17 พ.ย. 2565 | 13:54 น.
- ไวน์ที่ใช้เสิร์ฟผู้นำในการประชุมเอเปค 2022 มีไวน์ กรานมอนเต้ (GranMonte) จากเขาใหญ่
- ผู้อยู่เบื้องหลังไวน์ กรานมอนเต้ (GranMonte) คือ นิกกี้ - วิสุตา โลหิตนาวี ที่เรียกได้ว่ามีเรื่องไวน์อยู่ในสายเลือด
- นิกกี้ - วิสุตา คือทายาทครอบครัวโลหิตนาวี ผู้สร้างตำนานไวน์ไทย ขึ้น ณ หุบเขาอโศก เขาใหญ่
มีความเข้าใจผิดเกี่ยวกับไวน์มากมาย บ้างกล่าวหาว่าไวน์เป็นเครื่องดื่มหรูหรา บ้างลงความเห็นว่า ไวน์เป็นสิ่งฟุ่มเฟือย แต่แท้ที่จริงแล้ว ไวน์เป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต เป็นเครื่องดื่มที่มีพัฒนาการมายาวนานตลอดอารยธรรมของมนุษยชาติ
ไวน์ผลิตจากน้ำองุ่น เป็นผลลัพธ์ที่มาจากการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร สร้างสรรค์ขึ้นเป็นวิถีแห่งวัฒนธรรม ในเวลาเดียวกัน การผลิตไวน์ยังสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจได้อีกด้วย เมื่อทำได้ดีจะขยับไปได้ถึงขั้นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ปรับเป็น ‘แบรนด์’ อันล้ำค่า หากได้รับการส่งเสริมจากรัฐไทยอย่างเหมาะสม ซึ่งมิใช่นโยบายรีดภาษีจนเป็นกำแพงปิดกั้นความสามารถทางการแข่งขันอย่างทุกวันนี้
กว่าจะเป็นไวน์แต่ละขวด ต้องผ่านแรงงานแห่งความรักของผู้ผลิตไวน์ ซึ่งมีกระบวนการและขั้นตอนการผลิตที่ต้องใช้เวลายาวนาน ตั้งแต่งานในไร่ เก็บเกี่ยวหมักบ่ม จนถึงบรรจุขวด ดังนั้น การบุกเบิกอุตสาหกรรมไวน์ในประเทศไทย จึงต้องอาศัยความมุ่งมั่นทุ่มเททั้งกายใจและทรัพยากรที่มีอยู่ ดังกรณีของครอบครัวโลหิตนาวี ผู้สร้างตำนานไวน์ไทย กรานมอนเต้ (GranMonte) ขึ้น ณ หุบเขาอโศก เขาใหญ่
ปี 1999 วิสุทธิ์ โลหะนาวี และภริยา สกุณา ตัดสินใจซื้อที่ดินเพื่อปลูกองุ่นสำหรับผลิตไวน์ ในเวลานั้นลูกสาวสองคนกำลังเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา เมื่อเวลาผ่านไป นิกกี้ - วิสุตา โลหิตนาวี ลูกสาวคนโต ซึ่งมีใจรักในธรรมชาติเป็นทุนเดิม เธอเป็น ‘ลูกไม้หล่นไม่ไกลต้น’ เมื่อค้นพบว่าตัวเองมีความใฝ่ฝันที่จะเป็นผู้ผลิตไวน์
นิกกี้ จบการศึกษาด้าน Oenology หรือ ‘ศาสตร์ว่าด้วยการปลูกองุ่นทำไวน์’ จาก University of Adelaide ประเทศออสเตรเลีย เราอาจจะเรียกเธอว่า Oenologist หรืออาจจะเรียกให้ง่ายกว่านั้นว่า Winemaker หรือคนทำไวน์นั่นเอง
