‘ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์’ อินทรีแห่งธุรกิจสิ่งพิมพ์ ผู้ก่อตั้ง ‘อมรินทร์’ ด้วยทุน 5 หมื่นบาท

‘ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์’ อินทรีแห่งธุรกิจสิ่งพิมพ์ ผู้ก่อตั้ง ‘อมรินทร์’ ด้วยทุน 5 หมื่นบาท

‘ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์’ ชายผู้มีวิสัยทัศน์เฉียบคมและกว้างไกล ก่อตั้งอาณาจักร ‘อมรินทร์’ ด้วยความมุ่งมั่นที่จะสร้างโรงงานผลิตอาหารสมองให้สังคมไทย

  • ตลอด 6 ปีที่เรียนมัธยม ชูเกียรติมักจะไปหมกตัวอยู่ที่ห้องสมุดประชาชนเพื่ออ่านหนังสือทุกอย่างที่ขวางหน้า เขาเคยพูดถึงช่วงเวลาแห่งการดื่มด่ำตัวหนังสือนี้ว่า “อ่านจนไม่มีอะไรให้อ่าน แม้แต่ถุงกล้วยแขกก็แกะมาอ่าน” 
  • เขาตัดสินใจนำเงินก้นถุงจากการแต่งงาน ที่พ่อตาให้มา 1 แสนบาท แต่เหลือเพียง 5 หมื่นบาท มาเป็นต้นทุนทำหนังสือ ‘บ้านและสวน’
  • ช่วง 2 เดือนที่ชูเกียรติพักรักษาตัวจากโรคมะเร็ง เขาได้เขียนหนังสืออัตชีวประวัติชื่อ ‘มะเร็งขึ้นสมอง’ เพื่อมอบเป็นอนุสรณ์ในงานศพของตัวเองด้วย

“เราทำงานเพื่อความสุขและความรุ่งโรจน์ของสังคม” 

นี่คือพันธกิจหลักของอาณาจักร ‘อมรินทร์’ ที่ค่อย ๆ ก่อร่างขึ้นจากโรงพิมพ์เล็ก ๆ เชิงสะพานอรุณอมรินทร์ โดยชายที่หลงใหลการอ่านมาตั้งแต่เด็ก และมีสายตายาวไกลประดุจอินทรีชื่อ ‘ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์’ 

แม้โรคมะเร็งจะคร่าชีวิตของเขาไปตั้งแต่ปี 2545 แต่ธุรกิจสิ่งพิมพ์ที่เขารักและมุ่งหวังให้เป็นโรงงานผลิตอาหารสมองให้กับสังคม ยังคงขยับขยายและปรับตัวให้เข้ากับยุคสมัยอย่างไม่หยุดยั้ง จนสามารถทำรายได้รวมกว่า 4 พันล้านบาท เมื่อปี 2565 

แต่หากมองย้อนกลับไปยังจุดเริ่มต้น ใครเลยจะเชื่อว่าอาณาจักรแห่งนี้เกิดขึ้นจากเงินทุนเพียง 5 หมื่นบาท ที่ชูเกียรติได้เป็นเงินขวัญถุงแต่งงานจากพ่อตา

‘ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์’ หนอนหนังสือจากปักษ์ใต้

ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ เกิดเมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม 2485 ที่อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส เขาเป็นลูกคนที่ 4 ในบรรดาพี่น้อง 6 คน ของ ‘รัตน์ (ระแวก) อุทกะพันธุ์’ อดีตปลัดอำเภอหาดใหญ่ กับ ‘ระเรียบ (สกุลเดิม ณ ถลาง) อุทกะพันธุ์’ 

