ขยล ตันติชาติวัฒน์ CEO Metthier ผู้เข้ามาพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยี

ขยล ตันติชาติวัฒน์ CEO Metthier ผู้เข้ามาพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยี

ก้าวใหม่ที่น่าจับตามองของ 'ขยล ตันติชาติวัฒน์' หลังจากเปิดบริษัท เมทเธียร์ จำกัด (Metthier) บริการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์อัจฉริยะแบบครบวงจร ด้วยเทคโนโลยีแห่งอนาคต ‘รายแรก’ ในไทย

‘อาร์ต - ขยล ตันติชาติวัฒน์’ คือประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เมทเธียร์ จำกัด (Metthier) ที่นิยามตัวเองว่าเป็นผู้ให้บริการบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์อัจฉริยะแบบครบวงจร ด้วยเทคโนโลยีแห่งอนาคต ‘รายแรก’ ในไทย

สถานที่ที่กำลังเปิดประตูโลกแห่งอนาคต พร้อมกับประกาศให้โลกรู้ว่า ประเทศไทยเอาจริงเอาจังแค่ไหนกับการเปลี่ยนผ่านไปสู่เมืองอัจฉริยะ โดยมีขยลเป็นผู้นำทัพ คอยประคองไม่ให้เราหล่นหายไประหว่างการเปลี่ยนแปลงที่เขาสร้างขึ้น

ขยลไม่ใช่แค่เข้าใจโลก เขายังเป็นผู้บริหารที่เข้าใจเพื่อนร่วมงาน มองการเปลี่ยนแปลงว่าเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ เขาไม่เคยกลัว แต่พร้อมกระโจนใส่ทุกการเปลี่ยนผ่านโดยไม่ลืมคนที่อยู่ข้างกาย เพราะเมทเธียร์จะไม่สามารถขับเคลื่อนไปได้ หากละเลยเหล่าคนทำงาน บุคคลที่สำคัญที่สุดในการนำเทคโนโลยีมาแทรกกลางใจคนไทย

เมทเธียร์เปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนตุลาคม 2566 แต่หากให้ขุดลึกลงไปกว่านั้น บริษัทแห่งนี้รวมเหล่าผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีของไทยมาร่วมกันคิดค้น วางแผน และทดสอบระบบต่าง ๆ มานานกว่า 5 ปี เมื่อทุกอย่างพร้อม เขาก็ไม่รอช้าที่จะเปิดทุกอย่างให้ทุกคนเข้ามาสัมผัสการเปลี่ยนแปลง โดยมีเป้าหมายที่กลุ่มเจ้าของหรือผู้พัฒนาโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ 5 กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็น โรงงานอุตสาหกรรม, โครงการมิกซ์ยูส (Mixed-Use), โรงพยาบาล, สถาบันการเงิน และสถานศึกษา

แน่นอนว่านี่เป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของการเป็นรายแรกในไทย แต่ชายตรงหน้ากลับไม่มีท่าทีหวั่นเกรง ในทางกลับกัน เขาเต็มไปด้วยความมั่นใจ และพร้อมไขข้อข้องใจผ่านบทสนทนาที่ลุ่มลึก

ขยล ตันติชาติวัฒน์ CEO Metthier ผู้เข้ามาพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยี

ชีวิตที่พร้อมรับทุกความเปลี่ยนแปลง

ย่านทรงวาดคือพื้นที่เก็บความทรงจำวัยเด็กของขยล เขาเป็นลูกหลานชาวจีน คุณพ่อทำงานด้านอสังหาริมทรัพย์ มีความเชี่ยวชาญชนิดหาตัวจับยาก และคุณพ่อก็ได้ถ่ายทอดคำสอนที่ฝังลึกอยู่ในใจของขยล นั่นคือ การเน้นย้ำถึงความสำคัญของเวลา เพราะทุกคนมีเวลาเท่ากันหมด ขึ้นอยู่กับว่าเราจะใช้เวลานั้นคุ้มค่าแค่ไหน 

“ด้วยความที่อากงเป็นประธานสมาคมพ่อค้าจีนที่อยู่เยาวราช ทุกปีก็จะมีการจัดงานสมาคม ครอบครัวเราเลยสอนให้เรารู้จักพบปะผู้คน ขณะเดียวกันเราก็ได้ถอดบทเรียนจากคำสอนของอากง ท่านสอนว่าเราต้องเป็นผู้ให้ ท่านบอกเสมอว่าเราต้องให้ ถ้ามีคนขอ ห้ามเอาจากผู้อื่น ไม่ใช่ว่าเป็นผู้ให้และเป็นผู้รับนะ ท่านบอกว่าเราต้องให้อย่างเดียว ถ้าเรารับมา เราต้องให้คืน

“สิ่งที่ผมเจอแล้วยังจำได้จนถึงตอนนี้ คือ อยู่ที่ร้านกับอากงตอนปิดเทอม แล้วก็มีคนโดนจับ ซึ่งเป็นคนที่ขโมยของในย่านเยาวราช เขาก็มีตำรวจจับกุมมาแล้วผ่านร้าน อากงก็เห็น แล้วก็ถามว่าจับเขาเรื่องอะไร ตำรวจก็บอกว่า เขาขโมยของมา อากงถามว่าเขาขโมยอะไรมา มูลค่าเท่าไร เขาบอกมูลค่ามา แล้วอากงก็จ่ายแทน แล้วปล่อยเขาไป พร้อมย้ำว่าอย่าทำผิดเป็นครั้งที่สอง

“ซึ่งผมยังเด็กมาก ไม่เข้าใจ เพราะเราถูกสอนว่าตำรวจจับผู้ร้ายที่กระทำความผิด แต่ทำไมอากงถึงช่วยผู้ร้ายที่โดนตำรวจจับ พออากงเขามาสอนผมต่อว่าทุกคนควรที่จะได้รับโอกาสครั้งที่สอง ถ้าเขากลับตัวกลับใจได้ นั่นก็จะเป็นบุญของเรา ฉะนั้น ถ้าเราให้คนอื่นโดยไม่หวังผลอะไร นั่นคือการให้ที่ยิ่งใหญ่ที่สุด”

 

นอกจากคำสอนของที่บ้านแล้ว โรงเรียนเซนต์คาเบรียลก็เป็นอีกหนึ่งสถานที่ที่บ่มเพาะให้เขาเข้าใจความสำคัญของการตอบแทนสังคม เพราะการกอบโกยความสำเร็จหอบมาอยู่ในอ้อมกอดของตัวเองเพียงคนเดียว คงเป็นทางเลือกที่โดดเดี่ยวไม่น้อย

และเขาก็ได้รับมิตรภาพดี ๆ จากโรงเรียนแห่งนี้มาจนถึงปัจจุบัน ราวกับมีสายสัมพันธ์คอยผูกประสานเอาไว้ไม่ให้ขาดหาย

ก่อนจะมาเป็นผู้บริหารเมทเธียร์ ขยลทำงานมาแล้วหลายแวดวง เขาเคยทำงานเอเจนซี่โฆษณาชั้นนำของไทย เป็นนักคิด นักวางแผน ดูแลแอคเคาท์ระดับภูมิภาค นี่คืองานเต็มเวลางานแรกของเขาหลังจากเรียนจบปริญญาโท จากมหาวิทยาลัย California State University, Fullerton สหรัฐอเมริกา

ในส่วนของภาคธนาคาร เขามีบทบาทที่น่าสนใจหลายอย่าง โดยเฉพาะการดูแลด้านผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้กับธนาคารไทยพาณิชย์ และเป็นคนทำให้บัตร Co-branded Platinum Card ระหว่างบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่ของไทยเสร็จสิ้นทุกกระบวนการภายในเวลา 2 เดือน ซึ่งน่าจะเป็นบัตรที่ออกเร็วที่สุดในประเทศไทยเลยก็ว่าได้

ไม่ใช่แค่ภาคธนาคารที่ขยลทำหน้าที่ได้เป็นอย่างดี แต่ยังมีอีกแวดวงหนึ่งซึ่งก็คือ อสังหาฯ การเข้ามาของเขา ทำให้วงการนี้ครึกครื้นไม่น้อย เพราะเขาได้เข้ามาทำลายสถิติเดิม โดยการทำยอดขายอสังหาริมทรัพย์มากที่สุดในประเทศไทย

อีกหนึ่งบทบาทสำคัญที่ทำให้วงการเทคโนโลยีต้องสั่นสะเทือน คือ การก้าวขึ้นมาเป็นประธานเจ้าหน้าที่สายงานการตลาดและเทคโนโลยี บริษัท สกาย ไอซีที จำกัด (มหาชน) หรือ SKY บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีความปลอดภัยอัจฉริยะ (Smart Security) และได้รับความไว้วางใจให้เข้ามาดูแลรักษาความปลอดภัยให้กับสถานที่สำคัญ รวมไปถึงองค์กรสำคัญระดับประเทศ ไม่ว่าจะเป็น สนามบินสุวรรณภูมิ กรมศุลกากร และสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

“เพราะฉะนั้นมันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงที่เข้าไปเสมอ เวลาที่เข้าไปทำงาน ผมจะรู้สึกว่างานของเรามันจะถูกเติมเต็มก็ต่อเมื่อเรารู้สึกว่ามันสร้างมรดกอะไรบางอย่าง ตอบคนอื่นได้ ไม่ใช่แค่ในใบสมัครงาน ตอบคนอื่นได้อย่างภูมิใจว่าเราสร้างมรดกไว้นะ เราสร้างการเปลี่ยนแปลงนั้นไว้ในสังคม”

ขยล ตันติชาติวัฒน์ CEO Metthier ผู้เข้ามาพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยี ขยล ตันติชาติวัฒน์ CEO Metthier ผู้เข้ามาพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยี

“จุดเปลี่ยนแรกที่ผมได้รู้จักการช่วยเหลือตัวเองจริง ๆ คือการเข้าไปทำงานที่ร้าน Starbucks ในวันที่เมืองไทยยังไม่มีสักสาขา เพราะโดยส่วนตัวแล้ว ผมตั้งใจมาเรียนมหาวิทยาลัยอย่างเดียว แต่เพื่อนรอบตัวกลับทำงานส่งเสียตัวเองกันหมด

“เราก็มาย้อนถามตัวเองว่า แล้วทำไมเราไม่ทำ นั่นจึงเป็นที่มาของการเดินเข้าไปสมัครงาน เราเริ่มเกี่ยวข้องกับธุรกิจมากขึ้น มีโอกาสพบปะผู้คน ทักษะการสื่อสารก็เพิ่มขึ้น เราเจอคนหลากหลายสัญชาติ ความรับผิดชอบก็เพิ่มมากขึ้นตามลำดับ จากดูแลหลังร้าน บาริสต้า ก็มาเป็นผู้จัดการร้าน เงินจากตรงนั้นเราก็เอามาเป็นค่าใช้จ่ายในการใช้ชีวิตอยู่ที่นั่น”

นอกจากเรียนและทำงานแล้ว เขาได้ค้นพบความชอบที่ซ่อนอยู่ในใจ การถ่ายภาพคือสิ่งที่ทำให้ใจเขาเต้นระรัว ขยลตกหลุมรักภาพถ่ายเข้าอย่างจัง และนั่นจึงเป็นที่มาของการสมัครเข้าเรียนคลาสกลางคืนที่ UC Berkeley มหาวิทยาลัยเก่าแก่ที่สุดของรัฐ สถานที่ซึ่งผลิตบุคลากรคุณภาพชนิดที่สามารถคว้ารางวัลโนเบลมาครองไม่ต่ำกว่าสามสิบคน

“สิ่งที่เปลี่ยนคือมุมมองความเป็นศิลปะในการมองผ่านรูกระจกเล็ก ๆ ที่เรียกว่าเลนส์ ทุกวันนี้คนถ่ายภาพด้วยกล้องมือถือหรือกล้องที่มันเห็นหน้าจอ มีความเป็นศิลปะแหละ แต่ภาพสวยงามในวันที่ผมถ่ายรูป มันคือวันที่ไม่มีกล้องดิจิทัล ตอนที่เรียนอยู่คือถ่ายภาพที่กล้อง manual ทำให้เวลามองผ่านรูเล็ก ๆ ที่เรียกว่าเลนส์ พอมันขยายออกมา มันได้โฟกัสในจุดที่สวยงามในแต่ละมุมของชีวิตคน”

ขยล ตันติชาติวัฒน์ CEO Metthier ผู้เข้ามาพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยี

Data Never Lies!

ขยลยอมรับว่าทุกช่วงชีวิตมีตัวแปรอย่างเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวพันกันหมด ตั้งแต่ความชอบเรื่องการถ่ายภาพ ไล่เรียงมาจนถึงการเข้าทำงานที่แรกในบริษัทเอเจนซี่โฆษณา มาจนถึงวันที่เลือกเปลี่ยนสายงานมาเรียนรู้โลกเทคโนโลยีและนวัตกรรม

“หลาย ๆ ช่วงชีวิตที่ทำงาน คือ เทคโนโลยีมันดูเหมือนต้องเป็นนวัตกรรมใหญ่ที่จับต้องได้ บางอย่างที่เรารู้สึก อย่างเช่น ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง มันก็มีความเป็นเทคโนโลยี 

“แต่มันไม่ใช่ฮาร์ดแวร์ที่จับต้องได้ เราก็เริ่มรู้สึกแล้วว่าโลกมันถูกพัฒนาขึ้น ไม่ว่าจะมุมธุรกิจหรือมุมของการใช้ชีวิตอยู่ มันต้องมีเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ต้องมีการเข้าใจการทำงานของผู้ใช้งาน แล้วมีตัวกลางเป็นแพลตฟอร์มบางอย่าง เพื่อที่จะสร้าง output ที่ดีขึ้นมา ดังนั้นเทคโนโลยีก็เลยอยู่ในทุกช่วงของการทำงานของผมมาโดยตลอด

“จากนั้นผมก็เริ่มสนใจมากขึ้นว่า ถ้าในอนาคตเราเริ่มเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีที่มาปรับเปลี่ยนวิถีความเป็นอยู่ในชีวิตประจำวันให้มีความสะดวกสบายมากขึ้น เราก็อยากจะลองก้าวเข้าไป จนกระทั่งในประเทศไทยมีคำว่าดิสรัปชันขึ้นมา โลกมันกำลังถูกดิสรัปต์ และคนเองก็กำลังถูกดิสรัปต์เช่นกัน

“ผมเลยผันตัวจากอสังหาฯ เพราะรู้สึกพึงพอใจในการเรียนรู้ตรงนั้นแล้ว ไม่มีใครรู้ทุกเรื่องหรอก เพียงแค่เราพอใจและอิ่มตัวกับมันแล้ว เลยเลือกดิสรัปต์ตัวเองก่อนที่จะถูกคนอื่นทำ ด้วยการหาเทคโนโลยีขึ้นมา และได้คุยกับเจ้าของบริษัทเทคโนโลยี SKY ซึ่งเขาก็เป็นเพื่อนของผม

“สิ่งที่เริ่มคุยมันเป็น Technology at the airport เป็น Aviation Technology เกี่ยวกับการบิน เน้นไปที่ ground เน้นไปที่สนามบิน ก็คุยกัน มันน่าสนใจ ความที่ SKY เพิ่งเริ่มต้นในการทำเทคโนโลยีให้กับสนามบิน แบบ Improve Airport Services ให้มันสะดวกสบาย ให้มันง่ายดาย ให้คนเดินทางด้วยการรวมดาต้ามา แล้วใส่ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ เพื่อทำให้ทุกอย่างมันเร็วขึ้น เรื่องเทคโนโลยีเราไม่เคยรับรู้มาก่อน แต่เราอยากที่จะรับรู้ มันน่าสนุกที่เราควรจะผันตัวเองเข้ามาสู่วงการ แล้วก็เรียนรู้ เริ่มต้นใหม่กับสิ่งที่เราไม่เคยเรียน”

ขยล ตันติชาติวัฒน์ CEO Metthier ผู้เข้ามาพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยี

เดือนตุลาคม 2566 คือฤกษ์งามยามดีที่จะทำให้ชื่อของเมทเธียร์เป็นที่รู้จัก เพราะนี่คือผลงานชั้นยอดที่เขาและทีมงานร่วมกันคิดค้นขึ้นมาโดยได้นำเทคโนโลยีขั้นสูง มาปรับใช้และเปิดบริการที่หลากหลาย นำเสนอบริการบริหารจัดการดูแลอสังหาริมทรัพย์อัจฉริยะ โดยมีศูนย์ปฏิบัติการอัจฉริยะเมทเธียร์ (Metthier Intelligent Operation Center: MIOC) ซึ่งเป็นศูนย์รวมระบบปฏิบัติการล้ำสมัยมาช่วยบริหารจัดการความปลอดภัยและมอบความสะดวกสบายภายในอาคารหรือพื้นที่ต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ

ตัวอย่างการทำงานของระบบศูนย์ปฏิบัติการฯ คือ แบบจำลองอาคาร 3 มิติ (3D Visualization) และสามารถระบุพิกัดภายในอาคารในรูปแบบดิจิทัล (Digital Mapping) แสดงผลพื้นที่ในอาคารและระบุตำแหน่งอย่างแม่นยำ

เทคโนโลยีแทบทุกอย่างที่เขาและทีมร่วมกันคิดค้น จึงเกิดจากประสบการณ์ส่วนตัวของขยลแทบทั้งสิ้น แต่แน่นอนว่าไม่ใช่ทั้งหมด...

“พอผมมีพื้นฐานการทำงานมาจากธุรกิจอสังหาฯ คุ้นเคยกับการบริหารจัดการอาคารสถานที่ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นประสบการณ์จากการทำงานตรงนั้น ผมเคยดูซื้อขายเช่า แล้วก็การทำทัวร์ของโปรเจกต์คอนโดมิเนียมในกรุงเทพฯ ฉะนั้น ผมจะชอบมากในการเยี่ยมชม แล้วดูการออกแบบ ดูพวกสิ่งอำนวยความสะดวก เลยได้โอกาสในการเรียนรู้ในการทำงานว่า วิธีการบริหารจัดการที่ดี มันควรจะเป็นอย่างไร

“ต้องบอกว่าทีมงานเป็นคนช่วยกันสร้างแพลตฟอร์ม ซึ่งเป็น Early Stage มาก คนเราเปลี่ยนแปลงตลอด พฤติกรรมไม่เหมือนกันในแต่ละ Target Group ของเรา สมมติเป็นโรงพยาบาล ผมไม่เคยทำงานเกี่ยวกับธุรกิจโรงพยาบาล นั่นแปลว่าประสบการณ์นี้ จะต้องถูกต่อยอดจากความต้องการของลูกค้า ซึ่งเกิดขึ้นจากการดูแลเรื่องการบริหารจัดการอาคารสถานที่ ในการที่จะบอกเราว่าต้องปรับอย่างไร

“แต่ความสวยงามของเมทเธียร์คือการที่เรามีแพลตฟอร์มกลาง ซึ่งเป็นมาตรฐานในการทำงาน ทั้งมุม Security แล้วก็ Cleaning แปลว่าวันนี้ เราพร้อมเข้าไปด้วยมาตรฐานที่เรามี เราทำการบ้าน เราทดลองทำแล้วรู้ว่าอะไรผิด อะไรถูก SOP (Standard Operating Procedure) ต้องมีอย่างไร สั่งการจากส่วนกลางต้องทำอย่างไร”

ในขณะเดียวกัน เขาก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตามโลกที่เปลี่ยนไป ควบคู่กับทำความเข้าใจผู้ใช้บริการตัวจริง

“เราพร้อมที่จะทำงานร่วมกันกับทุกคนที่จะเข้ามาในอนาคต”

ขยล ตันติชาติวัฒน์ CEO Metthier ผู้เข้ามาพัฒนาประเทศให้ดีขึ้นด้วยเทคโนโลยี

The Small “i”

