08 มิ.ย. 2566 | 16:36 น.
- สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ คีย์แมนของช่อง 3 ที่คัมแบ็กสู่บ้านเก่า 3 ปีแล้ว แต่มีเป้าหมายชัดเจนว่า บีอีซี เวิลด์ จะไม่ใช่บริษัทโทรทัศน์อีกต่อไป
- บีอีซี เวิลด์ กับบทบาทใหม่สู่การเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ โดยที่ผ่านมาเริ่มมีการรุกตลาดออนไลน์ และส่งออกคอนเทนต์ไปต่างประเทศ รวมถึงแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง
กระแสส่งท้ายละคร ‘หมอหลวง’ เมื่อ 3 วันก่อนถือว่าจบด้วยรอยยิ้มถูกใจแฟนละครไปตาม ๆ กัน ซึ่งฮีโร่คอนเทนต์ของช่อง 3 อย่างเรื่องหมอหลวง ถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การเติบโตของบริษัท บีอีซี เวิลด์ จำกัด(มหาชน) ที่รายได้หลักของบริษัทนั้นมาจากละคร
อย่างไรก็ตาม ช่อง 3 จำเป็นต้องมีเครื่องมืออีกหลากหลายตัวเพื่อรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอน โดยเฉพาะปัจจัยที่มากระทบด้าน ‘ความเชื่อมั่น’ อย่างการเมืองและโควิด-19
“เพราะธุรกิจโทรทัศน์อยู่บนพื้นฐานความเชื่อ การเมืองและบรรยากาศของประเทศมีส่วนอย่างมากต่อการตัดสินใจของนักลงทุนและการหาสปอนเซอร์” สุรินทร์ กฤตยาพงศ์พันธุ์ กรรมการผู้อำนวยการ สายโทรทัศน์ จากบีอีซี เวิลด์ พูดระหว่างให้สัมภาษณ์
เขาอธิบายว่าปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลลบต่อทิศทางของธุรกิจโทรทัศน์ที่นอกเหนือจากเรื่องการเมืองหรือโควิด-19 ก็จะเป็นอัตราเงินเฟ้อ, กำลังซื้อของผู้บริโภค และเม็ดเงินโฆษณา อย่างไรก็ตาม สุรินทร์ ได้ตั้งเป้าว่าหากกลุยทธ์ที่วางแผนไว้เป็นไปตามเป้า การเติบโตของช่อง 3 ปีนี้ก็น่าจะอยู่ที่ ‘เลข 2 หลัก’ (Double Digit) หรืออย่างแย่ที่สุดก็คือ เลขหลักเดียวประมาณ 8-9% (High Single Digit)
สุรินทร์ ยังบอกด้วยว่า “ถ้าสถานการณ์การเมือง เช่น การฟอร์มรัฐบาลเป็นไปอย่างถูกใจประชาชน ก็จะทำให้เกิดความเชื่อมั่นและส่งผลดีต่อการตัดสินใจใช้เม็ดเงินโฆษณาของเจ้าของสินค้า แต่ก็ต้องดูปัจจัยอื่นประกอบด้วย”
ต้องออกจากคอมฟอร์ทโฟน
ที่จริงเป้าหมายของช่อง 3 ในช่วงหลัง ๆ ก็เริ่มชัดเจนมากขึ้นว่าไม่ได้วางธุรกิจให้โฟกัสแค่โทรทัศน์ เพราะเราเริ่มเห็นการรุกในตลาดออนไลน์มากขึ้น หรือกลยุทธ์อื่นเพิ่มเข้ามา ซึ่ง สุรินทร์ ในฐานะที่เคยทำงานกับช่อง 3 มาก่อนหน้านี้ และคัมแบ็กครั้งที่ 2 ได้ 3 ปี เขามองว่า “นับจากนี้ช่อง 3 จะเป็นผู้นำในการผลิตคอนเทนต์ ไม่ใช่ธุรกิจโทรทัศน์อีกต่อไป”
“การรุกตลาดออนไลน์เหตุผลแรก ๆ เลยก็คือ เพิ่มรายได้, ทำแบรนด์ดิ้งให้ชัดขึ้น, เพิ่มลูกค้าระดับ loyalty ได้มากขึ้น” นอกจากนี้ สุรินทร์ ยังพูดด้วยว่า เพราะตอนนี้รายได้หลักมาจากละครอยู่ที่ 51% ส่วนข่าวอยู่ที่ประมาณ 36% ดังนั้น สิ่งที่ช่อง 3 พยายามทำเกี่ยวกับคอนเทนต์ก็คือ เพิ่มความหลากหลายในพล็อตละคร ไม่ใช่แค่บทประพันธ์นวนิยายอย่างเดิมแล้ว
