30 มิ.ย. 2566 | 15:20 น.
- จอร์จ โซรอส เป็นลูกศิษย์ของ ‘คาร์ล พอปเปอร์’ นักปรัชญาชื่อดังเจ้าของตำราการเมืองชื่อ ‘สังคมเปิดและศัตรูของมัน’ (The Open Society and Its Enemies) ซึ่งมีเนื้อหาวิจารณ์ระบอบเผด็จการแนวฟาสซิสต์และมาร์กซิสต์อย่างรุนแรง พร้อมเชิดชูอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม
- ระหว่างการเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกประเทศ ‘ควอนตัม ฟันด์’ ของเขาค่อย ๆ เติบโตกลายเป็นกองทุนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการเทรดที่สร้างชื่อเสียงให้กับจอร์จ โซรอส มากที่สุดคือการเก็งกำไรค่าเงินปอนด์ของอังกฤษ ในปี 1992
- จอร์จ โซรอส ในวัย 92 ปี ประกาศยกตำแหน่งประธานมูลนิธิ OSF ซึ่งมีเงินทุนมูลค่า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นองค์กรสำคัญในการขับเคลื่อนความฝันของเขาให้กับ ‘อเล็กซ์ โซรอส’ ลูกชายคนเล็กเป็นผู้ดูแลและสืบทอดเจตนารมณ์
หากเอ่ยชื่อ ‘จอร์จ โซรอส’ (George Soros) คนไทยจำนวนมากคงคุ้นหูกันดี เพราะเขาคือนักเก็งกำไรค่าเงิน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าอยู่เบื้องหลังการโจมตีค่าเงินบาท จนทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ‘ต้มยำกุ้ง’ ในปี 1997 (พ.ศ. 2540) หลังจากถล่มค่าเงินปอนด์ จนทำให้แบงก์ชาติอังกฤษหมดตัวไปก่อนหน้านั้น
นอกจากภาพลักษณ์ ‘พ่อมดการเงิน’ ผู้เก่งกาจไร้ความปรานี จอร์จ โซรอส ยังเป็นมหาเศรษฐีใจบุญที่บริจาคเงินจำนวนมหาศาลให้องค์กรการกุศลไม่ต่างจาก ‘บิล เกตส์’ ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ แต่การบริจาคส่วนใหญ่ของเขาเน้นเรื่องการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองและสังคม ส่งเสริมหลักสิทธิมนุษยชน ความเท่าเทียม และระบอบประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม
เรียกได้ว่าความเคลื่อนไหวเชิงสังคมทำให้ชื่อของจอร์จ โซรอส ถูกพูดถึงมากกว่าการเป็นนักลงทุน หลายคนขนานนามให้เขาเป็นมหาเศรษฐีผู้ตกเป็นเป้า ‘ข่าวปลอม’ และ ‘ทฤษฎีสมคบคิด’ มากที่สุดคนหนึ่งของโลก หรือพูดง่าย ๆ มีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้นที่ไหน หลายคนมักชี้นิ้วไปที่จอร์จ โซรอส
“เมื่อพวกเขาอยากโทษใคร ผมคือคนนั้นเสมอ” จอร์จ โซรอส ยอมรับอย่างทำใจหลังจาก ‘อีลอน มัสก์’ มหาเศรษฐีชาวอเมริกันที่สนับสนุนพรรครีพับลิกัน เป็นคนดังคนล่าสุดที่ออกมาโจมตีเขาด้วยการทวีตข้อความเปรียบเทียบเป็น ‘แม็กนีโต้’ จอมวายร้ายในหนัง X-Men
อย่างไรก็ตาม การถูกใส่ร้ายเป็นนิจ มิอาจหยุดยั้งความคิดของมหาเศรษฐีผู้นี้ในการเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีเสรีภาพและความเท่าเทียม เขายังคงเดินหน้าบริจาคเงินปีละประมาณ 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐให้องค์กรไม่แสวงผลกำไร (NGO) และนักการเมืองฝ่ายซ้ายที่เคลื่อนไหวสอดคล้องกับอุดมการณ์ของตน
“หากคุณรู้ความจริง ผมมีจินตนาการแรงกล้าเรื่องการช่วยมนุษย์ไถ่บาปมาตั้งแต่เด็ก ซึ่งผมรู้สึกว่าต้องควบคุมมันให้ได้ ไม่เช่นนั้นมันอาจสร้างปัญหาให้ผม แต่พอผมมีเส้นทางของตัวเองบนโลกใบนี้ ผมก็อยากปลดปล่อยจินตนาการนั้นออกมาให้มากที่สุดเท่าที่พอทำได้” จอร์จ โซรอส ระบุในหนังสือ Underwriting Democracy (1991)
โดย ‘จินตนาการ’ ที่ว่าเกิดจากประสบการณ์เลวร้ายในชีวิตที่เขาต้องเผชิญมาในฐานะผู้อพยพชาวยิว ที่รอดชีวิตจากการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของกองทัพนาซี
ปลอมตัวเปลี่ยนชื่อหลบหนีนาซี
จอร์จ โซรอส มีชื่อเดิมว่า ‘จอร์จี้ ชวอร์ตซ’ (Gyorgy Schwartz) เกิดในครอบครัวชาวยิวในฮังการี เมื่อปี 1930 พออายุ 14 ปี ชีวิตของเขาเริ่มเผชิญความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ เมื่อกองทัพนาซีเยอรมันบุกรุกบ้านเกิด และพยายามกวาดต้อนชาวยิวไปเข้าค่ายกักกันในสงครามโลกครั้งที่สอง
เขาเล่าว่า มีอยู่วันหนึ่งเขาได้รับคำสั่งให้นำหมายศาลไปส่งมอบให้เจ้าหน้าที่ในฐานะตัวแทนของสภาชาวยิวในฮังการี แต่ ‘ทิวาดาร์ โซรอส’ (Tivadar Soros) พ่อของเขาซึ่งมีอาชีพทนายความรู้ทัน รีบแจ้งให้ลูกชายอย่าทำตาม และไปบอกกับผู้ได้รับหมายศาลเดียวกันคนอื่นให้อยู่นิ่ง ๆ เพราะความจริงแล้วหมายศาลดังกล่าวคือคำสั่งเนรเทศ
หลังจากนั้นไม่นาน ทิวาดาร์ได้จัดการเปลี่ยนชื่อ-สกุลสมาชิกทุกคนในครอบครัว โดยเปลี่ยนนามสกุลจาก ‘ชวอร์ตซ’ เป็น ‘โซรอส’ เพื่อไม่ให้คล้ายชาวยิว ก่อนส่งตัว ‘พอล’ พี่ชายคนโตไปอยู่ห้องเช่า และส่งจอร์จไปอยู่กับเจ้าหน้าที่รัฐบาล ซึ่งเป็นชาวคริสต์ที่รับปากจะช่วยแอบอ้างเป็นพ่อทูนหัวให้ ทำให้พวกเขารอดพ้นการจับกุมของกองทัพนาซี
“ผมเรียนรู้ศิลปะการเอาตัวรอดมาจากปรมาจารย์ นั่นคือพ่อของผมเอง” จอร์จกล่าวกับสำนักข่าวบีบีซี ยกย่องบิดาที่ช่วยปลอมแปลงอัตลักษณ์ จนสามารถรอดพ้นเงื้อมมือ ‘มัจจุราช’ นาซี ที่ต้องการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิว
เขาบอกว่า ประสบการณ์นั้นนอกจากจะสอนให้มีสัญชาตญาณการเอาตัวรอด ยังสอนให้เขาเป็นคนมีความต้องการแรงกล้าที่จะท้าทายผู้มีอำนาจ รังเกียจการแบ่งก๊กแบ่งเหล่า รวมถึงลัทธิเผ่าพันธุ์นิยม และมีแนวโน้มที่จะอยู่ข้างผู้ถูกกดขี่ข่มเหงทั่วโลก
