ซันนี วัคคาโร : ชายผู้พลิกเกมธุรกิจให้ Nike ด้วยลายเซ็นของ ‘ไมเคิล จอร์แดน’

ซันนี วัคคาโร : ชายผู้พลิกเกมธุรกิจให้ Nike ด้วยลายเซ็นของ ‘ไมเคิล จอร์แดน’

‘ซันนี วัคคาโร’ (Sonny Vaccaro) ชายผู้พลิกเกมธุรกิจให้ Nike ด้วยลายเซ็นของ ‘ไมเคิล จอร์แดน’ (Michael Jordan) จนเกิดเป็นรองเท้า ‘Air Jordan’

Air’ (2023) นับเป็นอีกภาพยนตร์ที่น่าจับตามองที่สองคู่หูนักแสดงจากภาพยนตร์อมตะ Good Will Hunting (1997) อย่าง ‘แมตต์ เดมอน’ (Matt Damon) และ ‘เบน แอฟเฟล็ก’ (Ben Affleck) มาประกบคู่กันอีกครั้ง แถมในรอบนี้ แอฟเฟล็กยังเป็นคนลงมือกำกับภาพยนตร์ด้วยตัวเองอีกด้วย แน่นอนว่าหากได้ชมตัวอย่างภาพยนตร์แล้วเห็นใบหน้าของทั้งคู่ คงมีผู้ชมหลายคนที่รู้สึกอยากดูขึ้นมาทันที

แต่ในภาพยนตร์เรื่อง Air หรือในชื่อไทยว่า ‘แผนล่าลายเซ็นยอดตำนาน’ ก็ไม่ได้มีความน่าสนใจอยู่เพียงแค่นั้น เพราะในส่วนของวัตถุดิบเองที่ถูกแปรรูปมาเป็นภาพยนตร์ก็เป็นเรื่องราวสุดแสนมหัศจรรย์ไม่แพ้กัน เมื่อทิศทางและสถานการณ์ของแบรนด์กีฬาที่กำลังร่วงโรยนามว่า Nike พลิกเกมและทะยานกลับคืนสู่สนามด้วยรองเท้ารุ่นใหม่นามว่า ‘Air Jordan

ก่อนจะกลายมาเป็นแบรนด์แนวหน้าด้านรองเท้าสำหรับกีฬาบาสเกตบอลดังที่เรารู้จักในทุกวันนี้ ย้อนไปก่อนหน้า โดยเฉพาะในยุคทศวรรษ 1980s สถานการณ์ของบริษัท Nike ดำเนินไปแบบไม่สวยเสียเท่าไรนัก แถมแบรนด์ผู้ครองตลาดและถูกสวมโดยนักบาสฯ มืออาชีพมากมายหลายคนก็คือ ‘Converse’ แต่ทุกอย่างก็เปลี่ยนผันด้วยวิสัยทัศน์ของชายคนหนึ่งที่เห็นศักยภาพของนักบาสฯ เลือดใหม่มือสมัครเล่นในตอนนั้นนามว่า ‘ไมเคิล จอร์แดน’ (Michael Jordan) จนเกิดเป็นผลงานชิ้นโบแดงที่จะเปลี่ยนตลาดสินค้ากีฬาที่ประวัติศาสตร์ต้องจารึกเอาไว้ ชายผู้นั้นมีนามว่า ‘ซันนี วัคคาโร’ (Sonny Vaccaro)

ในบทความนี้เราจะพาไปรู้จักกับภารกิจเปลี่ยนโลกกับการพิสูจน์วิสัยทัศน์และความเชื่อมั่นตัวเองแก่ Nike ของ ซันนี วัคคาโร และการเดิมพันครั้งสำคัญกับการล่าลายเซ็น ไมเคิล จอร์แดน มาเซ็นสัญญากับบริษัทให้ได้ 

ย้อนกลับไปในช่วงต้นทศวรรษ 1980s เส้นทางของ Nike ดูจะไม่ค่อยเป็นไปตามที่คาดหวังเท่าไหร่นัก ไม่เพียงแค่จุดยืนหรือเอกลักษณ์ของตัวเองที่มีไม่ชัดเจน แต่ ณ ขณะนั้นเขายังรั้งท้ายให้แบรนด์อย่าง Adidas และ Converse สองแบรนด์รองเท้าผ้าใบคู่แข่งอย่างชัดแจ้ง ด้วยรายได้ที่หดหายผสานเข้ากับงบทุนที่จำกัด คงมีสิ่งเดียวเท่านั้นที่จะสามารถช่วยพวกเขาออกไปจากหลุมนี้ได้ ‘วิสัยทัศน์’ และ ‘ความสร้างสรรค์

ก่อนจะมาร่วมงานกับบริษัท Nike ‘ซันนี วัคคาโร’ คือชายคนหนึ่งที่พัวพันอยู่ในแวดวงของกีฬาบาสเกตบอลระดับมัธยมปลาย นอกจากนั้นเขายังเป็นผู้ก่อตั้งการแข่งขันรวมดาวนักบาสฯ ดาวรุ่งจากบรรดาโรงเรียนมัธยมต่าง ๆ มาจัดแข่งกันอีกด้วย ด้วยความที่เขาคลุกคลีกับแวดวงบาสเกตบอลดาวรุ่งมาโดยตลอด สายตาของวัคคาโรก็ได้มองเห็นผู้เล่นที่มีประกายแสงเล็ดลอดออกมาเสมอ 

ในปี 1977 วัคคาโรได้ร่วมงานกับ Nike ในด้านการตลาดโดยการไปตระเวนเสนอทีมบาสเกตบอลมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ให้เซ็นสัญญากับ Nike เพื่อให้ทางมหาวิทยาลัยนำเอารองเท้าของพวกเขาไปให้กับนักบาสฯ ในทีมใส่ ในตอนแรกก็เซ็นไปได้กว่า 10 ทีม แต่เวลาผ่านไปเพียงแค่สองปีเท่านั้น ตัวเลขดังกล่าวก็ขึ้นมาถึง 50 ทีม

ดังที่เรากล่าวไปก่อนหน้าว่าสถานการณ์ของบริษัท Nike ดำเนินไปอย่างไม่สวยหรูนัก เขาต้องเผชิญกับคู่แข่ง รายได้ที่ร่วงโรย รวมถึงงบประมาณที่ไม่เพียงพอ หากอ้างอิงจาก New York Times รายได้ของ Nike ในปี 1984 ลดฮวบไปถึง 29% ‘ฟิล ไนต์’ (Phil Knight) ผู้ร่วมก่อตั้ง Nike เคยพูดถึงเกี่ยวกับสถานการณ์นี้เอาไว้ว่า 

ออร์เวลล์นี่แม่นเสียจริง : 1984 มันเป็นปีที่หฤโหดเอามาก ๆ
 

แต่ในปีเดียวกันนั้นเอง ปาฏิหาริย์ก็เกิดขึ้น เมื่อในขณะนั้น Nike กำลังเล็งที่จะสร้างสินค้าตัวใหม่ขึ้นมา โดยจะดึงเอานักบาสเกตบอลที่มีศักยภาพดึงดูดคนมาเป็นพรีเซนเตอร์ ณ ตอนนั้น Nike ได้เล็งไปที่นักบาสเกตบอลหลายคนที่ดูมีแววและชื่อเสียง แต่ในรายชื่อทั้งหมดของทางฝั่งรายชื่อกลับไม่มีคนไหนเลยที่เป็นรายชื่อเดียวกับที่วัคคาโรเห็นแสง 

ผู้เล่นที่วัคคาโรเห็นแววเป็นแค่นักบาสฯ สมัครเล่น ยังไม่เคยเล่นในสนาม NBA เลยด้วยซ้ำ โดยเขาคนนั้นมีนามว่า ‘ไมเคิล จอร์แดน’ แน่นอนว่า Nike เองก็ไม่เห็นด้วยกับไอเดียนี้ ด้วยสถานการณ์ด้านทุนเองก็จำกัดอยู่แล้ว ผสานกับภาวะการแข่งขันที่กดดัน การที่จะเอาความหวังไปฝากไว้กับมือสมัครเล่นอายุ 21 ปี เป็นอะไรที่เสี่ยงเอามาก ๆ

แต่ด้วยความที่วัคคาโรเคยได้มีโอกาสชมการเล่นของจอร์แดนในปี 1982 ณ งาน NCAA Championship ที่จอร์แดนได้พาทีม North Carolina Tar Heels ชนะด้วยการชูตของเขา วัคคาโรจึงยืนกรานกับ Nike อย่างเต็มแรงว่าชายคนนี้คือคนที่ถูกต้องที่สุดหากพวกเขาอยากจะออกแบบรองเท้าใหม่ที่ผูกโยงอยู่กับนักบาสฯ ออกมาสักคู่ 

ด้วยความที่สถานการณ์ย่ำแย่ของ Nike ความเสี่ยงจึงเป็นทางเลือกที่พวกเขาไม่อาจปฏิเสธได้ ตัวเลือกที่วัคคาโรยืนกรานและกล้าเดิมพันจึงเป็นทางเลือกเดียว ด้วยเหตุนี้จึงได้เกิดเป็นรองเท้า ‘Air Jordan

ไม่นานหลังจากนั้น ไมเคิล จอร์แดน ก็ได้ไปเล่นให้กับ Chicago Bulls โดยที่ใส่รองเท้า Air Jordan คู่นั้นลงสนาม และแผ่ประกายแสงของเขาออกมาอย่างเต็มที่จนกลายเป็นตำนานนักบาสเกตบอลที่เราได้รู้จักกันมาถึงทุกวันนี้ แถมยอดขายยังพุ่งทะลุเป้าหลายเท่าตัว จากเป้าเพียง 3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่รองเท้า Air Jordan เพียงแค่ในปีแรกก็ทำยอดขายไปกว่า 126 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จนกลายเป็นปรากฏการณ์ครั้งสำคัญของประวัติศาสตร์ผลิตภัณฑ์กีฬาเลยทีเดียว 

แต่เรื่องราวของวัคคาโรก็หาได้จบเพียงแค่นี้ เพราะนอกจากอุปสรรคความลำบากในการชักชวนให้ Nike เห็นด้วยกับจอร์แดนว่ายากแล้ว แต่การที่จะให้จอร์แดนสนใจเซ็นสัญญากับ Nike นั้นก็ยากไม่แพ้กัน ซึ่งเรื่องราวดังกล่าวก็ถูกเล่าอย่างเต็มอรรถรสในภาพยนตร์เรื่อง Air ที่กำลังฉายอยู่ในโรงภาพยนตร์ ณ ขณะนี้