มนต์เสน่ห์ 36 ปีของประเพณี ‘สลุงหลวง’ หนึ่งเดียวในประเทศที่ จ.ลำปาง ปี๋ใหม่เมืองชาวล้านนา

มนต์เสน่ห์ 36 ปีของประเพณี ‘สลุงหลวง’ หนึ่งเดียวในประเทศที่ จ.ลำปาง ปี๋ใหม่เมืองชาวล้านนา

ประวัติศาสตร์ 36 ปีของประเพณี ‘สลุงหลวง’ หนึ่งเดียวในประเทศที่ จ.ลำปาง คู่บ้านคู่เมืองของสวัสดีปีใหม่เมืองของชาวล้านนามานมนาน

KEY

POINTS

  • ประเพณีสลุงหลวง เป็นขนบธรรมเนียมของชาวล้านนา จ.ลำปาง ที่มีมานาน 36 ปี
  • เทศกาลสงกรานต์เป็น วันขึ้นปีใหม่เมืองตามความเชื่อของชาวล้านนา
  • โอ - วรุต วรธรรม เทพบุตรสลุงคนแรกในลำปาง เริ่มต้นขึ้นในปี 2531

สวัสดีปี๋ใหม่เมืองชาวล้านนา 12 เมษายน 2567 ชวนให้นึกถึงขนบธรรมเนียมประเพณีโบราณของชาวลำปาง อีกหนึ่งประเพณีสำคัญประจำจังหวัด ซึ่งเทศกาลวันสงกรานต์ถือว่าเป็นวันขึ้นปีใหม่ของชาวล้านนา ดังนั้น ‘ประเพณีสลุงหลวง’ จึงเป็นมนต์เสน่ห์ที่ไม่เคยเสื่อมคลายตลอด 36 ปีนับตั้งแต่ที่เคยมีมา

‘สลุง’ ในภาษาล้านนา หมายถึง ภาชนะที่ใช้ใส่น้ำ หรือขันน้ำ

ส่วนคำว่า ‘หลวง’ ภาษาท้องถิ่น หมายถึง ใหญ่

‘ประเพณีสลุงหลวง’ เกิดขึ้นครั้งแรกในปี 2531 เพื่อเป็นศิริมงคลแก่ชาวลำปางในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ โดยเหตุผลที่เป็นสลุงหลวงหรือขันเงินใบใหญ่ เพราะว่าชาวลำปางที่ร่วมกันบริจาคทรัพย์ พวกเขามีความตั้งใจอยากจะสร้างขันเงินบริสุทธิ์สำหรับใส่น้ำสรงพระแก้วดอนเต้า ซึ่งเป็นองค์พระศักดิ์สิทธิ์ที่มีประวัติศาสตร์ยาวนาน และอยู่คู่บ้านคู่เมืองชาวลำปางมาตลอด

ทั้งนี้ ในครั้งแรกที่มีจารึกไว้สำหรับ ‘สลุงหลวง’ ของชาวลำปาง ทำขึ้นด้วยเงินหนัก 38 กิโลกรัม หรือ 2,533 บาท มีความกว้างประมาณ 89 เซนติเมตร สูง 49 เซนติเมตร ซึ่งครั้งนั้นยอดบริจาครวมกันเป็นมูลค่าสูงถึง 432,398 บาท อีกทั้งยังมีการจารึกบนขอบสลุงหลวงด้วยเพื่อแสดงความปรารถนาของชาวลำปางที่อยากจะสร้างจริง ๆ

โดยตามความเชื่อของชาวล้านนาถือว่า การสรงน้ำพระที่ใช้น้ำขมิ้น ส้มป่อย น้ำอบ น้ำหอมใส่ใน ‘สลุง’ เป็นการแสดงความเคารพบูชาในองค์พระที่ให้ความสุขสงบร่มเย็นตลอดทั้งปีใหม่เมืองนั่นเอง

ชาวลำปางมีความเชื่อว่า ทุกวันที่ 12 เมษายนของทุกปี จะเป็นการจัดประเพณีแห่สลุงหลวงไปรอบเมืองลำปาง เพื่อให้ชาวลำปางที่มาร่วมงานสามารถสรงน้ำพระได้ ซึ่งในขบวนแห่จะมี ‘เทพบุตร’ สลุงหลวง 6 องค์เป็นผู้ประคองสลุงหลวง และเพื่อรับน้ำขมิ้นส้มป่อยจากประชาชนที่ร่วมงานด้วย

