‘ยุพิน ชัยวิกรัย’ ผู้ก่อตั้ง You&I ที่พลิกฟื้นธุรกิจจากความเชื่อ ‘ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้’

‘ยุพิน ชัยวิกรัย’ ผู้ก่อตั้ง You&I ที่พลิกฟื้นธุรกิจจากความเชื่อ ‘ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้’

ถ้ามีกรณีศึกษาของแบรนด์ที่นำหลักบริหารจัดการรุ่นใหม่มาใช้ และกล้าจะฝันต่าง จนพลิกโฉมธุรกิจรุ่นพ่อให้ประสบความสำเร็จกว่าเดิม ต้องมีชื่อแบรนด์ ‘You&I Premium Suki Buffet’ ประจำการอยู่แถวหน้า และผู้ที่เป็น Key(wo)man ของความสำเร็จนี้ ก็คือ ‘แพม - ยุพิน ชัยวิกรัย’

  • ร้าน You&I Premium Suki Buffet มี ‘แพม - ยุพิน ชัยวิกรัย’ เป็นผู้ก่อนตั้ง
  • ร้านนี้เป็นการพลิกฟื้นธุรกิจร้านอาหารจีนของพ่อที่กำลังจะต่อไม่ได้
  • ปัจจุบ้นร้าน You&I เติบโตและวางแผนจะจดทะเบียนเข้าตลาดหลักทรัพย์

แต่กว่าจะมาเป็น You&I เส้นทางไม่ได้ราบรื่นนัก เรียกว่า มาจากคนละขั้วเลย เธอจึงมีสตอรี่น่าสนใจที่น่าค้นหา…

ยืนหนึ่งสาวบัญชี

แพม - ยุพิน เกิดในครอบครัวนักธุรกิจใหญ่ ที่บ้านของเธอเป็นบริษัทที่ถือหุ้นบริษัทอื่นอีกที (Holding company) อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ และมีการลงทุนในหลากหลายกิจการ

เธอเป็นคนไม่ชอบวิชาการตลาดเลย เห็นได้ชัดจากการเลือกเรียนคณะบริหารธุรกิจ สาขาการบัญชี มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (Assumption University) แต่ใครจะไปรู้ว่าวิชาการตลาดนี่เองที่เธอจะได้ใช้มันพลิกโฉมธุรกิจและสร้างชื่อเสียงให้ตัวเอง

หลังเรียนจบเธอยังไปศึกษาต่อปริญญาโท ลงลึกไปอีกด้านการบัญชี ที่มหาวิทยาลัยสเตรเยอร์ (Strayer University) ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อนจบกลับมาช่วยงานบริษัทที่บ้านทันที (Capital Corporation)

ซึ่งก็ไม่ใช่แผนกอื่นใด แต่ดูแลโดยตรงด้านการบัญชี เธอเริ่มเรียนรู้การวางโครงสร้างบัญชี ตรวจสอบบัญชี วางกลยุทธ์ด้านบัญชี เรียกว่าเป็น ‘สาวบัญชี’ เต็มตัว

ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้ 

การโตมาในตระกูลนักธุรกิจใหญ่ คุณพ่อของแพม - ยุพิน จะคอยสอนอยู่เสมอว่า ‘ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้’ (Nothing is impossible) นวัตกรรมเจ๋ง ๆ หลายอย่างมันก็ดูเป็นไปไม่ได้ทั้งนั้นแหละ…จนกว่ามันจะเกิดขึ้น อีกแนวคิดคือ

 

  • ถ้าเราคิดว่าสิ่งนั้นเป็นไปไม่ได้…คุณคิดถูก
  • ถ้าเราคิดว่าสิ่งนั้นเป็นไปได้…คุณก็คิดถูกอีกนั่นแหละ

