‘น้องหมีเนย’ สัญลักษณ์แห่งการ ‘ฮีลใจ’ ไอเดียจากตุ๊กตาหมีที่น่าจะมีทุกบ้านในวัยเด็ก

‘น้องหมีเนย’ สัญลักษณ์แห่งการ ‘ฮีลใจ’ ไอเดียจากตุ๊กตาหมีที่น่าจะมีทุกบ้านในวัยเด็ก

เรื่องราว และสตอรี่ของ ‘น้องหมีเนย’ จนกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการ ‘ฮีลใจ’ ของพ่อ ๆ แม่ ๆ หมีคนไทยและต่างชาติ จากแรงบันดาลใจวัยเด็ก Teddy Bear ตุ๊กตาที่น่าจะมีทุกบ้าน และดิสนีย์แลนด์พื้นที่ความสุขคนทุกวัย

KEY

POINTS

  • ไอเดีย 'น้องหมีเนย' เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงโควิด-19
  • สตอรี่ของ 'น้องหมีเนย' ขึ้นอยู่กับจินตนาการของพ่อ ๆ แม่ ๆ ที่เป็นด้อมน้อง
  • อนาคต 'น้องหมีเนย' เตรียมโกอินเตอร์ ปลายปีนี้มีแพลน collab กับคาเฟ่ดังยี่ห้อหนึ่ง

เรื่องราวของ ‘น้องหมีเนย’ ในฐานะไอดอลสาววัย 3 ขวบ (ฉามขวบ) จากร้านขนมชื่อดัง Butterbear ในเครือ Coffee Beans by Dao อาจจะยังไม่มีใครรู้ว่า ไอเดียหรือแรงบันดาลใจของผู้ที่ปลุกปั้นน้อง เกิดขึ้นในช่วงโควิด-19 นี่เอง

บูม-ธนวรรณ วงศ์เจริญรัตน์ และ เบลล์-ธนาภา ปางพุฒิพงศ์ ทายาทธุรกิจ Coffee Beans by Dao ได้ให้สัมภาษณ์กับ The People ถึงที่มาของคาแรคเตอร์ ‘น้องหมีเนย’ ว่าเกิดขึ้นเพราะพวกเขาคิดถึงและโหยหาความรู้สึก เวลาที่ไปเที่ยว ‘ดิสนีย์แลนด์’

‘น้องหมีเนย’ สัญลักษณ์แห่งการ ‘ฮีลใจ’ ไอเดียจากตุ๊กตาหมีที่น่าจะมีทุกบ้านในวัยเด็ก

ความสุขวัยเด็ก

“ไอเดียมันเกิดขึ้นช่วงโควิด-19 เลยค่ะ ปี 2019-2020”

เบลล์-ธนาภา อธิบายถึง น้องหมีเนยว่า “ช่วงนั้นเป็นช่วงที่ทุกคนมีความทุกข์เครียดกังวลมากเลย เราก็เลยอยากสร้างอะไรที่จะทำให้คนมีความสุข สามารถทำให้แบบฮีลใจคนได้อะไรอย่างนี้ค่ะ แล้วพอเรามาคิดเรื่องความหมายของ Butterbear มันก็คือความสุขในวัยเด็กที่แสนจะเรียบง่ายที่เราคิดว่ามีอยู่ในตัวเราหลายคนแหละ แต่พอนาน ๆ วันผ่านไปเราโตขึ้นได้มาเจอกับความเครียด ความผิดหวังในชีวิตใช่ไหมคะ แล้วก็อาจจะมองข้าม หรือว่าลืมความสุขที่แสนจะเรียบง่ายนี้ไป เราจึงตั้งใจและพยายามให้คนมาสัมผัส หรือว่าค้นพบกับความสุขที่แสนจะเรียบง่ายนี้อีกครั้งผ่านขนมที่อร่อย แล้วก็ผ่านตัวของน้องเนยด้วยค่ะ”

‘น้องหมีเนย’ สัญลักษณ์แห่งการ ‘ฮีลใจ’ ไอเดียจากตุ๊กตาหมีที่น่าจะมีทุกบ้านในวัยเด็ก

