ย้อนกำเนิด ‘มิชลิน สตาร์’ ทำไม ‘บีเบนดัม’ มาสคอตบริษัทยางถึงมาให้ดาวร้านอาหารอร่อย?

ย้อนกำเนิด ‘มิชลิน สตาร์’ ทำไม ‘บีเบนดัม’ มาสคอตบริษัทยางถึงมาให้ดาวร้านอาหารอร่อย?

ย้อนดูจุดกำเนิด ‘มิชลิน สตาร์’ ดาวที่ร้านอาหารทั่วโลกอยากได้ และทำไม ‘บีเบนดัม’ มาสคอตแบรนด์มิชลินที่เกิดจากกองยางรถ มาให้ดาวร้านอาหารอร่อย ‘มิชลิน สตาร์’

หลายคนน่าจะรู้จัก ‘บีเบนดัม’ (Bibendum) มาสคอตสีขาวตัวอ้วนกลมเป็นปล้อง ตัวแทนแบรนด์มิชลิน ที่ได้รางวัลสัญลักษณ์แห่งสหัสวรรษ (Icon of the Millennium) จาก Advertising Week

แต่มีใครบ้างที่รู้ที่มาของเจ้าตัวนุ่มนิ่มนี้

ก่อนอื่นเราไปทำความรู้จักบริษัทยาง มิชลิน (Michelin) กันก่อน จุดเริ่มของมิชลินเกิดขึ้นในปี 1889 เมื่อสองพี่น้องตระกูลมิชลิน อองเดร (André) และ เอดูอาร์ (Édouard) เกิดไม่พอใจประสิทธิภาพของยางรถจักรยานที่รั่วง่ายและเปลี่ยนลำบาก เลยชวนกันคิดค้นยางของตัวเองขึ้นมา

จากนวัตกรรมในวันนั้นพัฒนาต่อเป็น ยางรถจักรยานแบบถอดได้ครั้งแรก, ทางขึ้นลงของเครื่องบินแบบลาดยางแห่งแรก, ยางเรเดียลเส้นแรก และอื่นๆ อีกมากมาย

แล้ว บีเบนดัม ของเรามาเกี่ยวอะไรด้วยล่ะ?

บีเบนดัม หรือ ที่หลายคนเรียกว่า มิชลินแมน (Michelin Man) กำเนิดขึ้นในปี 1889 จากฝีมือการออกแบบของ O’Galop หรือชื่อจริง มาริอุส รูซียง (Marius Rossillon) เดิมทีเจ้าอ้วนถูกวาดขึ้นเพื่อโฆษณาร้านเบียร์ในมิวนิค เลยมีคำว่า ‘Nunc est Bibendum’ ในบทกวีภาษาละตินที่แปลว่า “ถึงเวลาดื่มฉลองแล้ว” ที่ต่อมากลายมาเป็นชื่อของเจ้าห่วงยางนี้

ซึ่งพอ อองเดร มิชลิน ไปเห็นโฆษณาตัวนี้เข้าก็ตะลึงในทันที เพราะมันช่างเหมือนสิ่งที่เขาจินตนาการเอาไว้เมื่อสี่ปีที่แล้วในงานจัดแสดงสินค้า Lyon Exhibition ในปี 1894 ตอนนั้นเขาเห็นกองยางวางซ้อนกันคล้ายรูปคนไม่มีแขนขา เลยพูดทีเล่นทีจริงประมาณว่า

“ใครก็ได้ช่วยเติมแขนขาให้เจ้านี่ที”

กลายมาเป็นตัวบีเบนดัม อย่างที่เราคุ้นตาในทุกวันนี้

ที่ผ่านมา บีเบนดัม ได้ทำหน้าที่ดีที่สุดเท่าที่มาสคอตตัวนี้พึงกระทำได้ เป็นทั้งสัญลักษณ์ในการโฆษณา ภาพลักษณ์ของแบรนด์ และทูตประชาสัมพันธ์อย่างเป็นทางการ เป็นเวลายาวนานกว่า 120 ปี ซึ่งจุดเปลี่ยนหนึ่งที่ทำให้คนรู้จักเจ้าห่วงยางสีขาวนี้มากขึ้นเริ่มต้นในปี 1900 จากยอดขายที่ไม่กระเตื้องขึ้นของยางมิชลิน

ถ้าเป็นคุณจะเพิ่มยอดขายยางรถกันอย่างไร?

ถ้าไม่รวมสายดำที่แกล้งโรยตะปูให้ยางรั่วเล่นแล้ว ยอดขายยางรถยนต์คงต้องรอการเติบโตไปพร้อม ๆ กับอุตสาหกรรมรถยนต์เท่านั้นเอง แต่พี่น้องมิชลินไม่ยอมให้เป็นเช่นนั้น ในตอนที่ทั้งปารีสมีรถวิ่งอยู่แค่ 3,000 คัน พวกเขาช่วยทำการกระตุ้นยอดขายด้วยการออกหนังสือแนะนำร้านอาหาร

ไม่ต้องบอกใช่ไหมว่าหนังสือเล่มนั้นชื่อ คู่มือ ‘มิชลิน ไกด์’ (Michelin Guide)

คู่มือที่เริ่มต้นในปี 1900 โดยใส่รายชื่อโรงแรมน่าพักในกรุงปารีส รายชื่อร้านอาหารอร่อยๆ โดยจำแนกตามกลุ่มประเภท แน่นอนว่าเพื่อให้คนออกเดินทางไปใช้บริการและชิมอาหารรสเลิศ ยิ่งเดินทางไกลเท่าไหร่ยางรถยนต์ยิ่งถูกใช้งานมากเท่านั้น ยิ่งใช้งานมากยิ่งขายยางรถยนต์ได้เยอะขึ้นเรื่อย ๆ

หนังสือนำเที่ยวสีแดงเล่มเล็ก ๆ นี้เลยเป็นจุดเปลี่ยนของมิชลิน ที่เปลี่ยนโลกการชิมอาหารไปตลอดกาล

ผ่านมากว่า 118 ปี มิชลิน ไกด์ ได้กลายมาเป็นมาตรฐานให้กับร้านอาหารชั้นนำทั่วโลก รวมถึงประเทศไทยที่จัดมาแล้วเป็นปีที่สอง ที่เหล่าผู้ตรวจสอบร้านอาหาร หรือนักชิมลึกลับ ออกตระเวนทั่วเพื่อสำรวจและประเมินร้านอาหารโดยไม่เปิดเผยตัว โดยแบ่งเป็นได้รับดาวมิชลิน 1, 2 และ 3 ดวง และเพิ่มเกณฑ์ต่าง ๆ ตามมา

ปัจจุบันคู่มือเล่มเล็กนี้ ทำการประเมินร้านอาหารและที่พักไปมากกว่า 40,000 แห่งในกว่า 24 เขตแดนทั่วทั้ง 3 ทวีป โดยมียอดจำหน่ายทั่วโลกสูงกว่า 30 ล้านเล่ม

ซึ่งยิ่งคนรู้จัก ‘มิชลิน ไกด์’ เพิ่มมากขึ้นเท่าไหร่ ก็จะรู้จัก ‘บีเบนดัม’ แบรนด์แอมบาสเดอร์สีขาวตัวนี้ไปพร้อม ๆ กัน

 

เรื่อง: กิตยางกูร ผดุงกาญจน์

อ้างอิง:

Michelin

michelin.co.th