ริซึโอะ ฟูกาซาว่า ชาวญี่ปุ่นหลงใหลเมืองไทย เปิดร้านชา ‘ศรีย่าน ทีรูม’ ในบ้านเก่าร้อยปี

ริซึโอะ ฟูกาซาว่า ชาวญี่ปุ่นหลงใหลเมืองไทย เปิดร้านชา ‘ศรีย่าน ทีรูม’ ในบ้านเก่าร้อยปี

เรื่องราวของ ‘ริซึโอะ ฟูกาซาว่า’ ชาวญี่ปุ่นที่ตัดสินใจลงหลักปักฐานในประเทศไทย หลังเกษียณจากงานในตำแหน่งประธานบริษัทเอเจนซี่โฆษณาชื่อดัง โดยเปิดร้าน ‘ศรีย่าน ทีรูม’ และแบรนด์เสื้อผ้า ‘สัปปายะ’ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนคนไทย

  • ‘ริซึโอะ ฟูกาซาว่า’ เป็นหนุ่มโตเกียวแต่กำเนิด แต่ตอนนี้เขากลายเป็นชาวนนทบุเรียน พักแถวพิบูลสงคราม ขับรถมาทำงานที่ศรีย่านทุกวัน 
  • การเปิดร้าน ‘ศรีย่าน ทีรูม’ ในบ้านเก่าสไตล์โคโลเนียลอายุกว่าร้อยปี ทำให้ ‘ฟูกาซาว่า’ ได้สัมผัสพูดคุยกับลูกค้าโดยตรง ซึ่งเป็นสิ่งที่เขาโหยหามาตลอดเวลาที่ทำงานในบริษัทเอเจนซี่โฆษณา

“ผมมาทำงานที่เมืองไทยเมื่อปี 1986 ตั้งแต่ก๋วยเตี๋ยวชามละ 10 บาท จนตอนนี้ชามละ 50 - 70 บาทแล้ว” ชายญี่ปุ่นวัยเกษียณตอบคำถามแรกที่ถามว่าอยู่เมืองไทยมานานแค่ไหนแล้ว? น้ำเสียงของเขาไม่ใกล้เคียงกับการอวดรู้ ทว่าเต็มไปด้วยความนอบน้อมถ่อมตนตามสไตล์ชาวอาทิตย์อุทัย  

“ตอนไปญี่ปุ่น เวลานั่งเครื่องกลับเมืองไทย พอเครื่องมาถึงสุวรรณภูมิ ผมก็รู้สึกสบายใจเหมือนคนไทย” เขาขยายความอีกนิดเพื่อให้เห็นถึงความผูกพันที่มีต่อประเทศไทย

ชาวญี่ปุ่นที่ขับรถจากที่พักในเมืองนนท์มาพูดคุยกับเราในย่านเก่าแก่ของกรุงเทพฯ คือ ‘ริซึโอะ ฟูกาซาว่า’ อดีตประธานบริษัทเอเจนซี่โฆษณาชื่อดัง ที่วันนี้มาในฐานะเจ้าของร้าน ‘ศรีย่าน ทีรูม’ (Sriyan Tearoom) ร้านชาในบ้านโบราณสไตล์โคโลเนียลอายุกว่าร้อยปี บนถนนนครไชยศรี (ใกล้ตลาดศรีย่าน) 

ริซึโอะ ฟูกาซาว่า ชาวญี่ปุ่นหลงใหลเมืองไทย เปิดร้านชา ‘ศรีย่าน ทีรูม’ ในบ้านเก่าร้อยปี

ฟูกาซาว่า ซึ่งยอมให้เราเรียกสั้น ๆ ว่า ‘คุณฟู’ เป็นหนุ่มโตเกียวแท้ ๆ เขาเกิดที่โตเกียว และเรียนจบมหาวิทยาลัยที่โตเกียวเช่นกัน 

ตอนหนุ่ม ๆ คุณฟูมีความฝันอยากเป็นช่างภาพ แต่เนื่องจากช่วงที่เรียนจบใหม่ ๆ เศรษฐกิจไม่ค่อยดี บริษัทต่าง ๆ ไม่ค่อยรับพนักงานใหม่ เขาจึงต้องไปทำงานในตำแหน่ง Assistant Producer ของ Production House แห่งหนึ่ง 

ฟังชื่อตำแหน่งดูเหมือนจะเท่ แต่คุณฟูเล่าว่างานหลักคือการขับรถพาทีมงานไปตามโลเคชั่นต่าง ๆ ซึ่งก็มีข้อดีตรงที่ได้เดินทางทั่วโลก โดยเฉพาะฮาวาย ที่คุณฟูบอกว่าได้ไป 20 - 30 ครั้งต่อปี 

ริซึโอะ ฟูกาซาว่า ชาวญี่ปุ่นหลงใหลเมืองไทย เปิดร้านชา ‘ศรีย่าน ทีรูม’ ในบ้านเก่าร้อยปี

การได้ออกไปสัมผัสวัฒนธรรมของโลกภายนอกนี่เอง ที่ทำให้คุณฟูเกิดแรงบันดาลใจอยากไปทำงานเมืองนอก คุณฟูทำงานในตำแหน่งนี้ประมาณ 2 - 3 ปี ก่อนจะย้ายไปทำงานบริษัทเอเจนซี่ โดยทำหน้าที่ติดต่อกับลูกค้า

เหมือนสวรรค์จะได้ยินเสียงเรียกร้องของคุณฟู เพราะ 4 - 5 ปีต่อมา บริษัทเอเจนซี่แห่งนี้ก็มีแผนเปิดสาขาต่างประเทศ คุณฟูไม่รอช้ารีบยกมือเสนอตัวขอไปร่วมบุกเบิกสาขานอกบ้านเกิด เขาจึงได้บินจากญี่ปุ่นไปทำงานที่ฮ่องกง 1 ปี แล้วย้ายมาที่ประเทศไทย ตั้งแต่ปี 1986 เป็นต้นมา 

การปรับตัวให้เข้ากับประเทศไทยไม่ใช่เรื่องหนักหนาสำหรับคุณฟูเลย สังเกตได้จากน้ำเสียงและสายตาที่เป็นประกายยามที่เขาพูดถึง ‘อาหารไทย’

“ที่ผมชอบมากที่สุดคือก๋วยเตี๋ยวเส้นเล็กต้มยำ ถ้าเป็นเมนูนี้จะให้ผมกินวันละ 3 มื้อเลยก็ได้ ผมยังชอบกินอาหารประเภทยำ ชอบแกงส้มชะอมทอด ชอบน้ำพริกหนุ่ม - น้ำพริกอ่อง ผมชอบอาหารไทย กินได้ทุกอย่างเลย ทุกวันนี้กินอาหารญี่ปุ่นน้อยมาก” 

นอกเหนือจากนี้คุณฟูยังหลงใหลในวัฒนธรรมไทย รวมถึงนิสัยของคนไทยที่ดูสบาย ๆ เป็นมิตร ไม่เคร่งเครียดเหมือนคนญี่ปุ่น ทั้งหมดเป็นเหตุผลที่ทำให้คุณฟูตัดสินใจอยู่ประเทศไทยต่อ หลังเกษียณจากงานตำแหน่งซีอีโอในบริษัทเอเจนซี่โฆษณาดัง

ริซึโอะ ฟูกาซาว่า ชาวญี่ปุ่นหลงใหลเมืองไทย เปิดร้านชา ‘ศรีย่าน ทีรูม’ ในบ้านเก่าร้อยปี

 

เริ่มแรกคุณฟูยังคิดเดินต่อในสายงานเอเจนซี่ จึงเปิด ‘บริษัท โมเสค วัน จำกัด’ ขึ้น ควบคู่กับการพัฒนา ‘สัปปายะ’ (Sappaya) แบรนด์เสื้อผ้าที่มาพร้อมคอนเซ็ปต์ ‘ความยั่งยืน’ (sustainability) ซื้อครั้งเดียวใช้ได้ตลอดชีวิต โดยใช้วัตถุดิบจากจังหวัดสกลนคร มุ่งตอบสนองกลุ่มเป้าหมายที่เป็นคนสูงวัย 

ริซึโอะ ฟูกาซาว่า ชาวญี่ปุ่นหลงใหลเมืองไทย เปิดร้านชา ‘ศรีย่าน ทีรูม’ ในบ้านเก่าร้อยปี

เมื่อลูกค้าเป็นคนสูงอายุ คุณฟูจึงมองหาทำเลทำโชว์รูมเสื้อผ้า ตั้งโจทย์ว่าต้องเป็นบ้านโบราณในย่านเก่าแก่ ที่มีพื้นที่มากพอสำหรับการสต๊อกเสื้อผ้าและทำงาน

ริซึโอะ ฟูกาซาว่า ชาวญี่ปุ่นหลงใหลเมืองไทย เปิดร้านชา ‘ศรีย่าน ทีรูม’ ในบ้านเก่าร้อยปี

ก่อนจะมาจบที่ศรีย่าน คุณฟูตระเวนดูทำเลหลายที่ ไม่ว่าจะเป็นย่านเจริญนคร เยาวราช ตลาดน้อย ฯลฯ แต่ติดที่ย่านเหล่านั้นมีพื้นที่แคบ บ้างก็ไม่ให้เช่าทั้งหลัง บ้างก็ไม่สะดวกสำหรับการจอดรถ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก 

กระทั่งตัวแทนหาบ้านเสนอบ้านสไตล์โคโลเนียล ‘บ้านขุนประกฤติวิจารณ์’ ซึ่งคาดว่าสร้างมาตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 (พ.ศ. 2482) เป็นบ้านที่ใช้ไม้ซุงเป็นฐานราก ไม่มีการลงเสาเข็ม ทรงตึกปูนปั้น 2 ชั้น ไม้สักแท้ทั้งหลัง ประดับลวดลายไม้ฉลุ มีบันไดกลางที่สวยงาม 

ริซึโอะ ฟูกาซาว่า ชาวญี่ปุ่นหลงใหลเมืองไทย เปิดร้านชา ‘ศรีย่าน ทีรูม’ ในบ้านเก่าร้อยปี
ริซึโอะ ฟูกาซาว่า ชาวญี่ปุ่นหลงใหลเมืองไทย เปิดร้านชา ‘ศรีย่าน ทีรูม’ ในบ้านเก่าร้อยปี

คุณฟูเล่าว่า วันที่มาดูบ้านหลังนี้ ปรากฏว่ามีคนสนใจมาขอเช่าเหมือนกับเขาอีก 2 คน คุณฟูเลยต้องแสดงความจริงใจกับเจ้าของบ้านด้วยการพูดว่า “ให้ผมเช่าดีกว่า ผมเช่าแล้วจะไม่มีเสียงหนวกหู ไม่ทำให้มีกลิ่นเหม็น ไม่ดัดแปลงหรือปรับปรุงโครงสร้างหลัก เพราะผมอยากรักษาบ้านเก่า คุณเจ้าของบ้านไม่ต้องห่วงเลย” 

เจออดีตประธานบริษัทเอเจนซี่โฆษณากล่อมขนาดนี้ ไม่แปลกใจเลยที่เจ้าของบ้านจะเลือกคุณฟูเป็นผู้เช่า 

ริซึโอะ ฟูกาซาว่า ชาวญี่ปุ่นหลงใหลเมืองไทย เปิดร้านชา ‘ศรีย่าน ทีรูม’ ในบ้านเก่าร้อยปี
คุณฟูใช้เวลารีโนเวทบ้านนานถึง 3 เดือน จนออกมาใกล้เคียงกับของเดิมมากที่สุด แต่เมื่อได้ใช้งานจริง คุณฟูพบว่าบ้านหลังนี้มีพื้นที่เหลือเฟือ นอกเหนือจากการทำโชว์รูมแบรนด์เสื้อผ้าและสำนักงานบริษัทโฆษณา ควรมีอีกหนึ่งธุรกิจเกิดขึ้นเพื่อไม่ให้เสียเนื้อที่ไปเปล่า ๆ นั่นจึงเป็นที่มาของร้าน ‘ศรีย่าน ทีรูม’ 

ริซึโอะ ฟูกาซาว่า ชาวญี่ปุ่นหลงใหลเมืองไทย เปิดร้านชา ‘ศรีย่าน ทีรูม’ ในบ้านเก่าร้อยปี

“ความจริงผมชอบกาแฟนะ แต่ตอนนั้นผมเข้าใจผิดคิดว่าชงชาง่ายกว่ากาแฟ คิดว่าแค่ใส่ชาตามด้วยน้ำร้อนก็ได้แล้ว แต่เอาเข้าจริงมันไม่ง่ายเลยนะ ใบชามีมากมายทั่วโลก จนถึงวันนี้ผมก็ยังต้องศึกษาเรื่องชาต่อ” คุณฟูเล่าให้ฟังอย่างจริงใจ เจือไปด้วยเสียงหัวเราะอย่างอารมณ์ดี 

ภายในร้านเต็มไปด้วยชาหลากหลายชนิด รวมถึงเครื่องดื่มที่คุณฟูแนะนำคือ ‘ชาน้ำแตงโม’ ซึ่งใช้เนื้อแตงโมแช่เย็นเสิร์ฟในแก้วทรงสูง เวลาจะดื่มให้เทชาลงไป เหมาะสำหรับคนรักสุขภาพที่ต้องการความแปลกใหม่ในการดื่มน้ำผลไม้

ริซึโอะ ฟูกาซาว่า ชาวญี่ปุ่นหลงใหลเมืองไทย เปิดร้านชา ‘ศรีย่าน ทีรูม’ ในบ้านเก่าร้อยปี

คุณฟูแอบกระซิบด้วยว่า อีกไม่นานจะเพิ่มเมนู Cold Brew Tea มากถึง 5 รสชาติ ในจำนวนนี้ 2 รสชาติเป็นชาจากเชียงราย นับเป็นการยกระดับการดื่มชาไทยสู่เทรนด์สากล

“ผมอยากโปรโมตใบชาเชียงราย ซึ่งเป็นชาไทยแท้ ๆ ที่พอเอามาทำเป็น Cold Brew Tea ผมว่าพอจะเทียบเคียงกับชาฝรั่งได้”

ในร้านศรีย่าน ทีรูม ไม่ได้มีแต่ชาเท่านั้น ที่นี่ยังมี ‘ครัวซองต์’ ที่เสิร์ฟพร้อมอาหารไทย เช่น มัสมั่น แกงเขียวหวาน และแกงส้ม เป็นไฮไลต์ที่ห้ามพลาดเด็ดขาด

ริซึโอะ ฟูกาซาว่า ชาวญี่ปุ่นหลงใหลเมืองไทย เปิดร้านชา ‘ศรีย่าน ทีรูม’ ในบ้านเก่าร้อยปี

คุณฟูบอกว่า ตัวเองไม่มีประสบการณ์เรื่องการทำอาหารไทย แต่มั่นใจว่าคนไทยชอบครัวซองต์มาก เห็นได้จากการเติบโตของตลาดครัวซองต์ในประเทศไทย บวกกับตัวเองก็ชอบกินครัวซองต์ เลยเป็นที่มาของการนำครัวซองต์มาขายในร้าน ทั้งครัวซองต์ทรงพระจันทร์เสี้ยว และทรงลูกบาศก์ที่กำลังมาแรง 

เมนูครัวซองต์ที่คุณฟูภูมิใจนำเสนอให้กับเราในวันนี้คือ ‘ครัวซองต์มัสมั่นเนื้อริบอาย’ ซึ่งแว็บแรกที่เห็น อยากจะลุกไปตักข้าวสวยร้อน ๆ มานั่งกินกับมัสมั่นให้รู้แล้วรู้รอด แต่พอได้ลองกินคู่กับครัวซองต์เนื้อกรอบ เราเลยเปลี่ยนใจนั่งกินครัวซองต์ต่อจนหมดแบบไม่ต้องง้อข้าวสวย 

ริซึโอะ ฟูกาซาว่า ชาวญี่ปุ่นหลงใหลเมืองไทย เปิดร้านชา ‘ศรีย่าน ทีรูม’ ในบ้านเก่าร้อยปี

นอกจากนี้ยังมีครัวซองต์แซลมอนรมควัน ราดด้วยครีมชีส อะโวคาโด เคเปอร์ โรยหน้าด้วยไข่ปลาแซลมอน เพิ่มความสดชื่นด้วยเลมอน เหมาะกับการกินเป็นบรันช์เพื่อเริ่มต้นวันแบบไม่หนักท้องเกินไป 

ริซึโอะ ฟูกาซาว่า ชาวญี่ปุ่นหลงใหลเมืองไทย เปิดร้านชา ‘ศรีย่าน ทีรูม’ ในบ้านเก่าร้อยปี

อีกเมนูที่เราและน้องช่างภาพภูมิใจนำเสนอมาก ๆ คือ ‘ครัวซองต์คาราเมลแมคคาเดเมีย’ ที่พอตักชิมคำแรก อดเผลอตั้งมือเตรียมรำถวายไม่ได้ มีความอร่อยจนอยากตะโกนออกมา 

ริซึโอะ ฟูกาซาว่า ชาวญี่ปุ่นหลงใหลเมืองไทย เปิดร้านชา ‘ศรีย่าน ทีรูม’ ในบ้านเก่าร้อยปี

ส่วนใครที่กลัวจะกินครัวซองต์ชิ้นใหญ่ ๆ ไม่หมด ทางร้านมี ‘ครัวซองต์ไบท์’ เป็นครัวซองต์คำเล็ก ๆ ไม่รู้จะเรียกว่าเป็นนวัตกรรมได้หรือไม่ แต่การปรับขนาดครัวซองต์ให้กินง่ายในคำเดียวก็นับเป็นอีกหนึ่งความใส่ใจที่ศรีย่าน ทีรูม มอบให้ลูกค้า 

ริซึโอะ ฟูกาซาว่า ชาวญี่ปุ่นหลงใหลเมืองไทย เปิดร้านชา ‘ศรีย่าน ทีรูม’ ในบ้านเก่าร้อยปี

ความจริงแล้วกลุ่มเป้าหมายของศรีย่าน ทีรูม เป็นกลุ่มผู้ใหญ่อายุ 30 - 40 ปีขึ้นไป แต่คุณฟูก็ยินดีต้อนรับลูกค้าอายุน้อยกว่านั้น ที่ชื่นชอบความงดงามของบ้านเก่า บรรยากาศเงียบสงบ นั่งได้นาน ๆ พร้อมอาหารอร่อย ๆ และชารสชาติดี

ริซึโอะ ฟูกาซาว่า ชาวญี่ปุ่นหลงใหลเมืองไทย เปิดร้านชา ‘ศรีย่าน ทีรูม’ ในบ้านเก่าร้อยปี

ศรีย่าน ทีรูม มีทั้งหมด 4 ห้องใหญ่ ทั้งร้านรองรับได้ 30 - 40 คน ซึ่งตอนนี้คุณฟูยังไม่คิดขยับขยายจำนวนโต๊ะ เพราะต้องการมอบบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า

ริซึโอะ ฟูกาซาว่า ชาวญี่ปุ่นหลงใหลเมืองไทย เปิดร้านชา ‘ศรีย่าน ทีรูม’ ในบ้านเก่าร้อยปี

หลังเปิดร้านศรีย่าน ทีรูม ได้ 1 ปี 4 เดือน เราขอให้คุณฟูเปรียบเทียบความรู้สึกระหว่างการทำงานบริษัทเอเจนซี่โฆษณา กับการเปิดร้านศรีย่าน ทีรูม ซึ่งคุณฟูตอบคำถามนี้ด้วยความกระตือรือร้น 

“ทำงานเอเจนซี่โฆษณา เราไม่ได้เห็นผู้บริโภคโดยตรง เราไม่ค่อยมีจุดที่สัมผัสกับลูกค้าจริง ๆ ทำแต่หนังโฆษณา วิทยุ สิ่งพิมพ์ อาจมีการรีเสิร์ชบ้าง แต่รีเสิร์ชก็ไม่ค่อยแน่นอน เพราะลูกค้าไม่ได้พูดกับเราตรง ๆ แต่ผมอยากสัมผัสลูกค้าจริง ๆ เพราะฉะนั้น ณ ขณะนี้แตกต่างกันมากเลยนะ ผมได้คุยกับลูกค้าทุกวัน ได้ถามเขาว่าอร่อยมั้ย ได้คอมเมนต์มาปรับปรุง เรียกว่าตอนนี้สนุกกว่าตอนทำเอเจนซี่” 

อีกความมุ่งหวังของคุณฟูคือการสนับสนุนศรีย่าน เขาตั้งใจว่าจะเปิดพื้นที่ในร้านศรีย่าน ทีรูม ให้คนไทยที่มีฝีมือได้โชว์ศักยภาพ ในลักษณะการ collaboration 

ริซึโอะ ฟูกาซาว่า ชาวญี่ปุ่นหลงใหลเมืองไทย เปิดร้านชา ‘ศรีย่าน ทีรูม’ ในบ้านเก่าร้อยปี

“ผมคิดว่าเมืองไทยมีบุคลากรที่มีฝีมือ แต่บางคนยังไม่มีโอกาสออกไปในระดับโลก ผมอยากสนับสนุนให้คนไทยออกไปตลาดโลก บนพื้นที่ที่ผมมี ที่ศรีย่าน ทีรูม”