ส่วน บูม-ธนวรรณ เล่าถึงไอเดียของน้องเนยเพิ่มว่า “ตอนช่วงโควิด-19 เราแบบเซ็งมาก ๆ แล้วก็คิดถึงอยากไปเที่ยวมาก มีที่ที่หนึ่งที่เรารู้สึกว่าอยากไปมาก ๆ ก็คือดิสนีย์แลนด์ คือความรู้สึกตอนไปดิสนีย์แลนด์มันเหมือนกับว่า ถึงแม้เราจะโตแล้ว แต่ทุกครั้งที่ไปก็รู้สึกเหมือนเรากลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง มันแบบมีขนมที่อร่อย มีเครื่องเล่นที่น่าตื่นตาตื่นใจ มีพี่มินนี่มิกกี้เมาส์เดินไปมา แค่นั้นเราก็รู้สึกว่าใจฟูแล้ว”

‘น้องหมีเนย’ สัญลักษณ์แห่งการ ‘ฮีลใจ’ ไอเดียจากตุ๊กตาหมีที่น่าจะมีทุกบ้านในวัยเด็ก

แล้วความคิดในวันนั้นของทั้งสองคน เกิดเป็น passion ที่อยากจะสร้างคาแรคเตอร์ หรือทำอะไรสักอย่างที่ฮีลใจตัวเอง และก็เชื่อว่าอาจจะฮีลใจคนอื่นได้ด้วย ทั้งสองต่างก็ตกผลึกด้วยกันว่า มันน่าจะมีบางอย่างขึ้นที่ให้ความรู้สึกนั้นกับพวกเธอโดยที่ไม่ต้องเดินทางไปดิสนีย์แลนด์ นั่นจึงเป็นที่มาของการกำเนิดตัวต้าวหมีเนย ที่ทั้งสดใส และชอบเต้นดุ๊กดิ๊กต่อหน้าด้อมในปัจจุบัน

“เราแค่คิดว่า ทำยังไงก็ได้ที่ทำให้ช่วงเวลาวินาทีสั้น ๆ คนได้สัมผัสถึงความใจฟูเหมือนตอนที่อยู่ดิสนีย์แลนด์ พยายามคิดว่ามันสร้างประสบการณ์แบบไหนได้บ้างนะ เราก็เลยมาตีโจทย์ว่า โอเคมันมีทั้งหมด 5 เซนส์นะที่จะทำให้คนรู้สึกว่าใจฟูมีความสุข ก็คือ ผ่านเสียง, สายตา, สัมผัส, รสชาติ แล้วก็กลิ่น”

‘น้องหมีเนย’ สัญลักษณ์แห่งการ ‘ฮีลใจ’ ไอเดียจากตุ๊กตาหมีที่น่าจะมีทุกบ้านในวัยเด็ก

“เหมือนกับตอนที่เราเดินเข้าไปในดิสนีย์แลนด์ก็จะได้กลิ่นป๊อปคอร์น ได้ยินเสียงเพลง แค่นี้ก็แบบมีความสุขแล้ว”

ส่วนคาแรคเตอร์ของมาสคอตที่เลือกเป็น ‘หมี’ เพราะทั้ง บูม และเบลล์ ต่างก็เห็นตรงกันว่า เป็นคาแรคเตอร์ที่เข้าถึงง่าย แล้วมองว่าตอนเด็ก ๆ ทุกคนก็คงเคยมี Teddy Bear หรือเหล่าตุ๊กตาหมีที่นอนกอดด้วยประจำอยู่แล้ว และหมีก็เป็นคาแรคเตอร์ที่น่ารัก

‘น้องหมีเนย’ สัญลักษณ์แห่งการ ‘ฮีลใจ’ ไอเดียจากตุ๊กตาหมีที่น่าจะมีทุกบ้านในวัยเด็ก

 

สตอรี่หมีจากพ่อหมีแม่หมีที่เอ็นดู

ทั้งสองได้เล่าว่า ช่วงแรก ๆ ที่แตกแบรนด์ใหม่จาก Coffee Beans by Dao ไม่ได้ลงตัวแบบนี้ มีความยากในการปั้นสตอรี่อยู่เหมือนกัน และตอนแรกตั้งใจจะขายทางออนไลน์ แต่สตอรี่และเรื่องราวความน่ารักของน้องหมีเนย ส่วนใหญ่มาจากพ่อหมีแม่หมีที่ตามน้องมาและเอ็นดูน้องหมีเนย

‘น้องหมีเนย’ สัญลักษณ์แห่งการ ‘ฮีลใจ’ ไอเดียจากตุ๊กตาหมีที่น่าจะมีทุกบ้านในวัยเด็ก

“การที่น้องเนยมาเป็นน้องเนยทุกวันนี้มันคือ Feedback หรือว่าข้อมูลจากพี่ ๆ ที่เอ็นดูน้องเนยว่าแบบ ให้ฉายาเป็นไอดอลสาว เราก็เลย build จากตรงนั้นต่อมา ตอนแรกเลยทุกอย่างมันไม่ได้เคลียร์ เราไม่ได้คิดอะไรแบบเคลียร์ขนาดนั้น แต่เราดูว่ามันเป็นยังไง แล้วเราก็ค่อย ๆ Build story ไปด้วยกันกับทุกคนที่ติดตามค่ะ”

“คือ Storytelling ของน้องเนย มันก็มาจากตัวของน้องเนยบวกกับพี่ ๆ ว่าอยากจะเห็นน้องทำอะไร แล้วเราก็ build จากตรงนั้นไป เหมือนช่วงนึงที่มีคนบอกว่าน้องเนยเหมือนเด็ก 3 ขวบไปโรงเรียนหรือเปล่าเนี่ย หรือว่าทำแต่งาน เราก็หยิบตรงนั้นมาสร้างเรื่องราวต่อ"

“จริง ๆ เรามีวางแผนระดับหนึ่ง แต่ว่าบางทีหลาย ๆ อย่างไม่ไปตามแผนหรอก เพราะฉะนั้นสิ่งที่สำคัญสำหรับเรามากกว่าก็คือดูว่า Feedback ที่ได้รับเป็นยังไง แล้วจะ Build on ยังไง แต่ว่ามี rough guideline ว่าอยากให้เป็นประมาณนี้นะ และจากที่เราทำงานมาหลายปี เราต้อง flexible เพราะไม่มีการวางแผนไหนที่จะออกมาแบบเป๊ะ ๆ ตามนั้น ต้องดูระหว่างทางว่าเราจะซิกแซกไปยังไงได้บ้าง”

‘น้องหมีเนย’ สัญลักษณ์แห่งการ ‘ฮีลใจ’ ไอเดียจากตุ๊กตาหมีที่น่าจะมีทุกบ้านในวัยเด็ก

 

Butterbear เกือบไม่มีหน้าร้าน

อย่างที่เกริ่นไปแล้วนิดนึงว่า ทั้งสองตั้งใจจะเปิดแบรนด์นี้แค่ในออนไลน์เท่านั้น ซึ่งก่อนที่จะมีหน้าร้านอย่างทุกวันนี้ จะเจอปัญหามานับไม่ถ้วนเหมือนกัน อย่างเช่น จับตลาดไม่ถูก บางวันขายดีมาก ๆ และบางวันก็ขายไม่ออกเลยก็มี

“ตอนแรกเลยที่เราขายออนไลน์ก็มีปัญหาเหมือนกับว่า วันนึงขายดีมาก อีกวันนึงฝนตก อ้าว ทำของมาแล้ว 300 ชิ้น ปรากฏขายไม่ได้เลย ทิ้ง โละทิ้งหมดเลย เพราะช่วงแรกเรายังไม่ได้มีพวกขนมคุกกี้ค่ะ เป็นของสดทั้งหมด”