โดยเทพบุตรทั้ง 6 จะแต่งเครื่องทรงของ ‘เทวดา’ คือช่วงล่างเป็นสีขาว และสวมเครื่องประดับความภาพต้นแบบจากวัดเจ็ดยอด จ.เชียงใหม่ เพราะว่าเทพบุตรสลุงหลวงจะเป็นผู้อัญเชิญน้ำส้มป่อย และเป็นเชิงสัญลักาษณ์ของการปกป้องรักษา เป็นเทพบุตรที่ช่วยดูแลสลุงหลวง หากประเพณีการแห่ไม่ติดขัดสิ่งใดจนร้ายแรง ปีใหม่เมืองของปีนั้น ๆ ก็จะราบรื่น ไร้อุปสรรคเช่นกัน

ความเชื่อโบราณของชาวลำปาง คือ ผู้ชายที่จะสามารถเป็นเทพบุตรสลุงได้ ต้องมีเชื้อสายเป็นลูกหลานของชาวลำปางเท่านั้น ซึ่งเทพบุตรสลุงคนแรกที่มีชื่อในประวัติศาสตร์ ก็ไม่ใช่ใครที่ไหน เป็นนักแสดง และพระเอกแต่ตอนนี้เขาได้จากโลกไปแล้ว อย่าง ‘โอ - วรุต วรธรรมโดยเขานั่งเป็นเทพบุตรสลุงคนแรกในลำปาง เมื่อปี 2531 และเป็นเทพบุตรสลุงอีกครั้งในปี 2534

ตามความเชื่อของชาวลำปางในอดีต สิ่งที่จะทำกันในวันปี๋ใหม่เมือง และบางส่วนยังถ่ายทอดความเชื่อนี้มายังปัจจุบัน ได้แก่

วันที่ 12 เมษายน ช่วงเย็นจะมีการทำความสะอาดบ้าน

วันที่ 13 เมษายน ช่วงเช้าจะทำความสะอาดบ้าน อาบน้ำ สระผม ตัดเล็บ โกนหนวด ทำความสะอาดทุกอย่าง โดยคนลำปางโบราณจะเรียกพิธีการนี้ว่า “วันสังขารล่อง”

วันที่ 14 เมษายน ถือว่าเป็น “วันเนา” ซึ่งจะอยู่ระหว่างปีเก่ากับปีใหม่ โดยช่วงเช้าชาวลำปางโบราณจะเตรียมอาหารสำหรับทำบุญให้บรรพบุรุษ และช่วงบ่ายจะเตรียม “ขนทรายเข้าวัด” เพราะถือว่าทุกครั้งเราได้เหยียบทรายจากในวัดติดเท้าออกมา ดังนั้นในวันนั้นเราต้องขนทรายมจากแม่น้ำ เพื่อคืนให้วัด และช่วงเย็นชาวลำปางจะมาปักตุง 12 ราศีที่กองทรายกองนั้น *ข้อห้ามของวันนี้ก็คือ ห้ามด่า ห้ามว่า เพราะความเชื่อที่ว่าปากจะเน่า

วันที่ 15 เมษายน “วันวันพญาวัน หรือ วันพระญาวัน” ชาวลำปางจะเตรียมสำรับที่ทำไว้เมื่อวานเพื่อทำบุญถวายพระ ทำบุญให้กับบรรพบุรุษ และช่วงบ่ายจะเริ่มรดน้ำดำหัวพ่อแม่ ญาติพี่น้อง และพระในบ้าน

วันที่ 16 เมษายน “วันปากปี” จะถือว่าได้เริ่มต้นชีวิตใหม่ รับสิ่งใหม่ ๆ เข้ามา โดยเช้าตรู่จะมีการส่งเคราะห์เพื่อตัวเอง เพื่อครอบครัวก่อน หรือบางบ้านจะใช้วิธีสืบชะตา ซึ่งในวันนี้ชาวลำปางเชื่อว่า ต้องทานอาหารที่เป็นมงคล หนุนนำสิ่งดี ๆ เข้ามา เช่น แกงขนุน, ตำขนุน หรือแม้แต่ขนุนสุก เป็นต้น

กลิ่นอายของประเพณีแห่สลุงหลวงที่ยังถ่ายทอดต่อกันมากกว่า 30 ปี สะท้อนถึงอารยธรรมความเชื่อ และการอนุรักษ์รักษาขนบธรรมเนียมประเพณีโบราณอันดีงามนี้ โดยตั้งใจให้คงความเป็นเอกลักษณ์ และเสน่ห์ที่ไม่เจือจางไป อย่างน้อย ๆ ประเพณีดังกล่าวนี้ จะช่วยบ่งชี้รากเหง้าของชาวลำปาง และความเชื่อจากพื้นเพเดิมได้อย่างงดงาม

 

ภาพ: tnews

อ้างอิง:

m-culture

dhammathai

duangjaiblog

lampangcity [1]

lampang [2]

tnews