คลีเมนต์ ลินด์ลีย์ แรกกี นักอุตุนิยมวิทยา ต้นกำเนิดแนวคิดตั้งชื่อพายุ

คลีเมนต์ ลินด์ลีย์ แรกกี นักอุตุนิยมวิทยา ต้นกำเนิดแนวคิดตั้งชื่อพายุ

คลีเมนต์ ลินด์ลีย์ แรกกี นักอุตุนิยมวิทยา ต้นกำเนิดแนวคิดตั้งชื่อพายุ

หากยังจำกันได้ เมืองไทยเคยโดนพิษสงของพายุ “ปาบึก” ที่ไม่ใช่ “ปลาบึก” เพราะ “ปาบึก” คือชื่อพายุหมุนเขตร้อน ที่แปลว่า “ปลาบึก” แต่เขียนว่า “ปาบึก” (ປາບຶກ) หรือ Pabuk เพราะประเทศลาวเป็นผู้ตั้งชื่อ ซึ่งคนที่มีส่วนอย่างมากในความสับสนของชื่อเรียกนี้คือ คลีเมนต์ ลินด์ลีย์ แรกกี นักอุตุนิยมวิทยาต้นกำเนิดแนวคิดการตั้งชื่อพายุด้วยชื่อเฉพาะ คลีเมนต์ ลินด์ลีย์ แรกกี (Clement Lindley Wragge) เป็นนักอุตุนิยมวิทยานามอุโฆษ เกิดที่วุร์สเตอร์เชอร์ ทางมิดแลนด์ตะวันตกของอังกฤษ เมื่อวันที่ 18 กันยายน ค.ศ. 1852 หลังจากมารดาเสียชีวิตตอนเขาอายุ 5 เดือน และบิดาเสียชีวิตในอีก 5 ปีต่อมา แรกกีก็ย้ายไปอยู่กับยาย ผู้ที่สอนเรื่องอุตุนิยมวิทยาให้กับเขา แรกกีเริ่มงานด้านอุตุนิยมวิทยาด้วยการทำงานที่สถานีตรวจอากาศในแถวสแตฟฟอร์ดเชอร์ ต่อมาเขาได้ปีนขึ้นยอดเขา เบน เนวิส ทุกวันเพื่อจดวัดค่าอากาศ และให้ภรรยาวัดค่าจากระดับน้ำทะเล ทำให้สมาคมอุตุนิยมวิทยาสก็อตแลนด์มอบรางวัลเหรียญทองให้เพื่อเป็นเกียรติ ในปี 1883 แรกกีได้มรดกจากป้า จึงย้ายไปอยู่ทางตอนใต้ของออสเตรเลีย แล้วเป็นคนหนึ่งมีส่วนสำคัญในการก่อตั้งสมาคมอุตุนิยมวิทยาของออสเตรเลีย ซึ่งแรกกีได้ช่วยเขียนรายงานเกี่ยวกับสภาพอากาศให้กับรัฐควีนส์แลนด์ สร้างผลงานป้องกันอันตรายจากพายุให้กับชาวประมง จนได้รับแต่งตั้งให้เป็นนักอุตุนิยมวิทยาประจำรัฐควีนส์แลนด์ แรกกีเป็นคนริเริ่มให้มีการตั้งชื่อพายุด้วยชื่อเฉพาะ จากเดิมที่ตั้งตามชื่อแหล่งที่เกิด หรือชื่อนักบุญในภาษาสเปน โดยครั้งแรกเขามีความคิดจะตั้งตามตัวอักษรกรีก แต่เปลี่ยนมาใช้ชื่อตามเทวปกรณ์ของชาวโพลีนีเซีย ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อผู้หญิงที่ให้ความรู้สึกอ่อนโยน และชื่อนักการเมือง ที่เขาเปรียบเทียบว่านักการเมืองนำหายนะมาสู่ประเทศไม่ต่างจากพายุรุนแรงพลังทำลายล้างสูง แต่หลังจากแวกกีเกษียณอายุไป แนวคิดตั้งชื่อนี้ก็ถูกหยุดไปด้วยเป็นเวลานานกว่า 60 ปี จนกระทั่งช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 นักอุตุนิยมวิทยาในกองทัพอเมริกันได้รื้อฟื้นวิธีตั้งชื่อพายุหมุนเขตร้อนด้วยชื่อสตรี ด้วยเหตุผลโรแมนติกส่วนตัวนิดๆ คือ จะได้เอาชื่อแฟนหรือภรรยาของตัวเองมาตั้งแทนความคิดถึงของคนที่อยู่ทางนั้นว่าคนทางนี้ยังคิดถึงกันเหมือนอย่างเดิมไม่เคยเปลี่ยน หลังสงครามสงบ วิธีการตั้งชื่อได้พัฒนาให้เรียงตามลำดับตัวอักษร จนในปี 2000 สมาชิกของคณะกรรมการพายุไต้ฝุ่นขององค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (World Meteorological Organizations Typhoon Committee) 14 ประเทศ ได้มีข้อตกลงระหว่างประเทศให้ตั้งชื่อพายุแบบใหม่ โดยให้แต่ละประเทศส่งรายชื่อพายุในภาษาท้องถิ่นมาประเทศละ 10 ชื่อ รวมเป็น 140 ชื่อ หมุนเวียนใช้ตามลำดับการเกิด มาถึงตอนนี้ทุกคนน่าจะรู้ที่มาของชื่อ “ปาบึก” กันแล้วว่าทำไมไม่เขียนว่า “ปลาบึก” แบบไทยๆ เพราะนั่นเป็นชื่อที่ประเทศลาวส่งเข้าประกวด ชื่อ “ปาบึก” เป็นชื่อในรายชื่อพายุหมุนเขตร้อนในชุดที่ 2 ลำดับที่ 6 ของมหาสมุทรแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ ถ้าไม่นับปี 2019 ที่ผ่านมาได้มีการตั้งชื่อพายุว่าปาบึกไปแล้ว 3 ครั้ง คือ พายุไต้ฝุ่นปาบึก ปี 2001, พายุไต้ฝุ่นปาบึก ปี 2007 และ พายุโซนร้อนกำลังแรงปาบึก ปี 2013 ซึ่งต่อจากปาบึกจะใช้ชื่อเรียกพายุว่า หวู่ดิบ จากมาเก๊า ที่หมายถึง ผีเสื้อ และ เซอปัต จากมาเลเซีย ตามลำดับ นอกจากผลงานชิ้นโบว์แดงในการเป็นต้นคิดวิธีเรียกชื่อพายุแล้ว แรกกียังสร้างคุณูปการให้กับวงการอุตุนิยมวิทยาอีกทั้งการเขียนหนังสือ “Wragge's Australian Weather Guide and Almanac” ในปี 1898 รวมถึงความพยายามทดลองยิงปืนใหญ่ Steiger Vortex ขึ้นฟ้าเพื่อขอฝนในปี 1902 ซึ่งน่าเสียดายที่โครงการนี้ไม่มีฝนตกตามที่คาดไว้ จนกลายเป็นจุดเริ่มของจุดจบชีวิตการเป็นนักอุตุนิยมวิทยาของเขา   ที่มา  http://enacademic.com https://www.qhatlas.com.au https://en.wikipedia.org