หนวดเครา : อาวุธลับชายอินเดีย สัญลักษณ์ความเป็นชาย และการต่อรองอำนาจ

หนวดเครา : อาวุธลับชายอินเดีย สัญลักษณ์ความเป็นชาย และการต่อรองอำนาจ

เมื่อ....หนวดเครา กลายเป็นสัญลักษณ์ของความภาคภูมิใจ อำนาจ และความเป็นชายของคนอินเดีย ศาสนาจึงไม่สัมพันธ์ มีเพียงความเชื่อ จารีต และวัฒนธรรม ที่ส่งต่อกันจากบรรพบุรุษเมื่อครั้งล่าอาณานิคม

คงไม่ใช่ทุกคนที่ชอบหนวดเครา แต่คนที่นี่พวกเขารักมัน...

เรากำลังพูดถึง ‘อินเดีย’ ประเทศที่ประชากรชายเกือบ 100% หน้าตาถูกปกคลุมด้วยหนวด หรือเครา หรือมีทั้งสองอย่างผสมปนเป บ้างก็สั้นบ้างก็ยาว ขึ้นอยู่กับศาสนา วรรณะ หรือสถานภาพทางสังคม

“คนอินเดีย ส่วนใหญ่เป็นมุสลิมใช่ไหม...?”

นี่คือสิ่งที่เราได้ยินบ่อย ๆ ตลอดหลายปีที่ผ่านมา เป็นทุกครั้งที่ผองเพื่อน และคนใกล้ตัว รู้ข่าวว่าเราจะไปเที่ยวประเทศอินเดีย Stereotype หรือการมองแบบเหมารวม ส่วนหนึ่งคงมาจากรูปลักษณ์ และหนวดเคราที่คลอเคลียเรียงเส้นไปทั่วหน้าผู้ชายอินเดีย

ความเข้าใจผิดเรื่องนี้เกิดขึ้นบ่อย ๆ จนเราค่อย ๆ หาคำตอบไปทีละเรื่อง ซึ่งวิธีการก็จะมีตั้งแต่การอ่าน การคุย และการสังเกต

หนวดเครา : อาวุธลับชายอินเดีย สัญลักษณ์ความเป็นชาย และการต่อรองอำนาจ

คนอินเดียส่วนใหญ่นับถือศาสนา ‘ฮินดู’ ประชากรหลักของศาสนานี้มีมากถึงเกือบ 80% ของประชากรทั้งประเทศ ส่วน ‘อิสลาม’ ต่อแถวเป็นอันดับ 2 ประมาณ 14% แต่ก็ยังมีคนกลุ่มน้อยศาสนาอื่นที่เป็นคนอินเดียโดยกำเนิด อย่าง ศาสนาคริสต์ 2.3%, ศาสนาซิกข์ เกือบ 2% และศาสนาพุทธ ที่มีไม่ถึง 1% ด้วยซ้ำ ทั้งที่เป็นดินแดนต้นกำเนิดของศาสนาพุทธ

ดังนั้น คนอินเดียที่ไว้หนวดเครา คือ คนที่นับถืออิสลาม พูดแบบนั้นคงไม่ครบถ้วนทั้งหมด เพราะคนอินเดียทุกศาสนาไว้หนวดเคราเหมือนกัน

เราจะเดินทางข้ามไทม์แมชชีน ไปยุคก่อนศตวรรษที่ 18 ยินดีต้อนรับสู่โลกที่ชายอินเดีย ‘วรรณะสูง’ เท่านั้น ที่จะได้รับอนุญาตให้ไว้หนวดได้ ผ่านระบบจตุรวรรณะทั้ง 5 ก็คือ พราหมณ์  กษัตริย์ แพศย์ ศูทร และ จัณฑาล จากหลักคิดทางโครงสร้างที่สืบทอดกันมานับตั้งแต่การเข้ามาของอารยัน

หนวดเครา : อาวุธลับชายอินเดีย สัญลักษณ์ความเป็นชาย และการต่อรองอำนาจ

ความเชื่อและหลักคิดแบบนี้ มีส่วนอย่างมากที่กลืนกินความเชื่อของชายอินเดียทั้งประเทศว่า ‘ไว้หนวดเครา’ เป็นสัญลักษณ์ของอำนาจ และการต่อรองอันทรงพลัง

“ยิ่งคุณมีหนวดเคราสวยงามเพียงใด คุณจะยิ่งมีความเป็นชายมากขึ้นเท่านั้น....”

หนวดเคราสำหรับคนชายอินเดีย มันคือสัญลักษณ์ของอำนาจ ความเป็นชาย ความแข็งแรง และความมีระเบียบ

Sneha Krishnan หนุ่มอินเดียวัย 22 ปี พูดถึงหนวดของเขาราวกับกำลังจ้องมองไปที่หญิงสาวที่กำลังเต้นระบำอย่างเริงร่า “ผมรู้สึกมั่นใจ และรักตัวเองมากขึ้น ถ้าวันไหนที่ออกจากบ้านแล้วเห็นหนวดยังอยู่ในระเบียบ ไม่ยุ่งเหยิง...ผมไม่เคยมีความคิดที่จะโกนหนวดหรือเคราตัวเองเลยสักนิด ไม่อย่างนั้น คงรู้สึกเหมือนเดินแก้ผ้าออกจากบ้าน”

“ผมเคยได้ยินมาว่า สมัยก่อนถ้าผู้ชายอินเดียคนไหนไม่ไว้หนวดเครา เขาจะถูกลงโทษ...”

คงเป็นข้อมูลเพียงอย่างเดียวที่เราสืบค้นไม่เจอชัด ๆ ว่าหลักฐานนี้เคยเกิดขึ้นจริง จึงอธิบายไม่ได้ว่า ทำไมพวกเขาต้องถูกลงโทษ หากไม่มีหนวดและเคราอย่างที่คนอื่นคาดหวัง แต่บทสัมภาษณ์นี้น่าจะพอสะท้อนความคิดเรื่องหนวดกับคนอินเดียได้ว่าไม่ใช่เรื่องของแฟชั่น

หนวดเครา : อาวุธลับชายอินเดีย สัญลักษณ์ความเป็นชาย และการต่อรองอำนาจ

‘สัธคุรุ’ (Sadhguru) เป็น ‘คุรุ’ หรือผู้นำทางจิตวิญญาณของคนอินเดีย เป็นผู้ทรงอิทธิพลทางความคิด มีชื่อเสียงในด้านการสอนโยคะ เคยพูดถึงเหตุผลการไว้หนวดเคราของเขา และความเชื่อของคนอินเดียในปี 2004

“หนวดเคราไม่ใช่สำหรับ คุรุ เท่านั้น แต่สำหรับผู้ชายทุกคน เชื่อผมเถอะ ไม่มีสิ่งไหนในร่างกายที่ไม่มีประโยชน์ หรือไม่มีจุดประสงค์

 

“ผมแค่จินตนาการว่า ถ้า 10 ปีข้างหน้า โลกนี้ไม่มีกระจก ผมก็ยังดูเหมือนเดิม เพราะหนวดเคราผมก็จะอยู่แบบนี้ มันไม่ใช่แฟชั่น แต่มันคือสิ่งที่ธรรมชาติมอบให้ผู้ชาย”

ซึ่งหนวด เครา และคนอินเดีย 3 สิ่งนี้ไม่ใช่แค่ความเชื่อ หรือ จารีตบางอย่างที่ลึกซึ้งเกินเข้าใจ แต่เคยมียุคที่คนอินเดียไว้หนวดแลกเงินมาแล้ว เพราะมันมีผลต่ออำนาจต่อรอง และเงิน อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

หากย้อนไปในช่วงไล่ล่ายุคอาณานิคม ในปี 1854 ทหารทุกคนในกองทัพบอมเบย์ (มุมไบ) ของบริษัทอินเดียตะวันออก บังคับให้ผู้ชายอินเดียทุกคนไว้หนวด โดยให้เหตุผลว่า ผู้ชายที่ไม่มีหนวดถือว่าเป็น ‘เด็กและเยาวชน’ และ ‘ไม่เป็นลูกผู้ชาย’ ซึ่งก็ยากที่จะให้จับปืนถือมีดไปออกรบ

ในช่วงเวลาเดียวกัน ระหว่างที่โลกกำลังเกิดสงครามไครเมีย ไม่มีทหารคนไหนเลยที่โกนหนวด โดยเฉพาะกองทัพแถวหน้า ซึ่งเป็นหน่วยที่ต้องเรียกความเชื่อมั่น และน่าเกรงขามให้กับกองทัพทั้งหมดได้

หรือ ในปี 1860 ที่กองทัพทหารอังกฤษทุกคนต้องไว้หนวด ซึ่งมีระบุในพระราชกฤษฎีกาว่า “ให้ทหารทุกคนไว้ผมสั้น คางและริมฝีปากล่างจะถูกโกน แต่ไม่ใช่ริมฝีปากบน…” โดยคำสั่งนี้มีผลไปจนถึงปี 1916 ก่อนที่กฎระเบียบนี้ได้ถูกยกเลิกไป

