สังฆราชปัลเลอกัวซ์ กูเกิลแห่งยุค สหายสนิทร.4 คนสู้ชีวิตที่เจอชีวิตสู้กลับ

สังฆราชปัลเลอกัวซ์ กูเกิลแห่งยุค สหายสนิทร.4 คนสู้ชีวิตที่เจอชีวิตสู้กลับ

ปัลเลอกัวซ์ (Jean-Baptiste Pallegoix) บาทหลวงที่มาสยาม และเดินทางด้วยภารกิจของพระเจ้า “พระสหายสนิท” ในรัชกาลที่ 4 ตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็นพระวชิรญาณภิกขุ สั่งซื้อกล้องถ่ายภาพเข้ามาแบบชิก ๆ คูลๆ และบันทึกการเดินทาง เล่าเรื่องหัวเมืองตะวันออกแง่ชาติพันธุ์

  • บาทหลวงปัลเลอกัวซ์ หรือ ปาลเลอกัวซ์ คืออีกหนึ่งบุคคลในประวัติศาสตร์ที่ปรากฏในภาพยนตร์ บุพเพสันนิวาส 2 และเป็นคนที่หนังถ่ายทอดออกมาได้สมจริง
  • บทบาทของสังฆราช “สังฆราชปาลเลกัวซ์” จัดได้ว่าเป็น กูเกิลแห่งยุค

(1) กว่าจะเป็น “กูเกิล” ของยุคสมัย

ในบรรดาตัวละครของ “บุพเพสันนิวาส2” ที่จัดว่านำเอาชื่อของบุคคลในประวัติศาสตร์สมัยต้นรัตนโกสินทร์มาถ่ายทอดได้สมจริงที่สุด หนึ่งในนั้นคงเป็น “ฌ็อง แบบติสต์ ปัลเลอกัวซ์” (Jean-Baptiste Pallegoix) หรือที่คนไทยมักเรียกว่า “สังฆราชปาลเลกัวซ์” (Bishop Pallegoix) 

ด้วยบุคลิกบาทหลวงชราร่างท้วม ท่าทางใจดี ทรงภูมิและรอบรู้ถึงกับว่าเป็น “กูเกิล” ของยุคสมัยตามเนื้อเรื่อง ทราบจากอาจารย์พุฒิพงษ์ พุฒตาลศรี ว่าทางทีมงานของภาพยนตร์ได้มาสัมภาษณ์สอบถามเขาเกี่ยวกับบุคลิกและชีวประวัติของบาทหลวงท่านนี้ ก็ไม่เป็นที่แปลกใจเพราะอาจารย์พุฒิพงษ์เป็นนักประวัติศาสตร์ของคริสตจักรในประเทศไทยที่หาตัวจับได้ยาก 

จุดที่น่าสนใจคือตอนท้ายของภาพยนตร์ได้มีการพูดถึงมุมมองของปัลเลอกัวซ์ที่มีต่อประวัติศาสตร์ อันที่จริงเรื่องนี้มีความน่าสนใจเพราะเมื่อพูดถึงประวัติศาสตร์ไทยเมื่อต้นรัตนโกสินทร์ เรามักจะนึกถึงบุคคลสำคัญอาทิ สมเด็จพระพนรัตน์ (แก้ว), เจ้าพระยาทิพากรวงศ์ (ขำ บุนนาค), กรมหลวงวงศาธิราชสนิท, กรมหลวงนรินทรเทวี, หรืออย่างเช่นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนแต่เป็นผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชำระพระราชพงศาวดาร 

ในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ ยังมีงานเขียนทางประวัติศาสตร์อีกประเภทหนึ่งซึ่งยังไม่เป็นที่พูดถึงหรือศึกษากันมากเท่าที่ควร คือกลุ่มงานเขียนที่เป็นบันทึกของชาวต่างชาติ ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์นอกพระราชพงศาวดาร ช่วงระหว่าง พ.ศ.2397-2399 ซึ่งเป็นปีที่ปัลเลอกัวซ์ได้กลับไปพำนักที่ประเทศฝรั่งเศสชั่วคราวก่อนถูกส่งตัวกลับมาสยามอีก ปัลเลอกัวซ์ได้ตีพิมพ์หนังสือขึ้น 4 เล่ม คือ

  1.  “เล่าเรื่องกรุงสยาม” (Description du Royaume Thai ou Siam)
  2.  บันทึกเรื่องมิสซังแห่งกรุงสยาม (Memoire sur la Mission de Siam)
  3.  “สัพะ พะจะนะ พาสา ไท” (พจนานุกรมสี่ภาษา คือ ไทย, อังกฤษ, ละติน, ฝรั่งเศส)
  4.  “Grammatica linguoe Thai” (ไวยากรณ์ภาษาไทย) 

งานสำคัญที่ผู้เขียนจะนำมาอภิปรายในที่นี้คืองานชิ้นที่ 1 “เล่าเรื่องกรุงสยาม” เป็นงานเขียนทางประวัติศาสตร์ไทยจากมุมมองของปัลเลอกัวซ์ ในขณะที่เล่มที่ 2 เป็นเล่มเล็ก ๆ ว่าด้วยเรื่องภายในของมิสซังกรุงสยาม

ส่วนอีก 2 ชิ้นที่เหลือนั้นเป็นงานด้านภาษาศาสตร์ ปกติถ้าไม่ต้องมีศึกษาในสาขาที่เกี่ยวข้องแล้ว ก็ไม่ค่อยมีใครอยากจะไปยุ่งนักหรอก เพราะเป็นเรื่องพจนานุกรมกับไวยากรณ์ 

แต่ไม่ได้หมายความว่างานทั้งสองชิ้นดังกล่าวนี้ไม่มีความสำคัญ ตรงข้าม สำคัญมากเพราะเป็นคู่มือการเรียนภาษาที่สำคัญของยุคสมัยโน้น อย่างเล่ม “สัพะ พะจะนะ พาสา ไท” ถือเป็นพจนานุกรมภาษาไทยฉบับแรก เล่มไวยากรณ์ภาษาไทยเองก็เป็นเล่มที่เสมือนคัมภีร์บรรจุคำค้นและทุกสิ่งอย่างสารพัดที่อยากรู้ สำหรับบาทหลวงมิชชันนารีที่ต้องเดินทางเข้ามาเผยแผ่คริสต์ศาสนาในสยาม 

หลายเรื่องในเล่มนี้คนไทยระดับชั้นราชบัณฑิตก็ยังไม่รู้ นักวิชาการรุ่นหลังที่อยากรู้ความหมายต่าง ๆ ของคำศัพท์แปลก ๆ เมื่อมาพลิกเปิดดูภายในเล่ม ก็มักจะพบว่าสังฆราชท่านรวบรวมไว้เป็นอย่างดีแล้ว ฉะนั้นที่เปรียบเปรยเจ้าของผลงานเล่มโตนี้ว่าเป็น “กูเกิล” (ของยุคสมัย) ก็ไม่ผิดหรือยกย่องเกินแต่อย่างใด 

เช่นเดียวกับบาทหลวงมิชชันนารีท่านอื่น ๆ เมื่อรับหน้าที่เข้ามาเผยแผ่ศาสนาแล้ว อย่าว่าแต่จะพูดถึงความสำเร็จของการเปลี่ยนศาสนาให้แก่คนพื้นเมืองเลย แม้แต่จะเอาชีวิตรอดจากภัยอันตรายที่มีรอบตัวก็นับว่ายากแล้ว เพราะคนพื้นเมืองในสยามส่วนใหญ่ยังจัดอยู่ในสถานะไพร่ทาส ไม่มีสิทธิที่จะเลือกนับถือศาสนาได้อย่างอิสระ คณะบาทหลวงมิชชันนารีจึงหันไปเข้าหากลุ่มคนที่เพิ่งถูกกวาดต้อนเข้ามาหรือเป็นชนผู้ด้อยอิสระเสรี เช่น เชลยศึกที่ถูกจับเข้ามา และกลุ่มชาติพันธุ์ในท้องถิ่นทุรกันดาร 

โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่บาทหลวงปัลเลอกัวซ์มีสัญชาติฝรั่งเศส  แม้จะเป็นช่วงก่อนหน้าจะเกิดวิกฤติการณ์ร.ศ.112 แต่ความเกลียดชังต่อชาวฝรั่งเศสก็มีมาอยู่เรื่อย ๆ นับตั้งแต่การปฏิวัติ ค.ศ.1688 สมัยอยุธยาตอนปลาย เช่นเดียวกับกรณีของหมอบรัดเลย์ มิชชันนารีชาวอเมริกันที่เข้ามาในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน  ความสัมพันธ์อันดีกับราชสำนักเป็นสิ่งที่มิชชันนารีถูกคณะต้องพยุงรักษาเอาไว้ เพราะเป็นปัจจัยชี้ขาดว่าจะสามารถเผยแผ่ศาสนาได้ราบรื่นหรือต้องย้ายประเทศออกไป

คงจะทราบกันดีว่า ปัลเลอกัวซ์เป็น “พระสหายสนิท” กับรัชกาลที่ 4 มาตั้งแต่ครั้งยังทรงดำรงพระยศเป็น “พระวชิรญาณภิกขุ” ผนวชจำพรรษาอยู่วัดราชาธิวาส (วัดสมอราย) แต่มิตรภาพระหว่างทั้งสองก็เพิ่งจะเริ่มในพ.ศ.2379 อันเป็นปีที่ปัลเลอกัวซ์ได้รับแต่งตั้งเป็นเจ้าอาวาสวัดคอนเซ็ปชัญ สามเสน ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้ชิดติดกับวัดราชาธิวาส อีกทั้งในช่วงเวลานั้นพระวชิรญาณภิกขุ (ร.4) ก็ยังไม่ได้มีอำนาจวาสนามากพอที่จะให้ความคุ้มครองแก่ผู้ใด ในช่วงเวลาดังกล่าวนี้ การเข้ามาตลอดจนการเผยแผ่ศาสนา ย่อมต้องอยู่ภายใต้พระบรมราชานุญาตของราชสำนักรัชกาลที่ 3

ปัลเลอกัวซ์เกิดเมื่อวันที่ 24 ตุลาคม พ.ศ.2348 เป็นชาวเมืองคอมแบร์โทลท์ ประเทศฝรั่งเศส บวชเป็นบาทหลวงเมื่ออายุได้ 23 ปี ได้รับแต่งตั้งมอบหมายหน้าที่จากคริสตจักรให้มาเผยแผ่ศาสนาอยู่สยามในช่วงพ.ศ.2372-2397 รวม 25 ปี จากนั้นได้กลับฝรั่งเศส 2 ปี ก่อนจะกลับมาอีกเมื่อพ.ศ. 2399 และอยู่เรื่อยมาจนเสียชีวิตเมื่อ พ.ศ.2405 เป็นเวลา 6 ปี รวมเวลาอยู่สยามทั้งสิ้น 31 ปี ในชั่วอายุขัยทั้ง 57 ปีนั้นอยู่ฝรั่งเศส 26 ปี คืออยู่สยามนานกว่าอยู่ประเทศตนเอง อยู่จนตาย เช่นเดียวกับหมอบรัดเลย์ 

แต่อย่าได้เข้าใจไปว่านั่นเป็นเพราะท่านเหล่านี้รักหรือหลงใหลอะไรกับเมืองไทยมากมาย เพราะนั่นคือ “ภารกิจ” ที่อุทิศให้แด่พระเจ้า เป็นความปรารถนาที่จะอยากเห็นคนแถบนี้ได้พบกับ “ความศิวิไลซ์” อย่างที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “ภารกิจคนขาว” (White Mission) เป็นภารกิจที่ชาติตะวันตกดำเนินกับชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาช้านาน เมื่อถึงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ภารกิจนี้เข้มข้นขึ้นเนื่องจากการสร้างความชอบธรรมให้แก่ลัทธิอาณานิคม

(2) “ชีวิตสู้กลับ” ที่อยุธยาและลพบุรี    

เห็นท่าทางใจดีสีหน้าไม่ทุกข์ร้อน แต่กว่าจะเป็น “กูเกิลของยุคสมัย” ในแบบที่เรารู้จักนั้น เรียกได้ว่าต้อง “สู้ชีวิต” (แต่ชีวิตสู้กลับ) มาพอสมควร...    

ใน พ.ศ.2372 ซึ่งเป็นปีที่ได้รับแต่งตั้งให้มาปฏิบัติภารกิจในสยามนั้น ปัลเลอกัวซ์มีอายุเพียง 25 ปี ช่วงแรกพำนักอยู่ที่วัดอัสสัมชัญ บางรัก เป็นช่วงที่ยากลำบากเพราะปัลเลอกัวซ์ยังไม่รู้ภาษาไทย เวลาช่วงแรกจึงหมดไปกับการทุ่มเทศึกษาภาษาและวัฒนธรรมไทย เมื่อได้ภาษาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้ขอย้ายไปอยู่ที่วัดยอแซฟ อยุธยากรุงเก่า 

ช่วงนั้นอยุธยากรุงเก่าเป็นที่พูดถึงในแง่ถิ่นฐานบ้านเดิมของชนชั้นนำ กรุงเก่าอันเป็นต้นแบบแรงบันดาลใจในการสร้างบ้านแปงเมืองของผู้มีอำนาจใหม่ที่กรุงเทพฯ อีกทั้งกรุงเก่ายังเคยเป็นที่ตั้งของยุคสมัยที่ได้ชื่อเป็น “ยุคบ้านเมืองดี”  

แม้ว่าอยุธยาจะพบความเสียหายจากสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310 ไปมาก แต่อยุธยาก็ยังมีวิถีชีวิตของตนสืบต่อมา [1] เนื่องจากวัดยอแซฟเองได้รับความเสียหายจากสงคราม เพราะในระหว่างพม่ากำลังกระชับพื้นที่ปิดล้อมกรุงศรีอยุธยานั้น คณะบาทหลวงฝรั่งเศสส่วนหนึ่งได้อพยพลี้ภัยไปอยู่จันทบุรีก่อนสมเด็จพระเจ้าตากสินฯ จะเดินทัพไปถึงอยู่เป็นแรมปี แต่ยังมีบาทหลวงอีกส่วนที่ไม่ยอมหลบหนี ด้วยมีชาวบ้านชาวเมืองเข้าหาเป็นอันมาก เพราะคิดว่าพม่าจะไม่ทำอันตรายต่อชุมชนชาวคริสต์ ซึ่งเป็นการคาดเดาที่ผิด โบสถ์คริสต์ถูกปล้นและเผาไปในสงครามด้วย 

เมื่อมาถึงอยุธยา ปัลเลอกัวซ์ซึ่งเป็นบาทหลวงคนเดียวที่อยู่อยุธยาเวลานั้น ได้ดำเนินการจัดซื้อที่ดินบริเวณที่ตั้งเดิมของโบสถ์เซนต์ยอแซฟและสุสานที่อยู่ใกล้โบสถ์ แล้วดำเนินการบูรณะโบสถ์เซนต์ยอแซฟขึ้นใหม่ในที่เดิม จากซากปรักหักพังก็กลับเป็นโบสถ์คริสต์ได้ชื่อสวยงามที่สุดในประเทศ (ก่อนที่ในสมัยรัชกาลที่ 5 โบสถ์พระแม่มารีฯ ที่จันทบุรี ซึ่งบูรณะใหม่จะได้ตำแหน่งนี้ไปครองจวบจนถึงปัจจุบัน) ควบคู่กับที่ชุมชนคริสต์ได้กลับมามีที่มั่นอยู่ในบริเวณย่านสำคัญอย่างอยุธยากรุงเก่า       

จากที่มีผลงานกอบกู้ชุมชนคริสต์ที่อยุธยาได้สำเร็จนี้เอง  ชื่อเสียงของปัลเลอกัวซ์เริ่มดังขึ้นจนติดอันดับ “เซเลบ” คู่เคียงกับมิชชันนารีอีกท่านหนึ่งที่อยู่ที่กรุงเทพฯ คือ “หมอบรัดเลย์” อย่างไรก็ตาม ชื่อเสียงไม่ได้นำมาแต่ผลด้านดี ด้านลบก็ทำให้ปัลเลอกัวซ์เป็นที่จับตามองของทางการสยาม เพราะการมาอยู่อยุธยาถือเป็นการละเมิดกฎหมายของสยามที่ห้ามมิให้ชาวต่างชาติออกมาพำนักอยู่นอกพระนคร

แถมการรวบรวมชาวคริสต์ยังถูกมองเป็นการ “ซ่องสุมกำลัง” แม้ว่าทั้งการมาอยู่อยุธยา การบูรณะโบสถ์เซนต์ยอแซฟ ตลอดจนการรวบรวมชาวคริสต์ให้กลับมากรุงศรีจะล้วนแต่ได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ แล้วก็ตาม แต่เมื่อขุนนางใหญ่ไม่ไว้วางใจ ความยุ่งยากก็เกิดกับปัลเลอกัวซ์และคณะ 

เมื่ออยู่ที่อยุธยาแล้วพบปัญหา ปัลเลอกัวซ์จึงขยับขยายไปที่ลพบุรี  ในช่วงนั้นเป็นช่วงหลังจากศึกเจ้าอนุวงสิ้นสุดได้ไม่นาน ผลของสงครามทำให้มีคนลาวถูกกวาดต้อนเข้ามาเป็นอันมาก ลพบุรีเป็นหัวเมืองหนึ่งซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าฯ ได้ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้คนลาวที่ถูกกวาดต้อนเข้ามาตั้งถิ่นฐาน ตอนนั้นยังไม่มีกฎห้ามไม่ให้บาทหลวงมิชชันนารีเผยแผ่ศาสนาแก่เชลยลาว ปัลเลอกัวซ์จึงเห็นเป็นโอกาส จึงได้เดินทางล่องเรือจากอยุธยาขึ้นไปลพบุรีแล้วตระเวนไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ที่มีคนลาวอาศัยอยู่ 

แต่แล้วในพ.ศ.2377 ปัลเลอกัวซ์ก็ถูกขุนนางท้องถิ่นของลพบุรีจับกุมมาขังคุกไว้ 2 วัน ก่อนถูกนำตัวไปพิจารณาคดีที่เมืองพรหม (ในอ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรีปัจจุบัน) แต่เมื่อไม่พบหลักฐานการทำความผิด การเดินทางออกจากอยุธยาไปลพบุรีก็เป็นไปโดยที่มีการขอพระบรมราชานุญาต  ปัลเลอกัวซ์ก็ได้รับการปล่อยตัว

การถูกทางการสยามคุกคามจนกระทั่งถูกจับกุมคุมขังกลับเป็นผลให้ชื่อเสียงของปัลเลอกัวซ์ในฐานะผู้มุ่งมั่นและตั้งใจจริงในการเผยแผ่หลักคำสอนของพระคริสต์ เป็นที่ขจรขจายมากขึ้น 

ลุถึงปี พ.ศ.2379 เมื่อเจ้าอาวาสวัดคอนเซ็ปชัญมรณภาพลง คริสตจักรก็จึงเห็นพ้องกันแต่งตั้งให้ปัลเลอกัวซ์มาเป็นเจ้าอาวาสวัดดังกล่าว วัดคอนเซ็ปชัญ สามเสน บางครั้งเรียก “บ้านเขมรสามเสน” บางครั้งเรียก “บ้านญวนสามเสน” เป็นชุมชนเก่ามีชาวกัมพูชาและเวียดนามที่นับถือคริสต์เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ตั้งแต่ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์  โบสถ์คอนเซ็ปชัญก็เป็นโบสถ์เก่าที่พังทรุดและคับแคบ  เมื่อมีผู้แสวงบุญชาวคริสต์เดินทางมาเยี่ยมและทำบุญด้วยเป็นอันมาก ปัลเลอกัวซ์จึงได้ให้ดำเนินการบูรณะโบสถ์คอนเซ็ปชัญขึ้นเป็นแห่งที่สอง ต่อจากโบสถ์เซ็นต์ยอแซฟที่อยุธยา [2]   

ที่วัดคอนเซ็ปชัญนี้เองที่ปัลเลอกัวซ์ได้มีโอกาสรู้จักมักคุ้นและสนิทสนมกับพระวชิรญาณภิกขุ ซึ่งผนวชอยู่วัดราชาธิวาส ใกล้โบสถ์คอนเซ็ปชัญ โดยทั้งสองได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิทยาการซึ่งกันและกัน ปัลเลอกัวซ์ถ่ายทอดวิชาภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์ ประวัติศาสตร์ยุโรป ภาษาละตินและฝรั่งเศส

ขณะที่พระวชิรญาณภิกขุก็ถ่ายทอดวิชาพงศาวดารสยาม พุทธศาสนา ภาษาบาลี เป็นการตอบแทน  ไม่นานความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนและศิษย์-อาจารย์ ของทั้งสอง ก็ล่วงรู้ไปถึงราชสำนัก

ในพ.ศ.2380 รัชกาลที่ 3 ได้ทรงมีพระราชดำรัสสั่งให้พระวชิรญาณภิกขุย้ายไปประทับอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหาร ต่อมา พ.ศ.2381 ปัลเลอกัวซ์เองก็โดนย้ายจากวัดคอนเซ็ปชัญไปวัดอัสสัมชัญ บางรัก 

(3) ชิก ๆ คูล ๆ เมื่อบาทหลวงคริสต์บุกเบิกเทคโนโลยีถ่ายภาพ

จุดเด่นของการเผยแผ่คริสต์ศาสนาในช่วงต้นรัตนโกสินทร์ ดูเหมือนจะเป็นการเข้ามาพร้อม “แพ็กเก็ต” (packet) อย่างการนำเข้าเทคโนโลยีและวิทยาการความรู้  ชาวสยามยังคงมีวิธีการในการรับมือการเข้ามาของคนภายนอกที่คิดว่าตนเหนือกว่าอยู่เฉกเช่นในอดีต [3] พวกเขาเลือกเอาแต่เฉพาะ “แพ็กเก็ต” เหล่านั้นและเมินเฉยต่อ “วัตถุประสงค์หลัก”

ถ้าพูดให้ดูดีมีชาติตระกูลก็คือการรู้จักเลือกรับดัดแปลง แต่ถ้าพูดในอีกมุมหนึ่งก็จะตรงกับภาษิตของไทยเองที่ว่า “เกลียดตัวกินไข่ เกลียดปลาไหลกินน้ำแกง” นั่นแหล่ะ  

ช่วงที่ย้ายจากวัดคอนเซ็ปชัญ สามเสน กลับไปอยู่วัดอัสสัมชัญ บางรัก ซึ่งเป็นที่แรกที่เคยอยู่เมื่อแรกเข้ามานั้น ช่วงนั้นปัลเลอกัวซ์มีสถานะค่อนข้างสูงและเป็นที่ยอมรับนับถือทั้งในหมู่ชาวคริสต์และชาวสยามแล้ว  โดยมีสมณศักดิ์เป็นประมุขมิสซังสยามตะวันออก (apostolic vicar of Eastern Siam) และมุขนายกเกียรตินามแห่งมาลลอสหรือมัลลุส (titular bishop of Mallos/Mallus) แต่ผู้คนนิยมเรียกสั้นๆ ว่า “สังฆราชปัลเลอกัวซ์”

ช่วงระหว่างนี้ชีวิตเหมือนจะดูเรียบง่ายไม่มีอะไรโลดโผนหรือหวือหวาเหมือนอย่างช่วงก่อนหน้า แต่ทว่าภายใต้บรรยากาศเงียบสงบและการทำหน้าที่ปกติอยู่ในโบสถ์อัสสัมชัญนั้น กลับมีเรื่องสำคัญหนึ่งเกิดขึ้น เป็นเรื่องเล็ก ๆ สำหรับปัลเลอกัวซ์อาจไม่คิดว่าจะกลายเป็นเรื่องสำคัญใหญ่โตแพร่หลายขึ้นในสังคมสยามมากมาย เพราะนั่นก็แค่การสั่งซื้อกล้องถ่ายรูปจากปารีสเข้ามา โดยให้บาทหลวงหลุยส์ ลาร์โนดี (L' Abbé Larnaudie) ที่มีกำหนดจะเดินทางมาสยาม นำเอากล้องนี้มามอบให้แก่บาทหลวงลาร์โนดี มาถึงเมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม พ.ศ.2388  

ภายหลังเหตุการณ์เล็ก ๆ นี้ได้รับการบันทึกว่า ทั้งสอง (ปัลเลอกัวซ์กับลาร์โนดี) เป็นผู้นำเข้าเทคโนโลยีกล้องถ่ายภาพแบบสมัยใหม่ในสยาม 

อย่างไรก็ตาม การถ่ายรูปของปัลเลอกัวซ์เป็นไปในแบบความรักชอบส่วนตัวในลักษณะเป็นงานอดิเรก รูปถ่ายฝีมือชักภาพของปัลเลอกัวซ์ยังไม่มีการค้นพบ  ภาพถ่ายเก่าที่พบมากในช่วงนั้นเป็นผลงานของ “หลวงอัคนีนฤมิตร” (ฟรานซิส จิตร) กับบุตรชาย คือ “ขุนฉายาทิสลักษณ์” (ฟรานซิส ทองดี) ซึ่งได้เปิดร้านถ่ายรูป “ฟรานซิส จิตร แอนด์ ซัน” (Francis Chit & Son) เป็นเรือนแพอยู่หน้าโบสถ์ซางตาครุ้สที่ชุมชนกุฎีจีน เพราะฟรานซิส จิตร เป็นชาวชุมชนลูกครึ่งโปรตุเกสที่นั่น 

บาทหลวงลาร์โนดี ผู้นำเอากล้องถ่ายรูปมาให้บาทหลวงปัลเลอกัวซ์นั้นเอง คืออาจารย์ผู้สอนการถ่ายภาพคนแรกให้แก่นายจิตร หรือฟรานซิส จิตร ซึ่งขณะนั้นยังมีอายุเพียง 15 ปี [4] พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเองก็ทรงสนพระทัยเทคโนโลยีการถ่ายภาพมาตั้งแต่เมื่อครั้งยังดำรงพระยศเป็น “พระวชิรญาณภิกขุ”

เมื่อทรงทราบว่า มิสเตอร์จอห์น ทอมป์สัน (John Thompson) ช่างภาพชาวสก็อต ได้มาเปิดร้านถ่ายรูปอยู่ที่สิงคโปร์  จึงทรงว่าจ้างให้เขาเข้ามาถ่ายภาพพระบรมวงศานุวงศ์ในการพระราชพิธีสำคัญต่าง ๆ เมื่อ พ.ศ.2408 และนำภาพเหล่านี้กลับไปตีพิมพ์ เพื่อแสดงให้เห็นว่าชนชั้นนำสยามเป็นผู้ศิวิไลซ์ไม่ใช่พวกป่าเถื่อนด้อยอารยธรรม [5]

ปีนั้นฟรานซิส จิตร ได้รับราชการแล้วแต่อยู่สังกัดกรมหุงลมประทีป (โรงแก๊สหลวง) ก็ได้รับพระบรมราชานุญาตให้ศึกษาวิชาถ่ายภาพจากจอห์น ทอมป์สัน ด้วย จึงนับว่าจอห์น ทอมป์สัน เป็นอาจารย์คนที่สองของฟรานซิส จิตร 

