12 ม.ค. 2567 | 17:39 น.
- สกี้ตี๋น้อย เปิดสาขาแรก ณ ย่านบางเขน โดย ‘เฟิร์น - นัทธมน พิศาลกิจวนิช’ เป็นผู้ก่อตั้ง
- จากร้านสุกี้เล็ก ๆ ตอนนี้สกุี้ตี๋น้อยมีสาขา 55 แห่ง ทำรายได้ไปกว่า 4,000 ล้านบาท และกำลังยื่นจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ
- เคล็ดลับอะไรที่ทำให้ร้านแห่งนี้เติบโตเร็ว ติดอันดับแบรนด์ดัง ไปค้นคำตอบจากบทความนี้
ว่ากันว่าการก้าวสู่ความสำเร็จนั้นเป็นเรื่องยาก แต่ยากยิ่งกว่า คือ จะทำอย่างไรถึงจะรักษาความสำเร็จที่สร้างมาให้เดินหน้าต่อได้ในระยะยาว ซึ่งนั่นเป็นโจทย์หินที่หลายคนต้องเผชิญ
เช่นเดียวกับ ‘เฟิร์น - นัทธมน พิศาลกิจวนิช’ ที่วันนี้ได้พา ‘สุกี้ตี๋น้อย’ เดินบนถนนสายธุรกิจเข้าสู่ขวบปีที่ 7 โดยเปลี่ยนจากร้านสุกี้เล็ก ๆ ย่านบางเขน ให้กลายเป็นเชนใหญ่ที่มีสาขาประมาณ 55 แห่ง ทำรายได้กว่า 4,000 ล้านบาท รวมถึงกำลังเตรียมตัวจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
และจากการที่เธอสร้างแบรนด์สุกี้ตี๋น้อยให้เติบโตและประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็ว ทั้ง ๆ ที่ตอนเริ่มต้นธุรกิจอายุเพียง 25 ปี ทำให้เธอได้รับฉายา ‘สาวน้อยมหัศจรรย์แห่งวงการธุรกิจ’
จึงน่าสนใจว่า การก้าวสู่ปีที่ 7 ภายใต้การแข่งขันที่ดุเดือดและความท้าทายมากมาย เฟิร์น - นัทธมนจะพาสุกี้ตี๋น้อยเดินหน้าต่อไปในทิศทางใด รวมถึงการเจาะลึกถึงแนวคิดที่ทำให้เธอประสบความสำเร็จได้อย่างรวดเร็ว และอีกหลายประเด็นน่าสนใจ อย่างคำถามที่ว่า เธอกลัวคำว่า ‘ล้มเหลว’ หรือไม่
“ถ้าพูดถึงตัวแบรนด์ ช่วง 1 - 2 ปีที่ผ่านมาถือเป็นช่วงพีกที่สุดของสุกี้ตี๋น้อย และกำลังดูว่าแบรนด์จะไปในทิศทางใด จะเห็นคนต่อคิวอีกนานหรือไม่ ส่วนจำนวนสาขาและรายได้เชื่อว่าจะยังเติบโตไปได้เรื่อย ๆ” เฟิร์น - นัทธมน พิศาลกิจวนิช CEO บริษัท บี เอ็น เอ็น เรสเตอรองท์ กรุ๊ป จำกัด ผู้ก่อตั้งสุกี้ตี๋น้อย เล่าให้เราฟัง
วางเป้าหมายให้ชัด และอย่ากลัวที่จะลงมือทำ
ณ วันเริ่มต้นทำสุกี้ตี๋น้อย เป้าหมายของเธอตอนนั้นคือ ต้องการจะประสบความสำเร็จ มีความมั่นคงในชีวิตเพื่อให้สามารถดูแลครอบครัวได้ในอนาคต เนื่องจากเธอได้ยินได้เห็นเรื่องราวการสู้ชีวิตของพ่อแม่ที่ต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วย จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาทำร้านสุกี้ตี๋น้อย โดยเปิดสาขาแรกที่บ้านบางเขน ร้านอาหารเดิมของครอบครัว
การตอบรับในสาขาแรกแม้ไม่ได้โด่งดังเป็นที่รู้จักอะไรมากนัก แต่สำหรับเฟิร์น - นัทธมนแล้ว นับเป็นก้าวแรกที่ทำให้เดินไปสู่เป้าหมาย ก่อนจะตามมาด้วยการขยายสาขาเพิ่มกระทั่งเติบโตอย่างที่เราได้เห็นในปัจจุบัน ซึ่งการเดินมาถึงจุดนี้ได้ หลัก ๆ เธอบอกว่ามาจาก ‘การวางเป้าหมายชัดเจน และอย่ากลัวที่จะลงมือทำ’
“เฟิร์นเป็นคนรู้ตัวเองตั้งแต่เด็กว่าชอบอะไรแล้วจะโฟกัสกับสิ่งนั้น เช่นเดียวกับที่มีเป้าหมายชีวิตต้องการประสบความสำเร็จ แล้วรู้ว่าการทำงานประจำไม่ตอบโจทย์ที่ต้องการ และไม่เหมาะกับตัวเองเพราะไม่ท้าทาย ก็ตัดสินใจลาออกมาลงมือทำสิ่งที่จะให้บรรลุเป้าหมายดีกว่า
