31 ม.ค. 2562 | 10:01 น.
“ตอนนั้นผมอายุ 13 ปี ผมจำได้ทุกอย่าง” เดือนเมษายน 1994 เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (Genocide) ที่รวันดา จากความขัดแย้งระหว่างเผ่าฮูตูและทุตซี อันส่งผลให้ชนเผ่าทุตซี่ถูกชนเผ่าฮูตูสังหารหมู่ถึง 500,000 ถึง 1 ล้านชีวิตภายในระยะเวลาเพียง 3 เดือน อันเป็นโศกนาฏกรรมที่เป็นข่าวดังระดับโลก หนึ่งในผู้รอดชีวิต แล้วต่อสู้ชีวิตจากที่ติดลบ จนก้าวสู่การเป็นมหาเศรษฐีระดับหมื่นล้านของทวีปแอฟริกา เขาคือชายหนุ่มวัย 38 ปี อาชิช ธัคการ์ (Ashish J. Thakkar) ซึ่งเขาเคยเล่าถึงเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในรวันดากับหนังสือพิมพ์ไฟแนนเชียลไทมส์ ไว้ว่า ตอนนั้นเขาอายุ 13 ปี ในคืนที่เกิดเหตุ เขานั่งทานพิซซ่ากับมันฝรั่งอย่างสบายใจ แต่ทันทีเมื่อทราบว่ามีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นที่ประเทศนี้ เขาและครอบครัวรีบหาที่ซ่อนตัวเป็นเวลาหลายวัน แล้วสวดอธิษฐานเพื่อขอให้ตนและครอบครัวปลอดภัย ภายใต้ฉากหลังของความยากลำบากของกาฬทวีปที่เต็มไปด้วยความอดอยาก, โรคระบาด, ความแห้งแล้ง, การปกครองแบบเผด็จการ, การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, ปัญหาคอร์รัปชัน, การก่อการร้าย และปัญหาอีกมากมายหลายประการ ไม่มีอะไรที่หยุดเขาได้ ธัคการ์ หนุ่มวัย 37 ปีชาวยูกันดา ได้กลายเป็นเศรษฐีหมื่นล้านวัยหนุ่มที่รวยที่สุดของทวีปแอฟริกา โดยทรัพย์สินที่เขามีอยู่จากการก่อตั้งกลุ่มบริษัท “มาร่ากรุ๊ป” (Mara Group-สำนักงานใหญ่อยู่ที่ดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) มีอยู่สูงถึง 1 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 3 หมื่นล้านกว่าบาท มาร่ากรุ๊ปมีกลุ่มธุรกิจอยู่ 5 ไลน์ธุรกิจด้วยกัน ได้แก่ ธุรกิจด้านเทคโนโลยี, การผลิต, บริการด้านการเงิน, อสังหาริมทรัพย์ และการเกษตร ซึ่งทุกวันนี้กลุ่มบริษัทของมาร่ากรุ๊ปมีพนักงานมากกว่า 11,000 คน และมีธุรกิจอยู่ใน 24 ประเทศ โดยเฉพาะที่แอฟริกา อย่างเช่น ยูกันดา เคนยา ไนจีเรีย และรวันดา ในปี 2014 นิตยสารฟอร์บส์ ยกให้ อาชิช เจ. ธัคการ์ ติดอันดับ 1 ใน 10 สุดยอดของชายผู้ทรงอำนาจของทวีปแอฟริกา (The 10 Most Powerful Men In Africa 2014) อะไรที่ทำให้ชีวิตของชายคนหนึ่ง ซึ่งต้องต่อสู้กับความยากลำบากในการพลัดประเทศที่อยู่ จนกลายเป็นหนึ่งใน “อายุน้อยหมื่นล้าน” ของโลกยุคนี้ … เริ่มต้นชีวิตที่ยิ่งกว่านิยาย : ผ่านผู้นำเผด็จการและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ราวกับว่า คนในตระกูลธัคการ์จะมีเทพแห่งการเดินทางหนุนหลังครอบครัวอยู่ เพราะแต่เดิมบรรพบุรุษของ อาชิช เจ. ธัคการ์ เป็นชาวอินเดีย ที่อพยพมาหาความฝันและความมั่งคั่งที่ทวีปแอฟริกา พวกเขาเดินทางมาอาศัยอยู่ที่ประเทศยูกันดาก่อนที่ในช่วงปีค.