13 เม.ย. 2567 | 13:34 น.
KEY
POINTS
ดังที่ทราบกันว่า สงกรานต์ไม่ได้มีแต่เฉพาะประเทศไทย ประเทศเพื่อนบ้านข้างเคียงในอุษาคเนย์อย่างเมียนมาร์ สปป.ลาว กัมพูชา ต่างก็มีประเพณีวันสงกรานต์ ไม่รวมถึงอุษาคเนย์ในแถบหมู่เกาะอย่างมาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย เพราะจารีตวัฒนธรรมแตกต่างกันตรงที่แถบบริเวณดังกล่าวเป็นเขตที่ศาสนาอิสลามมีอิทธิพลค่อนข้างมาก
แต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่มีประเพณีเทศกาลรื่นเริง หรืออย่างชาวมลายูในภาคใต้ของไทย ก็มีเนียนมาร่วมเล่นสงกรานต์กับคนไทยพุทธ ก็เป็นเรื่องปกติ เพราะที่จริงสงกรานต์เป็นวัฒนธรรมค่อนข้างเปิด ถึงแม้จะมีจุดเริ่มจากระบบการนับวันเดือนปีของคนพราหมณ์+พุทธ แต่ก็ไม่กีดกันเชื้อชาติเผ่าพันธุ์ เราจึงเห็นฝรั่งมังค่าที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในเมืองไทยเป็นอันมากในช่วงสงกรานต์ เพื่อร่วมเล่นสงกรานต์ที่ถนนข้าวสาร พัทยา หรือที่อื่น ๆ ที่มีชาวต่างประเทศมาพักอาศัยอยู่มาก
สงกรานต์ของไทยและอุษาคเนย์ในปัจจุบันนี้กล่าวได้ว่าเป็น ‘ประเพณีสากล’ ไปแล้ว ถึงแม้ว่าไทยและกัมพูชาจะต่างก็ขึ้นทะเบียนเป็น ‘มรดกโลกทางวัฒนธรรม’ ของตน ก็ยังถือเป็น ‘วัฒนธรรมร่วม’ ของทั้งสองประเทศ
เจตนารมณ์ขององค์การยูเนสโก (UNESSCO) เกี่ยวกับเรื่อง ‘มรดกโลก’ (World heritage) เป็นเรื่องความพยายามที่จะอนุรักษ์และฟื้นฟูวัฒนธรรมสำคัญในคงอยู่คู่สากล โดยเฉพาะวัฒนธรรมที่ถือได้ว่ามีคุณค่าอันเป็นสากลต่อมวลมนุษยชาติ แต่กลายเป็นว่าความชาตินิยม-คลั่งชาติ ของคนในประเทศอุษาคเนย์ กลับทำให้การขึ้นทะเบียนมรดกโลกเป็นเรื่องทางชาตินิยม แสดงความเป็นเจ้าเข้าเจ้าของวัฒนธรรม
ปัญหานี้ไม่ใช่ปัญหาของมรดกโลกโดยตัวมันเอง หากแต่เป็นปัญหาในทางแนวคิดการมองตลอดจนการให้คุณค่าที่ไปอิงกับคติทางชาตินิยม ทั้ง ๆ ที่รัฐชาติเป็นสิ่งที่เพิ่งเกิด เส้นพรมแดนระหว่างประเทศในอุษาคเนย์เพิ่งจะมีเมื่อปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 จากการเข้ามาล่าเขตแดนของชาติตะวันตก
อุษาคเนย์เดิมนั้นไม่ใช่ว่าไม่มีเขตแดน มีเขตแดน แต่ไม่ใช่เขตแดนของรัฐชาติ เป็นเขตแดนของอาณาจักรแว่นแคว้นที่ขึ้นกับบุญบารมีของกษัตริย์แต่ละพระองค์ เขตแดนรัฐก่อนคริสต์ศตวรรษที่ 19 จึงมีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อย ๆ ตามแต่ว่ากษัตริย์พระองค์ใดจะมีอานุภาพมากน้อย
เขตแดนไม่ใช่สิ่งสำคัญ เป็นผลพลอยได้จากการแผ่อำนาจของกษัตริย์แต่ละพระองค์ สิ่งสำคัญที่เป็นอันดับแรกที่คิดคำนึงถึงกันในยุคก่อนนั้นคือ ‘กำลังคน’ ซึ่งจะเป็นแหล่งที่มาของแรงงานในภาคการผลิต การส่งส่วย การค้า ตลอดจนกิจกรรมสงคราม
รัฐอุษาคเนย์จึงไม่กีดกันการอพยพเข้ามาของประชากรเพื่อนบ้านข้างเคียง ตรงข้ามเหตุที่ทำสงครามกันเยอะแต่ก่อนนั้นก็เนื่องจากต้องการกวาดต้อนเอาพลเมืองของอีกฝ่ายมาเป็นกำลังของบ้านเมืองตน สงครามเป็นเรื่องเฉพาะของผู้นำ ส่วนพลเมืองก็ทำมาหาเลี้ยงชีพกันไป มีศึกสงครามค่อยเกณฑ์คนมาประจำการจัดตั้งเป็นกองทัพ
