'ทิม ฮอร์ตันส์' กาแฟจากนักฮอกกี้ที่เข้ามาเปลี่ยนการกิน-ดื่มชาวแคนาดา สู่วันโดนฟ้องร้อง

'ทิม ฮอร์ตันส์' กาแฟจากนักฮอกกี้ที่เข้ามาเปลี่ยนการกิน-ดื่มชาวแคนาดา สู่วันโดนฟ้องร้อง

‘ทิม ฮอร์ตันส์’ (Tim Hortons) ร้านกาแฟสัญชาติแคนาดาที่ถือกำเนิดมาจากนักกีฬาฮอกกี้ในปี ค.ศ. 1964 และกลายเป็นร้านกาแฟแห่งแรก ๆ ที่เข้ามาเปลี่ยนวัฒนธรรมการกินของชาวแคนาดา

  • ‘ทิม ฮอร์ตันส์’ (Tim Hortons) คือร้านกาแฟที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 1964 และได้ตั้งชื่อตามผู้ร่วมก่อตั้ง ‘ทิม ฮอร์ตัน’ (Tim Horton) ซึ่งเป็นนักกีฬาฮอกกี้ดาวรุ่งที่น่าจับตามอง
  • ทิม ฮอร์ตันส์ มี 957 สาขาทั่วประเทศแคนาดา และมีจำนวนสาขามากกว่า 4,850 สาขาทั่วโลก ยอดขายกว่า 2 พันล้านเเก้วต่อปี

  • ปัจจุบันร้านกาแฟแห่งนี้ กำลังตกอยู่ในคดีความ หลังจากหญิงชาวแคนาดาวัย 73 ปี ยื่นฟ้องข้อหาเสิร์ฟชาที่ร้อนจนเกินไป ทำให้เธอได้รับบาดเจ็บหลังจากโดนลวกที่ท้องและขา

การตื่นมาจิบกาแฟยามเช้าคงเป็นอีกหนึ่งเรื่องที่อภิรมย์สำหรับหนุ่มสาววัยทำงาน แต่สำหรับ ‘แจ็คกี้ แลนซิ่ง’ (Jackie Lansing) หญิงชาวแคนาดาวัย 73 ปี กลับไม่คิดเช่นนั้น เพราะกาแฟจากร้านโปรดอย่าง ‘ทิม ฮอร์ตันส์’ (Tim Hortons) กลับทำเธอเสียโฉมจนได้รับบาดแผลติดตัวไปตลอดชีวิต

ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 2022 หลังจากเธอสั่งเครื่องดื่มผ่านช่องไดร์ฟทรู ถ้วยกาแฟที่เธอได้รับมานั้นมีรูปร่างบิดเบี้ยว เพราะความร้อนที่มากเกินกว่าปกติ แถมน้ำในแก้วยังกระเฉาะออกมาจนเธอโดนลวกเข้าที่ท้องและขาเข้าเต็ม ๆ

ความปวดแสบปวดร้อนแล่นเข้ามาที่โสตประสาทเธอแทบทันที แน่นอนว่าคุณยายแลนซิ่ง ตัดสินใจยื่นฟ้องร้านกาแฟชื่อดังจากแคนาดาเป็นจำนวนเงินไม่ต่ำกว่า 5 แสนดอลลาร์แคนาดา (ราว 12.5 ล้านบาท) เหตุการณ์นี้คล้ายคลึงกับกรณีของ ‘สเตลลาร์ ลีเบค’ (Stella Liebeck) หญิงชาวอเมริกัน วัย 79 ปีที่ยื่นฟ้องแมคโดนัลด์ เพราะเสิร์ฟกาแฟที่มีอุณหภูมิสูงกว่าปกติ จนทำให้เธอได้รับบาดแผลไฟไหม้ระดับ 3 หลังจากโดนกาแฟที่ตัวเองสั่งลวกเข้าที่ตัก ซึ่งทีมทนายของเธอก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า กาแฟของแมคโดนัลด์มีอุณหภูมิสูงกว่าที่ควร ลีแบค จึงกลายเป็นผู้ชนะและได้รับเงินชดเชย 2.7 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 92 ล้านบาท)