ศ.1890 หรือก่อนที่ธัคการ์จะเกิดเกือบ 100 ปี คนรุ่นทวด รุ่นปู่รุ่นย่าของธัคการ์ ประกอบอาชีพค้าขายในประเทศยูกันดาอย่างสุขสงบ จนในช่วงทศวรรษที่ 70 ประเทศยูกันดาอยู่ภายใต้การปกครองของอีดี้ อามิน ผู้นำเผด็จการทหารที่นำประเทศถอยหลังเข้าคลอง ในตอนนั้นอีดี้ อามิน ได้ดำเนินนโยบายแบ่งแยกคนเชื้อชาติอื่น ครอบครัวของเขาเป็นคนอินเดียจึงถูกขับไล่ออกนอกประเทศ พ่อกับแม่ของธัคการ์จึงลี้ภัยมาอยู่ที่ประเทศอังกฤษ ปี ค.ศ.1981 เป็นปีที่เด็กชายอาชิช เจ. ธัคการ์ กำเนิด เขาเกิดที่เมืองเลสเตอร์ ประเทศอังกฤษ ห่างไกลจากเมืองกัมปาลา เมืองหลวงของประเทศยูกันดา บ้านเกิดเมืองนอนของบรรพบุรุษถึง 6,500 กิโลเมตร และธัคการ์อยู่ที่อังกฤษจนถึงอายุ 11 ปี ในปีค.ศ.1992 ครอบครัวของเขาย้ายไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ที่ประเทศรวันดา ชีวิตที่ดูจะยอกย้อนยิ่งกว่านิยายหรือภาพยนตร์เรื่องใดของธัคการ์ ไม่ได้จบลงง่าย ๆ ครอบครัวของเขาอาศัยอยู่ที่ประเทศรวันดาได้เพียงแค่ 2 ปี ปรากฏว่าในเดือนเมษายนของปี 1994 ที่รวันดาก็มีการฆ่าล้างผ่าพันธุ์ชนเผ่าทุตซีโดยชนเผ่าฮูตู มีการประเมินว่ามีชนเผ่าทุตซีเสียชีวิตจากเหตุการณ์ร้ายแรงครั้งประวัติศาสตร์นี้เกือบ 1 ล้านคน พวกเขาจึงอพยพหนีภัยร้ายไปบุรุนดี และเคนยา เป็นเวลาหลายเดือนก่อนที่จะกลับมาที่ยูกันดา – อดีตบ้านเกิดเมืองนอนของบรรพบุรุษ แต่ที่ดูตลกร้ายก็คือ แม้ว่าคนตระกูลธัคการ์จะเคยอยู่ที่นี่มาก่อนหลายสิบปี แต่ครั้งนี้ พวกเขาต้องมาอยู่ที่ในฐานะผู้ลี้ภัย โดยอาศัยอยู่ที่เมืองกัมปาลา เมืองหลวงของประเทศยูกันดา ธัคการ์เล่าให้ฟังว่า ในช่วงเวลานั้น ด้วยความที่ต้องย้ายไปยังประเทศนั้นประเทศนี้อยู่บ่อยครั้ง เพื่อหลบหนีภัยทางการเมือง ครอบครัวเขาแทบไม่มีทรัพย์สินอะไรติดตัวเลย พวกเขาตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก ทุกคนที่รู้จักกับครอบครัวของธัคการ์ต่างพากันหลบหน้าหลบตาเพราะกลัวว่าทางครอบครัวของเขาจะไปขอความช่วยเหลือ ธัคการ์บอกว่า ในตอนนั้น “ครอบครัวของเราไม่มีอะไรเลย” จนในที่สุด พ่อของธัคการ์ก็สามารถหยิบยืมเงินมาจากคนรู้จักได้จำนวนหนึ่งเพื่อนำมาลงทุนเปิดร้านค้าขายของที่เมืองกัมปาลา เมืองหลวงของยูกันดา ซึ่งถือเป็นการเริ่มต้นชีวิตใหม่ของครอบครัวจนสามารถเลี้ยงตัวเองได้ในเวลาไม่นานนัก เมื่อเห็นครอบครัวตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก ธัคการ์จึงอยากจะทำธุรกิจด้วยตัวเองเพื่อช่วยเหลือครอบครัว ในตอนนั้นเขาได้มีโอกาสอ่านหนังสือ ดูโทรทัศน์ เห็นประวัติชีวิตของเศรษฐีระดับโลกอย่าง ริชาร์ด แบรนสัน (ผู้ก่อตั้ง “เวอร์จิ้นกรุ๊ป), วอร์เรน บัฟเฟตต์, บิล เกตส์ และราทาน ทาทา (มหาเศรษฐีชาวอินเดีย) แล้วเกิดแรงบันดาลใจอยากจะลุกขึ้นมาสร้างอาณาจักรทางธุรกิจด้วยตัวเองบ้าง อาชิช เจ. ธัคการ์ จึงเริ่มต้นทำธุรกิจตั้งแต่ตอนอายุ 15 ปี … เริ่มต้นทำธุรกิจด้วยวัย 15 และหนี้ 150,000 บาท Just Do It หรือ “ทำมันเลย” สโลแกนของผลิตภัณฑ์กีฬาของไนกี้ ดูจะเข้ากันดีกับความมุ่งมั่นของธัคการ์ในวัยหนุ่ม ในตอนที่ธัคการ์อายุ 15 ปี เขาเรียนระดับมัธยมฯ ตอนนั้นเองที่เขาได้เริ่มต้นค้าขาย โดยนำเอาคอมพิวเตอร์มาขายให้กับเพื่อนซึ่งการขายคอมพิวเตอร์แค่เพียงเครื่องเดียว ทำเงินให้เขาถึง 30,000 บาท นี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้เขาเห็นช่องทางทางธุรกิจ เขาจึงไม่มีความลังเลใจใด ๆ ที่จะลาออกจากโรงเรียนเพื่อเข้าสู่การทำอาชีพค้าขาย ในตอนแรกพ่อกับแม่ของธัคการ์ไม่เห็นด้วย แต่เมื่อเขาได้พูดคุยและอธิบายถึงความตั้งใจของตนให้พ่อและแม่ฟัง ครอบครัวเลยอนุญาตให้ธัคการ์ลาออกจากโรงเรียนมาทำธุรกิจได้โดยมีข้อแม้ว่า ถ้าธุรกิจที่ทำดูท่าจะไม่ดี ขอให้กลับมาเรียนหนังสือต่อ โดยพ่อของเขาบอกว่าบอกว่า “ถ้าเธอทำธุรกิจไม่ไหว ในหนึ่งปีให้กลับมาเรียนหนังสือ แต่จงจำไว้ว่า เธอจะเรียนช้ากว่าเพื่อนในรุ่น 1 ปีนะ” นี่จึงเปรียบเหมือนการเดิมพันต่ออนาคตของธัคการ์เอง ตอนนี้เขาไม่มีทางถอย ต้องลุยไปข้างหน้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น “มาร่า กรุ๊ป” (Mara Group) ของอาชิช เจ. ธัคการ์ จึงถือกำเนิดขึ้นมาในปี ค.ศ.1996 ในตอนที่ธัคการ์อายุ 15 ปี โดยในตอนแรก ธัคการ์ไม่มีเงินทำทุน เขาจึงขอหยิบยืมเงินของที่บ้านถึง 5,000 เหรียญฯ หรือประมาณ 150,000 บาท มาลงทุนเปิดร้านขายอุปกรณ์ไอทีในช้อปปิ้งมอลล์ เพื่อขายส่วนประกอบคอมพิวเตอร์อย่าง คีย์บอร์ด เมาส์ และตัวเครื่อง ในช่วงแรกของการค้าขาย ชีวิตของเขาเต็มไป “โชคของมือใหม่”(Beginner’s Luck) อันเป็นสำนวนฝรั่งที่พูดถึงคนที่ทำงานใหม่ ๆ หรือว่าเล่นการพนันที่ไม่เคยเล่นมาก่อน ในช่วงแรก ๆ มักจะเต็มไปด้วยโชคดีเสมอ ร้านค้าของเขาไปได้ดี นอกจากลูกค้าที่แวะเวียนเข้ามาซื้ออุปกรณ์ไอทีในร้านของเขาแล้ว ธัคการ์ยังขายของให้กับโรงเรียนได้อีกด้วย ธุรกิจของธัคการ์เริ่มขยายตัวขึ้นเรื่อย ๆ จนในที่สุด “โชคของมือใหม่” ค่อย ๆ หมดลง เขาเริ่มทำมาค้าขายลำบากขึ้นจนต้องกู้ยืมเงินจากแหล่งกู้นอกระบบที่คิดดอกเบี้ยในอัตราสูงถึงปีละ 36 เปอร์เซ็นต์ (ในบ้านเรา ดอกเบี้ยการทำสัญญาเงินกู้ตามกฎหมาย ไม่เกิน 15 เปอร์เซ็นต์ต่อปี) แต่เขาได้ชำระหนี้จนหมดในเวลาไม่นาน เขาจึงไม่ต้องเผชิญกับดอกเบี้ยที่สูงเกินปกติ ผ่านไป 10 ปีแรกในการเป็นผู้ประกอบการ ธัคการ์ถอดบทเรียนแล้วพบว่า การทำธุรกิจไม่ง่ายอย่างที่คิด เขาเคยให้สัมภาษณ์กับฟอร์บสว่าในช่วงต้น ๆ ของการทำธุรกิจ ธัคการ์ยอมรับว่าตนเองก็มีข้อผิดพลาดในการทำงานมากมาย บางธุรกิจที่เขาก่อตั้งขึ้นมา เขาไม่ค่อยใส่ใจเท่าที่ควรจนทำให้ธุรกิจนั้นย่ำแย่ขาดทุน ธัคการ์จึงเรียนรู้ที่จะเอาใจใส่ในทุกธุรกิจที่เขาลงทุนอย่างละเอียด ไม่ว่าธุรกิจนั้นจะมีขนาดใหญ่หรือเล็กก็ตาม “ในช่วงเริ่มต้นของการทำธุรกิจ ผมเรียนรู้จากคนอื่น ๆ และไม่มีทางเลือกในการทำธุรกิจมากนัก และผมมาค้นพบว่า การประกอบธุรกิจแบบนี้มีความเสี่ยงพอสมควร” เมื่อเรียนรู้จากข้อผิดพลาดแล้ว อาชิช เจ. ธัคการ์ ก็พยายามผลักดันมาร่ากรุ๊ปให้ก้าวไปข้างหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง จากธุรกิจขายอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ต่อยอดมาสู่ธุรกิจการผลิต, ธุรกิจการเงิน, อสังหาริมทรัพย์ และการเกษตร จนกลายเป็นอาณาจักรธุรกิจขนาดใหญ่มีมูลค่า 30,000 ล้านบาทเช่นทุกวันนี้ … จงเป็นคนติดดิน อาชิช เจ. ธัคการ์ ใช้เวลาไม่ถึง 20 ปี ในการประกอบธุรกิจจนเติบโตแบบก้าวกระโดด จนฟอร์บสยกให้เขาเป็นเศรษฐีพันล้านวัยหนุ่มที่รวยที่สุดของทวีปแอฟริกา แน่นอนว่า สิ่งที่ผู้คนสนใจก็คือ อะไรคือสิ่งที่หนุนนำให้เขามีทุกวันนี้ ธัคการ์เคยให้สัมภาษณ์นิตยสารฟอร์บส ถึงเคล็ดลับที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จเร็วกว่าคนในวัยเดียวกันไว้ว่า “มันยากที่จะระบุว่า ปัจจัยอะไรที่ทำให้ผมประสบความสำเร็จเร็ว แต่เหนือสิ่งอื่นใด ผมเชื่อว่าความสำเร็จนี้มาจากความพยายาม การคิดใหญ่ ตั้งเป้าหมายให้สูง และการคิดในแง่บวก จะช่วยให้เราเข้าใจในเรื่องวิสัยทัศน์ เรามีทีมงานที่คอยกระตุ้นกันเอง คอยส่งพลังให้กันและกัน เราทำงานกันแบบมีความยืดหยุ่นและใส่ใจในเรื่องการรักษาความสัมพันธ์ที่ดีในระยะยาวกับพนักงาน หุ้นส่วนทางธุรกิจ และลูกค้า ความสำเร็จเกิดขึ้นได้จากการมีผู้นำที่ฉลาดและการสร้างวัฒนธรรมให้คนทำงานเชื่อว่า “เราสามารถทำได้” นี่คือแรงผลักดันที่ทำให้มาร่ากรุ๊ปก้าวไปข้างหน้า” และแม้ว่าในวันนี้ อาชิช เจ. ธัคการ์ จะเป็นเศรษฐีระดับพันล้าน แต่เขาไม่เคยลืมว่า ตนเองเคยลำบากมาก่อน และหลักการหนึ่งในชีวิตที่เขายึดถือเสมอมานั่นก็คือ จงเป็นคนติดดิน และเข้าถึงได้ง่าย ไม่ควรหยิ่งหรือมีอีโก้ต่อผู้อื่น เพราะไม่ว่าเราจะใหญ่ขนาดไหน วันหนึ่งเราก็อาจจะล้มลงมาได้เหมือน ๆ กัน นอกจากความเรียบง่าย ติดดินแล้ว สิ่งที่วัยรุ่นพันล้านอย่างอาชิช ธัคการ์มีก็คือ ความอ่อนน้อมถ่อมตน แม้ว่าเขาจะก่อตั้งมาร่ากรุ๊ปขึ้นมา แต่ประธานบริษัทนี้คือคุณพ่อของธัคการ์ ที่สำคัญคือ บริษัทนี้ไม่มีซีอีโอ และธัคการ์ปฏิเสธที่จะให้พนักงานเรียกเขาว่า “บอส” เขาให้เหตุผลแบบติดตลกว่า เพราะว่าเขายังรู้สึกว่าตัวเองไม่ฉลาดพอที่จะรับตำแหน่งซีอีโอเพราะเขาเรียนมาน้อย และหากวันไหนที่เขาเรียนจบระดับมัธยมฯ เขาถึงจะยอมขึ้นเป็นซีอีโอ ที่มา: หนังสือ "อายุน้อย รวยพันล้าน" สำนักพิมพ์ บิสซี่เดย์