เด็กชายชูเกียรติได้เลือดนักอ่านมาจากผู้เป็นบิดา เขาเคยเล่าว่า “จำได้ว่าทุก ๆ เช้า ผมจะเดินข้ามสะพานออกไปซื้อหนังสือพิมพ์ ซื้อปาท่องโก๋ดุ้นใหญ่ ซื้อกาแฟชงใส่กระป๋องนมมาให้พ่อ แล้วพ่อจะนอนอ่านหนังสือบนเก้าอี้ผ้าใบ ผมก็จะลากเก้าอี้มานั่งตรงใกล้หัวเตียงผ้าใบ อ่านหนังสือพิมพ์ไปกับพ่อ รู้สึกดีมาก ๆ เลย” 

แต่น่าเศร้าที่ขณะเรียน ป.4 บิดาของชูเกียรติก็จากไปด้วยโรคเส้นโลหิตในสมองแตก ทำให้ครอบครัวขาดเสาหลักและต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก มารดาจึงได้พาชูเกียรติกับพี่ ๆ น้อง ๆ ย้ายจากหาดใหญ่ไปอยู่สงขลา 

เมื่อเด็กชายชูเกียรติสอบเข้า ม.1 ที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา ไม่ได้ เขาจึงถูกส่งไปอยู่กับน้าที่จังหวัดนราธิวาส เขาต้องดูแลตัวเองและช่วยทำงานบ้านหลายอย่าง คาดว่าช่วงเวลานี้เองที่บ่มเพาะให้ชูเกียรติเป็นคนมีความรับผิดชอบ สู้งานหนัก และละเอียดรอบคอบ 

ตลอด 6 ปีที่เรียนมัธยม ชูเกียรติมักจะไปหมกตัวอยู่ที่ห้องสมุดประชาชนเพื่ออ่านหนังสือทุกอย่างที่ขวางหน้า เขาเคยพูดถึงช่วงเวลาแห่งการดื่มด่ำตัวหนังสือนี้ว่า “อ่านจนไม่มีอะไรให้อ่าน แม้แต่ถุงกล้วยแขกก็แกะมาอ่าน” 

หลังจบ ม.6 เขาสอบเข้าเรียนที่โรงเรียนมหาวชิราวุธ สงขลา ได้ จึงย้ายไปอยู่กับย่าที่สงขลา ได้ใช้ชีวิตนักเรียนเต็มที่ทั้งการเรียนและทำกิจกรรม โดยเล่นทั้งกีฬาและเป็นประธานสี 

“ผมถือว่าเป็นการเรียนรู้ที่สำคัญ เพราะความรู้ไม่ใช่แค่ท่องจำข้อความในหนังสือเรียน ฉะนั้นการมีโอกาสได้คิดได้ลงมือทำงานเยอะ ๆ น่าจะทำให้เด็กโตขึ้น และน่าจะเป็นการศึกษาที่ถูกต้อง” 

แต่แม้ว่าจะได้ทำกิจกรรมที่หลากหลายแค่ไหน ชูเกียรติก็กลับมาตายรังที่งานหนังสืออยู่ดี ตอน ม.8 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นสาราณียกรทำหนังสือรุ่น แต่น่าเสียดายที่เขาลาออกจากตำแหน่งนี้กลางคัน เมื่อหนังสือออกมาเป็นรูปเล่ม เขาจึงรู้สึกผิดอย่างมากที่ทิ้งงานให้คนอื่นทำแทน 

“รู้สึกตัวเองไม่มีความรับผิดชอบเพียงพอ เป็นบทเรียนสำคัญที่เตือนใจมาจนบัดนี้ว่า ทีหลังถ้ารับปากทำงานใดแล้ว ต้องไม่ลุแก่อารมณ์ ต้องตั้งใจทำให้ดีที่สุดและให้เสร็จทันเวลา เป็นปัจจัยความสำเร็จในการทำธุรกิจมาจนถึงบัดนี้” 

ส่วนหนังสือเล่มแรกในชีวิตที่เขาทำเสร็จสิ้นคือ หนังสืออนุสรณ์ของนักเรียนพยาบาล ซึ่งญาติของรุ่นพี่จ้างทำ 

เมื่อถึงคราวที่ต้องเลือกว่าจะเรียนที่มหาวิทยาลัยใด ผู้เป็นลุงได้เกลี้ยกล่อมให้เขาเรียนคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อที่จบมาแล้วจะได้เป็นครู เขาทำตามที่ลุงชี้แนะ แต่จบมาแล้วกลับไม่ได้เป็นครู เพราะไปทำงานเป็นลูกจ้างชั่วคราวที่องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (อสท.) เสียก่อน 

ต่อมาชูเกียรติจึงไปสมัครเป็นพนักงานพิสูจน์อักษรที่สำนักพิมพ์ไทยวัฒนาพานิช แล้วขยับมาเป็นหัวหน้ากองบรรณาธิการ ‘วิทยาสาร’ ซึ่งเป็นนิตยสารสำหรับวงการครู นาน 6 ปี ก่อนจะออกมาทำงานที่การเคหะแห่งชาติในตำแหน่งประชาสัมพันธ์ โดยเป็นผู้เสนอให้มีการออกนิตยสาร ‘บ้าน’ เพื่อเป็นสื่อกลางและให้ความรู้เกี่ยวกับที่อยู่อาศัยแก่คนไทย ที่ในเวลานั้นมีปัญหาขาดแคลนที่อยู่อาศัยเป็นอย่างมาก 

จุดกำเนิด ‘บ้านและสวน’ 

ภายหลังเขาค้นพบว่าตัวเองไม่เหมาะกับระบบราชการและรู้สึกอิ่มตัว จึงลาออกมาพร้อมพรรคพวกจำนวนหนึ่ง ตัดสินใจนำเงินก้นถุงจากการแต่งงาน ที่พ่อตาให้มา 1 แสนบาท แต่เหลือเพียง 5 หมื่นบาท มาเป็นต้นทุนทำนิตยสาร ‘บ้านและสวน’ ฉบับแรกออกวางตลาดในเดือนกันยายน 2519 โดยอาศัยโรงพิมพ์คนอื่น

นิตยสารฉบับนี้ประสบความสำเร็จอย่างดี เพราะมีฐานผู้อ่านจากนิตยสารบ้านอยู่แล้ว ภายใน 2 เดือน ยอดสมาชิกก็ไหลทะลักเข้ามาจำนวนมาก ทำให้นิตยสารฉบับแรกของเขามีเงินทุนเข้ามาถึง 5 แสนบาท 

มีการวิเคราะห์ว่าอีกหนึ่งสาเหตุที่นิตยสารน้องใหม่หัวนี้ออกตัวได้แรง เพราะมันคลอดออกมาในช่วงที่โครงการบ้านจัดสรรรุ่นแรก ๆ กำเนิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งนำไปสู่การขยายตัวของชุมชนใหม่ ๆ ขณะที่ครอบครัวยุคใหม่ก็ไม่ได้ต้องการแค่เพียงบ้านที่ใช้พักอาศัยเท่านั้น แต่ยังต้องการบ้านที่ได้รับการออกแบบและตกแต่งที่สะท้อนตัวตนของพวกเขาด้วย นิตยสารบ้านและสวนจึงตอบโจทย์ผู้อ่านเหล่านี้ได้อย่างพอเหมาะพอเจาะ

สิ่งนี้เองที่ทำให้คนในวงการสิ่งพิมพ์เริ่มมองเห็นแล้วว่า ชูเกียรติเป็นผู้ที่มีความสามารถในการจับกระแสและความต้องการของนักอ่านชนชั้นกลาง ซึ่งเป็นผู้บริโภคสื่อสิ่งพิมพ์กลุ่มใหญ่ในเวลานั้น 

นอกจากจะ Lucky in Game แล้ว ในด้านความรัก ชูเกียรติก็ Lucky เช่นกัน เพราะช่วงเวลานี้เอง ‘เมตตา’ ภรรยาดีกรีนักเรียนนอกของเขา ได้ให้กำเนิดบุตรสาวคนแรก ‘แพร ระริน’ เติมเต็มชีวิตครอบครัวของชูเกียรติให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น 