เมื่อพลเมืองมีการเดินทางไปมาหาสู่กันได้เป็นปกติ ก็ทำให้วัฒนธรรมที่ติดตัวมากับพลเมืองเหล่านั้นได้แพร่หลายเข้ามาในสยามด้วย ขณะเดียวกันชาวสยามที่ถูกกวาดต้อนไป ไม่ว่าเป็นชาวหัวเมืองตะวันออกที่ถูกกองทัพพระเจ้าละแวกมากวาดต้อนไปกัมพูชาในช่วงต้นพุทธศตวรรษที่ 22 ชาวโยเดียที่ถูกกวาดต้อนไปพม่าหลังจากสงครามเสียกรุงศรีอยุธยา พ.ศ.2310 วัฒนธรรมสยามก็แพร่หลายไปยังพม่าและกัมพูชาด้วย
ส่วนที่แพร่เข้ามาในไทยสยาม ก็มีหลายช่วงด้วยกัน ศึกแต่ละศึกมักจะจบลงโดยการกวาดต้อนครอบครัวพลเมืองของฝ่ายตรงข้ามเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่ในบ้านเมืองสยาม สยามจึงเต็มไปด้วยกลุ่มชาติพันธุ์จากเพื่อนบ้าน ไม่ว่าจะเป็นลาว เขมร มอญ เวียดนาม ยวน/โยนก มลายูจากทางใต้ ฯลฯ และจำนวนไม่น้อยก็เป็นการอพยพลี้ภัยเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร ไม่เว้นแม้แต่กรณีพม่า ก็เคยเข้ามาหลายครั้งเหมือนกัน เช่น ครั้งสมเด็จพระเจ้าบรมโกศ, สมเด็จพระเจ้าตากสินฯ, รัชกาลที่ 1 เป็นต้น
สงกรานต์เป็นประเพณีหนึ่งที่แลกเปลี่ยนไปมาเนื่องจากการอพยพย้ายถิ่นฐานทั้งแบบเข้ามากับออกไป (ยังเพื่อนบ้าน) คนไปอยู่ที่ไหน วัฒนธรรมก็ติดตัวพวกเขาไปด้วย ดังนั้นที่กลัวว่าวัฒนธรรมจะสูญหาย ก็ขอบอกเลยว่า ไม่ต้องกลัวไปหรอก วัฒนธรรมไม่สูญหาย มีแต่ดัดแปลงไปตามสภาพบรรยากาศชีวิตของผู้คน จากเดิมที่เน้นพิธีกรรมการรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ ปัจจุบันเปลี่ยนมาเป็นการละเล่นสาดน้ำเป็นที่สนุกสนาน
มีความเชื่อกันโดยมากว่า สงกรานต์เป็นวัฒนธรรมอินเดีย ความเชื่อนี้ถูกครึ่ง ไม่ถูกอีกครึ่งหนึ่ง ที่ว่าถูกครึ่งหนึ่งนั้นก็เพราะ ‘สงกรานต์’ แค่คำก็สันสกฤต คือเป็นอินเดียอยู่แล้ว ตามมาด้วยระบบการนับวันเดือนปีที่ถือคติว่าสงกรานต์คือวันเริ่มต้นปีใหม่ ก็เป็นอินเดีย
แต่อีกครึ่งที่ไม่ถูกนั้นก็คือว่า สงกรานต์ในอุษาคเนย์ปัจจุบันพัฒนาไปไกลเกินกว่าจะยังคงเป็นแค่วัฒนธรรมแบบ ‘อินตะระเดีย’ น่ะสิ สงกรานต์ในอุษาคเนย์มีคติสายอื่นแทรกปนเข้ามา ถือเป็น ‘วันตรุษ’ ด้วย ( ‘ตรุษ’ ที่แปลว่า ตัด, ขาด, สิ้น หมายถึงการตัดปี, สิ้นปีเก่า) อันนี้เป็นวัฒนธรรมจีน
อีกอย่างตามระบบเวลาวันเดือนปี สงกรานต์แต่ดั้งเดิมของอินเดียโบราณจะเป็นเดือนสี่ (เมษายน) แต่สงกรานต์ของอุษาคเนย์ที่เป็นเดือนห้า (พฤษภาคม) ซึ่งมาพร้อมกับ ‘พิธีตรุษ’ (สัมพรรษฉรฉิน) ด้วยนั้นเป็นอิทธิพลวัฒนธรรมจีน
สรุปสั้น ๆ ง่าย ๆ ก็คือ อันว่าสงกรานต์ไทย-อุษาคเนย์นี้เป็น ‘จปอ.’ (จีนปนอินเดีย) ไม่ใช่อินเดียล้วน ๆ เพียว ๆ อย่างที่เชื่อกันไปเอง ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดามาก เพราะอุษาคเนย์อยู่กึ่งกลางระหว่าง 2 อารยธรรมใหญ่ของโลกในยุคโน้น อย่างตะวันตก (อินเดีย) กับตะวันออก (จีน) และในสังคมอุษาคเนย์ก็มีชาวจีนอพยพเข้ามาตั้งรกรากจนสืบมาเป็นหลานม่า, เหลนอากง, อาหมวย, อาตี๋ ฯลฯ อย่างทุกวันนี้แหล่ะ!!!
