rOtring : ตำนาน ‘วงแหวนสีแดง’ แบรนด์เครื่องเขียนสุดเท่ที่ฆ่าไม่ตาย

rOtring : ตำนาน ‘วงแหวนสีแดง’ แบรนด์เครื่องเขียนสุดเท่ที่ฆ่าไม่ตาย

'รอตติ้ง' (rOtring) ถิอกำเนิดขึ้นในปี 1928 หลังจาก ‘วิลเฮล์ม รีเพอร์’ (Wilhelm Riepe) เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา สิ่งที่แบรนด์เครื่องเขียนแบรนด์นี้ยังไม่หายไปจากตลาด แม้จะมีอายุ 96 ปีเข้าไปแล้ว คือการยึดถือปรัชญาของ ‘ความเรียบง่าย’ ที่มาพร้อมกับ ‘ความแม่นยำ’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์วงแหวนสีแดงที่ปรากฏอยู่บนด้ามจับรวมถึงตัวโลโก้

หากบอกว่าเบาเฮ้าส์ (Bauhaus) คือสุดยอดโรงเรียนศิลปะของโลก ‘rOtring’ เองก็คงเป็นหนึ่งในสุดยอดแบรนด์เครื่องเขียนที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคกี่สมัย ก็ยังคงเป็นที่นิยมมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนต้นกำเนิดของ ‘รอตติ้ง’ (อ่านตรงตัวจะอ่านว่าโรท-ริง) ถือกำเนิดขึ้นในปี 1928 หลังจาก ‘วิลเฮล์ม รีเพอร์’ (Wilhelm Riepe) ชายผู้ที่จะเข้ามาปฏิวัติวงการเครื่องเขียนของโลก เดินทางไปยังสหรัฐอเมริกา และบังเอิญเจอเข้ากับปากกาสไตโลกราฟ (stylograph) ซึ่งทำเขารู้สึกทึ่งมากเสียจนตัดสินใจนำมันกลับมาพัฒนาต่อที่เยอรมนี

และหากย้อนกลับไปไกลกว่านั้นอีก ปากกาที่รีเพอร์ถูกอกถูกใจจนนำกลับประเทศบ้านเกิด อันที่จริงพวกมันได้รับการจดสิทธิบัตรในแคนาดาและอังกฤษในปี 1875 และอีกหนึ่งปีต่อมาที่สหรัฐอเมริกา โดย ‘ดันแคน แมคคินนอน’ (Duncan MacKinnon) เภสัชกรชาวแคนาดา

‘ความเรียบง่าย’ ที่มาพร้อมกับ ‘ความแม่นยำ’ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์วงแหวนสีแดงที่ปรากฏอยู่บนด้ามจับรวมถึงตัวโลโก้ และเบาเฮ้าส์ซึ่งก่อตั้งในปี 1919 เองก็เป็นตัวอย่างชั้นยอดที่จะสร้างสิ่งสมบูรณ์แบบออกสู่สายตาชาวโลก

แม้ว่าความสมบูรณ์แบบจะดูห่างไกล เพราะคงไม่มีอะไรสมบูรณ์พร้อมไปทุกอย่าง เช่นเดียวกับการเดินทางของรอตติ้งในช่วงแรกเริ่ม พวกเขาต้องล้มลุกคลุกคลานมานับไม่ถ้วน กว่าจะได้เป็นดินสอหนึ่งแท่งที่ปรากฏอยู่ในมือของทุกคน

และนี่คือเรื่องราวการเดินทางอันยาวนานกว่า 96 ปีของ rOtring แบรนด์เครื่องเขียนสุดเท่จากประเทศเยอรมนี ที่ไม่ว่าจะผ่านไปกี่ยุคก็ฆ่าไม่ตาย

“คุณว่าเราจะใช้เจ้าสิ่งนั้นเขียนได้ไหม?” สิ้นข้อสงสัย พวกเขาก็เริ่มพัฒนาปากกาหมึกซึมแท่งแรกขึ้น และพบข้อจำกัดหลายอย่าง กว่าจะทำสำเร็จเล่นเอาเขาท้อใจไม่น้อย

“เมื่อเราตรวจเจอข้อผิดพลาด ผมก็รู้ได้ทันทีว่าปากกาของผมมันจะกลายเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถหยิบจับได้ มันจะไม่ถูกสงวนไว้สำหรับคนมีฐานะ เราจะผลิตปากกาสำหรับทุกคน”

เจตจำนงค์อันแรงกล้าของรีเพอร์ ปรากฎเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาในปี 1928 ใช้ชื่อบริษัทว่า Tintenkuli Handels GmbH โดยเลือกย่านฮัมบูร์กเป็นสถานที่เริ่มต้นตำนาน ก่อนจะกระชับชื่อให้สั้นลงอีกนิดในอีกสองปีให้หลัง เพื่อความง่ายในการจดจำเหลือเพียง TIKU Handels GmbH

แน่นอนว่าช่วงแรกแหล่งรายได้หลักของรีเพอร์ไม่ได้มาจากบริษัทนี้เป็นแน่ โชคดีที่เขาเป็นนักธุรกิจที่มองการณ์ไกล ก่อนจะกระโดดเข้ามาอุตสาหกรรมเครื่องเขียน ธุรกิจเดิมของเขาคือการนำเข้า-ส่งออกผลไม้ ต่อมาจึงเริ่มซื้อ-ขายพืชสมุนไพรพ่วงมาด้วย นั่นทำให้เขาต้องติดต่อกับแพทย์และเภสัชกรอีกหลายร้อยชีวิต จึงเป็นที่มาของการมองเห็นโอกาสทางธุรกิจเครื่องเขียน เขามองว่าปากกาของเขาจะต้องเกิดมาเพื่อกลุ่มอาชีพนี้เป็นหลัก ปากกาที่ทำขึ้นมาจะต้องเข้ามือ และพร้อมเขียนจดใบสั่งยาให้กับผู้ป่วยทุกคน

รอตติ้งได้รับความนิยมถล่มทลาย แม้แต่รีเพอร์เองก็คิดไม่ถึงเช่นกัน ในปี 1930 เขาเขียนจดหมายแสดงความขอบคุณถึงตัวแทนจำหน่าย โดยระบุว่าสินค้าชิ้นนี้กำลังได้รับการพูดถึง และเขาจะทำทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้ความนิยมนี้ลดลง

“ปากกาของเรากลายเป็นสินค้าขายดี!

“ผมไม่รู้ว่าควรรู้สึกยังไง หลังจากเพื่อนร่วมงานของผมคนหนึ่งเขามาแจ้งข่าวดีว่า Tintenkuli กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในตลาด จดหมายที่แนบมาพร้อมกับคำสั่งซื้อของคุณ สะท้อนให้เห็นว่าผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ปากกาของเราอยู่ในมือคุณ

“เราขอมอบส่วนลดพิเศษให้กับคุณ บางทีคุณอาจจะใช้ประโยชน์จากสิ่งนี้ หลังจากตรวจสอบสินค้าที่เหลือในคลัง โดยการนำฟอร์มสั่งซื้อนี้แนบมาด้วย หากวาระและโอกาสมาเยือนอีกครั้ง โปรดสั่งซื้อสินค้ากับเราใหม่

“อีกอย่างเทศกาลคริสต์มาสใกล้เข้ามาทุกที และดูเหมือนจะมีแนวโน้มว่าความต้องการสั่งซื้อ Tintenkuli เป็นของขวัญจะเพิ่มมากขึ้นอย่างมาก การเพิ่มช่องทางทำการตลาดไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาหรือวิธีการอื่น ๆ จะช่วยเร่งให้ยอดขายของเราเติบโตขึ้นอีกมากในช่วงเวลานี้ของปี และผมจะทำให้มั่นใจว่าจะเป็นเช่นนั้น”

ขอแสดงความนับถือ

ว.รีเพอร์

นี่คือช่วงเวลาสำคัญของชายคนนี้ก็ว่าได้ เพราะหลังจากนั้นในปี 1932 รอตติ้งก็ถูกส่งออกไปยัง 34 ประเทศทั่วโลก

“ในแผนกประกอบปากกา ชิ้นส่วนแต่ละชิ้นถูกประกอบจากแรงงานผู้หญิงทั้งสิ้น และผู้หญิงที่ทำงานในโรงงานแห่งนี้ล้วนได้รับการดูแลอย่างดี พวกเธอพร้อมจะส่ง Tintenkuli ที่สมบูรณ์แบบออกสู่สายตาชาวโลก นอกจากนี้คุณรีเพอร์เองก็ให้ความสำคัญกับสวัสดิการแรงงาน ตัวโรงงานมีความทันสมัย สะอาด และปลอดภัย เพราะคุณรีเพอร์มองว่า ‘คน’ คือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการทำงาน” ข้อความที่ถูกบันทึกไว้ในปี 1978 วาระครบรอบ 50 ปีของรอตติ้ง

ความยิ่งใหญ่ของรอตติ้งยังคงเดินหน้าต่อไปเรื่อย ๆ และได้รับการสานต่อโดย ‘เอริค บาร์ต’ (Erich Barthe) ลูกเขยไฟแรงที่พร้อมลุยทุกสนาม ก่อนจะเริ่มเสนอไอเดียว่ารอตติ้งควรจะมีโลโก้แบรนด์เป็นของตัวเองในปี 1939 แม้จะตรงกับช่วงเวลาที่สงครามโลกกำลังคุกรุ่น และโรงงานเองก็ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ครั้งนี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่เขาไม่หมดหวัง เพราะนี่คือโอกาสในการพิสูจน์ตัวเอง

หลังสงครามโลกสิ้นสุดลง พวกเขาก็ประสบกับภาวะวิกฤติ โชคดีที่ลูกค้าส่วนใหญ่ให้การสนับสนุนอย่างดี ทำให้รอตติ้งรอดพ้นจากช่วงเวลาซบเซา แต่โชคร้ายที่ตามมาคือ รีเพอร์ด่วนจากไปเสียก่อนในปี 1945 ทิ้งมรดกอันหนักอึ้งให้ลูกชายคนโต ‘เฮลมุต รีเพอร์’ (Helmuth Riepe) คาร์ล-เฮช (Karl-H) ผู้จัดการฝ่ายผลิต และลูกเขยอย่างเขาสืบทอดต่อ

และพวกเขาก็ไม่ทำให้วิญญาณรีเพอร์ผู้พ่อผิดหวัง โดยการส่งออกไปกว่า 120 ประเทศทั่วโลกในปี 1978

ส่วนรุ่นที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคงหนีไม่พ้น Tikky ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาในปี 1979 รุ่นนี้เป็นที่ชื่นชอบจากเหล่านักเรียน นักศึกษา รวมถึงศิลปิน เนื่องจากคุณสมบัติสุดเจ๋ง ไม่ว่าจะตัวดีไซน์สุดคลาสสิก มีตัวหุ้มช่วยถนอมนิ้วมือ ไม่ให้ผู้ใช้งานรู้สึกเมื่อยหรือล้าเกินไปขณะเขียน พกพาสะดวก แถมในประเทศไทยเองก็ได้รับความนิยมอย่างมากในยุคหนึ่ง ยุคที่นักเรียน นักศึกษาแทบทั้งห้องต้องมีรอตติ้งติดอยู่ในกระเป๋าเครื่องเขียน

รอตติ้งไม่ใช่แค่ใช้งานได้ดีเท่านั้น แต่เพราะการปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัย ไม่ละเลยข้อติชม หรือสิ่งที่ผู้ใช้งานต้องการ พวกเขาจึงยังอยู่ยั้งยืนยง กลายเป็นแบรนด์เครื่องเขียนในตำนานสุดเท่ที่ผ่านมาแล้วเกือบร้อยปี แต่พวกเขาก็ยังคงพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีทีท่าเหน็ดเหนื่อย

 

เรื่อง : วันวิสาข์ โปทอง

ภาพ : rOtring

 

อ้างอิง :

rOtring Heritage. https://www.rotring.com/heritage.html

rOtring Museum. https://rotringmuseum.com/history.php

rOtring Thailand. https://www.facebook.com/watch/?v=969558434442505