‘เอริค หยวน’ ผู้ก่อตั้ง ZOOM ที่ยึดคติ ‘พนักงานต้องมีความสุข’ สู่วันเลย์ออฟ 1,300 ชีวิต

‘เอริค หยวน’ ผู้ก่อตั้ง ZOOM ที่ยึดคติ ‘พนักงานต้องมีความสุข’ สู่วันเลย์ออฟ 1,300 ชีวิต

‘ZOOM’ เลย์ออฟพนักงาน 1,300 คน ถือเป็นอีกหนึ่งข่าวช็อกของวงการเทค เพราะครั้งหนึ่ง ‘เอริค หยวน’ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง เคยยึดคติการทำให้พนักงานและลูกค้ามีความสุข

  • ‘เอริค หยวน’ ซีอีโอและผู้ก่อตั้ง ‘ZOOM’ แจ้งเลิกจ้างพนักงาน 1,300 คน พร้อมแสดงความรับผิดชอบด้วยการลดเงินเดือน 98% ในปีงบประมาณ 2023 และไม่รับโบนัส
  • ‘เอริค หยวน’ เชื่อว่าการสร้างความสุขให้ลูกค้าจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากพนักงานของบริษัทไม่มีความสุข เขาเคยกล่าวว่าพนักงานของ ‘ZOOM’ ชอบวัฒนธรรมองค์กร เพราะมันทำให้พวกเขามีความสุข 

ในที่สุด ‘ZOOM’ บริษัทผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ด้านการประชุมทางไกลชื่อดังก็ไม่อาจต้านกระแสเลย์ออฟที่กำลังลามไปทั่วอุตสาหกรรมเทคโนโลยีได้ 

เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ‘เอริค หยวน’ ซีอีโอและผู้ก่อตั้งแพลตฟอร์ม ‘ZOOM’ แจ้งข่าวร้ายกับพนักงานว่า บริษัทจะเลิกจ้างพนักงาน 15% หรือประมาณ 1,300 คน 

‘เอริค’ กล่าวในจดหมายที่ส่งถึงพนักงานของ ‘ZOOM’ หรือ ‘Zoomies’ ว่า

“ในขณะที่โลกปรับเข้าสู่ชีวิตหลังการระบาดใหญ่ แม้ผู้คนและธุรกิจต่าง ๆ ยังคงต้องพึ่งพา ZOOM แต่ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก และผลกระทบที่มีต่อลูกค้าของเรา เป็นเหตุผลให้เราต้องทำในสิ่งที่ยาก แต่สำคัญ ด้วยการมองลึกเข้าไปข้างในเพื่อรีเซ็ตตัวเอง เพื่อให้เราสามารถฝ่าฟันสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจ รวมถึงทำตามสัญญาที่ให้ไว้กับลูกค้า และบรรลุวิสัยทัศน์ระยะยาวของ ZOOM”

‘เอริค’ ยอมรับว่า เขาต้องรับผิดชอบต่อความผิดพลาดที่เกิดขึ้น และเขาได้ทำในสิ่งที่ซีอีโอน้อยคนจะทำ นั่นคือการลดเงินเดือนตัวเอง 98% และปฏิเสธที่จะรับโบนัสในปีงบประมาณที่จะถึงนี้ 

“ผมต้องการแสดงความรับผิดชอบ ไม่ใช่แค่ผ่านคำพูด แต่รวมถึงการรับผิดชอบผ่านกระทำของผมด้วย” 

ส่วนผู้บริหารคนอื่น ๆ ของ ‘ZOOM’ ก็พร้อมใจกันไม่รับโบนัสจากบริษัทเช่นกัน นอกจากนี้พวกเขาจะลดเงินเดือนตัวเองลง 20% ด้วย
 

สำหรับ ‘Zoomies’ ที่จะไม่ได้ไปต่อ จะได้เงินชดเชยพิเศษเป็นเงินเดือนสูงสุด 16 สัปดาห์ รวมถึงประกันสุขภาพ โบนัสประจำปี 2023 และบริการจัดหางานใหม่

‘ZOOM’ ได้รับความนิยมอย่างมากในช่วงที่โควิด-19 ระบาด เพราะผู้คนถูกบีบให้ทำงานจากที่บ้านและหันไปใช้ซอฟต์แวร์วิดีโอแชท เพื่อติดต่อกับเพื่อนร่วมงานและครอบครัว ส่งผลให้เมื่อเดือนตุลาคม 2020 หุ้นของ ‘ZOOM’ แตะระดับสูงสุดที่ 559 ดอลลาร์ต่อหุ้น 

แต่เมื่อมีการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด ซึ่งทำให้การทำงานจากระยะไกลกลายเป็นเรื่องไม่จำเป็นสำหรับนายจ้าง การเติบโตของ ‘ZOOM’ จึงชะลอตัวลงอย่างมาก กระทั่งหุ้นของบริษัทกลับไปสู่ระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโรคระบาด 

“เราทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย และพัฒนา ZOOM ให้ดีขึ้นสำหรับลูกค้าและผู้ใช้งาน แต่เราก็ทำผิดพลาดเช่นกัน” เอริคกล่าวและว่า “เราไม่ได้ใช้เวลามากเท่าที่ควรในการวิเคราะห์ทีมของเราอย่างถี่ถ้วน หรือประเมินว่าเรากำลังเติบโตอย่างยั่งยืนหรือไม่”

ท้ายจดหมาย ‘เอริค’ กล่าวว่า “เราจะเรียนรู้จากอดีตเพื่อเตรียมพร้อมสู่ความสำเร็จในอนาคต และเพิ่มความพยายามของเราเป็นสองเท่าเพื่อช่วยพัฒนา ZOOM ไปสู่วันพรุ่งนี้” 

หลัง ‘ZOOM’ ประกาศเลิกจ้างพนักงานนับพันชีวิต หุ้นของบริษัทก็พุ่งขึ้นประมาณ 9.8% ที่ระดับ 83 ดอลลาร์ 

เรื่องราวของ ‘เอริค หยวน’ ก่อนเกิด ‘ZOOM’

‘เอริค’ เกิดเมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 1970 ปีนี้เขาจะมีอายุครบ 53 ปี 

เขาเติบโตในครอบครัวชนชั้นกลาง พ่อแม่เป็นวิศวกรเหมืองแร่ทั้งคู่ แต่เขากลับสนใจการทำธุรกิจ ถึงขนาดที่ตอนเด็ก ๆ เขาออกไปเก็บขยะเพื่อไปขายให้กับร้านรีไซเคิล

แถมยังเคยก่อวีรกรรมจุดไฟเผาเศษขยะเพื่อแยกเอาแต่เศษเหล็ก จนไฟลุกลามไหม้เล้าไก่ของเพื่อนบ้าน ชาวบ้านต้องเรียกรถดับเพลิงมาดับไฟ 
 

เขาจบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยดังอย่าง Shandong Univerysity of Sciencer and Technology สาขาคณิตศาสตร์ประยุกต์

ระหว่างนั้นเขาเรียนหนักมาก ทำให้ไม่สามารถไปเจอแฟนสาวที่อยู่ต่างเมืองได้บ่อย ๆ เวลาจะไปทีก็ต้องนั่งรถไฟเบียดเสียดกับผู้โดยสารคนอื่นกว่า 10 ชั่วโมง ต้องเปลี่ยนรถไฟหลายต่อหลายเที่ยวจนแทบไม่ได้นอน เลยได้เจอแฟนสาวเพียงปีละ 2 ครั้งเท่านั้น 

นี่เป็นสาเหตุที่ทำให้ชายผู้นี้เฝ้าฝันถึงเทคโนโลยีที่จะทำให้สามารถเห็นหน้าและพูดคุยกับคนรักได้เพียงคลิ๊กเดียว 

เมื่อเรียนจบปริญญาตรี เขาเข้าเรียนต่อปริญญาโทที่มหาวิทยาลัย China University of Mining and Technology ในสาขาวิศวกรรมศาสตร์ หลังเรียนจบได้เข้าทำงานในบริษัทที่กรุงปักกิ่ง ต่อมาบริษัทจึงส่งเข้าไปฝึกงานที่กรุงโตเกียวกว่า 4 เดือน

ช่วงนี้เองที่เขามีโอกาสฟังการบรรยายของ ‘บิล เกตส์’ ที่พูดถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘อินเทอร์เน็ต’ ซึ่งในเวลานั้นคนส่วนใหญ่ในจีนยังไม่คุ้นเคยกับคำนี้

หลังฝึกงานเสร็จสิ้น เขามุ่งมั่นที่จะไปทำงานต่อในสหรัฐอเมริกา แม้จะสมัครวีซ่าไม่ผ่านถึง 8 ครั้ง  

