24 ต.ค. 2567 | 13:00 น.
ถ้าถามว่าเมืองไทยเรามีพื้นฐานอะไรดีที่ได้มาจากธรรมชาติและสามารถไฟท์บนเวทีโลกได้แบบไม่น้อยหน้าใคร? หลายคนน่าจะนึกถึงด้าน ‘เกษตรกรรม’ ปัจจัยธรรมชาติที่ได้มาจากที่ตั้งภูมิศาสตร์และภูมิอากาศของประเทศ
มีคนไทยอยู่คนหนึ่งที่มองเห็นศักยภาพจุดนี้ กระโดดออกจากโลกนักวิจัยของตัวเองสู่โลกการทำธุรกิที่ไม่คุ้นเคย เธอหยิบผลผลิตท้องถิ่นดั้งเดิมที่หลายคนมองข้ามก่อนใส่ความโมเดิร์นลงไป และพร้อมขึ้นเป็นผู้นำของโลกด้านธุรกิจนี้
เธอคือ 'ฟู่ - ผศ. ดร.วิษุวัต สงนวล' จากนักวิจัยไทยที่ฮาร์วาร์ด สู่ผู้ร่วมก่อตั้ง Flo Wolffia แบรนด์ไข่ผำที่มีฝันอยากนำไปเสิร์ฟให้กับนักบินอวกาศ
วิษุวัตเป็นเด็กที่ฉายแววหัวดีเรียนเก่งมาแต่เด็ก สงสัยใครรู่ในโลกวิทยาศาสตร์โดยเฉพาะด้าน ‘ชีววิทยา’ ไม่หลงเชื่ออะไรง่าย ๆ แต่จะพิจารณาตัดสินด้วยเหตุผล ถ้ามีงานวิจัยรองรับหรือผลสถิติซัพพอร์ตด้วยยิ่งดี
เมื่อใกล้จบชั้นมัธยม เธอได้รับทุนการศึกษาไปเรียนต่อป.ตรี ด้านชีววิทยาสมใจอยากที่มหาวิทยาลัยดุ๊ก (Duke University) ตั้งอยู่ในรัฐนอร์ทแคโรไลนา สหรัฐอเมริกา ความหลงใหลในโลกชีววิทยาของเธอไม่หยุดอยู่แค่นั้น แต่ลากยาวให้เธอเรียนต่อถึงป.เอก ด้านชีววิทยาและวิทยาศาสตร์ชีวการแพทย์ (Biological and Biomedical Sciences) ที่มหาวิทยาลัยระดับท็อปชั้นนำของโลก Harvard University
เมื่อมองย้อนกลับไป นี่เป็นเส้นทางการเรียนที่เหมาะเจาะกับยุคสมัยไม่น้อย เพราะในเวลาต่อมาโลกได้เข้าสู่ยุคสมัยเทคโนโลยีชีวภาพ (BioTech) แบบในปัจจุบัน
ถ้าคนเรียนเก่งต่อเมืองนอกค้นพบโอกาสที่ดีกว่าหลังเรียนจบ มักนำมาสู่ภาวะสมองไหลออกนอกประเทศ (Brain drain) คนเก่งไม่อยู่ไทยแต่เลือกทำงานต่างประเทศหลังเรียนจบไปเลย ส่งผลให้คุณูปการที่พวกเขาสร้างตกอยู่กับบริษัทต่างชาติ
แต่เคสวิษุวัต เธอคือบุคลากรระดับหัวกะทิที่กลับมาเมืองไทยเมื่อปี 2009 ในฐานะผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. (Assistant Professor Dr.) ด้านพฤกษศาสตร์ ที่คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล นอกจากปั้นนักศึกษารุ่นใหม่แล้ว เธอยังได้ตีพิมพ์วารสารด้านวิทยาศาสตร์อีกหลายสิบฉบับมาถึงทุกวันนี้
ใครจะไปรู้ว่าในเวลาต่อมา เธอจะเป็นหนึ่งในหัวหอกด้านที่ขับเคลื่อนเทคโนโลยีชีวภาพและเกษตรกรรมของเมืองไทย
การทำเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมเป็นอีกหนึ่งกิจกรรมที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงไม่น้อย หรือผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ทำลายพืชผลทางการเกษตรเข้าไปใหญ่ และด้วยแรงกดดันนานาชาติถึงการทำธุรกิจยุคใหม่ที่เดินหน้าไปสู่มาตรฐานความยั่งยืนที่สูงขึ้น
ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จึงเกิดโมเมนตันยุคก้าวกระโดดของเทคโนโลยีเกษตรกรรม (AgriTech) เกิดสตาร์ทอัพด้านนี้ขึ้นทั่วโลก
วิษุวัตติดตามเรื่องนี้มาตลอด และด้วยความโชคดีที่มีโอกาสได้ติดต่อกับนักวิจัยชาวต่างชาติที่กำลังค้นหา ‘ไข่ผำ’ เพื่อผลักดันให้เป็นพืชตัวใหม่ของสหภาพ EU (European Food Safety Authority) เป็นกลไกเพื่อพิสูจน์ว่าผู้บริโภคกินมานานแล้ว และไม่เกิดอันตราย
แต่ปรากฎว่าไม่ประสบความสำเร็จเนื่องจากไข่ผำในเมืองไทยตอนนั้น ยังไม่ใช่พืชเศรษฐกิจ แต่บริโภคกันในท้อนถิ่นเท่านั้น วิษุวัตมองเห็นทั้งโอกาสธุรกิจและความยั่งยืน และในเชิงความภาคภูมิใจของเกษตรไทยแห่งอนาคต
เธอจึงหันมาโฟกัสไข่ผำนับแต่นั้นมา
สำหรับคนกรุงเทพหรือคนเมืองใหญ่แล้ว ไข่ผำอาจไม่คุ้นหู ฟังดูเอกซ์โซติก หรือมองว่าเป็นพืชที่ถูกค้นพบขึ้นใหม่ แต่ความจริงแล้ว ไข่ผำอยู่คู่กับคนไทยมาเนื่นนานแล้ว คนท้องถิ่นในภาคเหนือและภาคอีสานของไทยรับประทานมานับศตวรรษแล้วด้วยซ้ำ พบเจอได้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ
จากการค้นคว้าวิจัยของวิษุวัต เธอมหัศจรรย์ใจค้นพบว่า ‘ไข่ผำ’ (Wolffia) ถือเป็นพืชที่มีขนาดเล็กที่สุดในโลก มีศักยภาพสูงมากที่จะสเกลอัพเชิงพาณิชย์ และดีต่อสิ่งแวดล้อมแซงหน้าพืชผักชนิดอื่น
1. โตเร็ว - ไข่ผำเป็นพิชที่เติบโตออกดอกดอกผลพร้อมทานเร็วอันดับต้น ๆ ของโลก เหมาะกับเชิงพาณิชย์ ศักยภาพรองรับการบริโภคระดับอุตสาหกรรม และใช้ทรัพยากรน้อยมาก จึงเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมากกว่าการปลูกพืชชนิดอื่น
2. วิตามินสูง - ไฮไลท์สำคัญที่สุดคือ วิตามินบี 12 สูงมาก ครองตำแหน่งพืชชนิดเดียวที่มีจุลินทรีย์ที่ช่วยผลิตวิตามินบี 12 ในตัวมันเอง
ไข่ผำยังมีโปรตีนมากกว่าถั่วเหลืองและคินัว ใครที่เคยทานจะรู้สึกว่า 'ย่อยง่าย' ทานแล้วไม่หนักตัว ไม่อืดท้อง แถมเคี้ยวง่ายเมื่อเทียบกับผักทั่วไป
จากบทบาทนักวิจัยมาทั้งชีวิต เธอตัดสินใจสวมหมวกนักธุรกิจเป็นครั้งแรก
และในปี 2019 เธอได้ร่วมก่อตั้งสตาร์ทอัพ Advanced GreenFarm วางจุดยืนให้เป็นผู้นำด้าน Agricultural Biotechnology (AgriTech) ของเมืองไทย การกระโดดสู่โลกธุรกิจไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ในตอนแรกวิษุวัตต้องไปพิทชิ่งแก่นักลงทุน เรียนรู้เรื่องการตลาดและสร้างแบรนด์ เริ่มโลดแล่นในสื่อต่าง ๆ รวมถึงปั้นทีมงานเก่ง ๆ ให้โตไปด้วยกัน
ในช่วงแรกยังไม่มีผลิตภัณฑ์ แต่ต้องสร้างรากฐานด้านเทคโลโยีการผลิตให้ดีก่อน
เธอนำเทคโนโลยีสำหรับระบบเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่แม่นยำ (Precision aquaculture technology) ใช้ทรัพยากรน้อยที่สุดแต่ได้ผลผลิตที่เยอะและมีประสิทธิภาพสูงสุด ภายใน 2 ปี เทคโนโลยีนี้ยังสามารถเพิ่มปริมาณแคลเซียม 2 เท่า เหล็กและซิงค์มากถึง 5 เท่าในไข่ผำ และเพาะเลี้ยงโดยใช้ปุ๋ยน้อย ล้างด้วยน้ำ RO (Reverse Osmosis) เกรดสะอาดปลอดภัย มีเทคโนโลยีนวัตกรรมที่ทำให้โตเร็ว สุขอนามัย และยังอุดมด้วยสารอาหารครบ
ก่อนที่เวลาต่อมาจะออกแบรนด์ที่ชื่อว่า ‘โฟล วูล์ฟเฟีย’ (Flo Wolffia) ถึงมือผู้บริโภค
ไข่ผำมาพร้อมสโลแกนประจำตัวสินค้า พืชจิ๋วแต่คุณภาพแจ๋ว อุดมด้วยสารอาหารเพียบ (Tiniest Plant, Giant Nutrients) เริ่มวางจำหน่ายตามซุปเปอร์มาร์เก็ตชั้นนำแล้ว
นำไปไฮบริดทานร่วมกับหลากหลายอาหารแล้วแต่จินตนาการและจริตความชอบของผู้บริโภคได้
เมื่อเสียงตอบรับของผู้บริโภคเป็นบวก แบรนด์เริ่ม ‘แปรรูปสินค้า’ แตกโปรดักไลท์ เช่น
ทั้งนี้ การเปิดตัว Flo Wolffia ยังได้อานิสงส์กระแสการทานอาหารจากพืช (Plant-based diet) และ การรักษ์โลกให้ความสำคัญต่อความยั่งยืน (Sustainability) กำลังได้รับความนิยมต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ เพราะทั้งดีต่อสุขภาพและดีต่อโลก
วิษุวัตยังจับมือ ‘คอลแลป’ กับร้านอาหารต่าง ๆ เพื่อนำไข่ผำไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งของไลฟ์สไตล์เข้าถึงผู้บริโภคง่ายขึ้น ทำให้ผู้คนคุ้นเคยคุ้นตา ลองเปิดใจมากขึ้น เช่น
แม้ปัจจุบัน Flo Wolffia อาจยังอยู่ในช่วงตั้งไข่ สินค้าพึ่งเริ่มออกสู่ตลาด ผู้บริโภคพึ่งเริ่มรู้จัก แต่ก็มีนักธุรกิจนานาชาติให้ความสนใจไม่น้อย และกำลังดำเนินการเตรียมส่งออกไปต่างประเทศ แนวโน้มถือว่าเป็นบวก
ด้วยพื้นฐานโปรดักท์ที่ดีเป็นทุนเดิม วิษุวัตยังเคยพูดติดตลก มีความฝันในอนาคตอยากจะนำไข่ผำขึ้นไปเสิร์ฟให้กับนักบินอวกาศเลยทีเดียว!
อ้างอิง