จากเด็กที่เคยดรอปเรียน ‘บิล สมิธ’ ปั้นธุรกิจสตาร์ทอัพยังไง? ให้ยักษ์ใหญ่ขอซื้อกิจการ

จากเด็กที่เคยดรอปเรียน ‘บิล สมิธ’ ปั้นธุรกิจสตาร์ทอัพยังไง? ให้ยักษ์ใหญ่ขอซื้อกิจการ

เรื่องราวของ ‘บิล สมิธ’ ผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นนักธุรกิจตั้งแต่อายุ 5 ขวบ เขาออกจากโรงเรียนตั้งแต่อายุ 16 ปี เพื่อไปตั้งบริษัทขายโทรศัพท์มือถือ กระทั่งกลายเป็นเศรษฐีที่ทำเงินจากการขายบริษัท 3 แห่ง

  • ‘บิล สมิธ’ มีความฝันอยากเป็นนักธุรกิจเพราะได้แรงบันดาลใจจากพ่อ ในวันคล้ายวันเกิดครบ 5 ปี เขาขอ “กระเป๋าเอกสาร” เป็นของขวัญวันเกิด
  • ‘บิล สมิธ’ กลายเป็นเศรษฐีหลังจากขายบริษัทแห่งที่ 2 ของตัวเอง แต่เขากลายเป็นคนดังจริง ๆ ตอนที่ขายบริษัทแห่งที่ 3 นั่นคือ ‘Shipt’

วัยรุ่นที่ใฝ่ฝันอยากเป็นเจ้าของธุรกิจ ส่วนใหญ่จะตั้งใจเรียนให้ได้เกรดดี ๆ เพื่อเข้าเรียนด้านการบริหารหรือการตลาดในมหาวิทยาลัย แล้วค่อยจบออกมาทำงาน

แต่ ‘บิล สมิธ’ ผู้ใฝ่ฝันอยากเป็นนักธุรกิจตั้งแต่ 5 ขวบ ไม่คิดแบบนั้น 

เมื่อเขาอายุ 16 ปี และกำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปลาย เขาตัดสินใจเช่าสำนักงานเพื่อตั้งบริษัทขายโทรศัพท์มือถือ โดยไม่บอกพ่อแม่ 

ท้ายที่สุดความก็แตก เพราะเขาต้องเอาเวลาไปโฟกัสกับธุรกิจที่กำลังเติบโต ทำให้ต้องหยุดเรียนบ่อย ครูที่ปรึกษาจึงเรียกพ่อของเขาไปพบ

แต่แทนที่ครูจะโน้มน้าวให้บิลกลับมาเรียน ครูกลับพูดกับพ่อของเขาว่า “เราไม่ห่วงอะไรบิลเลย เขาจะไม่เป็นอะไร” ซึ่งเป็นสิ่งที่เซอร์ไพรส์บิลมาก เขามั่นใจว่าประโยคลักษณะนี้จะไม่ได้ยินจากครูในโรงเรียนทั่วไปแน่นอน 

พ่อของเขาต้องใช้เวลาสักพักกว่าจะทำใจได้ แต่เมื่อทำใจได้แล้ว พ่อของเขาก็ประกาศว่า “ตามนั้นเลย เขาจะได้ทำในสิ่งที่เขาอยากจะทำ” 

ไม่เพียงสนับสนุนด้วยคำพูดเท่านั้น พ่อของเขายังผันตัวมาเป็นนักลงทุนคนแรกในบริษัทขายโทรศัพท์มือถือของบิลด้วย

บิลเล่าว่า “พ่อเปลี่ยนท่าทีไปเลย แล้วเรื่องนี้ก็จบลงตรงที่ผมได้เป็นหุ้นส่วนกับพ่อในการทำบริษัทแรกของผม หลังจากนั้นพ่อก็ลงทุนในทุกอย่างที่ผมทำ” 

 

ทำไมบิลถึงอยากเป็นนักธุรกิจตั้งแต่เด็ก?

ความจริงแล้วแรงบันดาลใจที่ทำให้บิลอยากเป็นนักธุรกิจไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็นพ่อของเขานี่แหละ 

บิลล์เล่าว่า “พ่อของผมเป็นนักธุรกิจในธุรกิจโทรศัพท์มือถือ ผมเติบโตมาพร้อมกับได้เห็นว่าพ่อทำธุรกิจที่หลากหลาย ผมขอกระเป๋าเอกสารเป็นของขวัญวันเกิดอายุ 5 ขวบ เพราะผมอยากเข้าไปอยู่ในโลกธุรกิจ นั่นเป็นจุดเริ่มต้นให้ผมฝันที่จะมีธุรกิจเป็นของตัวเอง” 

ส่วนการไปเรียนที่โรงเรียนนั้น เป็นสิ่งที่บิลสารภาพว่า “ไม่ชอบเลย” 

ระหว่างตั้งบริษัทขายโทรศัพท์มือถือ บิลเรียนระบบการศึกษานอกโรงเรียนจนได้วุฒิมัธยมปลาย เขาเคยลองเข้าไปเรียนที่วิทยาลัยในช่วงสั้น ๆ แต่ก็ค้นพบอย่างรวดเร็วว่าการเรียนในระบบไม่เหมาะกับเขา เพราะการเป็นนักธุรกิจหรือผู้ประกอบการเป็นสิ่งที่ไม่มีสอนในสถาบันการศึกษา 

ที่สำคัญเขายังตั้งคำถามว่า คนที่มาสอนก็ไม่เคยทำธุรกิจมาก่อน จะมาสอนให้เขาเป็นนักธุรกิจได้ยังไง 

การก่อตั้งบริษัทแห่งที่สอง 'Insight Card Services'

หลังทำธุรกิจโทรศัพท์มือถือได้ 3 ปี จนสามารถเปิดร้านขายมือถือ 2 สาขา ทำเงินได้เดือนละ 4,000 - 5,000 ดอลลาร์สหรัฐ เขาก็เริ่มมองหาธุรกิจตัวต่อไป

ย้อนไปเมื่อปี 2009 บิลได้ไปชมงานสัมนาเทคโนโลยีพรีเพด ที่นั่นเขาได้พบกับนักพัฒนาซอฟต์แวร์ เขาไม่รอช้ารีบยิงคำถามที่สงสัยเกี่ยวกับระบบชำระเงินล่วงหน้าเป็นชุด ๆ 

“ผมมีความสนใจในธุรกิจนี้มาก และวิธีที่ผมเรียนรู้คือการไปพบปะผู้คนและยิงคำถามใส่นับล้านคำถาม ผมทำอย่างนี้มาตั้งแต่เด็ก และยังคงทำจนถึงวันนี้”

งานสัมนาในวันนั้นทำให้เขาได้แรงบันดาลใจในการเริ่มต้น ‘Insight Card Services’ บริษัทบัตรเครดิตแบบชำระเงินล่วงหน้า 

 

 

 

เขายอมรับว่า ในเวลานั้นเขายังเป็นเด็ก ที่ไม่มีปริญญาด้านการตลาดเหมือนผู้บริหารคนอื่น ๆ แต่เขาก็ได้เรียนรู้เรื่องการจัดการ การตัดสินใจแบบผู้บริหาร และการวางแผนทางการเงิน ในระหว่างเริ่มต้นบริษัทสตาร์ทอัพนี้

ไม่กี่ปีหลังจากนั้น บิลได้เข้าร่วมงานสัมนาอีกงานที่เปลี่ยนวิถีการทำธุรกิจของเขาไปอย่างสิ้นเชิง

ในงานดังกล่าว ‘สตีฟ สเตรนจ์’ ซีอีโอของ ‘Green Dot’ ซึ่งเป็นคู่แข่งสำคัญของ Insight เดินเข้ามาและแนะนำตัวเอง

“เขาบอกว่า เขาได้ยินเรื่องของผม และอยากคุยกับผมช่วงบ่ายวันนี้ สะดวกมั้ย”

เมื่อบิลยอมไปคุยกับสตีฟ สตีฟไม่รอช้า เขารีบเสนอตัวขอซื้อ Insight จากบิลอย่างไม่อ้อมค้อม แต่บิลไม่ได้ตอบตกลงในทันที เขาเก็บไปคิดแล้วคิดอีกอยู่หลายเดือนก่อนจะยอมรับข้อเสนอจากสตีฟ และขายธุรกิจที่สองของตัวเองขณะมีอายุ 24 ปี เมื่อปี 2014

จนถึงวันนี้ยังไม่มีการเปิดเผยว่าสตีฟทุ่มเงินมากแค่ไหนเพื่อซื้อ Insight แต่นับจากวันนั้นสตีฟก็กลายเป็นหนึ่งในหุ้นส่วนของบิล ทั้งสองยังคงเป็นเพื่อนกันจนถึงปัจจุบัน อีกทั้งสตีฟยังเป็นกรรมการในบริษัทสตาร์ทอัพต่อไปของบิลด้วย

แม้บิลจะได้ชื่อว่าเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ หลังจากที่เขาขายบริษัทที่สองของตัวเอง แต่ไอเดียต่อไปต่างหากที่ทำให้เขากลายเป็นคนดัง

จุดเริ่มต้นของ Shipt บริษัทสตาร์ตอัพแห่งที่สามของบิล

ณ เวลานั้น เรื่องของ on-demand economy (กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่สร้างขึ้นโดยบริษัทเทคโนโลยีที่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในทันที) กำลังมาแรง 

เห็นได้จากการที่ ‘Amazon Prime’ ค่อย ๆ สร้างบริการสตรีมมิ่งวิดีโอแบบ on-demand ขณะที่ ‘Uber’ เริ่มเป็นกระแสในซิลิคอนแวลลีย์ ตัวอย่างเหล่านี้ทำให้บิลรู้ในทันทีเลยว่าเขาต้องกระโจนเข้าหาเทรนด์ on-demand 

ไอเดียของเขาเกิดขึ้นจากปัญหาเรื่องการช้อปปิ้ง ซึ่งเขามองว่าทั้งกินเวลาชีวิตและเสียพลังงานสุด ๆ 

การก่อตั้ง Shipt ในช่วงแรก จึงเป็นการมุ่งสร้างธุรกิจเกี่ยวกับการส่งสินค้าจากห้างค้าปลีกให้ถึงมือลูกค้าภายในวันเดียว 

โดยบิลจะให้ลูกค้าที่ประสบปัญหาเดียวกับเขา เข้าไปในเว็บไซต์ของห้างค้าปลีก แล้วกดสั่งสินค้า จากนั้นลูกค้าต้องเข้าไปที่แพลตฟอร์มของ Shipt เพื่อโยนสินค้าที่เลือกลงไปในแพลตฟอร์ม ต่อมา Shopper (ลูกค้าเครือข่ายของ Shipt) จะรับออร์เดอร์เหล่านั้น แล้วไปหยิบสินค้าจากเชลฟ์เพื่อส่งให้ลูกค้า 

แต่ระบบนี้ไม่เวิร์ก เพราะลูกค้าต้องการแพลตฟอร์มที่ทำทุกอย่างได้จบในแพลตฟอร์มเดียว 

กระทั่งเดือนมกราคม 2015 ไม่กี่วันหลังจากที่ลูกคนที่สองของบิลลืมตาดูโลก เขาต้องเจอประสบการณ์การช้อปปิ้งที่หนักหนาสาหัส ขณะหอบหิ้วลูกสองคนไปซื้อของด้วย 

“ผมกับภรรยาออกไปที่ร้านขายของชำเป็นครั้งแรก พร้อมกับลูกคนโตอายุ 1 ขวบ และลูกอีกคนที่เพิ่งเกิด นี่เป็นเรื่องเจ็บปวดมาก ลูกทั้งสองคนร้องไห้ในร้าน แล้วเราก็ต้องรีบเผ่นออกจากร้าน"

“พอไปถึงที่จอดรถร้านขายของชำ ผมบอกกับภรรยาว่า คุณรู้มั้ย มีคนมากมายที่ต้องการบริการจัดส่งของชำ และผมต้องหาวิธีแก้ปัญหานี้ให้ได้”

วันต่อมา บิลไปถึงที่ทำงานและแจ้งพนักงานว่า ทุกคนต้องใช้ความพยายามทั้งหมดเพื่อสร้างแพลตฟอร์มที่สมบูรณ์เพียงหนึ่งเดียว ให้ลูกค้าสามารถทำได้ทุกอย่าง ตั้งแต่การเลือกซื้อสินค้าไปจนถึงการจัดส่ง 

เขาเล่าว่า ตอนนั้นไม่มีใครเสนอทางเลือกในการซื้อสินค้าที่ร้านของชำเลย มีแต่การซื้อสินค้าทั่วไปในร้านค้าปลีกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์อย่าง ‘เบสต์ บาย’ (Best Buy)

บิลยังประกาศกับพนักงานว่า ถ้าหาลูกค้าสมาชิกได้ครบ 1,000 คน เขาจะมอบสิทธิในการซื้อหุ้นของบริษัทให้พนักงาน 

“ผมบอกว่า ถ้าพวกคุณเอาจริงเอาจัง มันจะออกมาเจ๋ง และทุกคนก็จะได้เข้าไปนั่งในบอร์ด” 

พนักงานทั้งทีมจึงไม่รอช้า รีบพับแขนเสื้อลงมือรวบรวมรายชื่อของชำจากร้านต่าง ๆ เข้าระบบ 

ต่อจากนั้น บิลก็ใช้เงินไม่กี่ดอลลาร์ถ่ายทำวิดีโอความยาว 60 วินาที เพื่ออธิบายเกี่ยวกับการให้บริการของ Shipt แล้วนำไปโพสต์บนเฟซบุ๊ก 

ภายในเวลา 3 วัน ชิปต์ก็ขายสมาชิกในเบอร์มิงแฮมครบ 1,000 ราย ซึ่งพิสูจน์ว่ามีดีมานด์นี้จริง ๆ 

Shipt ขยายตัวอย่างรวดเร็วไปทั่วสหรัฐฯ ช่วงนั้นบิลทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ และคอยตอบคำถามลูกค้าที่โทรเข้ามาด้วยตัวเอง

อะไรที่ทำให้ Shipt โดดเด่น?

Shipt ให้บริการส่งสินค้าภายในวันเดียวให้กับสมาชิกที่จ่าย 99 ดอลลาร์ต่อปี หรือ 14 ดอลลาร์ต่อเดือน โดยหลังจากลงทะเบียนเป็นสมาชิกแล้ว สมาชิกจะสามารถซื้อสินค้าผ่านแอปหรือทางออนไลน์ โดยเลือกออปชั่นจัดส่งและจ่ายเงินได้เลยในแพลตฟอร์มเดียว

ต่อมา Shopper ของ Shipt จะไปยังร้านค้า แล้วหยิบสินค้าจากเชลฟ์เพื่อนำไปจัดส่งยังบ้านของลูกค้า 

Shipt ขยายบริการไปยังห้าง 80 แห่งในสหรัฐฯ เริ่มแรกมีเครือข่าย Shopper 40,000 คน ก่อนจะเพิ่มเป็น 1 แสนคนในช่วงสิ้นปีแรกที่ให้บริการ 

Shopper แต่ละคนรับซื้อสินค้าเป็นเงินประมาณ 25 ดอลลาร์ต่อออร์เดอร์ แต่ละออร์เดอร์ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 

ภายในเวลาไม่นาน Shipt ก็สามารถทำเงินได้ 100 ล้านดอลลาร์ ต่อมาในเดือนธันวาคม 2017 Shipt มีออร์เดอร์เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว บริษัทประเมินว่ายอดขายจะแตะ 1 พันล้านดอลลาร์ในปี 2018

บิลเชื่อว่า Shipt มีกุญแจสำคัญที่ทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จ ประการแรกคือการเน้นไปที่เมืองรองอย่างเบอร์มิงแฮม รวมถึงแทมป้าและออร์แลนโด้ ในรัฐฟลอริด้า ซึ่งทำให้ลูกค้าจำภาพว่า Shipt คือผู้สร้างตลาด และอีกประการคือ Shopper 

“กุญแจสำคัญของความสำเร็จคือ Shopper ที่เหนือกว่าคู่แข่ง เช่น เมื่อลูกค้าสมาชิกคนหนึ่งสั่งยาแก้ไอสำหรับเด็ก หรือสั่งสินค้าที่ทำให้รู้ว่าบ้านของลูกค้าคนนั้นมีเด็กที่กำลังป่วย Shopper ของเราจะไม่หยิบแค่ยาแก้ไอ แต่จะหยิบลูกโป่งไปส่งให้ลูกค้าด้วย” 

