23 ก.ย. 2566 | 23:14 น.
- ‘กีฬา e-Sport’ หรือ เกมเมอร์ กลายเป็นอาชีพในฝันของคนรุ่นใหม่ ซึ่งจริงแล้วกลายเกิดการยอมรับมากขึ้น และเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ที่น่าสนใจ
- Ampverse บริษัทที่อยู่เบื้องหลังการปั้นนักกีฬา e-Sport ทีมชาติไทย
- ยุ่น–สุรศักดิ์ วินิจ Co-founder, Ampverse แชร์ข้อมูลเกี่ยวกับเกมเมอร์ และกลุ่มคนที่ชอบเสพคอนเทนต์เกม ซึ่งน่าดึงดูดสำหรับธุรกิจมากขึ้น
ใครจะคิดว่าการแข่งขัน ‘เอเชียนเกมส์’ (Asian Games Hangzhou) ครั้งที่ 19 ที่หางโจว ประเทศจีน จะเป็นครั้งแรกที่เปิดโอกาสให้ ‘กีฬา e-Sport’ ถูกบรรจุให้มีการชิงเหรียญรางวัลเกิดขึ้น...ใช่! กีฬาที่มาจากการเล่นเกมนี่แหละ เชื่อว่าน่าจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับหลายคน แต่การสร้างรายได้ของเกมเมอร์ในเมืองไทยเกิดขึ้นมาสักพักใหญ่แล้ว
ทั้งนี้ เอเชียนเกมส์ได้เปิดพิธีอย่างเป็นทางการไปแบบสด ๆ ร้อน ๆ เมื่อ 23 กันยายน 2566 และหลายคนอาจยังไม่รู้ว่าเงินรางวัลของกีฬาประเภท e-Sport นี้สูงกว่าการแข่งขันกีฬาอีกหลายประเภท เช่น การแข่งขันบาสเกตบอล ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกีฬาที่มีเงินรางวัลค่อนข้างสูง โดยเงินรางวัลรวมสูงสุดของการแข่งขัน e-Sport ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วก็คือ 45 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
บริษัทที่ชื่อว่า Ampverse ก่อตั้งขึ้นโดย ยุ่น–สุรศักดิ์ วินิจ หนึ่งใน Co-founder ของบริษัท ถือว่ามีบทบาทอย่างมากต่อการขับเคลื่อนวงการ e-Sport ของไทย ซึ่งมูลค่าตลาดการแข่งขันกีฬา e-Sport ทั่วโลกสูงถึง 52,500 ล้านบาทในปี 2022 และยังทำท่าว่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ไม่หยุด
ถอดแนวคิดผู้ร่วมก่อตั้ง Ampverse
Ampverse คือบริษัทที่ให้บริการด้านธุรกิจเกมมิ่งและ e-Sport ในประเทศไทย ก่อตั้งมาแล้ว 4 ปี เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในสิงคโปร์ก่อนเข้ามาในไทย และได้จดทะเบียนในไทยหลังจากนั้นในฐานะเป็นบริษัทลูก
ยุ่น – สุรศักดิ์ ได้พูดในงาน DAAT DAY 2023 ที่ผ่านมาว่า ก่อนที่เขาจะเปิดบริษัท Ampverse ขึ้นมา ได้ทำงานกับ Twitch.tv ในตำแหน่ง Country Manager ซึ่งดูแลเหล่าสตรีมเมอร์ตั้งแต่ตอนนั้น จึงรู้สึกว่าอยากต่อยอดประสบการณ์ที่มี ผลักดันให้เกมเมอร์ หรือ กีฬา e-Sport ของไทยไปไกลมากขึ้น
พูดว่าเขาเป็นอีกหนึ่งคนที่อยู่ในวงการเกมมานาน โดย ยุ่น-สุรศักดิ์ อยู่ในธุรกิจเกมมานานกว่า 17 ปี เขาเริ่มจากการเขียนหนังสือเกม, ทำมีเดียเกี่ยวกับเกม, เคยอยู่ใน Livestream เป็นนักพากย์เสียง จนได้มาทำงานกับ Twitch.tv
ช่วงที่ตัดสินใจลาออก ตอนนั้นสิ่งที่เขาคิดก็คือ อยากเปิดบริษัทเพื่อดูแลสตรีมเมอร์ เป็นที่ปรึกษาช่วยเจรจาสัญญาหรือข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ให้กับเหล่าสตรีมเมอร์ รวมถึงเป็นตัวกลางรับงานผ่านสปอนเซอร์ด้วย
“เกม มันคือสิ่งที่คนอื่นมักคิดว่าเป็นเรื่องเล่น ๆ แต่จริงแล้วต้องทุ่มเท จริงจังพอสมควรเลยถึงจะไปถึงจุดนั้น (สร้างรายได้)”
“สำหรับผมเกมคือ ธุรกิจที่น่าจับตามองมาก และก็มีบริษัททั้งในไทยและต่างประเทศที่เริ่มลงทุนกับเกม ก็มีส่สนทำให้ Ampverse โตเร็วในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา”
Ampverse เคยคว้า 3 รางวัลจากเวที Thailand Social AIS Gaming Awards ต้องบอกว่าสำหรับบริษัทนี้ ทำหลายอย่างมาก ๆ ตั้งแต่ธุรกิจด้านเกมมิ่ง, เอนเตอร์เทนเมนต์ แล้วก็ e-Sports
ปัจจุบัน ยุ่น–สุรศักดิ์ เป็นผู้ที่ดูแลกลุ่มอินฟลูเอนเซอร์และนักกีฬา e-Sport ทั้งของไทยและต่างประเทศ เช่น Bacon Time ทีมนักกีฬา e-Sport เกม Arena of Valor (Rov) ไปจนถึง ทีมนักกีฬา e-Sport ที่แข่งขันมานาน อย่าง PUBG หรือ Valorant, STBC ทีม e-Sport สัญชาติเวียดนาม หรือ แม้แต่ทีมนักกีฬาของอินเดียอย่าง 7SEA เป็นต้น
เขาแชร์ในงาน DAAT DAY 2023 มีข้อมูลน่าสนใจหลายอย่าง เช่น ปัจจุบันมีประมาณ 36 ล้านคนในไทยที่เป็น ‘เกมเมอร์’ และมีประมาณ 27 ล้านคนที่ชอบเสพคอนเทนต์เกี่ยวกับเกม ตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเร็วมากตั้งแต่ที่มีการระบาดโควิด-19
นอกจากนี้ เขายังแชร์ตัวเลขเกี่ยวกับการแข่งขัน e-Sport ที่ผ่านมาด้วยว่า เป็นเทรนด์ของคนรุ่นใหม่ที่ให้ความสนใจอย่างมาก เช่น การแข่งขันศึกรอบชิงแชมป์ Arena of Valor Premier League (APL) 2023 ณ ไอคอนสยาม ซึ่งช่วงเวลานั้นมีคนติดตามมากถึง 9 แสนคนในเวลาเดียวกัน ทั้งยังเป็นการดูไลฟ์สดระยะยาวจนจบด้วย
ขณะที่ RoV ทีมชาติไทยเคยคว้าเหรียญทอง SEA Games ครั้งที่ 31 ที่เวียดนามมาแล้ว ซึ่งสำหรับ ยุ่น-สุรศักดิ์ เขาพูดว่า “เมื่อก่อนกีฬา e-Sport ส่งเสียงไปไม่ดังพอ ไม่ถึงรัฐบาล แต่ตอนนี้ด้วยจำนวนคนและผลงานของพวกเขา เราสามารถส่งเสียงได้ดังขึ้นเพื่อให้คนยอมรับ”
เกมเมอร์กับแบรนด์
ถ้าจะพูดว่า เกมเมอร์ อินฟลูเอนเซอร์สายเกม หรือนักกีฬา e-Sport ดึงดูดโฆษณาหรือแคมเปญจากแบรนด์ได้ และความน่าสนใจพอ ๆ กับอินฟลูฯ วงการอื่น จะเชื่อหรือไม่?