อิทธิพลทางความคิดเพื่อสร้างโลกเสรี
หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ในปี 1946 พรรคคอมมิวนิสต์ขึ้นครองอำนาจในฮังการี ทำให้ จอร์จ โซรอส ในวัย 17 ปี ตัดสินใจลี้ภัยไปอังกฤษ และเข้าเรียนต่อที่วิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน (LSE) ในสาขาปรัชญา จนจบปริญญาโท
เขาเป็นลูกศิษย์ของ ‘คาร์ล พอปเปอร์’ (Karl Popper) นักปรัชญาชื่อดังเจ้าของตำราการเมืองชื่อ ‘สังคมเปิดและศัตรูของมัน’ (The Open Society and Its Enemies) ซึ่งมีเนื้อหาวิจารณ์ระบอบเผด็จการแนวฟาสซิสต์และมาร์กซิสต์อย่างรุนแรง พร้อมเชิดชูอุดมการณ์ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม
หลักคำสอนของพอปเปอร์มีอิทธิพลต่อชีวิตของจอร์จ โซรอส ตั้งแต่นั้นมา มันทำให้เขามีความมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนแปลงโลกให้เป็นเสรีนิยม และเคารพหลักสิทธิมนุษยชน ภายใต้ความเชื่อที่ว่า หากโลกทั้งใบยึดมั่นความโปร่งใสและเป็นธรรมตามคำแนะนำของพอปเปอร์ คนรุ่นต่อไปจะไม่มีใครต้องเผชิญชะตากรรมแบบเดียวกับเขา
อย่างไรก็ตาม การทำความฝันนี้ให้เป็นจริงต้องใช้ทุนมหาศาล และนั่นเป็นเหตุผลให้เขาต้องอพยพอีกครั้งมายังสหรัฐอเมริกาในปี 1956 และเริ่มทำงานในตลาดทุนที่ใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง ‘วอลล์สตรีท’ ในนครนิวยอร์ก
จอร์จบอกว่า ตอนย้ายมาอเมริกาใหม่ ๆ เขาตั้งเป้าหมายส่วนตัวว่าต้องเก็บเงินให้ได้ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐภายใน 5 ปี เพราะจะทำให้มีเวลาไปเอาดีด้านการศึกษาและอื่น ๆ แต่ผลลัพธ์ที่ได้คือเขาทำได้ดีกว่าเป้าที่วางไว้
ทฤษฎีเบื้องหลังการลงทุน
ด้วยความสามารถในการวิเคราะห์ตลาดและแนวโน้มของเศรษฐกิจโลกได้อย่างแม่นยำ ทำให้จอร์จ โซรอส กลายเป็นนักลงทุนมือฉกาจที่สุดคนหนึ่งของวอลล์สตรีท
ปี 1969 เขาก่อตั้งกองทุน ‘ควอนตัม ฟันด์’ (Quantum Fund) ของตัวเองขึ้นมา เพื่อใช้เป็นเครื่องมือลงทุนแนวใหม่ที่รู้จักกันในชื่อ ‘เฮดจ์ฟันด์’ หน้าที่หลักของมัน คือ การช่วยบริหารเงินให้บรรดามหาเศรษฐีและนักลงทุนสถาบัน โดยอาศัย ‘เลเวอเรจ’ หรือ ‘เงินของคนอื่น’ มาเก็งกำไรในตลาดหุ้น ตลาดพันธบัตร รวมถึงตลาดซื้อขายแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ และสินค้าโภคภัณฑ์
ควอนตัม ฟันด์ ทำผลงานได้ดีตั้งแต่เริ่มต้น โดยให้ผลตอบแทนสูงถึง 40 เปอร์เซ็นต์ต่อปี จอร์จเผยเคล็ดลับความสำเร็จนี้ว่ามาจากการใช้ ‘ทฤษฎีสะท้อนกลับ’ (theory of reflexivity) ภายใต้สมมติฐานที่ว่า ความสามารถในการรับรู้และอุปาทานหมู่ของมนุษย์มักทำให้ราคาขยับไปในทิศทางที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง เมื่อเขามองเห็นจุดนี้จึงสามารถเข้าไปเก็งกำไรได้ก่อนที่ราคาจะกลับสู่ ‘จุดสมดุล’
จอร์จ โซรอส เริ่มเปลี่ยนสถานะจากนักลงทุนธรรมดากลายเป็นมหาเศรษฐีตั้งแต่ปลายทศวรรษ 1970s และมีทุนมากพอที่จะเขียนประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับโลกตามอุดมการณ์ของตนเอง เขาเปิดเผยอย่างตรงไปตรงมาเกี่ยวกับความทะเยอทะยานส่วนตัว แต่ยังคงถ่อมตัว และมักวิจารณ์ตัวเองเชิงจิกกัดด้วยอารมณ์ขัน
“ผมยืนยันว่าเป็นคนมีอีโก้ แต่ก็มองว่า การไขว่คว้าผลประโยชน์ส่วนตัวมันช่วยลดความโป่งพองของอัตตาได้ด้วยเช่นกัน” จอร์จระบุในหนังสือ Underwriting Democracy กล่าวถึงผลประโยชน์ส่วนตัวในการทำเพื่อสังคม
ตั้งมูลนิธิส่งเสริมแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตย
หลังประสบความสำเร็จด้านการลงทุน ในปี 1979 จอร์จ โซรอส เดินหน้าทำตามความฝันด้วยการก่อตั้งมูลนิธิ ‘โอเพ่น โซไซตี้ ฟาวน์เดชั่น’ (OSF) โดยตั้งชื่อตามชื่อตำราการเมืองของคาร์ล พอปเปอร์ ผู้เป็นอาจารย์ เพื่อผลักดันการทำ ‘สังคมปิด’ ให้เป็น ‘สังคมเปิด’ ที่เน้นความโปร่งใสและเป็นธรรม
OSF เริ่มทำงานด้วยการแจกทุนการศึกษาให้นักเรียนผิวดำในแอฟริกาใต้ ก่อนหันไปโฟกัสที่ยุโรปตะวันออก โดยให้การสนับสนุนเงินทุนกลุ่มต่อต้านรัฐบาล อาทิ ขบวนการเรียกร้องสิทธิผู้ใช้แรงงาน ‘โซลิดาริตี้’ ในโปแลนด์ และกลุ่มเรียกร้องสิทธิมนุษยชน ‘กฎบัตร 77’ (Charter 77) ในเชโกสโลวาเกีย
ปลายทศวรรษ 1980s มูลนิธินี้ให้ทุนนักศึกษายุโรปตะวันออกหลายสิบคนเดินทางไปเรียนต่อในโลกตะวันตก โดยมีเป้าหมายสร้างผู้นำรุ่นใหม่ที่สนับสนุนแนวทางประชาธิปไตยแบบเสรีนิยม หนึ่งในนักเรียนทุน คือ ‘วิกเตอร์ ออร์บาน’ (Victor Orban) ซึ่งได้เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ดในอังกฤษ ก่อนก้าวไปเป็นนายกรัฐมนตรีของฮังการีในที่สุด
หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต จอร์จ โซรอส บริจาคเงินส่วนตัวมากมายช่วยให้รัสเซียเปลี่ยนผ่านจากระบอบคอมมิวนิสต์สู่ประชาธิปไตยได้ราบรื่น อาทิ ให้เงินนักวิทยาศาสตร์รัสเซีย 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพื่อป้องกันไม่ให้หันไปทำงานให้ชาติที่เป็นปฏิปักษ์กับตะวันตก และให้เงินอีก 250 ล้านดอลลาร์ ทำโครงการทบทวนเนื้อหาในตำราเรียนของรัสเซีย พร้อมฝึกหัดครูให้ช่วยส่งเสริมการคิดเชิงวิพากษ์
แม้หลายฝ่ายมองว่า การล่มสลายของสหภาพโซเวียตคือชัยชนะของโลกตะวันตกและรัสเซีย รวมถึงประเทศเกิดใหม่อื่น ๆ จะหันมาโอบรับแนวคิดเสรีนิยมประชาธิปไตยเหมือนที่นักรัฐศาสตร์คนดังอย่าง ‘ฟรานซิส ฟุกุยามา’ (Francis Fukuyama) เคยกล่าวไว้ในบทความเรื่อง ‘อวสานของประวัติศาสตร์’ (The End of History) แต่จอร์จไม่เห็นด้วยกับแนวคิดนี้
จอร์จ โซรอส มองว่า ประเทศเหล่านี้มีวัฒนธรรมที่เอื้อต่อการเกิดขึ้นของภาคประชาสังคมและเสรีนิยมประชาธิปไตยน้อยมาก และจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือบ่มเพาะเพื่อไม่ให้เกิดกระแสตีกลับและทำให้ย้อนกลับไปสู่ระบอบเผด็จการ
ชายผู้ทำให้แบงก์ชาติอังกฤษถังแตก
หากมอง จอร์จ โซรอส ในมุมการเมือง เขาถือเป็นนักปฏิวัติคนหนึ่ง ซึ่งต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ได้ไม่เหมือนใคร เพราะเป็นนักเคลื่อนไหวทางไกลที่ทำงานมาจากโต๊ะเทรดหุ้นและค้าเงินตราในย่านวอลล์สตรีท
ระหว่างการเคลื่อนไหวทางการเมืองนอกประเทศ ‘ควอนตัม ฟันด์’ ของเขาค่อย ๆ เติบโตกลายเป็นกองทุนมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยการเทรดที่สร้างชื่อเสียงให้กับ จอร์จ โซรอส มากที่สุด คือการเก็งกำไรค่าเงินปอนด์ของอังกฤษ ในปี 1992
ตอนนั้นค่าเงินปอนด์อยู่ในช่วงเปราะบาง เพราะผูกกับเงินมาร์คเยอรมันในอัตราแลกเปลี่ยนที่สูงเกินจริง เมื่ออังกฤษเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย จอร์จมองเห็นโอกาสตามทฤษฎีสะท้อนกลับ โดยเชื่อว่า สุดท้ายรัฐบาลอังกฤษจะเลือกลดค่าเงินปอนด์ แทนการคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงต่อไปเพื่อปกป้องค่าเงินจากนักเก็งกำไร
เขาสั่งการไปยัง ‘สแตนลีย์ ดรักเคนมิลเลอร์’ (Stanley Druckenmiller) หัวหน้านักค้าเงินของตัวเองให้เก็งกำไรมูลค่าขาลง (Short selling) ทันที และวันพุธที่ 16 กันยายน 1992 แบงก์ชาติอังกฤษก็ยอมแพ้ ทำให้ค่าเงินปอนด์ตกฮวบฮาบ จนถูกถอดออกจากตะกร้าแลกเปลี่ยนเงินตรายุโรปในเวลานั้น
สื่ออังกฤษเรียกวันนั้นว่า ‘วันพุธทมิฬ’ (Black Wednesday) และจอร์จ โซรอส ถูกขนานนามให้เป็น ‘ชายผู้ทำให้แบงก์ชาติอังกฤษถังแตก’ ส่วนกองทุนควอนตัมของเขาก็ทำกำไรได้ภายในวันนั้นวันเดียวถึง 1,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปฏิเสธเป็นต้นตอวิกฤตต้มยำกุ้ง
วิกฤต ‘วันพุธทมิฬ’ ทำให้ธุรกิจเฮดจ์ฟันด์ กลายเป็นจอมวายร้ายที่รวยฟู่ฟ่าในโลกการเงิน แต่ยังไม่ถึงขั้นทำให้กลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจระดับโลก จนกระทั่งปี 1997 เมื่อประเทศไทยตกเป็นเหยื่อรายต่อไปของการโจมตีค่าเงินบาท จนแบงก์ชาติ ‘หมดหน้าตัก’ ต้องปล่อยลอยตัวค่าเงินบาท และกลายเป็นวิกฤต ‘ต้มยำกุ้ง’
