Zaki Ma’arof : ผู้อยู่เบื้องหลังย่านเมืองเก่า 'กัมโปงกลาม' และผลักดันความภาคภูมิของชาวมุสลิมในสิงคโปร์ให้คนไทยรู้จัก

Zaki Ma’arof : ผู้อยู่เบื้องหลังย่านเมืองเก่า 'กัมโปงกลาม' และผลักดันความภาคภูมิของชาวมุสลิมในสิงคโปร์ให้คนไทยรู้จัก

'ซากี มะอารอฟ' (Zaki Ma’arof) ผู้อยู่เบื้องหลังการฟื้นฟูกัมโปงกลาม ย่านมุสลิมเก่าแก่ของสิงคโปร์ ผ่านเทศกาลรอมฎอนบาซาร์หมุดหมายสำคัญ ที่ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวกว่าล้านคนต่อปี

เราเชื่อว่าหลายคนจะมาเยือนประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้คงหนีไม่พ้นการตามรอยสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ ๆ ของประเทศ แต่นอกจากการเที่ยวตามวิถีเดิมแล้ว ยังมีอีกย่านหนึ่งของประเทศที่ซ่อนความงามและความรุ่มรวยทางวัฒนธรรมของชาวมุสลิมเอาไว้ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ใช่, เรากำลังพูดถึง ‘กัมโปงกลาม’ (Kampong Glam) หนึ่งในย่านประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ในฐานะศูนย์กลางของชุมชนมุสลิมที่มี ‘มัสยิดสุลต่าน’ (Masjid Sultan) อายุเก่าแก่กว่าสองร้อยปีเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนในชุมชน

โชคดีที่เราเดินทางมาในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนรอมฎอน เทศกาลที่มีความสำคัญยิ่งของชาวมุสลิมทั่วโลก ไม่ใช่เฉพาะประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้เท่านั้น แต่ยังเป็นเหมือนหมุดหมายสำคัญแสดงให้เห็นความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของชาวมุสลิม ทำให้เรายิ่งเห็นความคึกคักของชาวมุสลิมบนเกาะแห่งนี้ได้อย่างกระจ่างชัด เรียกได้ว่าเหนือความคาดหมายเลยดีกว่า

ตั้งแต่การชมการโชว์แสงสีที่ทาบทับลงบนมัสยิดสุลต่าน โดยมี 'ชะอาบาน ยะฮ์ยา' (Sha'aban Yahya) เป็นผู้ควบคุมการแสดง มาจนถึงร้านรวงต่าง ๆ ที่วางเรียงรายในงาน Gemilang Kampong Gelam 2025 เอาไว้จนขนัดแน่นไม่ต่ำกว่า 120 บูธ

ที่สำคัญเราได้มีโอกาสพูดคุยกับ ‘ซากี มะอารอฟ’ (Zaki Ma’arof) ประธานของ One Kampong Gelam ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการบริหารจัดการย่านประวัติศาสตร์นี้ ว่าเพราะเหตุใดเขาจึงพยายามผลักดันย่านเก่าแก่แห่งนี้ให้กลับมามีชีวิตชีวา ไล่เรียงตั้งแต่ความทรงจำวัยเด็กของเขาที่กัมโปงกลาม สำรวจประวัติศาสตร์ของพื้นที่ และอุดมการณ์อันแน่วแน่ในการรักษามรดกทางวัฒนธรรมของชุมชนมุสลิมในสิงคโปร์ให้กลายเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาคนทั่วโลก

และนี่คือเรื่องราวของเขา ซากี มะอารอฟ ชายที่อยู่เบื้องหลังความมหัศจรรย์ของกัมโปงกลาม ที่นำมารังสรรค์ผ่านงานรอมฎอนบาซาร์ (Gemilang Kampong Gelam 2025) ซึ่งจะจัดขึ้นตั้งแต่เวลา 14:00 – 23:00 น. วันนี้ถึง 25 มีนาคม 2025

กัมโปงกลาม: พื้นที่ที่ขยับมาใกล้ชิด 'คน' มากขึ้น

ประชากรมุสลิมในสิงคโปร์มีประมาณ 820,000 คน จากประชากรทั้งหมดราว 5.5 ล้านคน โดยคิดเป็นชาวมาเลย์ประมาณ 5 ล้านคน และมีชาวอินเดียมุสลิม ปากีสถาน และอื่น ๆ ทำให้ชาวมุสลิมคิดเป็นประมาณ 15-20% ของประชากรทั้งประเทศ

ถึงจะมีความแตกต่างแต่สิงคโปร์ให้ความสำคัญกับความเข้าใจและการปฏิบัติตามหลักศาสนาอย่างถูกต้อง "ความเข้าใจเกี่ยวกับอิสลามของมุสลิมที่นี่ดีมาก ศรัทธาในแต่ละคนก็ดีมาก นั่นคือเหตุผลที่คุณเห็นถึงความสมัครสมานสามัคคี ความกลมเกลียวในหมู่มุสลิมที่นี่

"ที่นี่เราเป็นอะฮฺลุซซุนนะฮฺ เรามี 4 อิหม่ามที่เราปฏิบัติตาม เราปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดมาตั้งแต่ต้น" ซากีเล่าให้ฟัง แสดงให้เห็นถึงรากฐานที่มั่นคงในการปฏิบัติตามหลักศาสนา

เมื่อนำมายึดโยงกับกัมโปงกลาม พื้นที่ที่ร้อยเรียงประวัติศาสตร์ของชาวมุสลิมสิงคโปร์เข้าด้วยกัน โดยเฉพาะในส่วนของถนนต่าง ๆ ซึ่งต่างก็มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งถนนฮาจิเลน (Haji Lane) ที่เต็มไปด้วยร้านค้าทันสมัยสำหรับคนรุ่นใหม่ ถนนอาหรับ (Arab Street) ที่ยังคงรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมไว้ได้ ถนนบูสรา (Bussorah Street) และถนนกันดาฮาร์ (Kandahar Street) ที่แต่ละถนนล้วนมีลักษณะเฉพาะตัว

ปัจจุบันมีมัสยิดทั้งหมด 72 แห่งทั่วสิงคโปร์ ทั้งหมดอยู่ภายใต้การดูแลของ Majlis Ugama Islam Singapore ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ มัสยิดในย่านชุมชนมักมีรูปแบบทันสมัย ในขณะที่มัสยิดเก่าแก่จากยุค 1920-1930 ยังคงได้รับการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดั้งเดิมไว้ รวมถึงโครงสร้างไม้ที่เป็นเอกลักษณ์ของมลายูมุสลิม

ย่านแห่งนี้จึงมีบทบาทสำคัญในประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์ในฐานะจุดรวมตัวของชาวมุสลิมก่อนเดินทางไปประกอบพิธีฮัจญ์

"พื้นที่แห่งนี้มีประวัติศาสตร์มากมายเกิดขึ้น เป็นจุดรวมตัวที่ผู้คนมักมาพบปะกันก่อนที่จะเดินทางไปทำพิธีฮัจญ์"

แม้ว่าผู้อยู่อาศัยเดิมหลายคนจะย้ายออกไปแล้ว แต่พวกเขายังคงกลับมาที่นี่เป็นครั้งคราว โดยเฉพาะในช่วงเทศกาลสำคัญ "คนที่เคยอยู่ที่นี่ บางครั้งพวกเขาก็เดินทางกลับมาเพื่อมาละหมาดฮาริรายาที่นี่ มันเป็นเหมือนประเพณีสำหรับพวกเขาเลยก็ว่าได้" 

จึงไม่แปลกที่เราจะเห็นถึงประกายแห่งความหวัง ว่าทำไมเทศกาลรอมฎอนบาซาร์ถึงกลายเป็นงานสำคัญประจำปีที่ทั้งชาวมุสลิมและคนต่างศาสนารอคอยอยู่ไม่ห่าง 

"ผมเชื่อว่าชาวสิงคโปร์ โดยเฉพาะชาวมุสลิม ต่างก็ตั้งตารอรอมฎอนและงานแบบนี้ รอมฎอนบาซาร์มีมานานมากแล้ว ผมคิดว่าตั้งแต่ก่อนผมเกิดด้วยซ้ำ ผมเคยมาที่นี่ตั้งแต่ยังเด็กมาก"