จะปี พ.ศ.ใด ไม่ปรากฏชัด ฟรานซิส จิตร ได้รับแต่งตั้งเป็น “หลวงอัคนีนฤมิตร” บ้างว่าเป็นตำแหน่งช่างภาพ บ้างว่าเป็นตำแหน่งเจ้ากรมแก๊สหลวง เพราะมีราชทินนามคู่ว่า “หลวงอัคนีนฤมิตร เจ้ากรมหุงลมประทีป” ในสังกัดวังหน้าพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ  

เข้าใจว่าเมื่อพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ สวรรคต ย้ายไปสังกัดวังหลวงแล้ว ฟรานซิส จิตร ก็ได้เลิกทำโรงแก๊ส หันมาถ่ายภาพและเปิดเรือนแพของตระกูลเป็นร้านถ่ายรูปร้านแรก ราชทินนาม “หลวงอัคนีนฤมิตร” ก็กลายมาเป็นนามของช่างภาพ คู่กับลูกชายคือ ฟรานซิส ทองดี ที่ได้รับแต่งตั้งในสมัยรัชกาลที่ 5 เป็น “ขุนฉายาทิสลักษณ์” เป็นช่างภาพประจำราชสำนัก 

เหตุที่ภาพถ่ายของฟรานซิส จิตร กับบุตรชาย แพร่หลายมากที่สุด จนหลงเหลือเก็บไว้มากสุดในหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ในขณะที่ภาพถ่ายของช่างภาพคนอื่น ๆ นั้นต้องไปตามหาว่ายังมีตกค้างอยู่ที่ต่างประเทศอยู่หรือไม่ ก็เพราะว่าสมัยรัชกาลที่ 4-5 เมื่อขุนนางจากหัวเมืองเข้ากรุงมาเข้าเฝ้าหรือมีกิจธุระสิ่งใดเข้ามากรุงเทพฯ ก็มักจะมาถ่ายภาพเป็นที่ระลึกที่ร้านฟรานซิส จิตร แอนด์ ซัน   

สำหรับในที่นี้กรณีเทคโนโลยีถ่ายภาพหรือกล้องถ่ายรูป สะท้อนให้เห็นว่าจริงอยู่แรกเริ่มเข้ามาดูเป็นเรื่องของจังหวะความบังเอิญ แค่ปัลเลอกัวซ์เป็นผู้สั่งซื้อ แต่เกิดเป็นที่สนพระทัยและอยู่ในความจัดการของชาวสยาม ความแพร่หลายก็เป็นไปโดยนอกกรอบของความเป็น “คริสโตโลยี” พูดง่าย ๆ กล้องถ่ายรูปไม่ใช่สิ่งที่ถูกจัดประเภทเป็นของสำคัญเกี่ยวข้องกับภารกิจของพระเจ้า สิทธิในการช่วงใช้จึงไม่ถูกจำกัดอยู่แต่ในหมู่ชาวคริสต์หรือฝรั่งคนนอกผู้ใด      

แน่นอนว่าเทคโนโลยีการถ่ายภาพมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงทางสังคม เพราะเมื่อภาพถ่ายจากที่หนึ่งไปปรากฏต่อสายตาของคนอีกที่หนึ่งหรือภาพของบุคคลหนึ่งบุคคลใดปรากฏต่อสาธารณะอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ  ย่อมมีผลต่ออำนาจและภาพลักษณ์ในสังคมวัฒนธรรม 

กล้องถ่ายรูปเป็นเครื่องมือสำรวจที่มีประสิทธิภาพช่วยสถาปนาระบอบอาณานิคม [6] แต่ปัลเลอกัวซ์จะสั่งซื้อกล้องเข้ามาโดยมีเจตนาจะใช้กล้องนั้นตามศักยภาพดังกล่าวหรือไม่ เป็นประเด็นที่ไม่อาจจะทราบได้ ปัลเลอกัวซ์เป็นนักเดินทางตัวยงผู้หนึ่งในสมัยนั้น แต่จะได้ถ่ายภาพที่ใด นำภาพบุคคล หรือภาพของอย่างใดจากท้องถิ่นมาปรากฏที่ส่วนกลางหรือไม่นั้น ไม่เป็นที่ปรากฏ ภาพที่ใช้ประกอบเนื้อหาในหนังสือผลงานการประพันธ์ของเขานั้นเป็นภาพที่แทรกลงไปภายหลัง   

(4) เที่ยวไปด้วย-เขียนไปพร้อม: เช็กอิน ‘หัวเมืองชายทะเลตะวันออก’ & แคปชั่น ‘ชาติพันธุ์นิพนธ์’   

เมื่อสหายสนิทได้ลาผนวชขึ้นครองราชย์เมื่อ พ.ศ.2394 ก็เป็นโอกาสที่ปัลเลอกัวซ์ซึ่งเบื่อหน่ายชีวิตจำเจในเมืองหลวงได้รับพระบรมราชานุญาตให้ออกเดินทางไปหัวเมืองอีกครั้งหนึ่ง

คราวนี้ไม่ใช่แต่เฉพาะอยุธยาและลพบุรี  หัวเมืองสำคัญที่เป็นจุดหมายปลายทางอยู่ทางแถบภาคตะวันออก ได้แก่ แปดริ้ว (ฉะเชิงเทรา), โครายก (นครนายก), บางปลาสร้อย (ชลบุรี), จันทบูรณ์ (จันทบุรี), ทุ่งใหญ่ (ตราด) [7]

ด้วยเหตุว่าหัวเมืองเหล่านี้มีชาวคริสต์อาศัยอยู่มาก เหตุผลในการเดินทางก็เพื่อตรวจเยี่ยมงานเผยแผ่ศาสนา แต่อาจจะมีเหตุผลในด้านอุปนิสัยส่วนตัวที่ชื่นชอบการเดินทางอยู่แล้วก็เป็นได้ ไม่เว้นแม้แต่การเดินทางไปพระพุทธบาท สระบุรี ซึ่งก่อนหน้านี้เป็นเรื่องยุ่งยากมากที่ชาวต่างชาติจะได้รับพระบรมราชานุญาตให้ร่วมเดินทางไปด้วย 

แต่ทว่าการเดินทางก็มีอันสิ้นสุดลง เมื่อคริสตจักรเรียกตัวกลับไปฝรั่งเศสใน พ.ศ.2397  โดยในการเดินทางกลับฝรั่งเศสครั้งนั้น ปัลเลอกัวซ์ยังทำประโยชน์ต่อรัชกาลที่ 4 โดยเป็นผู้นำพระราชสาส์นไปถวายสมเด็จพระสันตปาปาปิอุสที่ 9

ต่อมาเมื่อพบว่าปัลเลอกัวซ์เหมาะสมที่สุดที่จะ “ดีล” กับราชสำนักรัชกาลที่ 4 จึงได้รับอนุญาตให้กลับมาสยามอีกใน พ.ศ.2399 เนื่องจากว่าผลงานสำคัญอย่างเล่ม “เล่าเรื่องกรุงสยาม” (Description du Royaume Thai ou Siam) ตีพิมพ์ครั้งแรกที่ประเทศฝรั่งเศสในช่วงที่ปัลเลอกัวซ์อยู่ที่ฝรั่งเศสระหว่าง พ.ศ.2397-2399 

