02 พ.ค. 2567 | 16:53 น.
KEY
POINTS
ปัญหาส่วนใหญ่ในที่ทำงาน มักไม่ค่อยเกี่ยวกับ ‘งาน’ แต่มักเป็นเรื่อง ‘คน’
ถ้าใครอินกับประโยคข้างบน หรือรู้สึกว่า ‘เพื่อนร่วมงาน’ เป็น ‘เจ้ากรรมนายเวร’ รูปแบบหนึ่ง บทความนี้จะช่วยทุกคนจัดประเภท ‘คนน่ารำคาญในที่ทำงาน’ พร้อมทำความเข้าใจสาเหตุที่ทำให้พวกเขามีพฤติกรรมที่น่าอิดหนาระอาใจ รวมถึงวิธีรับมือเพื่อไม่ให้เรา ‘ประสาทเสีย’ และ ‘เสียงานเสียการ’
‘อิโนะอุเอะ โทโมะสุเกะ’ แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ และผู้เขียนหนังสือ ‘จิตวิทยาตีเนียน (เพื่อจัดการคนน่ารำคาญ) ซึ่งเคยให้คำปรึกษาคนทำงานในญี่ปุ่นมากกว่า 10,000 คน ได้แบ่ง ‘คนน่ารำคาญในที่ทำงาน’ ไว้ 5 แบบ ดังนี้
จริงอยู่ที่ทุกคนก็ต่างเคยพูดเรื่องคนอื่นลับหลังทั้งนั้น แต่ ‘คนขี้นินทา’ ในความหมายของ ‘อิโนะอุเอะ โทโมะสุเกะ’ คือคนที่มักจะนินทาให้ร้ายและพูดลับหลังถึงใครบางคน “อยู่เสมอ” ซึ่งแม้ว่าเราจะไม่ใช่คนที่ตกเป็นขี้ปากของคนขี้นินทา แต่การได้ยินได้ฟังคำนินทาจากปากของคนขี้นินทาบ่อย ๆ ก็อาจทำให้เรา “หมดพลัง” ได้เช่นกัน ดีไม่ดีเราก็อาจถูกเหมารวมเป็น “ผู้สมรู้ร่วมคิด” ไปด้วย
ลักษณะเฉพาะของคนขี้นินทาคือ พวกเขาจะไม่ยอมให้ใคร ‘โดดเด่น’ กว่าตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นความสามารถ หรือรูปร่างหน้าตา และมักจะแสดงพฤติกรรม ‘สุดโต่ง’ กับคนที่พวกเขามองว่า ‘แย่’ กว่าตัวเอง แถมยังคิดเข้าข้างตัวเองว่า “ทุกคนก็ทำแบบนี้ทั้งนั้น”
พฤติกรรมที่น่ารังเกียจสุดคือ คนขี้นินทาจะพยายามดึงคนที่ตัวเองสู้ไม่ได้ให้ตกต่ำลงมา โดยพูดลับหลังทำนองว่า คนนั้นกำลังทำเรื่องไม่ดีอย่างนู้นอย่างนี้
หากคุณต้องรับมือกับคนขี้นินทา ที่พยายามจะขาย ‘ข้อมูลมีค่า’ (ในความคิดของพวกเขา) สิ่งสำคัญคือห้ามคล้อยตามโดยขาดการไตร่ตรองพิจารณาโดยเด็ดขาด เพราะข้อมูลเหล่านั้นมักจะบิดเบี้ยวไปตามมุมมองของคนขี้นินทา ซึ่งโดยธรรมชาติแล้วมักไม่พอใจถ้าเห็นคนอื่นได้ดีกว่า
คำติดปากของคนประเภทนี้คือ “แค่นั้นไม่เท่าไหร่หรอก ฉันน่ะเจอยิ่งกว่านี้อีกนะ….” (แล้วก็ร่ายเรื่องความสามารถหรือความเก่งกาจของตัวเองไปยาว ๆ) มองเผิน ๆ คนประเภทนี้เหมือนจะไม่มีพิษมีภัยอะไร แค่ชอบพูดโอ้อวดเรื่องของตัวเอง ไม่ได้ว่าร้ายคนอื่นเหมือนคนขี้นินทา แต่มันจะมีคนประเภทที่โอ้อวดเรื่องตัวเองไม่พอ แต่ยัง ‘กด’ คนอื่นไปพร้อม ๆ กันด้วย ซึ่งการที่เราต้องเผชิญหน้ากับคนประเภทนี้ทุกวี่ทุกวันก็อาจทำให้เกิดความรู้สึก ‘อึดอัด’ อยู่ไม่น้อย
สาเหตุที่ทำให้พวกเขาแสดงพฤติกรรมอวดเบ่ง หลัก ๆ เป็นเพราะพวกเขา ‘หลงตัวเอง’ เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว คนแบบนี้มักประเมินค่าตัวเอง “สูงเกินจริง” แต่ขณะเดียวกันกลับมองข้าม ‘คุณค่า’ ที่แท้จริงของตัวเอง มัวไปเฝ้ารอแต่ ‘คำชม’ จากคนอื่น
อีกเหตุผลคือพวกเขามีปมด้อยและรู้สึกวิตกกังวลอย่างมาก จึงพยายามทำตัวให้คนรอบข้างยอมรับความเลิศเลอเพอร์เฟกต์ของตัวเองมากเกินพอดี
สมัยนี้การล่วงละเมิดถือเป็นพฤติกรรมที่ไม่ได้รับการยอมรับมาก ๆ อย่างไรก็ตาม ในสังคมก็ยังมีคนที่แสดงพฤติกรรมล่วงละเมิดผู้อื่นทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว แน่นอนว่าคนที่ถูกกระทำย่อมรู้สึกไม่สบายใจ บางเคสอาจถึงขั้นทุกข์ทรมานใจเลยก็ได้
การล่วงละเมิด ในความหมายของ ‘อิโนะอุเอะ โทโมะสุเกะ’ คือการทำในสิ่งที่อีกฝ่ายไม่ชอบ ดังนั้น การที่ใครคนใดคนหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งตั้งใจทำในสิ่งที่อีกฝ่ายไม่ชอบเพื่อสร้างความเจ็บปวดให้ ล้วนแล้วแต่เป็นการล่วงละเมิดทั้งสิ้น
‘อิโนะอุเอะ โทโมะสุเกะ’ เขียนไว้ในหนังสือว่า ระหว่างปฏิบัติหน้าที่แพทย์อาชีวเวชศาสตร์ บางครั้งเขาก็รับฟังเรื่องราวจากผู้ที่เป็นฝ่ายละเมิด และเห็นได้ชัดว่าพวกเขามัก “พูดโกหก” และให้คำตอบที่ “ไร้ความรับผิดชอบ” จึงอาจกล่าวได้ว่า คนประเภทนี้ไม่ใช่แค่เรียกร้องความสนใจหรือหลงตัวเองอย่างรุนแรง แต่ยังเป็นคนที่ขาดความเห็นอกเห็นใจ รวมทั้งขาดความสามารถในการคาดเดาว่าอีกฝ่ายจะรู้สึกอย่างไรด้วย
ในมุมมองของ ‘อิโนะอุเอะ โทโมะสุเกะ’ นั้น การบงการเป็นการกระทำที่ใกล้เคียงกับการล่วงละเมิด โดยเฉพาะการใช้อำนาจล่วงละเมิดระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง หรือผู้ที่มีตำแหน่งสูงกว่ากับผู้ที่มีตำแหน่งต่ำกว่า และส่วนใหญ่มักเรียกร้องให้อีกฝ่ายทำในสิ่งที่เกินรับไหว
เขามองว่าคนชอบบงการมักขาดความเห็นอกเห็นใจและความสามารถในการคาดเดา จึงไม่รู้ว่าอีกฝ่ายชอบหรือต้องการอะไร ที่สำคัญยังคิด (ไปเอง) ว่า “โลกหมุนรอบตัวเอง” จึงเชื่ออย่างสนิทใจว่าคนรอบข้างต้องเสียสละตัวเองเพื่อความสะดวกของเขาเพียงคนเดียว ซึ่งหากพฤติกรรมและการแสดงรุนแรงมากกว่านี้อีกขั้น คนพวกนี้ก็จะก้าวไปสู่ขั้นการล่วงละเมิดแล้ว
โดยความแตกต่างระหว่าง ‘การบงการ’ กับ ‘การล่วงละเมิด’ คือ การบงการไม่ปลุกเร้าความกลัวและไม่มีภาพลักษณ์ที่กดดัน แต่จุดที่เหมือนกับการละเมิดคือ อีกฝ่ายไม่สามารถเอ่ยปากปฏิเสธได้
คนพวกนี้จัดเป็นกลุ่มคนน่ารำคาญที่พบเห็นได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าที่ชอบโยนบาปให้ลูกน้อง หรือเพื่อนร่วมงานที่ผลักความรับผิดชอบไปให้คนที่ไม่มีปากมีเสียง หรือไม่รู้จักปกป้องตัวเอง
คนชอบปัดความรับผิดชอบแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ ได้แก่ คนที่กลัวว่าตัวเองจะถูกโกรธหรือกลัวถูกทำร้ายจิตใจอย่างสุดโต่ง และคนที่อัตตาสูงและมีประสบการณ์ความสำเร็จแค่เพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่มักคิดไปเองว่า “ฉันไม่มีทางผิดพลาดหรอก”
ความแตกต่างของคนปัดความรับผิดชอบ 2 แบบนี้คือ แบบแรกอาจจะไม่ได้ตั้งใจทำ ส่วนแบบที่สองคือคนที่เชื่ออย่างสนิทใจจริง ๆ ว่า “ความสำเร็จต้องมาจากฉัน แต่ความล้มเหลวมาจากคนอื่น”
คนน่ารำคาญในที่ทำงานที่กล่าวมาทั้ง 5 แบบนี้ ว่ากันตามตรงคนรอบข้างอย่างเรา ๆ คงไม่สามารถเพื่อเปลี่ยนแปลงนิสัยหรือพฤติกรรมของพวกเขาได้ สิ่งสำคัญที่สุดในการรับมือกับคนเหล่านี้คือ การเปลี่ยนแปลงคำพูดและการกระทำของคุณเอง เพื่อไม่ให้ตกเป็น ‘เป้าหมาย’ ของพวกเขา
และรู้หรือไม่ว่าจริง ๆ แล้ว ‘เป้าหมาย’ ของคนน่ารำคาญเหล่านี้ไม่ใช่ว่าจะเป็นใครที่ไหนก็ได้ ‘อิโนะอุเอะ โทโมะสุเกะ’ ระบุว่า คนน่ารำคาญจะเลือกคนที่ใช้งานได้สะดวก หรืออาจเป็นคนที่ไม่มีปากมีเสียง รวมทั้งคนที่ไม่ก่อให้เกิดปัญหาในภายหลัง
เพราะฉะนั้นแล้ว คนที่คนรอบข้างมักจะยกย่องว่าเป็น ‘คนดี’ จึงถือเป็นเหยื่ออันโอชะของบรรดาคนน่ารำคาญทั้ง 5 แบบ
สิ่งสำคัญที่สุดที่จะช่วยให้เราไม่กลายเป็น ‘ผู้ถูกเลือก’ คือ “ความรู้สึกตอนที่เจอหน้ากันครั้งแรก” ซึ่งตัวช่วยที่ดีที่สุดก็คือ ‘สัญชาตญาณ’ ของตัวคุณเอง ถ้ารู้สึกว่าคนนี้เข้าหาเราแบบไม่เกรงใจเลย คุณก็ต้องระวังตัวเองให้ดี เพราะคนที่ล่วงล้ำพื้นที่ส่วนตัวคนอื่นตั้งแต่แรก ต่อไปก็จะยิ่งล่วงล้ำมากขึ้น ดังนั้น หากรู้สึกถึงความไม่ชอบมาพากล “จงพยายามอย่าผูกมิตรกับเขามากเกินไปตั้งแต่แรกดีกว่า”
หากเลี่ยงไม่ได้ ก็ไม่ควรเปิดเผยเรื่องส่วนตัวหรือความล้มเหลวของตัวเองให้พวกเขาได้ล่วงรู้ เพราะมันอาจเป็นการเผยจุดอ่อนหรือเปิดทางให้พวกเขาจ้องเอารัดเอาเปรียบ หรือตักตวงผลประโยชน์จากคุณได้โดยง่าย
‘อิโนะอุเอะ โทโมะสุเกะ’ บอกด้วยว่า บรรดาคนน่ารำคาญมักจะเก่งเรื่องการกระตุ้นให้อีกฝ่ายหวาดกลัว ทำให้รู้สึกว่าต้องแบกรับหน้าที่ และทำให้รู้สึกผิด คุณจึงไม่จำเป็นต้องแวะออกจากเส้นทางของตัวเองเพื่อไปช่วยเหลือคนแบบนี้ ถ้าคุณพยายามทำตามคำเรียกร้องที่ไม่สมเหตุสมผลของอีกฝ่ายเพราะกลัวจะถูกเกลียดหรือเจรจาธุรกิจไม่สำเร็จ คุณก็จะยิ่งตกเป็นเหยื่อได้ง่าย
เขายังได้แนะนำเคล็ดลับที่ทำให้คุณไม่ตกเป็นเหยื่อของคนน่ารำญได้ง่าย ๆ ก็คือ การสร้างภาพลักษณ์ให้ดูเป็น ‘คนร้าย ๆ’ ซึ่งหมายถึงการเป็นคนที่ใครก็เดาทางไม่ถูกว่ากำลังคิดอะไรอยู่
โดยการเปลี่ยนภาพลักษณ์ให้เป็นคนแบบนี้มีจุดสำคัญ 3 ข้อ ได้แก่ 1. อย่าเชื่อสิ่งที่คนอื่นพูดร้อยเปอร์เซนต์ 2. แม้อีกฝ่ายจะมีตำแหน่งสูงกว่า แต่จงมองเขาด้วยมุมมองที่เท่าเทียมอยู่ในใจ และ 3. การไม่โต้ตอบคำพูดและการกระทำของอีกฝ่ายมากเกินไป (ซึ่งอาจรวมถึงการยิ้มให้น้อยลงกว่าปกติ) อย่างไรก็ตาม จงจำไว้ว่าคุณไม่จำเป็นต้องนำภาพลักษณร้าย ๆ นี้ไปใช้กับทุกคน ให้เลือกเฉพาะพวกน่ารำคาญก็พอ
โดยสรุป ‘อิโนะอุเอะ โทโมะสุเกะ’ แนะนำว่า ถ้าเป็นไปได้ คุณไม่จำเป็นต้องใส่ใจความรู้สึกของ ‘คนน่ารำคาญ’ ที่จ้องจะใช้งานคนอื่นหรอก และให้คิดอยู่เสมอว่า “เราไม่สามารถเป็นที่รักของทุกคนได้”
เรียบเรียง: พาฝัน ศรีเริงหล้า
ภาพ: Pexels
อ้างอิง:
อิโนะอุเอะ โทโมะสุเกะ, จิตวิทยาตีเนียน (เพื่อจัดการคนน่ารำคาญ), แปลโดย กมลวรรณ เพ็ญอร่าม (กรุงเทพมหานคร: ฮาวทู อมรินทร์ คอร์เปอเรชั่นส์, 2566) หน้า 7 - 29