10 พ.ย. 2566 | 20:30 น.
“โลกมีความไม่แน่นอน ทุกอย่างเปราะบางมาก แปลว่าธุรกิจใดก็ตามอาจจะล่มสลายภายในพริบตา”
ในโอกาสครบรอบ 5 ปี และก้าวสู่ปีที่ 6 ของ THE PEOPLE สื่อรุ่นใหม่ที่นำเสนอเรื่องราวการสร้างแรงบันดาลใจเรื่อง ‘คน’ ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตของผู้คนให้ดีขึ้น เราชาว The People จัดงาน Celebrating The People 5th Anniversary ในวันพฤหัสบดีที่ 9 พฤศจิกายน 2566 ณ คริสตัล บ็อกซ์ ชั้น 19 เกษร เออร์เบิน รีสอร์ท แยกราชประสงค์ กรุงเทพมหานคร
งานนี้มาพร้อม Exclusive Forum พาทุกคนก้าวสู่ ‘ความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง’ กับ THE PEOPLE TALK : GAME CHANGER FORUM 2023 เวลา 13.00-16.30 น.
ช่วงหนึ่งของงาน The People Talk : Game Changer Forum 2023 มี ‘อาร์ต-ขยล ตันติชาติวัฒน์’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เมทเธียร์ จำกัด (Metthier) มาร่วมพูดคุยถึงการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่ที่ทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ใช่เฉพาะแค่ในประเทศไทย หากแต่ยังขยายใหญ่ไปในระดับโลก ในงานเสวนาหัวข้อ “CHANGE อย่างไรให้ก้าวนำโลก”
โดยเริ่มจากการให้คำนิยามวิวัฒนาการของคำว่า VUCA ซึ่งถูกนำมาใช้อธิบายสถานการณ์โลกโดยรวมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองว่า ในยุคปัจจุบันมีการบัญญัติศัพท์ขึ้นมาใหม่โดยชื่อว่า BANI ย่อมาจาก
1.) Brittle เป็นโลกที่เปราะบาง
2.) Anxiety-inducing หรือ Anxious เป็นโลกที่เต็มไปด้วยความกังวล
3.) Nonlinear หรือ เป็นโลกที่ความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ ไม่เป็นเส้นตรง
4.) Incomprehensible หรือ เป็นโลกที่เข้าใจได้ยาก ไม่มีความเข้าใจเลย
“สำหรับสิ่งที่เราต้องรับความเปลี่ยนแปลงอย่างไรนั้น เริ่มจากตัว B (Brittle) มันเป็นสิ่งที่เปราะบางมาก ดังนั้น ผู้นำองค์กร คือบุคคลที่สำคัญที่สุด เพราะความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้นในสังคม ในโลกใบนี้ ทุกอย่างมันเปราะบางมาก ๆ แปลว่าธุรกิจใดก็ตามอาจจะล่มสลายภายในพริบตา”
ก่อนจะยกตัวอย่าง ธุรกิจสนามบินที่เขาเคยคลุกคลีในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งพบว่าก่อนจะมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ประเทศไทยเคยมีนักท่องเที่ยวหลั่งไหลเข้ามาวันละไม่ต่ำกว่า 40-50 ล้านคน ยอดจองที่พักสูงลิ่ว สายการบินมีผู้ใช้บริการหลักล้าน แต่เมื่อโรคระบาดแพร่กระจายเข้ามา ทุกอย่างหยุดชะงักในชั่วพริบตา
หากผู้นำองค์กรขาดวิสัยทัศน์ที่จะปรับเปลี่ยนธุรกิจให้พร้อมรับมือกับความเปลี่ยนแปลง ที่ไม่เคยมีใครเคยประสบ องค์กรนั้นก็อาจจะล่มสลายไปพร้อมกัน