‘น้องหมีเนย’ สัญลักษณ์แห่งการ ‘ฮีลใจ’ ไอเดียจากตุ๊กตาหมีที่น่าจะมีทุกบ้านในวัยเด็ก

“ตอนเริ่มธุรกิจเราอยากจะ target กลุ่มวัยรุ่นที่อาจจะอยู่ที่ทำงานแล้วแบบทานขนมช่วงเวลากำลังเครียด ๆ อะไรแบบนี้ค่ะ”

จนกระทั่งแบรนด์ Butterbear โชคดีได้พื้นที่หนึ่งสำหรับร้าน pop up ในห้างฯ Emsphere จึงถือเป็นการทดลองตลาดไปด้วย ซึ่งครั้งแรก ๆ ที่เป็นร้าน pop up ก็ยังคงประเภทขนมของสดแบบเดิม ไม่มีคุ้กกี้ จนถึงช่วงเทศกาลวันคริสต์มาสที่ Butterbear เริ่มจับจุดตลาดได้ว่า คนให้ความสนใจกับ ‘เซตคุ้กกี้’ ที่ได้ลองทำขายเป็นครั้งแรกสำหรับเทศกาลนี้

“ปรากฏว่าเซตคุ้กกี้เป็นอะไรที่ขายดีมาก ๆ ตอนนั้นหลายคนเริ่มสนใจและเห็นน้องเนยว่าน่ารัก อยากจะซื้อไปเป็นของขวัญ ของฝากโดยส่งไปที่โรงพยาบาล กลายเป็นว่า คนมีความสุขมากกว่าคือตอนที่ให้ผู้อื่น แล้วพวกขนมแห้ง พวกคุกกี้ต่าง ๆ มันเหมาะกับการให้ค่ะ เราจึงตั้งใจจะแตก Product Line สำหรับเข้ามาตอบโจทย์เรื่อง gifting มากขึ้นค่ะ”

เมื่อผู้เขียนถามว่า แล้วในอนาคตมีโอกาสที่เราจะเห็น ‘แฟนมีตติ้งของด้อมน้องหมีเนยหรือไม่?’

คำตอบก็คือ อยู่ที่จินตนาการของแม่ ๆ พ่อ ๆ หมีที่ตามน้องเนย ณ ตอนนี้ว่า อยากจะเห็นอะไรต่อจากนี้บ้าง จินตนาการเกี่ยวกับน้องหมีเนยจะไปหยุดที่ตรงไหน...เพราะสำหรับทั้งสองคนในฐานะเจ้าของแบรนด์ ไม่เคยตั้งลิมิตเกี่ยวกับคาแรคเตอร์น้องหมีเนยอยู่แล้ว

‘น้องหมีเนย’ สัญลักษณ์แห่งการ ‘ฮีลใจ’ ไอเดียจากตุ๊กตาหมีที่น่าจะมีทุกบ้านในวัยเด็ก

“น้องเนยเหมือนเด็กคนหนึ่งที่กำลังเรียนรู้ มีมุมมองของโลกที่แบบค่อนข้างสดใส เต็มไปด้วยความหวัง ความฝัน ต่าง ๆ นานา พร้อมที่จะเรียนรู้เสมอจากความผิดพลาด เหมือนเด็กคนหนึ่งที่เขาเรียนรู้อะไรจากการทำอะไรผิดพลาดต่าง ๆ นานา”

“เราอยากให้ Butterbear เป็นตัวแทนของความสุข ความสุขที่เรียบง่ายในวัยเด็ก ที่จริง ๆ บางทีเรามองออกนอกหน้าต่างเห็นเมฆ เห็นแบบกระรอก เห็นอะไรเราก็มีความสุขแล้ว สามารถมีความสุขกับอะไรง่าย ๆ ค่ะ”

“เราไม่ได้ลิมิตตัวเองว่าเราเป็นร้านขนมค่ะ เรามองว่าเรามีเป้าหมายใหญ่ก็คือ อยากจะเป็นแบรนด์ที่สร้างความสุขที่เรียบง่าย เป็น Simple Happiness ให้คนได้ แล้วความสุขนั้นอย่างที่บอกมันมีทางไหนได้บ้าง โปรดักส์อะไรบ้างที่จะมาสร้างความสุขตรงนี้”

‘น้องหมีเนย’ สัญลักษณ์แห่งการ ‘ฮีลใจ’ ไอเดียจากตุ๊กตาหมีที่น่าจะมีทุกบ้านในวัยเด็ก

ทั้งนี้ มีเปรย ๆ มาด้วยว่า ปลายปีนี้เราน่าจะได้เห็น ‘น้องหมีเนย’ โกอินเตอร์ เพราะตอนนี้อยู่ระหว่างการทำ collab กับ Luckin Coffee และกับแบรนด์อื่น ๆ ด้วย ขณะเดียวกัน น้องหมีเนยก็อาจจะไม่ใช่แบรนด์ขนมเพียงอย่างเดียว แต่เป็นอะไรก็ได้ที่สามารถฮีลใจ และสร้างความสุขให้กับพี่ ๆ พ่อ ๆ แม่ ๆ ที่ตามน้องได้

ต้องพูดว่าฟังเรื่องราวและสตอรี่ของทั้ง น้องหมีเนย และผู้ก่อตั้งทั้งสองคน ถือเป็นจุดกำเนิดความตื่นเต้นมากมายให้กับด้อมคนไทยได้มากทีเดียว เชื่อหรือไม่ว่า หากถามว่าน้องหมีเนย ฮีลใจหรือเข้าไปเติมเต็มในเรื่องไหนบ้าง คำตอบก็คงต่างกันออกไปเพราะแต่ละคนตีความหมายและสิ่งที่ฮีลใจไม่เหมือนกัน

‘น้องหมีเนย’ สัญลักษณ์แห่งการ ‘ฮีลใจ’ ไอเดียจากตุ๊กตาหมีที่น่าจะมีทุกบ้านในวัยเด็ก

อย่าง บูม-ธนวรรณ ที่เปรียบเทียบจนเห็นภาพว่า ในขณะที่เรากำลังเฝ้ามองน้องหมีเนย บางทีก็คล้าย ๆ กับการที่เราเฝ้ามอง ‘แพนด้า’ เหมือนกัน เธอมองว่า มันเป็นเสี้ยววินาทีหนึ่งที่ทำให้เราสามารถลืมโลกแห่งความจริงไปได้ชั่วขณะ เหมือนเรากำลังวาร์ปไปอีกจักรวาลที่น่ารักมาก ๆ และเบาสมองมาก ๆ

ขณะที่ เบลล์-ธนาภา เธอมองว่า น้องเนยก็เหมือนเป็น Reflection ของพวกเธอ ที่ตอนเด็ก ๆ มีความสุขกับอะไรรอบตัวอย่างง่ายดาย เหมือนเธอกำลังนั่งมองหลานเวลาที่มาเล่นที่บ้าน บางทีแค่ดูกระรอกวิ่ง หรือ เล่น bubbles ก็มีความสุขแล้ว ซึ่งพวกเธอก็เคยเป็นแบบนั้น เพียงแต่เมื่อโตขึ้นมา ทำไมความสุขนั้น...มันกลับหายไป

สิ่งที่น่าขื่นชมจากการพูดคุยครั้งนี้ ไม่ใช่แค่เรื่องกลยุทธ์การตลาดที่แยบยลของแบรนด์ Butterbear เพียงเท่านั้น แต่มันคือทั้งหมดในสิ่งที่ผู้ก่อตั้งทั้งสองคิด และลงมือทำ เพราะมันคือ passion มันคือสิ่งที่พวกเธอหลงใหล และสามารถปลดล็อกสิ่งที่ตลาดโหยหาได้อย่างถูกทิศทางจนทำให้น้องหมีเนยกลายเป็นไอดอลที่ใคร ๆ ก็หลงรัก และเชื่อว่าในอนาคตน้องหมีเนย คงเฉิดฉายในสปอร์ตไลท์นี้อีกนานเลย

 

ภาพ: The People