10 ก.พ. 2566 | 16:39 น.
- FamilyMart ร้านสะดวกซื้อสัญชาติญี่ปุ่น เกิดจากไอเดียของ Seiyu Group ที่อยากลองร้านที่เล็กลง
- FamilyMart ในญี่ปุ่นเปลี่ยนมือในปี 2020 ปัจจุบันเป็นของ
Itochu ถือหุ้น 100%- เซนทรัล รีเทล เจ้าของ FamilyMart ในประเทศไทย ลดบทบาทเพราะพฤติกรรมคนชอบเข้าร้านที่ขนาดใหญ่ขึ้น และสินค้าครบครัน
กระแสเกี่ยวกับ ‘FamilyMart’ (แฟมิลี่มาร์ท) ถูกจับตาอีกครั้งสำหรับคนไทย หลังจากที่ ‘ญนน์ โภคทรัพย์’ CEO ของบริษัท เซ็นทรัล รีเทล จำกัด (มหาชน) หรือ CRC พูดในงาน CEO FORUM 2023 เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ได้วางแผนปรับทิศทางธุรกิจโดยจะลดบทบาทของ FamilyMart เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน และจะเพิ่มสัดส่วนการขยายสาขาที่ Tops (ท็อปส์) แทนเพราะมีสินค้าที่ครบกว่า
31 ปีของ FamilyMart ในตลาดไทย
Familymart เข้ามาดำเนินการในประเทศไทยในปี 2535 (ตามหลังคู่แข่งอย่างเซเว่น-อีเลฟเว่นเพียง 3 ปี) ซึ่งในตอนนั้น FamilyMart เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ได้รับความนิยม และคนไทยให้การต้อนรับอย่างดีตั้งแต่ครั้งแรก ๆ โดยในปี 2535 บริษัท เจเปนแฟมิลี่มาร์ท เป็นผู้ที่เข้ามาบุกเบิกตลาดในไทย
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2563 FamilyMart ได้ขายหุ้นธุรกิจในไทยทั้งหมดให้กับกลุ่มเซ็นทรัล จึงทำให้กลุ่มเซ็นทรัลมีหุ้นของ FamilyMart ในไทยทั้งหมด 100% และหลังจากนั้นก็ได้ก่อตั้งบริษัท เซ็นทรัลแฟมิลี่มาร์ท จำกัด ขึ้นมาเพื่อตั้งให้เป็นบริษัทที่บริหารธุรกิจนี้โดยเฉพาะ
แต่หากเทียบจำนวนสาขาระหว่าง FamilyMart ในไทย (หรือแม้แต่ในญี่ปุ่น) กับคู่แข่งเจ้าใหญ่ยังถือว่าจำนวนสาขาห่างไกลกันมากพอสมควร ซึ่งข้อมูลในปี 2562 จาก FamilyMart Japan ระบุว่า ไทยมีสาขา 1,035 แห่ง ขณะที่ญี่ปุ่นมี 16,430 แห่ง
ทั้งนี้ ญนน์ โภคทรัพย์ ได้ให้เหตุผลว่า “ไซส์โมเดลของ FamilyMart 150 ตร.ม. อาจจะไม่ตอบโจทย์อีกต่อไป เพราะขนาดพื้นที่เล็ก อาจจะตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้ไม่ครบถ้วน”
ถึงแม้ว่าในตลาดไทยสำหรับ FamilyMart อาจจะถูกลดบทบาทไปบ้างในอนาคต แต่ในตลาดอื่นอย่างไต้หวันและจีน ก็ยังเป็นแบรนด์ร้านสะดวกซื้อที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน ขณะที่ในญี่ปุ่นเองซึ่งเป็นโมเดลออริจินัลของ FamilyMart ก็ยังติดเป็นแบรนด์อันดับต้น ๆ ที่อยู่ในใจผู้ซื้อมาตลอด
ย้อนเส้นทางเริ่มต้นของ FamilyMart
จุดเริ่มต้นของ FamilyMart ตั้งแต่วันแรกก็คือ เป็นอเดียมาจาก CEO บริษัท Seiyu Stores (ปัจจุบันคือ Seiyu Co., Ltd.) ซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ในญี่ปุ่นที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับซูเปอร์มาร์เก็ต, ศูนย์การค้า และห้างสรรพสินค้า อย่างห้างฯ Seibu Department Stores ที่เป็นหนึ่งในผลงานชิ้นโบว์แดงของบริษัท และเป็นห้างฯ ใหญ่ที่มีกลุ่มลูกค้าหลากหลาย รวมทั้งเป็นจุดมุ่งหมายของนักท่องเที่ยวต่างชาติด้วย
ในปี 2521 Seiyu Group มีไอเดียอยากทำร้านค้าที่ใช้พื้นที่ไม่มาก เล็กกว่าซูเปอร์มาร์เก็ต จึงได้ทดลองตลาดด้วยการเปิดร้านสะดวกซื้อขนาดเล็กสาขาแรกในเมืองซายามะ จังหวัดไซตามะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อมั่นใจแล้วว่าโมเดลนี้สามารถต่อยอดได้จึงปรับโมเดลให้เป็นระบบเฟรนไชน์
ทั้งนี้ ในปี 2524 บริษัท Jonas Co., Ltd. (ซึ่งยังไม่ได้เปิดตัวบริษัทอย่างเป็นทางการในขณะนั้น) เข้าซื้อกิจการและทรัพย์สินจาก Seiyu Stores รวมทั้ง FamilyMart ด้วย หลังจากนั้นก็เริ่มตัดสินใจเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น FamilyMart Co., Ltd.
