วทันยา อมตานนท์: ทายาทรุ่น 2 ผู้ต่อยอดจาก ‘ตู้บุญเติม’ สู่ ‘เต่าบิน’ คาเฟ่อัตโนมัติที่ใครก็ติดใจ

วทันยา อมตานนท์: ทายาทรุ่น 2 ผู้ต่อยอดจาก ‘ตู้บุญเติม’ สู่ ‘เต่าบิน’ คาเฟ่อัตโนมัติที่ใครก็ติดใจ

‘ตอง - วทันยา อมตานนท์’ ทายาทรุ่น 2 แห่งอาณาจักรฟอร์ทฯ บริษัทเทคโนโลยีเก่าแก่ในไทย ผู้ต่อยอดธุรกิจจาก ‘ตู้บุญเติม’ สู่ ‘เต่าบิน’ ตู้ชงเครื่องดื่มอัตโนมัติที่ใครได้ลองเป็นต้องติดใจ

Stories of the Month เป็นซีรีส์ใหม่ของ The People ซึ่งจะเป็นการบอกเล่าเรื่องราวที่น่าสนใจในแต่ละเดือน และเป็นประเด็นพิเศษให้ติดตามกันแบบไม่ซ้ำกัน โดยเดือนสิงหาคม 2023 เป็นเรื่องราวของ ‘ทายาทธุรกิจ’

ธุรกิจในโลกปัจจุบันได้เดินทางมาถึงยุคของการ ‘ส่งต่อ’ และ ‘เปลี่ยนผ่าน’  ซึ่งถือเป็นจังหวะหัวเลี้ยวหัวต่อที่อาจจะชี้ให้เห็นถึงเส้นทางในอนาคตขององค์กรนั้น ๆ ว่าจะ ‘เดินหน้า’ หรือ ‘ถอยหลัง’ โดยทายาทธุรกิจที่เลือกมานำเสนอในซีรีส์นี้ จะโฟกัสคนรุ่นใหม่ที่สร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับองค์กร หรือเป็นบุคคลที่สามารถพลิกฟื้นจากธุรกิจขาลงให้กลับมาเติบโตมีอนาคต

หนึ่งในทายาทธุรกิจที่น่าสนใจคงหนีไม่พ้น ‘ตอง - วทันยา อมตานนท์’ ผู้ตัดสินใจลาออกจากบริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่ระดับโลกไมโครซอฟท์ กลับมาต่อยอดธุรกิจของที่บ้าน ปลุกปั้นจนออกมาเป็น ‘เต่าบิน’ คาเฟ่อัตโนมัติที่ชงเครื่องดื่มได้อร่อยเหมือนมีคนแอบอยู่ในตู้

ทายาทธุรกิจ : วทันยา อมตานนท์ ผู้ติดปีกเต่าบินให้โดดเด่นผ่านเครื่องดื่มหลากรส

นอกจากบทบาทการเป็นผู้บริหารธุรกิจเต่าบิน (Taobin) แล้ว ‘วทันยา อมตานนท์’ ยังเป็นลูกสาวของ ‘พงษ์ชัย อมตานนท์’ ผู้ก่อตั้งอาณาจักรฟอร์ทฯ ให้ล้ำสมัยกว่าใครอื่นในอุตสาหกรรมเดียวกัน หากยังนึกภาพไม่ออกว่าฟอร์ทยิ่งใหญ่เพียงใด คงต้องหยิบยกตัวอย่างที่ใกล้ตัวที่สุด ‘ตู้บุญเติม’ มาให้เชยชม

เพราะนี่คือการปฏิวัติวิธีการเติมเงิน จ่ายบิลค่าบริการต่าง ๆ แถมยังสามารถจ่ายค่าปรับ บริจาคเงิน หรือจะซื้อสติ๊กเกอร์ LINE ก็ยังได้ เรียกได้ว่าแค่มีบุญเติมตู้เดียวก็ไม่ต้องเสียเวลาไปทำธุระที่ไหนไกล

ความสำเร็จของฟอร์ทยังไม่หมดเพียงแค่นั้น เพราะหลังจากวทันยาเรียนจบด้านวิศวกรรมคอมพิวเตอร์จากอิมพีเรียล คอลเลจ พ่วงด้วยปริญญาโทด้านบริหาร จากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน (University College London หรือ UCL) และเริ่มต้นทำงานเป็น UX Designer ที่บริษัท Microsoft ออกแบบซอฟต์แวร์ให้วิศวกร

วทันยานำประสบการณ์ที่ได้รับจากการร่วมงานกับบริษัทเทคฯ ระดับโลก มาปรับใช้กับการพัฒนาตู้เต่าบิน เพราะเป้าหมายของเธอ ไม่ใช่แค่การทำงานเพื่อบริษัทต่างชาติรายอื่น หากแต่เป็นการ ‘กลับบ้าน’ มาเพื่อดูแลธุรกิจครอบครัวที่บริษัท ฟอร์ท เวนดิ้ง จำกัด ให้กลายเป็นที่ยอมรับระดับโลก

จากวันแรกที่เต่าบินเริ่มออกเดินทางในปี 2019 ปัจจุบันธุรกิจที่วทันยาและทีมงานคนไทย ร่วมกันออกแบบระบบทุกอย่างภายในคาเฟ่อัตโนมัติเครื่องนี้ กำลังบินไกลไปยังต่างแดน โดยประเทศแรกที่เซ็นสัญญาไปเรียบร้อยคือ มาเลเซีย

นับว่าเป็นการเดินทางครั้งใหญ่ของเต่าบินที่จะบุกทะยานไปทั่วโลก เพราะเธอไม่ใช่แค่นำตู้ชงเครื่องดื่มอัตโนมัติไปวางทิ้งไว้เฉย ๆ แต่ยังมีการปรับเมนูเครื่องดื่มให้ตรงกับความชอบของคนในประเทศนั้น ๆ

“ประเทศที่จะไปชอบอะไร รสชาติแบบไหน รวมถึงการบริหารทรัพยากรวัตถุดิบ ก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ๆ” วทันยา อมตานนท์ ให้สัมภาษณ์กับประชาชาติธุรกิจ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2023 จากบทความเรื่อง เปิดใจ “วทันยา อมตานนท์” เบื้องหลัง “เต่าบิน” ที่ไม่ได้บินง่าย ๆ

ในปี 2022 ที่ผ่านมา ‘ตู้เต่าบิน’ ได้รับการยอมรับให้เป็นหนึ่งในสุดยอดนวัตกรรม ด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการ ประเภทการออกแบบผลิตภัณฑ์

คงไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะบอกว่า ‘วทันยา อมตานนท์’ คือทายาทธุรกิจรุ่นใหม่ ที่เข้ามาเพิ่มความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรฟอร์ทให้ก้าวล้ำไปอีกขั้น ชนิดที่ว่าในปัจจุบันชื่อเสียงของเต่าบินยังถูกพูดถึงอยู่เสมอ ตั้งแต่ช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธุรกิจหลายรายทยอยปิดตัวลง แต่เต่าบินยังคงอยู่ยั้งยืนยง ฝ่ากระแสความผันผวนของเศรษฐกิจมาได้อย่างงดงาม

นอกจากนี้ ชื่อของ วทันยา อมตานนท์ ยังได้รับเสนอให้เป็นหนึ่งในผู้รับรางวัล The People Awards 2023 รางวัลที่มอบให้กับ ‘ผู้คน’ ผู้เป็นแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนแปลงสังคม ภายใต้แนวคิด People of Tomorrow

ซึ่งเธอได้เผยกับ The People ในงานประกาศรางวัลว่า เต่าบินจะเดินทางมาถึงทุกวันนี้ไม่ได้เลย หากขาดทีมงานผู้อยู่เบื้องหลังทุกคน

“เต่าบิน เป็นงานกลุ่มไม่ใช่งานเดี่ยว คงไม่มีทางมาถึงวันนี้ได้ ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือ ความทุ่มเทและความตั้งใจของคนทั้งทีม พูดง่าย ๆ คือ ผ่านความล้มเหลวมาหลายรอบ ทางทีมก็ผ่านมาได้ด้วยความสามัคคี ตัวตองส่วนตัวไม่ได้คิดว่า ความสำเร็จไม่ได้ดูกันที่ปลายทาง ระหว่างทางเราแก้ปัญหามาได้หลายรอบ

“เต่าบินเกิดมาจากการต้องการแก้ปัญหา ทำยังไงดีในเรื่อง Ageing Society ทำยังไงให้คนเอาเวลาไปใช้ในสิ่งที่มีประโยชน์ เป็นหนึ่งเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นมาเพื่อต้องการแก้ไขปัญหาจริง ๆ

“หลังจากนี้จะพยายามก้าวข้ามขีดจำกัดของบริษัทเทคโนโลยีเมืองไทย และสร้างผลกระทบในเชิงบวก เพื่อส่งเครื่องดื่มในราคาหารสอง หรือหารสาม”