How to ฮีลใจในวันหมดไฟ ทำอย่างไรถึงปลุกไฟให้พร้อมลุยงาน

How to ฮีลใจในวันหมดไฟ ทำอย่างไรถึงปลุกไฟให้พร้อมลุยงาน

เราทุกคนต่างมีวันที่รู้สึกแย่ และหมดไฟกันได้ทั้งนั้น โดยเฉพาะชาวออฟฟิศที่ในแต่ละวันต้องเจอกับปัญหาและความกดดันสารพัด ซึ่งเมื่อความรู้สึกเหล่านี้เกิดขึ้นและยิ่งสะสมไปนาน ๆ ด้วยแล้ว ย่อมไม่ส่งผลดีต่อสุขภาพไม่ว่าจะร่ายกายหรือจิตใจ และกระทบไปถึงประสิทธิภาพในการทำงานอย่างแน่นอน

 

วันนี้ จึงอยากนำเสนอวิธีฮีลใจตัวเองเมื่อตกอยู่ในสภาวะเช่นนี้ เพื่อจะเป็นแนวทางช่วยเปลี่ยนอารมณ์ ‘ด้านลบ’ ให้กลายเป็น ‘พลังบวก’ สำหรับปลุกแรงฮึดให้ทุกคนพร้อมกลับมาทำงานที่รักได้เหมือนเดิมอีกครั้ง

How to ฮีลใจในวันหมดไฟ 

1.ใช้เวลากับตัวเอง ชี้เป้าปัญหา – การที่เรารับรู้และยอมรับความรู้สึกแย่ ๆ เหล่านั้นได้เร็วเท่าไร จะช่วยให้สามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นได้เร็วเท่านั้น ดังนั้น ลองใช้เวลาอยู่กับตัวเอง หยุดพักความคิด แล้วลองสำรวจความคิดของตัวเองสักนิดว่า กำลังรู้สึกอย่างไร หากมีความรู้สึกที่แย่ ลองหาสาเหตุดูว่ามาจากอะไร เช่น พักผ่อนน้อย หรือทำงานไม่เป็นไปตามเป้าหมาย เป็นต้น

เมื่อคิดได้แล้วถัดมาให้ลองเขียนออกมา เพราะการเขียนจะทำให้เราเห็นปัญหาชัดเจนขึ้น จากนั้นค่อย ๆ ลองหาวิธีจัดการดู

2. ฝึก ‘คิดบวก’ - การมีทัศนคติที่ดีและคิดแบบ Positive จะช่วยให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ตึงเครียดได้ดีขึ้น และยังเป็นการปลุกไฟในใจให้กลับมาพร้อมสู้(งาน)อีกครั้ง ซึ่งการคิดบวกเป็นนิสัยที่ต้องฝึก และต้องเปลี่ยนมุมมองของตัวเอง เช่น เวลาไม่อยากไปทำงาน อาจจะลองคิดหาข้อดีของการไปทำงาน เช่น ได้เจอเพื่อนฝูง, ได้ใช้ความสามารถที่เรียนมา ฯลฯ หรือเข้าไปพูดคุยกับผู้คนที่มีพลังบวก หลีกเลี่ยงจากคนคิดลบหรือมีทัศนคติที่ไม่ดี เพื่อเป็นการสะสมพลังความคิดบวกให้กับตัวเอง เป็นต้น

3. เปลี่ยนกายภาพทางการทำงาน - บางครั้งการอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิม ๆ แรงกดดันเดิม ๆ ก็มีผลให้ความรู้สึกด้านลบเพิ่มขึ้น แนะนำว่า ให้ลองเปลี่ยนกายภาพทางการทำงานที่สามารถทำได้ทันที เช่น จัดโต๊ะทำงานใหม่ เปลี่ยนมุมทำงาน ออกไปเดินเล่นนอกออฟฟิศ เปิดเพลงฟัง ออกกำลังกาย หรือทำในสิ่งที่ชอบ เพื่อให้สมองหยุดพักและเพิ่มความรู้สึกดี ๆ ให้กับตัวเอง จนมีแรงกลับมาทำงานอีกครั้ง

4. ลองทำสิ่งที่สำเร็จง่าย ๆ – บางครั้งความรู้สึกหมดไฟ หรือขาด Passion ในการทำงาน อาจจะมาจากการที่เราไม่สามารถทำงานให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งบางครั้งความไม่สำเร็จนั้นอาจเป็นไปได้ว่า เราตั้งเป้าหมายใหญ่จนเกินไป ดังนั้น เมื่อตกในสถานการณ์แบบนั้น ควรลงมือทำงานที่สำเร็จได้ง่ายแล้วค่อยไต่ระดับความยากไป เพราะเมื่อเราทำได้สำเร็จ สมองจะบันทึกความรู้สึกนี้ และจะทำให้มีกำลังใจที่จะผ่านพ้นวันแย่ ๆ ไปได้

5. ใจดีกับตัวเอง และช่างมันได้ไหมในบางเรื่อง? - การใจดีกับตัวเอง จะเป็นการปลุกพลังในตัวคุณเอง เช่น มองหาคุณค่าของชีวิตของตัวคุณเอง, การใช้คำพูดเชิงบวก และพยายามเปิดโอกาสดี ๆ ให้ตัวเองด้วยการยิ้มหรือหัวเราะ โดยเฉพาะในวันที่ต้องเผชิญปัญหาหรือรู้สึกแย่ ซึ่งจะทำให้เรามีกำลังใจและเครียดน้อยลง

แต่เมื่อใดก็ตามรู้สึกว่า บางปัญหาพยายามหาคิดวนไปมากี่รอบ ก็หาทางออกและทางแก้ไม่ได้ จนรู้สึกแย่และท้อใจ ลองช่างมันดูบ้าง เพราะการที่คิดวนซ้ำอยู่อย่างนั้น จะทำให้ติดหล่มไปไหนไม่ได้เสียที และอาจจะรู้สึกแย่กว่าเดิม ทว่าเมื่อพร้อมแล้วให้ลองกลับมาหาทางแก้ไขอีกครั้ง

จัดสรรชีวิตให้ลงตัวมากขึ้น

ส่วนหนึ่งของการรู้สึกการหมดไฟ อาจมาจากการทำงานหนักจนกินเวลาส่วนตัวหรือเวลาความสุขของตัวเองเกินไป ดังนั้นอีกวิธีฮีลใจที่สำคัญ ก็คือ การจัดสรรชีวิตให้ลงตัวได้ โดยเราอาจจะใช้กฎ 8-8-8 ที่จะแบ่งเวลา 24 ชั่วโมงออกเป็น 3 ส่วน ๆ ละ 8 ชั่วโมง เข้ามาเป็นตัวช่วย ซึ่งกฎดังกล่าวประกอบด้วย

.

8 ชั่วโมงสำหรับการทำงาน – เริ่มทำงานตรงเวลา และใช้เวลาภายใน 8 ชั่วโมงนั้น ทำงานอย่างเต็มที่ แต่อาจหยุดพัก 5 นาทีลุกมาขยับตัว พักสายตาหน่อย หรือลุกจากหน้าจอ เพื่อป้องกันโรคออฟฟิศซินโดรม

8 ชั่วโมงสำหรับการนอน – เพราะการนอนหลับเป็นสิ่งสำคัญมาก ๆ ต่อการใช้ชีวิตของคนเรา โดยแต่ละวันควรนอนหลับอย่างน้อย 8 ชั่วโมง และควรนอนหลับก่อนเวลา 23.00 น. เนื่องจากช่วงเวลานั้นร่างกายจะหลั่ง Growth hormone ออกมาเพื่อช่วยซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอ และสร้างระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย

8 ชั่วโมง สำหรับเวลาส่วนตัว - ใช้เวลาส่วนตัวในการเข้าสังคม ทำกิจกรรมต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นทำในสิ่งที่อยากทำ ทำงานอดิเรก อ่านหนังสือ ดูหนังฟังเพลง ใช้เวลาไปกับคนที่เรารัก ฯลฯ ซึ่งจะช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลาย และมีความสุข โดยเวลาส่วนตัว ไม่จำเป็นต้องต่อเนื่องกันยาว 8 ชั่วโมง อาจแบ่งเวลาตามความเหมาะสมและสถานการณ์เอื้ออำนวย

อย่างไรก็ตาม คนเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงปัญหา และคงไม่มีใครที่ไม่เคยเจออุปสรรค ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ คือ ต้องเตรียมความพร้อมสุขภาพกายและใจของเรา นอกจากนี้ ต้องพยายามฝึกให้เป็นคนคิดแบบ Positive เพราะการมีทัศนคติที่ดีเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราสามารถผ่านพ้นช่วงเวลาที่รู้สึกแย่ และหมดไฟไปได้

แต่หากลองฮีลใจตัวเองแล้วพบว่า ยังมีอาการเบื่อหน่าย ขาดสมาธิ กินไม่ได้ นอนไม่หลับหรือนอนมากเกินไป รู้สึกตัวเองไม่มีคุณค่าเกิน 2 สัปดาห์ขึ้นไป แนะนำให้ไปปรึกษาแพทย์ เพื่อหาทางออกดู อย่าปล่อยทิ้งไว้

.

อ้างอิง

.

fastcompany

linkedin

theguardian

ooca

topdoctors