หากตัดเรื่องคดีความออกไป ‘ทิม ฮอร์ตันส์’ เองก็เป็นอีกหนึ่งเชนกาแฟเก่าแก่ที่อยู่คู่บ้านคู่เมืองประเทศแคนาดามาตั้งแต่ปี ค.ศ. 1964 ปัจจุบันขยายสาขาไปทั่วประเทศ และยังมาบุกเมืองไทยในปี ค.ศ. 2020 อีกด้วย เรียกได้ว่าหากไม่เจ๋งจริง กาแฟจากแดนไกลคงไม่สามารถมาตีตลาดเมืองไทยได้เป็นแน่

และนี่คือเรื่องราวของ ‘ทิม ฮอร์ตันส์’ ร้านกาแฟที่เป็นที่ชื่นชอบของชาวแคนาดา จนกลายเป็นหนึ่งในสัญลักษณ์ของประเทศ

 

กาแฟที่เกิดจากนักฮอกกี้

ฤดูใบไม้ผลิปี ค.ศ. 1964 ‘ทิม ฮอร์ตัน’ (Tim Horton) นักกีฬาฮอกกี้ชาวแคนาดา จากทีมโตรอนโต เมเปิลลีฟส์ ตัดสินใจร่วมลงทุนกับ ‘จิม ชาเรด’ (Jim Charade) นักธุรกิจใจกล้าที่ลาออกจากงาน เพื่อมาเปิดร้านโดนัทชื่อว่า ทิม ฮอร์ตันส์ ตามชื่อของทิม (ร้านแรกใช้ชื่อว่า Tim Horton Do-Nut ก่อนจะตัดคำลงท้ายทิ้งเหลือแต่ชื่อของทิม) พวกเขาเลือกทำเลร้านแรกให้อยู่ในตัวเมืองแฮมิลตัน รัฐออนแทรีโอ และร้านนี้ยังคงเปิดให้บริการมาจนถึงปัจจุบัน

ช่วงแรกเมนูยอดนิยมจะเป็นแฮมเบอร์เกอร์ ไก่ทอด และไอศกรีม แต่ ชาเรด กลัวว่าการขายอาหารยอดนิยมอย่างแฮมเบอร์เกอร์ จะทำให้ธุรกิจเจ๊งไม่เป็นท่า เพราะคู่แข่งทางการตลาดที่เยอะจนล้น พวกเขาจึงเปลี่ยนกลยุทธ์การขายมาเน้นที่กาแฟและโดนัทแทน

ในปี ค.ศ. 1966 ชาเรด ถอนตัวออกจากผู้ถือหุ้น ทิม จึงหันไปร่วมมือกับนักลงทุนคนใหม่อย่าง ‘รอน จอยซ์’ (Ron Joyce) อดีตนายตำรวจแห่งเมืองแฮมิลตัน ที่ดูแลร้านแดรี่ ควีน อยู่ข้าง ๆ ร้านโดนัทของพวกเขา แน่นอนว่านายตำรวจรายนี้ให้ความสนใจกับธุรกิจของพวกเขา จนติดต่อเข้ามาขอเป็นหุ้นส่วนร้านในที่สุด

แต่ใช่ว่าเส้นทางการทำธุรกิจจะราบรื่น ชาเรด และจอยซ์ ทะเลาะกันอย่างหนัก จนจอยซ์ทนไม่ไหวขับรถออกไปหาทิม เพื่อสงบใจ พร้อมกับยื่นข้อเสนอว่า หากอยากให้เขากลับไปช่วยดูแลร้านอีกครั้งต้องยอมให้เขามีหุ้นเท่ากับชาเรด ไม่งั้นจะไม่ยอมกลับไปทำงานเด็ดขาด ตัวกลางอย่าง ทิม จึงทำได้แค่ไกล่เกลี่ยให้ทั้งคู่รีบคืนดีกัน แต่กลับไม่มีใครยอมใคร สุดท้าย ชาเรด ก็ขอแยกวงไปใช้ชีวิตของตัวเองเงียบ ๆ

จอยซ์ กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ร่วมกับทิม หลังจากเขาขอซื้อหุ้นจากภรรยาของทิม เพื่อให้มีอำนาจในการบริหารร้านอย่างเต็มที่ ความทะเยอทะยานในสายอาชีพนี้ของจอยซ์ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น ขณะที่ทิมกำลังวุ่นอยู่กับการเป็นทั้งนักกีฬาฮอกกี้และนักธุรกิจ แต่ จอยซ์ กลับขอเลือกโฟกัสเพียงอย่างเดียว เขาลาออกจากงานเพื่อมาบริหารร้านอย่างเต็มตัว

