ทุกความเชื่อผ่าน ‘อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา’ สูตรสำเร็จจากผู้เป็นพ่อ Mr. possible แห่งอาณาจักร King Power

ทุกความเชื่อผ่าน ‘อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา’ สูตรสำเร็จจากผู้เป็นพ่อ Mr. possible แห่งอาณาจักร King Power

เรื่องราว ‘อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา’ กับทิศทางธุรกิจใหม่ภายใต้แนวคิดของคุณพ่อซึ่งเป็นผู้ก่อตั้ง King Power ที่เชื่อว่า “ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้” กับการเปิดใจว่าเขากดดันหรือไม่ที่ต้องมารับไม้ต่อจาก ‘วิชัย ศรีวัฒนประภา’

  • เปิดใจ ‘อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร King Power กดดันหรือไม่กดดันสำหรับการรับช่วงธุรกิจต่อจากคุณพ่อ
  • เรื่องราวของ อัยยวัฒน์ ที่ได้รับ DNA ด้านธุรกิจจากผู้ก่อตั้ง  ‘วิชัย ศรีวัฒนประภา’ โดยตรงตั้งแต่เด็ก ผ่านการเล่าเรื่องและประสบการณ์ของผู้เป็นพ่อ

“ไม่มีอะไรเป็นไปไม่ได้”

คำสั้น ๆ ที่ถูกตีความตั้งแต่รุ่นของ ‘วิชัย ศรีวัฒนประภา’ กับฉายาที่ใครต่อใครเรียกเขาว่า ‘Mr.possible’ หลักสูตรความสำเร็จที่ถูกถ่ายทอดทาง DNA สู่ ‘อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา’ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ คนปัจจุบัน ที่ล่าสุดได้ประกาศปรับโฉมครั้งใหญ่ให้กับ King Power ในรูปแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน

เขาเลือกที่จะส่งต่อประสบการณ์ใหม่เพื่อคนรุ่นใหม่ ให้ King Power เป็นมากกว่าแค่สินค้าดิวตี้ ฟรี นอกจากนี้ยังมี 'FIRSTER' (เฟิร์สเตอร์) ร้านแบบครบวงจรช้อปได้ที่เดียว โดยมีความเอ็กซ์คลูซีฟตรงที่สินค้าบางอย่างก็มีเฉพาะที่ FIRSTER เท่านั้นเพื่อเจาะกลุ่ม gen ใหม่ ๆ ที่ชอบอะไรไม่เหมือนคนอื่น

ไอเดียมากมายที่ อัยยวัฒน์ เดินเกมธุรกิจในครั้งนี้ถือว่ามีคุณพ่อซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งบริษัทเป็นเหมือนแบบอย่างที่ดีของเขามาตั้งแต่เด็ก ๆ ซึ่ง The People มีโอกาสได้ถาม อัยยวัฒน์เกี่ยวกับ ‘ความกดดัน’ ที่ได้มารับช่วงต่อธุรกิจจากคุณพ่อ เขาพูดว่า “เรื่องความกดดัน ความท้าทายเรื่องการตามรอยพ่อ ที่จริงก็เป็นแบบนี้อยู่แล้ว บรรยากาศเป็นแบบนี้ตั้งแต่เด็ก ๆ ดังนั้น ผมไม่ได้รู้สึกกดดันอะไร”

ทุกความเชื่อผ่าน ‘อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา’ สูตรสำเร็จจากผู้เป็นพ่อ Mr. possible แห่งอาณาจักร King Power

นอกจากนี้ยังพูดด้วยว่า “การต่อยอดแนวคิดธุรกิจจากท่านประธานวิชัย คิดว่าแนวคิดนี้มันเหมาะสมกับ King Power มันดีอยู่แล้ว และผมก็เชื่อแบบนั้นว่าไม่มีอะไรที่เป็นไปไม่ได้สำหรับเรา”

ทั้งนี้ หากไปย้อนดูบทสัมภาษณ์ที่ผ่าน ๆ มาของอัยยวัฒน์เกี่ยวกับมุมมองเรื่องธุรกิจถือว่าเป็นอีกหนึ่งคนที่มีความคิดโลกธุรกิจที่น่าสนใจ และยิ่งเรียนรู้จากประสบการณ์ของประธานวิชัยตั้งแต่เด็ก มุมมองและการตัดสินใจของเขาก็ยิ่งกลมกล่อม

 

ตัวติดพ่อตั้งแต่ม.2

เมื่อปี 2016 อัยยวัฒน์ ได้ให้สัมภาษณ์ในงาน SCB SME Expo – Spring Up Thailand 2016 ซึ่งการพูดคุยครั้งนั้นของเขาทำให้เรารู้จักตัวตนของเขามากขึ้นทีเดียว โดยเขาได้เปิดใจคุยในหัวข้อการเกี่ยวกับการพลิกฟื้นธุรกิจไปสู่วิถีของแชมเปี้ยน (ซึ่งก็เป็นที่รู้กันว่าหมายถึงธุรกิจของสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ของอังกฤษ)

