‘เบน ฟรานซิส’ จากเด็กส่งพิซซ่า สู่มหาเศรษฐีเจ้าของแบรนด์กีฬาอายุน้อยที่สุดในอังกฤษ

‘เบน ฟรานซิส’ จากเด็กส่งพิซซ่า สู่มหาเศรษฐีเจ้าของแบรนด์กีฬาอายุน้อยที่สุดในอังกฤษ

ก่อนที่ ‘เบน ฟรานซิส’ จะกลายเป็นมหาเศรษฐีที่อายุน้อยที่สุดในสหราชอาณาจักร เขาเคยเป็นเด็กส่งพิซซ่ามาก่อน แต่ความหลงใหลในการออกกำลังกายผลักดันให้เขาเริ่มทำธุรกิจแบรนด์กีฬาของตัวเอง

“ตอนเด็ก ๆ ผมอยากเป็นนักฟุตบอลมาก แต่ก็ต้องเก็บความฝันนั้นไป เพราะผมไม่มีวันเก่งพอที่จะใช้ฟุตบอลมาเลี้ยงตัวเอง จากความหลงใหลตรงนั้นเลยเปลี่ยนมาเป็นความสนใจด้านไอที”

เบน ฟรานซิส (Ben Francis) ชาวเมืองโซลิฮัลล์ ประเทศอังกฤษ เริ่มทำธุรกิจเล็ก ๆ ที่ห้องนอนของเขาขณะอายุ 19 ปีโดยมีคุณย่าคอยถ่ายทอดวิชาการตัดเย็บเสื้อผ้าให้ไม่ห่างกาย

“ผมเป็นเด็กที่เรียนไม่เก่ง ซึ่งบอกตามตรงว่าบางอย่างผมได้เรียนรู้จากนอกห้องเรียนด้วยซ้ำ ตอนอายุ 17 ผมก็เลยสมัครคอร์สเรียนไอที เชื่อไหมว่ามันเหมือนโลกอีกใบ ผมไม่เคยเรียนรู้อะไรพวกนี้จากในห้องเรียนเลย แต่ผมเจอมันที่นี่ พวกเขาสอนให้ผมลงมือปฏิบัติไม่ใช่แค่เรียนตามตำราไปวัน ๆ”

เบน เกิดในปี 1992 ในครอบครัวที่สอนให้เขารู้จักถ่อมตัว และไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค เขาจึงเติบโตมาด้วยความอ่อนน้อมแต่ก็มีความแข็งกร้าวและมุ่งมั่นอยู่ในตัว เขาเป็นเด็กหนุ่มผู้ทำงานหนัก ตื่นเช้าไปเรียนที่มหาวิทยาลัยแอสตัน (Aston University) สาขาธุรกิจและการจัดการ หลังเรียนเสร็จก็ขับรถส่งพิซซ่าต่อถึง 4 ทุ่มของทุกวัน และแวะเข้ายิมหลังส่งพิซซ่าถาดสุดท้ายเสร็จ เขาทำงานหนักมาโดยตลอดมีเพียงความฝันเดียว นั่นคืออยากเป็นเจ้าของธุรกิจ

ผลของพยายามไม่สูญเปล่า จากเด็กส่งพิซซ่าที่เรียนก็ไม่เก่ง อีกทั้งความสามารถด้านกีฬาก็ไม่เด่น แถมยังคิดการณ์ไกลอยากจะเป็นเจ้าของธุรกิจตั้งแต่อายุยังน้อย ผลักให้เขากล้าที่จะลองผิดลองถูก เขาทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้ เริ่มแรกรับอาหารเสริมมาขายร่วมกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์ ‘ลูอิส มอร์แกน’ (Lewis Morgan) ผ่านทางออนไลน์ แต่เมื่อเทียบกับผลกำไรที่ได้รับนั้น กลับไม่คุ้มค่าเท่าที่ควร เขาจึงพับโครงการดังกล่าว และเริ่มคิดหาทางทำธุรกิจตัวใหม่แทน

จากความรักในการออกกำลังกาย ทำให้เขามองเห็นช่องโหว่บางอย่าง นักเพาะกายบางคนสวมเสื้อผ้าที่ดัดแปลงกันเอง เพราะไม่มีแบรนด์กีฬาไหนสามารถทำให้เข้ากับสรีระของพวกเขาได้ อีกทั้งการดีไซน์เองก็ยังไม่โดดเด่น

ทันทีที่เห็น เขาตรงปรี่กลับบ้านขอให้คุณย่าช่วยสอนตัดเย็บเสื้อผ้าทันที แม้คุณย่าจะเป็นช่างเย็บผ้าม่านแต่เขารู้ดีว่าคงไม่มีช่างเย็บผ้าคนไหนยินดีสละเวลามาสอนเขาได้เท่ากับคนในครอบครัวอีกแล้ว

จากนั้น เบนและมอร์แกน ตัดสินใจร่วมกันลงทุนซื้อเครื่องเย็บผ้ามาใช้ เสื้อกีฬาตัวแรกทั้งคู่ก็เป็นคนทดลองใส่เอง เมื่อทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง พวกเขาวางจำหน่ายเสื้อผ้าภายใต้แบรนด์ชื่อว่า Gymshark บนเว็บไซต์ ประจวบกับเขาเข้าใจเทรนโลกที่เปลี่ยนไป จึงได้ทำการทุ่มเงินลงทุนก้อนโต ส่งชุดออกกำลังกายไปให้กับเหล่าอินฟลูเอนเซอร์ (ในปี 2020 มอร์แกนขายหุ้นในส่วนของตัวเอง เป็นมูลค่าประมาณ 130 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของข้อตกลง General Atlantic)

ผลตอบรับเข้ามาอย่างถล่มทลาย เขาไม่คาดคิดมาก่อนว่าแบรนด์กีฬาเล็ก ๆ ไร้ชื่อ แถมยังไม่มีพรีเซนเตอร์ชื่อดังมาร่วมโฆษณา มีเพียงอินฟลูเอนเซอร์มากหน้าหลายตาบนโลกออนไลน์ใส่ชุดออกกำลังกายของเขา จะสามารถแข่งกับแบรนด์ยักษ์ใหญ่ที่ครองตลาดมานานอย่าง Nike และ Adidas ได้

กลยุทธ์ดังกล่าว เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ Gymshark เติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ยังเทียบไม่ได้กับการที่เขาตัดสินใจไปเช่าพื้นที่ภายในงาน BodyPower Expo ซึ่งรวมเหล่าคนรักการออกกำลังกายทั่วสหราชอาณาจักรมาไว้ที่เดียว

หลังจบงาน Gymshark มีรายได้ขยับอย่างก้าวกระโดดจาก 300-400 ดอลลาร์ต่อวันเป็น 50,000 ดอลลาร์ภายใน 30 นาที ส่วนบนเว็บไซต์ก็ขายหมดเกลี้ยง

เดือนสิงหาคม 2020 General Atlantic ได้ซื้อหุ้น 21% ของแบรนด์ไปในราคาเกือบ 300 ล้านดอลลาร์ โดย Forbes ประมาณการมูลค่าของหุ้นส่วนที่เหลืออยู่ในความครอบครองของ Francis ว่ามีมูลค่ามากกว่า 900 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถือเป็นมูลค่าในระดับสตาร์ตอัปยูนิคอร์น

และนั่นทำให้เขากลายเป็น 1 ใน 3 มหาเศรษฐีที่อายุน้อยที่สุดในสหราชอาณาจักร ขณะอายุเพียง 30 ปี

เบน ตัดสินใจลาออกจากมหาวิทยาลัยและพนักงานส่งพิซซา เพื่อทุ่มเวลาไปกับการพัฒนาแบรนด์ให้ออกมาดีที่สุด ปัจจุบันบริษัทของเขามีพนักงานราว 900 คน และชุมชน Gymshark ก็ขยายตัวไปเรื่อย ๆ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการวางรากฐานของแบรนด์ไว้จนแข็งแกร่ง และลาออกจากตำแหน่งในปี 2015 เนื่องจากต้องการไปเรียนรู้ทักษะการเป็นผู้นำเพิ่มเติม ก่อนจะกลับมารับตำแหน่ง CEO อีกครั้งในเดือนสิงหาคม 2021

ในปี 2022 เบน ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้น MBE (Member of the Most Excellent Order of the British Empire) เป็นหนึ่งในนักธุรกิจเพียงไม่กี่คนที่ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในบุคคลสำคัญ คอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

แนวทางการทำธุรกิจของเบนมีเพียงไม่กี่อย่าง นั่นคือ จงทำงานหนัก และอ่อนน้อมเข้าไว้ เพราะเขาเชื่อว่าการทำงานหนักไม่เคยทรยศใคร และอย่าลืมที่จะเปิดรับทุกโอกาส เพื่อให้ตัวเองได้เรียนรู้ทุกอย่างอย่างเต็มที่โดยไม่มีอีโก้มาคอยบดบัง

 

 

อ้างอิง

https://central.gymshark.com/article/the-official-gymshark-story

https://www.entrepreneur.com/leadership/how-success-happened-for-ben-francis-founder-and-ceo-of/419627

https://www.theguardian.com/business/2022/dec/30/gymshark-founder-who-launched-125bn-empire-in-parents-garage-awarded-mbe

https://www.benzinga.com/general/entertainment/23/04/31714004/from-pizza-delivery-driver-to-billionaire-the-rise-of-gymsharks-ben-francis?fbclid=IwAR25t6SyDEPX7XCbBDA9lRUEWQ1Os9zLBPhslOFZM2Fv3Uu_nNbfxZgxuLg

https://www.forbes.com/sites/giacomotognini/2023/04/05/from-bodybuilder-to-billionaire-how-gymshark-founder-ben-francis-built-a-sportswear-unicorn/?sh=1f17644d2ab0&utm_source=ForbesMainFacebook&utm_campaign=socialflowForbesMainFB&utm_medium=social&fbclid=IwAR05EvBDxqst-YdUoubdZH2L4DpFhI5w3dK1WESHxA2qSRIQ6Gbi2jmEwQc