ดังนั้น ผลงานชิ้นนี้จึงเป็นบันทึกการเดินทางที่สืบเนื่องจากการได้รับพระบรมราชานุญาตให้เดินทางไปหัวเมืองตะวันออก ระหว่าง พ.ศ.2394-2396 

ในสมัยรัชกาลที่ 3 หมอบรัดเลย์เคยได้รับอนุญาตให้เดินทางไปพักผ่อน “เปลี่ยนอากาศ” ที่อ่างศิลา ชลบุรี และตำบลอู่ต่อเรือสยามที่จันทบุรี [8] แต่ก็เป็นช่วงสั้น ๆ และหมอบรัดเลยก็ไม่ได้รับอนุญาตให้พบปะผู้คนชาวเมืองเท่าไรนัก

แต่กรณีการเดินทางของปัลเลอกัวซ์และคณะ ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางทางบกและมีโอกาสได้พบปะผู้คนพบเห็นสิ่งต่างๆ เป็นอันมาก “เล่าเรื่องกรุงสยาม” จึงเป็นบันทึกประวัติศาสตร์เพียงไม่กี่ชิ้นที่เล่าเรื่องราวของหัวเมือง แกนหลักของเรื่องที่บันทึกเล่าไม่ใช่กรุงเทพฯ นอกเหนือจากวรรณกรรมนิราศแล้ว ก็มีบันทึกชิ้นดังกล่าวนี้ของปัลเลอกัวซ์ที่มีข้อเด่นในเรื่องนี้เป็นพิเศษ 

เนื้อหาในส่วนที่เป็นงานพงศาวดารสยาม เป็นการนำเอาข้อมูลและแง่มุมที่ได้รับถ่ายทอดมาจากรัชกาลที่ 4 (เมื่อครั้งยังผนวชอยู่วัดราชาธิวาส) มานำเสนอไว้อีกที่หนึ่ง ความน่าสนใจอยู่ตรงที่เมื่อกล่าวถึงจุดเริ่มต้นของประวัติศาสตร์สยาม  ปัลเลอกัวซ์ย้อนกลับไปที่อยุธยา  ไม่ใช่สุโขทัย  แต่อยุธยาสำหรับปัลเลอกัวซ์ก็ไม่ได้มีจุดเริ่มที่การสถาปนากรุงศรีอยุธยา พ.ศ.1893 มีข้อมูลที่ปัลเลอกัวซ์นำมาจาก “พงศาวดารเหนือ” จึงมีการนับเริ่มอยุธยาย้อนกลับไปจากรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) ซึ่งเป็นช่วงยุคสมัยที่เรียกว่า “อโยธยา”  

ตรงนี้ที่จริงเป็นข้อมูลโดยทางอ้อมว่า ภิกษุเจ้านายชั้นสูงองค์ผู้ถ่ายทอดความรู้พงศาวดารสยามแก่ปัลเลอกัวซ์นั้น จะต้องเคยอ่านหรือกระทั่งว่าเชื่อตาม “พระราชพงศาวดารเหนือ” เอกสารที่รวบรวมขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 1 โดยกลุ่มวังหน้าพระพุทธเลิศหล้าฯ (รัชกาลที่ 2) แต่ยังไม่ทันได้ใช้พระราชพงศาวดารฉบับนี้มาชำระ เพราะมีการเปลี่ยนรัชกาลหลังจากค้นพบไม่นานหรือเพราะเหตุอันใดไม่ปรากฏแน่ชัด “พระราชพงศาวดารเหนือ” เอกสารซึ่งเล่าเรื่องประวัติศาสตร์อยุธยาย้อนไปก่อนหน้ารัชสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (อู่ทอง) ไปกว่า 2 ศตวรรษนั้นจึงถูกลืม 

ที่สำคัญ บันทึกของปัลเลอกัวซ์ชิ้นนี้ยังเล่าเรื่องหัวเมืองตะวันออกโดยมีจุดเน้นที่กลุ่มชาติพันธุ์ มีการจำแนกกลุ่มชาติพันธุ์ในหัวเมืองตะวันออกอย่างเป็นระบบเป็นชิ้นแรก ๆ แต่ละเมืองที่ผ่านไปพบเห็นมานั้นมีชาติพันธุ์อะไรอาศัยอยู่ เป็นจำนวนเท่าใด เป็นข้อมูลสำคัญและจำเป็นต้องทราบสำหรับผู้เผยแผ่ศาสนา เพราะหมายถึงกลุ่มคนกลุ่มใดบ้างที่พวกเขาสามารถจะเข้าถึงได้  ส่วนใหญ่ก็จะเป็นคนจีน เวียดนาม ลาว เขมร เป็นต้น 

ข้อมูลทางชาติพันธุ์ บันทึกของปัลเลอกัวซ์ยังเป็นงานสำคัญที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับ “กลุ่มชาติพันธุ์ชอง” (Chong ethnicgroup) เอาไว้ด้วย ซึ่งเป็นข้อมูลที่นักชาติพันธุ์วรรณนาทราบกันดีว่าหาได้ยากยิ่ง ส่วนใหญ่มักพบในรูปข้อมูลประเภทมุขปาฐะ (Oral tradition) บทบาทของกลุ่มชาติพันธุ์ชองต่อการค้นพบแร่อัญมณีเพชรพลอยตามป่าเขาแถบจันทบุรี อีกทั้งชองยังเป็นผู้ที่นำเอาเพชรพลอยเข้ามาสู่ตลาดในตัวเมืองจันท์  ส่งผลให้เกิดอุตสาหกรรมการทำเหมืองขุดพลอยซึ่งจะมีอีกกลุ่มเข้ามาในเวลาต่อมาคือ “กุลา” หรือ “กุหร่า” (Kula) เป็นต้น 

ความละเอียดของข้อมูลนั้นมีตั้งแต่การอภิปรายรูปร่างหน้าตา เอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม คติความเชื่อทางศาสนา วิถีชีวิตความเป็นอยู่ ไปจนถึงลักษณะการประกอบอาชีพหาเลี้ยงตนเองและครอบครัวของผู้คนแต่ละกลุ่มชาติพันธุ์แต่ละพื้นที่ ที่ไหนปลูกพืชชนิดใดมาก ที่ใดมีสัตว์ป่า ความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติพบมากที่บริเวณใด

ล้วนแต่เป็นข้อมูลที่ส่วนกลางไม่ค่อยเป็นที่รู้กันมากนัก เนื่องจากอุปสรรคด้านการคมนาคม อีกทั้งคนส่วนใหญ่ยังมีสังกัดที่เป็นไพร่ก็ต้องทำกินเลี้ยงชีพอยู่ติดที่ ไม่ค่อยได้เดินทางไกล ที่เป็นทาสอาจมีเป็นตัวแทนเจ้านายไปค้าขายต่างแดนบ้าง แต่ไม่มีอิสระ ยิ่งเป็นไปได้ยากที่จะมีบันทึกเล่าเรื่องการเดินทางในลักษณะที่เป็น “ไดอารี” หรือรายงานการสำรวจสภาพของท้องถิ่น 