 ทางที่ดีลองท้าทายตัวเองโดยมองให้มันเป็นไปได้ก่อน และลงมือทำ ลองสู้ไปกับมันดูก่อน แนวคิดนี้หล่อหลอมให้เธอเป็นคนมั่นใจ กล้าฝัน มีวิสัยทัศน์ เด็ดเดี่ยวในการตัดสินใจ และมีคำมั่นในใจ สู้เพื่อไปสู่เป้าหมาย

ผนวกกับความเป็นทักษะบัญชีที่มีอยู่ล้นตัว จึงหล่อหลอมให้เธอมีวิธีการบริหารจัดการที่เฉียบขาด หนักแน่น ชัดเจน ที่สำคัญ เป็นคนใส่ใจทุกรายละเอียด

ความหวังสุดท้าย

แต่แล้วเส้นทางสาวบัญชีของเธอก็ถึงคราวพลิกผัน 

ตอนนั้นพ่อของเธอมีธุรกิจร้านอาหารจีนแห่งหนึ่งชื่อว่า ‘เหลาซานดง’ (Lau Sang Dong) ที่ผลประกอบการไม่ดี จากเดิมมีหลายสาขาก็เริ่มทยอยปิดจนเหลือสาขาเดียวที่เมกะบางนา

เธอได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจจากผู้เป็นพ่อให้มาพลิกฟื้นร้านอาหารขาลงนี้ แต่หนทางก็แทบจะมืดรอบด้าน

1. ครั้นจะรีแบรนด์ก็มีโอกาสยากที่ร้านอาหารจีนแบบนี้จะยืนระยะได้นานในตลาด

2. ถ้าต้องปิดร้านไปเลย พนักงานจะอยู่อย่างไร? สร้างความลำบากให้ครอบครัวพวกเขาอีก

แต่เธอยังเชื่อว่า…ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้

เธอเลือกวิธีที่ 2 โฟกัสว่าทำอย่างไรก็ได้ให้พนักงานได้อยู่ต่อ มองแค่ว่าให้คนกลับมากิน แต่เมื่อเธอมายืนอยู่หน้าร้านและพิจารณารายละเอียด ก็พบว่านี่เป็นธุรกิจพระอาทิตย์ตกดิน หมดความนิยมแล้ว คนรุ่นใหญ่เลิกกิน คนรุ่นใหม่ไม่รู้จัก (และไม่อยากลอง) 

สิ่งที่เธอทำคือ เก็บพื้นฐานที่ดีที่สุดไว้นั่นคือ ‘พนักงาน’ และ ‘วัตถุดิบอาหารคุณภาพดี’

และบอกลาร้านอาหารจีน ก่อนเปลี่ยนโฉมไปเป็นร้าน ‘สุกี้บุฟเฟต์’ แทน และตั้งชื่อให้มันว่า ‘You&I Premium Suki Buffet’ ในปี 2014

จุดยืนที่สตรอง 

จากสาวบัญชี ต้องผันตัวมาเป็นสาวนักบริหารและการตลาดที่ไม่เคยชอบสมัยเรียน

แพม - ยุพิน ไม่มีประสบการณ์ด้านการทำร้านอาหารมาก่อน แต่เธอ ‘ชอบกินบุฟเฟต์’ เลยพยายามมองในมุมประสบการณ์ของลูกค้าให้ได้มากที่สุด ว่าคนเราต้องการอะไรจริง ๆ จากร้านบุฟเฟต์? อะไรคือ pain point ที่คนเจอ? อะไรคือสิ่งที่ต่อยอดพัฒนาได้แต่ไม่ค่อยมีใครทำ?