กู้เงินเปิด ‘โรงพิมพ์อมรินทร์การพิมพ์’

ต่อมาไม่นาน ช่างเรียงพิมพ์ได้ชักชวนให้เขาเปิดโรงพิมพ์เอง เขายอมกู้เงินทรัสต์มา 1.6 ล้านบาท (ส่งต้นส่งดอกรวมแล้วยอดสูงถึง 3 ล้านบาท) เพื่อซื้อที่ดินเชิงสะพานอรุณอมรินทร์เปิดเป็นโรงพิมพ์ในรูปห้างหุ้นส่วนจำกัด ‘อมรินทร์การพิมพ์’ ในปี 2520 และซื้อเครื่องพิมพ์ด้วยระบบเงินผ่อน 

ระหว่างนั้นครอบครัวอุทกะพันธุ์ก็มีสมาชิกใหม่เพิ่มเข้ามาอีก 1 คน คือ ‘เพรา ระพี’ เป็นเวลาเดียวกับที่เขามีแนวคิดทำนิตยสารผู้หญิง ‘แพรว’ โดยให้ ‘สุภาวดี โกมารทัต’ ที่รู้จักกันตั้งแต่ตอนทำกองบรรณาธิการวิทยาสาร มาลุยด้านเนื้อหา และให้ภรรยาออกจากงานสอนหนังสือที่ มศว.ประสานมิตร มาดูแลเรื่องการเงิน 

“ถึงจะให้เกียรติมอบความไว้วางใจให้ดูแลการเงินทั้งหมด แต่ผมก็ต้องปฏิบัติต่อคุณตุ๊ก (เมตตา) ในฐานะเป็นพนักงานคนหนึ่ง เพื่อให้เกิดเอกภาพ และประกอบกับเวลาในการทำงานมันมากกว่าเวลาในชีวิตส่วนตัว เพราะใจมันมุ่งแต่งาน ผมจึงเป็นเผด็จการต่อคุณตุ๊กโดยไม่รู้ตัว โดยความเอาใจใส่ต่อคุณตุ๊กในฐานะภรรยามันน้อยไป แถมเวลาตัวเองเก็บกดจากลูกค้าบางรายหรือเหตุการณ์บางอย่าง ก็มาอาศัยลงที่คุณตุ๊กอีก เพราะถ้าไม่อาศัยลงที่เมียก็ไม่รู้จะไปลงที่ใคร ทำให้คุณตุ๊กต้องทำอีกหน้าที่คือเป็นกระโถนท้องพระโรง ทำให้คุณตุ๊กเก็บกด หน้าชื่นอกตรม” 

ชูเกียรติทุ่มเทให้กับการทำงานถึงขั้นย้ายบ้านมาอยู่ในพื้นที่ติดกับบริษัท แม้แต่ช่วงเวลาบนโต๊ะอาหารกลางวัน ถ้าหากไม่มีแขกพิเศษ ชูเกียรติก็จะคุยแต่เรื่องงานกับเมตตาและสุภาวดี 

ในปีที่ 3 โฆษณาในนิตยสารเริ่มเพิ่มจาก 1 - 2 หน้า เป็น 8 หน้า พอถึงปีที่ 4 จึงเข้าสู่จุดคุ้มทุน ไม่นานชูเกียรติก็ทยอยเปิดนิตยสารหัวอื่น ๆ อีก ไม่ว่าจะเป็นแพรวสุดสัปดาห์, ชีวจิต, Health & Cuisine, National Geographic ฉบับภาษาไทย ฯลฯ 

นอกจากนี้ ยังมีการขยายไปรับจ้างพิมพ์งานจากภายนอก ทั้งยังมีสำนักพิมพ์ในเครืออีก 11 สำนักพิมพ์ ที่ผลิตหนังสือเล่มหรือพ็อกเก็ตบุ๊กประเภทต่าง ๆ 

