‘ไบรอัน เชสกี’ ซีอีโอ Airbnb: “ที่ทำงานไม่ใช่ครอบครัว เพราะครอบครัวจะไม่ไล่ใครออก”

‘ไบรอัน เชสกี’ ซีอีโอ Airbnb: “ที่ทำงานไม่ใช่ครอบครัว เพราะครอบครัวจะไม่ไล่ใครออก”

‘ไบรอัน เชสกี’ ซีอีโอ Airbnb เล่าประสบการณ์การเลิกจ้างพนักงานช่วงโควิด-19 ซึ่งทำให้เขาตกผลึกได้ว่า “ที่ทำงานไม่ใช่ครอบครัว”

KEY

POINTS

  • ในปี 2020 Airbnb เลิกจ้างพนักงานราว 1,900 ชีวิต และระงับโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการแชร์บ้าน โดย ‘ไบรอัน เชสกี’ ซีอีโอ Airbnb ตัดสินใจเขียนจดหมายถึงพนักงาน เพื่อแจ้งว่าบริษัทจะเลิกจ้างพนักงานบางส่วน 
  • ในความเห็นของผู้นำองค์กรชั้นนำ ต่อให้ที่ทำงานปฏิบัติกับคุณดีแค่ไหน คุณก็ไม่ควรมองที่ทำงานเป็นเหมือนครอบครัว 
     

“ไม่ว่าคุณจะชื่นชอบเพื่อนร่วมงานมากแค่ไหน จงอย่าคิดว่าที่ทำงานเป็นครอบครัว” 

นี่เป็นคำพูดของ ‘ไบรอัน เชสกี’ (Brian Chesky) ซีอีโอ และผู้ร่วมก่อตั้ง ‘Airbnb’ แพลตฟอร์มที่นักเดินทางใช้ค้นหาและจองห้องพักได้ทั่วโลก 

เมื่อเดือนพฤษภาคม 2567 เชสกี ซึ่งตกผลึกเรื่องนี้จากประสบการณ์ตรง บอกเล่าความรู้สึกผ่านรายการพอดแคสต์ ‘ReThinking’ ของ ‘อดัม แกรนต์’ (Adam Grant) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาองค์กรและนักเขียนเจ้าของผลงาน Best seller หลายเล่ม 

ย้อนไปเมื่อปี 2020 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 ระดับสูงสุด เชสกีได้เขียนจดหมายถึงพนักงาน เพื่อแจ้งว่าบริษัทจะเลิกจ้างพนักงานบางส่วน โดยข้อความบางช่วงบางตอนเขาเขียนว่า 

“ผมรักพวกคุณมากเหลือเกิน” 

ระหว่างการสัมภาษณ์ดังกล่าว เขาเผยเหตุผลที่เลือกใช้คำว่า ‘รัก’ โดยระบุว่ามันเป็นความรู้สึกของเขาในเวลานั้นจริง ๆ ทั้งยังยืนยันว่าเขาได้ตรวจสอบรายชื่อพนักงานทุกคนที่ถูกเลิกจ้างด้วยตนเอง เพื่อความละเอียดถี่ถ้วนและเพื่อให้มั่นใจว่ามันจะเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องในระยะยาว  

จากข้อมูลของ Fortune ระบุว่า ในปี 2020 Airbnb เลิกจ้างพนักงานราว 1,900 ชีวิต และระงับโครงการที่ไม่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการแชร์บ้าน เช่น การผลิตภาพยนตร์ และการเดินทาง อย่างไรก็ตาม สองปีต่อมา Airbnb ประกาศอนุญาตให้พนักงานทำงานจากที่ไหนก็ได้ โดยไม่กระทบต่อเงินเดือนของพวกเขา 

เชสกีเผยว่า ส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาตัดสินใจเขียนจดหมายถึงพนักงาน เพราะเขารู้สึกว่าการที่บริษัทอื่น ๆ ออกประกาศเลิกจ้างอย่างเป็นทางการนั้น ค่อนข้าง ‘ไร้มนุษยธรรม’ จนดูไม่เหมือนเป็นข้อความจากมนุษย์ด้วยกัน แต่ดูเหมือนเป็นการแจ้งจาก AI มากกว่า เผลอ ๆ AI ยังอาจจะแสดงความเห็นอกเห็นใจมากกว่าประกาศเลิกจ้างส่วนใหญ่เสียอีก 