แต่เมื่อวันเวลาผ่านไปสถานที่แห่งความทรงจำค่อย ๆ แปรเปลี่ยนมาเป็นย่านแห่งความคึกคัก ที่ใครต่อใครต่างเดินทางมาเยือน และเขาในฐานะประธาน One Kampong Gelam ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการจัดงานและพัฒนาบาซาร์รอมฎอนในย่านกัมปงกลาม ซึ่งถือเป็นงานประจำปีที่ชาวสิงคโปร์โดยเฉพาะชาวมุสลิมรอคอยจึงพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อให้พื้นที่ทางประวัติศาสตร์ขยับเข้าใกล้ ‘คน’ มากขึ้นยิ่งกว่าเก่า

ในอดีต บาซาร์จัดขึ้นเพียงบนถนนกันดาฮาร์ (Kandahar Street) เท่านั้น และมีลักษณะเรียบง่าย "แต่ก่อนเราจัดแค่ตามแนวถนนกันดาฮาร์นี้ มันเรียบง่ายมาก ไม่มีสิ่งดึงดูดใจอะไรเลย มีแค่เต็นท์ธรรมดา ๆ และคนขายอาหารสำหรับการถือศีลอด แต่เมื่อคนมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น และเห็นโอกาสทางธุรกิจ รัฐบาลก็เข้ามาสนับสนุนด้วย นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน"

นอกจากนี้ การตกแต่งไฟประดับตามอาคาร ร้านรวงต่าง ๆ ก็เป็นอีกหนึ่งไฮไลท์ที่พัฒนาขึ้นตามกาลเวลา "เราทำการประดับไฟมาหกปีแล้ว แต่ก่อนหน้านั้นไม่มีการประดับไฟแบบนี้ ผมจำได้ว่ามีแค่หลอดไฟธรรมดา ๆ ไม่สว่างมาก เพราะงบประมาณที่มีอยู่อย่างจำกัด" 

จากความพยายามของเขาและคนในชุมชน ปัจจุบัน รัฐบาลโดยเฉพาะคณะกรรมการการท่องเที่ยวสิงคโปร์ (Singapore Tourism Board) เข้ามาร่วมกันพัฒนาย่านเก่าแก่แห่งนี้ให้มีแสงไฟละลานตา กลายเป็นหนึ่งจุดเด่นที่ช่วงดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้นในแต่ละปี

จากหนึ่งแสนคนสู่หนึ่งล้านคน 
ความสำเร็จของงานรอมฎอนบาซาร์

"ผมภูมิใจมากที่จะบอกว่าจำนวนผู้เข้าชมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ คือเราก็ได้มีการตั้งเป้า KPI เอาไว้อยู่เหมือนกัน แต่สิ่งที่เกิดขึ้นปีที่แล้วคือมันเกินเป้าไปมากกว่า 30-40%" 

ตัวเลขที่พุ่งพรวดเข้ามาโดยไม่ทันตั้งตัวทำให้ผู้อยู่เบื้องหลังอย่างเขารู้สึกประหลาดใจไม่น้อย ก่อนจะเผยว่า "ปีที่แล้วมีผู้เข้าชมประมาณ 1.1 ล้านคน ทั้ง ๆ ที่ผมตั้งเป้าไว้แค่ 700,000 คน สำหรับปีนี้ ผมไม่รู้จริง ๆ ว่าจะตั้งเป้าที่เท่าไหร่ แต่ผมจะดีใจมากถ้าเรายังสามารถรักษาระดับเดิมไว้ได้"

นักท่องเที่ยวต่างชาติมีบทบาทสำคัญในความสำเร็จนี้ โดยซากีเปิดเผยว่า "ประมาณ 30% ของจำนวนผู้เข้าชมทั้งหมดมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจากอินโดนีเซียที่มีมาอย่างไม่ขาดสาย

"สำหรับนักท่องเที่ยวท้องถิ่น ปกติตอนเช้าเราจะมีนักเรียน พวกเขามาเที่ยวชมประวัติศาสตร์ มากันเป็นรถบัส ครูจะอธิบายว่านี่คือสถานที่ที่เคยมีกิจกรรมแบบนี้ นี่คือวิธีที่พวกเขารวมตัวกัน และนี่คือวิธีที่ชาวมุสลิมสวดภาวนา"

ในช่วงบ่าย ผู้คนจะเริ่มมาทานอาหารกลางวัน "คุณมีร้านอาหารที่หลากหลายแถมยังรสชาติอร่อยถูกปาก และในช่วงเวลานี้ คุณจะเห็นผู้คนมาพักผ่อน ดื่มชา รอจนถึงช่วงเย็น ละหมาด และพวกเขาก็จะรออยู่ที่นี่เพื่อทานอาหารค่ำ"

ก่อนจะเผยให้เห็นความหลากหลายของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ โดยเฉพาะในช่วงฤดูร้อนว่า "ถ้าเป็นช่วงฤดูร้อน คุณจะเห็นชาวยุโรปจำนวนมาก ปกติพวกเขามาด้วยตัวเอง เป็นแบ็คแพ็คเกอร์ นี่คือเหตุผลที่คุณเห็นโฮสเทลสำหรับแบ็คแพ็คเกอร์ โรงแรม และสถานที่พักมากมาย มันดีสำหรับแบ็คแพ็คเกอร์ นอกจากนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวจากเกาหลีใต้ จีน และญี่ปุ่นด้วย"

รักษาเอกลักษณ์ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง

การรักษาความยั่งยืนของกัมปงกลามเป็นความท้าทายสำคัญ เนื่องจากพื้นที่มีขนาดจำกัด ซากีอธิบายว่า "กัมโปงกลามมีขนาดเท่าที่เห็น เราไม่สามารถขยายใหญ่ขึ้นได้ เมื่อพูดถึงความยั่งยืน เราต้องสร้างสรรค์ เรามีกิจกรรมประจำไม่ใช่แค่รอมฎอน มีงานใหญ่ ๆ และงานประเพณีอีกหลายงานที่นี่"

การสร้างความแตกต่างในแต่ละปีจึงเป็นกลยุทธ์สำคัญและงานหนักสำหรับเขาไม่น้อย

"เราพยายามทำให้แตกต่างจากปีต่อปี เรามีคนเก่ง ๆ อยู่รอบตัวที่ช่วยคิวเรทและออกแบบ เพื่อให้คุณเห็นอะไรที่แตกต่างในทุกปี แม้จะเห็นแสงไฟ แต่เมื่อก่อนคุณเห็นเต็นท์แบบหนึ่ง ตอนนี้คุณเห็นเต็นท์อีกแบบหนึ่ง มีอะไรหลายอย่างเกิดขึ้นที่นี่ แต่เรามีพื้นที่แค่นี้เท่านั้น"

พวกเขาไม่ได้สู้โดยลำพัง โชคดีที่รัฐบาลสิงคโปร์มองเห็นความสำคัญ อันที่จริงจะบอกว่าเพราะ 'ความโชคดี' คงไม่ถูกนัก แต่เป็นวิสัยทัศน์อันกว้างไกลของรัฐบาลบนเกาะแห่งนี้คงจะถูกต้องกว่า พวกเขาไม่ได้แค่มองการพัฒนาเฉพาะจุด แต่กำลังส่งเสริมให้ทุกชุมชนของประเทศก้าวไปพร้อมกับโลกที่เปลี่ยนแปลง และนั่นจะนำมาสู่ความยั่งยืนได้อย่างแท้จริง

"ปกติเราได้รับทุนสนับสนุนมากกว่าครึ่ง และนั่นเป็นสิ่งที่เรารู้สึกขอบคุณมากจากหน่วยงานรัฐบาลที่ให้สิทธิพิเศษและเงินทุนในการสร้างสถานที่นี้ เพราะที่นี่เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวที่ใหญ่มาก"

ที่น่าสนใจคือ บาซาร์รอมฎอนที่กัมโปงกลามเริ่มก่อนเดือนรอมฎอนประมาณ 8 วัน และจบก่อนวันฮารีรายา (วันอีด) 5 วัน เหตุผลที่ต้องเปิดก่อนคือเพื่อให้ผู้คนได้มาลองชิมอาหารและเยี่ยมชมในช่วงกลางวัน เพราะระหว่างเดือนรอมฎอน ชาวมุสลิมมักจะพักผ่อนที่บ้านในช่วงกลางวัน ส่วนเหตุผลที่ต้องปิดก่อนวันฮารีรายา 5 วันคือ เพื่อทำความสะอาดพื้นที่ให้พร้อมสำหรับการละหมาดในวันฮารีรายา ซึ่งมัสยิดซุลต่านจะมีผู้คนมาร่วมละหมาดจำนวนมาก

