30 ส.ค. 2566 | 11:49 น.
- ร้านลูกไก่ทอง เป็นร้านอาหารดังที่มี ‘แสงณรงค์ มนตรีวัต’ และ ‘กาญจนา ทัตติยกุล’ ก่อตั้ง
- หนึ่งในเมนูขึ้นชื่อของที่นี้ คือ ‘ปังชา’ เพราะกาญจนาต้องการสร้างขนมหวานให้เป็นเมนูเด่น
- ปังชา กลายเป็นเมนูยอดนิยมและตอนนี้เป็นประเด็นถกเถียงเรื่องการนำไปจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า
จุดเริ่มต้นเมนูปังชาของร้านลูกไก่ทองเกิดขึ้นมาจาก ‘แก้ม - กาญจนา ทัตติยกุล’ ซึ่งพื้นเพเป็นคนอำเภอบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ได้มาทำร้านอาหารลูกไก่ทองกับแฟนของเธอ (แสงณรงค์ มนตรีวัต ทายาทรุ่น 2 ของร้านไก่ทอง)
ตอนนั้นเธอคิดว่า ร้านยังไม่มีของหวานที่เป็นเมนูเด่น จึงคิดนำชาไทยมาทำเป็นเมนูขนม เพราะตัวของกาญจนาเป็น ‘ชาไทยเลิฟเวอร์’ มาตั้งแต่เด็ก และตอนนั้นชาไทยเองก็มีชื่อเสียงติดอันดับโลก
“ชาไทยดังมานานแล้ว แต่ที่ต่างชาติเห็นส่วนใหญ่จะเป็นชาสีส้มขายตามรถเข็นข้างถนน ราคาไม่แพง 20 - 25 บาท ทำให้ตัวเองคิดว่า ทำไมให้ค่าชาไทยแค่นี้เอง ทั้งที่ความจริงชาไทยมีค่ามากกว่านั้น”
จากความคิดนี้กาญจนาได้ไปเสาะหาใบชาที่ดี เพื่อนำมาพัฒนาเป็นเมนูน้ำแข็งไสรูปแบบใหม่ ที่คนเห็นแล้วต้องว้าว โดยจุดเด่นชาไทยของเธอ คือ การนำใบชา 5 ชนิดมาเบลนด์เข้าด้วยกัน ซึ่งทดลองทำ ทดลองชิมนานกว่า 1 เดือนถึงได้รสชาติที่ลงตัว จึงเริ่มทำออกมาให้ลูกค้าที่มาใช้บริการในร้านลูกไก่ทองได้ทดลองชิม
ปรากฏว่า เมื่อแฟนของเธอ (แสงณรงค์ มนตรีวัต) มาเห็นได้พูดกับเธอว่า ‘แก้มอย่าเอาขนมบ้านนอกมาเสิร์ฟลูกค้าพี่’
เมื่อได้ยินประโยคนี้ทำเอากาญจนาถึงกับเหวอ เพราะขนาดคนใกล้ตัวยังบอกเป็นขนมบ้านนอก ทำให้เกิดอาการฮึดสู้ตั้งใจจะทำให้ปังชาของเธอที่ถูกปรามาสให้กลายเป็นเมนูขายดีและดังระดับโลกให้ได้
“มันทั้งกดดันและเป็นแรงบันดาลใจ ทำให้เราอยากพิสูจน์สิ่งที่เราคิด ส่วนทำไมตั้งราคาที่ 200 บาทเลย เพราะตัวเองเชื่อว่า ถ้าเรามั่นใจสิ่งที่ทำมาจากความตั้งใจ เมื่อลูกค้ากินเข้าไปจะรู้ถึงคำว่า คุณภาพคับถ้วย รู้สึกถึงรสชาติจากความตั้งใจจริง ๆ ”
และในปี 2009 เมนูปังชาก็ได้วางขาย ณ สาขาแรกของร้านลูกไก่ทอง นั่นคือ สาขาทองหล่อ 13 ซึ่งได้รับกระแสตอบรับดีเกินคาด จนกลายเป็นเมนูฮิตที่ลูกค้าทั้งไทยและต่างชาติมาแล้วต้องสั่ง หรือมีหลายคนยอมมารอคิวเพื่อกินเมนูนี้โดยเฉพาะ แถมการันตีความอร่อยจากการได้รับ ‘มิชลินไกด์’ ตั้งแต่รางวัลนี้ได้เข้ามาไทยครั้งแรกในปี 2018 จนถึงปี 2022
“ช่วงพีคสุดเราขายได้มากกว่า 300 ถ้วยต่อสาขา และทำรายได้ไป 15 ล้านบาทต่อเดือน”
ปัจจุบันนอกจากร้านลูกไก่ทองที่มีสาขา 4 แห่งแล้ว กาญจนาและแสงณรงค์ยังได้แตกแบรนด์ Pang Cha Café ที่ตอนนี้มีอยู่ด้วยกัน 9 สาขา โดยทั้งสองร้านอยู่ภายใต้การบริหารของ ‘บริษัท กาญณรงค์ กรุ๊ป จำกัด’ ซึ่งเมื่อดูจากรายได้แล้วน่าสนใจทีเดียว
ปี 2562 รายได้รวม 161 ล้านบาท กำไร 4.7 ล้านบาท
ปี 2563 รายได้รวม 97 ล้านบาท ขาดทุน 6.5 ล้านบาท
ปี 2564 รายได้รวม 93.7 ล้านบาท ขาดทุน 592,834 บาท
ปี 2565 รายได้รวม 289.9 ล้านบาท กำไร 29 ล้านบาท
ส่วนชื่อเสียงของ ‘ปังชา’ จะทำให้เราได้เห็นร้านลูกไก่ทอง และ Pang Cha Café เจ้าของเมนู ‘ปังชา’ โกอินเตอร์ไปเปิดสาขาในต่างประเทศหรือไม่ เป็นเรื่องที่น่าติดตาม
.
*หมายเหตุ
ณ วันที่ 29 สิงหาคม 2566 ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกมาให้ความรู้เพิ่มเติมทางเพจ ‘กรมทรัพย์สินทางปัญญา’ เกี่ยวกับประเด็นดังกล่าว ว่า น้ำแข็งไสราดชาไทยมีการขายกันมานาน จึงไม่มีใครสามารถจดสิทธิบัตร และอนุสิทธิบัตร แล้วจะอ้างเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวไม่ได้ ดังนั้นใคร ๆ ก็สามารถขายได้น้ำแข็งไสราดชาไทย แต่อย่านำการลวดลายหรือแบบภาชนะของร้านที่เป็นข่าว ซึ่งจดสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ไว้
ส่วนประเด็นการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามที่แบรนด์ปังชากล่าวถึง ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาชี้แจงว่า จะคุ้มครองตามรูปแบบที่จดทะเบียนไว้เท่านั้น ดังนั้น การใช้คำว่า “….ปัง…ชา…” หรือ “…ปังชา…” ยังใช้ได้ต่อไป แต่ไม่ควรใช้ฟอนต์ให้นึกถึงแบรนด์ดังกล่าว
สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมที่ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ความรู้เพิ่มเติมได้ทาง
https://www.facebook.com/photo/?fbid=708656624635320&set=pcb.708657677968548
.
ภาพ : Pang Cha Café
.
อ้างอิง
.
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า