อัยยวัฒน์ ได้เล่าว่า “ผมเห็นคุณพ่อทำงานมาตลอด ผมเป็นน้องคนสุดท้องจากพี่น้องทั้งหมด 4 คน จะพูดว่าโชคดีที่ว่า ตอนเด็ก ๆ เป็นคนติดพ่อและจะไปกับพ่อทุก ๆ ที่ก็ได้ ผมไปหมดไม่ว่าจะประชุม, ดูธุรกิจ, คุยงาน มันเลยอยู่ในภาพอยู่ในความทรงจำเราตลอดว่าการเป็นนักธุรกิจที่ดีต้องทำตัวยังไง หรือการเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จต้องทำตัวยังไง”

“ผมอยู่กับท่านตั้งแต่ม.2 จนจบมหา’ลัย ก็น่าจะเป็นช่วงที่พูดว่าตัวติดกับพ่อตลอดก็ได้ ทั้งนอนอยู่ในห้องประชุม คือผมอยู่กับคุณพ่อตลอดเห็นการทำธุรกิจตั้งแต่เด็ก และเห็นการเติบโตของธุรกิจมาตั้งแต่เริ่ม เราจึงซึมซับหลาย ๆ อย่างจากตัวพ่อ ทั้งการตัดสินใจ วิธีคิด การพูดกับพนักงาน หรือว่าการคำนวนต่าง ๆ”

อัยยวัฒน์ ยังพูดถึงช่วงชีวิตวัยรุ่นของเขาว่า ไม่ได้ขาดหายไปไหน เขายังเที่ยว ยังเล่นกับเพื่อน ๆ เหมือนเดิม เพียงแต่ว่าทุกครั้งที่กลับบ้าน เขาก็จะเข้าไปหาคุณพ่อทุกครั้ง

“ผมแบ่งเวลาอยู่กับพ่อครับ คือบางทีตอนที่กลับบ้านผมก็จะเข้าไปหาท่าน ไปนั่งคุยธุรกิจกับท่าน เวลาผมไม่มีอะไรทำท่านก็จะเล่าให้ผมฟังว่าวันนี้ไปทำอะไรมาบ้าง เจอใครมาบ้าง เหมือนเล่าให้เราฟังเฉย ๆ ประมาณนั้นครับ ตอนนั้นผมไม่ได้เข้าใจทั้งหมดหรอกว่ามันคืออะไร เราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ามันเป็นการสอนไปในตัว ณ ตอนนั้น ซึ่งก็อาจจะเป็นวิธีของท่านก็ได้”

“คือเด็กคนหนึ่งได้ฟังเรื่องธุรกิจทุกวัน ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพนักงานมีปัญหา, รัฐบาลมีปัญหา, เศรษฐกิจโลก, เศรษฐกิจประเทศไทย เขาพูดหมดแต่ตอนนั้นผมไม่เข้าใจหมดหรอก  แต่ผมคิดว่ามันก็ค่อย ๆ ซึมซับมา ทั้งความรู้และประสบการณ์ของท่าน”

ทุกความเชื่อผ่าน ‘อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา’ สูตรสำเร็จจากผู้เป็นพ่อ Mr. possible แห่งอาณาจักร King Power

 

สโมสรเลสเตอร์ฯ ช่วงถูกลองของ

เรียกว่า ‘สโมสรเลสเตอร์ฯ’ ก็น่าจะเป็นธุรกิจแรก ๆ ที่ King Power เข้าไปทำ ที่นอกเหนือจากดิวตี้ ฟรี (หลังจากที่ทำธุรกิจนี้มานานถึง 26 ปี โดยไม่เคยขยายไปธุรกิจอื่นเลย) อัยยวัฒน์ เล่าว่า “ตั้งแต่ตอนแรกที่เข้าไปซื้อ ‘เลสเตอร์ซิตี้’ มันเป็นเพราะความรักมากกว่า ผมกับคุณพ่อรักทีมนี้เชียร์ทีมนี้ และก็เชื่อว่าเราสามารถทำให้ทีมดีขึ้นได้ ก็เลยตัดสินใจซื้อเลย”

“การมีเลสเตอร์ฯ ก็เหมือนเป็นการทำสปอร์ตมาร์เก็ตติ้ง คือคนเห็นเลสเตอร์ก็จะเห็น King Power หรือคนเห็น King Power ก็จะมีเลสเตอร์อยู่ในนั้นอัตโนมัติ โดยที่เราไม่ต้องทำอะไรเลย”

“สำหรับผม การซื้อเลสเตอร์ฯ ก็ถือว่าเป็นการลองความสามารถค่อนข้างเยอะเหมือนกัน เพราะช่วงแรก ๆ พวกเขามองว่า เราเป็นใคร ทำไมถึงมาซื้อทีมของเขา แม้แต่คนดูอังกฤษพวกเขาก็มองว่า การที่ซื้อตั๋วมาดูทุกครั้งมันคือการลงทุนเหมือนกัน ดังนั้น เลสเตอร์ฯ ก็เหมือนเป็นทีมของพวกเขาด้วย ช่วงแรก ๆ ก็มีการลองของเยอะเหมือนกัน เพราะถูกต่อต้าน ทั้งจากคนดู, พนักงาน และสื่อในอังกฤษ”

อัยยวัฒน์ เล่าถึงวิธีการปรับทัศนคติในช่วงที่เข้าไปบริหารเลสเตอร์ฯ แรก ๆ และยังไม่เป็นที่ยอมรับ สิ่งที่เขาพยายามทำก็คือ การจับเข่าคุยกับหัวหน้าสแตนเชียร์แต่ละกลุ่ม และถามความต้องการของพวกเขา เช่น อยากเห็นทีมเลสเตอร์เป็นแบบไหน หรือ อยากให้เขาทำอะไร เป็นต้น

นอกจากนี้ เขาพยายามปรับจูนความต่างทางวัฒนธรรม ใช้วิธีการบริหารแบบไทยไปผสมกับของเขา เช่น การจัดเลี้ยงตามเทศกาล, การรวมใจ, การจัดกิจกรรมร่วมกัน เพราะเขามองว่า หลาย ๆ เรื่องต้องมีการสร้างความเชื่อมั่นก่อน อัยยวัฒน์เชื่อในเรื่องของ ‘การให้ก่อน’ เพราะมันเป็นวัฒนธรรมของเอเชียที่ต่างชาติฝั่งนั้นอาจจะยังไม่เคยเจอ ซึ่งก็ได้ผลค่อนข้างดี เขายังใช้วิธีใส่ใจกับทุกส่วนแบบลงลึก พูดคุยตรง ๆ เปิดใจคุยกับลูกน้อง ทีมนักฟุตบอล จนทำให้วันนี้คุณพ่อและเขาคือผู้บริหารจากเอเชียที่พวกเขายอมรับ

อัยยวัฒน์ พูดว่า “คุณพ่อกับผมมองอะไรคล้ายกัน เราเลือกจะทำในสิ่งที่รัก เหมือนที่เราซื้อเลสเตอร์ฯ ตอนที่ยังติดลบก็เพราะว่าเรารัก ดังนั้น ผมเชื่อว่า ถ้าตั้งใจ ใส่ใจ จริงจัง มันจะเกิดขึ้นได้”

“แต่ผมไม่แนะนำว่า การวิ่งเร็ว ๆ จะดีต่อธุรกิจนะครับ แต่มันคือ ถ้าเราพร้อมเราต้องไปเลย แต่ถ้ามันไม่พร้อมเราก็ต้องค่อย ๆ เดิน ค่อย ๆ สร้างรากฐานให้มั่นคงก่อน เหมือนที่เราทำกับเลสเตอร์ฯ”

สุดท้ายเมื่อถามย้ำถึงความกดดันในเรื่องการสานธุรกิจครอบครัว อัยยวัฒน์บอกเพียงว่า “ผมกดดันที่คุณพ่อเก่งมากกว่า ไม่ใช่หมายถึงว่าต้องไปแข่งกับคุณพ่อ เพราะเขาทำอะไรมาเยอะมาก ประสบความสำเร็จเยอะมาก ดังนั้น การที่จะรักษา อะไรต่อจากคุณพ่อมันก็ถือว่าเป็นเรื่องกดดันเหมือนกัน แต่ไม่ใช่อุปสรรค มันคือความท้าทายที่ทำให้เรารู้สึกสนุกไปกับมัน”

“ผมไม่ได้รู้สึกว่ามันเป็นการกดดันที่เป็นภาระ แต่กดดันที่สร้างแรงผลักให้กับผมมากกว่า”

อัยยวัฒน์ ในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่ และทายาทที่เข้ามารับช่วงต่ออาณาจักรแห่ง King Power ก็ถือเป็นความกดดันไม่น้อยเลย แต่เชื่อว่าการเรียนรู้จากโมเดลคนในครอบครัวอย่างคุณพ่อ เป็นคัมภีร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแล้วเพื่อสร้างอาณาจักรให้ยิ่งใหญ่กว่าเดิม

 

ข้อมูลเพิ่มเติม: งาน SCB SME Expo – Spring Up Thailand 2016