18 ก.พ. 2566 | 22:46 น.
- แม้วิวัฒนาการของ ‘กระดาษทิชชู่’ จะมีข้อมูลที่ค่อนข้างกระจัดกระจาย แต่ส่วนใหญ่บอกว่ามาจากสมัยจีนโบราณ แต่ผลิตมาเพื่อใช้ในราชสำนักเท่านั้น
- บิดาแห่งกระดาษทิชชู่ที่ทั่วโลกยอมรับก็คือ ‘โจเซฟ กาเย็ตตี’ แม้ล้มเหลว แต่พี่น้องตระกูล Scott ได้นำไอเดียมาปัดฝุ่น และเปลี่ยนเป็นกระดาษแบบม้วนครั้งแรก
ทุกครั้งที่เข้าห้องน้ำหลายคนอาจนึกสงสัยว่า วิวัฒนาการของ ‘กระดาษทิชชู่’ มาจากไหนกัน ใครกันที่ทำให้เรามีสิ่งนี้ใช้จนทุกวันนี้ ซึ่งช่วงที่โควิด-19 ระบาดหนัก ๆ มีบทความหนึ่งจาก BBC History ได้เปิดเผยเรื่องราวเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของกระดาษชำระ
ประโยคหนึ่งระบุว่า กระดาษชำระหรือทิชชชู่ เคยใช้วัสดุจากธรรมชาติมาก่อน เช่น ใบไม้ หญ้า ไปจนถึง ตะไคร่น้ำ หรืออย่างในบางประเทศ เช่น อินเดีย ในสมัยนั้นเคยใช้มือซ้ายในการชำระสิ่งสกปรกแทน เป็นต้น
ยิ่งเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของทิชชู่มากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้อยากขอบคุณผู้บุกเบิกกระดาษชำระ ที่ทำให้มีสิ่งประดิษฐ์นี้เป็นคนแรก ซึ่งตามข้อมูลมากมายระบุไว้ว่า จุดเริ่มต้นของการใช้ทิชชู่จริง ๆ เกิดขึ้นในสมัยจีนโบราณ แต่ในสมัยนั้นเป็นกระดาษทิชชู่ที่ถูกผลิตขึ้นไว้ใช้ในราชสำนัก ไม่ใช่เพื่อขายให้กับคนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ชายที่เป็นผู้คิดค้นกระดาษทิชชู่คนแรกของโลกต้องยกเครดิตให้กับ ‘โจเซฟ กาเย็ตตี’ (Joseph Gayetty) เขาได้สร้างกระดาษทิชชู่และลองวางขายเมื่อปี 1857 แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะคนยังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องใช้เงินซื้อกระดาษเพื่อมาเช็ดทำความสะอาด ทั้ง ๆ ที่ในยุคนั้นผู้คนก็ใช้หนังสือพิมพ์หรือกระดาษรีไซเคิลแบบฟรี ๆ ไม่ต้องซื้อ
พี่น้องตระกูล ‘Scott’ กอบกู้กระดาษทิชชู่อีกครั้ง
ในปี 1879 น้องตระกูล Scott ซึ่งก็คือ Irvin และ Clarence ได้ฟื้นแนวคิดของ โจเซฟ กาเย็ตตี อีกครั้ง โดยก่อตั้งบริษัท Scott Paper ขึ้นมาในเมืองฟิลาเดลเฟียในรัฐเพนซิลเวเนีย สหรัฐอเมริกา แต่เปลี่ยนจากกระดาษทิชชู่แผ่นใหญ่ที่คนไม่นิยม มาเป็นกระดาษทิชชู่ม้วนเล็กและพกพาง่ายขึ้น โดยพี่น้อง Scott ได้พัฒนากระดาษแบบม้วนที่มีรอยปรุเพื่อให้ฉีกง่ายกว่าเดิม
แต่รู้หรือไม่ว่า ก่อนที่ทั้งสองคนจะตกผลึกความคิดกับกระดาษทิชชู่แบบม้วน พวกเขาเคยทดลองผลิตกระดาษเช็ดมือมาก่อนในปี 1907 (แบบไม่มีรอยปรุ) แต่ไม่ได้รับความนิยมเท่าที่ควร จนพัฒนามาเป็นกระดาษม้วนพร้อมรอยปรุ
ในปี 1915 บริษัท Scott Paper ได้เปิดตัวสินค้าสู่สาธารณะอย่างเป็นทางการ กระแสตอบรับดีมาก เพราะในยุคนั้นในสหรัฐฯ เริ่มมีการใช้ชักโครกภายในอาคาร และมองหากระดาษทิชชู่มากขึ้นด้วย จนมีอยู่ช่วงหนึ่งที่คนอเมริกันนิยมใช้กระดาษทิชชู่มาตกแต่งห้องน้ำ และคนก็เริ่มชอบการใช้กระดาษทิชชู่เมื่อเข้าห้องน้ำมากขึ้น ทำให้เริ่มมีคู่แข่งแบรนด์อื่น ๆ เข้ามาตีตลาดด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ ความต้องการใช้กระดาษทิชชู่มีมากขึ้น ทำให้ Scott ตัดสินใจจ้างวิศวกรที่เชี่ยวชาญด้านนวัตกรรมโดยเฉพาะ เพื่อยกระดับเทคโนโลยีการผลิตกระดาษทิชชู่ ทำให้มีการเปิดตัวเครื่องจักรใหม่ในโรงงานที่เมืองเชสเตอร์ ช่วงต้นปี 1920 และ Scott ได้กลายเป็นผู้ผลิตกระดาษทิชชู่รายใหญ่ และมีเทคโนโลยีขั้นสูงที่สุดในโลก ณ ตอนนั้น
มีเหตุการณ์หนึ่งที่คนพูดถึง Scott มากเช่นเดียวกัน ก็คือ ในช่วงปี 1930 ที่เกิดวิกฤตเศรษกิจครั้งใหญ่ ตลาดหุ้นตกต่ำ Scott เป็นเพียงไม่กี่บริษัทใหญ่ที่เดินกำลังการผลิตอย่างเต็มที่ ขายเท่าเดิม และไม่มีการประกาศเลิกจ้างพนักงานแม้แต่คนเดียว จึงทำให้ยอดขายของบริษัทในยุคนั้นสูงเป็นประวัติการณ์
แม้แต่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่หลาย ๆ โรงงานค่อนข้างประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบ อย่าง Scott เองก็ขาดแคลนกระดาษที่จะนำมาทำกระดาษทิชชู่ ซึ่งยุคนั้นถือว่าเป็นยุคที่ Scott ตัดสินใจเข้าซื้อกิจการในหลายแห่ง เพื่อแก้ปัญหานี้ เช่น โรงงานกระดาษ, โรงสี ฯลฯ
จนในปี 1950 เรียกว่าเป็นปีแห่งการครองตลาดของ Scott ทั้งกระดาษทิชชู่ และกระดาษเช็ดมือ/เช็ดปาก เกิดการแข่งขันที่ค่อนข้างต่ำ (เพราะหลายแบรนด์ก็ล้มหายตายจากไปในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ) ยกเว้น Kleenex แบรนด์กระดาษทิชชู่จากบริษัท Kimberly-Clark เป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค
ในช่วงปลายปี 1950 ยังเป็นช่วงที่สินค้าทำกำไรเป็นกอบเป็นกำให้กับ Scott ทำให้บริษัทเปิดตัวผลิตภัณฑ์ใหม่เพียง 2 ประเภทเท่านั้น ก็คือ พลาสติกห่ออาหาร และผ้าอนามัย แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร
อย่างไรก็ตาม ในปี 1970 คู่แข่งในตลาดกระดาษทิชชู่เพิ่มเข้ามาใหม่อีก 11 ราย และกระดาษเช็ดหน้าอีก 7 ราย ทำให้ Scott ตกที่นั่งลำบากเพราะถือว่าในตอนนั้น Scott ใช้กลยุทธ์ทางธุรกิจค่อนข้างช้า และไม่มีผลิตภัณฑ์ใหม่ปล่อยเข้าสู่ตลาด
สุดท้ายรายได้ของ Scott ลดลงถึง 18% ในช่วงปลายปี 1970 ขณะเดียวกัน ผลตอบแทนต่อผู้ถือหุ้นก็ลดลงเช่นเดียวกัน เหลือเพียง 9.5% (เทียบกับก่อนหน้านี้ที่อยู่เลข 2 หลัก)
และในช่วงต้นปี 1980 ส่วนแบ่งการตลาดของ Scott ลดลงครั้งแรกที่ 25% (จากเดิมที่ประมาณ 50%) บ่งบอกว่า การแข่งขันในตอนนั้นของ Scott ค่อนข้างลำบาก
จนในปี 1995 บริษัท Kimberly-Clark ได้เข้ามาซื้อกิจการของ Scott Paper ด้วยมูลค่าเกือบ 2,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ทำให้กระดาษทิชชู่ของ Scott สามารถสู้กับคู่แข่งในตลาดที่มากขึ้นได้ อีกทั้งยังมีนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่นำมาช่วยให้กระดาษนุ่มขึ้น ยาวขึ้น หรือ ฉีกขาดยากขึ้น เป็นต้น
ปัจจุบัน Scott ยังคงเป็นหนึ่งในสินค้าที่ครองใจผู้บริโภคในทั่วโลก ตลอดเส้นทางการเติบโตจนเปลี่ยนมือผู้บริหาร 144 ปี ทำให้เรียนรู้ได้ว่า ความพยายามเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ และการไม่หยุดพัฒนาก็สำคัญเช่นกัน เพราะเมื่อใดที่คุณหยุดเดินหรือย่ำอยู่กับที่ คู่แข่งหน้าใหม่ ๆ ก็พร้อมเดินแซงคุณได้ทุกเมื่อ
ภาพ: Scott Brand
อ้างอิง: