13 พ.ค. 2567 | 08:13 น.
ในบรรดาเทคนิคแนะนำด้านการพูด คงจะมีการแนะนำอยู่แล้วว่าคุณต้องพูดยังไงให้คนอื่นฟังแล้วคล้อยตาม พูดยังไงให้ดูน่าเชื่อถือ หรือเป็นที่รัก
แต่วันนี้เราขอแหวกแนวด้วยการแนะนำ 3 ข้อห้ามที่ไม่ควรพูดระหว่างสนทนากับคนอื่น เข้าทำนองว่า “ถ้าไม่มีอะไรจะพูด ให้เงียบไปเลยดีกว่า”
ข้อแนะนำนี้หยิบยกมาจากหนังสือ ‘The Arts of Using Words For Persuasion’ (ศิลปะการใช้ถ้อยคำเพื่อจูงใขจคน) เขียนโดย ‘เซอร์นีย์, เจ.วี.’
ข้อห้ามข้อแรกที่คุณไม่ควรพูดคือ “อย่าพูดแสดงความรังเกียจตัวเอง”
หลายคนอาจจะชินกับประโยคขำ ๆ ที่ว่า “เล่นตัวเองเจ็บน้อยกว่า” อารมณ์ประมาณว่าชิงแซวหรือพูดถึงตัวเองในแง่ลบก่อน ดีกว่าให้คนอื่นพูดถึง แต่ความจริงแล้วคุณต้องไม่ลืมว่า “ตัวคุณเอง” นั่นแหละ คือสิ่งสำคัญขั้นพื้นฐานที่คุณต้องมีเพื่อประสบความสำเร็จ เพราะฉะนั้นอย่าเสียเวลาพูดอะไรที่เป็นการลดทอนคุณค่าและความภาคภูมิใจของตัวเองเลย ที่สำคัญการพูดที่แสดงถึงการไม่ยอมรับในตัวเองยังเป็นการเปิดช่องให้คนอื่นเห็นถึงความ ‘อ่อนแอ’ ของคุณ ทั้งที่เขาอาจจะไม่ทันสังเกตเห็นก็ได้นะ
ในหนังสือยังแนะนำ 7 วิธีกระตุ้นตัวเองเพื่อเพิ่มพลังความก้าวหน้า ดังนี้
1. จงมองไปข้างหน้าและคำนึงถึงเป้าหมายของตัวคุณเอง
2. ประเมินค่าตนเองให้สูงเข้าไว้
3. วาดภาพตัวเองในบทบาทที่สูงสุดยอด
4. คิดแต่เรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเอง
5. เผชิญหน้ากับสถานการณ์ต่าง ๆ อย่างกล้าหาญ
6. พุ่งเข้าหาโอกาส
7. เดินเหิน พูดจา และทำท่าให้เหมือนตัวเองเป็นผู้ชนะอยู่เสมอ
ส่วนพวกข้อเสียของตัวเอง คุณก็แค่รับรู้ว่ามีอะไรบ้างก็พอ รู้แล้วก็ปล่อยไป อย่าไปเอาใจไปผูกกับมันมาก อะไรแก้ได้ก็แก้ แก้ไม่ได้ก็มองข้ามไปบ้าง และอย่าลืมว่าคุณเองก็มี ‘สมอง’ เช่นเดียวกับคนอื่น จงพยายามใช้สมองนำพาคุณไปสู่จุดที่สูงขึ้น ไม่ใช่จุดที่ต่ำลง
ข้อห้ามต่อมาคือ “อย่าไปเกี่ยวข้องกับรายละเอียดยิบย่อย”
จริงอยู่ที่รายละเอียดเป็นเรื่องที่จำเป็น แต่ในการสนทนาทางธุรกิจและสังคมทั่วไป จงหลีกเลี่ยงการทำให้ตัวคุณเองและคนอื่นต้องมาเสียเวลากับรายละเอียดที่ไม่จำเป็น ตรงไหนที่เป็นเรื่องยิบย่อยก็จงปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคนที่ชอบรายละเอียดยิบย่อยเถอะ ส่วนตัวเราก็เอาสมองไปคิดอะไรที่ใหญ่โตกว่าจะดีกว่า แต่หากหลีกเลี่ยงการกล่าวถึงรายละเอียดยิบย่อยไม่ได้ ‘เซอร์นีย์, เจ.วี.’ แนะนำให้จัดการมันด้วยวิธี ‘เขียน’ แทน
สุดท้ายคือ “จงหลีกเลี่ยงการพูดที่แสดงอารมณ์เสียเท่าที่จะเป็นไปได้”
บ่อยครั้งที่เมื่อโกรธหรือกลัว คุณอาจจะเผลออุทาน หรือสบถอะไรที่ไม่เหมาะสมออกมา จนลืมไปว่ากำลังมีคนฟังและจับตาดูคุณอยู่ เพราะฉะนั้นจงระมัดระวังการพูดที่แสดงอารมณ์เสียใด ๆ ออกมา พยายามควบคุมอารมณ์ของตัวเองไว้ให้ได้
สิ่งที่คุณจะได้จากการหลีกเลี่ยงการแสดงอารมณ์ด้วยการพูดคือ คุณจะกลายเป็นคนมีเสน่ห์ทางบุคลิกภาพ ทำให้เกิดความประทับใจแก่ผู้พบเห็น ซึ่งจะส่งผลต่อ ‘ความมั่นใจ’ ในตัวเองตามมา
ในหนังสือเล่มนี้ยังปิดท้ายหัวข้อดังกล่าวไว้ว่า หากคุณมีอะไรจะพูดก็จงพูดออกมาให้ชัดเจน พูดแต่ในทางสร้างสรรค์ พูดเฉพาะเมื่อจำเป็นต้องพูด เพื่อเพิ่มน้ำหนักแก่สิ่งที่คุณได้พูดไปแล้ว แต่ถ้าคุณไม่มีอะไรจะพูด ก็จงเงียบเสียดีกว่า!
เรียบเรียง : พาฝัน ศรีเริงหล้า
ภาพ : Pexels
อ้างอิง : เซอร์นีย์, เจ.วี., The Arts of Using Words For Persuasion (ศิลปะการใช้ถ้อยคำเพื่อจูงใขจคน), แปลโดย ดร.กิติมา อมรทัต (กรุงเทพมหานคร: ไทยควอลิตี้บุ๊คส์ (2006) 2563) หน้า 342 - 345