แต่ช่อง 3 จะมีการจ้างเขียนบทละครสร้างพล็อตขึ้นมาเอง (ช่อง 3 มีการทำ MOU ร่วมกับมหาวิทยาลัยหลายแห่งเพื่อสนับสนุนให้เกิดอาชีพนักเขียนบทละครคนไทย) รวมไปถึงการซื้อบทละครจากต่างประเทศแล้วมาแปลเป็นไทย ซึ่งละครที่จะฉายภายในปีนี้และเป็นบทละครจากต่างประเทศ ก็คือ ‘เกมรักทรยศ’ ซีรีส์ดังจากประเทศอังกฤษ
นอกจากนี้ สุรินทร์ ยังอัพเดตกับเราด้วยว่า ละครแนวเดียวกับ ‘หมอหลวง หรือ บุพเพสันนิวาส’ ถือเป็นมาสเตอร์พีซของช่อง 3 ซึ่งภายในปีนี้อาจจะมีการปล่อยละครเรื่องใหม่ที่ชื่อว่า ‘พรหมลิขิต’ ภาคต่อจากบุพเพสันนิวาสด้วย หากเป็นไปตามเป้าหมายทั้งหมด ดังนั้นก็เชื่อว่าเป้าเติบโตเลข 2 หลักที่สุรินทร์บอกไว้ ก็น่าจะไม่พลาดเป้าหากปัจจัยลบต่าง ๆ เริ่มนิ่ง
กลยุทธ์ Single Content Multiple Platform หรือ การลงทุนผลิตคอนเทนต์เพียงครั้งเดียวแต่หารายได้ในหลาย ๆ แพลตฟอร์ม รวมถึงส่งออกไปต่างประเทศ เป็นแฟลกชิปที่ช่อง 3 ปั้นมาสักพักใหญ่ และคีย์แมนอย่างสุรินทร์ก็ย้ำเป้าหมายนี้อีกครั้งในการสัมภาษณ์ครั้งนี้ โดยมีการใช้งบผลิตละครปีละ 2,000 ล้านบาท สามารถผลิตละครได้ 25 เรื่อง ส่วนต่างประเทศตั้งไว้ที่ 40 เรื่อง เพื่อสร้างรายได้ใหม่
ออนไลน์ทำให้วิธีหาเงินเปลี่ยน
เมื่อถาม ‘สุรินทร์’ เกี่ยวกับเป้าหมายส่วนตัวและสไตล์การบริหารของเขาหลังจากที่คืนสู่บ้านช่อง 3 อีกครั้ง เขาเล่าว่า “เมื่อตอนนี้เราปรับลดทีวีลงและเพิ่มแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น วิธีการหารายได้ก็ต้องเปลี่ยนไปเช่นกัน เพียงแต่ว่ายังต้องคงสัดส่วนละครไว้เพราะเป็นช่องทางรายได้หลัก”
“นอกจากนี้ เราคงไม่ทำแค่ละครหรือข่าว แต่เราต้องเพิ่มสิ่งใหม่ ๆ เข้าไป เช่น การทำหนัง, การบริหารดารานักแสดงเพราะเรามีเยอะมาก ยิ่งพรีเซ็นเตอร์ในโทรทัศน์ตอนนี้ 70-80% เป็นนักแสดงของช่อง 3 เราคงต้องมาดูว่าสามารถเพิ่มรายได้จากตรงนี้อย่างไร”
“สำหรับผมมีอยู่ไม่กี่ข้อเกี่ยวกับการบริหารและตัวตนของผม ก็คือ ใส่ใจคนอื่นมากขึ้นเพราะละครหรือคอนเทนต์จากช่อง 3 ไม่ได้อยู่แค่ในโทรทัศน์แต่อยู่ในหลายแพลตฟอร์มออนไลน์ นอกจากนี้ต้องดูความหลากหลายของคอนเทนต์ด้วยว่าตอนนี้เขาดูอะไรกัน อย่างเช่น ผมเพิ่มการแข่งขันกีฬาฟุตบอลเพราะเมื่อก่อนช่อง 3 จะติดภาพว่าเป็นชิ่งผู้หญิงมาก ๆ และสุดท้ายคือ อัพเดทสิ่งใหม่ ๆ เสมอ โชคดีที่คนรอบข้างผมมีไดนามิกเราเลยรับรู้เรื่องราวต่าง ๆ ไปด้วย”
สุรินทร์ ยังพูดทิ้งท้ายด้วยว่า ‘การปรับตัว’ ค่อนข้างสำคัญมันคือทางรอดของธุรกิจ ถ้ายังทำอะไรแบบเดิม ๆ ไม่คิดจะทำสิ่งใหม่ แต่ก็คาดหวังที่จะเห็นผลลัพธ์ใหม่ ๆ ที่ดีขึ้นแบบนั้นไม่ได้ ไม่ถูกต้อง
“อีกหน่อย 3plus ก็อาจจะต้องมีซีรีส์เป็นของตัวเองโดยเฉพาะ นี่ก็คือการปรับตัว”
การกลับมาของ สุรินทร์ เห็นได้ชัดเรื่องการปรับตัว การคิดเร็ว และกลยุทธ์ที่จะพาช่อง 3 ให้กลับมาเหมือนยุคที่รุ่งเรืองมาก ๆ ซึ่งความหลากหลายของคอนเทนต์และการวาง position ของธุรกิจก็เป็นคีย์ความสำเร็จให้ธุรกิจที่อยู่มานานได้ปรับตัวและไปต่อได้ง่ายขึ้น
ภาพ: บีอีซี เวิลด์