ชื่อของ กรานมอนเต้ กลับมาเป็นที่กล่าวถึง ในห้วงเวลาของการประชุม APEC 2022 Thailand เมื่อไวน์เขาใหญ่ของที่นี่ ถูกเลือกสรรให้ใช้เสิร์ฟแก่ผู้นำระดับโลกจากเศรษฐกิจต่าง ๆ โอกาสดีเช่นนี้ เราจึงนัดหมาย นิกกี้ - วิสุตา โลหิตนาวี มานั่งสนทนาถึงแง่มุมต่าง ๆ ของไวน์ไทย ซึ่งมีเรื่องราวน่าสนใจ และมีศักยภาพที่จะเติบโตต่อไปในอนาคต
The People: ขอเริ่มต้นจากงานในแต่ละวันของคนทำไวน์ เราต้องทำอะไรบ้าง
วิสุตา โลหิตนาวี: สำหรับคนทำไวน์ในปีหนึ่ง ๆ เราจะทำงานไม่ค่อยเหมือนกัน เพราะไวน์เป็นงานที่ seasonal มาก อย่างช่วงเราเก็บเกี่ยวผลองุ่น ปลายเดือนมกราคมจนถึงสิ้นมีนาคม นิกกี้จะตื่นประมาณตี 1 ตี 2 เพื่อมาดูทีมเก็บองุ่น เสร็จแล้วเรานำมาทำไวน์ใน winery เสร็จงานอาจจะประมาณ 2 ทุ่ม ช่วงอื่น ๆ ของปี จะมีการแต่งกิ่ง มีการทำ bottling บรรจุขวด routine ของเราแต่ละช่วง จะไม่เหมือนกันเลยค่ะ
ช่วงหนักที่สุดจะเป็นช่วงแต่งกิ่ง กับช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิต อย่างการแต่งกิ่ง ฟังดูอาจจะง่าย ๆ แต่มีเทคนิคที่ต้องแต่งให้ถูกต้อง เพื่อเราจะได้ผลผลิต แล้วก็มีช่วงเวลาด้วย คือถ้าเราแต่งผิดช่วงเวลาปุ๊บ ต้นองุ่นเราก็จะไม่ให้ดอก การทำงานในไร่ก็มีความสำคัญมาก ต้องใช้ความรู้ประกอบกันหลาย ๆ อย่าง เทคโนโลยีหลาย ๆ อย่าง เพื่อช่วยเราในการ manage ไร่องุ่น
The People: การทำไวน์เป็นงานหนัก คนทำไวน์ต้องมี passion อะไรทำให้เกิดความรักกับงานด้านนี้
วิสุตา โลหิตนาวี: เริ่มจากคุณพ่อคุณแม่เมื่อ 23-24 ปีก่อน คุณพ่อคุณแม่มาซื้อที่(ดิน)ที่เขาใหญ่ เพราะมีความชอบเรื่องไวน์ พอคุณพ่อคุณแม่เริ่มปลูกองุ่น นิกกี้ ก็มีโอกาสโตมากับไร่องุ่นของเรา ช่วยงานในไร่องุ่น พบปะผู้คนในวงการไวน์ ไม่ว่าจะเป็นนักเขียนเกี่ยวกับไวน์ หรือ Winemaker ทำให้มี inspiration รู้ตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วว่า อยากจะเรียนและทำงานทางด้านนี้ คิดว่าเป็นอาชีพที่เจ๋งจริง ๆ ทำไวน์แล้วก็เดินทางไปทั่วโลก
ตอนที่ใกล้จะเรียนจบ สิ่งที่ drive เราจริง ๆ คือมีคนคิดว่า ‘เราทำไม่ได้’ (ดังนั้น) ‘นิกกี้จะต้องทำมันให้ได้’ ถึงจะเป็นผู้หญิงหรือเป็นคนเอเชีย เราก็ทำได้อยู่แล้ว เราสามารถทำทุกอย่างได้ อันนี้ถือเป็น drive อันหนึ่ง
