุ่งมั่นจะร้องเฉพาะบทเพลงที่เธอมีความรู้สึกอย่างลึกซึ้ง และปฏิเสธร้องเพลงยอดนิยมในขณะนั้น ฯลฯ นานวันเข้า บิลลีเริ่มทำงานตามอำเภอใจ ในที่สุด เคานท์ เบซี ต้องแก้ปัญหาเรื่องนี้โดยจัดให้มีการประกวดร้องเพลงเพื่อค้นหานักร้องใหม่มาแทนที่ ทว่า นักร้องที่ชนะเลิศครั้งนี้กลับไม่ได้งาน เพราะในที่สุด เขาได้ เฮเลน ฮูมส์ มาทดแทน จากการชี้แนะของ จอห์น แฮมมอนด์ ด้านนักร้องสาวว่างงานได้ไม่นานนัก ทันทีที่ทราบข่าวเรื่องนี้ อาร์ตี ชอว์ นายวงบิ๊กแบนด์ผิวขาว ไม่รอช้า รีบทาบทาม บิลลี มาร่วมวง ซึ่งโดยเนื้อแท้แล้วไม่ใช่เรื่องง่ายนักในการผสมวงดนตรี 2 ผิวสี ที่มีนักดนตรีผิวขาวล้วน ทำงานร่วมกับนักร้องหญิงผิวดำ 1 คน ซึ่งแม้ เบนนี กูดแมน จะเคยทดลองทำวงลักษณะนี้มาแล้ว แต่ก็ต้องใช้ความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า ช่วงเวลาที่ บิลลี ทำงานกับ อาร์ตี นับได้ว่า อาร์ตี สามารถตอบสนองความต้องการทางศิลปะในการถ่ายทอดความรู้สึกของ บิลลี ได้เป็นอย่างดี เขาเรียบเรียงดนตรีให้สอดรับกับเสียงร้องของเธอ ไม่เพียงเท่านั้น ความสำเร็จในการนำวงดนตรีบิ๊กแบนด์ ยังส่งผลให้ อาร์ตี ชอว์ ร้อนแรงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งจากเพลง Begin the Beguine ทว่า ท่ามกลางดอกไม้ที่กำลังผลิบานอยู่ภายในสวนดนตรี พายุภายนอกได้ตั้งเค้าขึ้นอย่างเด่นชัด แม้เธอจะสามารถร่วมทางกับสมาชิกภายในวงได้อย่างไม่ขัดเขิน แต่ บิลลี ประสบกับการเลือกปฏิบัติในฐานะคนดำอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่การไม่ให้เกียรติ การไม่ให้พำนักพักแรม การไม่เสิร์ฟอาหารในภัตตาคารบางแห่งในเมืองที่เป็นชุมชนของคนผิวขาว ครั้งหนึ่ง อาร์ตี ชอว์ ต้องออกโรงทะเลาะกับผู้บริหารโรงแรมที่ไม่อนุญาตให้คนดำอย่าง บิลลี เข้าพัก ด้วยการขู่ว่าจะไม่เข้าพักทั้งวง ซึ่งสภาวะดังกล่าวดำเนินมาถึงจุดเดือดสูงสุด เมื่อเจ้าของโรงแรมชื่อ ‘ลินคอล์น’ ในนิวยอร์ก (ที่ทางวงบรรเลงประจำภายในห้องบลูรูม) ระบุให้ บิลลี ใช้ ‘ลิฟท์ขนของ’ แทน ‘ลิฟท์คนโดยสาร’ เพื่อหยุดเสียงบ่นจากลูกค้าว่าโรงแรมแห่งนี้ ‘ยอมรับคนดำเข้าพัก’ ด้วยความเหนื่อยหน่ายจากปัญหาดังกล่าว บิลลี ฮอลิเดย์ ตัดสินใจออกจากวงของ อาร์ตี ชอว์ เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน ค.ศ. 1938 บิลลี ฮอลิเดย์ สร้างสรรค์เสียงเพลงบนทางแพร่งของโศกนาฏกรรม: การดิ่งลงสู่ก้นเหว ผลผลิต Strange Fruit หลังออกจากวงของ อาร์ตี ชอว์ ภายใต้การชักนำของ จอห์น แฮมมอนด์ นักร้องสาวเตรียมตัวจะได้งานแสดงประจำที่ “คาเฟ่ โซไซตี้” ซึ่งเป็นแหล่งบันเทิงสำคัญแห่งใหม่ของนิวยอร์ก ความโดดเด่นของสถานที่แห่งนี้คือการเปิดกว้างให้แก่ผู้ชมโดยไม่แบ่งแยกสีผิว ด้วยแนวคิดเสรีนิยม และสโลแกนที่ว่า “The Right Place for the Wrong