“คุณมีสิทธิ์ที่จะล่มสลายได้ภายในวันพรุ่งนี้ เพราะเราอยู่ในโลกที่เปราะบาง อันแรกแปลว่าคุณต้องมีวิสัยทัศน์ที่ดีก่อน มองเห็นอนาคตว่าทุกอย่างมีสิทธิ์ที่จะมีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น และคุณต้องรองรับความไม่นอนนั้น”
นอกจากนี้ ขยลยังได้ยกตัวอย่างสิ่งที่เขาให้ความสำคัญเป็นอันดับต้น ๆ ในการบริหารองค์กรคือ การมอบรางวัลตอบแทนเล็ก ๆ น้อย ๆ (Create Small Win) ให้แก่พนักงาน เพราะนี่คือสิ่งที่จะช่วยขับเคลื่อนให้องค์กรเติบโตอย่างก้าวกระโดด
“เราต้องสร้างชัยชนะเล็ก ๆ ในรูปแบบใดก็ตาม เพื่อร่วมฉลองความสำเร็จร่วมกัน as a team มันจะสร้างวัฒนธรรมแบบใหม่ให้เกิดขึ้นในองค์กร ส่วน Nonlinear หรือการไม่เป็นเส้นตรง เนื่องจากว่ามันไม่มีหลักสูตรตายตัวที่จะไปจาก A สู่ B วันนี้คุณต้องเข้าใจก่อนว่ามันมีทางลัด มีทางที่ต้องอ้อมบ้าง แต่สิ่งที่สำคัญคือคุณต้องสร้างอะไรบางอย่างให้เกิดขึ้นในองค์กร
“แต่ในวันนี้เราต้องการทำกระบวนการต่าง ๆ ให้ Automate คือทำได้เอง อัตโนมัติ ไม่ใช่จาก A สู่ B กระบวนการจะต้องทำแบบนี้อย่างเดียว แต่บางทีมันมีทางลัดได้ ด้วยการทำ Automation อันนี้คือในโลกยุคใหม่ ทุกอย่างสามารถปรับให้เป็น Digitalize ได้ อาจจะฟังดูยากแต่เราสามารถทำได้
“ตัวสุดท้าย คือ Incomprehensible เป็นโลกที่เข้าใจได้ยาก การจะทำให้เข้าใจง่าย ต้องทำเรื่องของ Data ให้ชัดเจน ยอมรับความจริงในองค์กรที่เป็นเทคโนโลยีบ้าง วันนี้เราใช้ Data ไม่เป็นประสิทธิภาพมากเท่าที่ควร”
ก่อนจะกล่าวต่อในหัวข้อ ‘Planet Change’ คุณค่าของธุรกิจยุคใหม่ เปลี่ยนธุรกิจให้มีผลกำไรและผลลัพธ์บวกแก่โลก และสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ตรงกับสิ่งที่บริษัท เมทเธียร์ จำกัด (Metthier) ให้ความสำคัญมาโดยตลอด
และในฐานะที่เป็นบริการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์อัจฉริยะ (Smart Facility Management) ‘รายแรก’ ในประเทศไทย การนำเทคโนโลยีมาช่วยบริหารจัดการก็เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทย ขยับเข้าใกล้การเป็นเมืองอัจฉริยะได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
“เราเชื่อว่าเทคโนโลยีจะเปลี่ยนแปลงโลกได้ ผมยกตัวอย่างในหลายประเทศมีการใช้ Smart Sensor, Smart City และ Smart Building ซึ่งประเทศไทยพูดถึงกันมานานแล้ว แต่ไม่เกิดสักที สิ่งหนึ่งที่ผมค้นพบคือมันไม่จำเป็นต้องมุ่งไปสู่สเกลใหญ่ขนาดนั้น เพื่อให้มันเกิด เป็น Big I แต่ความจริงเราเริ่มจาก Small i ได้ เริ่มจาก Innovation เล็ก ๆ ที่ตัวเราเองก่อน สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราเชื่อว่า ด้วยเทคโนโลยีจะสามารถทำให้โลกดีขึ้น
“วันนี้เราเริ่มทำ Smart Building เราเข้าไปบริหารอสังหาฯ ตัวอาคารสำนักงานทั้งหมด การเข้า-ออกไม่จำเป็นต้องใช้บัตรอีกแล้ว นั่นคือเทคโนโลยีของเรา ที่มีทั้งประสิทธิภาพ และมีความเที่ยงตรงสูงมาก เพราะว่าทุกครั้งที่คุณถ่ายรูปด้วยกล้องที่จะไปเยี่ยมชม มันอาจจะชัดไม่ชัด แต่ของเราเมทเธียร์ชัดเจนแน่นอน