แล้วในประเทศไทย มันก็ยังไม่มีไร่องุ่นเยอะมาก คือเป็นอุตสาหกรรมที่ใหม่จริง ๆ แล้วก็เป็น challenge ถ้านิกกี้ อยู่ทำไวน์ต่อที่ออสเตรเลีย ซึ่งทำทางด้านนี้ มันก็จะเหมือนกับคนอื่น ๆ ทั่วไปที่นั่น จะไม่มีอะไรที่แปลกใหม่น่าตื่นเต้น เพราะฉะนั้น เราต้องกลับมาบ้านเรา เรามาทำอะไรที่ใหม่ ที่ไม่เคยมีใครทำเลยดีกว่า
The People: ทราบว่าได้ไปฝึกงานที่ Chateau Angelus ด้วย ประสบการณ์ที่นั่นสอนอะไรบ้าง
วิสุตา โลหิตนาวี: ตอนที่นิกกี้ เรียนอยู่ที่ออสเตรเลีย ได้ทุนจาก Wolf Blass ทำไวน์ที่นั่น 4 เดือน เป็น vintage winemaker แล้วก็มีโอกาสที่จะอยู่ต่อ แต่เราไม่ได้อยากอยู่ เราอยากกลับมาบ้าน แล้วที่ ชาโต อองเจลุส ถือเป็นที่ ๆ เราไปฝึกงานตอนที่เรียนจบใหม่ ๆ เราก็มี connection ติดต่อไปทางนั้น แล้วคุณพ่อคุณแม่ก็อยากให้ลูกไปฝึกงานที่ที่ดีที่สุด ที่นั่นถือเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก ๆ เพราะว่าเขามีทีม Oenologist ทีม Winemaker ที่เก่งมาก แล้วก็แชร์ทุกอย่างให้กับเรา
The People: เมืองไทยไม่ได้อยู่ในหมุดหมายของเขตผลิตไวน์ที่โลกรับรู้ เราต้องใช้ความพยายามเพิ่มมากแค่ไหน
วิสุตา โลหิตนาวี: จริง ๆ มันเหมือนกับเป็น wine regions ใหม่ ๆ ที่เริ่มขึ้น อย่างออสเตรเลีย เริ่มมานานกว่า 70 กว่าปีก่อน และกว่าเขาจะเป็นที่รู้จักก็ใช้เวลา 20-30 ปี อย่างบ้านเรา ประเทศไทย เราใหม่ ใหม่กว่า new world และใหม่กว่า old world แน่นอน เราเป็น region ที่เรียกว่า new latitude เพราะฉะนั้น เรากำลังเติบโต ในบ้านเราเอง อาจจะไม่มีการสอนเกี่ยวกับการปลูกองุ่นกับการทำไวน์ เราเพิ่งเริ่มต้น จึงมีอะไรให้เราทำอีกเยอะเลย
ถามว่ายากไหม จริง ๆ ก็ไม่ยาก คือมันต้องมาด้วยโปรดักต์ก่อน เราต้องทำไวน์ของเราให้ดีที่สุด ให้คุณภาพเป็นสากลที่สุด แล้วให้เวทีโลกยอมรับ เราเริ่มจากการส่งไวน์ของเราไปประกวด ไวน์ของเราก็จะได้รับการเทสต์แบบ blind testing (ทดสอบไวน์โดยปกปิดฉลาก เป็นการชิมโดยปราศจากอคติ) เมื่อเราได้เหรียญทอง เราได้โล่มา มันก็เป็นการพิสูจน์แล้วว่า ไวน์ GranMonte เป็นไวน์ไทยคุณภาพระดับโลก
The People: ชนะใจกรรมการในหลายเวที พอมีรางวัลไหนที่อยากจะเล่าถึง
วิสุตา โลหิตนาวี: มีเยอะนะคะ อันล่าสุด เป็นรางวัลเหรียญทองจาก The Austrian Wine Challenge ที่กรุงเวียนนา อันนี้เป็นตัว sparkling wine ของเราชื่อ GranMonte Crémant เป็นตัว Non-Vintage ที่เราก็ได้รับเหรียญทองมาจากงานนั้น ซึ่งเป็นการแข่งขันไวน์ที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป
The People: แล้วส่วนตัวมีไวน์ในดวงใจไหม
สุตา โลหิตนาวี: ไวน์ในดวงใจ นอกเหนือจาก GranMonte หรือ (หัวเราะ) จริง ๆ มันเยอะมาก เพราะไวน์หลากหลายสไตล์ หลากหลาย region ต้องบอกว่า ถ้าเป็นองุ่นขาวในดวงใจ ต้องเป็น Chenin Blanc เราปลูก Chenin Blanc ที่นี่ด้วย แล้วก็ Chenin Blanc ที่มาจากลัวร์ (ฝรั่งเศส) นิกกี้ ว่ามันมีเสน่ห์มาก รวมถึงดินของเขาที่มีไลม์สโตน มีหินปูน ที่คล้าย ๆ กันกับที่นี่ (อโศกวัลลีย์ เขาใหญ่) เพราะฉะนั้น นิกกี้ จึงชอบ Chenin Blanc จากลัวร์มาก
นิกกี้ มีโอกาสไปทำงานในประเทศบราซิลหลายครั้ง นิกกี้ ก็จะชอบไวน์ Syrah (ไวน์แดง) จากประเทศบราซิลมาก
People: มีความเข้าใจผิดว่า การดื่มไวน์คือความหรูหรา ฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย เราจะอธิบายคุณค่าของไวน์อย่างไร
วิสุตา โลหิตนาวี: คุณค่าของไวน์ คือไวน์เป็นผลิตภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับพื้นที่ที่ปลูก สภาพดิน สภาพอากาศ หรือคนทำ ซึ่งมีส่วนทำให้ไวน์ตัวนั้น มีลักษณะอย่างนั้น ตั้งแต่พันธุ์องุ่นที่ปลูก องุ่นมีกว่า 1,500 สายพันธุ์ในโลก เยอะมาก หลากหลายมาก ผู้ผลิตก็มีเป็นหมื่น ๆ winemaker แต่ละคน เขาก็จะมีคาแรกเตอร์ของตัวเอง แล้วก็จะสื่อสารออกมาในไวน์ขวดนั้น ๆ
กรรมวิธีทำไวน์ ใช้เวลานานมาก ตั้งแต่องุ่น ตั้งแต่อยู่ในไร่กว่าเราจะตัดแต่งกิ่ง กว่าองุ่นจะสุก กว่าเราจะเก็บผลผลิต ทำการหมักการบ่มลงมาในขวด ใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปี
คนที่ทำไวน์ต้องมีความอดทนมาก เพราะมันไม่ใช่โปรดักต์ที่เราผลิตแล้วเสร็จทันที ไม่ใช่ มันต้องข้ามปี เป็น 1 ปี 2 ปี 3 ปี กว่ามันจะออกมาเป็นไวน์ขวดหนึ่ง
The People: ทำอย่างไรถึงจะทำให้ไวน์ของเราเป็นที่ยอมรับบนเวทีโลก เรามีมาตรฐานในใจอย่างไร หรือมีกลยุทธ์อย่างไรที่จะไปสู่จุดนั้น
วิสุตา โลหิตนาวี: สิ่งที่เราทำมา มัน simple มาก อีกทั้ง budget ด้านการตลาดเราก็มีจำกัด แต่สิ่งที่คุณพ่อตั้งใจทำตั้งแต่แรก คือเราต้องการทำไวน์ไทยให้คนไทยดื่ม