People” อย่างไรก็ตาม ความสัมพันธ์ของ บิลลี กับ จอห์น กลับเริ่มเสื่อมถอยลงทุกทีในระยะนี้ เมื่อ จอห์น รู้สึกว่า บิลลี ไม่ได้มีความพยายามที่จะไขว่คว้าโอกาสในอาชีพการงานเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเปรียบเทียบกับนักร้องรุ่นราวคราวเดียวกับเธอ อย่าง เอลลา ฟิทซ์เจอรัลด์, แมกซีน ซัลลิแวน หรือ ลีนา ฮอร์น ไม่เพียงเท่านั้น บิลลี ยังพลาดคิวการแสดงหลายครั้งหลายหน อีกทั้งทำตัวสุ่มเสี่ยงให้เกิดความหายนะบ่อยครั้ง เมื่อเธอเข้าห้องอัดด้วยอาการเมามาย หลายครั้งที่ จอห์น ต้องออกรับหน้าเสื่อเมื่อมีผู้บริหารค่ายเพลงเข้ามาสังเกตการณ์ แต่ บิลลี ยืนยันที่จะดื่มให้ได้ระหว่างการร้องเพลงบันทึกเสียง ความอดทนของ จอห์น สิ้นสุดลง เมื่อคราวที่เขาจัดแสดงคอนเสิร์ต Spirituals to Swing ณ เวทีคาร์เนกี ฮอลล์ ในวันที่ 28 ธันวาคม ค.ศ. 1938 ร่วมด้วยนักดนตรีที่เขาเตรียมไว้สำหรับบรรเลงในงานเปิดตัวของ “คาเฟ่ โซไซตี้” ซึ่งประกอบด้วย อัลเบิร์ต แอมมอนด์ส และ มีด ลักซ์ ลูว์อิส แต่งานนั้นกลับไม่มีชื่อของ บิลลี ฮอลิเดย์ ในความคิดอ่านส่วนตัวของ บิลลี เธอรู้สึกมึนตึงกับ จอห์น นับตั้งแต่คราวที่ออกจากวงดนตรีของ เคานท์ เบซี อีกทั้งเธอยังพร่ำบ่นถึงคุณภาพของเพลงที่จัดเตรียมไว้ให้เธอร้องในการบันทึกเสียงเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน ค.ศ. 1938 กับเซสชั่นของ เท็ดดี วิลสัน ด้วยเหตุนี้ จึงไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หากเซสชั่นการบันทึกเสียงครั้งใหม่ที่ จอห์น แฮมมอนด์ จัดขึ้นในวันที่ 30 มกราคม ค.ศ. 1939 จะกลายเป็นงานครั้งสุดท้ายที่บุคคลทั้งสองได้ร่วมงานกัน ท่ามกลางกำแพงของอคติและความไม่เข้าใจกันซึ่งก่อตั้งสูงขึ้นเป็นลำดับ  ทว่า เซสชั่นครั้งสุดท้ายกลับเป็นหนึ่งในงานอันน่าจดจำของ บิลลี โดยนักดนตรีที่ร่วมในการบันทึกเสียงครั้งนี้ ประกอบด้วย เท็ดดี วิลสัน-เปียโน, รอย เอลดริดจ์-ทรัมเป็ต และ เบนนี คาร์เตอร์ ซึ่งเล่นทั้งอัลโต แซ็กโซโฟน และคลาริเน็ท การโซโล่ของ เบนนี ใน More Than You Know ทำให้เพลงนี้กลายเป็นงานมาสเตอร์พีซระหว่างเขากับเธอ เช่นเดียวกับเสียงคลาริเน็ทของเขาในเพลง What Shall I Say ? และ It’s Easy to Blame the Waether ........................... การมีงานร้องประจำที่ “คาเฟ่ โซไซตี้” ได้สถาปนาตัวตนของ บิลลี ฮอลิเดย์ ขึ้นมาอีกระดับหนึ่ง การทำงานร่วมกับวงดนตรีของ แฟรงกี นิวตัน ที่นี่ ยังได้เปิดโอกาสให้เธอได้เลือกสรรเพลงร้องตามที่เธอต้องการ ซึ่งส่วนมากหนีไม่พ้นเพลงรักโรแมนติกที่ไม่สมหวัง และความเดียวดาย ในระยะนี้ นักแต่งเพลงชื่อ ลูว์อิส อัลเลน (นามจริง เอเบล มีโรปอล) ได้แต่งเพลง Strange Fruit ให้แก่ บิลลี ซึ่งในเบื้องต้นเธอปฏิเสธที่จะร้อง โดยเฉพาะท่อนที่ว่า “บรรดาร่างสีดำกำลังแกว่งไกวอยู่ท่ามกลางสายลมทางใต้” และ “นัยน์ตาอันปูดโปนและปากอันบิดเบี้ยว” โดยเนื้อแท้ Strange Fruit เป็นบทเพลงที่มีนัยยะทางสังคมการเมือง นำเสนอ “สาร” ที่มีต่อเหตุการณ์การแขวนคอคนดำในแบบศาลเตี้ยโดยคนขาวหัวรุนแรงในรัฐทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกา คำร้องของเพลงนี้มีพลังมากเพียงพอที่จะก่อให้เกิดจินตภาพอันรุนแรงแก่ผู้ฟังได้มากยิ่งกว่าภาพข่าวหรือเนื้อความของข่าวในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเสียด้วยซ้ำ  อย่างไรก็ตาม แม้จะประสบความสำเร็จจากการแสดงสดที่ “คาเฟ่ โซไซตี้” แต่ โคลัมเบีย ต้นสังกัดของ บิลลี ปฏิเสธที่จะบันทึกเสียงเพลงนี้เพราะเนื้อหาของเพลง เธอจึงติดต่อไปยังสังกัด คอมมอดอร์ ของ มิลท์ เกเบลอร์ ซึ่งเขาช่วยหาทางออกด้วยการให้ บิลลี กลับไปขออนุญาตสังกัดโคลัมเบียเพื่อบันทึกเสียงกับ คอมมอดอร์ เพียง 1 เซสชั่น ประกอบด้วย 4 เพลง ผลลัพธ์ของเรื่องนี้เป็นไปตามความคาดหมาย Strange Fruit บันทึกเสียงเมื่อวันที่ 20 เมษายน ค.ศ. 1939 พร้อม ๆ กับเพลง I Gotta Right to Sing the Blues, Yesterday และ Fine and Mellow ที่บิลลี แต่งร่วมกับ มิลท์ เกเบลอร์ Strange Fruit ได้สร้างชื่อเสียงให้แก่ บิลลี ฮอลิเดย์ อย่างท่วมท้น โดยเฉพาะในกลุ่มนักคิด ปัญญาชนฝ่ายซ้าย ซึ่งเดิมอาจจะไม่ใช่แฟนเพลงของเธอโดยตรง หลังจากเซสชั่นดังกล่าว ความสัมพันธ์ระหว่าง บิลลี กับ ซันนี ไวท์ มือเปียโนในวงของ แฟรงกี นิวตัน (ที่มีแนวทางการเล่นคล้ายคลึงกับ เท็ดดี วิลสัน) ดำเนินไปอย่างลึกซึ้ง แต่เพียงไม่นานทั้งคู่ก็เลิกรากัน ทั้งนี้ บิลลี เคยให้สัมภาษณ์นิตยสาร ดาวน์บีท ฉบับเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 1939 ว่าเธอมีชายที่เธอรัก 3 คนในชีวิต “คนหนึ่งคือ แมเรียน สก็อตต์ เมื่อตอนฉันเป็นเด็ก ตอนนี้เขาทำงานที่ไปรษณีย์ อีกคนคือ เฟรดดี กรีน มือกีตาร์ของเบซี ... คนที่สามคือ ซันนี ไวท์ นักเปียโน เขาอยู่กับแม่ เหมือนกับตัวฉัน เรายังไม่ได้วางแผนเรื่องการแต่งงาน” ผู้ชายคนต่อมาในชีวิตของ บิลลี คือ เจมส์ มอนโร น้องชาย คลาร์ก มอนโร ซึ่งเป็นเจ้าของคลับ “อัพทาวน์ เฮาส์” เจมส์ เป็นหนุ่มสำอาง เจ้าของฉายานามที่หลากหลาย ตั้งแต่ หนุ่มนักกีฬา, นายหน้ากัญชา หรือแม้กระทั่งแมงดา ในสายตาของ เจมส์ นักร้องสาวคนนี้เป็นแค่เหยื่อคนต่อไปของเขาเท่านั้น ท่ามกลางเสียงคัดค้านของหลายคน ทั้งคู่แต่งงานกันเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม ค.ศ. 1941 ........................... นับจากเซสชั่น Strange Fruit บิลลี ฮอลิเดย์ มีงานบันทึกเสียงกับ โคลัมเบีย กว่า 10 ครั้ง และ 1 ครั้งสำหรับสังกัด แคปิตอล ทว่า นับจากสหภาพนักดนตรีได้ออกมาเคลื่อนไหวประท้วงสังกัดแผ่นเสียงเรื่องค่าตอบแทน ตั้งแต่เดือนสิงหาคม ค.