‘New Balance’ รองเท้ากีฬาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เริ่มจาก ‘แผ่นรองพื้นรองเท้า’ ก่อนผลิตรองเท้าขาย

‘New Balance’ รองเท้ากีฬาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก เริ่มจาก ‘แผ่นรองพื้นรองเท้า’ ก่อนผลิตรองเท้าขาย

จุดเริ่มต้นของ ‘New Balance’ รองเท้ากีฬาที่เก่าแก่ที่สุดในโลกกว่า 117 ปี จากความสังเกตของผู้ก่อตั้งที่เห็นบางอาชีพต้องยืนนาน และทฤษฎีไก่เดินสู่แผ่นรองพื้นรองเท้าเพื่อสร้างสมดุลให้กับการเดิน

  • New Balance ก่อตั้งมาแล้ว 117 ปี ถือเป็นแบรนด์รองเท้ากีฬาที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
  • ‘วิลเลียม เจ. ไรลีย์’ (William J. Riley) ผู้ก่อตั้งที่สังเกตว่ายุคนั้นมีหลายอาชีพที่ต้องยืนหลายชั่วโมง เขาอยากสร้างสิ่งประดิษฐ์เพื่อซัพพอร์ตเท้า
  • ‘ทฤษฎีไก่เดิน’ ทำให้เกิดผลิตภัณฑ์แรกก็คือ แผ่นรองพื้นรองเท้าแบรนด์ New Balance

กลายเป็นกระแสพากันตกใจเมื่อไม่กี่วันก่อน ที่มีรายงานข่าวต่าง ๆ นานาว่า New Balance ได้ปิดช็อปทุกสาขาในประเทศไทยเมื่อวันที่ 26 เมษายนที่ผ่านมา แต่ความจริงแล้วเป็นเพียง ‘การหมดสัญญา’ โดยที่ผ่านมาผู้ที่นำเข้าและจำหน่ายสินค้าคือ CRC Sports ซึ่งอยู่ภายในเครือของเซ็นทรัลกรุ๊ป

แต่การปิดหน้าร้านของ New Balance เป็นเพียงช่วงรอยต่อก่อนเปลี่ยนมือผู้นำเข้า แต่เรายังสามารถหาซื้อสินค้าได้ผ่านช่องทางออนไลน์ของร้าน Supersports ซึ่งเดา ๆ กันว่าในไตรมาส 4/2023 จะมีบริษัทอื่นที่เข้ามารับช่วงต่อในตลาดไทย อาจจะเป็นแบรนด์ New Balance เองที่เข้ามาทำการตลาดในไทยเอง หรืออาจจะเป็น MAP Active บริษัทที่นำเข้าและจัดจำหน่ายสินค้าอุปกรณ์กีฬาจากอินโดนีเซีย

ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นของแบรนด์ New Balance เรียกว่าน่าสนใจไม่น้อย เพราะเริ่มแรกผู้ก่อตั้งไม่ได้วางแผนที่จะเป็นบริษัทผลิตรองเท้า แต่กลับทำ ‘แผ่นรองพื้นรองเท้า’ วางขายเป็นสินค้าตัวแรกในตอนนั้น

เพราะหลายอาชีพยืนนานจึงเกิดเป็นธุรกิจ

ย้อนไปเมื่อ 117 ปีก่อน ประมาณปี 1906 มีชายคนหนึ่งที่ชื่อว่า ‘วิลเลียม เจ.  ไรลีย์’ (William J. Riley) หนุ่มอังกฤษที่ย้ายมาอยู่ในเมืองบอสตัน ประเทศสหรัฐอเมริกา เขาเกิดไอเดียอยากทำธุรกิจ ซึ่งจากเดิมเขาก็เป็นคนหลงใหลในเรื่องสุขภาพเท้า ชอบที่จะศึกษาและค้นหาสิ่งที่ช่วยซัพพอร์ตเท้ามนุษย์

วันหนึ่งเขาสังเกตเห็นว่า มีหลาย ๆ อาชีพมากที่บังคับให้ผู้คนต้องยืนทำงาน ไม่ได้นั่ง มีหลายอาชีพที่ยืนทำงานหลายชั่วโมงติดต่อกัน เช่น ตำรวจ, เจ้าหน้าที่ดับเพลิง หรือแม้แต่คนงานในโรงงานบางตำแหน่งที่ต้องยืนตลอด