“อีกอย่างต้องไม่กลัว เช่น ตอนเปิดสุกี้ตี๋น้อยสาขา 5 ที่ Paseo กาญจนาภิเษก อันนั้นเป็นอีกจุดเปลี่ยนของเรา เพราะเป็นการออกจาก Comfort Zone ของตัวเอง ไปเช่าพื้นที่ใน Community Mall เป็นครั้งแรกหลังจากเดิมเราจะเปิดสาขาในที่ที่ของตัวเองตามย่านลาดพร้าวและบางเขน ซึ่งถามว่าเสี่ยงไหม ก็เสี่ยง แต่เรามองเป็นจุดสร้างแบรนด์ให้เราเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ก็ตัดสินใจ และสุดท้ายก็ไปได้”
หรืออย่างในปัจจุบันที่นอกจากสุกี้ตี๋น้อยแล้ว ยังได้เห็นเธอต่อยอดแบรนด์ไปสู่ร้านอาหารรูปแบบอื่น ไม่ว่าจะเป็น ‘ข้าวแกง ตี๋น้อยปันสุข’ ร้านข้าวแกงราคาเป็นมิตร ขายกับข้าว 1 อย่างราคา 39 บาท กับข้าว 2 อย่างราคา 45 บาท ฯลฯ และ ‘ตี๋น้อย เอ็กซ์เพรส’ บุฟเฟต์สุกี้ที่ยกระดับมาจากสุกี้ตี๋น้อย
“การเปิดแบรนด์ใหม่เมื่อเทียบกับสุกี้ตี๋น้อยที่เรารู้อยู่แล้วว่าอย่างไรก็ประสบความสำเร็จ ถามว่าเสี่ยงจะล้มเหลวไหม คำตอบคือเสี่ยงแน่นอน เตรียมใจไว้ไหม ก็เตรียมไว้เผื่อผลตอบรับลูกค้าไม่เป็นอย่างที่เราคิด แต่ไม่กลัวนะเพราะทำเต็มที่แล้ว ถ้า fail จริง ๆ จะรู้ว่าต่อไปจะทำอะไร ไม่อะไร ดีกว่ามีโอกาสแล้วไม่ลอง ไม่กล้าเรียนรู้ที่จะทำ”
เสี่ยงมาก ได้มาก มีอยู่จริง
นอกจากการวางเป้าหมายชัดเจน และอย่ากลัวที่จะลงมือทำแล้ว อีกสิ่งที่ทำให้สุกี้ตี๋น้อยสามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว ก็คือการกล้าเสี่ยง โดยเมื่อเห็นโอกาสมาปุ๊บ เธอจะเข้าไปจับทันที ไม่ต้องรอให้ทุกอย่างพร้อมแบบ 100%
“ทุกธุรกิจเสี่ยงอยู่แล้ว ถ้ายังกลัวหรือรอให้หน้าบ้านและหลังบ้านพร้อม เราอาจจะเปิดได้ปีละ 1 สาขา ในทางกลับกัน เมื่อเรากล้า อย่างที่เห็นทำให้ขยายสาขาได้เร็ว บางปีเป็นสิบแห่ง ต้องบอกว่าเสี่ยงมาก แต่ก็ได้มากเช่นกัน
“มันอาจจะล้มก็ได้ แต่ด้วยความใส่ใจของเรา ความทุ่มเททำงานหนัก และลงดีเทลไม่ปล่อยปละละเลย จะสามารถลดความเสี่ยงนั้นได้ และจะมีโอกาสในการประสบความสำเร็จมากกว่าการไม่ทำอะไรเลย แล้วถ้า fail ก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวไปเรียนรู้จากมัน”
ชีวิตคือการเรียนรู้
ส่วนความสำเร็จที่เกิดขึ้นของสุกี้ตี๋น้อย เธอยืนยันว่าไม่มีความมหัศจรรย์อะไรทั้งนั้น ทุกอย่างมาจากที่ทุ่มเทและทำงานหนัก ซึ่งเป็นสิ่งที่เธอทำตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ โดยวางให้สุกี้ตี๋น้อยเป็น priority ที่สุดของชีวิต
อย่างตอนเริ่มต้นทำธุรกิจ เธอยกเวลาในแต่ละวันให้การทำงานถึง 90% คืออยู่ที่ร้านทุกวัน ไม่ไปไหนเลย และลงมือทำเองทุกอย่างตั้งแต่เสิร์ฟ จัดเตรียมอาหาร ไปซื้อวัตถุดิบเอง ขณะที่ตอนนี้แม้ร้านจะเติบโตและมีชื่อเสียง เธอก็ยังทำงานขั้นต่ำ 12 - 16 ชั่วโมงต่อวัน
ขณะที่หลายคนอาจจะมองเธอเป็น Role Model ของคนรุ่นใหม่ที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก แต่เฟิร์น - นัทธมน ไม่ได้มองว่าตัวเองเดินมาถึงจุดนั้นแล้ว และคิดว่าไม่ใช่ในเร็ว ๆ นี้ เพราะการจะประสบความสำเร็จจริง ๆ สำหรับเธอคือต้องสามารถเติบโตอย่างยั่งยืน และนั่นเป็นความท้าทายในอนาคตที่ต้องไปให้ถึง