ศ. 1942 นักร้องแจ๊สคนนี้ไม่ได้เข้าห้องอัดอยู่นาน จนกระทั่งถึงเดือนมีนาคม ค.ศ. 1944 ในช่วงนี้ บิลลี มีชื่อเสียงอย่างงดงามบนถนนสาย 52 ของนิวยอร์กซิตี หรือที่รู้จักกันดีในนามของ “ถนนสายดนตรีแจ๊ส” เธอพึงพอใจที่จะรู้จักกันในหมู่คนฟังแคบ ๆ มากกว่าการเป็นนักร้องยอดนิยม            [caption id="attachment_13139" align="aligncenter" width="1200"] บิลลี ฮอลิเดย์ สร้างสรรค์เสียงเพลงบนทางแพร่งของโศกนาฏกรรม: การดิ่งลงสู่ก้นเหว บิลลี ฮอลิเดย์ และ หลุยส์ อาร์มสตรอง (ซ้าย) ศิลปินคนโปรดของเธอ[/caption] เซ็กซ์, ยาเสพติด และการดิ่งลงสู่ก้นเหว นักวิชาการดนตรีส่วนใหญ่ต่างลงความเห็นให้ยุคที่สองของ บิลลี ฮอลิเดย์ เริ่มต้นขึ้นในช่วงปี ค.ศ. 1939 พร้อมกับผลงานเพลง Strange Fruit ที่เธอได้เปลี่ยนจากเพลงร้องยอดนิยมทั่วไปอันเปี่ยมไปด้วยประกายสดใส มาสู่เพลงบัลลาดที่มีความลึกซึ้งทางความคิดและอารมณ์มากขึ้น ตัวอย่างเพลงชั้นดีในระยะนี้ อาทิ Yesterdays, Some Other Spring, My Man (เวอร์ชั่นที่ออกกับสังกัด เดกกา), Lover Man, Don’t Explain  และ Deep Song ผลงานยุคที่สองของ บิลลี ยังสอดคล้องกับช่วงเวลาที่โฉมหน้าของดนตรีแจ๊สได้เปลี่ยนแปลงไป จากยุคสมัยของสวิง (Swing Era) มาสู่การประกาศตัวของขบถทางดนตรีรุ่นใหม่ ในนามของ บีบ็อพ (Bebop) ภายใต้การนำของ ชาร์ลี พาร์คเกอร์ และ ดิซซี กิลเลสปี ซึ่งได้พัฒนาดนตรีแจ๊สก้าวสู่ความสลับซับซ้อนของแนวเสียงประสาน และในเวลาเดียวกัน ได้เพิ่มเสรีภาพแก่ความคิดและการแสดงออกทางดนตรีมากยิ่งขึ้น ผลงานที่น่าสนใจในระยะที่สองของ บิลลี ครอบคลุมไปจนถึงช่วงต้นทศวรรษ 1950s ก่อนเข้าสู่ยุคที่สาม (ค.ศ.1952-1959) ซึ่งจัดเป็นช่วงเข้าสู่วาระสุดท้ายในชีวิตของ บิลลี ที่สภาพทางจิตใจและร่างกายของเธอถดถอยและเสื่อมโทรมลงอย่างรวดเร็ว อันสืบเนื่องมาจากการใช้ชีวิตที่ดิ่งลึกกับแอลกอฮอล์และยาเสพติดมาก่อนหน้านั้น สำหรับยาเสพติด บิลลี ฮอลิเดย์ ไม่เพียงเสพกัญชาเหมือนช่วงแรกที่เข้าสู่สังคมนักดนตรีในนิวยอร์ก ซิตี เท่านั้น แต่เธอเริ่มทำความรู้จักคุ้นเคยกับ โคเคน, ฝิ่น แม้กระทั่ง เฮโรอีน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การเสพเพื่อประคับประคองชีวิตคู่ของเธอ กับ เจมส์ หรือ จิมมี มอนโร สามีคนแรก ทว่า ในความเป็นจริง ทั้งคู่อยู่ด้วยกันได้ไม่นานก็เลิกร้างต่อกัน แม้ บิลลี ใช้เวลาจนถึงปี ค.ศ. 1945 กว่าจะประกาศหย่า จิมมี มอนโร จากเม็กซิโกก็ตามที ท่ามกลางความเศร้าเสียใจลึก ๆ บิลลี ได้อ้าแขนรับผู้ชายคนใหม่ ๆ เข้ามาสู่ชีวิตของเธอ ตั้งแต่ โจ กาย นักทรัมเป็ต, จอห์น ซิมมอนส์ มือเบส, รอย ฮาร์ท มือกลอง โดยมี ดนตรี, เซ็กซ์ และยาเสพติด เวียนวนอยู่ในชีวิตประจำวัน อันเป็นสิ่งที่แทบจะขาดเสียไม่ได้ จากบันทึกของ จอห์น ซิมมอนส์ ที่ให้สัมภาษณ์ แพทริเซีย วิลลาร์ด ในโครงการประวัติศาสตร์แจ๊สจากคำบอกเล่า ของสถาบันสมิธโซเนียน มีเนื้อหาทำนองว่า บุคลิกภาพทางเพศของ บิลลี ฮอลิเดย์ พึงพอใจที่จะเป็นฝ่ายถูกกระทำหรือเป็นมาโซคิสต์ ดี ๆ นี่เอง กล่าวคือเธอมักท้าทายและยั่วยุให้มีการทำร้ายร่างกายอยู่เสมอ .................... ช่วงปี ค.