‘มหาธีร์ โมฮามัด’ นายกรัฐมนตรีมาเลเซียยุคนั้น ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤต ‘ต้มยำกุ้ง’ ไม่แพ้กัน กล่าวโจมตีจอร์จ โซรอส ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลัง แต่ ‘พ่อมดการเงิน’ ชาวยิวเชื้อสายฮังการี ปฏิเสธทันทีว่า กลุ่มเฮดจ์ฟันด์ของเขาไม่ใช่ต้นเหตุ เพราะมีนักเก็งกำไรกลุ่มอื่นที่ทุ่มเงินโจมตีค่าเงินบาทหนักกว่า และต้นตอของปัญหาที่แท้จริง คือ ผู้กำหนดนโยบายของรัฐที่บิดเบือนราคาตลาด จนกลายเป็นช่องโหว่ให้ถูกโจมตี
จอร์จ โซรอส มักตกเป็นเป้าการใส่ร้ายจากรัฐบาลฝ่ายขวาหัวอนุรักษนิยม รวมถึงผู้เชิดชูแนวคิดชาตินิยม ประชานิยม และต่อต้านชาวยิว เนื่องจากไม่พอใจที่มหาเศรษฐีผู้นี้พยายามเคลื่อนไหวส่งเสริมแนวคิดฝ่ายซ้ายแบบเสรีนิยมประชาธิปไตยไปทั่วโลก
วิกเตอร์ ออร์บาน นายกฯ ฮังการี ซึ่งเคยเป็นนักเรียนทุนของจอร์จ โซรอส คือหนึ่งในผู้นำการเมืองที่โจมตีเขาอย่างรุนแรงหลังขึ้นสู่อำนาจและพยายามชูนโยบายชาตินิยม เขากล่าวหาจอร์จ โซรอส ว่าพยายามกดดันให้ฮังการีเปิดบ้านรับผู้อพยพผ่านการให้เงินทุนกลุ่ม NGO ที่ช่วยเหลือผู้อพยพตามแนวพรมแดน
นอกจากนี้ รัฐบาลฮังการียังออกกฎหมายต่อต้านผู้ลี้ภัยโดยใช้ชื่อว่า ‘หยุดโซรอส’ (Stop Soros) พร้อมขึ้นป้ายบิลบอร์ดขนาดใหญ่รูปจอร์จ โซรอส ฉีกยิ้ม และข้อความ “อย่าปล่อยให้จอร์จ โซรอส หัวเราะเป็นคนสุดท้าย”
ภาพชาวยิวหัวเราะเคยเป็นหนึ่งในวิธีโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านชาวยิวของกองทัพนาซี แต่นายกฯ ฮังการีปฏิเสธความเชื่อมโยงนี้ โดยอ้างว่าเขาไม่มีเจตนาสื่อถึงการต่อต้านชาวยิวแต่อย่างใด
นอกจากกระแสต่อต้านในบ้านเกิด ที่อิสราเอล ดินแดนของชาวยิวก็มีกระแสต่อต้าน จอร์จ โซรอส เช่นกัน โดยเฉพาะลูกชายของ ‘เบนจามิน เนทันยาฮู’ นายกฯ อิสราเอล ที่เคยโพสต์ข้อความโจมตีเขาว่าเป็นยิวทรยศที่ฝักใฝ่นาซี ทั้งที่ไม่มีหลักฐานยืนยัน เนื่องจากไม่พอใจที่มูลนิธิของจอร์จเคยให้เงินสนับสนุนกลุ่มเรียกร้องสิทธิให้ชาวปาเลสไตน์
ส่วนในสหรัฐอเมริกา ภูมิลำเนาปัจจุบัน จอร์จ โซรอสก็มักถูกผู้สนับสนุนพรรครีพับลิกันใส่ร้ายว่าอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์วุ่นวายต่าง ๆ ตั้งแต่เหตุจลาจลเรียกร้องสิทธิคนผิวดำ Black Lives Matter ในหลายเมือง รวมถึงคลื่นผู้อพยพลี้ภัยจากอเมริกากลางและอเมริกาใต้ที่พยายามเดินเท้าเข้าสหรัฐฯ