ผลของความพยายามจากอดีตนายตำรวจรายนี้ ส่งผลให้ร้านกาแฟจากเมืองแฮมิลตัน ขยายสาขาไปทั่วบ้านทั่วเมืองถึง 40 สาขาภายใน 7 ปี ดูเหมือนว่าร้านกาแฟแห่งนี้จะเติบโตไปอย่างสวยงาม ขณะที่ทิมเองก็เติบโตไปในเส้นทางนักกีฬาได้อย่างงดงาม สามารถทำเงินได้ไม่ต่ำกว่า 12,000 ดอลลาร์ ถึงเขาจะบอกกับทีมอยู่เสมอว่าจะเลิกเล่นกีฬาแล้ว แต่ติดอยู่อย่างเดียว เขาต้องหาเงินมาทำธุรกิจ เลยจำใจต้องเป็นนักกีฬาต่อไปอย่างเลี่ยงไม่ได้

 

ทิม ฮอร์ตัน เสียชีวิต

กระทั่งวันที่ 21 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1974 ทิม ฮอร์ตัน ในวัย 44 ปีก็ด่วนจากไปกระทันหัน นักกีฬาดาวรุ่งประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ในช่วงเช้ามืดของวันเดียวกัน ผลการชันสูตรศพ พบว่า เขามีแอลกอฮอล์ปะปนในเส้นเลือดปริมาณสูง ซึ่งในอดีตนักกีฬาฮอกกี้รายนี้เคยปรึกษาเพื่อนร่วมทีมเรื่องอาการติดแอลกอฮอล์ของเขาเช่นกัน

การจากไปของเขา สร้างความระส่ำระส่ายให้กับแฟรนไชส์ร้านทั้ง 35 สาขาอยู่ไม่น้อย (จำนวนสาขาก่อนเขาเสียชีวิต) แต่ต้องยอมรับว่าตลอดเวลาที่เขายังมีชีวิตอยู่ ทิมได้สร้างตำนานและฝากฝังความทรงจำไว้บนแผ่นดินแคนาดาอยู่ไม่น้อย ไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนรสนิยมการทานอาหารของขาวแคนาดา จากแฮมเบอร์เกอร์ ไก่ทอด และไอศกรีม มาเป็นการจิบกาแฟร้อน ๆ คู่กับโดนัท ทิม ฮอร์ตันส์ (อย่าลืมเติมเอส) จึงเป็นมากกว่าแค่ร้านกาแฟทั่วไป หากแต่เป็นสัญลักษณ์แห่งความภาคภูมิใจของคนทั้งประเทศ

ส่วนภรรยาของ ทิม ก็กลายเป็นซึมเศร้า เธอกินไม่ได้ นอนไม่หลับ จึงต้องหันไปพึ่งยาเสพติด และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขณะที่ต้องเลี้ยงดูลูก ๆ ทั้ง 4 คน ชีวิตของเธอพังทลายไม่เป็นท่า ในปี ค.ศ. 1975 จอยซ์ เข้ามาขอซื้อหุ้นส่วนที่เหลือของเธอ โดยเสนอว่าจะมอบเงินให้ 1 ล้านเหรียญแลกกับหุ้น 49.5 เปอร์เซ็นต์ของเธอ เธอรับข้อเสนอ จอยซ์จึงกลายมาเป็นผู้กุมอำนาจเบ็ดเสร็จดูแลร้านกาแฟแห่งนี้เพียงคนเดียว

จอยซ์ ได้ขยายกิจการแฟรนไชส์อย่างรวดเร็ว จนครบ 500 สาขา ในปี ค.ศ. 1991 ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ก็โถมเข้ามาอีกครั้งในปี ค.ศ. 2014 ทิม ฮอร์ตันส์ ถูกควบรวมกับ เบอร์เกอร์ คิง (Burger King) บริษัทแม่ที่ดูแล Restaurant Brands International (RBI)

ปัจจุบัน ทิม ฮอร์ตันส์ มี 957 สาขาทั่วประเทศแคนาดา และมีจำนวนสาขามากกว่า 4,850 สาขาทั่วโลก ยอดขายกว่า 2 พันล้านเเก้วต่อปี