สงกรานต์เดิมในอุษาคเนย์ ไม่ว่าจะเป็นไทย กัมพูชา ลาว ล้วนแล้วแต่มีแกนหลักเหมือนกันอยู่อย่างตรงที่การกำหนดให้มี 3 วัน (ไม่มีประเพณีกำหนดให้เล่นกันเป็นเดือนเหมือนที่รัฐบาลไทยสมัย ฯพณฯ เศรษฐา ทวีสิน เกือบประกาศไปแล้ว) เหตุที่ให้มี 3 วัน ก็เพราะแบ่งออกเป็นวันสำคัญ 3 วันด้วยกัน
อย่างของกัมพูชา สงกรานต์เป็นประเพณีโบราณเรียกกันว่า ‘โจลชนัมทเมย’ จัดขึ้นในช่วงต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยว ซึ่งแต่เดิมจัดตามจันทรคติ ต่อมาได้มีการเลื่อนไปจัดตามวันทางสุริยคติ ประมาณวันที่ 13 หรือ 14 เมษายน ปกติการเฉลิมฉลองปีใหม่ในเขมรนี้จะจัดขึ้น 3 วัน วันแรกเรียกว่า ‘วันมหาสงกรานต์’ หรือ ‘วันปีใหม่’ แต่ก่อนจะถึงวันปีใหม่ 3 วัน ทุกบ้านจะต้องจัดเตรียมอาหารและทำความสะอาดบ้านเรือน แต่งตัวด้วยดอกไม้และเครื่องหอม จัดโต๊ะบูชา สำหรับวันแรก ช่วงเช้าจะนำอาหารไปถวายพระ ช่วงเย็นจะมีการช่วยกันขนทรายเข้าวัด ช่วงหัวค่ำจะมีการช่วยกันก่อเจดีย์ทราย และเติมน้ำในตุ่มที่วัดให้เต็ม
วันที่สอง คือ ‘วันครอบครัว’ พ่อแม่ลูกและญาติพี่น้องจะมารวมตัวกัน อาจจะมีการให้ของขวัญกันเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ด้วย ส่วนวันที่สาม คือ ‘วันเริ่มต้นศกใหม่’ หรือ ‘วันเปิดศักราชใหม่’ ช่วงเช้าจะนิมนต์พระมาสวดให้พร นอกจากนี้ยังมีการสรงน้ำพระพุทธรูปโดยใช้น้ำอบมาชำระล้างพระพุทธรูป รดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ และมีการละเล่นต่าง ๆ บริเวณวัด เช่น วิ่งกระสอบ เล่นลูกช่วง สะบ้า มอญซ่อนผ้า ฯลฯ
สงกรานต์ของลาว เรียกว่า ‘สังขาน’ จะจัดขึ้น 3 วัน วันแรกเรียกว่า ‘วันสังขานล่วง’ เป็นวันทำความสะอาดบ้านเรือนเพื่อปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดีออกไปและรับสิ่งใหม่เข้ามา วันที่สองเรียกว่า ‘วันเนา’ เป็นวันครอบครัวเช่นเดียวกับของชาวเขมร เป็นวันที่จะมีญาติพี่น้องมารวมตัวกันเพื่อบายศรีสู่ขวัญให้ผู้หลักผู้ใหญ่ และวันสุดท้ายเรียกว่า ‘วันสังขานขึ้น’ หรือ ‘วันปีใหม่’ จะมีการบายศรีสู่ขวัญ อวยพรซึ่งกันและกัน รวมถึงมีการสรงน้ำพระ และการแห่นางสังขาน ซึ่งก็คือนางสงกรานต์ของลาว นอกจากนี้ยังมีการละเล่นอื่น ๆ อีกด้วย เช่น เล่นสะบ้า เล่นงูกินหาง เป็นต้น สำหรับเทศกาลสงกรานต์ของประเทศลาวที่โด่งดังนั้นคือ เทศกาลสงกรานต์หลวงพะบาง ซึ่งแต่ละปีจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางกันไปร่วมเป็นจำนวนมาก
ส่วนของพม่า สงกรานต์เรียกว่า ‘ตะจังเหย่ตะเบงบะแวด่อ’ หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ‘เหย่บะแวด่อ’ (เหย่ แปลว่า ‘พิธีน้ำ’ บะแวด่อ แปลว่า ‘เทศกาล’) จัดขึ้นในช่วงสัปดาห์ที่ 2 ของเดือนเมษายน มี 5 วัน ปัจจุบันรัฐบาลพม่ากำหนดประเพณีสงกรานต์ให้ตรงกับวันที่ 13 - 17 เมษายนของทุกปี ในวันปีใหม่นี้จะเริ่มต้นด้วยเทศกาล ‘ธินจัน’ (Thingyan) เล่นน้ำตลอดทั้ง 5 วันก่อนวันขึ้นปีใหม่ เทศกาลสงกรานต์ของพม่านั้น เดิมมีเพียงการประพรมน้ำในขันเงิน ต่อมาเริ่มมีการสาดน้ำกัน นอกจากนี้ยังถือว่าเป็นช่วงมงคลมีการทำบุญ เข้าวัดถือศีล ทรงน้ำพระพุทธรูปและพระเจดีย์ มีการรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ บางครั้งอาจจะมีการเล่นพิเรนทร์ ๆ เช่น เอาเขม่าก้นหม้อมาป้ายหน้ากัน มัดคนรวมกันแล้วให้เต้นระบำให้ดูถึงจะปล่อย เป็นต้น
นอกจากพม่าจะมีสงกรานต์กันแบบจัดเต็ม 5 วันแล้ว ยังพบหลักฐานว่าพม่ามีการเล่นสาดน้ำในวันสงกรานต์มาก่อนใครเพื่อนในอุษาคเนย์ หลักฐานที่ว่านี้คือหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์ที่ชื่อว่า ‘The Graphic’ ของอังกฤษ ฉบับวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1888 (พ.ศ.2431) เป็นภาพการเล่นสงกรานต์ที่เมืองมัณฑะเลย์ มีคำบรรยายใต้ภาพเอาไว้ว่า “The Burmese New Year, A warm corner in Mandalay during water festival.” (ปีใหม่ของชาวพม่า, มุมที่อบอุ่นในระหว่างเทศกาลสาดน้ำ)
ในภาพยังมีชาวฝรั่งขี่ม้า เป็นชาวอังกฤษซึ่งก็คือเจ้าอาณานิคมของพม่าในเวลานั้น อยู่ในท่วงท่ายกมือปิดป้องแรงดันน้ำจากกระบอกฉีดน้ำทำจากไม้ไผ่และจากหม้อน้ำดินเผาที่ผู้หญิงและเด็กเอามาตักน้ำสาดใส่ แน่นอนว่าภาพนี้ถูกนำไปขยายความว่าเป็นการแสดงออกถึงความไม่พอใจของชาวพม่าต่อเจ้าอาณานิคม โดยเป็นการปรับปรุงวัฒนธรรมมาใช้เป็นสัญลักษณ์
อย่างไรก็ตาม สำหรับชาวพม่าได้อ้างอิงที่มาของประเพณีนี้ของตนว่าสืบมาตั้งแต่ครั้งสมัยอาณาจักรพุกาม (พ.ศ.1392 - 1840) แต่การอ้างอิงดังกล่าวนี้ก็ดูเลื่อนลอย ไม่ต่างจากที่ชาวกัมพูชานิยมอ้างจุดกำเนิดสรรพสิ่งของตนย้อนกลับไปที่สมัยอาณาจักรเมืองพระนคร (พ.ศ.1345 - 1974)
ไม่มีร่องรอยหลักฐานใด ๆ ว่าการสาดน้ำของไทยและอุษาคเนย์แพร่มาจากพม่า พม่าอาจมีอิทธิพลทางวัฒนธรรมอยู่บ้าง เพราะในอดีตเป็นชนชาติที่ขยายอำนาจมาก นอกจากสมัยพุกาม ยังมีสมัยราชวงศ์ตองอูและสมัยราชวงศ์คองบอง ที่รบชนะและขยายอำนาจไปมายังสยาม ล้านนา ล้านช้าง แต่ไม่พบว่าวัฒนธรรมสงกรานต์ของล้านนา ลาว (อดีตคือล้านช้าง) สยาม (ไทย) จะได้รับอิทธิพลพม่า
ทั้งนี้ทั้งนั้นการเล่นสาดน้ำก็ไม่ได้มีแต่เฉพาะพม่า ปรากฏว่าในหมู่ชาวตะวันตก ก็มีการละเล่นคล้ายคลึงกันนี้เนื่องในวันอีสเตอร์ ซึ่งจะกล่าวถึงในลำดับถัดไป
เมื่อมีการละเล่นสาดน้ำกันในแถบยุโรปกลาง-ตะวันออก-เหนือ โดยที่ไม่ใช่ประเพณีที่เพิ่งมีด้วย มีมาตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 14 แถมยังมีความเป็นไปได้ที่จะมีมาก่อนหน้านั้นขึ้นไปอีก เพราะเป็นประเพณีเก่าแก่ของชาวยุโรปเหนือ แล้วมาผสมผสานกับประเพณีวันอีสเตอร์ของชาวคริสต์ เมื่อชาวยุโรปส่วนนี้หันมานับถือคริสตศาสนากันในสมัยกลาง (Middle age)