ศ. 1947 ความนิยมของผู้ฟังที่มีต่อ บิลลี ฮอลิเดย์ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เดือนมกราคม นิตยสารดนตรี ดาวน์บีท ได้ประกาศผลสำรวจความนิยมของผู้อ่าน ซึ่งพบว่า บิลลี มีคะแนนสูงสุดมากกว่าปีก่อนหน้านั้นที่เธออยู่ในอันดับที่สอง อย่างไรก็ตาม แนวโน้มของการใช้ชีวิตบนความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นทุกขณะ อยู่ในสายตาของ โจ เกลเซอร์ ผู้จัดการส่วนตัวของ บิลลี มาโดยตลอด เขาพยายามชักนำให้เธอหลุดพ้นจากวงจรชีวิตแบบเก่าด้วยการบำบัดให้พ้นจากอาการติดยา บิลลี ยอมเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในช่วงกลางเดือนมีนาคม เป็นเวลาราว 6 สัปดาห์ แต่แล้วเธอก็กลับไปสู่วงจรเดิมอีกครั้งเมื่อสังคมรอบตัวเอื้ออำนวยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามรูปรอยเดิม และเหตุการณ์เลวร้ายลงเมื่อ เธอ กับ โจ กาย ถูกจับในข้อหาครอบครองยาเสพติด ในเช้าตรู่ของวันที่ 19 พฤษภาคม ด้วยความตั้งใจที่จะไม่กลับไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด ศาลจึงส่งตัว บิลลี ไปบำบัดในโรงพยาบาลของทัณฑสถาน นอกจากนี้ บิลลี ใช้เวลาหลังจากนั้นเข้ารับการรักษาเพิ่มเติมในโรงพยาบาลเอกชน ก่อนกลับคืนสู่ถนนสายดนตรีอีกครั้ง โดยในคราวนี้ ไม่เพียงการขึ้นสู่เวทีการแสดงที่คาร์เนกี ฮอลล์ แต่เธอยังได้ร่วมงานกับ หลุยส์ อาร์มสตรอง ศิลปินคนโปรดของเธออีกด้วย ช่วงต้นทศวรรษ 1950s นอร์แมน แกรนซ์ โปรดิวเซอร์แจ๊สที่บุกเบิกโครงการคอนเสิร์ต “แจ๊ส แอท เดอะ ฟิลฮาร์มอนิก” มาตั้งแต่กลางทศวรรษ 1940s และเป็นหนึ่งในผู้ชื่นชม บิลลี ฮอลิเดย์ ได้ชักนำนักร้องคนนี้ให้เซ็นสัญญาบันทึกเสียงกับเขา ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ยุคที่สามของ บิลลี ฮอลิเดย์ นับจากปี ค.ศ.1952 จนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต ช่วงเวลาดังกล่าว บิลลี พยายามยืนหยัดทำงานท่ามกลางสภาพทางกายภาพที่ย่ำแย่ลงทุกที เสียงร้องของเธอเปลี่ยนแปลงไปมากในระยะนี้ โดยมีโทนเสียงแคบและลึกลงจากเดิม พร้อม ๆ กับสภาพแวดล้อมในชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ตัวอย่างเพลงชั้นดีของยุคนี้ มี These Foolish Things ซึ่งเป็นเพลงเก่าที่ บิลลี เคยร้องไว้เมื่อปี ค.ศ. 1936 แต่ได้มีการนำกลับมาบันทึกเสียงอีกครั้งในปี ค.ศ. 1952 มาร์ติน วิลเลียมส์ นักวิจารณ์ชื่อดังได้กล่าวถึงเวอร์ชั่นหลังของเพลงนี้ว่า บิลลี ได้คงรักษาทำนองเดิมไว้ พร้อมกับเติมทำนองใหม่ที่เป็นของเธอเองได้อย่างเหมาะสม ... เธอได้ตระหนักถึงโครงสร้างแนวประสานของเพลงนี้อย่างจะแจ้ง และเขียนส่วนต้นของเพลงนี้ขึ้นใหม่ เป็นทำนองอันสลับซับซ้อนด้วยตัวของเธอเอง สังกัดเวิร์ฟ ของ นอร์แมน แกรนซ์ ยังได้รีเมค หรือทำซ้ำเพลงเก่า ๆ ของ บิลลี อีกหลายเพลง อาทิ Strange Fruit, My Man, Don’t Explain, Body & Soul นอกเหนือไปจากเพลงอื่น ๆ อาทิ  Day In Day Out, Comes Love, Please Don’t Talk About Me When I’m Gone, Do Nothing ‘Til you Hear From Me, Willow Weep For Me, Solitude, You Go To my Head ฯลฯ แม้จะมีเสียงวิจารณ์ว่างานเพลงของ บิลลี ในยุคที่สาม ไม่อาจเทียบเคียงความสดของยุคแรก หรือความรุ่มรวยทางอารมณ์อันสละสลวยในยุคที่สองได้เลย แต่ก็มีผู้สนใจผลงานของเธออีกไม่น้อยที่เห็นแตกต่างออกไป ไมล์ส เดวิส นักทรัมเป็ตแจ๊ส ผู้ได้ฉายาว่าปฏิวัติวงการแจ๊ส 5 สมัย ยกย่องงานในยุคที่ 3 ว่า บิลลี ได้เรียนรู้แตกต่างไปจากเดิม เธอน่าจะมีทักษะในการควบคุมสิ่งที่ต้องการได้มากกว่าที่ผ่านมา เช่นเดียวกับคำยืนยันของ จิมมี โรวล์ส นักเปียโนที่ระบุว่า บิลลี ต้องการอัดเพลง Everything Happens to Me ด้วยฟีลลิ่งทางด้านจังหวะที่เป็นฟังกีมากขึ้น  เพื่อให้แตกต่างจากเวอร์ชั่นของนักร้องคนอื่น ๆ  ขณะที่ บัค เคลย์ตัน ตอกย้ำว่า งานยุคหลังของ บิลลี มีคุณค่าบางสิ่งที่แอบแฝงอยู่และท้าทายให้ค้นหา “เธอยิ่งใหญ่กว่าเดิม เพราะบิลลี ยังคงเติบโตต่อไป เธอปรับปรุงตัวเองตราบสิ้นอายุขัย ถึงตอนนั้นเธอก็ได้ทำครบทุกอย่างแล้ว”  บิลลี ฮอลิเดย์ สร้างสรรค์เสียงเพลงบนทางแพร่งของโศกนาฏกรรม: การดิ่งลงสู่ก้นเหว วาระสุดท้ายของชีวิต นอกเหนือจากสาระทางดนตรีที่เปลี่ยนแปลงไปในยุคที่ 3 ของ บิลลี ฮอลิเดย์ แล้ว ช่วงเวลา 7 ปีหลังในชีวิตยังมีเหตุการณ์ที่น่าสนใจหลายเรื่องราวด้วยกัน ประการแรก คือ การเริ่มต้นความสัมพันธ์กับ หลุยส์ แมคเคย์ ช่วงปลายปี ค.ศ. 1951 ซึ่งต่อมาเขาคือสามีคนที่สองของเธอ ทั้งคู่รู้จักกันมานานตั้งแต่ทศวรรษ 1930s ที่มหานครนิวยอร์ก ต่อมาเธอได้พบกับเขาอีกครั้ง เมื่อทราบข่าวว่าเขาไปทำงานอยู่ที่เมืองดีทรอยต์ มีครอบครัวและลูก 2 คน บิลลี เคยให้สัมภาษณ์ว่า ชีวิตของเธอเหมือนเรือขาดหางเสือ คลื่นลมแรงทำให้จมดิ่งสู่มหาสมุทร ไม่มีสิ่งใดให้ยึดเหนี่ยว ทว่า ตั้งแต่การเข้ามาในชีวิตของชายหนุ่มร่างสูง ผมสีน้ำตาล ที่มีอายุมากกว่าเธอ 5 ปีคนนี้ เธอค้นพบว่าม่านหมอกในจิตใจได้คลี่คลายลงไปมากทีเดียว แม้จะมีเสียงวิจารณ์ในทางลบต่อ หลุยส์ แมคเคย์ ถึงการใช้จ่ายเงินทองของ บิลลี ฮอลิเดย์ อย่างฟุ่มเฟือย รวมถึงการครอบครองทรัพย์สินทางปัญญา ในจำนวนนี้รวมถึงหนังสือ Lady Sings The Blues (บิลลี เริ่มต้นเขียนร่วมกับ วิลเลียม ดัฟทิ ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1953 และตีพิมพ์ออกขายในปี ค.ศ. 1956) ซึ่งแวดวงผู้ใกล้ชิดหลายรายไม่เห็นด้วยที่ แมคเคย์ จะขายสิทธิ์เรื่องราวของหนังสือเพื่อใช้ถ่ายทำภาพยนตร์เพราะมีข้อมูลผิดพลาดมากมาย แต่อย่างน้อยที่สุด แมคเคย์ คือผู้ชายที่ดูแลบิลลีจนถึงวันสุดท้ายของชีวิต ประการที่สอง คือ การเดินทางไปทัวร์ยุโรปเป็นครั้งแรกในชีวิตของเธอ ช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ ปี ค.ศ. 1954 ในนาม “แจ๊ส คลับ ยูเอสเอ” ประกอบด้วยนักดนตรีฝีมือดี อาทิ เรด นอร์โว, จิมมี เรนีย์, บีดดี ดีฟรังโก ฯ โดยมี ลีโอนาร์ด ฟีเธอร์ เป็นผู้ดูแลโครงการ การทัวร์ดังกล่าวประสบความสำเร็จอย่างดียิ่ง บิลลี ค้นพบว่าแฟนเพลงชาวยุโรปให้การต้อนรับศิลปินแจ๊สผิวสีด้วยการยกย่องให้เกียรติอย่างสูง เธอตระหนักรับรู้ถึงความสุขที่ได้รับมากกว่าการใช้ชีวิตอยู่ในสหรัฐอเมริกาด้วยซ้ำ ประการที่สาม บิลลี ประสบกับอุปสรรคที่บีบคั้นชีวิตอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ฐานะจำเลยที่ถูกโจทก์ยื่นฟ้องค่าเสียหายเรื่องผิดนัดการแสดงและการเงิน, การไม่ได้งานเล่นประจำตามไนท์คลับต่าง ๆ สืบเนื่องจากข่าวการใช้ยาเสพติด และโดยเฉพาะ 2 ครั้งหลังสุด คือคดีครอบครองยาเสพติดในปี ค.ศ. 1956 และอีกครั้งคือบนเตียงที่เธอนอนป่วยจนถึงวันเสียชีวิต ประการที่สี่ การถ่ายทอดสดในรายการทีวี The Sound of Jazz ของสถานีซีบีเอส เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม ค.ศ. 1957 ซึ่ง บิลลี ฮอลิเดย์ ร้องโดยมีนักดนตรีดาวเด่นคอยแบ็คอัพ อาทิ รอย เอลดริดจ์, เฟร็ดดี กรีน, โคลแมน ฮอว์กินส์, เคานท์ เบซี และแน่นอนต้องรวมถึงคู่โซลเมทแห่งวงการ นั่นคือ บิลลี และ เลสเตอร์ ยัง ถือเป็นการบรรเลงครั้งสำคัญอีกครั้งหนึ่งในชีวิตของนักร้องสาวคนนี้ .................... ข่าวการเสียชีวิตของ เลสเตอร์ ยัง เมื่อวันที่ 15 มีนาคม ค.ศ. 1959 นำความโศกเศร้าอาดูรมาสู่จิตใจของ บิลลี ฮอลิเดย์ อย่างลึกซึ้ง แม้กระทั่งในพิธีศพที่จัดขึ้นอย่างเรียบง่าย แทบไม่มีการกล่าวถึงความยิ่งใหญ่ของ เลสเตอร์ แม้แต่น้อย ในงานดังกล่าว บิลลี ปรารถนาจะร้องเพลงให้แก่ “เพรซ” แต่ไม่มีใครในครอบครัวของเขาอนุญาตให้เธอร้อง เธอได้แต่ร่ำไห้พร้อมน้ำตา ในช่วงหลังของชีวิต เลสเตอร์ ยัง ประสบภาวะขาดแคลนเงินทองเช่นเดียวกับ บิลลี เขาเสพกัญชาและดื่มสุราอย่างหนัก แทบไม่แตะต้องอาหาร ไม่เพียงเท่านั้น เลสเตอร์ พอใจจะเลือกพักอยู่ในโรงแรมใจกลางเมืองมากกว่าที่บ้านของเขาเอง เพื่อจะได้มองเห็น “เบิร์ดแลนด์” และความเคลื่อนไหวบนถนนสายดนตรีตลอดเวลา หลังงานศพของ เลสเตอร์ บิลลี ตัดสินใจจัดงานปาร์ตีฉลองครบรอบวันเกิดปีที่ 44 ของเธอที่บ้าน เมื่อวันที่ 7 เมษายน จากนั้นสุขภาพของเธอก็เสื่อมโทรมลง เธอถูกส่งเข้าโรงพยาบาลในวันที่ 31 พฤษภาคม โดยสภาพร่างกายอยู่ในสภาพวิกฤตเกินกว่าจะช่วยตัวเองได้ วันที่ 11 มิถุนายน พยาบาลนางหนึ่งพบผงสีขาว ๆ จำนวนหนึ่งในกล่องกระดาษทิชชูซึ่งวางอยู่หัวเตียง เธอรายงานแก่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่ได้นำตัวอย่างของผงดังกล่าวส่งห้องแล็ปเพื่อตรวจวิเคราะห์ ผลปรากฏว่าเป็น เฮโรอีน ! วันรุ่งขึ้น เจ้าหน้าที่มาสอบปากคำบิลลีพร้อมแจ้งข้อหาและควบคุมตัว ข้าวของบางส่วนซึ่งรวมถึงหนังสือการ์ตูน แผ่นเสียง และภาพถ่าย ถูกยึดเป็นของกลาง ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีตำรวจสองนายมาเฝ้าเวรประจำอยู่ในภายห้อง วันต่อมา ทนายความของบิลลี พยายามร้องต่อศาลเพื่อให้ตำรวจทั้งสองนายออกจากห้องพักของบิลลี โดยมีนัดไต่สวนในวันอังคารที่ 16  มิถุนายน ผลปรากฏว่า ศาลอนุมัติให้กันตำรวจสองนายออกจากห้องพักในโรงพยาบาล อาการของ บิลลี ฮอลิเดย์ แย่ลงอย่างต่อเนื่อง และเสียชีวิตลงเมื่อเวลาตีสามสิบนาที ของเช้าวันที่ 17 กรกฎาคม ค.ศ. 1959 ................ ครั้งหนึ่ง ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี นักเขียนนามอุโฆษ เคยแสดงทัศนะเกี่ยวกับการมีชีวิตอยู่ในหนังสือ Underground Man ของเขาว่า “การมีชีวิตอยู่เกินกว่า 40 ปี เป็นเรื่องไม่เหมาะสม, น่าเบื่อ และดูยาวนานชั่วกัปชั่วกัลป์” ที่ผ่านมา มีศิลปินเพลงจากโลกไปก่อนวัยอันควรจำนวนไม่น้อย อาทิ ชาร์ลี พาร์คเกอร์, เจมส์ ดีน, เจนิส จอปลิน, มาริลีน มอนโร, เคิร์ท โคเบน  ฯลฯ  พวกเขาเหล่านี้ล้วนแต่ฝากผลงานประดับไว้แก่โลก อย่างน้อย ๆ บิลลี ฮอลิเดย์ ก็มีชีวิตอยู่เกินกว่ามาตรฐานนั้นเป็นเวลา  4 ปี และผลงานของเธอยังเป็นอมตะมาตราบจนทุกวันนี้ !                Selected Bibliography Clarke, Donald. Billie Holiday : Wishing on the Moon. Cambridge: Da Capo Press, 2000 Griffin, Farah Jasmine. In Search of Billie Holiday : If You Can’t Be Free, Be A Mystery. New York: Ballatine, 2001 Holiday, Billy. with William Dufty. Lady Sings the Blues. London: Penguin, 1992 (c.1956) Nicholson, Stuart. Billie Holiday. Boston: Northeastern University Press, 1995 O’Meally, Robert. Lady Day : The Many Faces of Billie Holiday. New York: Da Capo Press, 1991 Vail, Ken. Lady Day’s Dairy : The Life of Billie Holiday 1937-1959. Surrey: Castle Communications, 1996   ติดตามบทความ บิลลี ฮอลิเดย์ ได้ที่นี่ PART I บิลลี ฮอลิเดย์ สร้างสรรค์เสียงเพลงบนทางแพร่งของโศกนาฏกรรม: เปิดตำนานปริศนา PART II บิลลี ฮอลิเดย์ สร้างสรรค์เสียงเพลงบนทางแพร่งของโศกนาฏกรรม: เสียงเพลงและกัญชา PART III บิลลี ฮอลิเดย์ สร้างสรรค์เสียงเพลงบนทางแพร่งของโศกนาฏกรรม: การมาถึงของนักร้องแจ๊ส