กระแสต่อต้านเหล่านี้เกิดขึ้นหลังจากจอร์จ โซรอส ประกาศเปิดตัวเป็นผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครต และต่อต้านผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จากพรรครีพับลิกัน ตั้งแต่สมัยจอร์จ ดับเบิลยู. บุช เป็นต้นมา เนื่องจากมองว่าการประกาศสงครามต่อต้านการก่อการร้ายของรัฐบาลบุช ก่อให้เกิดการแบ่งฝักแบ่งฝ่ายใช้ความรุนแรงต่อกัน
ส่งไม้ต่อผู้สานฝันสร้างโลกเสรีนิยม
จอร์จ โซรอส เคยกล่าวสุนทรพจน์ที่มหาวิทยาลัยมอลโดวา ในปี 1994 อธิบายเหตุผลส่วนตัวที่ทำให้เขากลายเป็นนักบริจาคทางการเมืองรายใหญ่ว่า วัตถุประสงค์ของเขา คือความต้องการทำให้ฮังการีกลายเป็น “ประเทศที่ผมไม่อยากย้ายหนีไปไหน”
เขาเคยบอกกับนักข่าวของเดอะ นิวยอร์ก ไทมส์ ถึงอุดมการณ์ของตัวเองว่า “อุดมการณ์ของผมคือการไม่มีอุดมการณ์ใด ๆ ผมอยู่ในสังกัดของคนไร้สังกัด”
มหาเศรษฐีชาวอเมริกันเชื้อสายฮังการีผู้นี้บอกด้วยว่า แม้หลายคนมองว่า เขาต่อต้านกลุ่มหัวอนุรักษนิยมฝ่ายขวาจนกลายเป็นจอมวายร้ายในสายตาของคนพวกนั้น และเปรียบเหมือน ‘พ่อพระ’ ผู้บริจาครายใหญ่ให้กับคนฝ่ายซ้ายที่ชื่นชอบนโยบายเสรีนิยม แต่ลึก ๆ แล้ว ไม่ว่าอุดมการณ์ใด หากมีความสุดโต่งเกินไป เขาก็ไม่สนับสนุนทั้งนั้น
จอร์จ โซรอส ในวัย 92 ปี ประกาศยกตำแหน่งประธานมูลนิธิ OSF ซึ่งมีเงินทุนมูลค่า 25,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเป็นองค์กรสำคัญในการขับเคลื่อนความฝันของเขาให้กับ ‘อเล็กซ์ โซรอส’ ลูกชายคนเล็กเป็นผู้ดูแลและสืบทอดเจตนารมณ์
อเล็กซ์เคยกล่าวถึงบิดาของเขาว่า จอร์จ โซรอส มักถูกตีตราเป็นชาวยิว ทั้งที่ไม่เคยมีความกระตือรือร้นที่จะโปรโมตความเชื่อของชาวยิว เพราะ “มันเป็นสิ่งที่ทำให้เขาเกือบถูกฆ่า” และตัวเขากับบิดาก็มีความคิดเห็นเดียวกัน
นับตั้งแต่จอร์จ โซรอส ก่อตั้ง OSF เพื่อขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงทั่วโลกมาจนกระทั่งวันส่งมอบหน้าที่ต่อให้กับลูกชาย เขาบริจาคเงินเข้ามูลนิธินี้ไปแล้วกว่า 32,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
นั่นคือสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ในขณะที่หลายคนมองภาพ ‘จอร์จ โซรอส’ เป็น ‘วายร้าย’ นักเก็งกำไรผู้หิวเงิน เคยสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจมาแล้วหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทย แต่อีกมุมหนึ่งของเขายังเป็น ‘นักบุญ’ ผู้บริจาครายใหญ่ ที่อยากเห็นโลกเปลี่ยนแปลงไปในแนวทางที่ตนเองเชื่อมั่น และเป็นอนาคตที่ดีของคนรุ่นต่อไป
ภาพ : Getty Images, อินสตาแกรม georgesoros และ alexsoros
อ้างอิง :