เพราะฉะนั้น ส่วนใหญ่ไวน์ของเราจะขายในประเทศ เราจะ export แค่นิดเดียว มีโจทย์แค่นี้เอง เราต้องการทำไวน์ที่ดีที่สุด เราใช้ความรู้ประสบการณ์ที่เราเก็บเกี่ยวมาพัฒนาไวน์ของเราทุก ๆ ปี พัฒนาไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งพอเราเริ่มส่งไวน์ไปแข่งขันในต่างประเทศ เริ่มได้รับรางวัลกลับมา ก็ถือเป็นตัวที่บอกว่า เรามาถูกทางแล้วค่ะ
The People: เบื้องหลังความสำเร็จมักมีความล้มเหลวอยู่ด้วยเสมอ พอจะมีบทเรียนมาเล่าให้ฟังบ้างไหม
วิสุตา โลหิตนาวี: เป็นไวน์รุ่นหนึ่งที่เราเคยทำเมื่อประมาณปี 2010 มันจะเป็น blend ขององุ่นขาว 2 พันธุ์ เป็นพันธุ์ Chenin Blanc กับ Viognier ซึ่งโดยส่วนตัวครอบครัวเราชอบไวน์รุ่นนี้มาก แต่ทำออกมาขาย ไม่มีคนซื้อเลย เหมือนตอนนั้น ทางผู้บริโภคยังไม่ค่อยเข้าใจเบลนด์แบบนี้ เพราะเราเองก็มีไวน์ที่เป็น Chenin Blanc 100 เปอร์เซ็นต์ และมีไวน์ที่เป็น Viognier 100 เปอร์เซ็นต์ อันนี้มันก็เลยอาจจะอยู่กึ่งกลาง เราเลยต้องเลิกทำตัวนี้ไป
คาแรกเตอร์ Chenin Blanc จะมีพวกแอปเปิ้ลเขียว มีความแพรเหมือนลูกแพร แล้วถ้าปลูกในบ้านเรา จะมีคาแรกเตอร์เหมือนผลไม้เมืองร้อนขึ้นมานิดหนึ่ง ส่วน Viognier จะมีความหอมเหมือนพวกผลแอปริคอต พริกไทยขาว ดอกไม้สีขาว พอเรานำมาเบลนด์กัน แล้วมันก็จะโชว์ทั้งสองอย่างเลย แล้วไวน์รุ่นนั้นจะมีการ aged ในถังโอ๊คนิดหนึ่งด้วย ก็จะมีความหอมของไม้โอ๊ค ของวานิลลาออกมาจากถังโอ๊คด้วย
The People: ฟังดูแล้วคอนเซปต์ดี แต่ตลาดไม่เข้าใจ ?
วิสุตา โลหิตนาวี: ใช่ค่ะ เราก็เลยต้อง discontinue ไป
The People: เก็บไว้ดื่มเอง?
วิสุตา โลหิตนาวี: มี ๆ เก็บไว้ดื่มเองค่ะ มีเหลือนิดหน่อย (หัวเราะ)
The People: ปัจจุบันผลิตไวน์ได้ปีละกี่ขวด สัดส่วนการบริโภคในประเทศกับการส่งออกเป็นอย่างไร
วิสุตา โลหิตนาวี: ปัจจุบัน เราผลิตอยู่ 120,000 ขวดต่อปี แล้วเราก็มีแพลนที่เพิ่มการผลิตนิดหน่อย โดยที่ 5-6 ปีก่อน เราไปปลูกองุ่นเพิ่มในเขตเขาใหญ่ ทำการขยาย winery ของเราเพื่อรองรับองุ่นที่เราจะได้มา โดยที่เราตั้งเป้า (aim) ว่าในอีก 4 ปีข้างหน้า เราจะผลิตถึง 300,000 ขวด ก็ไม่มากจนเกินไปค่ะ ยังเป็นไซซ์ที่กำลังดี เราขายในประเทศ 80 เปอร์เซ็นต์ เพราะความตั้งใจของเรา คือขายในประเทศ แล้วก็หากมีผู้ใดสนใจในประเทศอื่น ๆ ก็ส่งออกค่ะ
The People: ช่วยขยายความถึงไวน์ไทยกับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ที่ทำให้เราประกาศให้โลกรับรู้
วิสุตา โลหิตนาวี: เราขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไวน์เขาใหญ่ เมื่อประมาณ 5 ปีก่อน โดยทำร่วมกับสมาคมผู้ประกอบการไวน์ไทย แล้วได้จดไวน์เขาใหญ่เป็น GI (Geographical Indications – สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์)
อันนี้เป็นตัวการันตีที่มาของไวน์ของเราว่าปลูกองุ่นที่เขาใหญ่ 100 เปอร์เซ็นต์ ผลิต-บ่ม-บรรจุขวดที่นี่เท่านั้น ไม่มีใครจะก๊อปเราได้ ไม่มีใครแอบอ้างว่าไวน์เขาเป็นไวน์เขาใหญ่ ถ้าไม่ได้ปลูกและไม่ได้ผลิตในที่นี้
The People: สภาพดินฟ้าอากาศของเขาใหญ่เป็นอย่างไร
วิสุตา โลหิตนาวี: จริง ๆ ดินฟ้าอากาศของเขาใหญ่เหมาะกับการปลูกองุ่นมาก เวลาพูดว่าเมืองไทย เรามีองุ่นด้วยนะ ทุกคนจะคิดแต่ภาพทะเล ต้นมะพร้าว คิดว่า “เอ๊ะ ! ปลูกองุ่นในประเทศไทยได้เหรอ” แต่จริง ๆ ปลูกได้ แค่ไม่ใช่ว่าทุกที่ปลูกได้
เราต้องเลือกพื้นที่ที่ปลูกที่เหมาะสมอย่างที่ดินของเรา มีไลม์สโตนเยอะ แล้วเป็นดินเหนียวสีแดง เป็นสิ่งที่ influence ไวน์ของเรา ทำให้พวกไวน์ขาวของเรามีแอซิดที่ดี แล้วพวกไวน์แดงจะมีบอดี้มากค่ะ
The People: การประชุมงาน APEC 2022 ที่เกิดขึ้น เมื่อต้องเรียกหาไวน์ไทย GranMonte จึงถูกใช้เสิร์ฟแก่บุคคลสำคัญระดับโลก โอกาสสำคัญนี้เรามีอะไรภูมิใจนำเสนอ
วิสุตา โลหิตนาวี: ไวน์ของเราที่ใช้กับงาน APEC มีเยอะมาก แทบทุกรุ่นของเราเลย 20 กว่าตัวนะคะ รุ่นหลัก ๆ ที่นิกกี้ อยากจะไฮไลต์ จะมีตัว Sparkling wine ของเรา GranMonte Crémant ที่เป็น Non-Vintage ตัวอื่น ๆ จะมี Asoke เป็นไวน์ตัวไอคอนของเรา เป็น Vintage 2020
Asoke เป็นองุ่นพันธุ์ Cabernet Sauvignon 60 เปอร์เซ็นต์ และ Syrah 40 เปอร์เซ็นต์
แล้วเรามี The Orient Viognier ที่เป็น Viognier ตัว Super premium ของเรา Vintage 2020 ซึ่ง aromatic หอมมาก มี The Orient Syrah อันนี้จะเป็น Syrah ตัวคลาสสิกของเราที่ทุกคนรู้จัก แล้วจะมี Sakuna Rose ด้วยค่ะ
The People: Sakuna ชื่อนี้คุ้น ๆ ?
วิสุตา โลหิตนาวี: สกุณา เป็นชื่อคุณแม่ค่ะ (หัวเราะ) เป็นไวน์ตัวแรกที่ผลิตออกจาก winery เมื่อปี 2009 ส่วนตัวนิกกี้ คิดว่า Rose เป็นไวน์ที่ดื่มง่าย แล้วดื่มได้ทุกโอกาส ทำจากองุ่นแดง แต่ไม่หมักกับเปลือก ก็จะมีความฟรุตตี้ ดื่มง่าย ดื่ม Rose ไปกับอาหารไทย และเหมาะจะ enjoy กับอากาศบ้านเรา
นอกจากนี้ ในงานจะมีไวน์หวาน Bussaba เป็นตัวตบท้าย ทำจากองุ่น 4 พันธุ์ มี Chenin Blanc, Verdelho, Semillon และ Muscat
The People: ลองจินตนาการอีกสัก 5 ปี 10 ปีข้างหน้า คุณอยากเห็นวงการไวน์บ้านเราเป็นอย่างไร
วิสุตา โลหิตนาวี: ในประเทศไทย เรามีคนที่อยากจะปลูกองุ่นทำไวน์เยอะนะคะ แต่จะเริ่มท้อใจพอได้ยินเรื่องภาษี (หัวเราะ) แล้วก็ข้อจำกัดในการผลิตทั้งหลาย เราอยากสนับสนุน เราต้องการเห็นผู้ผลิตไวน์ในประเทศไทยมากขึ้น จะได้เติบโตไปด้วยกัน สร้างชื่อเสียงให้กับไวน์ไทยด้วยกัน ตอนนี้ก็มีไร่องุ่นที่เริ่มสอบถาม มาขอคำปรึกษาจากเรา มีเรื่อย ๆ หวังว่าในช่วง 5 ปี 10 ปีนี้ จะมีไร่องุ่นเพิ่มมากขึ้น
ไวน์ที่ทำในประเทศไทยมาจากองุ่นที่ปลูกในประเทศไทย ควรจะเก็บภาษีอัตราเดียวกันกับไวน์ที่ทำจากผลไม้อื่น ๆ ในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ fair ที่สุด เพราะไวน์ที่ผลิตจากผลไม้อื่นในประเทศไทย เสียภาษีน้อยกว่าเราประมาณเกือบ 3 เท่า อยากจะให้ทางรัฐบาลดูแลผู้ปลูกองุ่นและผลิตไวน์ด้วย
อันดับหนึ่งเลย ภาษีต้องลดลง ถ้าภาษีลดลง แล้วมีการสนับสนุนจากภาครัฐ อย่างเวลาเรานำเข้าเครื่องจักรที่มาใช้ผลิตไวน์ ถ้ามีการลดภาษี ณ จุดนั้น จะทำให้ต้นทุนการผลิตไม่สูงจนเกินไป ถ้า 2 ข้อนี้ได้แล้ว คนไทยได้ดื่มไวน์ในประเทศไทย ราคาจะไม่เกิน 400 บาทค่ะ
The People: ทิศทางของ GranMonte ในอนาคต
วิสุตา โลหิตนาวี: ตอนนี้เรากำลังโฟกัสกับการขยาย winery ของเรา เพิ่มผลผลิตของเรา เพิ่มกำลังการผลิตเป็น 3 แสนขวดต่อปีในอีกประมาณ 4 ปีข้างหน้า เราอยากพัฒนาเรื่อง hospitality เพราะนอกจากการผลิตไวน์แล้ว เรายังทำการท่องเที่ยวเชิงเกษตร เรามีร้านอาหาร มีช้อป มีที่พัก เราอยากจะพัฒนาจุดนี้ด้วย
แล้วอีกอย่างหนึ่งก็คือ เรามองเห็นตัวเรา ทั้งนิกกี้ และ GranMonte เป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านการปลูกองุ่นในเขตร้อน เพราะนั่นเป็นสิ่งที่เราทำมา เราบุกเบิกมา เรายินดีให้คำปรึกษา และเป็นศูนย์รวมความรู้ทางด้านนี้ค่ะ
.
อัปเดต 3 มิถุนายน 2566 (กองบรรณาธิการ) :
GranMonte เป็นธุรกิจของสมาชิกครอบครัว ‘โลหิตนาวี’ ที่เริ่มทำไวน์ไทย 100% เมื่อเกือบ 25 ปีที่ผ่านมา โดยปัจจุบันปลูกองุ่นบนพื้นที่ 100 ไร่ ที่เขาใหญ่ และมีโรงผลิตไวน์ภายในไร่ ซึ่งการผลิตจะใช้องุ่นที่ปลูกเองเท่านั้น
.
ตอนนี้ GranMonte ผลิตได้ประมาณ 1 แสนขวดต่อปี และได้ขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ไทย (Geographical Indication) นอกจากนี้ได้รับรางวัลจากการแข่งขันไวน์นานาชาติที่จัดขึ้นในเอเชียและยุโรปมาตลอด รวมถึงได้เสิร์ฟในงานเลี้ยงของการประชุม APEC ปี 2022