ห้าง Target ทุ่มซื้อ Shipt 

บิลเล่าว่า เขาเป็นคนชวนห้าง Target มาเป็นหุ้นส่วนตั้งแต่ช่วงก่อตั้ง Shipt แต่ไม่ประสบความสำเร็จ กระทั่งฤดูร้อนปี 2017 ที่ทีมของ Target แสดงความสนใจใน Shipt

“การสนทนาเปลี่ยนจากการเป็นหุ้นส่วนมาเป็นการลงทุนเพื่อซื้อกิจการทั้งหมด ผมได้ประชุมกับหัวหน้าระดับอาวุโสบางคนของ Target เป็นที่ชัดเจนว่าพวกเขาสนับสนุนพวกเราเป็นอย่างมากในสิ่งที่เรากำลังทำ และนี่เป็นการจับคู่ที่ยอดเยี่ยม” บิลกล่าว 

ในเดือนธันวาคม 2017 Target เข้าซื้อกิจการของชิปต์เป็นเงินมากกว่า 500 ล้านดอลลาร์ 

‘จอห์น มุลลิแกน’ ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหารของ Target แถลงว่า “บริการจัดส่งสินค้าภายในวันเดียวเป็นบริการที่ลูกค้าของเราถามหามากขึ้น การเข้าซื้อกิจการของ Shipt ทำให้เราได้ประโยชน์จากเครือข่ายร้านค้า และแพลตฟอร์มเทคโนโลยีของ Shipt รวมถึงเครือข่าย Shopper เพื่อการจัดส่งสินค้าอย่างรวดเร็วภายในวันเดียว ให้แก่ลูกค้าหลายล้านคนของเรา” 

Shipt ยังคงเป็นบริษัทลูกของ Target แต่สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างเป็นอิสระ และให้บริการกับค้าปลีกรายอื่น ๆ ได้ นอกจากนี้ยังดำเนินธุรกิจของตัวเองจากสำนักงานในเบอร์มิงแฮมและซานฟรานซิสโก

บิลกล่าวถึงความสำเร็จของ Shipt ว่า มีรากฐานมาจากคอนเซ็ปต์ที่เรียบง่าย นั่นคือการปฏิบัติต่อผู้คน (ทั้งพนักงานและลูกค้า) เป็นอย่างดี ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถสร้างความแตกต่างได้ 

“ผมคิดว่ามันเป็นวิธีที่เรียบง่ายมาก ๆ ที่จะประสบความสำเร็จในทุก ๆ เรื่อง แต่หลายคนก็หลงลืมมันไป” 

แม้จะโกยเงินจากการขาย Shipt ให้ Target เป็นจำนวนมาก แต่บิลก็ไม่ได้หยุดพักไปใช้เงินให้สมกับความมั่งคั่ง

เขาออกจาก Shipt ในปีเดียวกันนั้นเอง แล้วเริ่มทำบริษัทใหม่ที่ชื่อว่า 'Landing' ซึ่งเป็นบริการจัดหาอพาร์ตเมนต์ให้เช่า โดยเมื่อปี 2021 เขาเพิ่งย้ายสำนักงานใหญ่ของ Landing จากซานฟรานซิสโกกลับมายังเมืองเบอร์มิงแฮม ซึ่งเป็นทั้งบ้านเกิดและจุดเริ่มต้นในการเป็นสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีของเขา  

บิลกล่าวเมื่อปี 2018 ว่า ในขณะที่ธุรกิจของเขากำลังเติบโต เขาตั้งเป้าที่จะทำให้เบอร์มิงแฮมเป็นศูนย์กลางของการเป็นผู้ประกอบการ 

ปัจจุบัน Landing เป็นผู้จัดหาที่อยู่อาศัยสำหรับมืออาชีพที่ต้องเดินทางบ่อย โดยเสียค่าธรรมเนียมเป็นรายเดือน กระจายอยู่ในกว่า 80 เมือง และกำลังเติบโตอย่างต่อเนื่องพร้อมกับตลาดที่อยู่อาศัยระดับพรีเมี่ยมทั่วสหรัฐฯ 

 

ภาพ hellolanding 

อ้างอิง:

CNBC

foundr

al