คำถามนี้ มีคำตอบชัดเจนจาก ยุ่น-สุรศักดิ์ ที่เขาได้ยกตัวอย่างแบรนด์ที่ดึงเกมเมอร์ไปร่วมทำแคมเปญและประสบความสำเร็จค่อนข้างเยอะ เช่น NESCAFE ที่จัดการแข่งขัน RoV แคมเปญ แบกไก่ไปตีป้อมกับ Nescafe Triple Espresso ที่ทำยอดวิวทะลุ 5 ล้านคน, engagement แตะ 3.4 แสนคน ถือเป็นตัวเลขที่น่าคิดสำหรับแบรนด์
นอกจากนี้ยังมี KFC ที่จับมือกับ RoV (Arena of Valor) ทำแคมเปญ ‘KFC x RoV ชุดขุมทรัพย์เดอะบอกซ์’ ที่ดึงผู้พันแซนเดอร์สเข้าไปอยู่ในโลกของ RoV แน่นอนว่าผลตอบรับ และการรับรู้ของเหล่าเกมเมอร์ และคนที่ชอบเสพคอนเทนต์เกมดีเกินคาดเช่นกัน
ยุ่น-สุรศักดิ์ พูดไว้ว่า “อินฟลูฯ ฝั่งเกมไม่เล็กนะ หลายคนมียอดผู้ติดตามหลักล้าน หรือเกือบล้านคน ซึ่งทุกครั้งที่ทำงานร่วมกับแบรนด์สามารถสร้างความน่าเชื่อถือ ให้ความรู้สึกเหมือนเพื่อนคุยกัน เพื่อนแนะนำกัน ตอนนี้เป็นแบบนี้แล้ว”
แน่นอนว่าจุดประสงค์หลักของเกมเมอร์ หรือ นักกีฬา e-Sport คือการแข่งขันในสนามจริงที่เจอคนคอเดียวกัน ซึ่งจากที่ ยุ่น-สุรศักดิ์ บอกว่า นักกีฬาก่อนที่จะลงแข่งต้องซ้อมเล่นเกมเหมือนกับกีฬาอื่น อย่างเกมเมอร์ที่ Ampverse ดูแล พวกเขาต้องซ้อม 8-10 ชั่วโมงต่อวัน
เมื่อฟังแบบนั้นเราอดคิดตามไม่ได้ว่า เกมเมอร์เมืองไทยได้เงินเดือนหรือมีเงินเข้าหมุนเวียนเยอะแค่ไหน จากที่ ยุ่น-สุรศักดิ์ พูดว่า “เกมเมอร์สร้างรายได้กว่าที่หลายคนคิด บางทีเห็นเป็นเด็กอายุ 17-18 แต่จริง ๆ เงินเดือนมหาศาล”
เราจึงไปลองค้นข้อมูลพบว่า เกมเมอร์มีหลายระดับ ดังนั้น เงินเดือนก็แยกกันออกไป ซึ่งถ้าเริ่มต้นเข้าสังกัดในทีมได้แล้ว ส่วนใหญ่จะเริ่มที่หลัก 30,000-50,000 บาท ขึ้นอยู่กับความสามารถ ภูมิภาค และลีกที่แข่งขัน จากนั้นเมื่อเกมเมอร์แข่งชนะ หรือสร้างชื่อเสียงระดับหนึ่งแล้ว เงินเดือนก็จะอัพขึ้นไปอยู่ที่หลักแสนบาท หรือ หากเป็นการแข่งขันระดับประเทศ/ทวีป เงินเดือนก็จะเพิ่มตามเป็นหลักล้านนั่นเอง
หากพูดว่าเกมเมอร์ หรือนักกีฬา e-Sport เป็นอาชีพในฝันของเด็กรุ่นใหม่ ก็คงไม่ผิดแปลกอะไร (เพราะได้เงินเดือนเยอะจริง ๆ) ดังนั้น การรับรู้และการยอมรับในอาชีพนี้กว้างขึ้นมากในปัจจุบัน แต่ก็ยังมีอยู่บ้างที่ไม่เข้าใจ หรือไม่ยอมรับว่าเป็นอาชีพสร้างรายได้ได้จริง ๆ ซึ่งการที่เราแชร์ข้อมูลบางส่วน รวมถึงมุมมองจาก ยุ่น-สุรศักดิ์ ตัวแทนของ Ampverse ซึ่งคลุกคลีอยู่กับเกม และกีฬา e-Sport โดยตรง เชื่อว่าน่าจะช่วยเพิ่มมุมมองที่น่าสนใจเกี่ยวกับเกมเมอร์ไม่มากก็น้อย
*เนื้อหาบางส่วนมาจากงาน DAAT DAY 2023*
ภาพ: Ampverse/ Surasak Winij
อ้างอิง: