‘ฟุตบอลอังกฤษ’ บทพิสูจน์ศักยภาพ ‘ทุนไทย’ ในธุรกิจกีฬาระดับโลก

‘ฟุตบอลอังกฤษ’ บทพิสูจน์ศักยภาพ ‘ทุนไทย’ ในธุรกิจกีฬาระดับโลก

‘ฟุตบอลอังกฤษ’ โดยเฉพาะ ‘พรีเมียร์ลีก’ คือบทพิสูจน์ศักยภาพ ‘ทุนไทย’ ที่ขยับขยายออกไปสู่ธุรกิจกีฬาในเวทีระดับโลก

KEY

POINTS

  • แบรนด์เอเชียรุกเข้าสู่วงการกีฬายุโรป
  • ทุนไทยกับธุรกิจกีฬาระดับโลก

แม้ ‘กะทิชาวเกาะ’ จะเป็นเบอร์หนึ่งตลาดกะทิกล่องของไทย โดยมีคู่แข่งที่กำลังมาแรงอย่าง ‘อร่อยดี’ และ ‘รอยไทย’ หรือกะทิยี่ห้อดั้งเดิมอย่าง สมุย, ชาวไทย, ฟอร์แคร์, เทสติฟิต, กู๊ดไลฟ์ และยี่ห้ออื่น ๆ ที่ดูเหมือนจะทำให้การแข่งขันในตลาดกะทิสำเร็จรูปเป็นไปอย่างเข้มข้น

แต่ ชาวเกาะ กลับเคยมองข้ามช็อตออกไปทำประชาสัมพันธ์ในต่างประเทศ คล้ายกับ ‘กระทิงแดง’ ที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกันในตลาดเครื่องดื่มชูกำลัง ที่ ‘คาราบาวแดง’ คู่แข่งตัวใหม่มาแรงแซงทางโค้ง 

ยังไม่นับเจ้าตลาดเดิมอย่างค่ายโอสถสภาเจ้าของแบรนด์ ‘เอ็มร้อยห้าสิบ’ และ ‘ลิโพ’ แต่ ‘กระทิงแดง’ ก็ไปไกลถึงนอกโลกด้วยการเป็นสปอนเซอร์ยานอวกาศ

หากมองย้อนกลับไปในอดีต การที่โรงงานอุตสาหกรรมรุกเข้าสู่วงการกีฬา โดยเฉพาะวงการฟุตบอลอังกฤษ ด้วยการเป็นสปอนเซอร์ที่หน้าอกเสื้อ เป็นอะไรที่แปลกใหม่มากในยุคนั้น

เริ่มต้นเป็นครั้งแรกในฤดูกาล 1977/1978 บริษัทยางรถยนต์ท้องถิ่นยี่ห้อ ‘เคทเทอริ่ง ไทร์ส’ เสนอตัวเป็นสปอนเซอร์ให้กับสโมสรเคทเทอริ่ง ทาวน์, ดาร์บี้ เคาน์ตี้ และโบลตัน วันเดอเรอร์ส

แต่กว่าทั้งสามสโมสรจะฝ่าฟันอุปสรรคให้สมาคมฟุตบอลอังกฤษในยุคนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับอุตสาหกรรมโทรทัศน์ยอมรับการมีอยู่ของสปอนเซอร์หน้าอกเสื้อก็ต้องใช้เวลาถึงห้าปี

แต่แล้วผลประโยชน์จากการต่อสู้ของพวกเขากลับมาตกกับ ‘ลิเวอร์พูล’ ที่ถือเป็นสโมสรแรกที่มีสปอนเซอร์ที่หน้าอกเสื้ออย่างถูกต้องตามกฎหมายในฤดูกาล 1983 กับสปอนเซอร์เครื่องใช้ไฟฟ้าจากประเทศญี่ปุ่นยี่ห้อ ‘HITACHI’
 

หลังจากที่ลิเวอร์พูล ได้ติดตราสปอนเซอร์ HITACHI ในฤดูกาล 1982/1983 ‘แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด’ ก็เปิดตัวเครื่องใช้ไฟฟ้า ‘SHARP’ จากประเทศญี่ปุ่นเช่นเดียวกับ HITACHI

ถือเป็นการมองการณ์ไกลของฝ่ายการตลาดจากอุตสาหกรรมญี่ปุ่นที่ในทศวรรษ 1980 มีการเทคโอเวอร์ค่ายหนัง ‘โคลัมเบีย-ไตรสตาร์’ ของสหรัฐอเมริกาด้วยการเข้าครอบครองกิจการโดยเครือ SONY ของญี่ปุ่นเช่นกัน

ทุนญี่ปุ่นยังคงเป็นสปอนเซอร์สโมสรฟุตบอลบนเกาะอังกฤษอีกหลายทีม เช่น ‘อาร์เซนอล’ กับแบรนด์ ‘JVC’, ‘เอฟเวอร์ตัน’ กับ ‘NEC’ และ ‘แอสตัน วิลล่า’ กับ ‘MITA’ ที่ทั้ง 5 ยี่ห้อล้วนเป็นอุปกรณ์ไฟฟ้าจากดินแดนอาทิตย์อุทัยในหลายทศวรรษที่ผ่านมา

ทว่า หลังจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นชะลอตัวในทศวรรษที่ 2000 จนถึงปัจจุบัน ในห้วงเวลาดังกล่าว กลุ่มทุนจากเกาหลีใต้ จีน และอาหรับ กลับรุกคืบเข้ามาในตลาดลูกหนังอังกฤษ

‘Lucky Gold Stars’ หรือ ‘LG’ จากเกาหลีใต้เปิดตัวเป็นยี่ห้อแรกกับสโมสร ‘เลสเตอร์ ซิตี้’ ในฤดูกาล 2001/2002 ตามด้วย ‘SAMSUNG’ กับ ‘เลย์ตัน โอเรียนต์’ โดยทางกลุ่มทุนจีนได้เริ่มเข้ามาจับตลาดสปอนเซอร์บนหน้าอกเสื้อสโมสรฟุตบอลอังกฤษเช่นกัน ประเดิมด้วย ‘Kejian’ กับเอฟเวอร์ตัน และกลุ่มทุนอาหรับก็เริ่มรุกคืบเข้ามา

นำโดยสายการบิน ‘Emirates’ และ ‘Etihad’ พร้อมกันนั้น กลุ่มธุรกิจน้ำมันจากรัสเซียก็เริ่มขยับเข้ามาถือหุ้นในสโมสรฟุตบอลชั้นนำ

กลุ่มทุนต่างชาติต่าง ๆ นี้ เริ่มเข้ามามีบทบาทแทนกลุ่มทุนท้องถิ่นของเกาะอังกฤษ ก่อนที่ทั้งหมดจะค่อย ๆ ก้าวเข้าครอบครองสโมสรฟุตบอลอังกฤษที่มีมูลค่ามากกว่าแบรนด์บนหน้าอกเสื้อ
 

ป้ายโฆษณา ‘Bangkok Airways’ ข้างสนามวันที่สโมสร ‘ทอตนัมฮอตสเปอร์’ ลงแข่งในพรีเมียร์ ลีก คือประจักษ์พยานหนึ่งของทุนไทย กับธุรกิจกีฬาระดับโลก

แม้ว่า ‘เบียร์ช้าง’ จะเคยสร้างปรากฏการณ์อันยิ่งใหญ่ด้วยการเป็นสปอนเซอร์ที่หน้าอกเสื้อแข่งของสโมสรเอฟเวอร์ตัน ตามด้วยการเข้าไปเป็นเบียร์ประจำสโมสร ‘เรอัลมาดริด’ และ ‘บาร์เซโลนา’ 

และ ‘เบียร์สิงห์’ กับการเข้าไปเป็นเบียร์ประจำสโมสรเชลซี, แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และเลสเตอร์ ซิตี้ ตามด้วยคาราบาวแดงกับสโมสรเรดิง รวมถึงแบตเตอรี่ 3K กับสโมสรลิเวอร์พูล ยังไม่นับมอเตอร์ไซค์ Honda ที่ทำแคมเปญร่วมกับอีกหลายสโมสร

ที่ไม่กล่าวถึงไม่ได้คือ ‘อาเจ บิ๊ก โคล่า’ ที่หาญกล้าด้วยการเข้าไปเป็นน้ำอัดลมประจำทีมชาติอังกฤษ

แต่ทั้งหมด ก็ยังไม่น่าตื่นตาตื่นใจเท่ากับการที่กระทิงแดงเป็นสปอนเซอร์ในวงการรถแข่งหลายระดับและหลากชนิด

ที่น่าตื่นตาตื่นใจกว่าก็คือ การที่กระทิงแดง หรือ ‘Red Bull’ ที่ฝรั่งทั่วโลกรู้จักดี เป็นโต้โผหลักให้กับการดิ่งเวหาจากชั้นบรรยากาศนอกโลก โดย ‘เฟลิกซ์ เบาม์การ์ตเนอร์’ นักกระโจนพสุธาชื่อก้องปฐพี

แต่ทั้งหมดที่กล่าวมา ก็ยังไม่น่าตื่นตาตื่นใจเท่ากับการที่คนไทยจะได้เข้าไปเป็นเจ้าของสโมสรฟุตบอลของอังกฤษ

แม้ว่าภาพถ่ายที่นักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชาวไทย ‘บี เตชะอุบล’ จับมือกับ ‘ซิลวิโอ แบร์ลุสโคนี่’ เจ้าของทีมเอ.ซี.มิลาน จะเป็นที่ฮือฮาเมื่อคราวที่บีได้ครอบครองหุ้นสโมสรฟุตบอลเจ้าของฉายาปีศาจแดงดำแห่งอิตาลีจำนวน 48% ในช่วงที่ผ่านมา

ทว่า รูปที่ ‘สัมฤทธิ์ บัณฑิตกฤษดา’ อดีตประธานบริหารสโมสร ‘เพื่อนตำรวจ’ ในศึกฟุตบอลไทยพรีเมียร์ ลีก กับการเทคโอเวอร์สโมสรเรดิง ก่อนที่จะเปลี่ยนมือมาเป็น ‘คุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์’ ประธานสโมสรเรดิงแห่งเกาะอังกฤษ กำลังยืนชมเกมการแข่งขันเคียงข้าง ‘สัมฤทธิ์ ธนะกาญจนสุทธิ์’ หุ้นส่วน รวมถึง ‘เดชพล จันศิริ’ ก็เป็นที่ฮือฮาไม่แพ้กัน

เป็นที่รู้กันว่า การดีลธุรกิจทีมฟุตบอลในอังกฤษครั้งดังกล่าว เป็นฝีมือของ ‘เจ้าสัวบ้านฉาง’ ไพโรจน์ เปี่ยมพงษ์สานต์ ตั้งแต่เมื่อคราวที่เขาเจรจาธุรกิจกีฬาให้กับ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ในการถือหุ้นใหญ่ของสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้เมื่อหลายปีก่อน

และต่อมาก็คือ ‘เดชพล จันศิริ’ เจ้าของบริษัท ‘ไทย ยูเนียน โฟรเซน กรุ๊ป จำกัด’ กับการเข้าเทคโอเวอร์สโมสรเชฟฟิลด์ เวด์นสเดย์ ก็ล้วนเป็นฝีมือของเจ้าสัวบ้านฉาง 

‘ฟุตบอลอังกฤษ’ บทพิสูจน์ศักยภาพ ‘ทุนไทย’ ในธุรกิจกีฬาระดับโลก

ปรากฏการณ์ทั้งหมดนี้บ่งบอกถึงการเคลื่อนที่ของทุนนิยมที่ไร้สัญชาติในยุคศตวรรษที่ 21 ซึ่งนอกจากทุนนอกจะก้าวเข้ามาในระบบเศรษฐกิจไทย ทุนบ้านเราก็ขยับออกไปครอบครองส่วนแบ่งทางธุรกิจในเวทีระดับโลก

โดยมีตัวอย่างทางรูปธรรมคือธุรกิจกีฬาฟุตบอลพรีเมียร์ ลีก ที่ทุนนอกเกาะอังกฤษถือหุ้นสโมสรต่าง ๆ เกินครึ่งของจำนวนทีมทั้งหมด เหตุผลหลักที่ทีมฟุตบอลสโมสรอังกฤษได้รับการจับตามองก็เป็นเพราะว่ากฏหมายของยุโรปหลายประเทศยังมีลักษณะกีดกันชาวต่างชาติไม่ให้ถือหุ้นเกิน 49% นั่นเอง

เทพนิยายหมาจิ้งจอก เป็นตัวอย่างความสำเร็จของกลุ่มเศรษฐีจากประเทศไทยที่ไปลงทุนทำธุรกิจกีฬาฟุตบอลสโมสรอาชีพในลีกสูงสุดของอังกฤษ คือเจ้าของกิจการร้านค้าปลอดภาษีในสนามบินคิง พาวเวอร์ของ ‘วิชัย ศรีวัฒนประภา’ ผู้ล่วงลับ

‘ฟุตบอลอังกฤษ’ บทพิสูจน์ศักยภาพ ‘ทุนไทย’ ในธุรกิจกีฬาระดับโลก

เป็นการนำร่องให้กับน้อง ๆ ไม่ว่าจะเป็น บี เตชะอุบล กับสโมสร เอ.ซี.มิลาน (ปัจจุบัน Redbird Capital Investments เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่) คุณหญิงศศิมา ศรีวิกรม์ กับสโมสรเรดิง (ปัจจุบัน ‘ไต้ หยงเก๋อ’ และ ‘ไต้ ซิ่ว หลี่’ สองพี่น้องนักธุรกิจจากจีน ได้เข้ามาซื้อหุ้นใหญ่กลายเป็นเจ้าของทีมรายใหม่เป็นที่เรียบร้อย) รวมถึงน้องเล็กเดชพล จันศิริ กับสโมสรเชฟฟิลด์ เวด์นสเดย์ ยังไม่นับพี่ใหญ่ทักษิณ ชินวัตร ที่ขายสโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ไปแล้ว

การเคลื่อนที่ของทุนโลกาภิวัตน์นอกจากที่ทุนต่างชาติจะเข้ามาลงทุนในไทย ทุนไทยเองก็ออกไปลงทุนในต่างประเทศในหลากหลายธุรกิจ ทว่าธุรกิจซึ่งเป็นที่จับตามองคือธุรกิจกีฬาโดยเฉพาะการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ ลีกของอังกฤษ ซึ่งถือว่าเป็นเบอร์หนึ่งของการแข่งขันฟุตบอลลีกของโลก

การที่ทุนไทยประสบความสำเร็จในครั้งนี้จะเป็นแรงกระตุ้นชั้นดีให้กลุ่มทุนอื่น ๆ ในประเทศต่าง ๆ สนใจเข้าไปลงทุนเทคโอเวอร์สโมสรลูกหนังของอังกฤษต่อไปในภายภาคหน้า ซึ่งน่าจับตาบรรดาอีลิตไทยอีกหลายกลุ่มที่เริ่มเมียง ๆ มอง ๆ ความสำเร็จของ ‘เจ้าสัววิชัย’ เพื่อเก็บเกี่ยวเม็ดเงินมหาศาลในธุรกิจกีฬาระดับโลกในอนาคตอันใกล้นี้

 

เรื่อง: จักรกฤษณ์ สิริริน