ปกติแล้วเวลาคนนึกถึง ‘บุฟเฟต์’ เรามักนึกถึงความ ‘คุ้มค่า’ ที่ได้สวาปามกินเยอะ หรือความ ‘หลากหลาย’ ที่ได้กินอะไรหลายต่อหลายอย่าง 

ค่อนข้างน้อยที่เราจะนึกถึง ‘คุณภาพ’ ที่ได้กินของดีจริง ๆ และนี่เองคือสิ่งที่แพม - ยุพินมองเห็นช่องว่าง เธอจึงโฟกัสที่คุณภาพอย่างถึงที่สุด You&I ต้องยืนหนึ่งเรื่องคุณภาพมาเป็นอันดับหนึ่ง เวลาลูกค้านึกถึงแบรนด์นี้ เรื่องของ ‘คุณภาพ’ ต้องเด้งขึ้นมาในหัวเป็นอย่างแรก (Top-of-mind awareness)

เธอจึงคิดสโลแกนแบรนด์คือ ‘ให้ทุกคำคือรางวัลของชีวิต’ (Feel the rewarding taste) พร้อมส่งมอบประสบการณ์มื้ออาหารที่ดีเยี่ยมแก่ลูกค้าทุกคน

ปั้นแบรนด์ใหม่จากศูนย์

แพม - ยุพิน ต่อยอดอุปนิสัยเดิมที่เป็นคนใส่ใจรายละเอียด ลงลึกทุกดีเทล ไม่ประนีประนอมกับเรื่องคุณภาพ ใส่ใจการตกแต่งภายในของร้าน ใส่ใจดีไซน์ของภาชนะจานชามอาหาร คำนึงถึงยูนิฟอร์มพนักงานที่ต้องสวยงาม ซีเรียสกับระบบบริหารจัดการหลังบ้าน พื้นที่จัดเก็บวัตถุดิบ การประเมินต้นทุนล่วงหน้า จนไปถึงการสื่อสารแบรนด์ออกสู่ลูกค้าในโซเชียลมีเดีย

เหตุผลที่เธอเลือกใช้ชื่อ You&I เพราะมาจาก pain point ชื่อร้านเดิม เหลาซานดง ลูกค้ารู้สึกว่าอ่านยาก สะกดยาก เขียนยาก เขียนออกมาแล้วใช้เนื้อที่เยอะ แถมไม่สวย และจำยากในมุมของการสร้างแบรนด์

ชื่อแบรนด์ตรงไปตรงมา เรียบง่าย เป็นคำทั่วไป (Generic words) ที่เราพูดกันในชีวิตประจำวัน คุ้นเคย จำง่าย รู้กันทุกเพศทุกวัย และมีความเป็นสากล

เมื่อมาผสมกับ ‘Premium Suki Buffet’ จึงให้ความหมายที่ตรงไปตรงมา 

  • มีความพรีเมียม ใช้วัตถุดิบคุณภาพดี
  • เป็นหม้อสุกี้ชาบู
  • และเป็นบุฟเฟต์

อีกเรื่องที่ต้องยกความดีความชอบในการกล้าตัดสินใจให้แพม - ยุพิน คือ เธอเลือกที่จะใช้คำว่า ‘สุกี้’ แทน ‘ชาบู’ ที่ดูเทรนดี้และมีความเป็นญี่ปุ่นกว่า (ถูกจริตผู้บริโภคยุคใหม่) เพราะการดำเนินงานจริงของร้าน สุกี้ดูจะเป็นคำที่ครอบคลุมกว่า เพราะหลายเรื่องก็ไม่ใช่ญี่ปุ่นขนาดนั้น ในแง่หนึ่ง ก็เป็นความซื่อสัตย์ที่มีต่อแบรนด์และผู้บริโภค

กลยุทธ์ที่แตกต่าง

เมื่อมาถึงเรื่องกลยุทธ์แบรนด์ แพม - ยุพินกล้าพยายามสร้างความโดดเด่นให้คน ‘กลับมากิน’ หาช่องว่างเพื่อสร้างความแตกต่างในตลาด 

เช่น ‘หม้อสุกียากี้ส่วนตัว’ 1 หม้อ 1 ที่นั่ง แยกหม้อเดี่ยวของใครของมัน มาด้วยกันเป็นกลุ่มแต่ก็ยังมีพื้นที่ส่วนตัวบ้าง และไม่ต้องกังวลเรื่องสุขอนามัยโดยเฉพาะหลังยุคโควิด-19 ยังมีการออกแบบโต๊ะกลมที่สมาชิกทุกคนมีหม้อส่วนตัวของตัวเอง ขณะที่ตรงกลางสามารถวางของส่วนกลางหมุนไปมาให้กันได้

