Wine Connection ร้านที่ผู้ก่อตั้งต้องการสร้าง ‘ประชาธิปไตย’ ในการดื่มไวน์

Wine Connection ร้านที่ผู้ก่อตั้งต้องการสร้าง ‘ประชาธิปไตย’ ในการดื่มไวน์

ย้อนจุดเริ่มต้นของ Wine Connection ซึ่งผู้ก่อตั้งอย่าง Michael Trocherie ต้องการขยายวัฒนธรรมการดื่มไวน์ให้แพร่หลายและเข้าถึงคนหมู่มาก ด้วยคุณภาพเหมาะสม และราคาเอื้อมถึง

  • ช่วง 20 ปีก่อนหน้านี้ ‘ไวน์’ เป็นสินค้าที่อาจถูกจำกัดในชนชั้นนำ 
  • Michael Trocherie ชาวฝรั่งเศสที่มาทำงานในไทยจึงมีคิดจะทำให้ไวน์เป็นสินค้าแมสที่คนเข้าถึงได้ง่าย 
  • ปี 1998 เขาได้ก่อตั้ง Wine Connection ขึ้นมา เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว

ถ้าเย็นนี้เพื่อนเรานัดทานข้าวชวนไปแฮงเอ้าท์ แต่มีเงื่อนไขคือ ขอเป็นร้านที่บรรยากาศดีพูดคุยได้ มีทั้งอาหารไทยถูกปากและอาหารนานาชาติ ราคาสมเหตุสมผล และต้องมี ‘ไวน์’ หลากหลายให้เลือกสรร เป็นองค์ประกอบหลักท่ามกลางบทสนทนา

เชื่อเลยว่าจุดหมายปลายทางที่ทุกคนปักหมุดร่วมกัน คือ Wine Connection เชนร้านไวน์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ที่เป็นมากกว่าแค่ขายไวน์ แต่เป็นสถานที่ที่ผู้คนมาแลกเปลี่ยนความคิดกันผ่านบทสนทนาที่มีไวน์เป็นองค์ประกอบหลัก

ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จนี้คือ Michael Trocherie ที่บุกเบิกปลุกปั้นมานานกว่าที่หลายคนคิด

ชาวฝรั่งเศสโดยกำเนิด

Michael Trocherie เกิดเมื่อปี 1974 เขาเป็นคนฝรั่งเศส ซึ่งเกิดละเติบโตในประเทศที่เป็นต้นกำเนิดและมีชื่อเสียงที่สุดในเรื่อง ‘ไวน์’ ทำให้เขา  ‘ซึมซับ’ โลกของไวน์ในหลายมิติ และเป็นข้อได้เปรียบที่นำไปใช้ได้ในอนาคต

เขาจบการศึกษาจากสถาบัน Institut Supérieur de Gestion หรือที่รู้จักในชื่อย่อว่า ISG เป็นโรงเรียนธุรกิจที่มีชื่อเสียงของกรุงปารีส นักธุรกิจชั้นนำชาวฝรั่งเศสและอีกหลายคนทั่วโลก ก็จบการศึกษาจากสถาบันแห่งนี้ โดย Michael Trocherie ได้เลือกเรียนด้านธุรกิจและการพาณิชย์โดยตรง สถาบันนี้ปูพื้นฐานด้านธุรกิจและเป็นแรงบันดาลใจให้เขาอยากเป็น ‘ผู้ประกอบการ’ ใครจะไปรู้ว่าเขาจะได้ลงมือทำจริง ๆ ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

หลังเรียนจบในวัย 22 ปี  Michael Trocherie มีโอกาสเข้าทำงานในบริษัทและถูกส่งตัวมาทำงาน (Expat) ที่ประเทศไทย เด็กหนุ่มชาวฝรั่งเศสได้ปะทะเข้ากับวัฒนธรรมใหม่ที่แตกต่าง มันมาพร้อมความกังวล ความลังเล ความไม่เข้าใจ แต่ก็มาพร้อม ‘โอกาส’ ในการทำธุรกิจสำหรับคนที่มองเห็น

จากการใช้ชีวิตในเมืองไทย เขาเริ่มสังเกตว่า ‘วัฒนธรรมการดื่มไวน์’ ในเมืองไทยในยุคนั้น มักกระจุกตัวอยู่ในหมู่ชนชั้นนำ (Elites)  ที่ชื่นชอบการดื่มไวน์นำเข้าแสนแพง และไวน์ที่มีขายก็มักอยู่ตามโรงแรมหรูและมีแต่ราคาสูง สำหรับคนทั่วไป ไวน์ยังเป็นของแพง เป็นของเกินเอื้อม

อย่างไรก็ตาม เขามองเห็นว่ายังมีคนกลุ่มหนึ่ง (เราอาจเรียกว่าเป็น ชนชั้นกลาง ก็ได้) ที่มีรสนิยมชอบดื่มไวน์ ชอบบรรยากาศการดื่ม สนใจในวัฒนธรรมไวน์…แต่ก็ไม่ได้มีเงินถุงเงินถังที่จะหมดไปกับไวน์ขนาดนั้น 

พวกเขาแค่อยาก ‘เอนจอยกับไวน์’ ได้บ่อย ๆ ในชีวิตประจำวันโดยกระเป๋าตังค์ไม่ฉีกไปซะก่อน โดยไวน์ที่ดื่มไม่จำเป็นต้องคุณภาพสูง มีราคาสูงลิบ แต่เป็นไวน์ราคากลาง ๆ คุณภาพสมราคาก็เพียงพอแล้ว สอดคล้องกับวัฒนธรรมการดื่มไวน์ของชาวฝรั่งเศส ไวน์เป็นของ ‘แมส’ (Mass) ที่สาธารณชนส่วนใหญ่เข้าถึงได้ เพราะมีตั้งแต่ราคาสูงจนไปถึงราคาต่ำ 

มาถึงตรงนี้ดูเหมือนว่า เป้าหมายของ  Michael Trocherie คือการทำให้ไวน์เป็นที่ ‘แพร่หลาย’ มากขึ้นในสังคมไทย

กำเนิดไวน์ Wine Connetion

ปี 1998 ขณะที่เขามีอายุ 24 ปี ได้ตัดสินใจก่อตั้ง Wine Connection ขึ้นมา แต่มันยังไม่ใช่ Wine Connection แบบที่พวกเราหลายคนคุ้นเคยในปัจจุบัน 

เริ่มต้นร้านนี้จะขายส่งไวน์เข้าไปตามโรงแรมและร้านอาหารก่อน แม้จะยังเป็นสเกลเล็ก ๆ แต่ก็ได้เรียนรู้ ‘ศึกษาตลาด’ ไปในตัว เช่น ร้านอาหารแบบไหนที่ยอดขายไวน์ดี เรตราคาไวน์ประมาณไหนที่ผู้บริโภคชอบ หรือสภาพบรรยากาศการตกแต่งร้านเป็นอย่างไร ฯลฯ

การขายแบบส่วนตัวยังเกิดขึ้นจากคนรู้จักบอกกันปากต่อปาก โดย  Michael Trocherie จะ ‘ปั่นจักรยาน’ เพื่อไปส่งออเดอร์ไวน์ด้วยตัวเองถ้าลูกค้าอยู่ไม่ไกล (สมัยนั้นยังไม่มีบริษัทเดลิเวอรี่) 

แม้ดูลำบากตามประสาคนเริ่มทำธุรกิจ แต่นัยหนึ่ง การที่เจ้าของไปส่งมอบไวน์ถึงบ้านลูกค้ากับตัว เป็นการสร้างความสัมพันธ์แบบส่วนตัวเป็นกันเอง (Personal relationship) กับลูกค้าไปในตัว เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลไวน์ เกิดการให้คำแนะนำเรื่องไวน์ต่าง ๆ จนลูกค้ามีแนวโน้มเป็นลูกค้าประจำที่ภักดี (Loyal customers) ที่พร้อมบอกต่อ สนับสนุน และสั่งซื้อซ้ำ

อีกทั้งอานิสงส์ความเป็น ‘คนฝรั่งเศส’ ที่มีภาพลักษณ์ติดพ่วงกับเรื่องของไวน์ ทำให้เขามีภาพลักษณ์ความน่าเชื่อถือเวลาเจรจาหรือให้คำแนะนำเรื่องไวน์

ถ้ามองด้วยสายตาปัจจุบัน เราอาจรู้สึกว่า นี่เป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะเดี๋ยวนี้ร้านขายไวน์ผุดขึ้นเยอะแยะมากมายและหาซื้อได้ง่ายมาก ๆ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ แต่กรณีของ  Michael Trocherie เรื่องเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 1998 ทำให้เขาเป็นเจ้าแรก ๆ ในตลาด คู่แข่งยังไม่เยอะเหมือนปัจจุบัน จึงทำให้พอมีช่องทางเติบโตในตลาด

ต่อมา Wine Connection ขยับขยายทดลองเปิดหน้าร้านค้าปลีกเล็ก ๆ ในกรุงเทพฯ เป็น ร้านขายไวน์ (Wine shop) แบบซื้อกลับโดยยังไม่มีบริการที่นั่งทานอาหารแต่อย่างใด ไวน์ชอปลักษณะนี้พบเห็นได้ทั่วไปในฝรั่งเศส แต่ถือเป็นเรื่องใหม่มากในตลาดเมืองไทยต้นทศวรรษ 2000

แบรนด์มีจุดเด่นตรงที่สามารถทำ ‘ราคา’ ไวน์ได้ย่อมเยา สาเหตุที่ทำราคาไวน์ได้ต่ำกว่าทั่วไปเป็นเพราะ Wine Connection นำเข้าไวน์ส่วนใหญ่จากผู้ผลิตโดยตรงโดยไม่ผ่าน ‘คนกลาง’ หลายต่อ

Michael Trocherie มีมุมมองเรื่องไวน์ที่น่าสนใจ เขาเชื่อว่า…ไม่ได้หมายความว่า ไวน์ฝรั่งเศสจะดีเสมอไป ทุกประเทศผู้ผลิตไวน์มีทั้งไวน์ดีคุณภาพสูงและไวน์ไม่ดีคุณภาพต่ำ 

เขาต้องการให้ Wine Connection เป็นเสมือนผู้เชี่ยวชาญที่ทำหน้าที่ ‘คัดเลือก’ ไวน์ดี ๆ มาให้คุณแล้ว เวลาลูกค้าเดินเข้าร้านและหยิบซักขวดกลับไป การันตีถึงคุณภาพที่ได้มาตรฐานแน่นอน หนึ่งในหน้าที่ของ  Michael Trocherie คือการตระเวนไปทั่วโลกเพื่อค้นหาไวน์คุณภาพดี(ที่ไม่จำเป็นต้องแพงเสมอไป) เพื่อนำมันมาวางขายในร้าน Wine Connection ในที่สุด

โดยปัจจุบันทีมคัดสรรไวน์ที่ Wine Connection จะทำการคัดเลือกไวน์ทั้งหมดที่ไปดูมาจากทั่วโลก และนำมาวางขายแค่ 5% เท่านั้น สมมติว่าไปดูไวน์มา 2,000 ขวด จะตัดสินใจหยิบเลือกเฉพาะที่มีคุณภาพจริง ๆ มาขายเพียงแค่ 100 ขวดเท่านั้น

ขยายไลน์ร้านอาหาร 

ปี 2002 เขาได้จับมือกับพันธมิตรใหม่ เพื่อนำ Wine Connection (ที่ยังเป็นร้านค้าปลีกขายไวน์) เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของร้านอาหารในเครือพันธมิตร โดยมีผู้เชี่ยวชาญเรื่องไวน์ (Sommelier) คอยให้คำแนะนำลูกค้าในร้านโดยตรง ปรากฎว่าผลตอบรับค่อนข้างน่าประทับใจ และจุดประกายให้  Michael Trocherie คิดอยากทำ ‘ร้านอาหาร’ ที่มีไวน์เป็นเครื่องดื่มหลัก

เมื่อเห็นความสำเร็จแรกในกรุงเทพฯ  Michael Trocherie ทดลองขยายตลาดไปเมืองใหญ่อื่น ๆ ที่มีศักยภาพ เช่น ปี 2003 เปิดสาขาแรกที่ ภูเก็ต และปี 2004 เปิดสาขาแรกที่ พัทยา

ปี 2005 คืออีกจุดเปลี่ยน เพราะแบรนด์ได้ขยายสู่รูปแบบใหม่ นั่นก็คือ ‘ร้านอาหาร’ ที่มีไวน์เป็นองค์ประกอบหลักแบบครบจบในที่เดียว (Wine restaurant) เปิดตัวสาขาแรกที่ ภูเก็ต (ติดกับร้านขายไวน์เดิมของแบรนด์) ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีทั้งคนไทยและนักท่องเที่ยวกำลังซื้อสูง 

ปรากฎว่าฟีดแบคเป็นที่น่าพอใจมาก ร้านอาหาร x ไวน์ ส่งเสริมยอดขายได้อย่างดี ครบลูปมื้ออาหารอย่างลงตัว

ทำธุรกิจแบบคิดหน้าคิดหลัง

ในปีเดียวกันนี้ Wine Connection ยังโกอินเตอร์ไปเปิดสาขาแรกที่ ‘สิงคโปร์’ (ตามมาด้วย มาเลเซีย ในเวลาต่อมา)

แม้ภาพลักษณ์  Michael Trocherie จะดูเป็นคนอาร์ตติสท์ที่หลงใหลในไวน์ แต่ในมุมธุรกิจเขาเป็นคนที่รอบคอบระมัดระวังไม่น้อย เช่น การบุกตลาดต่างประเทศจะประเมินหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น GDP ของประเทศ พฤติกรรมการบริโภคไวน์ เทรนด์ด้านเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มาตรการกีดกันสินค้านำเข้า การท่องเที่ยว ข้อจำกัดทางกฎหมายและศาสนา หรือพันธมิตรท้องถิ่นที่จะขาดไปไม่ได้เลย

แรงบันดาลใจในการสร้าง Wine Connection ยังเป็นการโปรโมทวัฒนธรรมการดื่มไวน์แก่ ‘ทุกคน’ เขามีความฝันว่าอยากให้ไวน์มีความเป็น ‘ประชาธิปไตย’ ที่ทุกคนเข้าถึงได้ และเขายังเป็นคนที่ ‘เปิดกว้างทางความคิด’ ไม่ใช่คนคอนเซอเวทีฟ 

ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น ไม่เคยคิดว่าไวน์ชนิดนี้ต้องจับคู่ (Wine pairing) กับอาหารชนิดนี้เท่านั้น เขาโปรโมทว่า การเลือกดื่มไวน์ก็เช่นกัน ไม่จำเป็นต้องจับคู่ไวน์แดงกับเนื้อเสมอไป แต่อยู่ที่ปัจจัยด้านสภาพอากาศของวันนั้น อารมณ์จิตใจของลูกค้า หรือเพื่อนฝูงรอบด้านที่มาด้วยกัน ทุกคนควรจะมี ‘อิสระเสรี’ ในการดื่มไวน์ที่เป็นตัวของตัวเองที่สุด โดยไม่ถูกจำกัดด้วยกรอบความคิดเดิมๆ