หนังสือและนิตยสารเหล่านี้ไม่ได้ถูกตีพิมพ์ด้วยเหตุผลด้านการตลาดเพียงอย่างเดียว เพราะชูเกียรติยังคงไม่ละทิ้งความตั้งใจเดิมที่ปรารถนาจะยกระดับปัญญาของคนไทย

อาณาจักรอมรินทร์ที่เติบโตไม่หยุด

เมื่อกิจการขยายตัวขึ้น ชูเกียรติจึงตัดสินใจแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชน เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในปี 2535 และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ‘อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน)’ ในปี 2536

ปีเดียวกันบริษัทได้ขยายกิจการด้านการจัดจำหน่ายโดยตั้งบริษัท ‘อมรินทร์ บุ๊ค เซ็นเตอร์ จำกัด’ และถือหุ้น 40% ของทุนจดทะเบียน ทำหน้าที่ดูแลการจัดจำหน่ายสิ่งพิมพ์ทั้งหมด รวมทั้งจัดตั้งร้านค้าปลีกหนังสือในชื่อ ‘ร้านนายอินทร์’ ที่มีแฟรนไชส์ทั่วประเทศ 

นอกจากทำงานด้านสิ่งพิมพ์ตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ บริษัทของเขายังเป็นเจ้าแรก ๆ ในวงการที่จัดกิจกรรมส่งเสริมการเขียนการอ่านอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการจัดงานสัมมนา งานเปิดตัวหนังสือ ซึ่งนับว่ามีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในสังคมการอ่าน

นอกจากนี้อมรินทร์ยังได้จัดพิมพ์พระราชนิพนธ์ และพระราชนิพนธ์แปลของในหลวงรัชกาลที่ 9 ทุกเล่ม ได้แก่ นายอินทร์ผู้ปิดทองหลังพระ, ติโต, พระมหาชนก และเรื่องทองแดง 

“…ความมุ่งมั่นในชีวิตในการทำงานในส่วนของงานรับจ้างพิมพ์ คือทำอย่างไรจึงจะทำให้ดีที่สุด และทำด้วยความซื่อตรงต่อลูกค้า อย่าเอาเปรียบลูกค้า เพราะเราหางานไม่เก่งเท่าเพื่อนโรงพิมพ์เก่ง ๆ ทั้งหลาย จึงต้องเอาคุณภาพและความซื่อสัตย์ต่อลูกค้าเป็นยุทธศาสตร์สำคัญ และที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ อย่าเอาเงินออกจากบริษัทไปใช้จ่ายอย่างอื่น เพราะเห็นมานักแล้วที่เถ้าแก่เอาเงินไปใช้อย่างอื่น แล้วรักษาธุรกิจของตนไม่ได้ และในส่วนนิตยสารนั้นก็พยายามคิดพัฒนานิตยสารของตนอยู่เสมอ”   

ชูเกียรติผู้มีความประณีตและถ่อมตน

ถึงแม้อมรินทร์จะได้รับการยกย่องว่าเป็นธุรกิจสิ่งพิมพ์ครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ ชูเกียรติยังคงถ่อมตัวอยู่เสมอ เขาเคยให้สัมภาษณ์ว่า “ถ้าเรียกอมรินทร์เป็นยักษ์ใหญ่ก็แสดงว่าตลาดสิ่งพิมพ์เรายังเล็กอยู่มากทีเดียวนะ ไซซ์ของอมรินทร์เรามียอดขายทั้งหมดปีหนึ่งประมาณหนึ่งพันล้านบาท” 

เขายังเคยกล่าวถึงอุดมการณ์การทำงานของตัวเองว่า “งานของอมรินทร์ เป็นงานที่ไม่หยุดนิ่ง มีพัฒนาการในตัวของมันเองมาโดยตลอด เราอาจไม่ได้เน้นเรื่องการแข่งขัน ไม่ได้เน้นเรื่องของกำไร แต่เราเน้นเรื่องที่ว่ามันเป็นสาระเป็นอะไรที่รื่นรมย์แก่ผู้อ่าน เมื่อเป็นอย่างนี้ เราก็ประณีตในการผลิต ไม่ว่าเรื่องแปล การปรู๊ฟ การพิมพ์ อะไรต่าง ๆ คือใส่ใจให้มีความประณีต เพราะฉะนั้นก็เลยมีบุคลิกที่ค่อนข้างโดดเด่นขึ้น แต่เราก็มีข้อบกพร่องหลายเรื่องหลายอย่าง ซึ่งเราก็ต้องหาวิธีพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ” 

ผลงานที่เป็นอานิสงส์จากมะเร็ง

เพราะการทำงานหนักและจริงจังกับงานนี้เอง ที่อาจเปิดช่องให้ศัตรูร้ายเข้ามาในร่างกายของชูเกียรติ ปี 2539 เขาเริ่มสังเกตว่า เวลากินไวน์มาก ๆ มักจะเป็นร้อนในหรือแผลเป็นในปาก จึงให้หมอส่องกล้องดูจนพบก้อนเนื้อในลำไส้ ซึ่งเมื่อตัดชิ้นเนื้อไปพิสูจน์ก็พบว่าเป็นมะเร็ง จึงตัดสินใจเข้ารับการผ่าตัด 

ชูเกียรติเคยให้สัมภาษณ์นิตยสารแพรว ฉบับวันที่ 10 กันยายน 2542 ว่า “คนเราพอเป็นมะเร็งถึงขนาดนี้ มันก็เหมือนผ่านความตายแล้วนี่ ก็อย่าไปคาดหวังอะไรมาก ทำหน้าที่ของเราในวันนี้ให้สมบูรณ์และไม่เป็นหนี้ใครก็พอ”

แม้จะถูกรุมเร้าด้วยโรคมะเร็ง แทนที่ชูเกียรติจะย่อท้อ ช่วงที่เข้า ๆ ออก ๆ โรงพยาบาล กลับเป็นช่วงที่เขามีผลงานต่าง ๆ ออกมามากมาย หนึ่งในนั้นคือ นิตยสารเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก ฉบับภาษาไทย ซึ่งเขาใฝ่ฝันอยากจะทำมาหลายปี โดยไม่ได้เน้นที่รายได้งาม ๆ แต่มีความปรารถนาอยากให้คนไทยได้อ่านหนังสือดีมีคุณภาพ

“เราตั้งใจจะทำหนังสือดี ๆ อุทิศให้กับผู้อ่าน ถ้าเนชั่นแนล จีโอกราฟฟิก อยู่ไม่ได้ ต้องเจ๊งไป ก็ไม่ต้องทำหนังสือกันต่อไปแล้ว” ชูเกียรติกล่าวกับคนใกล้ตัว 

ในที่สุดความตั้งใจดีของชูเกียรติก็ไม่สูญเปล่า นิตยสารฉบับนี้ประสบความสำเร็จโดยมียอดขายสูงสุดและจำนวนสมาชิกสูงอย่างชนิดที่ไม่มีนิตยสารฉบับไหนทำได้มาก่อนเลยในตอนนั้น 

หลังการผ่าตัดผ่านไปประมาณ 1 ปี หมอก็ตรวจพบก้อนเนื้อในปอดของเขา แต่ครั้งนี้เขาเลือกสู้ด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันให้ตัวเองด้วยการกินอาหารเพื่อสุขภาพตามแนวทางชีวจิต และปรับเปลี่ยนไปกินข้าวกล้อง กินผักผลไม้เป็นหลัก ลดอาหารหวาน อาหารมัน ออกกำลงกาย ฝึกผ่อนคลายจากความเครียด ซึ่งได้ผลเกินคาด อาการของเขาดีวันดีคืน แข็งแรงขึ้น 

เขารู้ตัวว่าตัวเองมาถูกทาง เมื่อตรวจร่างกายในเวลาต่อมาแล้วไม่พบก้อนเนื้ออีก จากนั้นทั้งตัวเขาและครอบครัวจึงเปลี่ยนมากินอยู่แบบชีวจิตด้วยกัน และหวังจะเผยแพร่แนวคิดสุขภาพอันเป็นประโยชน์แก่สังคม ด้วยการผลิตนิตยสารชีวจิตและหนังสือเล่มเกี่ยวกับสุขภาพที่มีคุณภาพอีกหลายต่อหลายเล่ม รวมทั้ง Health & Cuisine 

ผลงานอันเป็นอานิสงส์แห่งความเจ็บป่วยได้ช่วยปลุกกระแสให้คนไทยหันมาตื่นตัวเรื่องการแพทย์ทางเลือก และการดูแลสุขภาพแบบองค์รวม 

เขียนหนังสืองานศพตัวเอง

แต่เมื่อเซลล์มะเร็งเกิดขึ้นแล้ว มันก็มีสิทธิ์กลับมาอีกเมื่อไรก็ได้ ปี 2544 มะเร็งกลับมาในร่างกายชูเกียรติอีกครั้ง ครั้งนี้ขึ้นไปที่สมอง ซึ่งเป็นอาการที่ยากจะเยียวยา แต่เขายังคงมีกำลังใจที่ดี และใช้หลักธรรมในการประคองสติ 

ช่วง 2 เดือนที่ชูเกียรติพักรักษาตัว เขาได้เขียนหนังสืออัตชีวประวัติของตัวเอง ตั้งแต่ต้นตระกูล วัยเด็ก การทำงาน ความรักและครอบครัว ความเจ็บป่วยและการรักษาต่าง ๆ ในชื่อ ‘มะเร็งขึ้นสมอง’ หนาเกือบ 200 หน้า แบ่งเป็น 52 บท จัดพิมพ์เพื่อมอบแก่คนใกล้ชิดและพนักงานในเครือ เขาตั้งใจเขียนหนังสือเล่มนี้เพื่อมอบเป็นอนุสรณ์ในงานศพของตัวเองด้วย โดยในคำชี้แจงระบุว่า “หนังสือแจกงานศพอีกเล่มหนึ่ง ต่างแต่อาจจะแจกก่อนตาย เวลาตายจะได้ไม่เดือดร้อนคนอยู่ข้างหลังที่ต้องลุกขึ้นมาทำหนังสืองานศพอีก” 

ในหนังสือเล่มนี้ มีข้อความที่เขาได้เขียนฝากถึงญาติสนิทมิตรสหายและเพื่อนร่วมงานในบริษัทว่า “ยิ่งฉลาดมากเท่าไร ยิ่งรู้มากขึ้นเท่าไร ขออย่าให้ความโลภเข้ามาครอบงำปัญญาของตน ขอให้พัฒนาสติให้ทันปัญญา ให้สติคุมปัญญาให้ได้ ขอให้เป็นไม้ใหญ่ที่รากลึกและลำต้นแข็งแรง ให้ความสำคัญต่อรากและลำต้นด้วย อย่าดูแต่ยอดไม้ว่าสูงกว่าเขาหรือเปล่า อย่าโตแบบกลวง ๆ ซึ่งโดนลมแรงเข้าวันใดก็โค่นล้มไป” 

บทสุดท้ายของหนังสือเล่มนี้ ชูเกียรติกล่าวไว้ว่า “ทางรอดของชีวิตเหมือนการสาวเชือกบาง ๆ ให้ลอดรูเข็มไปได้ ถ้าผมสอดเส้นชีวิตผ่านรูเข็มมาไม่ได้ นั่นก็เป็นธรรมชาติของสรรพสิ่งที่มีอายุขัยของมัน เส้นด้ายแห่งชีวิตที่เปื่อยผุ ก็อาจใช้ประโยชน์อะไรอีกไม่ได้ ไม่สามารถถักทอเป็นผืนผ้าร่วมกับเส้นด้ายอื่น ๆ แต่ถ้าทำได้ก็อาจจะเกิดผ้าผืนใหม่ที่วิจิตรบรรจงอย่างที่ไม่เคยทำได้มาก่อน

