08 ม.ค. 2562 | 18:49 น.
ทุกคนมีความฝัน แต่เคยคิดไหมว่าเราต้องลงทุนกับความฝันด้วยมูลค่าเท่าไหร่? สำหรับ พัณณิน กิติพราภรณ์ แห่ง “ดรีมเวิลด์” สวนสนุกชื่อดังของไทย เธอเลือกสร้างความสุขและความสนุกสนานให้ทุกคนเสมือนอยู่ใน “โลกแห่งความฝัน” ด้วยมูลค่าถึงหลักพันล้านบาท! ความสุขในสายเลือด ดีเอ็นเอความสุขอยู่ในตัวพัณณินตั้งแต่เกิด พ่อของพัณณินคือ “ไมตรี กิติพราภรณ์” ทำธุรกิจโรงภาพยนตร์และสวนสนุก “แดนเนรมิต” ที่หลายคนคุ้นเคยและมีความทรงจำวัยเด็กแสนประทับใจที่นี่ แดนเนรมิตเป็นสวนสนุกกลางแจ้งตั้งอยู่บนพื้นที่กว่า 30 ไร่ ในพื้นที่เขตจตุจักร เปิดให้บริการในปี 2518 มีปราสาทเทพนิยายเป็นแลนด์มาร์คที่ใครไปใครมาต้องถ่ายรูป และยังมีเครื่องเล่นสนุกๆ อย่างรถไฟเหาะ ไวกิ้ง ฯลฯ เรียกเสียงกรี๊ดสนั่นจากคนที่ชอบอะไรตื่นเต้นหวาดเสียว หลังจบปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจจาก University of California, Berkeley ประเทศสหรัฐอเมริกา พัณณินก็เป็นอาจารย์ประจำที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อยู่ประมาณ 1 ปีครึ่ง และเป็นอาจารย์พิเศษอยู่อีก 10 กว่าปี แต่ก็ไม่ทิ้งธุรกิจครอบครัวด้วยการเข้ามาเสริมทัพดูแลความสนุกของแดนเนรมิตในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการ แต่ความฝันของพัณณินและครอบครัวมีมากกว่านั้น… แม้แดนเนรมิตมีพื้นที่ไม่กี่สิบไร่ ง่ายต่อการดูแลทั่วถึง แต่ก็กลายเป็นข้อจำกัด “จินตนาการ” ที่ไม่สามารถใส่ทุกอย่างลงไปได้อย่างที่ใจหวัง อีกทั้งช่วงทศวรรษที่ 2530 กรุงเทพฯ มีสวนสนุกเพียง 3 แห่งเท่านั้นคือ แดนเนรมิต สวนสยาม และซาฟารีเวิลด์ ซึ่งครอบครัวของพัณณินเห็นว่าไม่น่าจะพอรองรับการเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจของชาวกรุงเทพฯ และพื้นที่ใกล้เคียงได้ เมื่อมีความฝันเป็นตัวขับเคลื่อน “ดรีมเวิลด์” สวนสนุกกลางแจ้งอีกแห่งของครอบครัวกิติพราภรณ์ จึงเกิดขึ้นในปี 2536 “ดรีมเวิลด์” ความสุขพันล้าน พื้นที่ราว 160 ไร่ ที่ กม.7 รังสิต นครนายก (คลอง 3) จ.ปทุมธานี คือที่ตั้งของ “ดรีมเวิลด์” อาณาจักรความสนุกแห่งใหม่ที่มีกลุ่มเป้าหมายหลักคือทุกคนในครอบครัว ใช้เงินลงทุนไปกว่า 1,000 ล้านบาท โดยมีพัณณินเป็นกำลังหลักในการบริหารจัดการ และเมื่อแดนเนรมิตหมดสัญญาเช่าในปี 2543 พัณณินจึงหันมาทุ่มเทให้ดรีมเวิลด์ได้เต็มพลังมากขึ้น “การทำสวนสนุกเป็นเรื่องยากมาก คนชอบถามว่าทำไมไม่ค่อยมีคนทำสวนสนุก เลยบอกว่าถ้าง่ายและกำไรดีมากๆ ก็คงมีคนแย่งกันทำเยอะแยะ หลายคนในอดีตหรือหลายบริษัทแม้แต่ในเมืองนอกก็ประสบความสำเร็จไม่ง่ายนัก ต้องปิดตัวไปหรือขายต่อ สมมติเราลงทุนซื้อรถไฟเหาะมาสัก 200-300 ล้าน เวลาเราขาดทุนหรือขายทีเราขายเป็นเศษเหล็ก แล้วบางทีต้องจ้างคนมาขนอีก ดังนั้นการลงทุนค่อนข้างยาก ถึงไม่ค่อยมีการเปิดตัว และการเปิดอะไรใหม่ๆ อย่างสวนสนุกหรือสวนน้ำ คนก็จะตื่นเต้นอยู่ 3-6 เดือน จากนั้นกระแสก็จะลดลง” พัณณินเคยกล่าวไว้ แม้รู้ทั้งรู้ว่าเพียงระยะเวลาไม่นาน กระแสความหวือหวาในสวนสนุกอาจลดลง แต่พัณณินที่รักในการทำสวนสนุกก็ไม่หวั่น ยังพร้อมลุยเพื่อส่งมอบความสุขให้ทุกคน หัวใจหนึ่งของสวนสนุกก็คือ “เครื่องเล่น” ซึ่งดรีมเวิลด์มีเครื่องเล่นตัวดังๆ ที่หลายคนอาจเคยเล่นหรือเคยได้ยินชื่อมาบ้างแล้ว อย่าง “สกายโคสเตอร์” หรือรถไฟเหาะ “ไวกิ้งส์” เรือโจรสลัดลำใหญ่แกว่งไปมาเรียกความรู้สึกวูบวาบเสียวท้องน้อย “เฮอริเคน” เครื่องเล่นที่พาทุกคนตีลังกากลางอากาศ “ทอร์นาโด” จินตนาการเป็นพายุหมุนที่ดูดทุกคนลอยเคว้งหมุนคว้างกลางอากาศ หรือจะเป็น “แกรนด์แคนยอน” ผจญภัยกลางสายน้ำเชี่ยวกรากที่พาลัดเลาะโขดหิน น้ำตก “ซูเปอร์สแปลช” เรือลำใหญ่ที่ไต่ขึ้นฟ้าก่อนลดระดับลงมาอย่างรวดเร็วให้เกิดคลื่นยักษ์ ฯลฯ เครื่องเล่นแต่ละอย่างในดรีมเวิลด์ถือว่าไม่ธรรมดา เพราะราคาหลักร้อยล้านบาทขึ้นไปทั้งสิ้น ซึ่งในมุมมองของพัณณินถือว่าไม่แพง เพราะเครื่องเล่นแพงๆ บางตัวในต่างประเทศ คิดราคาเป็นเงินไทยแล้วตกพันล้านบาทก็มี พัณณินจะเดินทางไปประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการผลิตเครื่องเล่น อย่าง สหรัฐอเมริกา เยอรมนี ฯลฯ เพื่อคัดเลือกเครื่องเล่นมาเข้าสวนสนุก เธอไม่มีหลักตายตัวในการเลือกเครื่องเล่น แต่จะใช้ความรู้สึกและประสบการณ์ในการคลุกคลีกับลูกค้ามานานเป็นตัววัด เห็นปุ๊บแล้วคิดว่าน่าจะใช่ น่าจะเหมาะกับคนไทยที่ส่วนใหญ่ไม่ชอบเครื่องเล่นอะไรที่ตื่นเต้นมากเกินไปนัก และถ้าอยู่ในงบลงทุนที่วางไว้ ก็จะตัดสินใจซื้อ รวมทั้งวางแผนเติมเครื่องเล่นใหม่ๆ เฉลี่ย 2 ปีต่อเครื่องเล่น 1 อย่าง เพราะลูกค้าต้องการความแปลกใหม่และประสบการณ์ใหม่ๆ ขณะเดียวกันก็ต้องออกแบบสภาพแวดล้อมในสวนสนุกให้สอดคล้องกับเครื่องเล่น เพื่อสร้างบรรยากาศโดยรวมให้ไปในทางเดียวกัน ทุกวันนี้ ดรีมเวิลด์เปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวเฉลี่ยปีละเกือบ 2 ล้านคน ทั้งคนไทยที่ส่วนใหญ่มากันเป็นครอบครัว เพราะนอกจากเครื่องเล่นตัวเด็ดๆ ที่จัดให้สำหรับคนชอบความตื่นเต้น ยังมีเครื่องเล่นและโซนที่ทุกคนในครอบครัวสามารถใช้เวลาร่วมกันได้ และยังมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นลูกค้าอีกประมาณ 20% โชว์ไทย “สยามนิรมิต” ความสุขและความสนุกคือภาษาสากลที่ไม่ว่าคนชาติใดก็สามารถสัมผัสได้ ประกอบกับศิลปวัฒนธรรมของไทยคือเสน่ห์ที่สร้างความประทับใจให้ชาวต่างชาติมานักต่อนัก คือแรงบันดาลใจที่ทำให้พัณณินขยับมาสร้างโชว์ศิลปวัฒนธรรมไทยในชื่อ “สยามนิรมิต” บนพื้นที่กว่า 20 ไร่ ตรงข้ามศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ในปี 2548 ด้วยเงินลงทุนที่สูงถึงกว่า 1,000 ล้านบาท เจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ก่อนขยายไปเปิดที่เมืองท่องเที่ยวอย่าง จ.ภูเก็ต ในปี 2554 “ตอนแรกคิดว่ารู้ 70% และจะไปหาความรู้ข้างหน้าอีก 30% พอลงมือทำจริงๆ ปรากฏว่าเรารู้เพียง 30% ความยากคือจะถ่ายทอดความเป็นไทยอย่างไรให้คนเข้าใจและเพลิดเพลิน ทำสยามนิรมิต สร้าง 4 ปี แก้อีก 10 เดือน แล้วช่วงที่แก้คือไม่เปิดเลย เหมือนเราทำหนังเรื่องหนึ่งแล้วออกมาก็คิดว่าไม่น่าจะใช่ ก็ต้องแก้จนกว่าจะพอใจ ถ้ามีสินค้าไม่ดี จะเอาของไปขายก็ยาก เราต้องการทำอะไรที่เป็นระยะยาวไม่ฉาบฉวย ตอนแรกเราทำแล้วแทบตาย แต่ก็หายเหนื่อยเมื่อมีคนชม” นักธุรกิจหลายคนอาจวัดความสำเร็จที่ตัวเลขรายได้และกำไรแสนงาม แต่กับพัณณินแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่านั้นอยู่ที่ “ความสุข” ที่ฉายชัดออกมาผ่านสีหน้าและแววตาของทุกคนที่ก้าวเข้ามาใน “ดรีมเวิลด์” โลกแห่งความฝันที่พัณณินทุ่มเทมาตลอด 20 กว่าปีนับแต่ก่อตั้ง และยังคงส่งมอบความสุขถึงทุกคนอย่างไม่มีวันหยุดจนถึงทุกวันนี้