ความคิดนี้จะถูกส่งต่อไปยังเมนูอาหารที่หลากหลาย และการให้คำแนะนำของพนักงานขายภายในร้านด้วย

Third Place

การขยายกลายสภาพเป็นร้านอาหารยังมาจากแนวคิด ‘Third Place’ กล่าวคือ Wine Connection ทำหน้าที่เป็น Third Place ระหว่างบ้าน-ที่ทำงาน-และไวน์คอนเนคชั่น เป็นพื้นที่ที่คนมาแฮงเอ้าท์หลังเลิกงาน (หรือแม้แต่มื้อเที่ยงก็ได้) ซึ่งยังเป็นช่วงเวลาที่น่าจะเหมาะกับการดื่มไวน์ของใครหลายคน

สิ่งนึงที่  Michael Trocherie ชื่นชอบคือ บรรยากาศของการดื่มไวน์บนโต๊ะอาหาร ผู้คนแลกเปลี่ยนบทสนทนากัน ไวน์เสริมรสชาติอาหารให้กลมกล่อมอร่อยขึ้น แก้วและขวดไวน์ที่เสริมสภาพแวดล้อมให้ดูดี จนถึงอารมณ์เคลิ้ม ๆ ของการตกแต่งร้านและฤทธิ์แอลกอฮอล์ที่เริ่มปรากฎในตัวผู้ดื่ม 

ทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เขาคุ้นเคยมาตั้งแต่การใช้ชีวิตในฝรั่งเศส เป็นแรงบันดาลใจสู่การขยายร้านเป็นร้านอาหารเต็มตัว

กลุ่มทุนช่วยขยายธุรกิจ

มาถึงตอนนี้ Wine Connection เป็นแบรนด์ที่ติดตลาดไปแล้ว เริ่มประจำอยู่ตามทำเลทองในหลายเมือง ถือเป็นบริษัทนอกตลาดหลักทรัพย์ที่มีพื้นฐานดีและเติบโตอย่างมั่นคง จนดึงดูดนักลงทุนให้มาร่วมลงทุน

จุดเปลี่ยนของ Wine Connection มาเกิดขึ้นอีกครั้งในปี 2014 ที่บริษัท Abraaj Group มาร่วมลงทุนถือหุ้นใหญ่ การได้เงินจากกลุ่มทุนใหญ่เป็นอีกตัวขับเคลื่อนที่ทำให้ Wine Connection ขยับขยายธุรกิจออกไปได้อย่างแท้จริง มิได้จำกัดแค่สาขาในทำเลทองอีกต่อไป แต่กระจายไปทั่วเมืองแบบที่เราเห็นในปัจจุบัน 

เราจะเริ่มเห็น Wine Connection มาพร้อมตัวเลือกไวน์ที่มากขึ้น เมนูอาหารและเครื่องดื่มอื่น ๆ ที่หลากหลายขึ้น การออกโปรโมชั่นและกิจกรรมการตลาดต่าง ๆ ที่เข้มข้นขึ้น และมาพร้อมรูปแบบร้านใหม่ ๆ แตกย่อยออกไปอีก เช่น Tapas Bar, Deli, Bistro

ทุกวันนี้ Wine Connection ขึ้นแท่นเชนร้านไวน์ที่ใหญ่ที่สุดอันดับต้น ๆ ในเมืองไทย มีกว่า 500 แบรนด์ไวน์ให้เลือก

จากวันแรกที่เขาต้องปั่นจักรยานส่งไวน์ด้วยตัวเอง มาวันนี้ Wine Connection มีพนักงานทั้งหมดกว่า 1,600 ชีวิต กว่า 80 สาขาทั้งในไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย และเกาหลีใต้

ที่แน่ ๆ ไวน์เป็นที่แพร่หลายมากขึ้นแล้ว..

 

ภาพ : Wine Connection

 

อ้างอิง:

wineconnection

apacoutlookmag

rocketreach

thepeakmagazine

sochic