“เจ็บป่วยคราวนี้จึงทำให้ผมสบายใจ ได้ค้บพบธรรมะที่สอดคล้องทั้งกับการรักษาสุขภาพ และสอดคล้องกับการเดินหน้าทำธุรกิจให้แข็งแรง เติบใหญ่ สร้างความสุขและความรุ่งโรจน์ให้แก่สังคม ด้วยการประสานโพชฌงค์เข้ากับชีวิต สุขภาพ การพัฒนางาน เป็นความปีติล้ำลึกที่ได้มาจากความเจ็บป่วย จึงได้ตั้งใจเขียนหนังสือเล่มนี้ให้แก่เพื่อนร่วมงานทุกคน ฝากให้เป็นแนวทางหรือปรัชญาในการดำรงอยู่ของเราตลอดไป แม้หากจิตของผมจะพาร่างกายลอดรูเข็มออกมาได้อย่างยากเย็นแค่ไหนหรือไม่ก็ตาม”

หลังต่อสู้กับมะเร็งนาน 7 ปี ในช่วงสุดท้ายของชีวิต ชูเกียรตินอนพักรักษาตัวเงียบ ๆ ในบ้าน กับครอบครัวที่อบอุ่น กระทั่งกลางดึกของคืนวันที่ 10 ธันวาคม 2545 ชูเกียรติได้จากไปอย่างสงบ ด้วยวัยเพียง 60 ปี ปิดฉากเจ้าของตำนานธุรกิจสิ่งพิมพ์ครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และเจ้าของวิสัยทัศน์ที่แหลมคมและยาวไกล

“ที่อมรินทร์เกิดขึ้นและมาจนถึงวันนี้เพราะผมไม่ได้มองอมรินทร์เป็นสมบัติของตัวเองหรือของครอบครัว ผมคิดว่าอมรินทร์เป็นส่วนหนึ่งของสังคม ความเป็นอมรินทร์ ผมว่ามันมีชีวิต” 

 

ภาพ : แฟ้มภาพชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ จากเนชั่นสุดสัปดาห์ ประกบภาพรูปปั้นชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ จากเว็บไซต์ amarin.co.th

อ้างอิง :
โบรกฯคาด ‘อมรินทร์’ ไร้ปัญหาทายาทสืบทอด 3 สายงานหลัก./กรุงเทพธุรกิจ,/2545
ดำรงค์ บุตรดี./ขอแสดงความอาลัยกับการจากไปของ ‘ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์’./กรุงเทพธุรกิจ,/2545
มะเร็งคร่าชีวิต ‘ชูเกียรติ’ เจ้าแห่งตำนานสิ่งพิมพ์ครบวงจร./กรุงเทพธุรกิจ,/2545
จุมพฎ สายหยุด./‘ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์’ คุณูปการ และมรดก./กรุงเทพธุรกิจ,/2545
คนกินข่าว./อินทรีแห่งธุรกิจสิ่งพิมพ์./กรุงเทพธุรกิจ,/2545
มะเร็งคร่า ‘ชูเกียรติ’ เจ้าของอมรินทร์ฯ./คมชัดลึก,/2545
“ความเป็นอมรินทร์ ผมว่ามันมีชีวิต” ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์./เนชั่นสุดสัปดาห์,/2545
บทบรรณาธิการ NATIONAL GEOGRAPHIC ฉบับภาษาไทย./ NATIONAL GEOGRAPHIC ฉบับภาษาไทย,/2546
ด้วยความอาลัยยิ่ง./HEALTH & CUISINE,/2546
อาลัย ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ กับการสูญเสียครั้งสำคัญของวงการสิ่งพิมพ์เมืองไทย./แพรว,/ปีที่ 24 ฉบับที่ 560,/2545
ธนาคม พจนาพิทักษ์./ด้วยรักและศรัทธา “ชูเกียรติ อุทกะพันธุ์”./ชีวจิต,/ปีที่ 5 ฉบับที่ 102,/2546