"เราเป็นบาซาร์แห่งแรกในสิงคโปร์ที่สร้างแบบนี้ เริ่มประมาณ 8 วันก่อนการถือศีลอด แผนของเราคือเริ่มต้นแต่เนิ่น ๆ เพื่อให้ทุกคนเริ่มมาที่นี่เพื่อชิมอาหารและทานในช่วงบ่าย ของเดือนรอมฎอน"

"เพราะที่มัสยิดสุลต่าน ทุกคนต้องละหมาดในวันฮารีรายาตอนเช้า มุสลิมทุกคนต้องละหมาด และมัสยิดสุลต่านจะมีผู้มาร่วมละหมาดมากเกินความจุทุกปี หากพื้นที่โดยรอบไม่สะอาดคงเป็นภาพลักษณ์ที่ไม่ดีนัก

ก่อนจะเสริมถึงแนวทางในการคัดเลือกบูธร้านอาหารที่จะมาวางภายในงานว่าจะต้องมีคุณภาพดีเหมาะสมกับสถานที่อันทรงคุณค่าเช่นนี้

"เราทำงานร่วมกับผู้ประกอบการ แน่นอนว่าเราจะเลือกไม่เพียงแต่ที่ดีที่สุด แต่เราจะเลือกผู้ที่มีคุณภาพ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าไม่ว่าพวกเขาจะไปตั้งบูธที่ไหน คนก็จะตามไปอุดหนุน"

ซึ่งการวางแผนเช่นนี้ เขาใช้เวลาเตรียมการเริ่มล่วงหน้าไม่ต่ำกว่า 3-4 เดือน และนั่นทำให้เหล่าพ่อค้าแม่ค้าต่างจับจองพื้นที่ไปแล้วประมาณ 70% ตั้งแต่ช่วงแรกเริ่มของการประกาศว่าจะจัดงานอย่างเป็นทางการ

กัมปงกลามเป็นพื้นที่อนุรักษ์ที่มีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมของสิงคโปร์ ซากีมองว่านี่เป็นจุดแข็งที่ควรรักษาไว้ "เมื่อพูดถึงเรื่องการอนุรักษ์ มันไม่ใช่แค่เรื่องอาคาร ไม่ใช่แค่เรื่องโครงสร้าง การอนุรักษ์คือเรื่องของประเพณี วิถีปฏิบัติที่ผู้มาตั้งรกรากครั้งแรกได้ปฏิบัติมา นี่คือสิ่งที่มีบทบาทสำคัญในการเล่าเรื่องราวของสิงคโปร์"

"เราจะยังคงหาวิธีและวิธีการที่จะดึงดูดผู้คนให้มาที่นี่ เพื่อเรียนรู้ประวัติศาสตร์ของกัมโปงกลาม" 

ความสำคัญของกัมโปงกลามนั้นไม่ได้อยู่ที่อาคารสถานที่เท่านั้น แต่อยู่ที่จิตวิญญาณและความทรงจำร่วมของผู้คนที่มีต่อสถานที่แห่งนี้ เป็นพื้นที่ที่แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของสิงคโปร์ในการผสมผสานวัฒนธรรมต่าง ๆ ให้อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมกลืน และเป็นหนึ่งในแบบอย่างของการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การได้สัมผัสกับกัมปงกลามและพูดคุยกับผู้มีส่วนร่วมในการอนุรักษ์และพัฒนาย่านประวัติศาสตร์แห่งนี้ ทำให้เราเห็นอีกด้านหนึ่งของสิงคโปร์ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แม้จะเป็นประเทศเล็ก ๆ แต่ก็มีความละเอียดอ่อนในการรักษาความสมดุลและความกลมกลืนระหว่างชุมชนต่าง ๆ เอาไว้ได้อย่างน่าทึ่ง

 

หมายเหตุ : สำหรับการเดินทางไปสิงคโปร์เพื่อสำรวจย่านเมืองเก่าอย่าง 'กัมโปงกลาม' ครั้งนี้ ขอขอบคุณ Muse & Motif สำหรับการจัดการทริป และ ParkRoyal on Beach Road ที่ให้การต้อนรับอย่างอบอุ่น ทำให้เราสัมผัสความหลากหลายของสิงคโปร์ได้ทุกแง่มุม