23 ธ.ค. 2567 | 16:30 น.
KEY
POINTS
หลังจาก Temu แอปพลิเคชั่นช้อปปิ้งออนไลน์สัญชาติจีน ก่อตั้งโดย ‘โคลิน หวง’ (Colin Huang) เปิดตัวครั้งแรกในสหรัฐอเมริกา สร้างปรากฎการณ์เขย่าวงการช้อปปิ้งให้กับอเมริกันชนไปเมื่อปี 2022 รวมถึงแคนาดา ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ พวกเขาไม่หยุดเพียงเท่านั้น ยังคงบุกทะลวงตีตลาดยุโรปต่อเนื่องมาถึงสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี อิตาลี และเนเธอร์แลนด์
เมื่อทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง จึงเบนเข็มมายังเอเชียเพิ่มมากขึ้น และล่าสุดในปี 2024 พวกเขาก็เข้ามาตีตลาดประเทศไทยราวช่วงเดือนสิงหาคม เรียกกระแสตอบรับจากคนไทยทั่วสารทิศ บ้างก็ออกมารีวิวว่าของถูกมากจนตะลึง บ้างก็บอกว่าลองสั่งดูแล้วได้ของถูกจริง แต่สิ่งที่ได้กลับเหมือนกับ ‘ขยะ’ ก็ว่าได้ แต่สิ่งที่น่ากังวลที่สุดคงหนีไม่พ้นการรุกคืบของสินค้าจากจีน คอมเมนต์ชาวเน็ตต่างออกมาพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘จีน’ กำลังทำให้เศรษฐกิจในประเทศไทยพังย่อยยับ
เหตุผลที่ Temu สามารถขายของได้ในราคาถูกกว่าปกติเป็นเพราะ ตัดคนกลางออกจากสมการ ทำให้ผู้สั่งซื้อที่กดสั่งผ่านทางหน้าจอโทรศัพท์ได้รับของสุดคุ้มค่า เหมือนซื้อโดยตรงจากหน้าโรงงาน
การเติบโตของ Temu ภายใต้การนำของโคลิน หวงยังไม่หมดเพียงเท่านั้น เขาสามารถพาแอปพลิเคชันขึ้นโฆษณาในงาน Super Bowl โดยใช้เวลาบนหน้าจอทีวีมากกว่าศิลปินระดับโลก ‘เทย์เลอร์ สวิฟท์’ (Taylor Swift) เสียอีก
Temu ใช้เวลาเพียง 30 วินาทีในการโฆษณาผ่านช่วงไพรม์ไทม์ของรายการโทรทัศน์ 6 รายการในสหรัฐอเมริกา พร้อมข้อเสนอเงินรางวัลมูลค่า 10 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อดึงดูดผู้ชมชาวอเมริกันนับร้อยล้านคนเข้าสู่แพลตฟอร์มช้อปปิ้งออนไลน์ การลงทุนครั้งนี้มีมูลค่าประมาณ 7 ล้านดอลลาร์ต่อรายการ แต่สามารถสร้างความสำเร็จได้อย่างงดงาม โดยแอปพลิเคชันทะยานขึ้นเป็นแอปที่มียอดดาวน์โหลดสูงสุด*ทั้งใน Google Play Store และ Apple App Store ในเวลาไม่กี่เดือน
ข้อมูลของ SimilarWeb ระบุว่าผู้เยี่ยมชมของแพลตฟอร์มนี้ทั่วโลกเพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งในสี่จากจำนวนวันที่มีการแข่งขัน Super Bowl เมื่อเทียบกับวันก่อนหน้า โดยมีผู้เข้าใช้เว็บไซต์และแอป 8.2 ล้านคน ในช่วงเวลาเดียวกัน ขณะที่ผู้เยี่ยมชม Amazon และ Ebay ลดลง 5% และ 2% ตามลำดับ
ทำไม Temu ถึงสามารถขายของได้ในราคาถูกแสนถูก ส่วนหนึ่งต้องย้อนกลับไปยังผู้ก่อตั้ง อย่างโคลิน หวง ชายผู้มีประสบการณ์ชีวิตอันน่าอัศจรรย์ แม้จะเกิดและโตในมณฑลห่างไกลของจีน ความอัจฉริยะผลักให้เด็กหนุ่มคนนี้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้มีอิทธิพลคนหนึ่งของประเทศ และหลังจาก Temu สามารถตีตลาดได้ทั่วทั้งโลก เขาก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดของจีนในเดือนสิงหาคม 2024 โดยมีทรัพย์สินประมาณ 48,600 ล้านดอลลาร์ ตามการจัดอันดับของ Bloomberg Billionaires Index
เพียง 18 วันหลังจากได้รับการจัดอันดับให้เป็นบุคคลร่ำรวยที่สุดของประเทศ มูลค่าทรัพย์สินของเขาก็ร่วงลงมาอยู่ที่ 14,100 ล้านดอลลาร์ หลังจากมีรายงานว่ายอดขายที่เขาทำได้ไม่เป็นไปตามเป้า สร้างความผิดหวังให้บรรดานักวิเคราะห์ที่ตีความว่า Temu จะไปได้ไกลกว่านี้
หากมองย้อนกลับไปในช่วงก่อนหน้านั้น ราวปี 2021 ทรัพย์สินของเขาเคยมีสูงถึง 70,000 ล้านดอลลาร์ และร่วงลงในในปีถัดมา เรียกได้ว่าชายคนนี้มีมูลค่าทรัพย์สินขึ้น ๆ ลง ๆ จนแทบเป็นเรื่องปกติ
โคลิน หวง เกิดในปี 1980 จากครอบครัวชนชั้นแรงงานเมืองหางโจว มณฑลเจ้อเจียงทางตะวันออกของจีน ซึ่งเป็นที่ตั้งของ Alibaba ยักษ์ใหญ่ด้านอีคอมเมิร์ซของ แจ็ค หม่า (Jack Ma)
“ผมเรียนที่โรงเรียนประถมธรรมดา แต่หลังจากได้รับรางวัลจากการแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิก ครูของผมเขาก็ขอให้สอบเข้าโรงเรียนหางโจว (Hangzhou Foreign Language School - HFLS) ซึ่งมีการคัดเลือกเด็กอย่างเข้มข้น ผมได้เข้าเรียนครับ แต่ตอนแรกไม่อยากไปเลยเพราะคิดว่าที่โรงเรียนคงไม่ได้เน้นคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ หรือเคมีแน่ ๆ เขาน่าจะเน้นที่ภาษาต่างประเทศเป็นหลักมากกว่า
“หลังจากนั้น ผู้อำนวยการโรงเรียนของผมเขาเรียกผมไปคุย พยายามบอกข้อดีของโรงเรียนนี้ให้ฟัง พอได้ย้อนกลับไปมองตอนนั้น ต้องขอบคุณพระเจ้าที่ผมเลือกเรียนที่ HFLS ผมได้สัมผัสกับวัฒนธรรมตะวันตกอย่างลึกซึ้ง มากกว่าเด็กอายุรุ่นราวคราวเดียวกันหลายเท่า พวกเราหลายคนมีแนวคิดเสรีนิยมมากกว่าเด็กโรงเรียนอื่นอย่างเห็นได้ชัด” หวงเขียนใน Medium
ในช่วงปลายทศวรรษ 1990 หวงเป็นหนึ่งในคนจีนเพียงไม่กี่คนที่สามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตและมีเพื่อนชาวต่างชาติ
เมื่ออายุได้ 18 ปี หวงเข้าเรียนวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยเจ้อเจียงอันทรงเกียรติ ในปีแรก เขาได้รับเลือกให้เป็นนักวิจัยของมูลนิธิเมลตัน ซึ่งก่อตั้งโดยบิล เมลตัน ผู้ก่อตั้งบริษัท VeriFone
ทางมูลนิธิได้คัดเลือกนักเรียนรุ่นเยาว์จากประเทศที่กำลังพัฒนาทั่วโลก นักเรียนแต่ละคนจะได้รับคอมพิวเตอร์และสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตเพื่อใช้ท่องเว็บและส่งข้อความถึงเพื่อนคนอื่น ๆ นอกจากนี้ พวกเขายังสามารถเดินทางไปยังประเทศสมาชิกได้ทุกปี ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่เขาได้รับเมื่อครั้งวัยเยาว์ และหล่อหลอมให้เขามองการณ์ไกล รวมถึงพร้อมโอบรับความแตกต่างทางวัฒนธรรมได้อย่างไม่เคอะเขิน
อีกหนึ่งสิ่งที่เขายังคงนึกเสียใจอยู่ตลอดเวลา คือ วัยเด็กที่หายไป ถึงจะรู้สึก ‘โชคดี’ แต่ก็ไม่กล้าบอกอย่างเต็มปากว่าประสบการณ์ทางการศึกษาที่เขาได้รับนั้นคือความโชคดี เขามักบอกตัวเองอยู่เสมอว่า
“ผมเหมือนนกฟินิกซ์ที่โบยบินออกมาจากเล้าไก่”
“ผมมุ่งมั่นกับเป้าหมายจนเกินไป เสียเวลาไปกับความพยายามเป็นที่หนึ่งของชั้นเรียน และทำตัวเป็นนักเรียนที่ดีอยู่เสมอ ผมแค่อยากจะเป็นเด็กคนหนึ่ง ดื้อบ้าง เกเรบ้าง สนุกกับวัยเด็กให้เยอะกว่านี้ แต่นั่นแหละ ทุกอย่างมันผ่านมาแล้ว ผมแก้ไขอดีตไม่ได้”
หลังจากเรียนจบจากมหาวิทยาเจ้อเจียง หวงในวัย 18 ปีเข้าฝึกงานที่ Microsoft ได้รับเงินเดือนครั้งแรกในฐานะเด็กฝึกงาน ความรู้ที่ได้รับจากที่นี่ต่อยอดให้เขาเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขาวิทยาการคอมพิวเตอร์ ณ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน-เมดิสัน สหรัฐอเมริกา และจบการศึกษาในปี 2004
เขาเข้าทำงานที่ Microsoft สำนักงานกรุงปักกิ่งในช่วงสั้น ๆ รวมไปถึงได้ไปลองทำงานในพื้นที่สำนักงานใหญ่ Redmond ณ กรุงวอชิงตัน สหรัฐอเมริกาอีกด้วย ถึงจะได้รับเงินเดือนเพิ่มขึ้นอีกเท่าทวีคูณแต่เขาไม่ได้มองว่าบริษัทแห่งนี้จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายชีวิต เขากลับสนใจ Google มากกว่า
“การทำงานที่กูเกิ้ล ในตำแหน่งวิศวกรซอฟท์แวร์ถือเป็นความโชคดีของผม”
เวลานั้นยังไม่ได้ใครรู้จัก Google ต่างจากไมโครซอฟท์ที่ใครต่อใครต่างรู้จักเป็นอย่างดี สุดท้ายหวงก็เลือกไปทำงานให้กับ Google อยู่ดี และกลายเป็นหนึ่งในผู้ทำให้บริษัทแห่งนี้เป็นที่รู้จักในประเทศจีน ต่อมา Google จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 19 สิงหาคม 2004 ด้วยมูลค่ากว่า 1.9 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งเขาเพิ่งเริ่มทำงานได้เพียงหกเดือนเท่านั้น
“มันเป็นช่วงเวลาน่าตื่นเต้น ทั้งผลกำไรและจำนวนพนักงานเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ยอดเงินในบัญชีของผมก็เพิ่มเร็วไม่แพ้กัน”
หวงเปรียบเทียบการเข้ามาของ Google ว่าไม่ต่างจากการปฏิวัติวัฒนธรรมจีนในช่วงทศวรรษ 1980 “ผมเห็นความท้าทายของบริษัทเทคโนโลยีต่างชาติที่เข้ามาตั้งในจีน ถึงจะมีชื่อแบรนด์ยิ่งใหญ่แต่ก็ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานคุณภาพสูงอยู่ตลอด”
“ผมได้เรียนรู้อะไรหลายอย่างจาก Google และไม่รู้ว่าตัวเองโชคดีถึงขนาดนี้กระทั่งตัดสินใจลาออกเมื่อปี 2007 หลังจากลาออกประมาณสามหรือสี่ปี ผมก็เริ่มตระหนักว่าการได้พบเจอและร่วมงานกับบริษัทอย่าง Google เป็นโอกาสที่หาได้ยาก มันเป็นโอกาสครั้งหนึ่งของชีวิต และผมรู้สึกโชคดีมาก”
หลังจากลาออกในปี 2007 หวงก่อตั้งเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซ Oukou จำหน่ายอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับผู้บริโภค เช่น โทรศัพท์มือถือและเครื่องใช้ในบ้าน หลังจากขายกิจการนี้ในปี 2010 เขาได้ก่อตั้งบริษัทที่สอง Leqi ซึ่งช่วยแบรนด์ต่างประเทศทำการตลาดร้านค้าออนไลน์บนแพลตฟอร์มอย่าง Tmall และ JD.com ก่อนจะเข้าสู่การพัฒนาเกมออนไลน์ผ่าน Xunmeng Studio
ในปี 2013 หวงประกาศเกษียณตัวเองก่อนกำหนดด้วยวัยเพียง 33 ปี เนื่องจากปัญหาสุขภาพ อย่างไรก็ตาม การเกษียณอายุนั้นไม่นานนัก ในปี 2015 หวงกลับมาพร้อมความคิดใหม่และก่อตั้ง Pinduoduo แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ชซี่งเกิดจากการนำแนวคิดการเล่นเกมมาผสานกับการช้อปปิ้งออนไลน์ โดยเพิ่มฟีเจอร์เกมที่ดึงดูดให้ผู้ใช้กลับมาใช้งานทุกวัน เช่น การสะสมรางวัล รวมถึงการชักชวนเพื่อนมาร่วมซื้อสินค้าแบบกลุ่มเพื่อรับส่วนลดพิเศษ
Pinduoduo เติบโตอย่างรวดเร็ว และสามารถระดมทุนได้ถึง 100 ล้านดอลลาร์ภายในปี 2016 ก่อนจะจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ NASDAQ ในปี 2018 หวงลาออกจากตำแหน่งซีอีโอในปี 2020 และส่งต่อการบริหารให้กับ เฉิน เล่ย (Chen Lei) ชายผู้นำพา Pinduoduo ก้าวไปสู่ระดับสากล
และในปี 2022 Temu ก็ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการ ด้วยน้ำพักน้ำแรงของชายผู้มีวิสัยทัศน์ก้าวไกลอย่าง โคลิน หวง
“ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจเช่นนี้ เห็นได้ชัดว่าผู้คนกำลังมองหาสินค้าที่คุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไป พวกเขากำลังมองหาสินค้าราคาถูก ดังนั้น นี่จึงเป็นช่วงเวลาที่ Temu จะเปล่งประกาย พวกเขาสามารถดึงดูดคนให้เข้ามายังเว็บไซต์ได้จำนวนมหาศาล” นีล ซอนเดอร์ส (Neil Saunders) นักวิเคราะห์การตลาดจาก GlobalData Retail ให้สัมภาษณ์กับ Bloomberg
“ในสองถึงสามปีข้างหน้า กลยุทธ์ของพวกเขาคงหนีไม่พ้นการเพิ่มการรับรู้แบรนด์และส่วนแบ่งการตลาด พวกเขาไม่สนใจผลกำไร นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับ Pinduoduo (หนึ่งในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน ก่อตั้งโดยโคลิน หวงเช่นเดียวกัน) หลังจากเปิดตัวในประเทศจีน พวกเขาก็เสนอขายสินค้าราคาถูก เพียงเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด”
อย่างไรก็ตาม การขายของราคาถูกก็ได้รับกระแสวิจารณ์ไม่น้อย โดยเฉพาะในเหล่าตัวแทนจำหน่ายที่ลุกฮือขึ้นมาประท้วงอย่างหนักหน่วงไม่แพ้กัน เช่น เมืองกวางโจวทางตอนใต้ของประเทศจีน เนื่องจากพวกเขาต้องจ่ายค่าปรับจากการร้องเรียนเรื่องบริการลูกค้าไม่ได้มาตรฐาน สินค้าไม่ตรงปก รวมถึงการขนส่งล่าช้า ทั้งหมดนี้ทำให้บริษัทต้องจ่ายค่าปรับกรณีล่าช้า ซึ่งอาจสูงถึง 5 เท่าของราคาขายส่งของผลิตภัณฑ์
“พวกเขายังถูกกล่าวหาว่ากักตุนสินค้าที่มีการชำระเงินมาก่อน และมีการกล่าวหาเพิ่มขึ้นอีกว่า บริษัทแม่อย่าง PPD Holdings บังคับให้พนักงานทำงานตั้งเวลา 11:00 – 23:00 น.”
แม้จะถูกพายุโหมกระหน่ำมาไม่หยุดหย่อน แต่ Temu ก็ยังยืนหยัดได้อย่างมั่นคง เหตุการณ์ดังกล่าวไม่ได้สะเทือนความมั่นคงของบริษัทมากนัก ในเดือนพฤษภาคม 2024 บริษัท PPD Holdings ประกาศว่ากำไรสุทธิในไตรมาสแรกเพิ่มขึ้นมากกว่าสามเท่า หุ้นที่จดทะเบียนในสหรัฐฯ ของบริษัทปิดที่ 138.02 ดอลลาร์ต่อหุ้นในวันที่ 8 สิงหาคม 2024 ทำให้มีมูลค่าตามราคาตลาด 191.68 พันล้านดอลลาร์
อลิเซีย เคิร์นส์ (Alicia Kearns) สมาชิกรัฐสภาสหราชอาณาจักรให้สัมภาษณ์กับ BBC ว่าเธอเรียกร้องให้มีการตรวจสอบตลาดออนไลน์อย่างเข้มงวดมากยิ่งขึ้น เพื่อให้แน่ใจว่าผู้บริโภคไม่ได้มีส่วนร่วมในการสนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวอุยกูร์โดยไม่ได้เจตนา
ร้อนถึง Temu ซึ่งออกมาตอบโต้ทันทีว่าพวกเขามีนโยบายโปร่งใส ทุกคนสามารถเข้ามาตรวจสอบการทำงานได้ และมีกฎกติกาชัดเจนให้กับเหล่าผู้ค้า ซัพพลายเออร์ และบุคคลซึ่งสนใจทำงานร่วมกันปฏิบัติตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด
“บริษัทมีข้อห้ามชัดเจนว่า สินค้าที่ได้รับมาต้องไม่ผิดกฎหมายแรงงาน ห้ามใช้แรงงานเด็ก หากมีการทำงานล่วงเวลาต้องจ่ายเงินให้กับพนักงานตรงเวลา มาตรฐานและแนวทางการปฏิบัติของเราไม่ต่างจากอีคอมเมิร์ชรายใหญ่อื่น ๆ ซึ่งผู้บริโภคสามารถไว้วางใจได้ และข้อกล่าวหาทั้งหมดนั้นไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด” โฆษกของบริษัทไขข้อสงสัย
ถึงจะเป็นเวลาแค่ 2 ปีที่โคลิน หวงเริ่มพัฒนาแอปขึ้นมา แต่สิ่งที่เขาสร้างขึ้นมาล้วนประสบความสำเร็จอย่างงดงาม ถึง Temu จะยังสร้างความเคลือบแคลงใจให้แก่ผู้บริโภค บ้างก็สร้างความขุ่นเคืองใจให้เหล่าพ่อค้าแม่ค้าในประเทศปลายทาง แต่สุดท้ายแล้วโลกก็ยังคงหมุนวนด้วยวัฎจักรของเงิน และสิ่งเดียวที่แน่นอนคือ Temu ยังคงเดินหน้าสร้างปรากฏการณ์ใหม่ในวงการอีคอมเมิร์ซอย่างไม่หยุดยั้ง
เรื่อง : วันวิสาข์ โปทอง
อ้างอิง