ในปี 2530 บริษัทได้เปิดร้านสาขาในจังหวัดโอกินาวะ (Okinawa) และในปีเดียวกัน ก็ได้เข้าจดทะเบียนหุ้นในส่วนที่สองในตลาดหลักทรัพย์โตเกียว (Tokyo Stock Exchange)
ขณะที่ในปี 2531 เป็นปีแรกที่ FamilyMart ตัดสินใจขยายสาขาในตลาดต่างประเทศ โดย ‘ไต้หวัน’ คือที่แรกที่บริษัทตัดสินใจปักหมุดเพื่อเปิดตลาดนอกญี่ปุ่น เหตุผลก็เพราะว่าคนไต้หวันในช่วงเวลานั้นค่อนข้างคุ้นชินและเปิดรับวัฒนธรรมของญี่ปุ่น ไม่ว่าจะเป็นขนม เครื่องดื่ม และอาหารญี่ปุ่น
กิจการของ FamilyMart เติบโตและขยายต่อไปอย่างน่าสนใจ จนในปี 2547 ที่บุกตลาดจีนครั้งแรก โดยปักหมุดไปที่ ‘เซี่ยงไฮ้’ หลังจากนั้นก็ตามด้วย กวางโจว, ซูโจว และขยายต่อไปจนเกือบครบเมืองหลัก ๆ ของจีน โดยใช้แวลาเพียงไม่กี่ปีเท่านั้น
ส่วนตลาดไทย FamilyMart เข้ามาตั้งแต่ปี 2535 ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาใกล้ ๆ กันกับประเทศอื่นในเอเชีย เช่น เกาหลีใต้, เวียดนาม, อินโดนีเซีย แต่มีนักวิเคราะห์พูดถึงตลาดในอาเซียนว่า FamilyMart ค่อนข้างเสียเปรียบคู่แข่งอย่าง เซเว่น-อีเลฟเว่น เพราะบุกตลาดช้ากว่ามาก ขณะเดียวกันร้านสะดวกซื้อของท้องถิ่นก็ค่อนข้างแข็งแรง ทำให้หลายประเทศ เช่น ฟิลิปปินส์ และ มาเลเซีย ยังต้องพยายามทำการตลาดอีกมากถึงจะสูสีกับคู่แข่งรายอื่น
FamilyMart ภายใต้ Itochu
ปัจจุบัน FamilyMart ของญี่ปุ่นเปลี่ยนมือเจ้าของแบบ 100% โดยเข้ามาอยู่ในบริษัทในเครือของ Itochu บริษัทที่ทำธุรกิจหลากหลาย เช่น ธุรกิจการบิน, อิเล็กทรอนิกส์, เคมีภัณฑ์, สินค้าอุปโภคบริโภค, ธุรกิจการเงิน, อสังหาริมทรัพย์, ประกันภัย, โลจิสตอกส์, ธุรกิจอาหาร, สิ่งทอ, ยานยนต์ เป็นต้น
ทั้งนี้ ทาคาชิ ซาวาดะ (Takashi Sawada) ประธานของ FamilyMart ได้พูดว่า “เราจำเป็นต้องปรับปรุงหลายอย่างใน FamilyMart เพื่อไม่ให้ตามหลังคู่แข่ง หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มานาน”
บทความของ Nikkei Asia ได้วิเคราะห์ว่า เป็นไปได้อย่างมากที่ FamilyMart ต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อหาจุดเด่นให้กับแบรนด์ เพราะอย่างคู่แข่ง 2 แบรนด์ เซเว่น-อีเลฟเว่นที่มีจุดเด่นเรื่องความหลากหลายและของใช้ส่วนตัวที่มีให้เลือกมาก ขณะที่ Lawson ก็มีจุดเด่นเรื่องของหวาน
ตอนนี้สิ่งที่เห็นจาก FamilyMart และเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนคือ แอปพลิเคชั่น cashless ที่ถือว่าเป็นโปรเจ็กต์ที่ประสบความสำเร็จพอสมควรในหลายประเทศ ทั้งนี้ เชื่อกันว่า Itochu กับ FamilyMart ต่อจากนี้น่าจะเน้นเรื่องธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์และการวิเคราะห์ข้อมูล เพื่อนำข้อมูลมาเสริมความแกร่งให้กับธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม ในตลาดไทยแม้ว่า FamilyMart อาจถูกลดบทบาทลง แต่อย่างน้อยเราก็ยังมีร้านสะดวกซื้อที่เป็นของญี่ปุ่นแท้ ๆ ในไทย ขณะที่คนไทยกลุ่มใหญ่ก็ยังมีความชื่นชอบในความเป็นญี่ปุ่น อาหารญี่ปุ่น และขนมต่าง ๆ ดังนั้น โอกาสในตลาดไทยสำหรับ FamilyMart ก็น่าจะยังอยู่ต่อไปอีกนาน
ภาพ: FamilyMart
อ้างอิง: