‘ชานนท์ เรืองกฤตยา’ CEO แห่ง อนันดาฯ กับวิถีคิดผู้นำต้องมี ‘จุดยืน’ และ ‘รู้เป้าหมาย’ เสมอ

‘ชานนท์ เรืองกฤตยา’ CEO แห่ง อนันดาฯ กับวิถีคิดผู้นำต้องมี ‘จุดยืน’ และ ‘รู้เป้าหมาย’ เสมอ

ถอดวิธีคิด ‘ชานนท์ เรืองกฤตยา’ แม่ทัพแห่ง บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารหนุ่มไฟแรงแห่งวงการอสังหาฯ กับความเชื่อที่ว่า ผู้นำต้องมี ‘จุดยืน’ และ ‘รู้เป้าหมาย’ เสมอ

  • ‘ชานนท์ เรืองกฤตยา’ เป็น CEO ของบมจ. อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ และได้รับการยอมรับว่า เป็นผู้บริหารหนุ่มไฟแรงแห่งวงการอสังหาฯ
  • ณ ตอนนี้เขากำลังเผชิญความท้าทายจากกรณีแอชตัน อโศก ซึ่งบทสรุปยังไม่รู้จะเป็นอย่างไร และเราอยากพาไปรู้จักตัวตน และแนวคิดในการทำธุรกิจของเขา 

แอชตัน อโศก คือหนึ่งในเมกะโปรเจกต์ของ ‘บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน)’ ที่ต้องการสร้างที่พักอาศัยขนาดใหญ่ ใจกลางเมือง เดินทางสะดวกทะลุได้หลายเส้นทาง แต่ด้วยการก่อสร้างบางส่วนที่ละเมิดกฎหมาย ทำให้ปัจจุบันยังมีปัญหาคาราคาซังว่า จะต้องทุบหรือไม่ทุบ ขณะที่ลูกบ้านเองก็พักอาศัยกันอยู่เกือบเต็มทุกยูนิต

ภายใต้ความไม่ชัดเจนนี้ แอชตัน อโศก จะฝ่าวิกฤตไปอย่างไร อาจจะต้องรอติดตามกันต่อไป… ทว่าวันนี้ The People อยากชวนผู้อ่านมาทำความรู้จัก ‘ชานนท์ เรืองกฤตยา’ แม่ทัพแห่ง บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ซีอีโอหนุ่มวัยย่างห้าสิบปีที่ปลุกปั้นเรียลเอสเตทแห่งนี้มากับมือเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน 

พลิกฟื้นธุรกิจครอบครัว ก่อนก่อร่างสร้าง ‘อนันดา’

ชานนท์ เรืองกฤตยา เริ่มก่อตั้ง บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ในปี พ.ศ. 2542 เขาเป็นลูกชายคนโตของ ‘เข็มทอง’ และ ‘ชนัฏ เรืองกฤตยา’ ที่เป็นที่รู้จักกันดีในฐานะนักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ยุคแรกของไทย

การเป็นลูกของคนดังแห่งวงการอสังหาฯ ทำให้ชานนท์เติบโตในไซต์ก่อสร้างตั้งแต่อายุ 5 - 6 ขวบ และได้ Learning by doing ตั้งแต่เด็ก ส่วนการศึกษา เขาจบระดับปริญญาตรี จากคณะเศรษฐศาสตร์ ที่ University of California at Berkeley, U.S.A. และปริญญาโทด้านการเงินและการบัญชีระหว่างประเทศ จาก London School of Economics

หลังจากจบการศึกษาในวัย 27 ปี ในยุคที่ต้มยำกุ้งกำลังกลืนกินเศรษฐกิจไทย เขาได้กลับมาช่วยฟื้นกิจการและพัฒนาธุรกิจครอบครัวอันได้แก่ สนามกอล์ฟ กรีนวัลเลย์ และโครงการบ้านจัดสรรพรีเมียม วิลมิลด์ ย่านบางนา-ตราด

เขาเคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า ในยุคที่เขาเรียนจบใหม่ ๆ ธุรกิจที่บ้าน ‘เข้าสู่อุโมงค์มืดมิด’ ภารกิจการฟื้นกิจการของที่บ้านทำให้เขาต้องขุดความรู้ทางการเงินที่เรียนมาใช้ปรับโครงสร้างหนี้ถึง 3 ปี พร้อมกับต้องสร้างความน่าเชื่อถือและสร้างเครดิตต่อธนาคาร

เมื่อฟื้นธุรกิจที่บ้านได้แล้ว มุมมองการทำธุรกิจของเขากับครอบครัวไม่ตรงกันเท่าไร นั่นคือจุดกำเนิดของการก่อตั้งบริษัทอสังหาฯ ของตัวเองอย่าง บริษัท อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ที่เรารู้จักกันดีในทุกวันนี้ โดยที่เขายื่นกู้ธนาคารและเสนอแผนการตลาด แผนการเงิน ด้วยตัวเองทั้งหมด

โครงการแรกของอนันดา เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2550 ภายใต้ชื่อ ‘ไอดีโอ ลาดพร้าว 17’ หนึ่งในทำเลทองในยุคนั้น และต่อมาอนันดาได้ทำเลทองติดรถไฟฟ้าอีกหลายแห่ง และพัฒนาอีกหลายโครงการขึ้นมาเป็นที่ติดตลาด โดยจากการสำรวจเมื่อปี 2566 อนันดาฯ มีมูลค่าอยู่ที่ 3.29 พันล้านบาท และชานนท์ คือผู้ถือหุ้นเบอร์ 1 ด้วยสัดส่วน 33.34%

ผู้นำที่ ‘รู้จุดยืน’ และ ‘มีเป้าหมาย’ เสมอ

ชานนท์เคยได้ชื่อว่าเป็น ‘เลือดใหม่แห่งวงการอสังหาฯ ไทย’ เป็นผู้บริหารหนุ่มไฟแรง ซึ่งหากย้อนกลับเมื่อสิบปีที่แล้ว เขาเคยให้สัมภาษณ์กับรายการ ‘วู้ดดี้ เกิดมาคุย’ ว่า ตอนทำคอนโดฯ ไอดีโอสาขาแรก เขาต้องเผชิญกับความไม่มั่นใจจากผู้ใหญ่หลายคน ซึ่งเป็นเหมือนแรงกดดันก้อนใหญ่ แต่สุดท้ายก็ลุล่วงไปได้ด้วยดี

กลยุทธ์ทั้งหมดที่เขาทำ เป็นสิ่งที่ไม่เคยอยู่ในตำราเรียนมาก่อน เพราะเขาจบด้านการเงิน และการทำธุรกิจต้องใช้ความรู้การบริหาร การตลาด ซึ่งเป็นเรื่องที่เขาอาจจะไม่ได้รู้เยอะ แต่สำคัญคือเขา ‘รู้’ ว่าความต้องการของตลาดเป็นอย่างไร รวมถึงการสร้างความแตกต่างให้กับวิถีชีวิตคนเมืองในช่วงเวลานั้น ทำให้มันกลายเป็นจุดแข็งของโครงการเครืออนันดา

สิ่งสำคัญที่นำความสำเร็จมาให้ คือ ต้อง ‘รู้จุดยืนของตัวเองให้ชัดเจน’ ‘มีสมาธิ’ ‘มีจิตใจที่เข้มแข็งเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมายของตัวเองให้ได้’

ในวัยย่าง 50 ปี วิธีคิดของชานนท์น่าสนใจเพิ่มมากขึ้น เขาได้ให้สัมภาษณ์กับรายการ Health is the New Wealth ว่า อยากมีชีวิตอายุยืนถึง 120 ปี จึงมีระเบียบกับชีวิต ทั้งเรื่องการกิน การนอน การออกกำลังกาย เพื่อให้ตัวเองมีชีวิตไปถึงจุดนั้นได้ ซึ่งการที่อยากจะอายุยืนยาวถึงขนาดนั้น แน่นอนว่าการมีเป้าหมายในชีวิตเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่ง

โดยเขาต้องการสร้าง positive impact ด้วย leadership (ภาวะผู้นำ) ในแบบของตัวเอง เขาเชื่อว่าทั้งความสามารถและประสบการณ์ที่สั่งสมมาเกือบ 50 ปี จะถ่ายทอดให้กับคนรุ่นใหม่ช่วยกันสร้างสังคมที่ดีขึ้นได้ นอกจากนั้น เขาอยากจะผลักดันให้ลูกเป็น social impact entrepreneur ในอนาคต

“การที่หาเงินและไม่มีเข็มทิศคุณธรรมว่าอะไรถูกผิด มันง่ายมากที่มนุษย์จะอยู่ในวงจรนั้น ผมไม่เห็นด้วยกับวงจรเศรษฐกิจที่สร้างมนุษย์แบบนี้ มันไม่มีความพอ … มันไม่มีวันสิ้นสุด ทำอย่างไรให้ผูกจิตเรากับเป้าหมายมากกว่านั้น มันไม่ได้เกี่ยวกับคุณต้องกินใช้เท่าไร แต่อยู่ที่ว่าคุณมีเป้าหมายหรือเปล่า … การที่เราอยากอายุยืนหรือ hack ตัวเองเนี่ยมันเริ่มต้นจากที่เรามีเป้าหมาย” ชานนท์ให้สัมภาษณ์กับทางรายการ

สะดุดเพราะแอชตัน อโศก?

ชื่อของชานนท์มักจะต้องพ่วงมาด้วยชื่อของ ‘แอชตัน อโศก’ มูลค่า 6,481 ล้านบาท ซึ่งเป็นประเด็นร้อนแห่งทศวรรษ…

มาอัปเดตกันทิ้งท้ายเล็กน้อยดีกว่าว่า ปัจจุบันความคืบหน้าโครงการนี้เป็นอย่างไรบ้าง?

อย่าลืมว่านี่คือ คอนโดฯ สุดฮอตที่ขายหมดและมีคนเข้าไปอยู่จริงแล้ว แต่ทว่าการที่ กทม. อนุญาตให้ก่อสร้างนั้นเป็นการกระทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้เกิดการฟ้องร้องจากประชาชนในพื้นที่ในเวลาต่อมา

ประเด็นสำคัญที่ทำให้ศาลฎีกาในท้ายสุดสั่งให้รื้อถอนคอนโดฯ ก็คือ ทางเข้า-ออกของคอนโดฯ ยังไม่เป็นไปตามกฎหมายกำหนด แม้จะมีความกว้างตามกฎหมายกำหนดคือไม่น้อยกว่า 12 เมตร ติดถนนสาธารณะที่มีเขตทางกว้างไม่น้อยกว่า 18 เมตร ยาวต่อเนื่องกัน และที่ดินนั้นต้องว่างเพื่อสามารถใช้เป็นทางเข้า-ออกของรถดับเพลิงได้โดยสะดวก

ทว่ากรณีของแอชตัน อโศก แม้ถนนทางเข้า-ออกจะกว้างถึง 13 เมตร แต่ดันเป็นถนนที่เช่ามาจาก รฟม. แล้วขอใช้ประโยชน์ร่วมกัน (เป็นทั้งทางเข้าแอชตัน อโศกและทางเข้าที่จอดรถของสถานี MRT สุขุมวิท) ซึ่งขัดต่อวัตถุประสงค์ของการเวนคืนที่ดิน รฟม. ทำให้ไม่สามารถนับว่าเป็นทางเข้า-ออกทางกฎหมายได้

เมื่อราวสิงหาคมปีที่แล้ว ทางเครืออนันดา ได้ออกมาพูดถึงความคืบหน้าหนทางการแก้ปัญหา โดยจะหาที่ดินเพิ่มเติมและหารือกับสถาบันการเงินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของลูกบ้าน เช่น การจะยื่นขอใบอนุญาตก่อสร้างใหม่ โดยการซื้อ หรือหาที่ดินเพิ่มเติม เป็นต้น

ซึ่งบทสรุปของเมกะโปรเจกต์ที่อยู่อาศัยในกลางกรุงเทพฯ จะเป็นอย่างไรนั้น… เราคงจะต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิดต่อไป

.

ภาพ : อนันดาฯ

.

อ้างอิง

.

 

Hack ชีวิต 120 ปี ชานนท์ อนันดา | Health is the New Wealth EP.4YouTube · THE SECRET SAUCEMay 28, 2566 BE

posttoday

thansettakij

pptv