แต่สำหรับในอินเดีย โดยเฉพาะในช่วงศตวรรษที่ 18 - 19 หลายชุมชนที่เป็นนักรบ เช่น Rajput (ราชบุตร) “หนวดได้รับการยกย่องอย่างสูง” โดยผู้ชายอินเดียที่มีหนวด ผู้คนจะเชื่อว่า มีความแข็งแรงกว่าคนไม่มีหนวด

บางครั้ง ‘หนวด’ ก็เป็นเครื่องหมายบ่งบอกถึง ‘วรรณะ’ ที่น่าภาคภูมิใจของพวกเขา

แน่นอนว่าไม่ใช่แค่ความเชื่อที่เกิดขึ้นในกองทัพทหารอินเดีย แต่ความเชื่อนี้ถูกส่งไปต่อถึงอาชีพอื่นด้วย เช่น ‘ตำรวจ’ เมื่อนานมาแล้ว ในปี 2004 ตำรวจในเขตหนึ่งของรัฐมัธยประเทศ เคยมีกฎระเบียบที่ว่า จะได้รับเงินพิเศษ หากใครไว้หนวด เพราะมันจะสร้างความเคารพและน่าเชื่อถือให้กับตำรวจอินเดีย

แต่หลักคิดนี้ก็ถูกยกเลิกไป เพราะมองว่า การไว้หนวดเป็นเรื่องของผู้ชายอินเดียทุกคน ไม่ใช่แค่ตำรวจ หรืออาชีพใดอาชีพหนึ่ง ดังนั้น ไม่ควรมีการสร้างแรงจูงใจ ‘moustaches-for-cash’ (หนวดแลกเงิน) ในวงการตำรวจอินเดียนับแต่นั้น

หนวดเครา : อาวุธลับชายอินเดีย สัญลักษณ์ความเป็นชาย และการต่อรองอำนาจ

แต่ไม่ว่าจะยกตัวอย่างไปซีกฟากไหนของโลก ‘หนวด’ ถือว่าเป็นสิ่งสำคัญของผู้ชายในยุคใดยุคหนึ่งเสมอ โดยเฉพาะมันเคยเป็นสัญลักษณ์ของความปราดเปรื่องของผู้นำ และความเป็นผู้ที่กล้าหาญของยุคนั้น

เจงกิส ข่าน (Genghis Khan) จักรพรรดินักรบผู้ที่รวมพลังชนเผ่าเร่ร่อนเข้าเป็นอาณาจักรมองโกล เครามันยาวเฟื้อย ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของความกล้าหาญ และความเฉลียวฉลาดของเขา และถูกยกย่องให้เป็นบุรุษที่ยิ่งใหญ่จากผลงานที่สร้างขึ้น

อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ (Adolf Hitler) ผู้นำแห่งพรรคนาซีเยอรมนี ทรงหนวดในตำนาน ที่หลายคนจำได้ หรือแม้แต่ ‘จักรพรรดิวิลเฮ็ล์มที่ 2 แห่งเยอรมนี’ (Wilhelm II, German Emperor) จักรพรรดิองค์สุดท้ายแห่งเยอรมนี และเป็นกษัตริย์องค์สุดท้ายแห่งปรัสเซีย ที่มีทรงหนวดในตำนาน และทุกวันนี้คนก็ยังจดจำได้แม่น

อย่างไรก็ตาม สภาพสังคมที่เปลี่ยนไป และความเชื่อบางอย่างในอินเดียที่ถูกแปรสภาพไปบ้าง จึงไม่แปลกที่เราจะเริ่มเห็นการตัดแต่งทรงหนวดเคราที่ดูสวยงาม ราวกับหนุ่ม ๆ อาหรับขนตางอน แต่รากเหง้าความเชื่อเกี่ยวกับความภาคภูมิใจนี้ของผู้ชายอินเดีย ไม่เคยถูกละเลยสักครั้ง กลับซ้ำยิ่งผูกแน่นราวกับเรื่องราวในอดีตวนซ้ำไปมาเหมือนวันแรก

ความงาม และเสน่ห์ เกี่ยวกับความเชื่อของบางประเทศ สำหรับผู้เขียนบางทีเราอาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกใจที่สุดหรอก แต่มันเป็นการเปิดขอบฟ้าความรู้ใหม่ ๆ เพื่อให้เรารู้สึกว่า เราช่างตัวเล็กเหลือเกินที่จะเรียนรู้สิ่งรอบตัวเหล่านี้

 

ภาพ: Pixels/ Pixabay

อ้างอิง:

Hindustantimes

Linkedin

Reuters

Telegraphindia

BBC

Youtube

Tci-thaijo