“เรื่องนี้จะเข้ามาช่วยคน ไม่ได้เข้ามาทดแทนคน เราทำเรื่องของ Smart Security เข้าไปรักษาความปลอดภัยแทนคน สิ่งที่เกิดขึ้นคือ Planet Change เพราะว่า Security ความปลอดภัยเกิดขึ้นในสังคม ไม่ใช่แค่ในบริษัทแล้ว เราหวังว่าในอนาคตมันจะเปลี่ยนไปในระดับประเทศ และถ้าเป็นไปได้ มันจะเป็นระดับโลก ความปลอดภัยต้องมีมากขึ้น นี่คือสิ่งที่เราเชื่อว่า Planet Change คือคิดก่อนว่าจะทำเพื่อโลกให้มันดีขึ้น
“วันนี้เรามี Energy Saving ประหยัดพลังงาน แค่เราติด Smart Sensor เข้าไปในแต่ละชั้น ช่วยประหยัดพลังงานให้เห็น 15-20% ฉะนั้น ในส่วนของ Planet Change ผมจึงเชื่อว่าคือสิ่งแรกที่บริษัทควรให้ความสำคัญก่อน เมื่อบริษัทเห็นเรื่องนี้เป็นหัวใจสำคัญ วิสัยทัศน์เกิด คนที่อยู่ในองค์กรเขาก็จะเชื่อแล้วว่าสิ่งนี้ Larger than life ใหญ่กว่าชีวิตเขา พอคุณค่าเหล่านี้มันใหญ่กว่าชีวิตคน อย่างที่ผมพูดไปแล้วว่าคนรุ่นใหม่ เขาต้องการทำอะไรที่มันยิ่งใหญ่ตัวเอง”
ขยล ยังหยิบยกตัวอย่าง Facility Management ว่าเมทเธียร์กำลังทดลอง ‘หุ่นยนต์ทำความสะอาด’ (Robotics Cleaning) จากเดิมใช้ทำความสะอาดที่ท่าอากาศยาน ขยลเริ่มนำนวัตกรรมดังกล่าว มาปรับใช้ในส่วนของอาคารสำนักงาน เพราะเขาอยากแสดงให้เห็นว่า มนุษย์กับหุ่นยนต์สามารถทำงานร่วมกันได้
“สนามบิน คือ Gateway to Thailand ถ้าสนามบินมีเทคโนโลยีที่ดี มีการรองรับที่ดี มันจะเป็นหน้าเป็นตาของประเทศ เพราะเรา (เมทเธียร์) ต้องการที่จะทำเรื่องนี้ให้เป็นหน้าเป็นตาของประเทศ
“เราต้องการยกระดับความเป็นอยู่ คุณภาพชีวิต รวมไปถึงการให้บริการ ตัวอย่างเช่นในเรื่องของแม่บ้าน หุ่นยนต์ที่ใช้ที่สนามบิน ในวันนี้เราต้องการนำเข้ามาใช้ที่อาคารสำนักงานขนาดใหญ่ เราเชื่อมหุ่นยนต์กับซอฟต์แวร์แพลตฟอร์มกลาง เราสามารถที่จะเอาหุ่นยนต์ไปที่ multi office หมายความว่าคุณมีออฟฟิศหลายที่ คุณไม่จำเป็นต้องดูแล แต่เราจะมีหุ่นยนต์ทำความสะอาดให้ เราจะรู้ว่ามีการทำความสะอาดไปกี่ตารางกิโลเมตร
“ค่าใช้จ่ายที่เราจะคิดมีมูลค่าเป็นรายเดือนเท่ากับการจ้างแม่บ้าน แปลว่าผู้ใช้บริการอาจจะเสียค่าบริการเท่าเดิม แต่จะได้เทคโนโลยีที่เป็นแม่บ้านด้วย พร้อมกับหุ่นยนต์ที่ทำความสะอาดได้ดี และพิสูจน์เรื่องของประสิทธิภาพได้อย่างชัดเจน นี่คือสิ่งที่เราจะเปลี่ยนโลกด้วยคนและหุ่นยนต์”
และนี่คือบทสนทนาว่าด้วยความหวังที่มีต่อโลกอนาคตของชายที่ชื่อขยล เพราะเขาเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้ว การเปลี่ยนแปลงทุกอย่างที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะเรื่องของเทคโนโลยี จะช่วยเปลี่ยนโลกให้ก้าวล้ำยิ่งกว่าเก่า โดยไม่ทิ้งมนุษยชาติไว้ข้างหลัง