18 เม.ย. 2566 | 15:01 น.
- วิน ศรีนวกุล เป็นเด็กที่ชอบทำงานตั้งแต่เด็ก ชื่นชอบการเป็นนักธุรกิจเพราะเห็นจากพ่อแม่ที่มีเวลาให้กับครอบครัว และไม่ต้องเข้าออฟฟิศทุกวัน
- จากประสบการณ์ทำงานตั้งแต่อายุ 17 เก็บเกี่ยวจนมาเป็น วิน ผู้ก่อตั้ง ข้าวโซ-อิ (Khao-Sō-i) ร้านข้าวซอยสไตล์ราเมง
- ความฝัน ความหวัง และความหลงใหลของวิน ทำให้วันนี้ในจ.เชียงใหม่มีร้านขายข้าวซอยที่มีคนต่อคิวยาวตั้งแต่ก่อนเปิดร้าน
“ผมซึมซับการเป็นนักธุรกิจร้านอาหารว่ามันคือหยาดเหงื่อแรงงาน มันเหนื่อย ก็เลยเลือกไปทำงานในองค์กรอื่นก่อน ผมทำมาหลายอย่างมาก ตั้งแต่พนักงานธนาคาร ครู พนักงานบริษัทชิปปิ้ง ไปจนถึงเจ้าของบริษัทขายตั๋วเครื่องบิน” วิน ศรีนวกุล เจ้าของร้าน และผู้ก่อตั้งร้านข้าวโซ-อิ (Khao-Sō-i) เปิดใจเล่า
ประโยคหนึ่งในบทสัมภาษณ์ที่ วิน คุยกับ The People พาย้อนกลับไปถึงจุดเริ่มต้นแนวคิดต่าง ๆ ที่ถ่ายทอดออกมาเป็นตัวตนของเขา ก่อนมาเป็นเจ้าของร้านข้าวซอยที่หน้าตาดูแปลกไป หลาย ๆ เรื่องราวทำให้เราเข้าใจความเป็นคอนเซปต์ ‘Khao-Sō-I' มากขึ้น ผ่านการพูดคุยกับผู้ก่อตั้งร้าน ในฐานะที่เป็นคนสู้ชีวิตคนหนึ่ง และมีความมุ่งมั่นสูงในทุก ๆ อาชีพที่เขาได้รับโอกาส
ร้านข้าวซอยชื่อดังที่กำลังเป็นที่นิยมในจ.เชียงใหม่ หนึ่งในร้านแนะนำที่ต้องมา check-in บรรยากาศที่เต็มไปด้วยความเป็นญี่ปุ่น ความเป็นเซน เก่าแก่แต่ทันสมัยด้วยสีน้ำตาลไม้ตัดกับต้นไผ่รอบร้าน การดีไซน์ร้านให้ดูเป็น ‘บาร์ข้าวซอย’ สำหรับโชว์กรรมวิธีปรุงอาหาร เสน่ห์ของข้าวซอยหน้าตาราเมงให้กับลูกค้า ถือเป็นจุดขายของร้านนี้นอกจากเรื่องรสชาติ
แต่กว่าที่ Khao-Sō-I จะก่อร่างสร้างเป็นร้านที่ผ่านกระบวนการคิด การตกผลึกจากผู้ก่อตั้ง หลังจากที่ขมวดเรื่องราวประสบการณ์ชีวิตทั้งหมดออกมาแล้ว The People จึงอยากพาทุกคนไปทำความรู้จักตัวตนของ วิน ให้มากขึ้น และวิธีคิด ประสบการณ์ชีวิตต่าง ๆ จนมาสู่ไอเดียของร้าน Khao-Sō-I ที่เตรียมจะขยายมาที่ย่านสีลม กรุงเทพฯ ในเดือนมิถุนายนปีนี้
มีพ่อเป็นไอดอลตลอดกาล
วิน เปิดประเด็นว่าเป็น “สายบู๊ตั้งแต่เด็ก” ด้วยความที่เขาไป ๆ กลับ ๆ ประเทศไทยกับสหรัฐอเมริกาอยู่แบบนี้ตั้งแต่จำความได้ น่าจะมีส่วนอย่างมากที่ทำให้หลายความคิดและการเติบโตของวินเป็นแบบวิถีผสมจนเขาเติบโตขึ้น
“จริง ๆ ผมเป็นสายบู๊ตั้งแต่เด็ก คุณพ่อผมเขาก็ไปอยู่ต่างประเทศตั้งแต่ตั้งแต่อายุ 19 แต่ไม่ได้ไปแบบในฐานะเด็กนักเรียนทุนหรืออะไรนะ ไปแบบเด็กไม่ค่อยเรียนหนังสือ ไปทำงานอย่างนี้ดีกว่า แล้วก็คุณแม่ก็ไม่ได้เรียนสูงอะไรนะครับ แต่พวกเขาต่างคนต่างขยันทำงานทั้งคู่จึงเปิดร้านอาหารอยู่ที่อเมริกา ผมก็เลยเกิดแล้วก็โตที่อเมริกาครับ พอตอนผมอายุสัก 7 ขวบ พวกเขาก็เอาผมกลับไปอยู่เมืองไทย”
“ช่วงปิดเทอมก็มีส่งตัวไปเรียนซัมเมอร์ที่โน่น (อเมริกา) คุณพ่อเขาอยากให้เรียนต่อเมืองนอกอยู่แล้ว พอจบม.6 ผมก็เลยไปเรียนต่อที่อเมริกา”
เมื่อพูดถึงความฝันสำหรับ วิน ตั้งแต่เด็กจนโตเรียกว่าเขามีพ่อแม่เป็นไอดอลมาตลอด ซึ่งพวกเขาน่าจะมีส่วนผลักดันให้ วิน รู้สึกอยากทำงานมากกว่าเรียนด้วยซ้ำไป
“ความฝันของผมชัดเจนคืออยากเป็นแบบคุณพ่อ ก็คือคุณพ่อเป็นนักธุรกิจ ผมค่อนข้างชอบสไตล์ของคุณพ่อ คือเขามี work–life balance ที่ดี เขามีเวลาให้เรา เขาไม่จำเป็นต้องทำงานจันทร์ถึงศุกร์เป๊ะหรืออะไรอย่างนี้ครับ เราก็เลยรู้สึกว่าอาชีพนี้มันดีจังเลย มันเป็นนายตัวเอง”
ด้วยความที่เห็นนักธุรกิจ 2 คนตั้งแต่เด็ก คือทั้งพ่อและแม่ของวินเป็นนักธุรกิจทั้งคู่ สิ่งที่วิน คิดและทำตั้งแต่ที่ย้ายไปอเมริการอบ 2 ก็คือ ‘ทำงาน’
“คุณพ่อผมเขาเชื่อเสมอว่าความลำบากมันจะดึง The Best ของแต่ละคนออกมา คุณพ่อเขาก็เลยเอาผมไปอยู่กับความลำบาก ส่วนคุณแม่ผมก็บอกเสมอว่าเด็กไทยไปอยู่เมืองนอกใช้เงินเปลืองมากเลย แม่เครียด แม่เป็นห่วง มันก็เลยทำให้ผมกลายเป็นสายทำงานตั้งแต่เด็ก คือพอไปอยู่ที่โน่นก็ทำงานเยอะมากเลยครับ ทำงานห้องสมุด ทำงานหลายที่มาก จนสุดท้ายมาได้งานหลักคือเป็นซูชิเชฟ”
วิน พูดว่า เขาทำงานอย่างหนักกับอาชีพซูชิเชฟตลอด 3 ปีที่ร้าน โดยเขาเริ่มต้นทำงานนี้ตั้งแต่อายุ 17-18 ปี ถือว่าเป็นช่วงวัยฮอร์โมนพลุ่งพล่านกับภาระหน้าที่ที่หนักอึ้งพอสมควร เพราะเขาแทบไม่มีเวลาได้พักตั้งแต่ตื่นนอน ไปเรียน จนถึงช่วง 4 โมงเย็นก็เริ่มสวมบทเป็นเชฟลากยาวไปถึงเที่ยงคืน ทำแบบนี้ทุกวัน
แต่ความสนุกในการเรียนรู้งานของ วิน ต้องจบลงเพราะเขารู้สึกว่า ขืนเป็นแบบนี้ต่อไปอาจจะเรียนไม่จบ เขาตัดสินใจลาออกจากงาน และไปสมัครเป็นพนักงานเสิร์ฟตามร้านอาหารอิตาเลียน ร้านอาหารไทยบ้าง จนเขาเรียนจบ ซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่า วิน อาจกลับไปเป็นเชฟทำซูชิที่เขาหลงใหลอีกครั้ง แต่ไม่! เพราะเขาคิดว่า แม้ตัวเขาจะชอบการเป็นซูชิเชฟมากแค่ไหนและเขาได้อะไรมากมายจากอาชีพนี้ แต่ตลอดเวลาที่อยู่ที่นั่นเขาซึมซับว่า การเป็นเจ้าของร้านอาหารมันเหนื่อย มันคือหยาดเหงื่อแรงงาน ซึ่งไม่ใช่ความฝันที่เขาเห็นจากพ่อแม่ตั้งแต่เด็ก ที่มีพนักงาน มีการประชุมงาน ฯลฯ
วิน ลองค้นหาเส้นทางชีวิตใหม่หลังเรียนจบ ด้วยการไปสมัครเป็นครู เป็นพนักงานธนาคาร และอีกหลายอาชีพ แต่สุดท้ายก็ตัดสินใจกลับเมืองไทย และนี่คือจุดเริ่มต้นใน chapter ของวินในเมืองไทย ก่อนที่จะมาเป็นเจ้าของร้าน Khao-Sō-I
ช่วงค้นหาความชอบตัวเอง
ช่วงเวลาที่วินกลับเมืองไทย การเปิดร้านอาหารหรือทำธุรกิจส่วนตัวก็ยังไม่ใช่คำตอบแรกของวิน เพราะเขามีช่วงหลงทางอยู่พักใหญ่กับการค้นหาตัวเอง โดยวิน เริ่มต้นอาชีพแรกที่เมืองไทย (เชียงใหม่) คือเป็นพนักงานที่โรงแรมของแม่ตัวเอง
แต่ทำได้เพียง 4 เดือนเท่านั้นก็ต้องลาออกเพราะความคิดเห็นไม่ตรงกัน วินกับแม่ทะเลาะกันค่อนข้างบ่อยเรื่องแนวทางการบริหาร การทำธุรกิจ ด้วยความห่างของ gen และประสบการณ์ที่มี gap ระหว่างกันมาก ซึ่งพ่อของวินก็พยายามเป็นกาวใจระหว่างเขากับแม่ ด้วยคำสอนที่วินประทับใจจนถึงทุกวันนี้
พ่อของวินสอนว่า “เชื่อว่าเราเก่ง แต่สุดท้ายอันนี้มันโรงแรมของแม่ ลูกอยากจะมีโรงแรมที่บริหารสไตล์ลูก ก็ต้องสร้างโรงแรมเอง พ่อหมายถึงต้องไปซื้อที่ดินเอง ปลูกสิ่งปลูกสร้างเอง แล้วก็จ้างพนักงานเอง หาลูกค้าเอง ทีนี้มันก็เป็นโรงแรมที่ลูกจะบริหารยังไงก็ได้”
“งานนี้ลูกไม่มีสิทธิ์ไปโกรธแม่เพราะเป็นโรงแรมของเขา เขาจะให้ลูกทำงานหรือไม่ให้ทำงานก็ได้ เขาจะให้ลูกเปลี่ยนแปลงวิธีการบริหารหรือไม่ให้ก็ได้ เป็นสิทธิ์ของเขา”
“ถ้าแม่เขาจะทำโรงแรมเจ๊งเพราะสิ่งที่ลูกคิด ก็ปล่อยให้เขาทำเจ๊งเพราะมันเป็นโรงแรมของเขา แต่เขาบริหารมาขนาดนี้มันไม่เจ๊งหรอก แต่มันไม่ถูกใจลูก”
นี่คือคำสอนจากพ่อที่พยายามอธิบายกับวิน แต่แล้วการทำธุรกิจก็ยังไม่ใช่ทางออกของวินในตอนนั้น เพราะหลังจากนั้นวินตัดสินใจมาที่กรุงเทพฯ และเข้ามาทำงานในองค์กรใหญ่ เขามีโอกาสได้ทำงานกับบริษัท ไชน่า ชิปปิ้ง เป็นบริษัทสายเดินเรือของจีน
ตลอดเวลา 5 ปีที่ ไชน่า ชิปปิ้ง ความก้าวหน้าในหน้าที่การงานเติบโตค่อนข้างดีทำให้วิน ไม่ได้นึกถึงความฝันที่เคยอยากเป็นนักธุรกิจเหมือนพ่อแม่ไปชั่วขณะ
จนกระทั่งพ่อของวินพยายามเตือนสติ วินเล่าว่า “คุณพ่อเขาก็อาจจะรู้สึกว่าเราไม่ได้เดินตามความฝันตัวเองแล้วหรือเปล่า เขามาเตือนสติว่าความฝันของเราอยากเป็นนักธุรกิจไม่ใช่เหรออะไรอย่างนี้ ซึ่งสิ่งที่พ่อทำก็คือ ชวนผมไปกินข้าวกับเพื่อนเขาที่เป็นนักธุรกิจ แล้วก็เอาภาพเดิม ๆ กลับมาให้ดู ภาพที่นักธุรกิจทุกคนเขาก็อาจจะไม่ต้องเข้าออฟฟิศ ไม่ต้องคุยงาน มีคนทำงานให้อะไรอย่างนี้”
“ผมจึงเริ่มแบบกลับมามองตัวเองว่า เออเฮ้ย! จริงด้วยว่ะ แล้วถ้าเราปล่อยให้ตัวเราอายุ 30 กว่าแล้วเราค่อยมาคิดได้มันจะยิ่งช้าหรือเปล่า”
วิน พยายามคิดอย่างหนักช่วงที่เขาลังเลว่าจะลาออกหรือไม่ คิดว่าจะทำธุรกิจอะไร จนสุดท้ายมาตกผลึกที่ ‘บริษัทขายตั๋วเครื่องบิน’ จากเหตุบังเอิญบนรถไฟฟ้า BTS วินสังเกตเห็นนักท่องเที่ยวเข้าคิวเพื่อซื้ออะไรบางอย่าง แถวยาว คนล้น ด้วยความสงสัยเขาจึงเข้าไปสังเกตการณ์
สรุปก็คือ นักท่องเที่ยวเข้าคิวเพื่อซื้อตั๋วเครื่องบินที่บูธขายตั๋ว วินทั้งทดลองด้วยตัวเอง และปรึกษาพ่อ แล้วตัดสินใจเปิดบริษัทขายตั๋วเครื่องบินที่เชียงใหม่ ซึ่งตอนนั้นวินยังไม่ได้ลาออกจากบริษัทเดิมเพราะอยากดูความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จก่อน
ธุรกิจแรกคนขายตั๋วเครื่องบิน
พูดว่านี่คือธุรกิจส่วนตัวแรก ๆ ของวินก็ว่าได้ ซึ่งตอนนี้เขาเดินหน้าเต็มตัวที่จะลองตามความฝันในวัยเด็กด้วยการเปิดบริษัทขายตั๋วเครื่องบินให้กับนักท่องเที่ยว วินเล่าว่า “ตอนที่ผมเปิดบริษัทขายตั๋วเครื่องบินก็ยังไม่ได้ลาออกนะ จนกระทั่งบริษัทตั๋วเครื่องบินมันเติบโตขึ้น สายการบินหลาย ๆ บริษัทก็เริ่มเข้ามาหาเรา สนใจอยากรู้ว่าเราหาลูกค้ายังไง พอพวกเขาเริ่มเห็นอนาคตว่ามันน่าจะดี มีสายการบินหนึ่งตั้งคำถามว่า ทำไมเราไม่ทำบริษัททัวร์ ซึ่งก็เป็นไอเดียต่อมาของผม”