ปี 1996 ความฝันแรกก็เป็นจริง เมื่อเขาคว้าวีซ่าทำงานที่สหรัฐอเมริกาสำเร็จ และได้เข้าทำงานเป็นโปรแกรมเมอร์ที่ ‘WebEx’ ซึ่งเป็นบริษัทสตาร์ตอัพในซิลิคอนแวลลีย์ที่ผลิตซอฟต์แวร์สำหรับการประชุมออนไลน์ หรือที่เราเรียกติดปากกันว่า ‘Video Conference’

แม้จะเป็นพนักงานที่พูดภาษาอังกฤษไม่คล่อง แต่การทำงานหนักและถ่อมตนที่เขาได้มาจากพ่อแม่ ทำให้เขาเป็นที่ยอมรับของเพื่อนพนักงาน 

เมื่อ ‘WebEx’ เข้าตลาดหุ้น และขายกิจการให้กับ ‘Cisco’ จุดเปลี่ยนสำคัญก็เกิดขึ้นกับ ‘เอริค’ 

แม้จะอยู่ในตำแหน่งรองประธานฝ่ายวิศวกร และสร้างรายได้ให้บริษัทเป็นกอบเป็นกำ แต่ ‘Cisco’ กลับมองข้ามความทุ่มเทของ ‘เอริค’ และปัดไอเดียของเขาทิ้ง 

‘เอริค’ เคยกล่าวถึงช่วงเวลามรสุมนี้ว่า 

“ทุกวันที่ลืมตาตื่นขึ้นมา ผมไม่มีความสุขเลย ไม่อยากไปทำงานที่ออฟฟิศด้วยซ้ำ” 

ในที่สุด ปี 2011 ‘เอริค’ ที่เพิ่งพ้นวัย 40 มาได้เพียง 1 ปี จึงบอกเล่าความฝันกับภรรยา (สาวที่เขาเคยนั่งรถไฟจนรากงอกไปหา) ที่อยากจะสร้างเทคโนโลยีที่ทำให้เขาสามารถเห็นหน้าเธอได้ผ่านการคลิ๊กเท่านั้น

“ผมอายุ 41 ปีแล้ว ถ้าไม่ทำตอนนี้ อาจไม่มีเวลาแล้ว ผมจะต้องเสียใจไปตลอดแน่” 

หลังจากนั้นเขาก็ลาออกจาก ‘Cisco’ ไปก่อตั้งบริษัทสตาร์ตอัพอย่างที่ตั้งใจ 

‘แดน ไชน์แมน’ อดีตผู้บริหาร ‘Cisco’ ตัดสินใจเข้าลงทุนกับบริษัทของ ‘เอริค’ หลังได้รับคำแนะนำจากคนรู้จักว่า “เอริคเป็นคนดี มีสมองด้านธุรกิจ” 

มาคนเดียวไม่พอ ‘แดน’ ยังชวน ‘จิม ไชน์แมน’ ที่ทำงานในบริษัทลงทุนมาร่วมลงขันด้วยกัน จนได้เงินมาทั้งหมด 3 ล้านเหรียญ 

และ ‘จิม’ คนนี้นี่เองที่เป็นคนตั้งชื่อบริษัทว่า ‘ZOOM’ 

‘เอริค’ สัญญากับทั้งคู่ว่าเขาจะทำงานหนักเท่าที่จะทำได้ เพื่อสร้างผลตอบแทนให้พวกเขาสิบเท่า ที่สำคัญหากบริษัทไปไม่รอด

“ผมจะหาเงินมาคืนให้ เพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนจะโอเค” เอริคให้สัญญาหนักแน่น 

พนักงาน-ลูกค้า ต้องมีความสุข 

ในช่วงเริ่มแรกของการก่อตั้งบริษัท ‘เอริค’ ยุ่งจนแทบไม่มีเวลาให้ครอบครัว เขาต้องห่างลูก ๆ 3 คนที่เขารัก แต่ขณะเดียวกันงานของเขาก็ทำให้สมาชิกของหลายล้านครอบครัวได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น 

‘เอริค’ ให้สัมภาษณ์ ‘Forbes’ เมื่อปี 2017 ว่า “ผมรู้สึกภูมิใจในสิ่งที่ผมทำ โดยเฉพาะกับครอบครัวผม เพราะถึงแม้ว่าผมต้องทำงานหนักขึ้นอีก แต่ผมก็สามารถรักษาสัญญาที่ว่า จะเดินทางไปต่างประเทศไม่เกินปีละ 2 ครั้ง เพราะเทคโนโลยีตอนนี้ดีขึ้นแล้ว” 

‘เอริค’ ใช้เวลา 2 ปี พัฒนา ‘ZOOM’ ให้มีจุดเด่นเหนือคู่แข่งในเรื่องความสะดวก เสถียร และใช้งานง่าย 

เขายืนยันว่าจะไม่ปล่อยสินค้าออกสู่ตลาด หากมันยังไม่พร้อมใช้งานจริง ๆ เพราะต้องการให้ลูกค้าได้รับความสุขจากการใช้งานแพลตฟอร์ม 

“ถ้าคุณไม่พร้อมแล้วเริ่มขาย อาจจะได้ลูกค้าก็จริง แต่คุณก็ต้องแก้ปัญหาไปด้วย ปรัชญาของเราคือ ก่อนขาย เราต้องมั่นใจว่าลูกค้าคนแรกของเราจะมีความสุข แต่ถ้าคุณยังไม่มีความมั่นใจ ให้ถอยออกมาจนกว่าจะพร้อม” 

นอกจากผลิตภัณฑ์ที่พัฒนาจนออกมาดี เขายังสร้างความสุขให้ลูกค้าด้วยการไม่บังคับให้ Subscribe ทันที แต่ให้ทดลองใช้ฟรีไปก่อน 

“การให้ทดลองใช้ฟรี เป็นการสื่อสารกับลูกค้าว่าวัฒนธรรมขององค์กรและสิ่งที่เราให้ความสำคัญคือการส่งต่อความสุขให้ผู้ใช้งาน” 

แต่การสร้างความสุขให้ลูกค้าจะเกิดขึ้นไม่ได้ หากพนักงานของบริษัทไม่มีความสุข 

‘เอริค’ เคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าพนักงานสนุกกับการทำงานที่ ‘ZOOM’ พวกเขาจะมีแรงจูงใจด้วยตัวเอง ไม่ต้องการไปที่อื่น เพราะรู้สึกไว้วางใจ สนุกกับการทำงานร่วมกับทีมและการทำให้ลูกค้ามีความสุข ซึ่งหากบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ ลูกค้าก็จะมอบความสุขกลับมาเช่นกัน สิ่งเหล่านี้ช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เต็มไปด้วยพลังบวก ผมคิดว่าที่พนักงานของเรายังทำงานที่นี่ เพราะเขาชอบวัฒนธรรมองค์กรที่มันทำให้พวกเขามีความสุข” 

ความสำเร็จของ ‘เอริค หยวน’ 

เมื่อปี 2015 ‘ZOOM’ มีผู้ใช้งาน 10 ล้านคน ก่อนจะเพิ่มเป็น 40 ล้านคนในปี 2016 ลูกค้าส่วนใหญ่มาจากการบอกต่อ และอีก 2 ปีต่อมา ‘ZOOM’ ได้กลายเป็นบริษัทยูนิคอร์นที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านเหรียญ

ปี 2019 ก่อนโควิด-19 ระบาด ‘เอริค’ นำ ‘ZOOM’ เข้าตลาดหุ้น และได้รับเสียงตอบรับจากนักลงทุนอย่างล้นหลาม จบวันแรกด้วยราคาหุ้นที่กระโดดขึ้น 72%

ปี 2020 ซึ่งเกิดวิกฤตโรคระบาด ‘ZOOM’ เติบโตก้าวกระโดด และได้กลายเป็นแอปพลิเคชันที่มีคนดาวน์โหลดมากที่สุดทั้งบน iOS และ Android ยอดผู้ใช้งานสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 200 ล้านคนต่อวัน หรือประมาณ 20 เท่าจากปีก่อนหน้า

‘เอริค’ ก้าวขึ้นสู่ทำเนียบบุคคลที่มีชื่อเสียงและความมั่งคั่งแห่งปี 2020 แม้เขาจะพูดว่ามันไม่ได้มีอิทธิพลอะไรกับชีวิต เพราะเงินไม่ได้นำความสุขมาให้เขาอีกต่อไป แต่เขาก็ยังตื่นเต้นกับการที่คนหันมาทำงานผ่าน ‘ZOOM’ มากขึ้น 

ในเวลานั้นเขาคาดว่า ‘ZOOM’ จะยังเป็นแพลตฟอร์มที่มีอิทธิพลต่อคนรุ่นต่อไป แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้กลับไม่เป็นอย่างที่คาด กระทั่ง 'เอริค' ต้องยอมลดจำนวนพนักงานที่ครั้งหนึ่งเขามุ่งมั่นที่จะทำให้มีความสุข 

 

อ้างอิง:

cnbc

sfgate