ที่สำคัญหากคิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จแล้ว จะทำให้เราไม่เรียนรู้ ซึ่งส่วนตัวเธอมองว่า ตัวเธอเองยังต้องเรียนรู้และเก็บเกี่ยวประสบการณ์อีกมากมาย เพราะอายุแค่ 31 ปี ยังผ่านอะไรมาไม่มากพอ
“6 ปีที่ผ่านมา สุกี้ตี๋น้อยมีการขยายสาขาที่ค่อนข้างไว และมีการเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่หากให้มองตัวเองเรื่อง success ตอนนี้มองตัวเองประสบความสำเร็จแค่ 30% เพราะเวลาไปเรียนเจอผู้บริหารต่าง ๆ รู้สึกตัวเองอ่อนประสบการณ์มาก เขามีอะไรมาแชร์มากมาย ส่วนเฟิร์นแชร์อะไรไม่ค่อยได้ และที่ผ่านมามีประสบการณ์แบบลูกทุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ต้องเรียนรู้อีกเยอะ”
หาตัวเองให้เจอ อย่าไปเปรียบเทียบกับใคร
สำหรับคนรุ่นใหม่ที่กำลังค้นหาทางของตัวเอง เธอแนะนำว่า ประเด็นแรก ‘ต้องค้นหาตัวเองให้เจอ’ ว่าชอบอะไร มีเป้าหมายชีวิตเป็นอย่างไร เช่นตัวเธอนั้นรู้ตัวเองดีว่า ไม่เหมาะกับงานประจำเลย เพราะไม่ได้สร้างความท้าทายให้กับเธอ และหากยังเดินตามเส้นทางเดิมก็ไม่มีวันประสบความสำเร็จได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำและมาเริ่มต้นทำธุรกิจของตัวเอง
ถัดมา ‘อย่าไปเปรียบเทียบกับใคร’ เนื่องจากความสำเร็จของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจอยากประสบความสำเร็จด้วยการเติบโตในสายงานที่ตัวเองทำงาน ซึ่งทุกงานที่ทำล้วนสามารถเติบโตและสร้างรายได้ให้แต่ละคนได้อยู่แล้ว ขอแค่มีเป้าหมายชัดเจน
สุดท้ายสำคัญมาก คือ ต้องลงมือทำให้เกิดขึ้นจริง อย่ามัวแต่คิด
“คุณพ่อคุณแม่เฟิร์นสอนมาว่า มันไม่มีอะไรที่ได้มาง่าย ๆ ไม่มีทางที่เราจะอยู่เฉย ๆ แล้วได้สิ่งที่ต้องการมา ดังนั้นต้องลงมือทำเพื่อให้มันเกิดขึ้น อย่างตอนเรียนเฟิร์นรู้ว่าชอบวิชาอะไร แล้วก็เรียนไปตามนั้น ลองแล้วชอบก็โฟกัส อยากทำอะไรก็ทำเลย ลองให้รู้ ถ้าพลาดก็นำมาเป็นบทเรียน”
มาถึงช่วงท้ายของการสนทนา เราถามเธอว่า กลัวความล้มเหลวหรือไม่
เธอนิ่งคิดก่อนจะตอบว่า ไม่มีใครอยากล้มเหลว แต่ควรนำความกลัวนั้นมาเป็นแรงผลักดันให้มองหาโอกาสได้ และคิดให้ครบ 360 องศา นอกจากนี้ยังมองว่า ถ้าล้มเหลวก็มีโอกาสได้เรียนรู้ว่า ผิดพลาดตรงไหน และหากตอบสนองไว จะทำให้รู้ว่าปัญหาเกิดจากอะไร และทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดขึ้นอีก
“เราเคยเปิดร้านหนึ่งแล้วไม่ประสบความสำเร็จ เฟิร์นก็ไม่ได้อะไรนะ แค่เรียนรู้ว่าจะไม่ทำแบบนี้อีก ส่วนความเสี่ยงมันเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจ อย่างตอนนี้ร้านอาหารเต็มไปหมดเลย มันเป็นธรรมชาติของธุรกิจ เพราะต้องยอมรับว่า ไทยเป็นประเทศที่ทำร้านอาหารได้ง่ายมาก
“เพียงแต่แทนที่จะนำเรื่องนี้มาเป็นความกลัว ความกังวล ควรจะนำมาเป็นตัวขับเคลื่อนและเป็นไฟจุดประกายให้ตัวเองต้องทำงานหนักมากขึ้น ทำให้สุกี้ตี๋น้อยจะอยู่เฉยไม่ได้ ต้องพยายามทำอะไรใหม่ ๆ มาเรื่อย ๆ”
.
ภาพ : กัลยารัตน์ วิชาชัย ,สุกี้ตี๋น้อย