‘ราคาคอร์ส’ ที่มีให้เลือกเยอะ ครอบคลุมหลากหลายโอกาสการมากินของลูกค้า เช่น Standard 498+ Premium 698+ Super Premium 898+ Ultimate 1,398+ 

(สังเกตว่า เลขลงท้ายด้วย ‘8’ หมดเลย ซึ่งเป็นเลขมงคลตามหลักความเชื่อของคนจีน)

หรือ ‘บรรยากาศร้าน’ โดยรายละเอียดการตกแต่งจะต่างออกไปในทุกสาขาที่ไปเปิดขึ้นอยู่กับโลเคชั่น อย่างเช่นสาขาที่ Terminal21 พระราม 3 ซึ่งตั้งอยู่ในชั้นประเทศอิตาลีของทางห้าง You&I จึงออกแบบให้สอดคล้องไปกับทางห้างด้วย โดยยังไม่ทิ้งคาแรคเตอร์แบรนด์ เช่น มีเหล็กดัดบนกำแพงพื้นสีขาว นำภาพวาดใบไอวี่เสริมความคลาสสิก หรือช่องเว้าทรงโค้งมน (Arch) เรียกว่ากลิ่นอายแบบอิตาลีคลาสสิกเหนือกาลเวลาถูกสอดแทรกอยู่ทุกอณูของร้าน

 ‘ตัวเลือกเมนู’ You&I เป็นเจ้าแรก ๆ ในตลาดที่ใจป้ำนำหมูคุโรบุตะและเนื้อวากิวมาทำเป็นบุฟเฟต์ และนำเสนอเมนูใหม่ทุก ๆ 3 - 4 เดือน

นอกจากนี้ยังมีเมนูให้เลือกเยอะมาก ๆ เช่น เนื้อพรามชัคอายโรล พรีเมียมวากิวชัคโรล คาราร่าวากิว เนื้อช็อตเพลท คุโรบุตะภูเขาไฟ หอยนางรมสด กุ้งแชบ๊วยทะเล ปลาแซลมอน หอยแมลงภู่นิวซีแลนด์ ลูกชิ้นหมูไต้หวัน มาพร้อมน้ำซุป 10 แบบให้เลือก เช่น ซุปต้มยำกุ้งน้ำข้น ซุปต้มยำหม่าล่า ซุปเสฉวนซุปเป๋าฮื้อ คอมโบกับสารพัดน้ำจิ้ม เช่น น้ำจิ้มไต้หวัน น้ำจิ้มกวางตุ้ง น้ำจิ้มซีฟู้ด

ปิดท้ายด้วยเรื่องของ ‘คุณภาพ’ โดยเมนูวัตถุดิบกว่า 50% นำเข้ามาจากต่างประเทศ ได้มาตรฐานระดับสูง แบรนด์ลงมือทำน้ำซุปเอง ไม่ได้ซื้อสูตรมาจากที่ไหน และไม่ได้เป็นแบบสำเร็จรูป หรือกิมมิคของหวานมีการนำ Minimelts ไอศกรีมเม็ดจิ๋วจากเกาหลีมาใช้ ซึ่งแตกต่างจากไอศกรีมในร้านบุฟเฟต์ทั่วไป แถมมีความ IG friendly เหมาะกับถ่ายลงโซเชียลฯ แบรนด์ก็ได้ไวรัลฟรีไปอีก

คุณภาพยังโยงถึงเรื่องอื่นรอบ ๆ ด้วย ถ้าใครเคยไปกินจะสังเกตว่า แบรนด์ไม่ได้ใช้ถ้วยจานชามแบบที่เห็น ๆ กันในร้านสุกี้บุฟเฟต์ทั่วไปนัก แต่ใส่ใจรายละเอียดถึงขั้นสั่งทำออกแบบเฉพาะเจาะจงให้มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองเลย นำมาสู่ความประทับใจของลูกค้า มาแล้วได้รับคุณภาพของดีกลับไป สัมผัสได้ถึงเอกลักษณ์ที่แตกต่าง จึงอยากกลับมากินอีก

ทั้งหมดนี้ เกิดขึ้นภายใต้โลเคชั่นร้านที่จะตั้งอยู่ตามห้างชั้นนำ ทราฟฟิกเยอะ เป็นคนเดินขาประจำ และมีกำลังซื้อ 

ปั้นทีมอย่างสตรอง

แพม - ยุพิน มีภาวะความเป็นผู้นำที่น่าสนใจ เธอไม่ได้มองว่าคนอื่นคือลูกน้องที่คอยทำตามที่สั่ง แต่มองว่าทุกคนคือ ‘เพื่อนร่วมทีม’ ทำงานกันเป็นทีม คนอื่นตำหนิเธอได้ วิพากษ์วิจารณ์เธอได้ โต้แย้งไอเดียได้ เพราะนำไปสู่การพัฒนาที่ดีกว่าเดิม

เธอยังเปิดให้พนักงานมีส่วนร่วม (Employee engagement) ในการออกไอเดียและตัดสินใจสำคัญ ๆ เช่น ควรทำมาร์เก็ตติ้งแบบไหน ทำอย่างไร จุดยืนการตลาดแบบใด หรือตอนออกเมนูใหม่ จะเรียกเพื่อนร่วมทีมกว่า 20 คนมาช่วยกันชิมและออกความเห็นแบบตรงไปตรงมา

นอกจากนี้ ยังถ่ายทอดดีเอ็นเอความละเอียดรอบคอบ โดยมีการประเมินความเสี่ยงด้วยการสร้างฉากทัศน์ (Scenarios) ขึ้นมาว่าจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง และแบรนด์ควรมีแผนรับมืออย่างไร

ทำงานด้วยแพสชัน

แพม - ยุพิน ไม่มองว่าใครคือคู่แข่งนอกจาก ‘ตัวเอง’ ในอดีต วันนี้ต้องดีกว่าเมื่อวาน พรุ่งนี้ต้องดีกว่าวันนี้ การโฟกัสข้างนอกที่คู่แข่งหรือสภาพการณ์ในตลาดเกินไป มักทำให้หลงลืม ‘ข้างใน’ อย่างพนักงานในองค์กรที่ร่วมสู้ด้วยกันมา และสำคัญที่สุดคือ…ลูกค้า

การโฟกัสที่ตัวเองเพื่อพัฒนาต่อเนื่องไม่สิ้นสุด แบรนด์จึงเติบโตได้ดีชนิดก้าวกระโดด ลูกค้ารู้จักมากินมากขึ้นและกลับมาถี่ขึ้น กลายเป็นร้านโปรดในดวงใจไป

เพราะไม่อยาก…จึงมี

เพราะไม่แข่ง…จึงชนะ

แนวคิดการบริหารและภาวะผู้นำของแพม - ยุพิน ทำให้ You&I ขยายสาขาไปได้มากกว่า 10 สาขาภายใน 3 ปีแรกที่ก่อตั้ง

จนถึงปัจจุบัน แบรนด์มีสาขาอยู่ 18 สาขาในโลเคชั่นพรีเมียม พร้อมตั้งเป้ายอดขายรวมอยู่ที่ 600 ล้านบาทภายในปี 2023

‘ไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้’ แพม - ยุพิน มีฝันระยะยาวที่ใหญ่กว่านั้น โดยกำลังวางแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์เพื่อระดมทุนขยายสเกลธุรกิจไปทั่วประเทศ และมีความฝันอยากโกอินเตอร์ด้วยในที่สุด!

.

ภาพ : You&I