20 ต.ค. 2566 | 16:30 น.
Stories of the Month เป็นซีรีส์ใหม่ของ The People ที่จะเป็นการบอกเล่าเรื่องราวน่าสนใจในแต่ละเดือน และเป็นประเด็นพิเศษให้ติดตามกันแบบไม่ซ้ำกัน
สำหรับเดือนตุลาคมนี้ เป็นเรื่องราวของ Local Entrepreneur ผู้ประกอบการไทยมากฝีมือที่สร้างชื่อและสามารถยืนหยัดอยู่บนสังเวียนธุรกิจได้แม้ต้องเจอกับการแข่งขันที่ดุเดือด ที่สำคัญยังมีแนวคิดที่สามารถสร้างไอเดียและแรงบันดาลใจให้กับผู้คน โดยสัปดาห์นี้เป็นเรื่องราวของ ‘ปั้นลี่เบเกอรี่’ (Panlee Bakery)
ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2473 กลิ่นความหอมของขนมปังจาก ‘ปั้นลี่เบเกอรี่’ ยังคงอบอวลไปทั่วย่านบางรัก กลายเป็นมนต์เสน่ห์ที่ใครมาเยือนย่านเก่าแก่แห่งนี้ เป็นต้องหลงเดินตามกลิ่นจนเจอ จาก 70 ปีก่อนมาจนถึงปัจจุบัน ขนมปังโฮมเมดเจ้าเก่าแก่ได้เดินทางมาถึงยุคของ ‘อู๋ - ชินภัทร วัฒนเตพงศ์’ ทายาทรุ่น 4 ผู้ปรับภาพลักษณ์ของร้านให้เข้ากับยุคสมัย แต่ยังคงความอร่อยไว้ไม่ต่างจากวันวาน
แนวคิดการพาธุรกิจให้ก้าวเข้าสู่ทายาทรุ่น 4 คือ ความซื่อสัตย์ ถ้อยคำเรียบง่ายที่ได้รับการส่งต่อมาจากรุ่นสู่รุ่น ซึ่งชินภัทรไม่ใช่แค่หยิบยกคำพูดเหล่านั้นมาพูดเพื่อความสวยหรู หากแต่เขายังปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัดจนกลายเป็นคติในการใช้ชีวิต
“สิ่งที่เราได้ยินตลอดตั้งแต่เด็ก คือ ทุกคนต้องอดทน ความอดทนจะนำมาซึ่งความสำเร็จ แล้วความซื่อสัตย์จะทำให้ความสำเร็จมันยั่งยืน”
ก่อนจะอธิบายต่อว่าขนมทุกชิ้นของปั้นลี่ใส่ความรักอัดแน่นลงไปจนล้น ออกมาเป็นขนมปังเนื้อละมุนที่อบขึ้นมาท่ามกลางบรรยากาศอันอบอุ่น คละเคล้าไปด้วยเสียงหัวเราะที่ลอยมาเป็นระยะ แต่ไม่ต้องห่วงว่าจะไม่ถูกหลักอนามัย เพราะทุกคนใส่ชุดสำหรับทำขนมแบบจัดเต็ม สิ่งแปลกปลอมหลุดไม่สามารถร่วงลงไปในขนมอย่างแน่นอน
เพราะสิ่งสำคัญที่สุดในการทำขนมนอกจากจะต้องใช้ใส่ใจความสะอาด และใช้ของดีมีคุณภาพแล้ว ปั้นลี่เบเกอรี่ยังคิดถึงความสุขของพนักงานเป็นเรื่องสำคัญไม่ต่างกัน
“ขนมที่เราทำทานให้ลูกค้าทาน ต้องใช้ของที่ดี มีคุณภาพ เราต้องคำนึงถึงลูกค้าก่อน ลูกค้าทานแล้วชอบ แล้วเขาจะกลับมาทานอีก คุณป้า (ทายาทรุ่น 2) พูดง่าย ๆ เลยว่าเธอทำอะไรกินน่ะที่บ้านน่ะ เธอก็ต้องเอาอย่างนั้นทำให้ลูกค้ากิน ถ้าเรากินได้ ลูกค้าทานได้ ถ้าเราทำของไม่ดีมา เรายังกินไม่ได้เลย แล้วลูกค้าที่ไหนจะมากินของเรา ต้องมีความซื่อสัตย์ต่อลูกค้า มันก็ประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน”
ส่วนการปรับตัวของทายาทรุ่น 4 เขาเล่าว่ากว่าจะเปลี่ยนใจคนดูแลรุ่น 2 และ 3 ซึ่งก็คือคุณป้าและคุณแม่ได้นั้น ชินภัทรต้องโน้มน้าวหลายรอบกว่าพวกเขาจะยอม เพราะการเปลี่ยนแปลงที่คนรุ่นเขาหวังจะเห็นนั้น อาจทำให้ปั้นลี่ห่างจากภาพลักษณ์เดิมไปไกลลิบ
“ผู้ใหญ่เขามองว่าสิ่งที่เขาทำมันก็ดีอยู่แล้ว ทุกวันนี้มีลูกค้าเดินมาที่ร้านตลอด ไม่เห็นมีความจำเป็นที่ต้องเปลี่ยนแปลงอะไร จนพอเราเรียนจบบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เราก็อยากเอาสิ่งที่เรียนมาพัฒนาร้าน
“เราพูดไปร้อยอย่างแต่ที่บ้านก็ทำให้ได้แค่ไม่กี่อย่าง จนคุณแม่บอกว่าถ้าอยากเปลี่ยนแปลง ก็ต้องทำเอง” เขายิ้ม
และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ยุคสมัยที่เขาหวังจะเห็นปั้นลี่แทรกอยู่กลางใจคนกรุง
ชินภัทรลาออกจากงานประจำที่ทำมาแล้ว 3 ปี เพื่อกลับมาดูแลกิจการครอบครัว เริ่มจากงานเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ เพิ่มโลโก้อาหมวย สัญลักษณ์ที่คิดขึ้นมาเพื่อให้เกียรติรุ่นแรกที่ทำร้านขนมปังปั้นลี่ รีโนเวทร้านให้มีที่สำหรับนั่งกินขนม ติดแอร์อำนวยความสะดวกสบายอีกนิดหน่อย เพิ่มเมนูน้ำให้มีความหลากหลาย พยายามดันแบรนด์ให้เห็นผ่านทางช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น และขยายหน้าร้านไปอีก 4 สาขาทั่วกรุงเทพฯ
ซึ่งชินภัทรเองก็ยอมรับว่าทุกอย่างมันยากกว่าที่ตาเห็น เขาเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าทำไม การที่เขาบอกว่าอยากปรับ แล้วที่บ้านไม่ยอมปรับให้มันเป็นเพราะอะไร
“คนพูดมันง่ายอยู่แล้ว แต่กว่าจะทำหนึ่งเรื่องให้ประสบความสำเร็จมันต้องใช้เวลา เราต้องมาเรียนรู้แล้วก็ลงมือทำเอง ถึงจะรู้ว่า อ๋อ! มันมีขั้นตอนที่มันเป็นลำดับขั้นตอนที่มันยุ่งยากนะกว่าจะทำออกมาได้ในหนึ่งเรื่อง
“แต่สิ่งที่ผมภูมิใจมากที่สุดคงเป็นเรื่องการรีโนเวทร้าน มีเมนู Snack box สำหรับจัดเลี้ยงเพิ่มเข้ามา ซึ่งการที่เราปรับปรุงร้านทำให้มีลูกค้ากลุ่มใหม่ ๆ มากขึ้น ในขณะเดียวกันเราก็สามารถรักษาลูกค้าเดิมของเราเอาไว้ได้ด้วย”
อีกหนึ่งความภูมิใจหลังจากเขาเข้ามาปรับภาพลักษณ์ร้าน คงหนีไม่พ้นการได้พูกคุยกับลูกค้าเก่า ๆ เขาเล่าว่ามีหลายคนบอกว่าเคยกินปั้นลี่ตั้งแต่ตัวกะเปี๊ยก ปัจจุบันแต่งงานมีครอบครัวแล้วยังไม่ลืมความอร่อยของขนมร้านนี้ได้เลย
คนฟังอย่างเขาได้แต่ยิ้มแก้มปริ เพราะการเป็นเจ้าของกิจการอายุเกือบร้อยปี ไม่ใช่เรื่องง่าย...
“กลายเป็นว่าปั้นลี่เบเกอรี่เป็นขนมของคนทุกวัยแล้ว คุณพ่อก็ทานได้ คุณลูกก็มีขนมที่ทาน มันเหมือนเป็น Timeless bakery
“บางทีเราไม่เคยไปอยู่ในยุคนั้น เราเจอคน อากง อาม่า ที่มาซื้อ เขาก็จะเล่าเรื่องให้เราฟังถึงเรื่องสมัยก่อนที่เขาเคยเจอคนรุ่นไหนก่อนหน้านั้น เล่าว่าเคยเจอป้าเราเป็นยังไง เคยเจอคุณแม่เป็นยังไง เคยเจอคุณพ่อเป็นยังไง เคยเจออาเหน่เป็นยังไง เป็นการแลกเปลี่ยนของช่วงวัยกันเวลาเข้ามา ถามสารทุกข์สุขดิบ แล้วก็เป็นแชร์มุมมองในส่วนของเราที่มีต่อลูกค้าที่เราจำยังลูกค้าได้”
เชื่อแล้วว่าทำไมปั้นลี่ถึงยังคงอยู่กลางใจของชาวบางรัก แม้เวลาจะผ่านมากว่าเจ็ดทศวรรษแล้วก็ตาม ทั้งความใส่ใจ ความซื่อตรงที่เขาบอกกับเราอย่างเปิดเผยไม่มีการแต่งเติมภาพลักษณ์ให้เกินจริง อีกทั้งยังพาไปชมการทำงานหลังร้าน พูดคุยกับพนักงานทุกคนอย่างใกล้ชิดสนิทสนม ไม่ต่างจากคนในครอบครัว
ก่อนจะหันไปหยิบขนมปังไส้หมูแดง เมนูขายดีของร้านมาให้เราชิม และคว้าเอาขนมปังไส้แฮมหมูหยอง ไส้สังขยาใบเตย ขนมปังไส้เนยสด มาให้ลองจนเต็มมือ ยังไม่หมด ขบวนเค้กก็ไหลเข้ามาอยู่ในถุงขนมเต็มไปหมด ตั้งแต่ทอฟฟี่เค้ก บราวนี่ ขนมช็อกบอล ขนมหน้าแตกกุ้งแห้ง และถั่วหิมพานต์ บอกตามตรงว่าการมาพูดคุยกับเขาครั้งนี้ไม่ต่างจากกลับบ้านมาเยี่ยมญาติ ที่ทั้งอบอุ่น และเต็มไปด้วยเรื่องเล่าที่ชวนสุขใจ