หากจะบอกว่าชาวแคนาดากับทิม ฮอร์ตันส์มีความสัมพันธ์อันดีขนาดไหน ก็คงต้องอ้างอิงจากผลสำรวจของเว็บไซต์ reviewlution.ca พบว่าชาวแคนาดากว่า 92% อายุระหว่าง 18-34 ปีเคยมาซื้อกาแฟที่ร้านทิม ฮอร์ตันส์ 48% ของร้านตั้งอยู่ที่ออนแทรีโอ ขณะที่ 173 แห่ง ตั้งอยู่ที่โทรอนโต

 

ร้านกาแฟที่มาคู่กับคดีความ

ทิม ฮอร์ตันส์ มักโดนวิพากษ์วิจารณ์อยู่เป็นประจำว่าทำลายอุตสาหกรรมฟาสต์ฟู้ด เพราะถ้วยกาแฟของร้านไม่สามารถรีไซเคิลได้ (ข้อมูลจากปี ค.ศ. 2018)

ในปี ค.ศ. 2012 Humane Society of America รณรงค์ให้ทั่วทั้งสหรัฐอเมริกาใช้เนื้อหมูจากฟาร์มที่ไม่ขังแม่หมูไว้ในคอกแบบยืนซอง (gestation crates) เพื่อเป็นการปกป้องสิทธิสัตว์ ผลของการรณรงค์ดังกล่าวส่งผลให้หลายบริษัทในแคนาดาเริ่มปรับตัวตาม ทิม ฮอร์ตันส์ ก็เช่นกัน พวกเขาให้คำมั่นว่าจะเลือกซื้อเนื้อหมูจากฟาร์มที่ไม่ทรมานสัตว์ ภายในปี ค.ศ. 2022

นอกจากนี้ ทิม ฮอร์ตันส์ ยังมีส่วนร่วมในกิจกรรมการกุศลมากมาย อย่างเช่น การดูแลมูลนิธิเด็กที่ก่อตั้งโดยภรรยาของทิม ฮอร์ตัน และจอยซ์ ซึ่งเป้าหมายของทั้งคู่คือการช่วยเหลือครอบครัวที่มีรายได้น้อยให้มีประสบการณ์การเล่นกีฬาฮอกกี้เหมือนกับสามีผู้ล่วงลับ

ทิม ฮอร์ตันส์ มักจะปรากฏชื่อเป็นผู้สนับสนุนวงการกีฬาอีกหลายต่อหลายวงการ โดยเฉพาะกีฬาฮอกกี้สำหรับเด็ก ริงเก็ตต์ ลาครอส ฟุตบอล ซอฟต์บอล และลีกเบสบอล

ส่วนคดีความล่าสุดที่ ทิม ฮอร์ตันส์ โดนฟ้องร้องจาก แจ็คกี้ แลนซิ่ง (Jackie Lansing) นั้น ทางบริษัทได้ออกมาปฏิเสธทุกข้อกล่าวหาเรื่องความประมาทของร้าน โดยอ้างว่าทุกคนที่ซื้อเครื่องดื่มร้อน ย่อมรับรู้ความเสี่ยงของตัวเองอยู่แล้ว การทำเครื่องดื่มหกจึงเป็นอีกหนึ่งความเสี่ยงที่ผู้บริโภค ‘อาจ’ ได้รับ คดีนี้ยังอยู่ในขั้นตอนการฟ้องร้องกันอยู่ คงต้องรอติดตามกันต่อไปว่าใครจะชนะศึกครั้งนี้

แต่ถ้าหากอยากลิ้มลองรสชาติในตำนาน ไม่ต้องบินไกลไปถึงแคนาดา เพราะบริษัท WeEat จากตระกูลวัธนเวคิน ได้นำร้านกาแฟระดับพรีเมียม ทิม ฮอร์ตันส์ มาให้ชาวไทยได้สัมผัสชาติกันง่าย ๆ แถมยังมีถึง 13 สาขาด้วยกัน

 

ภาพ: Getty Images

 

อ้างอิง

https://www.theguardian.com/world/2023/mar/20/canada-woman-sues-tim-hortons-tea-horrific-burns

https://www.thecanadianencyclopedia.ca/en/article/tim-hortons

https://www.sportscollectorsdaily.com/tim-horton-was-hockeys-strongest-man-before-he-was-hockeys-strongest-brand/

https://reviewlution.ca/resources/tim-hortons-facts/

https://positioningmag.com/1260459