ไรลีย์รู้สึกว่าอยากทำอะไรสักอย่างให้พวกเขาเหล่านั้นรู้สึกสบายเวลาที่ต้องยืนนาน ๆ เพราะคนเหล่านั้นเลือกไม่ได้ที่ต้องเจอกับสถานการณ์แบบนั้น เขาจึงคิดเกี่ยวกับ ‘แผ่นรองพื้นรองเท้า’ คิดตอนนั้นแค่ว่า หากแผ่นรองพื้นมันนุ่มและซัพพอร์ตเท้าได้อย่างดี ก็น่าจะช่วยได้ระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็ช่ว=ยให้พวกเขาไม่ต้องเมื่อยหรือเจ็บปวดมากกว่าเดิม

และแล้ว ‘ทฤษฎีไก่เดิน’ ของไรลีย์ที่หลายคนเคยพูดถึงก็มาช่วยให้ผลิตภัณฑ์ของเขาดูสมดุลขึ้น ความคิดจุดประกายนี้มาจากในวันหนึ่งที่เขากำลังเฝ้าดูไก่เดินไปมาในสนามหลังบ้าน เขาได้สังเกตความสมดุลที่สมบูรณ์แบบของการเคลื่อนไหวของพวกมัน ซึ่งนั่นทำให้ไรลีย์สร้างโครงสร้างแบบจำลองขึ้นมา โดยมี 3 จุดสมดุลของเท้าตามตำแหน่งเท้าไก่ และลองทดสอบกับตัวเอง

สิ่งประดิษฐ์แผ่นรองพื้นรองเท้าที่ออกแบบเฉพาะให้มี 3 จุดสมดุลตามโค้งของเท้าคนนั้น ไรลีย์รู้สึกด้วยตัวเองว่า มันทำให้การเดินของเขาสบายขึ้น การยืนก็สมดุลขึ้น ไม่เจ็บ ไม่ปวดเมื่อยบางตำแหน่ง เพราะการรับน้ำหนักของเท้ามันเท่า ๆ กัน

และนั่นก็คือสินค้าตัวแรกที่ไรลีย์เปิดตัว ภายใต้ชื่อบริษัท New Balance Arch Support Company ด้วยคอนเซ็ปต์แบรนด์ก็คือ การสร้างสมดุลที่ดีให้กับเท้าของผู้คน และจะดูแลทุก ๆ กิจกรรมให้ดีขึ้นด้วยแผ่นรองพื้นรองเท้าที่ดี

หลังจากเปิดตัว แผ่นรองพื้นรองเท้าของ New Balance ถือว่าจุดกระแสได้ค่อนข้างเร็ว ผลตอบรับดี สินค้าเป็นที่นิยมรวดเร็ว ซึ่งหลังจากนั้น ไรลีย์ก็ได้คิดสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น โดยเป็นผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพเท้า แต่ยังไม่ใช่รองเท้าจาก New Balance

 

ก่อตั้งแบรนด์ 30 ปีถึงทำรองเท้า

ราว ๆ ปี 1936 ไรลีย์เริ่มคิดเกี่ยวกับ ‘รองเท้า’ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของแบรนด์รองเท้า New Balance อย่างแท้จริง เพราะเขามองว่า ในเมื่อโปรดักส์ของเขาติดตลาด ได้รับความนิยม และผู้คนก็รับรู้และเชื่อใจเกี่ยวกับสินค้าในแบรนด์ New Balance ดังนั้นเขาจึงต้องการผลิตรองเท้าเป็นของตัวเอง ขณะที่ในยุคนั้น ‘รองเท้ากีฬา’ ยังมีตัวเลือกไม่มากนัก ไรลีย์จึงปักหมุดหมายใหม่ทันที

ทั้งนี้ในปี 1956 บริษัท New Balance ไรลีย์ได้ขายธุรกิจให้กับลูกสาวและลูกเขยของ Arthur Hall อดีตพนักงานขายที่ผันตัวเองมาเป็นหุ้นส่วน และปีนั้นเองเป็นครั้งแรกที่ New Balance เปิดตัวรองเท้ารุ่น ‘Trackster’ ซึ่งเป็นรองเท้ากีฬารุ่นแรกที่มีพื้นรองเท้าเป็นคลื่น (กันลื่น) ถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ของ New Balance ก็ว่าได้หลังจากที่ไรลีย์คิดโปรดักส์ใหม่ ๆ เพียงคนเดียวมาตลอด

แม้ว่าจะไม่ได้ระบุชัดเจนถึงสาเหตุที่ไรลีย์ขายกิจการ New Balance แต่มีข้อมูลว่า ช่วงที่เขาหันมาผลิตรองเท้า (ที่ไม่ใช่รองเท้ากีฬา) New Balance ไม่ได้ติดตลาดมากอย่างที่เขาคาดหวัง ขณะเดียวกัน ต้นทุนในการผลิตรองเท้าต้องใช้เงินทุนมากกว่าแผ่นรองพื้นรองเท้า นั่นก็อาจจะมีส่วนทำให้ไรลีย์ตัดสินใจขายกิจการให้คนที่ไว้ใจได้

ในยุค 70s แบรนด์ New Balance เริ่มติดภาพลักษณ์ว่าเป็นแบรนด์รองเท้ากีฬา เพราะความทนทานและสวมใส่สบายของมันจึงทำให้ทีมกีฬาเกือบทุกทีมในอเมริกาใช้รองเท้าแบรนด์นี้เหมือนกัน ซึ่งลูกค้าใหม่ ๆ ของ New Balance ยุคนั้นนอกจากนักกีฬา ก็จะเป็นคนที่ชอบทำกิจกรรม ออกกำลังกาย รักการวิ่ง เป็นต้น

เรื่องราวของ New Balance มักจะคลุกคลีอยู่ในวงการกีฬามาตลอด จนถึงปี 2015 ที่แบรนด์นี้ได้กลายเป็นแบรนด์รองเท้ากีฬาระดับโลก เพราะมีทีมฟุตบอลจากหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกให้ความสนใจ และเลือกใช้รองเท้า New Balance ในการแข่งขันกีฬา

ความไม่ธรรมดาของ New Balance มักจะปรากฏตัวอยู่ในคนหลาย ๆ กลุ่มเสมอ ซึ่งหลายคนอาจจะยังไม่รู้ว่า สตีฟ จอบส์’ (Steve Jobs) ผู้ก่อตั้งแบรนด์ Apple ก็เป็นหนึ่งในแฟนคลับของรองเท้ายี่ห้อนี้ โดยรุ่นโปรดปรานของสตีฟ จอบส์ ก็คือ New Balance 992s นั่นเอง

นอกจากนี้ New Balance รุ่น 320 ที่มีสัญลักษณ์เป็นตัว N ข้างรองเท้า เคยได้รับการโหวตจากนิตยสาร Runner’s World ให้เป็นรองเท้าวิ่งที่ดีที่สุดในตอนนั้นด้วย

สำหรับแบรนด์รองเท้า New Balance ถือว่าเป็นอีกหนึ่งรองเท้าขายดีในไทย และในอีกหลายประเทศทั่วโลก ซึ่งระยะเวลาที่ New Balance เข้ามาในตลาดไทยตามข้อมูลของ ‘กรุงเทพธุรกิจ’ ก็คือตั้งแต่ปี 2015 โดยสาขาแรก ๆ ที่เปิดให้บริการมีห้างฯ MBK อยู่ในนั้นด้วย

เชื่อว่าความนิยมของ New Balance สำหรับคนไทยที่มากขึ้นเรื่อย ๆ น่าจะทำให้รองเท้าแบรนด์นี้ยังอยู่ในตลาดไทยต่อไป ไม่ได้หายไปถาวรอย่างที่หลายคนกังวล ซึ่งในไตรมาส 4 ปีนี้เราก็น่าจะเห็นชื่อบริษัทที่จะเข้ามารับช่วงต่อแน่ ๆ

 

อ้างอิง :

New Balance

Shelflife

Heddels

Urbanjunglestore

Fatbuddhastore