ความปรารถนาอยากรู้อยากเห็นเกี่ยวกับสภาพของหัวเมืองของคนในเมืองหลวง กลายเป็นตลาดอย่างดีที่บรรดานักเลงกลอนจะสามารถร้อยเรียงถ้อยคำมาเป็นสินค้านำเสนอต่อพวกเขาในรูปวรรณกรรมนิราศ แต่ไม่ทุกคนที่จะชอบร้อยกรอง บางท่านก็โปรดปรานร้อยแก้วมากกว่า  ยิ่งอ่านภาษาต่างประเทศได้ ก็ยิ่งง่ายที่จะเป็นลูกค้าหรือผู้อ่านของงาน “ไดอารี” เหล่านั้น       

ถ้าจะถือว่าบันทึกของซิมง เดอ ลาลูแบร์ (Simon de La Loubère) เป็นบันทึกอันอุดมด้วยสารพัดเรื่องซึ่งจะสามารถแปรเปลี่ยนเป็น “วัตถุดิบ” สำหรับการศึกษาในมิติต่าง ๆ อย่างครบถ้วนกว้างขวางแล้ว สำหรับ Field ประวัติศาสตร์อยุธยาแล้ว บันทึกของปัลเลอกัวซ์ก็มีความสำคัญในลักษณะเดียวกันหรือเทียบเท่ากันนั้น สำหรับ Field ประวัติศาสตร์ต้นรัตนโกสินทร์เช่นกัน และออกจะมีคุณูปการมากด้วยในแง่ที่บันทึกปัลเลอกัวซ์มีข้อมูลเกี่ยวกับหัวเมือง ไม่ได้มีแต่เฉพาะส่วนกลางอย่างอยุธยาหรือลพบุรี 

“เล่าเรื่องกรุงสยาม” แสดงให้เห็นการนำเอาข้อมูลที่ได้จากการเดินทางสำรวจมานำเสนอในรูปบันทึกประวัติศาสตร์ชาติพันธุ์นิพนธ์ (Ethnographical history) ถือเป็นงานบุกเบิกที่เป็นฐานให้แก่งานของนักสำรวจคนอื่นๆ ในเวลาต่อมา อาทิ อ็องรี มูโอต์ (Henri Mouhot), เฮอร์เบิร์ต วาริงตัน สมิธ (Herbert Warington Smyth), เอเตียน อายโมนีเย่ร์ (Étienne Aymonier) ที่สำคัญเป็นงานอ้างอิงของเซอร์จอห์น เบาว์ริง (Sir John Bowring) ในรายงานที่เสนอต่อรัฐบาลอังกฤษหลังจากเข้ามาทำสนธิสัญญาเมื่อ พ.ศ.2398 

เมื่อบันทึกนี้แพร่เข้ามายังสยามครั้งแรก ๆ  ยังเป็นส่วนหนึ่งกระตุ้นให้เกิดความสนใจในหมู่ชนชั้นนำสยามต่อเมืองท่าชายฝั่งทะเลตะวันออก จนนำไปสู่การเสด็จประพาสหัวเมืองครั้งแรกที่ไม่ใช่การเสด็จประพาสคล้องช้าง นมัสการพระพุทธบาท หรือพระราชกิจสงคราม  อย่างการเสด็จประพาสหัวเมืองชายทะเลตะวันออกของรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ.2400 อีกด้วย [9]          

(5) เซลฟี คริสโตโลยี & ปักหมุดความรู้จากภายนอก-ประวัติศาสตร์จากภายใน

ลุถึง พ.ศ.2405 บาทหลวงชราร่างท้วมท่าทางใจดีผู้ชีวิตอย่างสมณถะเรียบง่ายอยู่ที่โบสถ์อัสสัมชัญ ผู้ซึ่งเป็นที่รับรู้ถึงความทรงภูมิอันเนื่องจากใฝ่ศึกษาและเดินทางมามาก ก็ล้มป่วยและมรณภาพไปเมื่อวันที่ 18 มิถุนายน พ.ศ.2405 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงเศร้าพระทัยต่อการจากไปของผู้เป็นทั้งพระสหายและอาจารย์ท่านนี้มาก 

ในพิธีศพที่จะมีการตั้งขบวนแห่จากหน้าโบสถ์อัสสัมชัญ บางรัก ไปฝังไว้ที่โบสถ์คอนเซ็ปชัญ สามเสน ทรงมีพระราชประสงค์จะให้เป็นพิธีแห่ที่สง่างามที่สุด จึงพระราชทานเรือหลวง 2 ลำมานำขบวนโดยบรรทุกหีบศพ  ในขบวนแห่ประกอบด้วยเรือดนตรี (จากชุมชนชาวคริสต์) เรือของคริสตัง ขุนนาง พ่อค้าคหบดี และทูตต่างประเทศที่พำนักอยู่สยามในช่วงนั้น 

นั่นคือฉากสุดท้ายของชีวิตปัลเลอกัวซ์ ผู้ซึ่งเมื่อแรกเข้ามาสยาม  ก็ใช้ชีวิตอย่างโลดโผนและมุ่งมั่นเพื่อบรรลุภารกิจของพระเจ้า โดยภารกิจแรกนั้นนับว่าเป็นเรื่องใหญ่โตสำหรับประวัติศาสตร์คริสตศาสนาในสยาม เพราะคือภารกิจในการกลับฟื้นชุมชนคริสต์ขึ้นใหม่ในที่เดิมที่เป็นความภาคภูมิใจของชาวคริสต์ในสยามเวลานั้นคืออยุธยาและลพบุรี 

ทั้งสองที่นี้ต่างเคยมีประวัติศาสตร์ของชาวคริสต์ที่ร่วมกับสังคมสยาม แต่มีอันต้องเสื่อมไปเพราะสงครามคราวเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310 จากอยุธยาและลพบุรีนี้เองทำให้ปัลเลอกัวซ์มีชื่อติดอันดับ “เซเลบ” ของวงการคริสต์ศาสนาในสยามยุคนั้น และเมื่อจังหวะชีวิตมีอันโคจรให้ต้องมาอยู่สถานที่ใกล้ชิดติดกันกับวัดที่เจ้าฟ้าชั้นสูงอย่างพระวชิรญาณภิกขุ สายสัมพันธ์ต่อราชสำนักสยามก็แน่นแฟ้นระดับแบบ “ซี้ย่ำปึ้ก”