“ตอนที่ผมลาออกจาก ไชน่า ชิปปิ้ง คือ ตอนที่ลูกค้าของผมเริ่มเป็นระดับ corporate หมดแล้ว ทั้งบริษัทขายตั๋วเครื่องบินและทัวร์ก็แข็งแกร่งแล้ว ซึ่งก็ใช้เวลาปั้นอยู่ 3-4 เดือนได้ครับ”
อนาคตของธุรกิจของวินเริ่มจะสดใสทุกอย่างดูดี จนกระทั่ง ‘โควิด-19’ เงินทุกเม็ดที่หามาได้ก็ค่อย ๆ หมดไป ในระหว่างการสัมภาษณ์เรารู้สึกได้ถึงความสู้ชีวิตของวิน เพราะกว่าที่เขาจะเปิดร้านเป็น Khao-Sō-I ก็สู้ยิบตาอยู่เหมือนกัน
“ผมพยายามยื้อบริษัทอยู่พักหนึ่งจนรู้สึกว่าไปต่อไม่ได้แล้ว ตอนนั้นที่คิดออกทางเดียวก็คือ ใช้ประโยชน์จากที่ดินที่มีอยู่มาทำเป็น Pool Villa โดยขอให้เพื่อนมาช่วยออกแบบให้ก่อน เพราะยังไม่มีเงินจ่าย”
และช่วงเวลาแห่งการปั้นร้านอาหารก็มาถึง วินบอกว่า “เพราะมันว่างมากสร้างบ้านก็สร้างได้ทีละหลัง แฟนเลยชวนเปิดร้านอาหารเขาอยากเปิดร้านขายข้าวซอย ผมก็เห็นเราว่าง ๆ กันอยู่ก็เลยทำ” แต่แทนที่วินจะขายข้าวซอยแบบปกติทั่วไป เขากลับคิดอยากทำอะไรที่มันแตกต่าง
จุดเริ่มต้น Khao-Sō-I
วินอธิบายกับเราอย่างตั้งใจ ถึงไอเดียของร้านข้าวซอยที่หน้าตาเป็นราเมง เขาบอกว่า “ผมอยากขายข้าวซอยที่มีคุณค่ามากกว่านั้น มีคุณค่าและอร่อยมาก ๆ ราคาอาจจะไม่ใช่ราคาทั่วไปก็ได้ นี่คือสิ่งแรกที่ผมนึกถึงข้าวซอยทำให้ผมนึกถึงราเมง และผมก็ยังแปลกใจด้วยว่าทำไมราเมงถึงขายได้ชามละ 165 บาท 180 บาท 220 บาท 390 เดี๋ยวนี้ 650 ก็มี”
สิ่งที่วินไขคำตอบให้กับความสงสัยนี้เกี่ยวกับราเมงคือ “เพราะความเป็นญี่ปุ่นมันละเอียดลออ ผมเริ่มสัมผัสถึงความเป็นญี่ปุ่น แล้วผมเริ่มตอบตัวเองได้แล้วว่า ญี่ปุ่นแพงทุกอย่าง เพราะเขาถือว่ามีค่าวิชาความรู้ของเขาอยู่ด้วย เขาคิดอย่างนี้ เพราะฉะนั้นมันทำให้ผมรู้เลยว่าไอ้ความเป็นญี่ปุ่นที่มีอยู่ในตัวผมเนี่ยมันเอามาใช้ได้นี่หว่า เพราะผมเคยเรียนทำซูชิ แล้วผมได้เห็นว่าเจ้านายผม เขาเคี่ยวเข็ญผมอย่างหนัก ทุกกรรมวิธีของเขามันเป็นระบบ แม้กระทั่งท่าทางในการยืน สมมุติว่าตอนนั้นไม่มีลูกค้าหรือไม่มีออเดอร์ เราก็ไม่ยืนในท่าที่พักขาหรือพักน่องอะไรอย่างนี้”
“นี่ไงญี่ปุ่น นี่ไงคือความ Japanese เขาให้คุณค่ากับอาหารของเขา จนอาหารของเขาเป็นอันดับโลก ที่จริงอาหารไทยก็ติดอาหารอันดับ 1 ของโลกเหมือนกัน แต่ถามว่าทุกคนรู้จัก Thai foods จริง ๆ ใช่ไหม ก็ไม่ใช่นะ สิ่งที่เขารู้จักกันก็คือหมายถึง ต้มยำ, ผัดไทย มันจะมีแค่นั้นแหละ”
“แต่สำหรับข้าวซอยมีขายแพงมั้ย ข้าวซอยที่ขายแพงคืออยู่ในโรงแรม พนักงานเสิร์ฟชุดยูนิฟอร์มเท่ห์ ๆ เนี่ยคือการให้คุณค่าของอาหารที่ผิดวิธี ก็ในเมื่อความญี่ปุ่นเขาพิสูจน์ให้เราเห็นแล้วว่าเขาทำได้ แล้วเขาทำได้ดี เราลองยืมกรรมวิธีบางอย่างของเขามาใช้ก็ไม่ผิดมั้ง ผมคิดแบบนั้น”
“ในช่วงโควิด-19 ร้านข้าวซอยในเชียงใหม่แทบไม่มีร้านไหนที่ต้องต่อคิวเลย แต่ร้านอาหารญี่ปุ่นคิวยาวมาก มันเลยทำให้ผมคิดว่า ร้านข้าวซอยต้องต่อคิว คนเชียงใหม่ต้องกินข้าวซอย ผมต้องทำอะไรสักอย่างแล้ว”
“ผมก็เลยลองเอารสชาติที่ผมไปกินจากร้านญี่ปุ่นทั้งหมด เอารสชาติเหล่านี้มาใส่ในข้าวซอยให้ได้ ก็เลยได้ออกมาเป็นข้าวซอยน้ำข้นในปัจจุบัน”
รสชาติของข้าวซอยที่ร้านของวิน ไม่ใช่แค่อร่อย แต่ใส่ใจมีดีเทลที่น่าสนใจ ทั้งน้ำข้น เส้นสด ความนุ่มของเส้นพอดีสามารถใช้ตะเกียบคีบได้เลยโดยไม่ต้องใช้ช้อน ให้ความเป็นน้ำข้าวซอยเคลือบเส้นชุ่มพอดี ๆ วินต้องการสร้างความรู้สึกให้ลูกค้าได้กินข้าวซอยที่เป็นข้าวซอยจริง ๆ แต่อร่อยขึ้น และหน้าตาสวยงาม
สำหรับวิน ก่อนที่จะเปิดร้านนี้เขาปักธงว่าต้องเป็น ‘ข้าวซอย’ ในแว่บแรกโดยไม่ลังเลแม้แต่น้อย วินบอกกับเราว่า “ไม่มีอาหารประเภทอื่นเลยในหัว ก็คือข้าวซอยเลย ปักให้รู้กันไปเลยว่างานนี้จะปังหรือแป๊ก” ประโยคนี้ชวนให้รู้สึกว่า วินมีเลือดความเป็นนักสู้และเด็ดเดี่ยวในตัวพอสมควร ซึ่งก็คงถ่ายทอดมาจากการเติบโตในบ้านที่เป็นนักธุรกิจล้อมรอบตัวเขา
สำหรับวิน เขามีความมุ่งมั่นเกี่ยวกับ Khao-Sō-I อย่างมาก วินย้ำกับเราว่า “แน่นอนว่าผมอยากทำให้ร้านผมอร่อย แล้วก็มีคุณค่าซึ่งมันอาจจะมีราคาแพง แต่เพราะผมใส่ใจกับคุณค่าของข้าวซอยมันจึงมีราคาแพง ซึ่งลูกค้าจะได้รับคุณค่าของข้าวซอยตามความแพงของมัน”
“เราต้องแตกต่าง เราต้องกล้า แต่เราจะทำยังไงให้มันคู่ควร ให้ลูกค้ารู้สึกว่ามันคุ้มค่าที่ได้ลอง สมมุติผมขายข้าวซอยเนื้อน่องลาย 139-149 เราจะทำยังไงให้คนที่มากินเขารู้สึกว่าคุ้มค่าและจะกลับมากินอีก แต่ก็ไม่ใช่ว่าให้คนลืมข้าวซอยราคา 50 บาทนะ เพราะบางวันก็ยังอยากกินราคานี้ แต่บางวันก็อยากกินราคา 139 นี่คือโจทย์ของเรา”
เมื่อพูดถึงการตั้งชื่อร้าน ที่มาของคำว่า Khao-Sō-i วินเล่าว่า “มันเป็นการสดุดีสิ่งที่ผมยืมคนญี่ปุ่นมาใช้ คือการให้คุณค่าอาหารนี่แหละ แต่บางคนอาจจะมองว่าผมดูถูกอาหารไทย เอาอาหารไทยไป copy ญี่ปุ่น แต่สำหรับผมมองว่า เราเห็นเขาทำได้ดี เราก็เลียนแบบ”
“มันก็เหมือนกับรถไฟฟ้า ถ้าทั้งโลกไม่มีใครทำรถไฟฟ้า ประเทศไทยจะทำไหม ก็คงไม่ทำ แต่เพราะมันมีประเทศอื่นทำรถไฟฟ้าแล้วเราเห็นว่ามันดี เราก็เอาของเขามาใช้ นั่นแหละครับมันคือวิธีคิดเดียวกัน”
ณ ตอนนี้ก็เกือบ 2 ปีแล้วที่ Khao-Sō-i ก่อตั้งขึ้น ซึ่งวิน ก็กำลังเดินตามเป้าหมายคือการขยายสาขามาที่กรุงเทพฯ โดยเขาจะปรับให้ร้านที่เชียงใหม่เป็น ‘Khao-Sō-i Village’ ก็คือเป็นต้นกำเนิดของร้านอยู่ที่เชียงใหม่ เป็นการสร้างสตอรี่ให้กับธุรกกิจอาหารของเขา ส่วนสาขาอื่นในกรุงเทพฯ และอาจจะมีจังหวัดอื่นอีกในอนาคต จะเป็นแบบ Khao-Sō-i Restaurant แบบ 20 โต๊ะ เล็ก ๆ ไม่ใหญ่มาก และอาจจะมี Khao-Sō-i เปิดเป็น pop up ในบางครั้งด้วย
ในฐานะที่ วิน คือเลือดคนรุ่นใหม่ที่รักในการทำธุรกิจ และเป็นนักสู้คนหนึ่งที่ The People มองว่าสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้กับคนอื่น ๆ ที่ฝันอยากทำธุรกิจหรือมีเส้นทางชีวิตที่คล้ายกัน วินเป็นคนที่ตั้งใจทำงานเริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 17 ปี ซึ่งตัวเขาเองก็นิยามเส้นทางชีวิตของเขาเองว่า ทั้งชีวิตไม่ว่าเขาจะทำงานหรือทำอาชีพอะไรมันคือความตั้งใจอย่างมาก แต่เชื่อว่าทุกอาชีพทำให้เขาได้อะไรใหม่ ๆ ได้สกิลใหม่ ๆ ที่แตกต่างกัน
ดังนั้น สำหรับวินแล้ว ไม่ว่าเขาจะเคยล้มมามากแค่ไหน จนวันนี้ที่ประสบความสำเร็จมาแล้วครึ่งทาง คติที่วินใช้ผลักดันตัวเองมาตลอดการทำงานก็คือ “ทุก ๆ ความตั้งใจและความขยันอาจไม่ได้การันตีความสำเร็จ แต่ทุก ๆ ความสำเร็จนั่นเกิดจากความตั้งใจและความขยัน” ซึ่งร้าน Khao-Sō-i ในวันนี้ก็น่าจะพิสูจน์ได้บ้างว่า ความตั้งใจของวิน มีส่วนอย่างมากที่ทำให้ร้านกลายเป็นหนึ่งในร้านที่คนแนะนำให้มาเมื่อเยือนเชียงใหม่