สาเหตุที่ประกาศเลิกจ้างเหล่านั้นดูแข็งทื่อ ไร้ความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์ เชสกีแสดงความเห็นว่า เป็นเพราะเหล่าซีอีโอไม่ชอบความเสี่ยง พวกเขาไม่ได้อ่อนแอ แต่กลัวที่จะพูดผิด และพวกเขาไม่ได้พูดทุกอย่างออกมาจากใจจริง ๆ ทว่ามีทนายความ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล และคนอื่น ๆ คอยช่วยเหลืออยู่เบื้องหลัง 

ท่ามกลางการเลิกจ้าง ที่ยังคงเกิดขึ้นหลังผ่านพ้นปี 2020 มีการตั้งข้อสังเกตว่าหลายบริษัทดำเนินการเลิกจ้างอย่างไม่เหมาะสม เช่น ในเดือนธันวาคม ปี 2021 ‘วิชาล การ์จ’ (Vishal Garg) ซีอีโอของ Better.com ได้ประกาศเลิกจ้างพนักงานประมาณ 900 คน ผ่านทาง zoom call โดยกล่าวว่า “หากคุณอยู่ในสายนี้ คุณเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้เคราะห์ร้ายที่กำลังถูกเลิกจ้าง การจ้างงานของคุณที่นี่ได้สิ้นสุดลงแล้ว โดยมีผลในทันที” 

การบอกเลิกจ้างฟ้าผ่ากลาง zoom ทำให้การ์จต้องออกจดหมายขอโทษพนักงานในภายหลัง ในจดหมายระบุว่า เขาล้มเหลวที่จะแสดงให้เห็นถึง ‘ความเคารพ’ และ ‘ความขอบคุณ’ ต่อกลุ่มพนักงานที่ถูกเลิกจ้าง 

แต่ต่อให้ที่ทำงานปฏิบัติกับคุณดีแค่ไหน ทั้งในยามเป็นพนักงาน และในยามที่ถูกเลิกจ้าง คุณก็ไม่ควรมองที่ทำงานเป็นเหมือนครอบครัว 

เพราะอะไรน่ะเหรอ?

ก่อนอื่นต้องเข้าใจก่อนว่า ในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 แนวคิดในการสร้าง ‘ความภักดี’ ได้รับความนิยมอย่างมากในหมู่บริษัทเทคโนโลยี ซึ่งแต่ละแห่งต่างนำเสนอสิทธิประโยชน์เย้ายวนใจพนักงานสุด ๆ ไม่ว่าจะเป็นอาหารฟรี บริการซักแห้ง และห้องออกกำลังกาย ซึ่งท้ายที่สุดทำให้พนักงานใช้เวลาหมกมุ่นอยู่ในที่ทำงานมากกว่าอยู่บ้านตัวเอง

แต่ปัจจุบัน เชสกีมีมุมมองต่อเรื่องนี้แตกต่างออกไป สะท้อนจากคำพูดของเขาที่ว่า “แนวคิดเรื่องที่ทำงานเป็นเหมือนครอบครัว เป็นเครื่องมือสร้างแรงจูงใจที่มีประสิทธิภาพ แต่ก็อาจทำให้นายจ้างและพนักงานทำงานได้ยากเช่นกัน

“ผมเขียนจดหมายฉบับนั้นค่อนข้างเร็ว” เชสกีกล่าวและว่า “ผมไม่มีเวลามากนัก ผมจึงเขียนในสิ่งที่ผมรู้สึก และผมค่อนข้างสะเทือนอารมณ์ตอนที่เขียน เป็นความจริงเลยว่าที่ทำงานไม่ใช่ครอบครัว 

“เราเคยเรียกตัวเองว่าครอบครัว แล้วเราต้องเลิกจ้างคน หรือไม่พวกเขาก็ต้องออกจากที่ทำงาน ทั้งที่หากเป็นครอบครัว คุณจะไม่ไล่สมาชิกในครอบครัวออก”

ถึงกระนั้น เชสกียังเชื่อมั่นว่า แม้ที่ทำงานจะไม่ใช่ครอบครัว แต่ ‘ความไว้วางใจ’ ยังเป็นส่วนสำคัญสำหรับทีมที่ดี และถึงแม้ ‘เพื่อนร่วมงาน’ จะไม่ใช่ ‘พี่น้อง’ แต่ก็อาจมี ‘สายสัมพันธ์’ ที่แนบแน่นยิ่งกว่า ‘สัญญาจ้างงาน’ ได้ 

คำถามต่อมาคือ หากไม่มองเป็นครอบครัว แล้วเราควรมีมุมมองต่อที่ทำงานอย่างไร?

เรื่องนี้ ‘รีด แฮสติงส์’ (Reed Hastings) ซีอีโอ และผู้ร่วมก่อตั้ง ‘Netflix’ ตอบง่าย ๆ ว่า ให้มองที่ทำงานเหมือน ‘ทีมกีฬามืออาชีพ’ 

“คุณควรจัดระเบียบแนวคิดว่า ทุกคนต้องต่อสู้เพื่องานของตนเองในทุกปี เช่นเดียวกับในกีฬาอาชีพ” แฮสติงส์ให้สัมภาษณ์กับมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พร้อมกับบอกด้วยว่า “ถ้าคุณคว้าถ้วยสแตนลีย์มาได้ นั่นแปลว่าคุณได้รวบรวมนักกีฬาฮอกกี้ที่น่าทึ่งที่สุดมาอยู่ร่วมกันได้” 

จากมุมมองของผู้นำองค์กรคนนี้ การมองที่ทำงานเป็นครอบครัวอาจเป็นปัญหาได้ โดยเฉพาะในตอนที่ต้องตำหนิใครคนใดคนหนึ่ง หรือตอนที่ต้องเลิกจ้างพนักงาน

“ในครอบครัว คุณจะดูแลพี่น้อง พ่อแม่ และลูก ๆ ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม แม้ว่าพวกเขาจะติดคุก หรือทำอะไรผิด คุณก็จะอยู่เคียงข้างพวกเขา” แฮสติงส์ กล่าว

การใช้คำว่า ‘ครอบครัว’ ยังอาจทำให้นายจ้างอยู่ในสถานการณ์ที่สามารถ ‘เอาเปรียบ’ พนักงานได้ ดังที่ ‘โจชัว เอ. ลูนา’ (Joshua A. Luna) ได้เขียนบทความไว้ใน Harvard Business Review เมื่อปี 2021 ว่า “ยิ่งคุณรู้สึกมีความผูกพันทางอารมณ์กับองค์กรมากเท่าไร ผู้จัดการจะสามารถขอให้คุณทำในสิ่งที่นอกเหนือจากงานประจำได้มากขึ้นเท่านั้น เหมือนเวลาที่เราขอให้น้องชายหรือน้องสาวทำอะไรบางอย่าง” 

และหากคุณไม่ยอมทำงานที่นอกเหนือจากงานประจำ คุณก็อาจไม่เป็นที่ยอมรับ หรือร้ายสุดคือถูกไล่ออก 

ดังนั้นการเปรียบที่ทำงานเป็นเหมือนกีฬาอาชีพ นอกจากจะทำให้พนักงานรู้สึกถึงความสำคัญในการเป็นส่วนหนึ่งของทีม มันยังทำให้พวกเขามุ่งมั่นที่จะรักษาประสิทธิภาพในการทำงานอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

 

เรียบเรียง : พาฝัน ศรีเริงหล้า 
ภาพ : Getty Images

อ้างอิง :
Airbnb CEO shares the mistake he made while conducting Covid-era layoffs: ‘A company’s not a family’
"Company Is Not Family": Airbnb CEO Brian Chesky Shares Mistake He Made During Layoffs
Airbnb CEO reveals a major mistake during pandemic layoffs