การเปลี่ยนแปลงคือสิ่งที่ขยลพูดถึงบ่อยในการสัมภาษณ์

เขาเชื่อว่าทุกอย่างที่ทำให้เขาเดินมาถึงวันนี้คือการเปลี่ยนตัวเอง

และเขาจะไม่หยุดเปลี่ยน เพราะทุกการขยับตัวของเขา คือการทิ้งมรดกบางอย่างไว้ในสังคม

“ผมเชื่อมาโดยตลอดว่า การเปลี่ยนแปลงสังคมที่ดีที่สุดคือการเปลี่ยนตัวเอง ไม่จำเป็นต้องทำเรื่องใหญ่ เพราะการเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นจากการกระทำเล็ก ๆ เสมอ นั่นคือตัวเราเอง”

ก่อนจะยกสิ่งที่เขาได้เรียนรู้จากการเข้าฟังเลกเชอร์จาก Massachusetts Institute of Technology หรือ MIT ว่า ชีวิตคนเราจะมี The Small i ผูกติดอยู่กับเราเสมอ

ไอตัวเล็ก (i) คือ ตัวเรา

ไอตัวใหญ่ (I) คือ สิ่งที่ยิ่งใหญ่อย่างนวัตกรรม (Innovation)

“จริง ๆ แล้วการเปลี่ยนแปลงมันจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ เสมอ นั่นคือตัวเราเอง The Small i ก็คือ I คือตัวฉันเอง ทีนี้ Innovation มันไม่จำเป็นต้องเป็นตัว I ใหญ่ อันนั้นคือสิ่งที่เมทเธียร์กำลังทำ แต่กลับมาที่ตัวคุณเอง คุณเอาแค่ Small i ก่อน คือตัวคุณเอง

“ถ้าคุณเปลี่ยนแปลงตัวคุณเองในการเข้าใจผู้อื่นมากขึ้น วิธีคิด การทำงานของเรามันก็จะดีขึ้น เราจะเห็นภาพที่ควรจะเป็น เหมือนกับแรงกระทบของน้ำที่มันจะไปในวงกว้าง เราต้องเป็นคนเริ่มต้น เราต้องเป็นคนโยนหินลงไปมากกว่า”

ดูเหมือนว่าหินที่เขาโยนลงไป กำลังสร้างแรงกระเพื่อมไปในวงกว้าง จนอดสงสัยไม่ได้ว่า เขายังมีฝันอื่นอีกไหมที่อยากเห็นในสังคมนี้

ขยลนิ่งคิด ก่อนจะบอกว่า ความฝันของเขาเริ่มชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ

“แต่ก่อนเราคงไม่ต่างจากคนรุ่นใหม่ที่สิ้นหวัง เคยคิดว่ามันจะเปลี่ยนไม่ได้ เคยคิดว่าประเทศเราคงไม่สามารถเข้าไปเปลี่ยนอะไรได้อีกแล้ว แต่พอโตขึ้น เข้ามาทำงานก็เห็นความหวัง เราเริ่มมีความศรัทธา

“ผมมีความหวังและเชื่อด้วย ถ้าเราไม่เชื่อ มันอยู่ไม่ได้ ทุกคนต้องมีความเชื่อว่ามันเปลี่ยนแปลงแน่ นั่นคือสาเหตุที่เราเปิดตัวบริษัท เมทเธียร์ ขึ้น เพราะเราต้องการจะเปลี่ยนแปลงเมทเธียร์ในระดับมหภาค เราคือจุลภาคที่เปลี่ยนแปลงวงเล็ก ๆ ก่อน เราคือบริษัท Small i ในรูปแบบขององค์กรที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง เปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรม เพื่อให้เกิดเป็น Big I Innovation Disruption ให้เกิดขึ้นในสังคมประเทศไทยให้มันดีขึ้น เพื่อตอบโจทย์ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน

“ผมว่ามันอยู่ในยุคของการเปลี่ยนผ่าน มันอยู่ในยุคของการเปลี่ยนแปลง ไม้ขีดไฟที่ถูกจุดขึ้นแล้ว 1 ก้าน มันเป็นพลังไปต่อให้ทุกคนรับรู้แล้วว่ามันจะมีการเปลี่ยนแปลง”