ประวัติศาสตร์ ‘ชาไทย’ เป็นไปได้ว่ามาจาก ‘วัฒนธรรมชาใส่นม’ ของอินเดีย

ประวัติศาสตร์ ‘ชาไทย’ เป็นไปได้ว่ามาจาก ‘วัฒนธรรมชาใส่นม’ ของอินเดีย

เปิดประวัติของ ‘ชาไทย’ ต้นกำเนิดของชาที่มาจากประเทศจีน แต่วัฒนธรรมการดื่มชาใส่นม มีรากมาจาก Masala Chai เครื่องดื่มชาใส่นมของอินเดียที่มีชื่อเสียงมาก

  • ประมาณ 2,700 ปีก่อนคริสตศักราช ‘ต้นชา’ เกิดขึ้นในประเทศจีน จุดเริ่มต้นการต้มใบชาสดดื่มมาจากชาวบ้านละแวกนั้น
  • ศตวรรษที่ 13 คนจีนนิยมปลูกชา และแปรรูป โดยเฉพาะการทำใบชาแห้งเพื่อส่งออกในกลุ่มชาติเอเชีย
  • ต้นกำเนิดของ ‘ชาไทย’ ตำนานบอกมีรากจาก Masala Chai ของอินเดีย

เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เว็บไซต์ TasteAtlas ได้จัดอันดับเครื่องดื่ม 10 อันดับที่ไม่มีแอลกอฮอล์และอร่อยที่สุดในโลก ซึ่ง ‘ชาไทย’ ถูกยกให้เป็นเครื่องดื่มที่อร่อยติดอันดับ 7 ของโลก

ความอร่อยของชาไทยไม่ว่าจะคนไทยหรือต่างชาติก็ยกให้เป็นเครื่องดื่มอันดับต้น ๆ ที่ต้องลองเมื่อเดินทางมาที่ประเทศไทย โดย YouTuber ต่างชาติที่ทำคอนเทนต์เกี่ยวกับ reaction หลายช่องก็ยกให้ชาไทยเป็นเครื่องดื่มโปรดไปหลายคน เช่น The Joi และ Mark Wiens นักรีวิวอาหารชื่อดัง

เมื่อชาไทยได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มนักท่องเที่ยว จนได้รับการจัดอันดับเป็น Top 10 ของโลก The People จึงอยากพาไปดูประวัติและแหล่งกำเนิดของ ‘ชาไทย’ ตามข้อมูลที่ค้นหามาได้

โลกรู้จักการดื่มชาจาก ‘จีน’

ข้อมูลจาก Britannica ได้พูดถึงแหล่งกำเนิดของ ‘ชา’ ว่ามาจากประเทศจีน เป็นความบังเอิญที่เกิดขึ้นนับพัน ๆ ปี โดยตามตำนานตั้งแต่ประมาณ 2,700 ปีก่อนคริสตศักราช ‘ต้นชา’ เกิดขึ้นในเขตเมืองจีน โดยมีชาวบ้านเก็บใบชาสดมาต้มกับน้ำแล้วดื่ม

ชาวบ้านรู้สึกดีและสดชื่น ชา จึงกลายเป็นเครื่องดื่มที่ดื่มในชีวิตประจำวันตั้งแต่นั้น จนประมาณศตวรรษที่ 3 การดื่มชาเป็นวัฒนธรรมของคนจีนในหลายพื้นที่ ทำให้คนจีนเริ่มมาเพาะปลูกและแปรรูปใบชา ทำให้มีกรรมวิธีการดื่มชาทั้งใบสดและตากแห้งครั้งแรกในปี 350

ในช่วงศตวรรษที่ 13 การดื่มชาในจีนเริ่มแพร่หลาย มีการส่งออกใบชาตากแห้งและแปรรูปไปยังประเทศในเอเชียอื่น ๆ เช่น ญี่ปุ่น และไต้หวัน

ในปี 1826 ชาวดัตช์ ได้รู้จักชา และมีการนำมาเพาะปลูกมากขึ้น โดยนำเมล็ดพันธุ์จากญี่ปุ่น และในปี 1833 ชาวดัตช์ เริ่มนำเข้าเมล็ดพันธุ์ แรงงาน พร้อมอุปกรณ์บางอย่างในการทำชาจากจีน เกิดเป็นยุคแห่งการค้าขายครั้งแรกที่ชัดเจน

หลังจากนั้น ในปี 1824 เป็นครั้งแรกที่เห็น ‘ต้นชา’ งอกบนพื้นที่ภูเขาตามแนวชายแดนระหว่างเมียนมาและรัฐอัสสัมของอินเดีย ขณะเดียวกันชาวอังกฤษที่เดินทางเข้ามาค้าขายกับอินเดียก็มีการนำเข้า ‘ใบชาแห้ง’ ในปี 1836 ด้วย ทำให้เกิดเป็นวัฒนธรรมการดื่มชาในอินเดียขึ้น

ทั้งนี้ ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 และต้นศตวรรษที่ 20 จะพูดว่าเป็นยุคแห่งการเผยแพร่ ‘ชา’ ให้โลกได้รู้จักก็ไม่ผิด เพราะชา และการดื่มชาถูกส่งต่อไปไกลมาก ตัั้งแต่ รัสเซีย, จอร์เจีย, อิหร่าน, มาลาวี, ยูกันดา, เคนยา, คองโก, แทนซาเนีย และโมซัมบิก ในทวีปแอฟริกา หลังจากนั้นก็ขยายต่อไปยัง อาร์เจนตินา, บราซิล, เปรู และ ออสเตรเลีย

สำหรับคนไทยตั้งแต่ในสมัยสุโขทัยช่วงที่มีการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกับจีน พบว่าได้มีการดื่มชากันแล้ว แต่ไม่ได้ระบุว่านำเข้ามาอย่างไร ขณะที่ในจดหมายของลาลูแบร์ ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชได้กล่าวไว้ตรงกันว่า คนไทยได้รู้จักการดื่มน้ำชาแล้ว โดยนิยมชงชาเพื่อรับแขก การดื่มชาของคนไทยสมัยนั้นดื่มแบบชาจีนไม่ใส่น้ำตาล

 

วัฒนธรรมการดื่ม ‘ชาไทย’

‘ชาไทย’ ได้รับการจัดอันดับให้เป็นเครื่องดื่มที่อร่อยติดอันดับโลกอย่างที่เรารู้ ๆ กัน แต่ที่มาของการดื่มชาด้วยการเพิ่มนม หรือน้ำตาลเข้าไปไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะระบุต้นกำเนิดที่แท้จริงได้

ข้อมูลจาก รองศาสตราจารย์ ดร.ภญ. พิมลพรรณ พิทยานุกุล ภาควิชาเภสัชกรรม คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สอดคล้องกับข้อมูลบนเว็บไซต์ tecompanytea ระบุว่า มีความเป็นไปได้สูงที่การดื่ม ‘ชาไทย’ ได้รับอิทธิพลมาจาก ‘อินเดีย’ ซึ่งก็มาจากเครื่องดื่มที่ชื่อว่า ‘Masala Chai’ ชาใส่นมใส่เครื่องเทศเฉพาะของอินเดีย

การดื่ม Masala Chai ตามความเชื่อของคนอินเดียคือ เป็นเครื่องดื่มอายุรเวท ที่มีส่วนประกอบมาจากของธรรมชาติที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ตั้งแต่ใบชา, นม (ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่อยู่ในทุกงค์ประกอบของอาหาร/ขนมอินเดีย) และเครื่องเทศมาซาลา (ที่มีลูกผักชี, กานพลู, อบเชย, ยี่หร่า, ใบอบเชย, ดอกจันทน์เทศ, ลูกจันทน์, เม็ดพริกไทย มาผสมกัน

โดยชาไทยมีรากมาจากชาของอินเดีย ในเวอร์ชั่นที่ไม่มีเครื่องเทศต่าง ๆ ซึ่งวัฒนธรรมการดื่มชาใส่นมนั้นเกิดขึ้นในยุคที่มีคนอินเดียเริ่มอพยพเข้ามาอยู่ในไทย และมีการค้าขายกับอินเดียด้วย

ทั้งนี้ ในยุคการดื่มชากับนมในไทยช่วงแรก ๆ คิดว่ายังเป็นการเพิ่มความหวานด้วยน้ำตาล และน่าจะเป็นแบรนด์ที่มาเปลี่ยนวัฒนธรรมนี้ให้เป็นชากับนมข้นหวานแทนก็คือ ‘เนสท์เล่’ ซึ่งเมื่อ 130 ปีก่อนเนสท์เล่ ได้เปิดตัวนมข้นหวานเป็นเจ้าแรกในไทย

ไม่ว่าตำนานหรือประวัติศาสตร์จะเป็นอย่างไรคงไม่มีใครรู้ได้ เพียงแต่ข้อมูลเหล่านี้เป็นเพียงการหยิบเหตุการณ์ต่าง ๆ มาโยงถึงจุดกำเนิดของ ‘ชาไทย’ ซึ่งไม่ว่าเรื่องจริงจะเป็นอย่างไรก็ไม่ได้เปลี่ยนความจริงและความอร่อยของชาไทยได้

ดังนั้น ประวัติศาสตร์เป็นเพียงข้อสมมุติฐานของคนปัจจุบันถึงการมีอยู่ของสิ่งที่เกิดขึ้นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเท่านั้นเอง

 

อ้างอิง:

Tecompanytea

Tasteatlas

Britannica

Historytoday

Pharmacy.mahidol

Frontiersin

Teacoffee.mfu