อยากก้าวหน้าหรือเติบโต อย่ากลัวที่จะเรียนรู้จากความล้มเหลว

อยากก้าวหน้าหรือเติบโต อย่ากลัวที่จะเรียนรู้จากความล้มเหลว

เมื่อเอ่ยถึง ‘ความล้มเหลว’ หลายคนจะเกิดอาการกลัว แต่ความจริงแล้วเรื่องดังกล่าวไม่ได้มีแต่ข้อเสีย หากเรารู้จักที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาตัวเองหรือธุรกิจให้ก้าวสู่ความสำเร็จต่อไปได้

  • หลายคนจะกลัวและไม่อยากเจอกับ ‘ความล้มเหลว’ 
  • แต่ความจริงหากเรารู้จักที่จะเรียนรู้จากความผิดพลาดนั้น เพื่อนำมาปรับปรุงและพัฒนาตัวเองหรือธุรกิจให้ก้าวสู่ความสำเร็จต่อไปได้

‘ทรงพล ชัญมาตรกิจ’ ผู้ก่อตั้ง TV DIRECT และอดีตประธานเจ้าหน้าที่ บริษัท ทีวีดี โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ผู้สร้างตำนานวลีฮิต ‘โอ้ว...พระเจ้าจอร์จมันยอดมาก’ คือหนึ่งคนที่ยอมรับว่า ตัวเองผ่านความล้มเหลวมามากมายจากการอยู่ในแวดวงธุรกิจมานาน 34 ปี และได้ก่อตั้งบริษัทมาแล้วกว่า 36 บริษัท ใน 19 อุตสาหกรรม โดยเขาอยากให้ทุกคนมองความล้มเหลวในอีกแง่มุม

“มนุษย์เราเวลาฟังเรื่องความสำเร็จจะดูสนุก แต่สุดท้ายไม่ได้ประโยชน์อะไร เพราะความสำเร็จเหล่านั้นมีองค์ประกอบรอบ ๆ ที่เราไม่มี ต่อให้หยิบไปใช้ เมื่อไม่เข้าใจปัญหาก็ไม่ประสบความสำเร็จแบบเขา ที่สำคัญบริษัทที่เคยล้มเหลวมาก่อนมีแนวโน้มจะยิ่งใหญ่ ดังนั้นการเรียนรู้จึงสำคัญ”

สำหรับตัวเขาเองตลอดระยะเวลา 34 ปีในแวดวงทำธุรกิจ ได้เรียนรู้ข้อผิดพลาดในหลายเรื่อง และอยากแชร์ประสบการณ์ให้ทุกคนรับรู้

เรื่องแรก ‘กระแสเงินสด’ สำหรับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs เรื่องนี้เป็นตัวชี้วัดได้เลยว่า ธุรกิจจะล้มหรือไม่ล้ม และสำคัญกว่า Profit and Loss (P&L) โดยสิ่งที่มักจะพลาด คือ เมื่อธุรกิจเติบโตและมีเครดิต ผู้ประกอบการมักจะนำเงินไปใช้ไม่ถูกจังหวะในแต่ละช่วงของธุรกิจ โดยทรงพลแนะว่า เงินระยะสั้นควรจะเอาไปใช้ระยะสั้น เงินสำหรับระยะยาวก็ควรใช้กับการลงทุนระยะยาว

เรื่องที่ 2 ‘ความเป็นจริง’ ที่มักจะมีอีกคำหนึ่งตามมาด้วยเสมอ นั่นคือ ‘ความอยากจะให้จริง’ ซึ่งจะทำให้ความจริงบิดเบี้ยว เพราะฉะนั้นเวลาจะฟังใคร ไม่ว่าจะเป็นลูกน้องหรือพาร์ตเนอร์ จะต้องแยกให้ออกระหว่างความเป็นจริง กับความอยากจะให้จริง ยกตัวอย่างเช่น เวลาคุยกับซัพพลายเออร์ ไม่มีรายใดจะบอกว่าของตัวเองใช้ไม่ดี ดังนั้นต้องแยกความจริงกับความอยากให้จริงให้ออก

เรื่องที่ 3 ‘คน’ มีผู้นำองค์กรหลายคนอยากให้ลูกน้องรัก แต่ประเด็นสำคัญ คือ ‘การเป็นซีอีโอหรือผู้นำองค์กร ไม่ได้มีหน้าที่ทำให้ลูกน้องรัก แต่มีหน้าที่ทำให้เขาทำงานได้ และผลักดันให้ทำงานให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ’

“เมื่อใดผู้นำอยากให้ลูกน้องรัก จะมีเรื่องความเกรงใจหรือเอาใจแบบผิด ๆ สำหรับผมเรื่องพวกนี้นำความหายนะมาให้ นอกจากนี้ผู้นำมีหน้าที่ที่ต้องรักลูกน้องทุกคน และต้องทำงานกับพวกเขาให้ได้ไม่ว่าคุณจะรู้สึกอย่างไร”  

เรื่องที่ 4 ‘Positive Thinking’ ที่ผ่านมาเรามักจะถูกสอนให้คิดบวก แต่ความจริงแล้วการคิดบวกไม่ได้ส่งผลดีทุกครั้ง ยกตัวอย่างจากตัวของทรงพลเองที่ผิดพลาดในเรื่องนี้ โดยคิดว่า การระบาดของโควิด-19 จะจบในปี 2021 เมื่อคิดเช่นนั้นสิ่งที่เขาทำคือ ‘การประคอง’ ด้วยการใช้เงิน 250 ล้านบาท ประคองลูกน้องทุกคนให้ไปต่อด้วยกัน อาจมีลดเงินเดือนบ้างแต่ไม่เอาคนออก เพราะเชื่อว่าเมื่อโควิด-19 จบ ธุรกิจจะวิ่งไปข้างหน้าทันที แต่ปรากฏว่าเงินหมดก่อนโควิด-19 จบ จนต้องระดมทุนเพิ่ม มีผู้ถือหุ้นรายใหม่เข้ามา และนำมาสู่ข้อตกลงที่เขาลาออกจากทีวีดี โฮลดิ้งส์อย่างที่เห็นในปัจจุบัน

เรื่องที่ 5 ‘Delegation’ การกระจายหรือมอบหมายงานให้ลูกน้องเพื่อให้มีส่วนในการตัดสินใจ จะต้องพิจารณาถึงความสามารถของลูกน้องด้วยว่าเป็นอย่างไร โดยหลัก ๆ แล้วลูกน้องจะมีด้วยกัน 4 ประเภทเป็นอย่างน้อย คือ ‘ไม่ต้องสั่ง ไม่ต้องสอน’, ‘ต้องสั่ง ไม่ต้องสอน’, ‘ไม่ต้องสั่ง แต่ต้องสอน’ และ ‘ต้องสั่งและต้องสอน’ 

ความล้มเหลวให้อะไร?

เมื่อผิดพลาดแล้ว สเต็ปต่อมาก็คือ ‘สำนึกผิด’ พร้อมหาสาเหตุและเรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น โดยสิ่งที่ทรงพลได้จากเรื่องราวเหล่านี้ก็คือ 

1. Get up ได้รู้วิธีที่จะลุกเร็วขึ้นจากความผิดพลาด และเมื่อรู้วิธีแล้ว ก็ไม่ควรล้มหรือผิดพลาดจากเรื่องเดิมถึง 3 ครั้ง เพราะนั่นเท่ากับว่า เราไม่รู้จักปรับตัวหรือพัฒนา

2. Reinvent Yourself เมื่อเรียนรู้และสำนึกถึงข้อผิดพลาด จะทำให้เราประเมินตัวเองใหม่ว่า ควรจะโฟกัสอะไร และรู้ถึงสาเหตุของความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ซึ่งจะนำมาสู่กระบวนการปรับปรุงและพัฒนาตัวเองต่อไป

3. Wisdom เมื่อเราเรียนรู้จากความล้มเหลว จะทำให้เกิดภูมิปัญญา สามารถนำดาต้ามาจัดเรียงเป็นข้อมูลเกิดองค์ความรู้ที่สามารถนำมาสู่ความอิสระในการหาทางออกหรือทางแก้ปัญหาได้มากกว่าเดิม 

4. Strengths Finder จะช่วยให้หาจุดแข็งของตัวเองเจอ

5. Create More Option เมื่อเจอปัญหา อย่าเพิ่งเริ่มแก้ อย่า jump to the conclusions แต่ให้พยายามสร้างทางเลือกต่าง ๆ ขึ้นมา แล้วค่อยคิดวิเคราะห์เพื่อหาทางเลือกที่เป็นทางออกของปัญหาดีที่สุด และอย่าพูดว่า “ไม่มีทางเลือก” เพราะความจริงมีอยู่ แต่อาจจะไม่คิดวิเคราะห์ดีพอ

6. Anti-perfection เมื่อเราเจอความล้มเหลวจะทำให้เข้าใจว่า ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ เมื่อนั้นเราจะเห็นความไม่ธรรมดาที่จะนำไปสู่การพัฒนาหรือปรับปรุงเพื่อก้าวสู่ความสำเร็จต่อไป

7. Humble ความล้มเหลวจะทำให้เราเข้าใจถึงคำที่ว่า ‘ใจเขาใจเรา’ เหมือนกับสุภาษิตที่ว่า ผู้ใดที่ยกตนขึ้นจะถูกกดให้ต่ำลง ผู้ใดที่ถ่อมตนลงจะได้รับการยกย่องให้สูง เพราะการมีความสำเร็จอย่างเดียว จะทำให้มีอีโก้และกลายเป็นคนกร่าง

8. More Confident น้อยลงในเบื้องต้น เพิ่มขึ้นในท่ามกลาง และมากขึ้นในที่สุด คือ เมื่อเวลาล้มเหลวจะทำให้โอกาสน้อยลง แต่เมื่อเจอเหตุการณ์เดิมอีกครั้ง จะทำให้สามารถแก้ปัญหาได้ดีขึ้น และจะมีความเชื่อมั่นอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง

9. Inspire Others การนำความล้มเหลวของเราไปสร้างแรงบันดาลใจให้คนอื่น จะทำให้ความสำเร็จของเราสมบูรณ์ขึ้น

10. Resilient ได้วิธีล้มที่เจ็บน้อยลง ซึ่งจะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเรามีความอึด ถึก ทน สามารถแข็งแกร่งได้ในอนาคต

และสุดท้ายสิ่งที่ทรงพลผู้คร่ำหวอดในธุรกิจมานานและขยาย TV DIRECT ที่เริ่มต้นจากธุรกิจทีวี ชอปปิงให้กลายเป็นอาณาจักรครอบคลุมธุรกิจหลากหลายต้องการจะบอกก็คือ 

‘อย่ากลัวที่ล้มเหลว แต่กลัวที่จะไม่ได้ลงมือทำ’

.

บทความนี้มาจากหัวข้อ How Do Failures Help You Become a Better Entrepreneur? ของ ทรงพล ชัญมาตรกิจ ผู้ก่อตั้ง TV DIRECT และอดีตประธานเจ้าหน้าที่ บริษัท ทีวีดี โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) จากงาน Digital SME Conference Thailand 2023