นอกเหนือจากบทบาทด้านกิจกรรมการเผยแผ่คริสต์ศาสนาอย่างการสร้างพื้นที่ให้ชาวคริสต์กลับมามีที่ยืนในสังคม การบูรณะสร้างโบสถ์เซนต์ยอแซฟขึ้นใหม่ในที่เดิมที่อยุธยา บริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาติดกับวัดพุทไธสวรรย์  ไม่ใช่แค่การสร้างอาคารสถานที่  หากแต่หมายถึงการมีที่ยืนของชาวคริสต์ในสังคมที่มีจุดอ้างอิงอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา 

แต่เช่นเดียวกับบาทหลวงมิชชันนารีท่านอื่น แม้มิได้เกิดอยู่เมืองไทย แต่ก็ใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่เมืองไทย ตายและฝังศพอยู่ที่เมืองไทย พวกเขาอาจไม่ประสบความสำเร็จในการเพิ่มจำนวนคนเข้ารีต  หากแต่สิ่งซึ่งเป็นความสำเร็จอย่างสูงนั้นเป็นเรื่องของการเป็นตัวแทนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศกับการนำเข้าความรู้และเทคโนโลยี พวกเขาได้ทิ้งมรดกสำคัญให้แก่สังคมไทยใน 3 ประเด็นคือ การเข้ามาของความรู้วิทยาศาสตร์แบบตะวันตก การนำเข้าเทคโนโลยี และประวัติศาสตร์นิพนธ์อันทรงคุณค่า 

สังคมไทยนั้น “คนนอก” ก็มีบทบาทไม่น้อยกว่า “คนใน” ไม่ต้องดูอื่นไกล การที่ “บุพเพสันนิวาส 2” ต่อต้านฝรั่ง (อังกฤษ) โดยอาศัยความช่วยเหลือซับพลอตทางความรู้จากฝรั่งอีกกลุ่ม (ฝรั่งเศส) ก็เป็นเรื่องยืนยันประเด็นนี้อยู่โดยนัย ฝรั่งเศสที่ในละคร “บุพเพสันนิวาส” ถูกจัดวางเป็นศัตรู แต่มาถึง “บุพเพสันนิวาส 2” จากศัตรูก็กลับเป็นอาจารย์ของนางเอกและเป็น “กูเกิล” ผู้ล่วงรู้อนาคต (ว่าจะเกิดสุริยคราสเมื่อใด) นั่นก็เพราะว่าเราไม่จำเป็นต้องมองในมิติเดียว ทุกครั้งที่เราสร้างความเป็นอื่นให้แก่ผู้ใด ควรที่เราจะย้อนมองดูตัวเราด้วยว่าได้เป็นในสิ่งที่ว่าคนอื่นแค่ไหน เมื่อเรากดชัตเตอร์ถ่ายรูปให้คนอื่น ก็อย่าลืมสลับโหมดกลับมาถ่ายดูเราเองบ้าง   

การสร้างความเกลียดชังต่อชาวต่างชาติไม่เป็นผลดีต่อการอยู่ในยุคที่โลกมีการเชื่อมต่อสื่อสารกันได้เพียงคลิกปลายนิ้วมือ ชาวต่างประเทศจะรู้สึกอย่างไร มองคนไทยและประเทศไทยเป็นแบบไหน เมื่อได้ทราบว่าภาพยนตร์ที่คนในประเทศนี้ชื่นชอบกันนั้นมีเนื้อหาสร้างความเกลียดชังต่อพวกเขา เราไม่สามารถอยู่ได้เพียงลำพังประเทศเดียวหรอกนะออเจ้า

เชิงอรรถ:

[1] กำพล จำปาพันธ์. บทวิพากษ์ประวัติศาสตร์อยุธยา & ความเคลื่อนไหวของผู้คนในสังคมเมืองอยุธยาหลังเสียกรุง พ.ศ.2310 ถึง 2475. กรุงเทพฯ: มูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์, 2560 (เอกสารประกอบการสัมนาประจำปีมูลนิธิโครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ 250 ปี เสียกรุงศรีอยุธยา-สถาปนากรุงธนบุรี 15 กันยายน 2560). 

[2] ปติสร เพ็ญสุต. “พัฒนาการสถาปัตยกรรมวัดคอนเซ็ปชัญจากโบสถ์วิลันดาสู่ยุคฟื้นฟูโรมันเนสก์” ดำรงวิชาการ. ปีที่ 14, ฉบับที่ 2 (กรกฎาคม-ธันวาคม 2558): น. 43-63.

[3] ดูรายละเอียดใน ประสิทธิ์ พงศ์อุดม. “การถ่ายทอดวิทยาการตะวันตกในสังคมไทย: ศึกษาบทบาทของ มิชชันนารีโปรแตสแตนด์ระหว่าง พ.ศ. 2371-2411” วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต ภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2533.

[4] เอนก นาวิกมูล. “ฟรานซิส จิตร ช่างภาพผู้ยิ่งใหญ่” สารคดี. ปีที่ 17 ฉบับที่ 204 (กุมภาพันธ์ 2545) (ออนไลน์) https://www.sarakadee.com/feature/2002/03/francis.htm [เสิร์ชเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2565].

[5] ดูรูปถ่ายในเซตนี้ได้ใน Paisarn Piemmettawat. SIAM Through the Lens of John Thomson 1865-66 Including Angkor and Coastal China. Bangkok: River Book, 2015.

[6] อัษฎา โปราณานนท์. “ประวัติศาสตร์การถ่ายภาพ: เรื่องราวของการถ่ายภาพ ตั้งแต่ยุคก่อนการถ่ายภาพถึงการถ่ายภาพร่วมสมัย” (เชียงใหม่: สาขาวิชาศิลปะการถ่ายภาพ คณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2562), บทที่ 5; ดูเพิ่มเติมใน สืบสกุล ศรัณพฤติ. “กล้องถ่ายภาพ: เครื่องมือของลัทธิล่าอาณานิคม” วารสารศิลป์ พีระศรี. ปีที่ 3 ฉบับที่ 2 (มีนาคม 2559): น. 151-175.

[7] ฌัง-บัปติสต์ ปาลเลกัวซ์ (Jean-Baptiste Pallegoix). เล่าเรื่องกรุงสยาม (Description du Royaume Thai ou Siam). แปลโดย สันต์ ท.โกมลบุตร, นนทบุรี: ศรีปัญญา, 2549: ต้นฉบับดู Mar Pallegoix. Description du Royaume Thai ou Siam. Paris: La mission de Siam, 1854.

[8] ประชุมพงศาวดารภาคที่ 31 จดหมายเหตุเรื่องมิชชันนารีอเมริกันเข้ามาประเทศสยาม. (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, 2493), น. 32.

[9] ความสำคัญของการเสด็จประพาสนี้ผู้เขียนอภิปรายไว้ในที่อื่นแล้วดู กำพล จำปาพันธ์. “พระจอมเกล้าฯ กับการเสด็จประพาสเมืองท่าชายทะเลตะวันออก พ.ศ.2400” ศิลปวัฒนธรรม. ปีที่ 43 ฉบับที่ 5 (มีนาคม 2565), หน้า 64-81.