15 ม.ค. 2567 | 13:57 น.
- แบรนด์นี้เกิดจากไอเดียของ ‘ชาญ สิทธิญาวณิชย์’ และ ‘ป็อบ-ภาคิน โรจนเวคิน’
- ความน่าสนใจ คือ แบรนด์นี้เป็นรูปเป็นร่างได้จากการเสิร์ชหาข้อมูลจาก Google
ใครบอกว่า การจะทำแบรนด์หรือสร้างธุรกิจเป็นของตัวเองจำเป็นต้องมีความรู้และประสบการณ์ในแวดวงนั้นให้ดีเสียก่อน แต่ความจริงขอแค่มีไอเดียเจ๋ง ๆ รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร และกล้าลงมือทำ นั่นดูจะสำคัญมากกว่า
อย่างกรณีของ Maddy Hopper รองเท้ารักษ์โลกสัญชาติของสองหนุ่มเพื่อนซี้ที่เรียนจบด้านการเงิน จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยอย่าง ‘ชาญ สิทธิญาวณิชย์’ และ ‘ป็อบ-ภาคิน โรจนเวคิน’ สร้างขึ้นมาภายใต้คอนเซ็ปต์ Everyday sneakers for the planet เพื่อให้เป็นรองเท้าที่คนสวมใส่สบาย โลกก็สบายด้วย
ณ วันเริ่มต้นธุรกิจ ทั้งคู่ไม่มีความรู้และประสบการณ์ในธุรกิจนี้มาก่อนเลย แต่ให้กำเนิดรองเท้ารักษ์โลกของตัวเองด้วยการเริ่มต้นจากการหาข้อมูลจาก Google แล้วค่อย ๆ ก่อร่างสร้างให้เป็นธุรกิจได้สำเร็จ จนปัจจุบันสามารถสร้างยอดขายได้หลายพันคู่ต่อปี
ย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา ตอนนั้นชาญอยากได้รองเท้าที่สวมใส่สบาย ใส่ได้ทุกวัน ยิ่งผลิตจากวัสดุรีไซเคิลได้ยิ่งดี เพราะเขาอยากเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่นับวันจะรุนแรงมากขึ้น แต่เมื่อมองหารองเท้าประเภทนี้ในประเทศไทย กลับไม่มีช้อยส์ให้เลือกเลย จึงเกิดไอเดียอยากลองทำขึ้นมาเอง
“รองเท้าเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาโลกร้อน ผมเองอยากมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อสังคม พอมองไปในไทยไม่มีตัวเลือกเลย ส่วนใหญ่เป็นแบรนด์นอก ทำให้ผมอยากลองทำรองเท้ารักษ์โลกสัญชาติไทยขึ้นมา จึงชวนป็อบเพื่อนสนิทที่เรียนด้วยกันตั้งแต่เด็กมาทำ” ชาญเล่าถึงจุดเริ่มต้นของ Maddy Hopper
อย่างไรก็ตาม ด้วยการไม่มีความรู้และประสบการณ์ในธุรกิจรองเท้ามาก่อนเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการดีไซน์ การเลือกวัสดุ ไปจนถึงโรงงานในการผลิต ก็ถือเป็นเรื่องยากในการเริ่มต้นของทั้งคู่เหมือนกัน
แต่เมื่อพวกเขาตัดสินใจจะลงมือสร้างฝันของตัวเองแล้ว ทางออกที่ดี คือ ลงมือทำ โดยแทนที่จะเข้าคอร์สอบรมการทำรองเท้า หรือหลักสูตรดีไซน์แฟชั่น ไปจนถึงหลักสูตรเตรียมความพร้อมการในเป็นผู้ประกอบการเหมือนคนอื่น ทั้งคู่เลือกศึกษาหาข้อมูลจาก Google
เหตุผลนั่นเพราะทั้งคู่มองว่า เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลแบบครอบจักรวาลและดีที่สุด เนื่องจากอยากรู้อะไร ขอแค่เสิร์ชก็จะมีข้อมูลให้ ที่สำคัญ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย
“อย่างที่บอกพวกเราเริ่มจากศูนย์ มีงบไม่มาก แหล่งข้อมูลที่ดีที่สุดและไม่เสียค่าใช้จ่าย ก็คือ Google เมื่อลิสต์วัสดุในการผลิตได้แล้ว จากนั้นค่อยเอาข้อมูลที่ได้ไปคุยกับซัพพลายเออร์ คุยกับโรงงาน พวกนี้ก็หาจาก Google ต้องบอกว่า ช่วงแรกเราเอาความสนุกเข้าสู้
“ข้อมูลที่พวกผมจาก Google เริ่มตั้งแต่ช่องว่างของตลาด วิธีผลิตรองเท้าทำอย่างไร วัสดุในการผลิตมีอะไรบ้าง การออกแบบ ไปจนถึงทำอย่างไรถึงจะได้รองเท้าแบบรักษ์โลก หาข้อมูลพื้นฐานบวกกับการเอาความชอบของตัวเองตั้งเป็นโจทย์ก่อน”
พวกเขาใช้เวลาพัฒนาสินค้าอยู่ประมาณ 1 ปี ในที่สุดรองเท้ารุ่นแรกของ Maddy Hopper ในสไตล์มินิมอลก็ได้ออกมาวางจำหน่าย โดยรองเท้าจะเน้นวัสดุรีไซเคิลเกือบทั้งหมดตั้งแต่ตัวรองเท้าไปจนถึงแพ็กเกจจิ้ง
เริ่มจากตัวผ้าที่นำมาทำรองเท้ามาจากขวดพลาสติกรีไซเคิล, พื้นรองเท้าทำจากเศษยางพาราที่ใช้ผลิตเตียงยางพารานำมารีไซเคิล มีคุณสมบัติรองรับน้ำหนักได้ดี อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาเรื่องกลิ่นเท้า เพราะแบคทีเรียจะโตได้ยากในยางพารา ส่วนตัวเชือกรองเท้าทำมาจากขวดพลาสติกรีไซเคิล
ขณะที่แพ็กเกจจิ้งก็ป็นวัสดุรักษ์โลกเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น กล่องรองเท้า, ถุงกระดาษใส่รองเท้าแบบ washable kraft ที่สามารถนำไปซักแล้วนำมาใช้ใหม่ได้หลายครั้ง และกระดาษห่อรองเท้าทำมาจากข้าวโพดกับมันสำปะหลัง สามารถย่อยสลายได้ภายใน 180 วัน (ในสภาพแวดล้อมที่ย่อยสลายได้)
ส่วนผลตอบรับปรากฏว่า ได้รับการรับดีมาก และได้พัฒนารุ่นอื่นออกมา โดยปัจจุบัน Maddy Hopper มีอายุแบรนด์ 3 ปี สามารถขายได้หลักหลายพันคู่ต่อปี
“ผมว่าสิ่งที่ทำให้เรามาได้ถึงจุดนี้ คือ ต้องเริ่มจากโจทย์ที่ต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนว่า เราทำธุรกิจนี้เพื่ออะไร อย่างโจทย์ของ Maddy Hopper ไม่ได้มองแค่ธุรกิจหรือดูเฉพาะยอดขาย เราต้องการเป็นพลังส่วนหนึ่งที่ทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น เราหวังว่าเมื่อเราโตขึ้น เป็นที่รู้จักมากขึ้น คนจะมาใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้นด้วย
“สเต็ปต่อไปเราจะต่อยอดแบรนด์ให้คนรู้จักมากขึ้น อย่างไม่นานนี้ได้ Collaboration กับคนดังที่มีสไตล์เป็นคนตัวเองให้มาร่วมออกแบบรองเท้าคอลเลคชั่นพิเศษของแต่ละคน เช่น หลิน-มชณต สุวรรณมาศ หรือหลายคนรู้จักในนาม อีกี้ จากบทเพลงธาตุทองซาวด์, ฟ้า-ษริกา สารทศิลป์ศุภา และท็อป-ณภัทร โชคจินดาชัย ฯลฯ”
Maddy Hopper อาจจะเป็นหนึ่งในตัวอย่างให้กับใครหลายคนที่อยากสร้างแบรนด์หรือทำธุรกิจเป็นของตัวเองว่า ไม่จำเป็นต้องเริ่มจากสเกลใหญ่ หรือใช้เงินลงทุนมหาศาล ขอเพียงมีไอเดียที่เจ๋ง กล้าลงมือทำ โดยอาจเริ่มต้นจากจุดเล็ก ๆ ที่เหมาะสมกับธุรกิจของตัวเอง
อย่างที่ชาญและป็อบ-ภาคิน เลือกลงมือสร้างธุรกิจให้เป็นรูปเป็นร่างจากการหาข้อมูลจาก Google และค่อย ๆ พัฒนาต่อยอดไปเรื่อย ๆ
.
ภาพ : Maddy Hopper