ก็นำมาสู่หัวข้อคำถามที่ว่า ที่สังคมไทยชอบอธิบายกันว่า มีสงกรานต์เพราะอากาศเมืองไทยร้อนนั้น ก็แล้วทำไมแต่ดั้งเดิมไทยไม่มีการสาดน้ำ (ยกเว้นพม่า) มีแต่รดน้ำดำหัว ซึ่งเป็นคนละเรื่องกับสาดน้ำ เพิ่งจะมาสาดน้ำกันเมื่อไม่นานมานี้ ขนาดใน ‘พระราชพิธีสิบสองเดือน’ พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 5 ตีพิมพ์ครั้งแรกเมื่อพ.ศ.2455 (สมัยรัชกาลที่ 6) ก็ไม่มีการกล่าวถึงการละเล่นสาดน้ำในหมู่ราษฎร มีแต่พิธีสงฆ์และการรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่
การเล่นสาดน้ำ ถ้าเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกับอากาศร้อนจริง เหตุใดจึงมีการนิยมเล่นกันในแถบชายฝั่งทะเลที่อากาศถึงแม้จะแดดแรง แต่มีลมพัดและมีไอเย็นจากทะเล จังหวัดที่นิยมเล่นกันที่ริมทะเลมากก็เช่น ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด เป็นต้น ไม่ใช่ด้วยผลว่าจังหวัดเหล่านี้ติดทะเล หากแต่บริเวณที่เขานิยมเล่นกันกลับเป็นย่านริมทะเล ไม่เล่นกันในเขตร้อนตอนในของจังหวัด มีเล่นก็ไม่ใหญ่โตเยอะแยะมากมายเหมือนอย่างในย่านริมทะเล
คำถามคือทำไมไม่มีสาดน้ำกันแต่โบราณล่ะ? ทำไมเพิ่งจะมาสาดกันเมื่อไม่นานมานี้ คนสมัยก่อนไม่ร้อนหรือ? ที่สำคัญที่เป็นเรื่องใหญ่เลยสำหรับประเด็นนี้ก็คือ ทำไมจึงมีประเพณีสาดน้ำกันในหมู่ประเทศที่อากาศหนาวเย็นอย่างยุโรปกลาง-ตะวันออก-เหนือ แถมยังน่าเชื่อด้วยซ้ำไปว่าเป็นประเพณีการสาดน้ำแรกสุดที่แพร่หลายไปทั่วโลกในภายหลัง นั่นคือประเพณีที่เรียกว่า ‘Wet Monday’
ความพยายามที่จะอธิบายการเกิดประเพณีด้วยแนวคิดวิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ด้วยปัจจัยอย่างสภาพภูมิอากาศ จึงเป็นความพยายามที่ไม่ประสบผลสำเร็จ ฟังไม่ค่อยขึ้น แต่ก็เชื่อกันไปเยอะแยะมากมาย คำอธิบายนี้โดยตัวมันเองก็เพิ่งจะเกิดมีขึ้น ไม่พบคำอธิบายทำนองนี้ในเอกสารโบราณที่เกี่ยวเนื่องกับพระราชพิธี เพราะขึ้นชื่อพิธีกรรมใด ๆ ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องเกี่ยวพันกับคติความเชื่อทางศาสนา กล่าวคือนักปราชญ์ทางศาสนาเป็นพวกแรกและกลุ่มหลักที่มีบทบาทในการสร้างคำอธิบายเบื้องหลังประเพณี
ผู้เขียนขออนุญาตตั้งข้อสังเกตเอาไว้สำหรับในที่นี้ว่า ที่มาของการสาดน้ำในวันสงกรานต์ อาจจะสืบเนื่องมาจากลักษณะความเป็นประเพณีมวลชน (Mass tradition) ที่จะมีการเลือกรับดัดแปลงกันอยู่ตลอด โดยเฉพาะการดัดแปลงไปตามมหาอำนาจระดับโลก อย่างในอดีตก็เคยดัดแปลงปรุงแต่งไปตามวัฒนธรรมอินเดียผสมกับจีน จนเกิดเป็นอัตลักษณ์ของตนเองในอุษาคเนย์ขึ้นมา
ยุโรปในบางประเทศเช่น โปแลนด์, เช็ก, ฮังการี, สโลวาเกีย และยูเครน มีการเล่นสาดน้ำเนื่องในวันหลังอีสเตอร์ เรียกว่า ‘Wet Monday’ หรือ ‘Water Festival’ ภาษาท้องถิ่นชาวโปลเรียกว่า ‘Śmigus Dyngus’ (ชมิกุส-ไดน์กุส) พบหลักฐานการเล่นกันมาตั้งแต่สมัยกลาง ราวคริสต์ศตวรรษที่ 14 โดยเป็นผลจากการผสมผสานกันระหว่างประเพณีความเชื่อของชาวคริสต์กับประเพณีของคนพื้นถิ่น ซึ่งอันหลังนี้ยากจะสืบค้นถึงจุดกำเนิด เพราะคงอยู่คู่กับชาวพื้นเมืองในยุโรปกลาง-ตะวันออก-เหนือ มาไม่รู้กี่ร้อยปีก่อนหน้าที่คริสตศาสนาจะแพร่จากใต้ขึ้นไปเหนือ
ประเพณีนี้จะจัดขึ้นในช่วงวันที่ 2 ของเทศกาลอีสเตอร์ ตามความเชื่อของชาวคริสต์ที่สืบทอดกันมา จะใช้น้ำเป็นการชำระล้างบาปเพื่อต้อนรับฤดูใบไม้ร่วง เดิมประเพณี Wet Monday จะมีเพียงผู้ชายเท่านั้นที่เป็นฝ่ายสาดน้ำใส่ผู้หญิง เพราะเชื่อกันว่าผู้หญิงมีบาปกำเนิด (Original sin) ติดตัวมามากกว่าผู้ชาย สะท้อนแนวคิดแบบชายเป็นใหญ่ (Patriarchy) ในหมู่ชาวคริสต์มาก แต่ช่วงหลังจะเป็นชายหรือหญิงก็โดนสาดน้ำได้เหมือนกัน เพียงแต่ผู้หญิงที่หน้าตาสะสวยจะถูกรุมสาดน้ำจนเปียกชุ่มมากหน่อย ในขณะเดียวกันการถูกสาดน้ำก็กลายเป็นเครื่องบ่งบอกความเป็นที่รักที่ชอบของคนในชุมชนละแวกย่าน
ในสหรัฐอเมริกา มีผู้อพยพจากยุโรปกลาง-เหนือ เล่นสาดน้ำกันหลายแห่ง เช่น ที่เมืองบัฟฟาโล่ รัฐนิวยอร์ค (Buffalo, New York), เมืองเคลฟแลนด์ รัฐโอไฮโอ (Cleveland, Ohio), เมืองมาเซดอน รัฐนิวยอร์ค (Macedon, New York), เมืองเซาธ์เบนด์ รัฐอินเดียน่า (South Bend, Indiana), เมืองพาซาเดน่า รัฐแคลิฟอร์เนีย (Pasadena, California), เมืองไพน์ครีก รัฐวิสคอนซิน (Pine Creek, Wisconsin) เป็นต้น
ในความทรงจำของผู้เขียน ซึ่งมีวัยเด็กอยู่ที่ภาคตะวันออก ยังรำลึกจดจำได้ดีว่าที่ที่มีการเล่นสาดน้ำสงกรานต์กันมากเป็นอันดับต้น ๆ ของประเทศ ที่จะมีชาวฝรั่งต่างชาติเข้าร่วมเล่นกันเป็นจำนวนมาก ก่อนหน้ายุคถนนข้าวสาร ก็คือที่พัทยา ซึ่งเป็นถิ่นพักผ่อนของชาวอเมริกัน (ยังไม่ใช่ยุคของชาวรัสเซียอย่างในปัจจุบัน)
ก็เลยจะขอตั้งเป็นข้อสังเกตไว้ว่า ตามองค์ความรู้ที่มี ณ ปัจจุบันนี้ การเล่นสาดน้ำในไทย ไม่น่าจะมีมายาวนานเหมือนอย่างพม่า วรรณกรรมสำคัญเกี่ยวกับพิธีกรรมของแต่ละยุคสมัย อย่างเช่น ‘โคลงทวาทศมาส’ (สมัยพระนารายณ์), ‘เรื่องนางนพมาศหรือตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์’ (สมัยรัชกาลที่ 3), ‘พระราชพิธีสิบสองเดือน’ พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 5 ตีพิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2455 (สมัยรัชกาลที่ 6) ต่างก็ไม่มีสาดน้ำ
การสาดน้ำเพิ่งมีกันมากในช่วงหลังทศวรรษ 2500 เป็นต้นมา ในช่วงนั้นเป็นช่วงที่มีสงครามเวียดนาม อเมริกาเข้ามาตั้งฐานทัพอยู่ในประเทศไทย และพัทยาก็ถูกทำให้เป็นแหล่งพักตากอากาศของเหล่าทหารจีไอ ก็จึงอาจจะเป็นตามที่ตั้งประเด็นไว้ตอนต้นที่ว่า คนไปอยู่ไหน วัฒนธรรมก็แพร่ติดตัวไปยังที่นั่นด้วย ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอันใด ที่สงกรานต์จะมีวัฒนธรรมฝรั่งเข้ามาปะปน ในเมื่อเดิมก็เอาอินเดียมาปนกับจีนเป็นปกติ เป็นการปรุงแต่งวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นแบบเป็นไปเอง (โดยไม่รู้ตัว)
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ก่อนหน้าทศวรรษ 2500 สงกรานต์ในอุษาคเนย์มีประวัติศาสตร์การผ่านกระบวนการทำให้เป็นเรื่องทางโลกย์ (Secularize) จนมีลักษณะเป็น ‘วัฒนธรรมของมวลชน’ (mass culture) หย่าขาดจาก ‘วัฒนธรรมหลวง’ (Royal culture) ของราชสำนักและชนชั้นนำไปมากแล้ว
ฝรั่งต่างชาติก็มีส่วนร่วมกับสงกรานต์ไทยมาก แต่ละปีมีชาวยุโรปและอเมริกา เดินทางเข้ามาประเทศไทยในช่วงสงกรานต์ เพื่อร่วมเล่นสงกรานต์ก็มาก แค่เฉพาะที่ถนนข้าวสารก็นับกันไม่หวาดไหว ไม่ใช่แค่เพราะเป็นประเพณีรื่นเริงสนุกสนาน หากแต่ลึกไปกว่านั้นก็คือเพราะเป็นวัฒนธรรมร่วมที่ขยายจากอุษาคเนย์ไปเชื่อมต่อและผสมผสานกับวัฒนธรรมตะวันตกด้วย
และนี่ก็เป็นคำตอบได้อีกทางว่า ทำไมเมื่อรับวัฒนธรรมตะวันตกสมัยใหม่จนมีระบบการนับเวลาแบบใหม่ที่เริ่มต้นปีใหม่กันที่ 1 มกราคมแล้ว แต่สงกรานต์ไม่ได้เลิกไปด้วย นั่นเพราะสงกรานต์ในอุษาคเนย์เป็นมากกว่าเรื่องการนับเวลาไปมากแล้วนั่นเอง
นอกจากนี้สงกรานต์ในอุษาคเนย์ทุกประเทศ ยังมีลักษณะร่วมกันอีกอย่างคือเป็นประเพณีของไพร่ราษฎรค่อนข้างมาก เป็นประเพณีที่ตัดขาดแยกจากประเพณีหลวง และไม่ได้ล้อตามประเพณีหลวง ดังนั้นสงกรานต์ในแบบที่เรารู้จักจึงเป็นสงกรานต์แบบใหม่ในยุคที่วัฒนธรรมมวลชนเติบโตและเบ่งบานมากแล้ว
สงกรานต์มีการเปลี่ยนแปลงนัยความหมาย อย่างน้อย 2 ช่วง เดิมทีมุ่งเน้นการแสดงความเคารพต่อผู้หลักผู้ใหญ่ อันนี้เป็นสงกรานต์ในแง่ ‘รดน้ำดำหัว’ กับสงกรานต์ในแง่เทศกาลรื่นเริงมีการละเล่นสาดน้ำ และเป็นช่วงงดเว้นหรือผ่อนคลายจากความตึงเครียดทางประเพณีและการงาน การงานไม่ต้องพูดถึง ยังไงเสียชนชั้นแรงงานพลัดถิ่นล้วนมีส่วนร่วมกับประเพณีนี้มาก ถ้าไม่ได้กลับบ้าน ก็เป็นช่วงที่จะมาตั้งวงกินเหล้า เปิดเพลงเสียงดัง ๆ การผ่อนคลายความตึงเครียดทางประเพณี สงกรานต์เป็นช่วงที่หนุ่มสาวได้มีโอกาสพบเจอกันแบบถึงเนื้อถึงตัว การประแป้ง การเต้น ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่ปกติทำไม่ได้ในชีวิตประจำวัน
ปัจจุบันการรดน้ำดำหัวผู้หลักผู้ใหญ่ ไม่ได้เป็นไฮไลต์ของประเพณีสงกรานต์มาได้ระยะหนึ่งแล้ว เพราะถูกแทนที่ด้วยการเล่นสาดน้ำ เป็นเรื่องของวัยรุ่นหนุ่มสาวแยกต่างหากเลย ถึงจะมีคนแก่คนชราเล่นสาดน้ำด้วยบ้าง แต่โดยสาระหลักแล้วก็เป็นเรื่องวัยรุ่นหนุ่มสาวเป็นการเฉพาะนั่นแหล่ะ นอกจากนี้ยังเกิดมีวัฒนธรรมย่อยแทรกปนขึ้นมาอย่างการมีอุปกรณ์ฉีดน้ำในรูปลักษณ์แบบอาวุธสงคราม ทำให้สงกรานต์เกิดภาพลักษณ์ในแง่ความรุนแรงและการต่อสู้ระหว่างผู้มีอาวุธ (ปืนฉีดน้ำ) อันนี้สังคมไทยดูจะเป็นหนักกว่าเพื่อนบ้าน อาจเพราะอุปกรณ์ฉีดน้ำดังกล่าวนี้มีทั้งการผลิตและการจำหน่ายอยู่ในไทยเป็นหลักเลย
