04 พ.ค. 2566 | 17:24 น.
- # (แฮชแท็ก) เป็นเครื่องหมายที่ใช้กันแพร่หลายบนโลกโซเชียล มีเดีย
- เครื่องหมายนี้ Chris Messina บล็อกเกอร์ ที่ปรึกษาด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และด้านอินเทอร์เน็ตเป็นผู้คิดค้น
- ที่มาของไอเดีย Messina ต้องการจัดหมวดหมู่ประเด็นและคีย์เวิร์ดบน Twitter ให้เป็นระบบ
ปัจจุบัน # (แฮชแท็ก) เป็นเครื่องหมายที่ใช้กันแพร่หลายบนโลกโซเชียล มีเดียทั้ง Twitter, Instagram, Facebook และ TikTok ซึ่งเครื่องหมายดังกล่าวไม่เพียงทำให้เราสามารถค้นหาและเข้าถึงประเด็นหรือหัวข้อต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น แต่ยังมีพลังขับเคลื่อนสังคมและแคมเปญทางการตลาด
แล้วรู้หรือไม่มาว่า เจ้าเครื่องหมายนี้มีใครเป็นผู้คิดค้น ?
คำตอบก็คือ Chris Messina บล็อกเกอร์ ที่ปรึกษาด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และด้านอินเทอร์เน็ต ผู้ที่เคยทำงานอยู่ ณ ซิลิคอนแวลลีย์ ซานฟรานซิสโก ประเทศสหรัฐอเมริกา
ย้อนกลับไปในค.ศ. 2007 ปีที่ Twitter เพิ่งเริ่มต้นให้บริการและเปิดให้ผู้คนในซิลิคอนแวลลีย์ได้ทดลองใช้เป็นกลุ่มแรก ซึ่ง Messina ก็เป็นหนึ่งในนั้น และจากการได้ใช้เขาเห็นว่า การที่ Twitter ไม่มีการจัดหมวดหมู่ของข้อความหรือประเด็นในการพูดคุยต่าง ๆ ทำให้ค้นหาเรื่องราวตามความสนใจในประเด็นเดียวกันได้ยาก
Messina จึงคิดว่า จะดีมากเลยหาก Twitter มีการจัดหมวดหมู่ประเด็นและคีย์เวิร์ดที่เป็นระบบมากขึ้น เพราะสำหรับเขามองเรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญเพื่อเชื่อมโยงผู้ใช้งานทั้งหมดบนแพลตฟอร์มเข้าด้วยกัน
และเขาก็นึกถึงเครื่องปอนด์ # ที่ใช้กันมานานในระบบแชทบนอินเตอร์เน็ต ที่เรียกว่า Internet Relay Chat หรือ IRC (คล้ายๆ กับ MSN) โดยวิธี คือ พิมพ์ # ไว้หน้าคำหรือข้อความ ซึ่งเมื่อคลิกคำหรือข้อความดังกล่าว จะสามารถพาไปยังหัวข้อหรือประเด็นที่มีคีย์เวิร์ดเดียวกัน
เมื่อคิดหาวิธีได้แล้ว เขาได้เช็คกับผู้ใช้ Twitter คนอื่น ๆ มีความคิดเห็นอย่างไรกับการใช้แฮชแท็ก โดยในวันที่ 23 สิงหาคม ค.ศ.2007 (ต่อมาวันดังกล่าวได้กลายเป็นวันแห่งแฮชแท็ก) เขาได้ทวีตข้อความ how do you feel about using # (pound) for groups. As in #barcamp [msg]?
ปรากฏว่า มีผู้กด ‘ถูกใจ’ มากกว่า 10,000 ครั้ง และรีทวีตตอบเกือบ 5,000 ครั้ง ทำให้เขามั่นใจไอเดียนี้ของตัวเอง และได้เดินทางไปเพื่อนำเสนอไอเดียกับทาง Twitter ซึ่งเขาได้พบกับ Biz Stone หนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง Twitter
แต่ Biz Stone กลับปฏิเสธไอเดียที่เขาเสนอ โดยบอกว่า มันดูเนิร์ดเกินไปที่จะตามทัน และไม่มีทางเวิร์คอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม Messina ก็ไม่ยอมแพ้ และได้มีการโปรโมทการใช้แฮชแท็กเรื่อย ๆ กระทั่งในเดือนตุลาคม ค.ศ.2007 เกิดเหตุการณ์ไฟป่าที่เมืองซานดิเอโก เพื่อนของ Messina ได้ใช้ Twitter เพื่ออัปเดตสถานการณ์ เขาเลยชักชวนให้เพื่อนใช้แฮชแท็ก #sandiegofire ซึ่งหลังจากทวีตข้อความนี้ออกไป ก็มีผู้ใช้ Twitter ใช้แฮชแท็กนี้ตามกันมากมาย กลายเป็นประเด็นที่คนติดตามและสนใจอย่างกว้างขวาง
จากเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้ผู้พัฒนา Twitter ตระหนักถึงความสำคัญของการใช้แฮชแท็ก เพื่อจัดหมวดหมู่ของประเด็นสนทนาเป็นครั้งแรก และหลังจากนั้นความนิยมในการใช้แฮชแท็กใน Twitter ก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ
กระทั่งค.ศ. 2009 Twitter ได้เพิ่มการเซิร์ชด้วยแฮชแท็กเข้าไปเป็นฟีเจอร์อย่างเป็นทางการ และได้มีการจัดทำ Trending Topics แสดงแฮชแท็กหรือคำที่พูดถึงมากที่สุดบน Twitter แบบเรียลไทม์ในปี ค.ศ. 2010 จนถึงปัจจุบัน
แน่นอนด้วยความสำเร็จของแฮชแท็กบน Twitter ทำให้โซเชียล มีเดียแพลตฟอร์มอื่นพัฒนาระบบนี้ขึ้นมา เริ่มจาก Instagram ในค.ศ.2010 ถัดมา คือ Facebook ในปีค.ศ. 2013 และขยายสู่โซเชียล มีเดียอื่น ๆ ต่อไป
ปัจจุบันแฮชแท็กยังถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาดที่หลายแบรนด์นำไปใช้ รวมถึงนำไปขับเคลื่อนสังคม ยกตัวอย่าง #BlackLivesMatter การรณรงค์ให้ยุติการเหยียดสีผิว #MeToo ที่ร่วมกันรณรงค์ให้ยุติการคุกคามทางเพศ หรือจะเป็น #StopAsianHate ในการร่วมรณรงค์ยุติความเกลียดชังต่อชาวเอเชีย และเหยียดเชื้อชาติ
.
จากไอเดียที่ผู้ก่อตั้ง Twitter มองว่า เนิร์ดเกินไป และไม่มีทางได้รับความนิยม ตอนนี้ Messina ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า แฮชแท็ก มีประสิทธิภาพมากแค่ไหน และสร้างจุดเปลี่ยนให้กับโลกโซเชียล มีเดียมากเลยทีเดียว
.
แม้ตอนนี้เขาจะเลิกเล่น Twitter เพราะทนความป่วนของ 'เจ้าของคนใหม่' ของ Twitter อย่างอีลอน มัส ไม่ค่อยได้ก็ตามที
.
ภาพ : chrismessina.me
.
อ้างอิง
.