จะเห็นได้ว่า ถึงแม้สงกรานต์ในแต่ละประเทศของอุษาคเนย์จะมีรายละเอียดแตกต่างกัน คนลาวในบางท้องที่จัดแห่นางแมวเพื่อขอฝนในช่วงนี้ คนเขมรก็มีเล่น ‘ตรุษเนียงแมว’ คล้ายคลึงกับ ‘แห่นางแมว’ เป็นประเพณีขอฝนเช่นกัน ถึงรูปแบบจะแตกต่างกัน แต่ทว่ากลับมีหลักการคล้ายคลึงกันคือการผ่อนคลายความตึงเครียดทางประเพณี ได้ทำบางสิ่งบางอย่างที่ในชีวิตประจำวันปกติไม่ได้ทำหรือทำไม่ได้ ทั้ง ‘แห่นางแมว’ (ลาว) และ ‘ตรุษเนียงแมว’ (เขมร) ล้วนแต่ยังอยู่ในขนบการละเล่นพื้นบ้าน เป็นเรื่องของสังคมชนบทซะเยอะ
ในต่างประเทศ เทศกาลแบบนี้จึงมีส่วนสำคัญที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากรัฐและกลุ่มทุน เพื่อให้แรงงานของพวกตนได้ผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้าและความตึงเครียดกันมาทั้งปี พูดภาษาปัจจุบันก็คือการได้ ‘ชาร์จแบต’ ก่อนจะเข้าทำงานและใช้ชีวิตแบบเดิมซ้ำ ๆ ซาก ๆ ที่กลายเป็นเรื่องปกติในชีวิตประจำวันแต่ละปี
สงกรานต์ปัจจุบันเกิดเป็นวัฒนธรรมร่วม ไม่ใช่เฉพาะภายในอุษาคเนย์เอง หากแต่เป็น ‘มรดกโลกทางวัฒนธรรม’ คือวัฒนธรรมที่มีลักษณะเป็นสากล ความสำคัญของวัฒนธรรมประเพณีในช่วงหลังมานี้ไฮไลต์อยู่ที่ตรงนี้ ปัญหาคือวัฒนธรรมข้ามชาติแบบนี้มักจะถูกมองแต่ภายใต้กรอบคิดของลัทธิชาตินิยม-คลั่งชาติ เราจึงควรเป็นชาตินิยมให้น้อยลง เพื่อเป็นมนุษย์ร่วมโลกให้มากขึ้น ถึงจะอยู่ในโลกอนาคตได้ต่อไป
เรื่อง : กำพล จำปาพันธ์
อ้างอิง
กำพล จำปาพันธ์. “ช่วง ‘สงกรานต์’ สมัยอยุธยา ถึงรัตนโกสินทร์ ‘มนุษย์อยุธยา’ ทำอะไรต่างจากยุคปัจจุบันบ้าง?” The People.co (เผยแพร่เมื่อวันที่ 13 เมษายน 2566).
ชัยธัช สมมุติสกุล. “สงกรานต์ในอาเซียน” (Published: August 28, 2014).
วทัญญู ฟักทอง. “"สาดน้ำสงกรานต์" หลักฐานเก่าสุดอยู่ที่พม่า” The People.co (เผยแพร่เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2563).
Anonymous. “Easter Monday (redirected from Wet Monday)” (Searched: April 8, 2024).
Anonymous. “Húsvéti Locsolkodás (or Wet Monday) in Hungary 2024” (Published: April 1, 2024).
Baran, Marta. “What is a Wet Monday in Poland?” (Searched: April 8, 2024).
Ogrodowska, Barbara. “Wet Monday” (Published: April 16, 2003).
Stille, Gabriel. “Śmigus-Dyngus: Poland's National Water Fight Day” (Published: Mar 11, 2014).
Tram, Bao. “Wet Monday, a tradition of every family, university and flat in Poland” (Published: February 19, 2023).
Wikipedia. “Śmigus-dyngus” (Searched: April 8, 2024).